ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

11
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ข้อสังเกตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไว้ทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่
  • ประการแรก ควรหาคำจำกัดความประชาธิปไตยให้ได้หรือไม่
  • ประการที่สองวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นในทางนิตินัยหรือพฤตินัย ต้องดูว่าที่เขียนกฎหมายไปนั้น ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่? และ
  • ประการสุดท้าย ก่อนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรกลับไปดูรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่าง รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ของคณะราษฎรหรือไม่?

 

 

จะรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครึ่งใบให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบนั้น หมายความว่ากระไร และจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร แต่ว่าตามความเห็นของผมก็มีอยู่อย่างนี้ คือว่าหนึ่ง เราจะต้องทราบก่อนว่า ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญครึ่งใบกับรัฐธรรมนูญเต็มใบมันอะไรกันแน่ และนี่เป็นศัพท์ที่ทางหนังสือพิมพ์หรือใครเขาเสนอมา เราจะรับศัพท์นี้มาใช้เป็นทางการได้รึยัง ถ้าหากเป็นศัพท์คำพังเพย เราเอามาใช้โดยไม่ตรึกตรองให้ถี่ถ้วน มันก็จะไม่เหมาะสม ในฐานะสำหรับพวกนิสิตและนักศึกษา แต่ว่าผมก็ได้พิจารณาเหมือนกัน ว่าผู้ที่เขาใช้นี่ เขาหมายความว่ากระไรกันแน่ ที่เราเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญ  พ.ร.ก. คือเจ้าหน้าที่ของ พ.ร.ก. โดยเฉพาะรองประธานเขามีอธิบายไว้ ว่ารวมความแล้วรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะมีการลดทอนหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร และยังมีอำนาจหน้าที่มากมาย เพราะอำนาจบริหารมาจากการค้ำจุนของวุฒิสภาเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้มาจากมติที่ชัดเจนของปวงชน เหตุนี้จึงเป็นครึ่งใบ ทีนี้มันก็เป็นวิเคราะห์ศัพท์ของ ครม. เก่า แต่ความหมายของสมาคม 2.06 จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างไร ใช่ไหม อันนี้เป็นคำพังเพย และกระผมขอพูดต่อไปว่า หลักสำคัญเราจะต้องรู้ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมันคืออะไรที่เรียกว่าประชาธิปไตย ถ้าเราไม่รู้ definition เดี๋ยวก็จะพูดอย่างที่คำพังเพยโบราณไทยมีว่า ไปไหนมาสามวาสองศอก วันนั้นก็บอกอย่างนี้ประชาธิปไตย วันนี้ก็ว่าอย่างนั้นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจะต้องเอาให้แน่ ต้องขอให้ช่วยกันศึกษาเอาให้แน่ว่าอะไรที่ว่าจะสมบูรณ์ 

อีกอันหนึ่ง definition ของ พ.ร.ก. ผมเป็นว่ามันก็แปลกอยู่ เพราะอยู่ดีๆ เราจะว่ารัฐธรรมนูญ 2521 เขาเป็นครึ่งใบ เราก็ควรจะบอกว่าเต็มใบนั้นมันคืออะไร เพราะถ้าหากว่าผมให้กระดาษคุณส่วนหนึ่ง บอกนี่ครึ่งใบ ถ้างั้น เต็มใบก็คือผมให้อีกเท่าหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่เต็มแผ่นกระดาษอยู่นั้น เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่าที่เต็มใบนั้นความกว้างยาวมันกี่ตารางเซนติเมตรอย่างนั้นจึงจะถูก ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกันก็จำเป็นที่จะต้องรู้ เมื่อเราจะแก้รัฐธรรมนูญ เราจะพูดเล่นๆ เห็นจะไม่ได้ จะต้องทำกันอย่างซีเรียส (serious) ใช่ไหม ไปคิดดูก็แล้วกัน ถ้าไม่ซีเรียสแล้วเราทำไปทำไม ขอให้ซีเรียสไปอันหนึ่ง 

