ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับ “พระปั้นหย่า” ของแขกเจ้าเซ็น

5
กุมภาพันธ์
2566

ผมเคยเขียนถึงเรื่องราว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับคดีความ “กระฎีเจ้าเซ็น” ไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเผยให้เห็นความสนใจของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อกลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” หรือผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์นับตั้งแต่เขายังเป็นนักกฎหมายหนุ่มและอาจารย์สอน ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้าเหตุการณ์อภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จะอุบัติขึ้น

สำหรับคราวนี้ ผมใคร่เชิญชวนคุณผู้อ่านมาร่วมเพลิดเพลินกับเรื่องราวภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตอนที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วได้รับการร้องเรียนและขอให้ช่วยเหลือจาก “แขกเจ้าเซ็น” ในกรณีปัญหาความกังวลเกี่ยวกับวัตถุศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2478 แล้ว) กลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” แห่งละแวกย่านบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี ได้ส่งคำร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ความว่า

 

อิสลามิกชนนิกายชีเอต์
กุฎีเจ้าเซ็น บางกอกใหญ่ ธนบุรี
วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

เกล้า ฯ นายเชิญ อหะหมัดจุฬา กับนายพิณ ชาญอุไร ผู้แทนสัปรุษแห่งนิกายชีเอต์ ขอประทานกราบเรียนหลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ด้วยบรรดาพวกเกล้า ฯ ปริวิตกเปนอย่างยิ่ง เนื่องจากหนังสือพิมพ์ อิสสระ ฉบับลงวันที่ ๒๔ เดือนนี้ กับ หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ฉบับลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ได้นำข่าวของนายเดิม ชูโต ลงเรื่องพระปั้นหย่า ทองคำแท้ อันเปนปูชนียวัตถุเคารพสักการะของพวกเกล้าฯ โดยอ้างว่าได้พบร้านจีนช่างชุบทองได้ทำรูปวงกลมที่ติดอยู่หน้าองค์พระเรียกว่า (น่ามุหวัด) หลายต่อหลายอัน ซึ่งนายเดิม ชูโตเข้าใจว่าคงจะมีผู้ศรัทธา สร้างถวายไว้ที่กุฎีทั้งสาม กุฎีๆ ใดกุฎีหนึ่ง จนบัดนี้ก็ไม่เห็นกุฎีไหนได้รับ ครั้นเมื่อบรรดาพวกเกล้าฯ ได้ทราบเหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ ต่างก็ได้พากันสงสัยไปว่า พระปั้นหย่าซึ่งเปนทองคำแท้อันเปนของที่มีค่า หากมีผู้ทุจริตคิดสับเปลี่ยนส่วนใดที่องค์พระปั้นหย่าทองคำ แล้วนำของกำมะลอมาประกอบแทนก็จะเปนเหตุให้ปวงชนในนิกายชีเอต์คลายความเลื่อมใสศรัทธาและเปนการหมดเปลืองศาสนสมบัติไปด้วยประการทั้งปวง

เนื่องด้วยความข้องใจในพวกเกล้าฯ ที่ยังมีความเคารพสักการะต่อปูชนียวัตถุดังกล่าวนี้ จึงพร้อมใจกันเปนเอกฉันท์มอบเรื่องให้กับเกล้าฯ นายเชิญ อหะหมัดจุฬา นายพิณ ชาญอุไร ทำคำร้องขึ้นกราบเรียนเพื่อขอความกรุณาจากพระเดชพระคุณ ได้กรุณาสั่งให้เจ้าหน้าที่ในกรมมหาดไทยพร้อมด้วยเกล้าฯ ผู้แทนสัปรุษฝ่ายร้องตรวจตรา ทำบัญชีสาสนสมบัติของกุฎีเจ้าเซ็นทั้ง ๓ แห่ง ให้ละเอียดถูกต้องตรงกับบัญชีสาสนสมบัติที่มีอยู่แล้วนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้ยังถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุทั้งหลายให้บริสุทธิและเปนการถาวรมั่นคงปลอดภัยแก่สาสนสมบัติของกุฎีเจ้าเซ็นทั้ง ๓ แห่งเพื่อประโยชน์แก่อิสสลามมิกนิกายชีเอต์ในกาลต่อไป เกล้าฯ ได้ตัดข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แนบเสนอมาด้วยแล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2478 ร.ต.อ.เสวียน โอสถานุเคราะห์ ได้รับเรื่องไว้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทราบและพิจารณา พอวันถัดมา หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) เลขานุการรัฐมนตรีมีความเห็นให้ส่งเรื่องไปยังกรมมหาดไทย ซึ่งทางกรมก็เห็นควรรับไว้ไปดำเนินการเมื่อวันที่ 12 เมษายน

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะนึกสงสัย “พระปั้นหย่า” มีลักษณะเช่นไร? และมีความสำคัญอย่างไร? 

