ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถอดรหัสการต่อสู้ของคณะราษฎร : กระจกสะท้อนอดีตถึงปัจจุบัน

29
มิถุนายน
2566

Focus

  • การทำความเข้าใจอดีตและปัจจุบันควรพิจารณา ใน 4 ประเด็น คือ (1) อำนาจเก่า (2) ผลประโยชน์ (3) แรงสนับสนุน และ (4) การสืบต่อสายธารประชาธิปไตย
  • ประเด็นแรก อำนาจเก่า คืออำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้หายไป อาจจะลดลงแต่ไม่ได้หายไป และอนุรักษนิยมไม่ได้อ่อนแอลง แต่อำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยสูงขึ้นมาก ประเด็นที่สอง การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการกระทบต่อผลประโยชน์ ผู้เสียผลประโยชน์ย่อมไม่ยอมรับ/ไม่ยอมโดยง่าย ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงที่เคยมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยในอดีต แต่ในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมมหาศาลนับล้าน นับเป็น 20 - 30 ล้านคน ที่ขึ้นมาอยู่บนเวทีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นพลังประชาธิปไตยไม่ได้โดดเดี่ยว และ ประเด็นที่สี่ พลังประชาธิปไตยปัจจุบันเป็นไม้ผลัดที่ต่อเนื่องมาจากพลังประชาธิปไตยก่อนหน้า และใครช่วยอะไรกันได้ก็ช่วยกันหนุนประชาธิปไตยของเรา

 

การอภิวัฒน์สยามเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ให้ข้อคิด บทเรียนอะไรต่อการพัฒนาประชาธิปไตยบ้าง มีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ใดที่อาจจะเป็นจุดอ่อน หรือจุดแข็งที่ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยควรรู้ไว้และอะไรเป็นจุดควรระวังสำหรับการรักษาชัยชนะของประชาชนจากนี้ต่อไป

 

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์อยากจะทำความเข้าใจปัจจุบันจากความเข้าใจในอดีต และการทำความเข้าใจปัจจุบันช่วยให้เข้าใจอดีตได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการกลับกันทั้งสองการทำความเข้าใจทั้งอดีตและปัจจุบัน

ผมอยากพูด 4 ประเด็น ที่ว่าความเข้าใจจากอดีตช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันได้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ได้แก่

  • ประเด็นแรก อำนาจเก่า
  • ประเด็นที่สอง ผลประโยชน์
  • ประเด็นที่สาม แรงสนับสนุน
  • ประเด็นที่สี่ การสืบต่อสายธารประชาธิปไตย

 

 

ประเด็นแรก อำนาจเก่า เป็นการเปรียบเทียบระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และปัจจุบัน เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งหมายความว่าอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้หายไป อาจจะลดลงแต่ไม่ได้หายไป มีนักการเมืองบางคนบอกว่าตอนนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อนแอ แต่ผมเห็นตรงกันข้าม ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะอนุรักษนิยมไม่ได้อ่อนแอลง เพียงแต่ว่าอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยสูงขึ้นมาก

เราจะเห็นว่า 91 ปีที่ผ่านมา หมายความว่าทำให้ผู้คนหลากหลายทั่วประเทศมาอยู่บนเวทีประชาธิปไตย ผมเคยพูดเล่นกับนักศึกษา เชิงทีเล่นทีจริงว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 อย่าว่าแต่คนเชียงใหม่ คนนครสวรรค์ คนอุบลราชธานี หรือคนปัตตานีจะรู้เรื่อง เพราะแม้แต่คนตลิ่งชันยังไม่รู้เรื่องเลย เรื่องเกิดเหตุอยู่แถวดุสิต เวลาจะเผยแพร่ว่าตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็ต้องใช้กระดาษใบปลิว ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีโซเชียลมีเดีย ลองนึกภาพดูว่าถ้าแจกใบปลิวจะแจกได้สักกี่ใบ จะแจกได้ไปถึงแม่ฮ่องสอนหรือเปล่า

แต่อำนาจของอำนาจใหม่ และอำนาจเก่า เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ได้หายไปเลย เพราะรัชกาลที่ 7 แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็ยังคิดว่าตนเองเป็นกษัตริย์อยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แก้รัฐธรรมนูญก็ได้ จะสั่งตั้งพฤฒสภาก็ได้ นี่เราเปลี่ยนแปลงอะไร กลายเป็นว่าเหมือนกับเป็นกษัตริย์เช่นเดิม

 

 

ข้อสังเกตคือ อำนาจเก่าของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นพวกเจ้าและพวกขุนนาง เขาไม่ได้หายไปไหน มีบางคนถูกปลดบ้าง แต่ว่าอำนาจทางการเงินก็มีอยู่ อำนาจทางความคิดก็มีอยู่ แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าอำนาจของระบอบประชาธิปไตยแม้ว่าจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจขยายไปมากทั้งในระบบราชการและในคนทุกหมู่เหล่า ดังนั้นตอนนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ใช่แค่เฉพาะแถวเขตดุสิต เพราะทุกหัวระแหงของประเทศไทยรับรู้ความเป็นไปทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ผมเคยเห็นที่แห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลมาก ปรากฏว่าในช่วงที่เรียกว่าเสื้อแดง เขาใช้โทรทัศน์จอใหญ่แล้วชาวบ้านก็รวมตัวไปดูกัน ทั้งที่ความจริงเขาดูที่บ้านก็ได้ ก็จะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าอำนาจเก่าจะลดน้อยลง

