ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปกิณกะว่าด้วยพัฒนาการของกฎหมายแรงงานไทยบนเส้นทางของเศรษฐกิจและการเมือง

6
ธันวาคม
2564

บริบทของการพัฒนากฎหมายแรงงานในประเทศไทย เริ่มต้นก่อรูปอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงหลังปี 2475 เนื่องจากในเวลานั้นอาชีพของคนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและเกษตรกร อาชีพแรงงานยังเป็นอาชีพของคนส่วนน้อยในประเทศ[1] และกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยส่วนมากเป็นคนต่างด้าวมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากช่วงปี 2490 เป็นต้นมา การเติบโตของอุตสาหกรรมไทยเริ่มเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้าแทนที่ของธุรกิจของประเทศตะวันตกที่เป็นคู่สงครามโดยธุรกิจคนไทย[2] ทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น[3] ซึ่งทำให้จำนวนผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ตลอดบริบทของการก่อตัวของกฎหมายแรงงานไทยจะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของแรงงานไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีที่มาจากความตั้งใจของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นมาจากบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ อุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดการสูญเสีย และการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายทางกฎหมายของรัฐบาลโดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[4] ขบวนการแรงงานไทยนั้นก็โดนแช่แข็งมาโดยตลอด รัฐบาลของคณะรัฐประหารพยายามที่จะกดชนชั้นแรงงานไว้ให้อยู่ในสถานะที่ไม่อาจต่อรองได้เพื่อให้ยอมรับสภาพและเคยชินกับสภาวะที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ โดยไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองได้ และในขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็ช่วยอำนวยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลคณะรัฐประหารไว้[5]

สภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาของการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของประเทศไทยว่า บรรดากฎหมายแรงงานทั้งหลาย ไม่ได้เกิดขึ้นจากความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล หากแต่เกิดจากการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากบริบทของการเมือง เช่น ในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการผ่าน พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499 ออกมาเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองของตนเอง เป็นต้น หรือการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น กรณีของประเทศไทยโดนสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง IUU แก่ประเทศไทย เนื่องจากปล่อยให้มีการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เป็นต้น ซึ่งทั้งสองสถานการณ์เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการแก้ไขกฎหมายแรงงานไทย

ภายใต้บทความนี้ ผู้เขียนได้ลองนำเสนอความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของกฎหมายแรงงานไทยผ่านเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแก้ไขและตรากฎหมายแรงงานไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาหรือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

ตารางแสดงบริบททางการเมือง/ เศรษฐกิจ/ สังคมกับกฎหมายแรงงานไทย

รัฐบาล

ปี

กฎหมาย

บริบท/รายละเอียด

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2471 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงานนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะอื่นๆ ซึ่งรองรับการขยายตัวของกิจกรรมการค้าพาณิชย์ตามแนวทางตะวันตก
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา 2475 พ.ร.บ. สำนักงานจัดหางาน และ พ.ร.บ. จัดหางานประจำท้องถิ่น เกิดปัญหาการว่างงานขึ้นมาโดยสืบเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ[6]
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2479 กฎหมายการสอบสวนภาวะกรรมกร สอบสวนและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของกรรมกรเพื่อวางนโยบาย และออกกฎหมาย[7]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม 2497 พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2497 สหอาชีวะกรรมกรไทยได้เคลื่อนไหวออกมาเรียกร้อง[8]
2499 พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499 กฎหมายนี้ได้ถูกตราขึ้นมาอย่างน้อย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
การถูกสันนิบาตชาติสอบถามถึงการมีกฎหมายแรงงานในการประชุมครั้งแรกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งองค์การดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2462[9] อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของสหอาชีวะกรรมกร และ กรรมกร 16 หน่วย เคลื่อนไหวกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง[10] ในขณะเดียวกัน องค์กรที่รัฐบาลของจอมพล ป. ได้จัดตั้งเพื่อช่วงชิงองค์กรกรรมกรดั้งเดิม และสามารถควบคุมได้ ก็เปลี่ยนแปลงไปจนถึงขนาดไม่สามารถควบคุมได้อีก นอกจากนั้น ก็มีแรงจูงใจที่จะเอาใจกรรมกรเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในการเลือกตั้งในปี 2500[11]
    พ.ร.บ. สงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ. 2499 มีการรุกรานจากชาวต่างชาติซึ่งมาทำงานหากินในประเทศไทยในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก[12]
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2501 ออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2501 ซึ่งยกเลิก พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499