พระปั้นหย่า คือ สัญลักษณ์รูปมือทำด้วยโลหะไม่ว่าจะทองคำหรือเงิน เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายแทนการปกป้องศาสนาอิสลาม การต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรม และระลึกถึง อิหม่ามฮูเซน หลานชายของท่านนบีมุฮัมมัดผู้ต่อสู้ปกป้องศาสนาจนต้องสูญสิ้นลมหายใจ

 

“พระปั้นหย่า”

 

ตามความรับรู้ของชาวไทยเกี่ยวกับ “ปั้นหย่า” นั้น ยังได้พบข้อมูลที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยเขียนจดหมายตอบโต้กับ พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2481 โดยมีความตอนหนึ่งที่ กรมพระยานริศฯ ทรงเอ่ยถึงดังนี้

 

“คำว่า ปั้นหยา ปั้นหย่า สงสัยจะเป็นคำแขก แขกอะไรก็ไม่ทราบ คลับคล้ายคลับคลาว่า กฎีเจ้าเซน เขาเรียกว่า ปั้นหย่า หรือจะเป็นชื่อมือทองเสียบไม้ ซึ่งเขานับถือเปนพระเจ้าของเขา ซึ่งเก็บไว้ในกฎีนั้น เลยพาเอากฎีเปนชื่อปั้นหยาไป ก็จำไม่ได้แน่ แต่ความหมายที่ชาวบ้านใช้กัน ดูเหมือนจะหมายเปนชื่อหลังคา ชนิดเอนเข้าหาอกไก่ทั้งสี่ด้าน ไม่มีจั่วเหมือนกฎีเจ้าเซน”

 

ภายหลังนบีมุฮัมมัดเสียชีวิตเกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะผู้ที่ควรจะสืบทอดอำนาจเป็นเคาะลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ในทันทีคือ อะลี ลูกเขยของท่าน แต่สหายของนบีมุฮัมมัดกลับได้ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ติดต่อกันถึงสามคน อะลีจึงจะได้เป็นเคาะลีฟะฮ์คนที่ 4 หากต่อมาไม่นานอะลีถูกสังหาร อิหม่ามฮะซันบุตรชายคนโตของอะลีได้รับการสนับสนุนให้ทวงคืนอำนาจ แต่เขาปฏิเสธ อิหม่ามฮูเซนจึงได้รับการสนับสนุนแทน อิหม่ามฮูเซนยืนหยัดต่อสู้กับกลุ่มของผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบเคาะลีฟะฮ์แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ ทั้งยังประพฤติขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม นั่นเป็นเหตุให้อิหม่ามฮูเซนพร้อมกับกองคาราวานราว 72 คนถูกสังหารโดยกองทหารของกษัตริย์อย่างโหดเหี้ยม

ในเดือนมุฮัรร็อมตามปฏิทินอิสลามหรือฝีปากชาวสยามเรียกเพี้ยนเป็น “เดือนมะหะหร่ำ” (ประมาณเดือนสิงหาคม) ของทุกปีนั้น ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ในเมืองไทยจะจัดพิธีรำลึกถึงความเจ็บปวดและความเสียสละของอิหม่ามฮูเซน เรียกกันว่า “วันอาชูรอ” หรือ “พิธีแห่เจ้าเซ็น” หรือ “พิธีเต้นเจ้าเซ็น” อันเป็นพิธีที่ปรากฏมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ล่วงสู่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พิธีแห่เจ้าเซ็นยังได้รับการแสดงต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ดังที่ทรงได้สะท้อนผ่านงานพระราชนิพนธ์เรื่อง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ในส่วนที่เป็นบทเห่เจ้าเซ็น ความว่า

 

ดลเดือนมหะหร่ำเจ้า        เซ็นปี ใหม่แม่
มะหง่นประปรานทวี          เทวษไห้
ห่อนเห็นมิ่งมารศรี            เสมอชีพ มานา
เรียมลูบอกไล้ไล้             คู่ข้อนทรวงเซ็นฯ

ดลเดือนเรียกมหะหร่ำ      ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ
เจ้าเซ็นสิบวันวาร              ประหารอกฟกฟูมนัยน์
มหะหร่ำเรียมคอยเคร่า     ไม่เห็นเจ้าเศร้าเสียใจ
ลูบอกโอ้อาลัย                 ลาลดล้ำกำสรวลเซ็นฯ

 