แล้วอีกอันหนึ่งก็ผมก็ขอให้ข้อสังเกตว่าดั่งนี้ การแก้ไขนั้น แก้ไขในทางนิตินัยหรือในทางพฤตินัย อันนี้สิ แก้ไขในทางนิตินัยก็หมายความว่าเราเขียนเป็นกฎหมาย แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น เป็นไปได้หรือไม่ เช่นอย่างเราให้ว่าบุคคลมีสิทธิ เสรีภาพ สมบูรณ์ทุกอย่างไปหมด เขียนไปอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติคนมันทำได้จริงไหม เราจะต้องนึกถึงในทางปฏิบัติว่าคนมันทำจริงได้หรือไม่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น อย่างในการเลือกตั้ง อย่างว่าเราให้สิทธิแก่บุคคลทั้งหลายที่บรรลุนิติภาวะแล้วนี้ ให้มีสิทธิเลือกตั้งได้ จนกระทั่งจะเป็นรัฐมนตรี เป็นอะไรก็มาจากรัฐสภา แต่ขอให้คิดว่าในทางปฏิบัติเป็นได้เช่นนั้นไหม เพราะฉะนั้นก็ถึงมี ถ้าหากว่าจะศึกษาให้ดีตั้งแต่ revolution française เป็นต้นมาแล้ว ก็ได้มีนักการเมืองตัวสำคัญ ที่ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบที่ทำมา เมื่อ 1789 นั้น ในทางปฏิบัตินี้มันไม่ได้แก่ทุกคน แม้แต่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วคนที่มีความคิดเช่นนี้ อย่าง Nicola Barber ทีหลังแกก็ถูกจับประหารชีวิตเหมือนกัน นี่ก็มีความเห็นว่ามันจะต้องไปในทางปฏิบัติ ก็เพราะอะไร เอากันอย่างง่ายๆ อย่างเวลาเลือกตั้งนี้ ผู้ที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยแท้จริงตามกฎหมายขีดเขียน เป็นคนมีเงินหรือมิใช่ ก็ถามตามตรง เลือกตั้งแต่ละครั้งเราใช้เงินเท่าไหร่ แต่ไปสมัครเข้าจริงๆ คุณได้หรือไม่ นี่คือเราจะต้องนึกว่าในทางปฏิบัตินี้ทำได้หรือไม่จริงๆ เหตุที่ว่า égaliser de droit กับ égaliser de fait เขียนไปหรูๆ เขียนไปอย่างนั้น แต่ปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ นี้ก็ขอให้คิดอย่างนี้ และเมื่อได้หลักอันนี้แล้ว เราก็จะต้องดูว่าโครงการไหนที่เขาเสนอมา

เราเพียงแต่บอกว่านี้เขาจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เราก็จะต้องดูว่าโครงการนี้ประกอบด้วยบุคคลใดที่มีความสามารถที่จะร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นกฎหมาย ใครว่าไม่ใช่กฎหมาย เป็น loi constitutionnelle ทีนี้การร่างมันก็มี technique ของการร่าง เราจะใช้ technical term ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อะไรนี้ๆ มันเป็น technique ทั้งนั้น บางทีไปร่างผิดไปกระทบกฎหมายเขาเข้า เอาเช่นเหมือนอย่างว่า ผมยกตัวอย่างในกฎหมายเราตั้งแต่ใครเรียนมา เขาจะต้องรู้ นับตั้งแต่ ประมวลแพ่ง บรรพ 1 ขึ้นมาทีเดียว คือมนุษย์นี้เขาก็เรียกว่าบุคคล บุคคลนี้มันใช้ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย แต่นี่ถ้าเราจะบัญญัติไปว่า เอาเถอะ เขาบัญญัติกันไปนะ บอกชายหญิงต้องมีสิทธิเสมอภาค ถ้าเช่นนั้นจะต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งบรรพ 1 อะไรนี้มาหมด เรื่องใหญ่เลยนะ เรื่องไม่ใช่เป็นของเล่น เพราะฉะนั้นเราจะต้องดู จะมานึกเกรงใจแต่เพียงว่า คนนั้นหวังดี เขาจะเสียชื่อหรือไม่ ก็ทำไมเขียนว่าชายหญิงมีสิทธิเสมอภาคกัน นี่เป็นธรรมไหมครับ ทำไมไม่เขียนว่าหญิงกับชาย ทำไมเอาชายออกหน้า คิดดูใน logic ทั้งๆ ที่เขียนอธิบายอะไรไว้ logic มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ตรวจดูกันให้ดี  