 

 
จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ทำการรัฐประหาร[13] และมองว่า
การรวมกลุ่มของคนงานเป็นเครื่องมือยุยงส่งเสริมให้เกิดความร้าวฉาน และเป็นเครื่องมือให้ตัวแทนคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้การประกอบอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมมีความระส่ำระส่าย อันเป็นภัยต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ[14] หากมีข้อพิพาท ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งเป็นผู้วินิจฉัย[15]
  2501 - 2502 ออกกฎหมายในรูปประกาศของกระทรวงมหาดไทยแทนที่ พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499[16] เพื่อแทนที่ พ.ร.บ.แรงงาน พ.ศ. 2499 โดยประกอบด้วย...

 

  • ประกาศเรื่องกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง และการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง
  • ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินทดแทน ตลอดจนจำนวนเงินค่าทดแทน
  • ประกาศว่าด้วยโรค ซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
  • ประกาศเรื่องกำหนดงานอันอาจเป็นภัยต่อสุขภาพและอนามัย หรือร่างกายของลูกจ้างและคนงาน
  • ประกาศเรื่องวันหยุดงานประจำสัปดาห์
จอมพลถนอม กิตติขจร 2508 ตรา พ.ร.บ. กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน[17] สืบเนื่องจากได้มีการพิพาทแรงงานและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นมาก[18]
  2511 ตรา พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2511 มาแทนที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ. สำนักจัดหางานท้องถิ่น พ.ศ. 2475[19]
  2512 พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2512
แทนที่ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2482
มุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการก่อตั้งโรงงานและการคุ้มครองผู้ทำงานในโรงงาน[20]
จอมพลถนอม กิตติขจร
(ปฏิวัติซ้อน)
2515 ออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งยกเลิกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 และ พ.ร.บ. กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. 2508

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศและขบวนการแรงงานสากลได้กดดันรัฐบาลไทยจากการปล่อยให้เกิดการกดขี่แรงงานมาเป็นระยะยาวนานในช่วงการปกครองโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทั้งเป็นความพยายามรักษาแรงงานให้ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ[21] โดยนอกจากจะยกเลิกประกาศคณะรัฐประหารดังกล่าวแล้ว ก็ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ โดยนำหลักการแรงงานสัมพันธ์ใน พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499 มาใช้อีก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้สิทธิลูกจ้างจัดตั้งองค์กรของตนขึ้นได้ แต่เรียกว่า สมาคมลูกจ้าง[22]

นอกจากนั้น ยังมีประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และขอบเขตการทำงานของคนต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยออกบังคับใช้กับโรงงาน[23]

ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 12 บาทเป็นวันละ 16 บาท ผลจากการอ้างว่าประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 103 เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้างที่สุด และมีข้อบัญญัติใหม่ 2 เรื่อง ได้แก่ ค่าจ้างขั้นต่ำ และการก่อตั้งเงินทุนค่าทดแทน
สัญญา
ธรรมศักดิ์
2517 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 16 บาทเป็นวันละ 20 บาท วันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน พ.ศ. 2517 กรรมกรโรงงานทอผ้านับหมื่นคนภายใต้การนำของสมาคมลูกจ้างอุตสาหกรรมสิ่งทอสมุทรปราการและสมุทรสาครได้มาชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง[24]
  2518 ตรา พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คาดว่าเป็นผลจากการต่อสู้ของกรรมกรไทยในช่วงปีที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกรรมกรต่อรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ[25]
  2517 - 2518 ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงานรัฐสวัสดิการเริ่มดีขึ้น สมาคมลูกจ้างต่าง ๆ มีการประท้วงขอปรับเงินเดือนและปรับปรุงสวัสดิการ ตลอดจนต่อต้านการคอร์รัปชั่นของผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจ (จะส่งผลต่อการต่อสู้ของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในช่วงปี 2531-2533 ให้มีความโดดเดี่ยว)
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
(สงัด ชลออยู่)
2519 ออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 46 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เข้ามาแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 - การต่อสู้ระหว่างขบวนการสามประสานต่อรัฐกับกลุ่มทุน จนพยายามตีกรอบขบวนการแรงงานในประเทศไทยให้กลายเป็นขบวนการสหภาพแรงงานของแรงงานในระบบ และค่อยสกัดกั้นผู้คนอื่นๆ ให้พ้นจากขบวนการแรงงาน[26]