ในพิธีแห่เจ้าเซ็นนั้น ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์จะร่วมกันขับขานบอกเล่าประวัติการต่อสู้ของอิหม่ามฮูเซนด้วยท่วงทำนองเศร้าสลดเรียกว่า “มะระเสี่ย” และการตบอกพวกตนเรียกว่า “มะต่ำ” พร้อมมีขบวนแห่ไปตามท้องถนน โดยจำลองการแห่พระศพของท่านอิหม่ามและมีคนแบกถือเครื่องประกอบต่างๆ ทั้งโต้ระบัต (เครื่องจำลองคานหามหีบพระศพ), จัลด่น (วอทอง), เครื่องหอม และธงหลากสี รวมถึงยังมีม้าที่ใช้แทน “ม้าด้นยะหน่า” ของท่านอิหม่าม พร้อมๆ กับการประโคมดนตรีปี่กลอง นอกจากนี้ ก็มีการอัญเชิญพระปั้นหย่าหรือมือทองคำและ “ซุลฟิรก๊อร์” สัญลักษณ์แทนดาบสองแฉกของอิหม่ามฮูเซนด้วย

 

พิธีแห่เจ้าเซ็น และพระปั้นหย่า ที่มา : The Cloud
พิธีแห่เจ้าเซ็น และพระปั้นหย่า
ที่มา : The Cloud

 

ครั้นพิจารณาเนื้อความในคำร้องเรียนถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ของกลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” พบว่าพวกเขาพากันเกิดความวิตกเรื่องที่จะมีผู้ปลอมแปลงแผ่นทองคำรูปวงกลมที่ใช้ติดอยู่หน้าพระปั้นหย่า แล้วนำของปลอมมาสับเปลี่ยนกับแผ่นทองคำแท้ที่ติดอยู่หน้าพระปั้นหย่าในกุฎีหรือ “กระฎี” อันเป็นศาสนสถานของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ทั้งสามแห่งทางฝั่งธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้แก่ 

กุฎีหลวง หรือ กุฎีบน สร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) จุฬาราชมนตรีคนแรกสุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมอญ ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 2480 ได้ย้ายมาตั้งอยู่ละแวกย่านบ้านช่างหล่อ ถนนพรานนก 

กุฎีกลาง หรือ กุฎีล่าง สร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) จุฬาราชมนตรีคนที่สอง ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กุฎีเจริญพาศน์” และเล่ากันอีกว่า พระปั้นหย่าทองคำในกุฎีแห่งนี้ได้อัญเชิญมาจากกุฎีเก่าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางหลวงเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

กุฎีปลายนา หรือ กุฎีนอก ต่อมาในทศวรรษ 2490 เปลี่ยนชื่อเป็น “มัสยิดดินฟัลลาห์” ตั้งอยู่ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ บางกอกใหญ่

ดังนั้น กลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” โดยมีผู้แทนสัปบุรุษหรือชาวมุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติรับเข้ามาเพื่อดูแลปฏิบัติหน้าที่ประจำมัสยิด คือ นายเชิญ อหะหมัดจุฬา และ นายพิณ ชาญอุไร จึงปรารถนาเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ไต่สวนเรื่องที่จะมีการปลอมแปลงทองคำติดพระปั้นหย่า และให้จัดทำบัญชีศาสนสมบัติของกุฎีเจ้าเซ็นทั้งสามแห่งอย่างละเอียดถูกต้อง

ควรกล่าวด้วยว่า เดิมทีกลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” หรือชาวมุสลิมนิกายชีอะห์เคยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็เป็นของหัวหน้าศาสนาจากนิกายนี้ หากภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บทบาทและความเคลื่อนไหวของ “แขกเจ้าเซ็น” ดูลดน้อยลงไป และไม่มีการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกนานหลายปี ตราบกระทั่ง พ.ศ. 2488 จึงได้มีการแต่งตั้ง นายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งถือเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากนิกายซุนหนี่

การที่กลุ่ม “แขกเจ้าเซ็น” พยายามส่งคำร้องเรียนถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สะท้อนภาพการปรับตัวของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารงานของรัฐบาลใหม่คือ รัฐบาลคณะราษฎร ขณะเดียวกัน ได้เผยให้เห็นถึงบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่ยังคงมีความเกี่ยวพันกับความเคลื่อนไหวของลัทธิเจ้าเซ็น

 

เอกสารอ้างอิง : 

  • หจช. มท.5.13/25 หนังสือพิมพ์อิสสระลงข่าวว่า คำร้องขอให้ไต่สวนเรื่องพระปั้นหย่า (พ.ศ. 2478)
  • กุศล เอี่ยมอรุณ. ฝั่งธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2543
  • จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา : การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
  • ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธํารงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.
  • นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2521
  • พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. เห่บทชมเครื่องคาวหวาน บทพากย์รามเกียรติ์ เสภาขุนช้างขุนแผน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2558 
  • เสฐียรโกเศศ. “เจ้าเซ็น.” เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เล่ม 11 ตอนที่ 11 (พฤศจิกายน 2470).
  • อิสสระ. (9 เมษายน 2478)