ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐบาลกับการสร้างและการรักษาระบอบประชาธิปไตยในอนาคต

2
กรกฎาคม
2566

Focus

  • พรรคก้าวไกลเผชิญกับคำถามที่ผู้คนในอดีตเผชิญเหมือนกัน คือเรามาเร็วเกินไปหรือเปล่า เราก้าวหน้าเกินไปหรือเปล่า เราชิงสุกก่อนห่ามอีกหรือเปล่า แต่การถามกันเช่นนี้มีมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 แล้ว รวมทั้งคำถามที่ว่า ประเทศไทยอย่างไรก็คงไม่มีทางไปได้มากกว่านี้ โดยโครงสร้างอำนาจควรจะต้องเป็นแบบเดิมให้ได้มากที่สุด แม้เราจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและจะมีการเลือกตั้งก็ตาม 
  • เราจะต้องทำเรื่องอะไร – สิ่งที่พรรคก้าวไกลเห็นตรงกันก็คือ ประเทศนี้ไปต่อไม่ได้ ถ้าเราไม่แก้ไขโครงสร้าง 3 เรื่อง (1) Demilitarization ต้องเอาทหารออกจากการเมือง (2) Decentralization ต้องกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง และ (3) Demonopolization การยุติเศรษฐกิจผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม
  • จิ๊กซอว์หนึ่งของชัยชนะในระยะยาวที่เด็ดขาด คือ (1) ประชาชนต้องกลับมาศรัทธาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาให้ได้ (2) เราต้องทำให้ชนะการเลือกตั้ง พรรคที่ได้อันดับ 1 ต้องชนะโดยการไม่ซื้อเสียงให้ได้ (3) ผู้แทนราษฎรในสภาต้องกลับไปเป็นผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติแบบที่อยู่ในประวัติศาสตร์ให้ได้ และ (4) ต้องชนะความคิดให้ได้
  • ในฐานะพรรคการเมือง เราก็ต้องครองตนในการที่เราเป็นผู้แทนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง อันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ (1) คนทั่วไปกล้ามาเป็นนักการเมืองมากขึ้น (2) พวกเราไม่ลืมตน อยู่ในลู่ในรอย และต่อสู้กับการเมืองนอกสภาร่วมกันต่อไป และ (3) เราต้องช่วยกันเป็นคน generate ความรู้

 

 

พรรคที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง จะจัดตั้งรัฐบาลโดยเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล รัฐบาลประชาธิปไตยของราษฎรรักษาเจตจำนงนี้ได้อย่างไร

เป็นเรื่องหนักใจและก็เป็นเรื่องที่เรารู้ว่าเราไปชนะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาลปกติ เพราะเราไปชนะในกติกาที่ออกแบบให้เราแพ้ ซึ่งถามว่าเป็นเรื่องที่เราเซอร์ไพรส์ไหม ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์ เรารู้กติกาข้อนี้ดีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล

 

ประเด็นคือเราสู้ได้ดีแค่ไหนและเรามีความก้าวหน้าแค่ไหนในการต่อสู้ครั้งนี้ คำถามที่พรรคก้าวไกลเผชิญ ก็เป็นคำถามที่ผู้คนในอดีตเผชิญเหมือนกัน คือเรามาเร็วเกินไปหรือเปล่า เราก้าวหน้าเกินไปหรือเปล่า เราชิงสุกก่อนห่ามอีกหรือเปล่า ซึ่งพอไล่เรียงประวัติศาสตร์ มีการถามกันมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นความพยายามที่จะปักความคิดว่า ประเทศไทยอย่างไรก็คงไม่มีทางไปได้มากกว่านี้ โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างการเมือง โครงสร้างสังคม โครงสร้างอำนาจควรจะต้องเป็นแบบเดิมให้ได้มากที่สุด แม้เราจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและจะมีการเลือกตั้งก็ตาม

