ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เลือกตั้งเสมอภาคในบริบทรัฐธรรมนูญไทยและเทศ

26
ธันวาคม
2565

ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือที่ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นเอกสารสำคัญที่กำหนดสิทธิทางการเมืองของประชาชนภายในรัฐ

เรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผู้แทนราษฎรเข้าไปเป็นตัวแทนในการใช้สิทธิและเสียงแทนประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และตรากฎหมายที่สำคัญมีผลกับประชาชนในฐานะผู้แทนราษฎร[1] โดยหลักการสำคัญประการหนึ่งของการเลือกตั้งได้แก่ความเสมอภาค กล่าวคือ เสียงของประชาชนทุกๆ คนมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะยากจนหรือร่ำรวย หรือมีชาติกำเนิดอย่างไร[2]

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ราษฎรทุกคนจะมีสิทธิเลือกตั้ง ในอดีตสิทธิการเลือกตั้งอาจมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดสิทธิสำหรับคนบางกลุ่ม อาทิ ผู้หญิง และผู้ชายที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เป็นต้น หรือในกรณีของประเทศไทยปัจจุบันรัฐธรรมนูญยังจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งของภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช[3]

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีตจะพบว่า เจตนารมณ์เริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น กฎหมายต้องการให้ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งที่เสมอภาคกัน

 

เมื่อสิทธิการเลือกตั้งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ตอกหมุดหมายแห่งความเสมอภาคในการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ถือเงื่อนไขด้านเพศหรือทรัพย์สินมาเป็นเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิในการเลือกตั้ง ดังปรากฏในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 กำหนดให้ใช้วิธีเลือกตั้งโดยทางอ้อมผ่านผู้แทนหมู่บ้าน[4] โดยรับรองสิทธิของบุคคลในการเลือกตั้งไว้ว่า ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง และมีสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้[5] บทบัญญัติในมาตรานี้เป็นจุดกำเนิดของการรับรองความเสมอภาคในการใช้สิทธิเลือกผู้แทนราษฎร

ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเรื่องสิทธิการเลือกตั้งเอาไว้ โดยกำหนดให้คุณสมบัติแห่งผู้เลือกตั้งให้ไปกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[6] หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

พระราชบัญญัติฉบับนี้ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมา[7] โดยตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม[8] และประเภทที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งโดยพระมหากษัตริย์โดยมีวิธีการปลดหรือตั้งเพิ่มเติมแตกต่างกับประเภทที่ 1[9]

กล่าวเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 นั้นกระบวนการเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดไว้มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยกำหนดให้กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบล และให้ผู้แทนตำบลไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดละหนึ่งคน[10]

 

 

ในแง่คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนตำบลจะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาลในขณะเลือกตั้ง ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวชขณะเลือกตั้ง และไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง[11]

พึงสังเกตไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการกำหนดข้อจำกัดการเลือกตั้งอะไรที่จะกระทบต่อความเสมอภาค อาทิ ข้อจำกัดเรื่องเพศ ข้อจำกัดเรื่องการศึกษา หรือการถือครองที่ดิน จะมีแต่ข้อจำกัดเรื่องการห้ามภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ซึ่งในอดีตกฎหมายต้องการห้ามมิให้นักบวชในศาสนาซึ่งควรจะต้องเป็นกลางทางการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง ส่วนหนึ่งนั้นเป็นการเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังจากเมื่อมีการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี พึงตั้งข้อสังเกตว่าการจำกัดสิทธิของภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวชยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ในบริบทสังคมการเมืองปัจจุบัน

 

มองรัฐธรรมนูญในแดนเทศเปรียบเทียบไทย

ในบริบทของต่างประเทศนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) จากการสำรวจของ CONSTITUTE Project พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มีรัฐธรรมนูญในเวลานั้นคิดเป็นร้อยละ 77 ได้มีการกำหนดข้อจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งสำหรับประชาชนบางกลุ่มเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายการเลือกตั้ง อาทิ ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการกำหนดข้อจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนเอาไว้ (แต่อาจจะมากน้อยไม่เท่ากัน) แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีประวัติศาสตร์ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน

 

 

ในกรณีของประเทศสหราชอาณาจักรในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาสิทธิในการเลือกตั้งเป็นสิทธิที่จำกัดไว้เฉพาะประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น แม้ว่ารัฐสภาจะทำหน้าที่ออกกฎหมายมาใช้บังคับกับคนทุกคนภายในประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีสิทธิเลือกตั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 1492 – 1832 สิทธิการเลือกตั้งในประเทศสหราชอาณาจักรยังถูกสงวนไว้ให้ผู้ชายที่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพักอาศัยรวมถึงต้องมีมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ 40 ปอนด์ขึ้นไป ในขณะที่สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงได้รับการยอมรับในปี ค.ศ. 1869 แต่ผู้หญิงที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของผู้หญิงส่วนใหญ่ เพราะกฎหมายยังคงกำหนดเงื่อนไขเรื่องการเป็นผู้มีทรัพย์สินเอาไว้[12] ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้ จากข้อมูลของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรระบุว่า ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1918 มีประชาชนเพียงแค่ร้อยละ 58 เท่านั้นที่เป็นผู้ชายและมีสิทธิเลือกตั้ง[13] แม้ว่าจะมีประชากรชายมากกว่าร้อยละ 21 ที่มีสิทธิเลือกตั้ง[14] ผู้ชายบางคนที่มีเกณฑ์มีสิทธิเลือกตั้งอาจเสียสิทธิเนื่องจากไม่ได้อยู่ในประเทศสหราชอาณาจักร (ในเกาะอังกฤษ) ในเวลานั้น อาทิ ทหาร[15]

สิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงเริ่มมีความเสมอภาคทัดเทียมกับผู้ชายในปี ค.ศ. 1918 เมื่อ Representation of the People Act 1918 ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายสิทธิในการเลือกตั้งให้กับผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 21 ปี โดยไม่ต้องมีการนำเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สินและรายได้มาเป็นเงื่อนไขการมีสิทธิ ในขณะเดียวกันพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้สิทธิกับผู้หญิงทุกคนที่มีอายุมากว่า 30 ปี และเป็นเจ้าของบ้านหรือภริยาของเจ้าของบ้านก็มีสิทธิเลือกตั้งได้เช่นกัน[16] ซึ่งทำให้ผู้หญิงประมาณ 8.5 ล้านคนมีสิทธิเลือกตั้ง แต่จำนวนดังกล่าวก็เป็นเพียง 2 ใน 3 ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดในสหราชอาณาจักร[17] อย่างไรก็ดี  แม้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในการเลือกตั้ง

สิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงได้รับการรับรองให้เท่าเทียมกับผู้ชายในปี ค.ศ. 1928 เมื่อมีการประกาศใช้ Equal Franchise Act 1928 ซึ่งกำหนดให้ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เช่นเดียวกันกับผู้ชาย พระราชบัญญัติฉบับนี้ทำให้จำนวนของผู้หญิงที่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน[18]

ในประเทศสหรัฐอเมริกาปัญหาการใช้จำกัดสิทธิในการเลือกตั้งมีความซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกาการเลือกตั้งไม่ได้มีเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น เพราะในแต่ละมลรัฐก็มีอำนาจที่จำกัดหลักเกณฑ์ในเรื่องการเลือกตั้งไว้ในกฎหมายของแต่ละมลรัฐได้เช่นกัน ในขณะที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อกำหนดว่าบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นบุคคลประเภทใด[19]

ช่วงแรกที่มีการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา บางรัฐได้เริ่มต้นตรากฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยกำหนดเงื่อนไขด้านศาสนา ความสามารถในการเสียภาษี และเชื้อชาติ  ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1789 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการผ่อนคลายเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิการเลือกตั้งลง และค่อยๆ ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิเลือกตั้งที่เดิมห้ามมิให้ทาส และชนพื้นเมืองในอเมริกามีสิทธิในการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับกระแสที่พยายามรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมในการเลือกตั้ง ข้อจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งต่างๆ ถูกขจัดสิ้นลงในปี ค.ศ. 1965 เมื่อ Voting Rights Act ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติสำคัญที่กำหนดห้ามการกระทำใดๆ หรือมีเงื่อนไขใดๆ ที่จำกัดสิทธิในการเลือกตั้ง[20]

ความสำคัญของการเลือกตั้งโดยเสมอภาค คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้าไปมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกผู้แทนของตน เพื่อไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ในสภา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทยเมื่อเริ่มต้นปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาคได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกและได้ถูกส่งต่อมาเป็นมรดกสำคัญ เมื่อเทียบกับในบริบทของต่างประเทศแล้วสิ่งนี้อาจจะเป็นความโชคดีของประเทศไทยและวิสัยทัศน์ของผู้ยกร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ที่ได้วางหลักการสำคัญนี้เอาไว้

 

[1] เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล, ‘การเลือกตั้ง: ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย’ (ศาลรัฐธรรมนูญ, ไม่ระบุวันที่) https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1353 สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2565.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 96.

[4] เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล (เชิงอรรถ 1).

[5] ระบบการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 กำหนดกระบวนการเลือกตั้งเอาไว้เป็นขั้นตอน โดยในระยะแรกการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้การเลือกตั้งทางอ้อมแบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นแรกราษฎรเลือกผู้แทนหมู่บ้านแล้วผู้แทนหมู่บ้านไปเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นให้ผู้แทนตำบลไปเลือกผู้แทนราษฎร.

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2547 มาตรา 17.

[7] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ‘แนวคิดของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 พฤศจิกายน 2565) https://pridi.or.th/th/content/2022/11/1324#_ftn2 สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2565.

[8] พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ภาค 1 (ตั้งแต่มาตรา 3 ถึงมาตรา 46).

[9] พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ภาค 2 (มาตรา 47); สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นี้ตั้งขึ้นตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 นี้ โดยกฎหมายกำหนดให้เมื่อครบวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 แล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดำรงตำแหน่งอยู่ดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้ได้สมาชิกเท่ากับจำนวนเดิม.

[10] พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3.

[11] พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3.

[12] Norfolk Record Office, ‘Key developments in voting rights’ (Norfolk Record Office) https://www.archives.norfolk.gov.uk/help-with-your-research/family-history/electoral-registers/key-developments-in-voting-rights accessed 16 December 2022.

[13] Ibid.

[14] UK Parliament, ‘Women get the vote’ (UK Parliament) https://www.parliament.uk/about/living-heritage/transformingsociety/electionsvoting/womenvote/overview/thevote/ accessed 16 December 2022.

[15] Norfolk Record Office (n 14).

[16] Ibid.

[17] UK Parliament, (n 16).

[18] Ibid.

[19] Amy Tikkanen, ‘Voting in the U.S.A.’ (Encyclopedia Britannica, 7 November 2016) https://www.britannica.com/story/voting-in-the-usa accessed 16 December 2022.

[20] Ibid.