ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ

28
สิงหาคม
2566

Focus

  • การเป็นรัฐล้มเหลวของเมียนมาเกิดขึ้นร่วมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยตัวแสดงที่เป็นรัฐและที่ไม่ใช่รัฐ ในรูปแบบของความรุนแรงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐเป็นอาชญากรสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ชาวโรฮิงญา) ทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้รับผลกระทบ
  • การที่เมียนมาไม่เคารพต่อฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน และการทำลายเสถียรภาพของอาเซียนทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ เข้าข่ายเงื่อนไขที่อาเซียนสามารถขับเมียนมาออกจากการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนได้
  • ความพัวพันอย่างยืดหยุ่นหรือการพัวพันอย่างสร้างสรรค์ที่ไทยเคยเสนอไว้ในอดีตในการแก้ปัญหาในนามอาเซียนยังมีความหมาย และอาเซียนจำเป็นต้องกลับมามีบทบาทนำเมียนมา และต้องอาศัยทูตหรือคณะทำงานพิเศษที่มีความสามารถ ร่วมทำงานกับกลไกสหประชาชาติ อาทิ เวทีสหประชาชาติและการลงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดสันติภาพในเมียนมาในที่สุด

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

อีกปัญหาหนึ่ง คือเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง การสู้รบ แม้กระทั่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงเหตุการณ์ 8888  และการรัฐประหารล่าสุด คุณสุณัยน่าจะฉายกระบวนทัศน์ของปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า ให้เราได้รับทราบ โดยมีผลต่ออุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาได้อย่างไร

 

 

สุณัย ผาสุข :

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นสถานการณ์ปลายเปิด หรือถดถอยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เห็นอนาคตว่าจะจบลงเมื่อไร ตราบใดเท่าที่ยังไม่มีสันติภาพ ยังไม่มีการทำการตกลงว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไปสู่การจัดตั้งรูปแบบของรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกันได้ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ยังดำเนินอยู่ต่อไปจากความขัดแย้ง จากการใช้กำลังห้ำหั่นกัน ทั้งจากรัฐกระทำต่อประชาชนและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐกระทำสวนกลับมาต่อ

ตอนนี้อยู่ในสภาพที่กล่าวได้ยากว่ามีพระเอกกับผู้ร้ายเหมือนที่ ฉากทัศน์ง่ายๆ ที่ชอบเข้าใจ คือเผด็จการทหารนี่เลว ชั่ว เป็นผู้ร้าย และฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการทหารเป็นคนดี แต่ตอนนี้พออยู่ในสถานะ Failed State (รัฐล้มเหลว) ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐก็มีความหนักหน่วงร้ายแรง เพียงแต่ว่าจำนวนครั้งที่ก่อเหตุ พื้นที่ความกว้างขวางน้อยกว่าประสิทธิภาพที่รัฐเป็นผู้กระทำ

ยกตัวอย่างเช่น การวางระเบิดในเขตเมือง ซึ่งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ก่อโดยฝ่ายที่อ้างว่าต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ใช้การวางระเบิดในเขตเมืองซึ่งทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้รับผลกระทบไป การวางเพลิงเผา การปิดกั้นเส้นทางจราจร การลอบสังหาร มีการขึ้นบัญชีคนที่ถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ระบอบเผด็จการและไปลอบสังหารเขา กรณีเหล่านี้เห็นภาพขึ้นมา

 

 

ส่วนการกระทำของรัฐพม่าก็ชัดเจนว่าไปไกลถึงขั้นที่เป็นอาชญากรรมสงครามคือ ปฏิบัติการในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีการใช้วิธีการที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เช่น การโจมตีพลเรือน การโจมตีสถานพยาบาล โจมตีโรงเรียน การไม่แยกแยะเป้าหมายระหว่างที่เป็นกองกำลังติดอาวุธกับพลเรือน หรือไปไกลกว่านั้นที่ผ่านมาเป็นอาชญากรรมสงคราม แต่ถัดไปก็คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ คือมีลักษณะกว้างขวาง ต่อเนื่อง เป็นระบบ รุนแรงไปกว่านี้คือ รัฐบาลพม่าแข่งกับรัสเซียด้านก่ออาชญากรรมครบทุกกลุ่ม และรุนแรงกว่าคืออาชญากรรมล้างเผ่าพันธ์ุ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำต่อโรฮิงญาต่อเนื่องมา