คนในพรรคอนาคตใหม่ แล้วก็พรรคก้าวไกลส่วนใหญ่เป็นคนที่เติบโตมาในตอนที่เราเป็นผู้ดูเหตุการณ์ตอนพฤษภาคมปี 2535, รัฐประหารปี 2549 และปี 2557 เราเป็นผู้ร่วมบ้าง เราเป็นคนที่ไม่ใช่ผู้เล่นหลักในตอนนั้น แล้วเราก็ค้นพบว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของคนที่หมดหวังกับการเลือกตั้ง และนี่คือเจตจำนงที่พวกเขาชนะ พอทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมายประชาชนก็มี 2 ฝ่าย คือโกรธเกรี้ยวหรือสิ้นหวัง ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกับที่เกิดในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ แต่พอเราคิดถึงว่า แล้วถ้าเราจะมาเป็นตัวผู้เล่นใหม่ในเกมที่ต้องชนะ แล้วชนะให้ขาด เราจะต้องทำเรื่องอะไรกันบ้าง สิ่งที่พรรคก้าวไกลเห็นตรงกันก็คือประเทศนี้ไปต่อไม่ได้ ถ้าเราไม่แก้ไขโครงสร้าง 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ Demilitarization ต้องเอาทหารออกจากการเมืองให้ได้ เพราะไม่ว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตาปักหลักทางเศรษฐกิจ เราจะพัฒนาประเทศ เราไม่มีทางทำได้อย่างมีความมั่นคงในโลกที่แปรปรวนสูงได้ ด้วยการมีรัฐประหารและมีทหารอยู่ในทุกองคาพยพของเศรษฐกิจการเมืองสังคม

เรื่องที่สอง คือ Decentralization ต้องกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางให้ได้

และ เรื่องที่สาม คือ Demonopolization การยุติเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมผูกขาด ซึ่งสมัยก่อนอาจจะไม่กระทบชีวิตเรามากขนาดนี้ จนมาที่พี่น้องประชาชนรอบนี้เจอเรื่องค่าไฟ

เรื่องระหว่างบรรทัด ก็คือว่าเป็น 3 อย่างที่ผูกพันกับชนชั้นนำอย่างแยกไม่ออกและเป็นชนชั้นนำที่เพิ่มอำนาจในช่วงของการเปลี่ยนรัชสมัย เพราะฉะนั้นผมก็เลยชอบที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกยุคแบบนี้ว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง จำแลงโดยการมีองคมนตรี จำแลงโดยการมีกองทัพ จำแลงโดยการมีสว. จำแลง โดยการมีศาล และมีการใช้อำนาจนำ

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล

 

ทีนี้ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์นั้น สร้างฉันทามติได้ แง่หนึ่งก็มีข้อดี อีกแง่หนึ่งก็เป็นข้อเสียเปรียบ คือเราก็สูญเสียความมั่นใจในการปกครองตนเองหรืออำนาจของตนเอง แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรัชสมัยเกิดคำถามขึ้นทันทีว่าแล้วจะไปอย่างไรต่อ แล้วผมมีความคิดว่าทำไมการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ถึงเป็นการที่อาจารย์พรสันต์เรียกว่าเป็นการ Double คือต้อง Secure ที่สุด จนไม่มีช่องว่างใดๆ เลยให้มีการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น

ทีนี้เราทำอย่างไรกันดี ในฐานะพรรคการเมือง ผมเองก็ประสบการณ์น้อยมาก แต่พอดีเราโดนบีบให้เก่งเร็วขึ้น ทีนี้เรามีบทเรียน หรือ เรามีเข็มทิศในการดำเนินการของพรรคอย่างไร ที่เราเชื่อว่าจะเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของชัยชนะในระยะยาวที่เด็ดขาดให้ได้

ประเด็นที่ 1 คือ ประชาชนต้องกลับมาศรัทธาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาให้ได้ แล้วการที่ประชาชนจะเชื่อมั่นศรัทธาในระบบรัฐสภาได้ เขาต้องรู้ว่ามีผู้แทนราษฎรที่มีชุดความคิดของเขาอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลจึงตั้งใจมากว่า  พวกเราต้องเห็นอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่งในหลายยุคหลายสมัยก็ถูกเรียกเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกเรียกเป็นสังคมนิยม ถูกเรียกเป็นนั่นเป็นนี่ตามปีศาจของแต่ละยุคสมัยที่คนสร้างขึ้นมา แต่เราต้องเป็นปีศาจตัวใหม่ที่ประชาชนรัก แต่ว่าชนชั้นนำเกลียด

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล

 