 

- กำหนดให้องค์การแรงงานระดับชาติต้องจดทะเบียน และมีวัตถุประสงค์ที่จำกัด[27]
    การออกกฎหมาย เพื่อจำกัดเสรีภาพในการนัดหยุดงาน คาดว่า เป็นผลจากการที่รัฐต้องการสกัดกั้นพลังงานของขบวนการสามประสานที่กำลังมีอิทธิพลต่อการต่อสู้กับนายจ้าง และรัฐบาล โดยการออกกฎหมายดังกล่าวจะประกอบด้วยดังนี้

 

- ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องห้ามนัดหยุดงาน และห้ามปิดงาน 8 ตุลาคม 2519

 

- กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 (ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์)

 

- คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519[28]
พลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์
2521 ตรา พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 สถานการณ์ทางการเมืองทั่วไปได้มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก[29]
  2522 ตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2503 มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และทำให้รัฐเลือกที่จะไม่ประนีประนอมกับแรงงาน เพื่อสร้างโอกาสในการใช้แรงงานของทุน แต่มาตรการเริ่มเสื่อมถอย และเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมของรัฐ จึงทำให้เริ่มกระบวนการดึงการต่อสู้ของแรงงานเข้ามาอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะระบบไตรภาคี ซึ่งก็มีศาลแรงงานเป็นหนึ่งในนั้น อันทำให้การต่อสู้อยู่ในกรอบที่รัฐวางขอบเขต และสร้างความสะดวกแก่รัฐ และทุนที่จะทำให้ความขัดแย้งยุติด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ย [30]
  2522 การตรา พ.ร.บ. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ซึ่งจะมีมาตรา 6 กำหนดไม่ให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน และว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ คาดว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงพลังต่อรองที่กำลังเริ่มเข้มแข็ง
ของแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  2523 กลุ่มนักบริหารงานบุคคล กอ.รมน. รุ่นที่ 1 ถึง 4 เสนอต่อรัฐบาลให้แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจาก พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  เช่นเดียวกันกับการตรา พ.ร.บ. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522
ธานินทร์ กรัยวิเชียร -
พลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์ -
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
2520 - 2523 การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 28 บาท เป็นวันละ 35 บาท 45 บาท และ 54 บาทตามลำดับ การปรับค่าจ้างเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และได้ทำข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพราะรัฐบาลยุคธานินทร์ กรัยวิเชียรในแรกเริ่ม เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาเพียง 3 บาท และไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก โดยคณะกรรมการค่าจ้างต่างก็ลงมติปรับค่าจ้างให้ต่ำกว่าข้อเสนอของสหภาพแรงงานทั้งสิ้น[31]
พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์
2524 มติคณะรัฐมนตรี 15 กันยายน 2524 ผลจากการสังเกตว่าสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจมีการรวมตัวเข้มแข็งจนสามารถเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการ โดยเดิมที ก็จะมีความอิสระในการตกลงกับฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจ จึงออกกฎห้ามรัฐวิสาหกิจทำการปรับปรุงอัตราค่าจ้าง เงินเดือน ค่าครองชีพ หรือสวัสดิการอื่นใดที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี[32]
  2528 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 -
  2530 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 -
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 2533 ตรา พ.ร. บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 นักศึกษาได้มาร่วมชุมนุมสนับสนุนคนงาน ซึ่งมีองค์กรแรงงานที่นำการเคลื่อนไหว คือ สภาองค์การลูกจ้าง สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคเอกชน 3 กลุ่มย่าน และกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์[33]
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

 

(หัวหน้าคณะ : สุนทร คงสมพงษ์)

 