ถ้าพูดในเรื่องว่าคือ สถานการณ์ในพม่า เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงขนาดนี้ จะๆ นำไปสู่การยุติ ซึ่งบอกไปแล้วโอกาสที่ยุติแทบจะไม่มีเลย แล้วจะเอาผิดได้ไหม ซึ่งเป็นไปได้ยาก ตอนนี้ที่อยู่ในระบบของกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว คือการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก และศาลอาญาระหว่างประเทศ คือพิจารณาทั้งในระดับต่อประเทศและต่อระดับบุคคลมีใน 2 ช่องทาง เป็นเรื่องของการที่กระทำต่อโรฮิงญาก็คือฆ่าล้างเมือง และผลักดันให้ โรฮิงญา ออกนอกพม่าไป ตอนนี้อยู่ที่ ค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเดินทางผ่านไทยและเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ไปจบที่มาเลเซีย ซึ่งยังเป็นปัญหาที่เกิดอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการที่จะพยายามเอาผิดกับรัฐพม่าและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแต่กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก ช่องทางต่างๆ อย่างที่บอกว่าตอนนี้จากที่ (รัฐบาลทหารพม่า) ทำอะไรเยอะแยะมีแค่เรื่องโรฮิงญาเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ

 

 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องร่วมสมัยคือ การปราบปราม ประหัตประหารกับคนเห็นต่างที่ไม่เอาด้วยกับระบบทหาร จากที่ยกตัวอย่าง เช่น การไปทิ้งระเบิดที่คะฉิ่นก็ดี หรือว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 สิงหาคม 2566) มีการทิ้งระเบิดตรงข้ามอำเภอแม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งก็ยังหาเจ้าภาพที่จะเอาผิดไม่ได้

โจทย์ถัดมาว่าในระดับภูมิภาคเราทำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่สมัยที่ยังสอนหนังสืออยู่จนเลิกสอนมาได้ถูกจัดเป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นในอาเซียนหรือเป็น ASEAN Skeptic ถูกล้อเลียนมาเยอะว่า ไปพูดในเวทีอาเซียน เป็นคนที่ชอบตั้งคำถามอาเซียน เขาคงชวนไปในฐานะว่าเป็นคนตั้งคำถาม ซึ่งจะเป็นอีกมุมหนึ่ง

ผมนึกถึงประเด็นหนึ่งว่า อาเซียนไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก ต่อการที่จะจัดการพม่าหลังจากที่อาเซียนมีการประชุมสุดยอดและกำหนดฉันทามติ 5 ข้อขึ้นมา อาเซียนได้กลายเป็นหนังหน้าไฟ คือทุกคนมีข้อจำกัด เมื่อสักครู่มีการพูดถึง Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ที่ทำให้หลายประเทศไม่อยากเป็นคนออกหน้าเรื่องพม่า เพราะจะติดพันตัวเองจะมีผลประโยชน์เกี่ยวพัน โยนให้อาเซียน แต่อาเซียนก็มีผลประโยชน์เกี่ยวพันอยู่ แต่ว่าข้อกำหนดเรื่องของฉันทามติ 5 ข้อขึ้นมา ซึ่งอาจารย์อนุสรณ์พูดปาฐกถานำไปว่า สมัยความขัดแย้งในกัมพูชา อาเซียนและไทย มีบทบาทนำในการเข้าไปคลี่คลายได้ คือจะต้องหาว่าแต้มต่ออยู่ตรงไหน ณ ตอนนั้นแต้มต่ออยู่ที่ว่ากัมพูชายังไม่ได้เป็นสมาชิก และอยากจะเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะฉะนั้น แต้มต่ออาเซียนคือเรื่องสมาชิกภาพ ในรอบนี้ อาเซียนก็มีแต้มต่อที่คล้ายๆ กันแต่จะใช้ไหม เพราะว่าในอาเซียนมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า สมาชิกนอกคอกสามารถขับออกได้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องนี้

 

 

ถึงเวลาหรือยัง ที่อาเซียนจะยกเลิกสมาชิกภาพของพม่าขึ้นมาเป็นประเด็นว่า ถึงจุดนี้พม่านอกจากไม่เคารพฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งผู้แทนสูงสุดของพม่าไปร่วมตกลงด้วย เรื่องนี้ไว้ 1 จะเข้าเกณฑ์ไหม เรื่องที่ 2 พฤติกรรมของพม่าในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามต่ออาเซียนทั้งหมด คือทำลายเสถียรภาพของอาเซียนทั้งในมิติความมั่นคง จุดยืนระหว่างประเทศ ถึงเรื่องเศรษฐกิจ พูดเรื่องยาเสพติด พูดเรื่องการโยกย้ายของคน (Migration) ที่เป็นการย้ายถิ่นแบบผิดปกติ แล้วมันเป็นการย้ายถิ่นที่จะไม่จบ จะทะลักมาเรื่อยๆ สิ่งนี้เข้าเกณฑ์แล้วหรือยังที่อาเซียนจะยกประเด็นนี้มาขู่ ไม่ได้บอกให้ขับออก คืออาเซียนต้องสร้างแต้มต่อให้กับตัวเอง ต้องสร้างอำนาจต่อรองให้กับตัวเอง ที่ผ่านมาอาเซียนหงอให้พม่า ทำให้พม่าเบี้ยวได้ตลอด ตกลงอะไรไว้ก็เบี้ยว จะทำอะไรก็ทำไม่ได้สักที เสียความน่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ อาเซียนต้องพลิกเกมใหม่