เพราะฉะนั้น เราไม่กลัวที่เราจะเป็นปีศาจ เพราะรู้ว่ามองมาที่พวกเราเจออุดมการณ์ของคณะราษฎรอยู่ เจอความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนี่เป็นทางออกที่อาจารย์ปรีดีนำเสนอไว้ก่อนที่เราจะถูกเปลี่ยนเป็นระบอบอื่น เพราะฉะนั้นต้องรักษาอุดมการณ์ไว้ให้ได้ แล้วก็ผมคิดว่าเรื่องนี้ประชาชนที่เป็น Voter ที่ก้าวไกลฟูมฟักขึ้นมาหรือ Support ก้าวไกลเป็นคนตรวจสอบอุดมการณ์นี้ว่าเราเบี้ยวหรือเปล่า เพราะเราไม่มีทางไว้ใจคนคนใดคนหนึ่งได้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นคำตอบเดียวคือต้องสร้างพรรคมวลชนและให้มวลชนตรวจสอบพวกเรา

ประเด็นที่ 2 คือ เราต้องทำให้ชนะการเลือกตั้ง พรรคที่ได้อันดับ 1 ต้องชนะโดยการไม่ซื้อเสียงให้ได้เพราะการซื้อเสียงนี้เป็นมายาคติ แล้วก็เป็นข้อหาสำคัญที่ชนชั้นนำพูดว่าคนไทยไม่เคยพร้อมสำหรับประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีการซื้อเสียงและพรรคที่ซื้อเสียงได้อันดับ 1 ชนชั้นนำก็จะพูดทันทีว่านี่คือความไม่พร้อมของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นพวกเราอดทนมาก เพราะเรารู้ว่าเราต้องชนะ แต่เราชนะอย่างไรสำคัญมากกว่าเราชนะหรือไม่ ถ้ารอบนี้เรามั่นใจมากชัยชนะที่ได้มามีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นแน่ๆ แล้วเราก็รู้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาการซื้อเสียงหนักหน่วงแค่ไหน

ประเด็นที่ 3 คือ ผู้แทนราษฎรในสภาต้องกลับไปเป็นผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติแบบที่อยู่ในประวัติศาสตร์ให้ได้ ที่ยืนยันอภิปรายโดยเกรงใจประชาชนมากกว่าเกรงใจคนอื่น ผมไม่เคยคิดว่าพวกเราทำเรื่องนี้ได้เลย ผมเดินเข้าไปในสัปปายะสภาสถานครั้งแรกผมนึกว่าเข้าวัด เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้ประชาชนที่เดินเข้าไปตัวเหลือเล็กนิดเดียว ทุกท่านเวลาเข้าไปสภา ทุกท่านรู้สึกตัวเองตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ตัวเล็กนิดเดียวไม่มั่นใจในอำนาจตัวเอง เวลาอภิปรายตอบประธานรู้สึกเหมือนขึ้นศาล 

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล

 

ทีนี้เราจะครองตนอย่างไรให้เรายืนตัวตรงๆ แล้วก็อภิปรายแบบเกรงใจประชาชนที่เลือกเรามามากที่สุด ผมจำได้ตอนที่เบญจา แสงจันทร์ อภิปรายงบประมาณส่วนของพระมหากษัตริย์ ผมก็นั่งกินกาแฟอยู่ข้างนอกแล้วแม่บ้านนี่เทกาแฟเทล้นเลย เพราะไม่เชื่อว่ามีการพูดเรื่องนี้ในสภา ตอนนั้นเป็นปี 2563 แล้วพอปี 2564 ปี 2565 การพูดอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจที่สุดว่าเราจำเป็นต้องได้รับความโปร่งใสจากสถาบันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วตอนนี้ในสภา แต่แน่นอนแลกมากับการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ว่าถ้าไม่ทำทางนี้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะในสภาก็จะมีกระบวนการหล่อหลอมผู้แทนให้กลายเป็นชนชั้นนำใหม่ด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ด้วยสิทธิประโยชน์ ด้วยข้าราชการที่มาคุกเข่าปรนนิบัติด้วยการไปดูงานต่างประเทศและใช้ชีวิตแบบ privilege ทั้งๆ ที่พวกเราก็เป็นไพร่ธรรมดา แล้วก็ไปเชื่อมกับกลุ่มทุนและกลุ่มข้าราชการระดับสูงในสภาเมื่อไหร่ สุดท้ายนักการเมืองเลือกตั้งเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่เคยเกรงใจประชาชน