และอานันท์
ปันยารชุน
2534 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 54 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 เข้ามาแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  การรัฐประหารของคณะ รสช. พยายามจำกัด กีดกันคนอื่นๆ ไม่ให้สามารถเข้าเป็นที่ปรึกษาแก่สหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองได้อย่างเสรี ผู้ที่จะให้คำปรึกษาได้จะต้องได้รับการจดทะเบียนจากอธิบดีกรมแรงงานเท่านั้น[34]
  2534 พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 เรียนรู้จากบทเรียนในช่วง 2531 – 2533 กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พยายามขับเคลื่อนประเด็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งการปรับโครงสร้างเงินเดือน และต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่สำเร็จจากการเคลื่อนไหวที่โดดเดี่ยว และภาพพจน์การต่อสู้เพื่อประโยชน์ของตัวจนดูหมดความชอบธรรมในสายตาประชาชน และกลายเป็นเป้าหมายในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร โดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ออกกฎหมาย[35]

 

 

 

ทำให้แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจาก พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518[36] แยกสลายขบวนการแรงงานภาครัฐวิสาหกิจกับเอกชน
ชวน หลีกภัย 2537 พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เกิดกระแสการขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อประชาชนจาก
การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นไปบนบรรยากาศแห่งการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยรัฐบาลก็นำไปขับเคลื่อนด้วย
โดยอ้างถึงความต้องการปรับปรุงกฎหมายฉบับเก่า[37] 
  2541 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 -
  2543 พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 -
ทักษิณ ชินวัตร 2544 ออก พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 เพื่อกำหนดให้สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 สามารถเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518[38]
  2546 ระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยการส่งเสริมงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2546 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในด้านกฎหมายแรงงานแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพราะจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านให้มีขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน และเสริมสร้างการรวมกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านให้เข้มแข็ง[39]
อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ
2552 มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการแรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในการประชุม ครั้งที่ 7/2552 การให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างชั่วคราวของรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท เป็นะระยะเวลา 6 เดือน[40]
  2553 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 เกิดจากการขับเคลื่อนของโฮมเนท ประเทศไทย และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยร่วมกับองค์กรอื่นๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... [1] โดยเป็นการนำเสนอคู่ขนานไปกับร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้รับงานไปทำที่บ้าน ฉบับกระทรวงแรงงาน[41] (และเข้าใจว่าร่างฉบับกระทรวงแรงงานได้รับเลือก)
  2554 พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีที่มาจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ ใน 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน อันทำให้ขบวนการแรงงานได้มีความพยายามในการที่จะเรียกร้องให้มีกฎหมาย และรัฐบาลก็เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของแรงงาน[42]
  2555 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 การขยับฐานเงินเดือน และค่าครองชีพขั้นต่ำของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวให้รวมถึง 15,000 บาท

 

เป็นผลจากกระบวนการหาเสียงที่พยายามให้คนสนใจที่นโยบายมากกว่าตัวบุคคล[43]
  2555 ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2555 -
  2555 หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0428/ว 12 ออกในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555 -
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2555 กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน) เกิดจากการเคลื่อนไหวของมาลี สอบเหล็ก ประธานกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย และสมาชิกเพื่อนร่วมอาชีพกว่า 300 ชีวิต เรียกร้องให้กระทรวงมีมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพในบ้าน[44]
  2555 - 2556 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) และประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 8) การขยับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 300 บาทใน 70 จังหวัด และทั่วประเทศตามลำดับ

 

เป็นผลจากกระบวนการหาเสียงที่พยายามให้คนสนใจที่นโยบายมากกว่าตัวบุคคล[45]
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (1) 2557 กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ต้องการเตรียมตัวในการปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU[46]

 