ผมคิดอย่างนี้จากที่ฟังหลายท่านและประยุกต์ขึ้นมา อาเซียนมีความหวังขึ้นมาถ้ากล้าพูด แต่คำถามคือ ในอาเซียนทั้งหมดใครจะเป็นคนที่พูดเรื่องนี้ ประเทศไทยใกล้ชิดเกินไปที่จะเสนอประเด็นนี้หรือเปล่า ก็ยังสองจิตสองใจว่าประเทศไทยในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อยู่ใกล้เกินไป มีหลายเรื่องที่ค้ำคอตัวเอง พูดออกหน้าจะสะดวกไหม หรือในทางกลับกัน ประเทศไทยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นประเทศนำของอาเซียนมีนักการทูตหลายคน ยกตัวอย่าง อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ อาจารย์สุขุมพันธ์ุ บริพัตร นานกว่านี้คือ อดีตนายกชาติชาย ชุณหะวัณ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นนักการเมือง นักการทูตที่มีบทบาทนำในระดับอาเซียนในการชงประเด็นว่าประเทศไทยสามารถมีจุดยืนนำอาเซียนได้ เพราะตอนนี้ก้ำกึ่งระหว่างไทยจะโยนไม้ให้ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ที่เก่งมากๆ เป็นคนพูดแทนไหม ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ตอนแรกก็น่าจะเป็นคนทำบทบาทนี้ได้ ก็ไม่อยู่แล้ว และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของมาเลเซียยังไม่เก่งพอ ยังมองว่าถ้าเกิดไทยยังไม่สะดวกใจ จะเป็นวิเวียนดีไหม เพราะว่าตอนนี้ในไทยยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ข้าราชการก็ยังคงเกียร์ว่างอยู่

 

 

เพราะฉะนั้น ยังอยู่ตัดสินใจไม่ได้ว่าไทยจะเลือกออกหน้าดีไหมหรือว่าชงไอเดียให้ประเทศอาเซียนอื่นที่พร้อมกว่า หรือไม่เช่นนั้นเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งมีสูตรในการทำงานที่น่าสนใจ เพราะว่าหนึ่งในฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนคือว่า อาเซียนต้องมีผู้แทนพิเศษในการจัดการกับปัญหาพม่า แต่อินโดนีเซียใช้สูตรที่ไม่เหมือนกับประธานอาเซียน 2 ประธานก่อนหน้านี้คือ ไม่ตั้งเป็นตัวบุคคลแต่ตั้งเป็นคณะทำงาน ซึ่งจะเป็นจุดแข็งว่าเวลาทั้งดอกไม้และก้อนหินจะลงจะไม่ลงไปที่ตัวบุคคลแต่เป็นคณะทำงานแทน

ตอนนี้ได้คำตอบว่า ถ้าไม่ใช่ วิเวียน ที่เป็นตัวบุคคล เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจากสิงคโปร์ ก็เป็นคณะทำงานที่เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องพม่า โดยจะใช้การทูตแบบไหน ถ้าเกิดจะเป็นคนออกหน้าออกจะหน้าแบบไหน ออกหน้าแบบสวนตรงกับพม่าคิดว่าไม่เวิร์ค เพราะว่าพม่าถ้าเกิดมีใครสวนตรงๆ กับ พม่าก็จะวิ่งไปหาจีนหรือไม่ก็เบี้ยวไม่ติดต่อกันเลย

เราพูดหลายเรื่องถึง Flexible Engagement (ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น) หรือ Constructive Engagement (พัวพันอย่างสร้างสรรค์) ขึ้นมา ถ้าเกิดใช้วิธีตบหน้าพม่าตรงๆ พม่าจะไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้น คงต้องกลับมาสิ่งที่อาเซียนเก่งก็คือ Flexible Engagement หรือ Constructive Engagement ใช้ช่องทางที่อันนี้

 

 