อีกอันหนึ่งที่ขอให้สังเกต องค์การใดก็ตามที่ผมไม่ระบุว่า ค.ร.ก. หรือว่าไหนๆ เราก็จะต้องดูว่าองค์ประกอบนั้นคืออะไร แล้วการทำงานนี้มันต้องอาศัยเงิน ก็หลักก็มีอยู่แล้ว ถ้าเผื่อว่าใครได้ศึกษาทฤษฎีก้าวหน้าในทางทฤษฎีสังคมศาสตร์ คือว่าหลักมันมีอยู่ว่าผู้ใดมีอำนาจเศรษฐกิจ ผู้นั้นมีอำนาจทางการเมือง อันนี้ความจริงมีอยู่มากนะ ถ้าเรามีอำนาจเศรษฐกิจ เราสมัครเลือกตั้งก็ได้ แม้แต่ไม่สมัครเลือกตั้ง เป็นนายทุนให้เขาไปสมัคร คนที่สมัครนั้น มันก็ต้องอยู่ในอาณัติ ใช่หรือไม่ หรือคุณปฏิเสธ ใครที่มีเงิน หลายคนถึงแม้เขาไม่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ไม่เป็นอะไร รัฐมนตรีก็ต้องไปงอนง้อไปอะไรเขา นี้เราก็จะต้องรู้เหมือนกันว่าแหล่งเงินที่เขาได้มานี้จากไหน เช่นเดียวกับเราจะดูพรรคการเมืองว่าเป็นพรรคของใคร แต่ว่าเขาได้ทุนมาอย่างไร เราก็ดูนะ งานใหญ่ๆ เช่นนี้ จำนวนเงินย่ำต๊อกไปไม่ได้ มันต้องมีเงิน ค่าขึ้นรถไฟ ค่ากินกลางทาง เอาเงินมาจากไหน เราก็รู้ สืบดูให้ดีก็จะรู้ว่ามาจากไหนเหมือนกัน ฉันใดก็ดี วิธีที่จะร่างรัฐธรรมนูญ 

และทีนี้จะยกตัวอย่าง เอาเช่นเหมือนอย่างว่า การเลือกตั้ง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อมีรัฐธรรมนูญยังใช้อยู่ปี 75 อย่างนี้ เราก็ถือ one man one vote คือเราแบ่งเขตผู้แทน ให้ว่าเขตหนึ่งก็มีผู้แทนคนหนึ่ง เช่น อย่างอยุธยา เวลานั้นพลเมืองราว 300,000 - 400,000 คน ก็แบ่งออกเป็น 2 เขต เขตละ 150,000 คน อย่างนี้ และวิธีนี้ของฝรั่งเศสก็ยังเป็นอยู่ อังกฤษก็มีอย่างลอนดอนมันหลายเขต ไม่ใช่กรุงลอนดอนแล้วเป็น 1 ก็แบ่งออกได้ตั้งกี่สิบต่อกี่สิบ อย่างนี้ก็ช่วยให้มีความเป็นธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าหากว่าจะเอาปารีสเป็นเขตเดียวผู้แทน list หนึ่ง 20 คน ถามจริงๆ เถอะ ถ้ากรณีนี้ พวกกรรมกรและพวกปัญญาชนไม่มีทางที่จะเลือกตั้งได้เลย 

เพราะฉะนั้นอย่างน้อยอังกฤษ หรือในฝรั่งเศส ในเขตหนึ่งก็มีคนออกเสียงอย่างมาก 50,000 คน บางเขตก็คนออกเสียงราว 7,000 คน กรรมกรหรือคนยากจนนั้นพอเดินได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าแก้รัฐธรรมนูญเท่าที่ดูแล้วไปเอาตัวอย่างฉบับ 2517 ที่ในหลวงเองก็บอกว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วมีการร่างจะเอาอันนี้เป็นหลักก็พิจารณาดูแล้วกัน ผมก็ไม่ว่า ถ้าใครเลื่อมใส พ.ร.ก. ก็ว่ากันไปผมไม่ว่า แต่เมื่อถามความเห็นของผม อย่างนี้ไม่ใช่แน่

ในประเด็นที่ท่านอาจารย์คิดว่าวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ในแง่ไหนบ้างที่จะทำให้ประชาธิปไตย นอกเหนือจากที่ทาง พ.ร.ก. ได้เสนอรูปแบบของรัฐธรรมนูญ ของ ค.ร.ก. ใหม่ ในทรรศนะของท่านอาจารย์เห็นว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ควรจะต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญถึงจะเป็นประชาธิปไตย 