 
  2558 พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการที่สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ให้ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 3 และการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป จนทำให้ประเทศไทยติดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558[47]
  2559 พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 หากพิจารณาหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ที่กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “เพื่อให้มาตรฐานในการทำงานของแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ” ก็น่าจะมีความนัยเดียวกันว่า ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการถูกจัดอันดับในกลุ่ม Tier 3 ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) และการติดใบเหลืองตามกฎระเบียบ IUU
  2557 - 2561 กฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 (ออกตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการที่สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ให้ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 3 และการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป จนทำให้ประเทศไทยติดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558[48]
  2562 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป จนทำให้ประเทศไทยติดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558[49] โดยแม้ว่าจะมีการปลดใบเหลืองแล้ว ก็มีการเตือนอยู่ว่าจะต้องส่งเสริมสิทธิแรงงานต่อไป มิฉะนั้นจะกลับไปติดใบเหลืองอีก[50] และการปฏิบัติตามพันธกรณีตาม C188[51]
  2562 พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 (แรงงานบังคับ) เป็นหลักฐานให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่าประเทศไทยยังอยู่ในระดับ “ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว” หรือ Tier 2[52] และไม่ให้กลับไปสู่กลุ่ม Tier 3 ซึ่งเคยถูกจัดไว้ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ประกอบกับการอนุวัติการให้เป็นไปพิธีสาร ค.ศ. 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930[53]

การศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นของภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแก้ไขและตรากฎหมายแรงงานไทย ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับแรงงานนั้นยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อบริบทของแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไป

 

หมายเหตุ: กฤษณัย ราชพิบูลย์ และ หัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ ผู้ช่วยค้นคว้าและเรียบเรียงเนื้อหา

 

[1] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานไทยในเดือนตุลา’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์) สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2564.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] ข้อสังเกตประการหนึ่งการเพิ่มขึ้นของแรงงานสัญชาติไทยอาจจะเป็นผลกระทบมาจากการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมกีดกันแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงแรก อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับการศึกษาโดยละเอียดภายใต้บทความนี้.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (เชิงอรรถที่ 1).

[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘6 ตุลา ชนวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 27 กันยายน 2564) <https://pridi.or.th/th/content/2021/09/845> สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2564.

[6] วีรนันท์ ฮวดศรี, 2558, ‘วิวัฒนาการกฎหมายแรงงานไทย’ (Blogzine, 1 กุมภาพันธ์ 2556) https://blogazine.pub/blogs/iskra/post/3946 สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564; มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, ประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย (พิมพ์ตุลา 2533) 35

[7] เพิ่งอ้าง 35

[8] เพิ่งอ้าง 42

[9] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, ‘รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง “แม้มีสิทธิ (ตามกฎหมาย) แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ (ตามความเป็นจริง)”: กรณีศึกษาสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรองตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518’ (สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า 2559) 9 และ 45; มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 32. http://www.kpi.ac.th/media/pdf/research/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AF_45a9d6a9ff3da480534617b339cc6b02.pdf สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564 ; เพิ่งอ้าง 32.

[10] นภาพร อติวานิชยพงศ์, สหภาพแรงงานไทย ที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม Thai Unionism as a Social Movement (มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท 2561) 33-34 ; เพิ่งอ้าง 51–52.

[11] เพิ่งอ้าง 26–27 และ 43–54 ; ศรัณย์ จงรักษ์, 'การให้และกีดกันสิทธิของผู้ใช้แรงงานโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537' (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2560) 97–98.

[12] ธีระ ศรีธรรมรักษ์, กฎหมายแรงงาน (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2547) 8 <http://old-book.ru.ac.th/e-book/l/LW401(47)/lw401(47)-1-1.pdf> สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2564.

[13] วีรนันท์ ฮวดศรี, (เชิงอรรถที่ 6).

[14] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 66.

[15] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 9) 45.

[16] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 67.

[17] วีรนันท์ ฮวดศรี, (เชิงอรรถที่ 6).

[18] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 9) 45.

[19] วีรนันท์ ฮวดศรี, (เชิงอรรถที่ 6).

[20] เพิ่งอ้าง.

[21] นภาพร อติวานิชยพงศ์, (เชิงอรรถที่ 10) 35; ศรัณย์ จงรักษ์, (เชิงอรรถที่ 11) 100 – 106.

[22] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 9) 45.

[23] วีรนันท์ ฮวดศรี, (เชิงอรรถที่ 6).

[24] นภาพร อติวานิชยพงศ์, (เชิงอรรถที่ 10) 78.

[25] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 79.

[26] ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, (เชิงอรรถที่ 20).

[27] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 119.