โดยปกติผมมักวิจารณ์คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย สิ่งที่คุณดอน ชงขึ้นมาหรือที่ทำอยู่ในปัจจุบัน มันเละ มันไม่มีประโยชน์ มันหาสาระไม่ได้ และไม่มีผลสำเร็จ แต่ว่าสามารถทำให้เป็นประโยชน์ได้คือ รัฐบาลใหม่เข้ามาเอาสิ่งที่คุณดอนเริ่มไว้ เริ่มประชุมตอนนี้มา 3 ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดที่พัทยาหรือการประชุมที่เรียกว่าช่องทาง 1.5 (Track 1.5) คือเป็นทางการของอาเซียนทั้งหมด รวมกับข้าราชการประจำของพม่า คือระดับปลัดกระทรวงของพม่ามาเป็น.5  จึงกลายเป็นการประชุมช่องทาง 1.5 อย่างเป็นครึ่งๆ กลางๆ ใช้สิ่งนี้เป็นช่องทางให้คนที่เราบอกให้ชงไอเดียมา แล้วส่งให้สิงคโปร์ในช่องทางนี้ บอกว่า “พม่าจะดื้อแพงแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องตอบรับข้อเสนอของอาเซียนบ้าง เพราะอะไรยกเหตุผลไป” ไม่ฉะนั้น ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือการขู่เรื่องสมาชิกภาพ อันนี้ข้อที่ 1 ที่ขู่ได้

ข้อที่ 2 ต้องไปจับมือกับคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ กลไกสหประชาชาติก็ดี เพราะว่ามาตรการกดดันในระหว่างประเทศต้องมาจากคณะมนตรีความมั่นคง ต้องขู่ ต้องไปประสานกันให้ได้ว่า อะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการประณามพม่าในเวทีสหประชาชาติ รูปแบบของการ Sanctions หรือ มาตราการลงโทษ ลงโทษทางเศรษฐกิจในระดับต่างๆ มีได้หลายระดับ หลายเป้าหมาย ใช้อะไรเป็น “ตุ๊กตา” ได้ สหประชาชาติไม่ต้องคิดเองมันมีตุ๊กตาอยู่แล้วอย่างประเทศที่เริ่มคว่ำบาตรกับพม่าตอนนี้มีแล้ว มีทั้งสหรัฐอเมริกา มีทั้ง EU แล้วล่าสุดมาตรการนี้มันลามมาถึงอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่ารัฐบาลพม่ามีรายได้ ต้องเอาเงินไป Process หรือไปทำธุรกรรมที่สิงคโปร์ ถ้าเกิดคุณบล็อกไม่ให้ทำธุรกรรมได้ พม่าก็จะมีเงินแต่ใช้ไม่ได้ มันเจ็บกว่าการไม่ได้เงิน เราใช้ช่องทางเหล่านี้ ไม่ต้องใช้ช่องทางที่เป็นทางการ แต่ใช้ช่องทางครึ่งทางการหรือกึ่งๆ ทางการประสานได้

มันจะทำให้อาเซียนซึ่งถูกเหยียดหยามเยาะเย้ยมาตลอดว่าเป็นเสือกระดาษ พอจะมีเขี้ยวงอกขึ้นมานิดๆ ยังไม่แหลมคม แต่ว่าพอมีเขี้ยวเล็บอยู่บ้าง ในการที่จะกดดันพม่าได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เช่นนั้นมันก็จะเป็นสถานการณ์อย่างที่พวกเราคุยกันมาว่ามันสิ้นหวัง สิ้นหวัง สิ้นหวัง ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง และอาเซียนก็จะเหมือนกับคำว่าเป็นหนังหน้าไฟ ถูกโยนภาระมาให้แต่ไม่มีผลอะไร ประเทศไทยนี่หนังหน้าไฟโต้งๆ โดนทั้งผลที่เป็นในเชิงนามธรรม ในเชิงศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของประเทศ และในเชิงรูปธรรมในการรับผู้ลี้ภัย

พม่าไม่หยุดอย่างที่เราคุยกันมา 3-4 เวที เรื่องที่ประเทศไทยขอหลักๆ กับพม่าคือหยุดโจมตีพื้นที่ชายแดน ซึ่งพม่าไม่รับปากเลย เรื่องที่ขอว่าถ้าไม่หยุดการโจมตีก็ต้องเปิดพื้นที่ฉนวนมนุษยธรรมชายแดนก็เปิดไม่ได้เพราะพื้นที่เหล่านั้นไม่ปลอดภัย คือมันพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น อาเซียน ไทย และสมาชิกอื่นๆ ต้องคิดออกนอกกล่องให้ได้ คิดอย่างสร้างสรรค์ให้ได้ ถ้ายังคิดอยู่ในกล่องอาเซียนแบบเดิมๆ ไม่มีความคืบหน้า แก้ปัญหาไม่จบ และเราก็ต้องแบกภาระแบบนี้ต่อไป และภาระนี้ก้อนมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ :

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์