คืออย่างนี้นะ อยู่ดีๆ ก็พูดประชาธิปไตย ต้องรู้ definition อะไรคือประชาธิปไตย Qu’est-ce que la démocratie บอกมาสิ ถ้าเราไม่รู้ Qu’est-ce que la démocratie ประชาธิปไตยคืออะไร เราจะไปทำได้อย่างไร หลักใหญ่ถ้าเผื่อจะพูดก็คือ ประชาธิปไตยก็คืออำนาจของปวงชนเป็นใหญ่ แล้วปวงชนนั้นใช้อำนาจโดยทางไหน? ใช้อำนาจโดยทางตรงที่เรียกว่า plebiscite หรืออย่างไร หรือใช้อำนาจโดยผ่านผู้แทนที่เลือกตั้งกันมา อย่างประเทศใหญ่ๆ อย่างเมืองไทยนี้เป็น plebiscite ทุกเรื่องไม่ได้ ก็ได้ด้วยตั้งผู้แทนราษฎรผ่านขึ้นมา แล้วผู้แทนราษฎรก็มาใช้สิทธิคิดแทน เรียกว่า démocratie indirecte ถ้า plebiscite ก็เรียกว่า démocratie directe มีสองอย่าง หรือเราจะเอาผสมกัน อย่างฝรั่งเศสก็มี indirecte โดยผ่านผู้แทน แล้วในบางกรณีก็มี Pré plebiscite หรือ random ก็มีอยู่อย่างนี้

ทีนี้ของเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราก็ไม่พอใจกันแล้วในการที่สมาชิกวุฒิสภามีการแต่งตั้ง ควรจะให้สมาชิกมีการแต่งตั้ง ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร แล้วเรื่องนี้ก็เคยมีในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489 ฉบับสุดท้ายของคณะราษฎรก่อนจะถูกรัฐประหารก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นมีใครเขาพูดถึง เขาจะทำของเขาขึ้นเอง ผมก็ไม่มีความเห็นอะไร อย่างน้อยเขาควรจะดูว่าครั้งเก่าที่เขาทำมามีอะไรบ้าง นี่ท่านจะมาตั้งขึ้นเสร็จแล้วก็อ่านดูว่าเขาจะต้องรอมชอมกันที่นั่นที่นี่ อ้าวแล้วกันไปรอมชอม ครับ คนนะ มันก็ไปกันใหญ่

นี่ก็ขอให้ไปพิจารณากันดู ก็ให้รู้ว่า democracy คืออะไร แล้วที่ของเขานั่นเขามี democracy ไหมอันนี้หนึ่ง และสอง คือวิธีการนั้นที่ว่าจะเขียนอะไรไปนั้น คนสามารถปฏิบัติได้ตามนั้นไหม 

เรื่องสิทธิของสตรีอย่างนี้ นี่ก็เห็นว่ามีการพูดๆ กัน เห็นอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อกี้ก็มีกล่าวถึงสิทธิไม่เสมอภาค ก็ได้อ่านดูคล้ายๆ กับว่าเรื่องจะพายเรือไปคนละทางเสียแล้ว คือพวกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายนี้เขาได้ต่อสู้ของเขามาหลายปี จนกระทั่งเขาได้รับผลสำเร็จอย่างไรๆ นั้น เราได้ศึกษาหรือเปล่า ทีนี้พร่ามว่าเราไม่ได้ศึกษาเพราะเหตุไม่ได้ศึกษาเราจึงนึกว่าไม่มีใครทำ มีแต่ฉันเท่านั้นแหละ ฉันจะต้องทำ แต่อย่างนี้มันไม่ควร

รัฐธรรมนูญใน context ของสังคมไทยเป็นแบบไหน เท่าที่ผ่านมาเห็นว่ามีไม่กี่ฉบับนั้น แต่ขณะเดียวกันรัฐประหารก็มีหลายครั้ง ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับรัฐประหารการเมือง คือใครที่ขึ้นมาก็สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้เรื่อยๆ แล้วฉีกรัฐธรรมนูญเก่าอันนี้เรามีวิธีอย่างไร