ประเด็นที่ 4 ต้องชนะความคิดให้ได้ การรัฐประหารที่มีประชาชนไปมอบดอกไม้จะต้องเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่การชนะเร็วก็แลกมากับความไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นต้องชนะยาวๆ เพราะฉะนั้นในการใช้สื่อใหม่ในการที่คนออกมาค้นคว้าเอง ตอนนี้บทสนทนาทางการเมืองลามไปถึงลูกสาวผมอายุ 9 ขวบกับเพื่อนแล้ว เพราะตั้งแต่เขาเกิดมาเขายังไม่เคยเจอนายกเปลี่ยนเลย นี่จะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาเจอคนใหม่ แล้วเด็กๆ นั่งคุยกันว่าคนนั้นน่ะพ่อแม่คุณเลือกอะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุกงอมแล้ว สุกงอมในการที่เราจะชนะขาดสักที แต่ว่าถ้าเราอดทนไม่พอและเหมือนที่อาจารย์อนุสรณ์ได้บอกว่า ถ้าเกิดเงื่อนไขขึ้นมานักการเมืองที่ประชาชนไว้ใจคอร์รัปชันขึ้นมา ถ้าเงื่อนไขคือถูกยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงขึ้นมา เราต้องอดทน และเกมนี้ยาวแน่ๆ 

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล

 

ผมคิดว่าในฐานะพรรคการเมือง เราก็ต้องครองตนในการที่เราจะเป็นผู้แทนที่มาจากประชาชนจริงๆ เราตั้งพรรคการเมืองในกฎกติกาของ กกต. ที่ยากมาก พ.ร.บ.ประกอบพรรคการเมืองระแวงเสมอว่านักการเมืองชั่วก็เลยมีกฎเกณฑ์เต็มไปหมด จนประชาชนตั้งพรรคการเมืองเองได้ยากต้องใช้เงินเยอะ แล้วก็ยุบง่าย ตั้งยากยุบง่าย แต่ประเทศอื่นเขาตั้งง่ายยุบยาก ฉะนั้นต้องถึงเวลาในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองนี้กลายเป็นสถาบันได้ง่ายขึ้น กลายเป็นที่ของประชาชนที่มีความฝันได้ง่ายขึ้น แล้วก็ทำการเมืองด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดให้ได้ แล้วเราก็จะเจอ ส.ส. ที่เมาแล้วขับแล้วลาออกไป เพราะต้องการสร้างมาตรฐานของ ส.ส. แบบใหม่ว่าคุณทำผิดแล้วคุณต้องชดใช้ทางการเมือง เราจะเจอ ส.ส. ที่ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในสภา (ตอนนี้คุณเท่าพิภพยังขี่มอเตอร์ไซค์เข้าสภาอยู่) แม้เราจะถูกกักขังด้วยเสื้อสูทพวกนี้แต่พวกเราเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เข้ามาทำงาน ทั้งการครองตนตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้

หนึ่ง คนทั่วไปกล้ามาเป็นนักการเมืองมากขึ้น เพราะว่าเราเห็นแล้วว่านักการเมือง เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็เป็นได้

สอง เราจะทำให้พวกเราไม่ลืมตนแล้วก็อยู่ในลู่ในรอยและต่อสู้กับการเมืองนอกสภาร่วมกันต่อไปให้ได้

สาม สุดท้ายนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันก็คือเราต้องเป็นคน generate ความรู้ อย่างถ้าวันนี้ทุกท่านได้ยินได้ฟังอะไรที่ประทับใจเป็นบทเรียนที่ท่านจะไปลุยต่อ ท่านอัดคลิปลง tiktok ท่านอัดคลิปลง YouTube แล้วคนๆ หนึ่งจะมีอิทธิพลไปได้อีก 10 คน 20 คน 30 คนแล้วคนเป็นล้านๆ คนทำด้วยกัน วันนั้นเราชนะขาด ขอบคุณครับ 

 


 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง :

 

 

ที่มา : ปดิพัทธ์ สันติภาดา. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.