ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ปรีดี พนมยงค์ ชอบดูภาพยนตร์

13
มีนาคม
2565

ผู้สนใจศึกษาชีวประวัติ นายปรีดี พนมยงค์ คงทราบดีว่า ผลงานสำคัญอย่างหนึ่งของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งนำออกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ด้วยเจตนาจะเชิดชูแนวคิด ‘สันติภาพ’

แน่นอนทีเดียว การที่ใครสักคนปรารถนาและทุ่มเทพลังจัดสร้างภาพยนตร์ขึ้นมา เขาคนนั้นย่อมต้องปลาบปลื้มงานศิลปะแขนงนี้อยู่เป็นทุนเดิม ผสานกับแนวคิดสันติวิธีที่ต้องการสื่อสารให้คนทั่วโลกรับรู้ถึงความคิดของชาวสยามในสภาวะสงคราม ณ ขณะนั้น

นายปรีดี เองชอบ ‘ดูหนัง’ มาแต่สมัยยังหนุ่มๆ แม้ช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เขาได้สวมบทบาททางการเมืองในรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ จนมิค่อยมีเวลาว่างไปรับชมภาพยนตร์สักเท่าไหร่

สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน ผู้ศึกษาประเด็นแนวคิดสันติวิธีของนายปรีดี ผ่านภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เคยสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยานายปรีดี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540 เวลา 09.00 น. - 11.00 น. ณ บ้านซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร ตอนหนึ่ง เธอตั้งคำถามว่า “ท่านอาจารย์มีความชอบในภาพยนตร์เป็นการส่วนตัวหรือเปล่าคะ?”  และได้รับคำตอบจาก ท่านผู้หญิงพูนศุข คือ “ก่อนทำเรื่องนี้เฉยๆ นะ ไม่ค่อยได้ดู ก็แหม! งานมันยุ่ง ไม่มีเวลาที่จะไปดู”

วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ บุตรีของ นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งนั่งร่วมในวงสัมภาษณ์ พลันเสริมข้อมูลให้ว่า “แต่ตอนเป็นนักเรียนชอบดู ตอนอยู่ฝรั่งเศส”

ท่านผู้หญิงพูนศุข เลยเล่าต่ออีก ครั้นนายปรีดีเกิดความคิดและความตั้งใจแม่นมั่นที่จะสร้าง พระเจ้าช้างเผือก แล้ว เขาก็ไปดูหนังทุกเรื่องที่สำคัญๆ

สุรัยยา จึงเอ่ยถาม “สมัยนั้นมีหนังเรื่องอะไรที่ดังๆ บ้างคะ”

ภริยานายปรีดีตอบ “แหม จำไม่ได้ จำได้ก็ Gone With the Wind มันนานเหลือเกินนะคะ จำได้เพราะความยาวค่ะ”

“แล้วดาราไทยที่มีชื่อเสียงล่ะคะ” สุรัยยา มิสิ้นสงสัย ขณะท่านผู้หญิงแจง “แหม! ดาราไทยไม่เคยได้ยินชื่อค่ะ หนังไทยยังไม่ได้ดูเลย มีหนังศรีกรุงนี่ล่ะ....”

ข้อมูลตามบทสัมภาษณ์ข้างต้นเผยให้ทราบว่า กระแสความนิยมภาพยนตร์ในประเทศฝรั่งเศสตลอดทศวรรษ 1920 ได้ส่งทอดอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนหนุ่มชาวสยามเยี่ยง นายปรีดี มิใช่น้อย นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปลายทศวรรษ 1910) เรื่อยมา ฝรั่งเศสกลายเป็นแหล่งผลิตและส่งออกภาพยนตร์ของโลก การสร้างสรรค์ศิลปะแขนงนี้ได้รับเสรีภาพสูงสุดและได้รับแรงสนับสนุนอย่างล้นหลาม โรงภาพยนตร์แห่งกรุงปารีสยุคนั้นช่างใหญ่โตโอ่โถง รองรับผู้ชมจำนวนนับพันคนหรือหลายพันคน ประดับตกแต่งทั้งภายนอกและภายในหรูหราอลังการ

น่าเสียดายเหลือเกิน ยังสืบค้นมิพบหลักฐานอันระบุว่า ตอน นายปรีดี เป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสเคยรับชมภาพยนตร์เรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้อยคำของ วาณี บุตรสาว ยืนยันความเป็นคนชอบดูหนังของเขาได้ดียิ่ง

ภาพยนตร์เลื่องชื่อในดินแดนฝรั่งเศสช่วงที่นายปรีดีกำลังเรียนหนังสือระหว่าง ค.ศ. 1920-1926 ก็เฉกเช่น L'Atlantide ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1921, Les trois mousquetaires ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1921-1922, La Roue ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1923, Le Miracle des loups ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1924, Paris qui dort ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1925 และ Ménilmontant ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1926 เป็นต้น

ส่วนภาพยนตร์ที่ นายปรีดี ได้ไปรับชมภายหลังจากคิดจะสร้าง พระเจ้าช้างเผือก นั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข ให้รายละเอียดว่าเรื่องหนึ่งคือ Gone With the Wind  ภาพยนตร์อเมริกันแนวโรแมนซ์ดรามาซึ่งสร้างมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ มาร์กาเร็ต มิทเชลล์ (Margaret Mitchell) อันตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1936 (ต่อมามีผู้แปลพากย์ไทยในชื่อ “วิมานลอย”) สะท้อนภาพบรรยากาศทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามกลางเมือง นำแสดงโดย คลาร์ก เกเบิล (Clark Gable), วิเวียน ลีห์ (Vivien Leigh), เลสลี โฮวาร์ด (Leslie Howard), โอลิเวีย เดอ แฮวีลันด์ (Olivia de Havilland) 

Gone With the Wind ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1939 (ตรงกับ พ.ศ. 2482) ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งด้านรายได้และเสียงยกย่องจากผู้ชม รวมถึงคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากมาย

 


Gone with the Wind ภาพจาก imdb

 

แม้ ท่านผู้หญิงพูนศุข จะเอ่ยว่าตนกับนายปรีดี ไม่ได้ดูภาพยนตร์ไทย แต่ก็ยังกล่าวถึงถึง “หนังศรีกรุง”  หรือ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ที่ได้สร้างภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องมายาวนานกว่าสิบปีนับจากต้นทศวรรษ 2470 โดยเฉพาะภาพยนตร์ของศรีกรุงเรื่องที่ประทับอยู่ในความทรงจำของท่านผู้หญิง ก็คือ เมืองแม่หม้าย ออกฉาย ณ ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2479

การชอบดูภาพยนตร์มาแต่ครั้งยังเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 2460 น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมพอช่วงต้นทศวรรษ 2480 นายปรีดี พนมยงค์ จึงเลือกอาศัยวิธีสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดแนวคิด ‘สันติภาพ’  ให้เผยแพร่ออกไปสู่สากล 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544
  2. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ฮอลลิวู้ดยุคทองกับดาราสุดยอดนิยม. กรุงเทพฯ: วศิระ, 2549
  3. สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน. กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์? กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544
  4. Abel, Richard. French Cinema: The First Wave, 1915-1929. Princeton: Princeton University Press, 1984