ปัญหาแรกคืออยากจะทราบว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่ผู้ทำรัฐประหารขึ้นมาจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช่ไหม? อย่างนั้นก็จะตอบปัญหานี้ ปัญหานี้เวลานี้ยังมีคดีค้างอยู่ที่ศาลฎีกา คือเรื่องเป็นมาอย่างนี้ คือคุณวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ที่เป็นเลขานุการและราชองครักษ์ เมื่อแกกลับมาแล้วก็ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์กับนิตยสารเป็นจำเลยในฐานคดีอาญา ศาลอาญาไม่รับฟ้อง ก็อ้างเหตุว่าโทษเช่นนี้ผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้อัยการฟ้องแทน อัยการนี้หมายถึงอัยการศาลทหาร แล้วก็อ้างประกาศคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป ทีนี้ทางทนายก็ได้อุทธรณ์แล้วเรื่องก็ไปถึงศาลฎีกา ปัญหาฝ่ายทนายทางฝ่ายคุณวัชรชัยก็บอกว่าคำสั่งคณะปฏิวัติและคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ เรื่องสองปีกว่าแล้วศาลฎีกายังไม่ได้ถกปัญหานี้ อันนี้ข้อรัฐธรรมนูญมีอยู่ว่าก็อ่านถึงตั้งแต่พระปกเกล้าท่านได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้สืบมาจากที่พระปกเกล้าท่านได้พระราชทานแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะตอนนั้น absolute monarchy รัฐธรรมนูญ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นั้น ท่านพระราชทานครั้งที่ท่านยังเป็น absolute monarchy ขณะนั้น เมื่อท่านพระราชทานแล้วจึงเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น คือท่านลงนามโดยพระองค์เองไม่ได้

ทางทนายคุณวัชรชัยก็ต่อสู้คดีนี้ ถ้าคดีนี้เป็นผลให้เห็นว่าคำสั่งคณะปฏิวัติและปฏิรูปนี้เป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ใครขึ้นมาก็ขึ้นมา ใครอยากออกกฎหมายอะไรก็ตามใจ เป็นโมฆะใช้ไมไ่ด้ ศาลไม่รับฟัง อยู่ที่ศาลอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

จุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญคือการพิทักษ์เสียงของประชาชน

สุดท้ายแต่ว่าการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลของพวกใด ถ้าหากเป็นรัฐบาลพวกที่เป็นทุนนิยม เพราะนี่ก็เป็นธรรมดาเขาก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของนายทุนเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากว่าเลือกตั้งโดยได้พวกสังคมนิยมมา แต่สังคมนิยมก็มีหลายพวก หลายชนิด เพราะฉะนั้นก็ให้ไปอ่านหนังสือที่เคยแสดงปาฐกถานักเรียนอังกฤษ มีอยู่หลายฉบับ การประกันนั้นก็อยู่ที่ปฏิบัติ เราจะปฏิบัติเพื่อที่จะได้รัฐบาลชนิดไหน อันนี้ก็เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้คนที่ยากจนนี้ ได้มีสิทธิมีเสียงได้เลือกผู้แทนของตนมา อันนี้มันเกี่ยวข้องกันไป

ตามธรรมดาคนจนมีมากกว่าคนรวยหรือชาวนามีมากกว่า แต่ทำไมไม่ได้เลือกหรือได้ผู้แทนของตัวมา แล้วได้มีรัฐบาลของตัว เพราะฉะนั้นจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะแก้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่าใครสามารถที่จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร

การเลือกตั้งในต้นปีหน้า แนวโน้มทางการเมืองของประเทศไทยในระยะประมาณ 5 ปี ท่านอาจารย์เห็นอะไร

หากถ้าเป็นอยู่ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งปัจจุบัน ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นว่าผู้ที่มีเงินมีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งมากกว่า คนที่ไม่มีทุนทรัพย์พอ หรือไม่มีทุนทรัพย์พอแต่ว่าต้องไปอาศัยเงินของคนอื่นเขา ผลก็คือต้องไปเป็นลูกน้องของคนอื่นเขา ทรรศนะเป็นไปอย่างนี้ อีกวิธีหนึ่งคนที่ยากจนเป็นกรรมกรเป็นชาวนาหรือว่าเป็นปัญญาชน ชนิดที่ไม่ใช่ว่าลูกคนร่ำรวย ก็นี่แหละครับจะต้องเรียกร้องทำสิทธิของเราขึ้น ให้ได้มีรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของคนมีทุนน้อยได้จริงๆ

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ใน, การสถาปนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ครบรอบ 50 ปี พ.ศ. 2525.