[28] เพิ่งอ้าง 114–119.

[29] วีรนันท์ ฮวดศรี, (เชิงอรรถที่ 6).

[30] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 9) 14.

[31] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 137.

[32] มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, (เชิงอรรถที่ 6) 120.

[33] นภาพร อติวานิชยพงศ์, (เชิงอรรถที่ 6) 42.

[34] ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, (เชิงอรรถที่ 16).

[35] นภาพร อติวานิชยพงศ์, (เชิงอรรถที่ 6) 42-43

[36] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 5) 46.

[37] ศรัณย์ จงรักษ์, (เชิงอรรถที่ 11) 110 – 112.

[38] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, (เชิงอรรถที่ 5) 46

[39] ชญานี กลีบบัว, ‘การรับงานไปทำที่บ้าน’ (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2558) 37–38 และ 44.

[40] การจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564) https://www.ryt9.com/s/cabt/756092 ; โปรดดู สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564)  https://resolution.soc.go.th/?page_id=74&find_word=%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88&start_date=24%2F11%2F2552&end_date=24%2F11%2F2552&book_number=&page_no=1

[41] ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ และพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์, ผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย: สิทธิและการรณรงค์นโยบาย (มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท 2549) 27–32.

[42] นักสื่อสารแรงงาน, ‘ขบวนการแรงงานร่วมจัดรำลึก 28 ปีกรณีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์เสียชีวิต 188 ราย’ (Voicelabour, 10 พฤษภาคม 2564) https://voicelabour.org/ขบวนการแรงงานร่วมจัดรำ/ สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564 ; ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ‘10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ’ (ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม, 10 พฤษภาคม 2562) <https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=216> สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564.

[43] มติชน, ‘เพื่อไทยไม่หวั่น พปชร. ชูนโยบายขึ้นค่าแรง เพราะเคยทำได้ผลมาแล้ว 17 ปีก่อน’ (มติชนออนไลน์, วันที่ 14 มีนาคม 2562) <https://www.matichon.co.th/politics/news_1405733> สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2564.

[44] วศินี พบูประภาพ, ‘Opinion | สิทธิในการเข้าร่วมสหภาพ : ทางออกปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานข้ามชาติ-แรงงานนอกระบบ’ (Workpoint, 30 ตุลาคม 2562) <https://workpointtoday.com/trade-union-human-trafficking/> สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2564.

[45] มติชน, (เชิงอรรถที่ 43).

[46] สุภางค์ จันทวานิช และคณะ, ‘รายงานผลการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม การค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ พ.ศ. 2559’ (เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2559) 33 – 34 ; ชุลีรัตน์ ทองทิพย์, ป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม, 2563, น. ง, 2, 4, 15 - 16 ; โสรญา พิกุลหอม, ‘อนาคตของแรงงานประมงไทยภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550’ (รัฐสภาไทย, กุมภาพันธ์ 2562) 1–2 <https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=54525&filename=house2558> 15-16.

[47] ชุลีรัตน์ ทองทิพย์, เพิ่งอ้าง 1-2.

[48] เพิ่งอ้าง 1-2.

[49] เพิ่งอ้าง 15-16; กองบรรณาธิการ, 2563, ‘สิทธิประมงไทย ไม่เคย New Normal’ (Way magazine, 14 กรกฏาคม 2563) <https://waymagazine.org/cso-coalition-2020/> สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2564.

[50] วศินี พบูประภาพ, (เชิงอรรถที่ 44)

[51] พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการคุ้มมนุษย์ พ.ศ. 2551 หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ.

[52] สถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานกงสุลในประเทศไทย, ‘รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2562’ (U.S. Embassy, 2563) https://th.usembassy.gov/th/our-relationship-th/official-reports-th/2019-trafficking-persons-report-thailand-th/ สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2564; กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2564, ‘พม. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดกิจกรรมภายใต้แนวทางให้บริการช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์’ (สำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 25 กุมภาพันธ์ 2564) <https://www.m-society.go.th/ewtadmin/ewt/mso_web/mobile_detail.php?cid=32&nid=29883> สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2564.

[53] พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการคุ้มมนุษย์ พ.ศ. 2551 หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัต