สิ่งที่บ่งชี้ถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งแรกของรัฐบาลคณะราษฎร หลังการปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 อย่างหนึ่ง คือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งนับเป็นของใหม่ของสังคมไทยในเวลานั้น นับตั้งแต่ปี 2476 จนถึงี 2481 ก่อนเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย 3 ครั้ง ได้แก่
- 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 (การเลือกตั้งทางอ้อม)
- 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 (การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต)
- 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 (การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต)
และในระหว่างที่มีการเลือกตั้งนั้น กระบวนการรัฐสภาดำเนินไปอย่างราบรื่น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นตามครรลองของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นยังสัมพันธ์กับชุดคุณค่าใหม่อย่างสิทธิการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม (Universal suffrage) คำถามที่น่าสนใจคือเราจะประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนั้นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ
เพื่อที่จะช่วยตอบคำถามนี้ บทความเรื่อง “Women’s Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge” ซึ่งเขียนโดยแคทเธอรีน บาววี่ (Katherine Bowie) นักมานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน เสนอความรู้ที่มีประโยชน์ยิ่งว่า การเปลี่ยนแปลงของบทบาทผู้หญิงในไทย แสดงออกให้เห็นผ่านสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียมชาย-หญิง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านในปี 2440 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2476
สิทธิการเลือกตั้งในลักษณะนี้ท้าทายเรื่องเล่าแม่บทของประวัติศาสตร์โลก ที่มักอธิบายสิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้งด้วยการเริ่มต้นที่อังกฤษ หรือไม่ก็สหรัฐอเมริกาก่อนที่สิทธินี้จะแพร่กระจายไปยังส่วนที่เหลือของโลก ขณะที่นักวิชาการรุ่นใหม่เริ่มท้าทายเรื่องเล่าที่มียุโรปเป็นศูนย์กลางนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก มันบดบังความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งประเทศในยุโรปหลายประเทศให้สิทธิแก่ผู้หญิงได้ช้ามาก
(สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านช่วงเวลาสิทธิในการเลือกตั้งโดยเปรียบเทียบได้ที่บทความเรื่อง “ต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม” จากอำแดงเหมือนถึงข้อวิพากษ์ ‘หญิงเป็นควาย ชายเป็นคน’ )
บาววี่พบว่า สิทธิเลือกตั้งที่นับรวมเอาผู้หญิงเข้าไปด้วยอย่างสมบูรณ์และถาวร ทั้งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี 1944, อิตาลีเมื่อปี 1945, เบลเยียมเมื่อปี 1948, กรีซ เมื่อปี 1952, สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1971, โปรตุเกสเมื่อปี 1975 และสเปนเมื่อปี 1976 สะท้อนให้เห็นได้ว่า สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงกลับถูกบุกเบิกในประเทศนอกยุโรปจากนั้นจึงก้าวไปสู่ประเทศที่อ้างว่าเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
ประการที่สอง คำอธิบายหลักภายใต้สังคมแบบปิตาธิปไตยของยุโรปนั้นบดบังอุดมการณ์ทางเพศที่แตกต่างกันมากของสังคมที่มีบุตรยาก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ ต่อเรื่องนี้ ข้อมูลที่สนับสนุนประเด็นข้างต้น เราอาจจะเห็นได้จากการค้นคว้าของชาติชาย มุกสง (Chatichai Muksong) ในเรื่อง “การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477” ชาติชาย พบว่า ปัญหาดั้งเดิมของสังคมไทยที่ชนชั้นปกครองมองว่า พัฒนาประเทศไปสู่สังคมสมัยใหม่ไม่ได้ คือการขาดกำลังคน เพราะถึงแม้จะมีสถิติการเกิดสูงแต่อัตรารอดชีวิตของทารกมีเพียงแค่ครึ่งเดียว
โดยการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 มีส่วนอย่างสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งกำหนดให้การจัดเทศบาลทุกระดับนั้นจะต้องมีบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้เป็นสำคัญ ตั้งแต่เทศบาลตำบลในกิจการที่บังคับให้ทำ ข้อแรกจะต้อง “จัดการสาธารณสุข” ในส่วนกิจการที่ไม่บังคับแต่อาจจัดทำได้ตามกำลังของตนในข้อที่ต้อง “จัดให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บ และปัจจัยสำหรับสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ” เหมือนกับเทศบาลเมืองที่มีด้านนี้เหมือนกันทุกประการ ส่วนเทศบาลนครนอกจากจะเหมือนเทศบาลเมืองทุกประการแล้วด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นกิจการไม่บังคับที่จัดให้มีได้ คือ “1. จัดให้มีและบำรุงสุขศาลาและโรงพยาบาล 2. จัดให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและทารก”
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจบันทึกของนักเดินทางและชาวต่างชาติในงานเขียนของแคทเธอรีน บาววี่ พบว่า “รูปแบบการปกครองตนเองของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว หนึ่งในนั้นคือบันทึกของ Niel Gunson ซึ่งเขียนไว้ว่า “แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงจะแตกต่างกันอย่างมากในโลกของชาวมลายูและโพลินีเชียนนอกรีต แต่สถานะของผู้หญิงส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกัน หากว่าจะไม่เหนือกว่าของผู้ชายส่วนใหญ่”
ในแง่นี้ เส้นทางของการปลดแอกจากปิตาธิปไตยจึงมีระดับหนักเบาต่างกัน ซึ่งข้อมูลข้างต้นช่วยทำให้เข้าใจได้ถึงความซับซ้อนและบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่น โดยจากการสำรวจของงานข้างต้นพบว่า นอกจากไทย นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ยังพบว่าสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงยังไปปรากฏในหมู่เกาะต่างๆ ของแปซิฟิกฝั่งตะวันออก ซึ่งผู้หญิงเผ่าเมารีได้รับสิทธิเลือกตั้งก่อนผู้หญิงผิวขาวที่อพยพมาภายหลังด้วยซ้ำ
อีกตัวอย่างคือในกรณีของพม่า ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ พบว่า การนับรวมเอาคะแนนเสียงของผู้หญิงเข้าไปในการเลือกตั้ง ได้ถูกต่อต้านจากเจ้าหน้าที่อังกฤษ ในแง่นี้ประวัติศาสตร์สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง จึงแสดงให้เห็นความซับซ้อนและหลากหลายมากกว่ามุมมองแบบถือยุโรปเป็นศูนย์กลาง ในแง่นี้ การเลือกตั้งจึงมิใช่สิ่งที่มาจากการปฏิวัติกระฎุมพีที่ถือยุโรปเป็นศูนย์กลางเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเกิดขึ้นในฐานะสินสมรสที่แบ่งปันกันอย่างกว้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และประการสุดท้าย เรื่องเล่าที่ถือยุโรปเป็นศูนย์กลาง ได้ทำให้ลัทธิล่าอาณานิคมต้องด่างพร้อย เนื่องจากเมื่อเจ้าอาณานิคมมาถึงภูมิภาคนี้ ก็เริ่มกะเกณฑ์กำหนดธรรมเนียมให้เข้มงวดกับคนพื้นเมืองมากยิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้มิได้เชิญชวนให้เกิดการปฏิเสธการต่อสู้ของผู้หญิงของสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งผู้อ่านคงได้เห็นแล้วในบทความเรื่อง “ต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม” : คำขานรับสิทธิผู้หญิงของระบอบใหม่ เพราะที่นั่น พวกเธอต้องแลกด้วยชีวิตและความทรมานอย่างแสนสาหัสเพื่อให้ได้สิทธิเลือกตั้ง อันมีความแตกต่างจากสยามและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้