ประเด็นที่สอง คือ ผลประโยชน์ รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติประมาณเดือนมีนาคมในปี พ.ศ. 2477 คือ ระหว่างช่วงนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาก เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ คนที่ต่อต้านความคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ปรากฏว่าเป็นรัชกาลที่ 7 เอง บอกว่าปรีดีเขียนเป็นบอลเชวิคบ้าง ตามสตาลินบ้าง หรือถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน คือ พระองค์ลงมาเล่นการเมือง

แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น กล่าวคือ สถาบันกษัตริย์ไม่อาจโต้นโยบายของพรรคก้าวไกล หรือนโยบายของพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่มีสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Monarchy network ที่โต้เกือบจะทุกวัน เช่น โต้นโยบายพรรคก้าวไกล โต้นโยบายพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ นี่เป็นความแตกต่างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบใหม่

 

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ใช่ประกาศแล้วจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือมีการเลือกตั้ง แต่ยังเปลี่ยนกว้างไปถึงเรื่องผลประโยชน์ เช่น รัชกาลที่ 7 ต้องคืนสถานที่หรือวังบางแห่ง ลดค่าใช้จ่ายของสำนักพระราชวัง ลดข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ อันนี้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยตรง

เราจะทราบว่ารัชกาลที่ 7 ไม่พอใจหลายเรื่องที่รัฐบาลจะไม่ให้งบประมาณเหมือนเดิม เพราะแบบเดิมต้องการเท่าไหร่ก็ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เปลี่ยนเพียงรัฐธรรมนูญเฉยๆ แต่กระทบผลประโยชน์ของคนมาก

เราจะสังเกตเห็นว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกระทบผลประโยชน์ของคนเยอะมาก เช่น เรื่องเกณฑ์ทหารที่จะเปลี่ยนให้เป็นทหารของประชาชน เรื่องสวัสดิการอื่นๆ การลดอำนาจ การเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงในเฉพาะรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งเมื่อกระทบถึงคนที่ได้รับผลประโยชน์ เขาก็ไม่ยอมง่ายๆ

เหมือนเรามีเงิน 100 บาท มีคนจะมาแย่งไปสัก 20 บาท 30 บาท เราก็ไม่ได้ให้ง่ายๆ มีทางไหนที่จะขัดขวาง เราก็จะทำ แต่เราไม่ได้พูดว่าเราไม่ยอมให้เงิน เราจะไม่พูดอย่างนั้น แต่เราจะขัดขวางในทางอื่น

เราทราบว่ารัฐประหารครั้งล่าสุดเอื้อผลประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ใครบ้าง ฉะนั้นการรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีเรื่องเงินในกระเป๋า คนที่อยากได้หรือคนที่จะทำเขาก็จะทำ คนที่เสียเขาก็ไม่ยอม

ประเด็นที่สาม แรงสนับสนุน อย่างที่อาจารย์ปรีดีพูดในวิดีโอคลิปที่เราได้ดู[1] เราจะสังเกตเห็นว่าคณะราษฎรในสมัยนั้นต้องทำเป็นความลับ เมื่อประชุมกันบ่อยไม่ได้เดี๋ยวคนจะรู้ ไม่มีโรงแรม ไม่มีห้องประชุม ไปประชุมกันที่วัดฝั่งธนฯ ในสมัย 2475 ฝั่งธนฯ เป็นพื้นที่ห่างไกลเรียกว่าเป็นบ้านนอกของกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าคณะราษฎรหันไปทางไหนก็มีกลุ่มอยู่แค่นี้ เพราะต้องทำเป็นความลับ

แต่ว่า 91 ปีผ่านมา เท่ากับว่าเราได้รวมคนจำนวนมหาศาลนับล้าน นับเป็น 20 - 30 ล้านคน ขึ้นมาอยู่บนเวทีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นพลังประชาธิปไตยไม่ได้โดดเดี่ยว คณะราษฎรถูกรัฐประหาร หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์บอกว่า “คนที่อยู่ข้างเรามีทหารเรือและตำรวจ” แต่ไม่พอที่จะงัดข้อกับทหารบก

 

 

91 ปีได้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเกิดว่าจะมีความพยายามจะทำรัฐประหารอีก เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งไม่ใช่เฉพาะคณะราษฎรไม่กี่คนเท่านั้นแล้ว แต่มีจำนวนคนเป็นล้านที่เมื่อหันไปก็อาจจะพึ่งได้ เราจะเห็นว่าการโจมตีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยโจมตีเหมือนกับว่า อยู่ๆ ก็มีคนอย่างพรรคก้าวไกล ชื่อ ก ข ค ง อยู่ๆ ก็ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น เพราะอย่างที่อาจารย์ปรีดีพูดในวิดีโอคลิป คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็มีคณะราษฎร เช้าวันหนึ่งนึกขึ้นมาอยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มันมีมาก่อนหน้านี้ในปี ร.ศ. 103, ร.ศ. 130 ทำนองเดียวกันกับประชาธิปไตยในช่วงนี้ที่มีมาแล้วตั้งแต่ขบวนการนักศึกษา 2516, 2519, 2535, 2553 และปี 2563 ซึ่งมีหน่อเชื้อต่อมา

และ ประเด็นที่สี่ พลังประชาธิปไตยในวันนี้รับไม้ผลัดที่ต่อเนื่องมาจากพลังประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ และจะเป็นกำลัง เป็นฐานให้ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นที่มุ่งหวังประชาธิปไตยจะไม่โดดเดี่ยว จะมีพลังที่หันไปแล้วมีคนหนุนอยู่ข้างหลัง และผมร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง วิ่งหนีตำรวจไม่ได้ วิ่งหนีทหารไม่ได้ แต่ว่าใครช่วยอะไรกันได้ก็ช่วยกัน หนุนประชาธิปไตยของเรา ขอบคุณมากครับ

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง :

 

ที่มา : ไชยันต์ รัชชกูล. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.