ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ขบวนการเสรีไทย” ในอดีตกับข้อคิดสำหรับคนยุคปัจจุบัน

3
กันยายน
2566

Focus

  • การได้มาซึ่งเอกราชของชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้ความพยายามของขบวนการเสรีไทยในการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยการยึดครองประเทศไทยของญี่ปุ่น สอดคล้องกับหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร คือ เรื่องเอกราชและอธิปไตยของชาติ สมควรที่คนรุ่นใหม่จำต้องเรียนรู้ โดยความร่วมมือของโรงเรียนต่างๆ
  • การที่ได้มีการกระทำของฝ่ายไทยต่อต้านญี่ปุ่นในบางจังหวัดก็ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร (โทรเลข) ที่ประเทศไทย โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แสดงความพร้อมต่อการจะสู้รบกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรก็ดี นำไปสู่การยอมรับของสหรัฐอเมริกาและตามด้วยอังกฤษ ในการให้ประเทศไทยกลับมามีเอกราชและประกาศวันสันติภาพได้ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488
  • บุคคลจำนวนมากทุกชนชั้นร่วมกันเสียสละเพื่อชาติ จึงสมควรแก่การยกย่อง และผู้ที่สมควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ ในภารกิจของขบวนการเสรีไทยและพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาตินั้น ก็อาทิเช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร

 

 

พิธีกร :

อยากให้ ดร.จริย์วัฒน์เล่าถึงความสำคัญของวันสันติภาพไทย รวมถึงขบวนการเสรีไทยว่ามีที่มาที่ไป เริ่มต้นและการดำเนินการเป็นอย่างไร รวมถึงความสำคัญของวันนี้ และที่สำคัญ ยังมีหลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ที่อาจจะยังไม่ทราบถึงความสำคัญของขบวนการเสรีไทย

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร :

การมารำลึกถึงคุณูปการของบุคคลหรือองค์กรใดๆ ต่อหน้าสาธารณชนย่อมเป็นมงคลต่อชีวิตของทั้งผู้เล่าและผู้ฟังด้วย ผมหวังอย่างนั้นว่าคงจะเป็นจริง คือเสรีไทย เมื่อครู่นี้อาจารย์อนุสรณ์ได้กล่าวไปเกือบหมดแล้ว เพียงแต่ผมจะหาอะไรที่มาแทรก มาเพิ่มเติมให้อีกเล็กน้อยเท่านั้นว่าความเสียสละคืออะไร ต้องเริ่มกันตั้งแต่อภิวัฒน์ ตอน พ.ศ.2475 สิ่งที่เป็นหลักการสำคัญที่สุดที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้พยายามเผยแพร่มาตลอด คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

 

 

หลักแรก คือ เอกราชและอธิปไตย หลักอื่นๆ เรื่องความอยู่รอดปลอดภัย เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษา และเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือเรื่องเอกราชและอธิปไตย การที่เราได้มาซึ่งสันติภาพ ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องได้มาด้วยการเสียสละ เสียสละหลายๆ อย่าง ไม่ใช่อยู่ๆ อยากจะประกาศสันติภาพก็ประกาศกันได้ อันนี้คงไม่ใช่ แต่เมื่อมีเสรีไทยมาแล้ว อย่างที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์ได้เล่าแล้วว่าตั้งขึ้นมาอย่างไร

ผมก็อยากจะให้เห็นถึงความเสียสละของเสรีไทยอีกเล็กน้อย โดยเรื่องแรกเลยก็คือ เสรีไทยที่ว่าเขาเสียสละกันอย่างไร และมาจากชนชั้นต่างๆ อย่างไร

ผมจะขอโควท 3 เรื่อง ทั้ง 3 โควตมาจากที่อาจารย์ป๋วยพูด เรื่องแรกเลยคืออาจารย์ป๋วย คนชอบไปว่าท่านว่าเป็นลูกจีน แต่ท่านก็ได้เขียนเอาไว้ด้วยความภาคภูมิใจว่า “เมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่น ผมและเพื่อนๆ ลูกจีนอย่างผมอีกหลายคน ไม่เคยลังเลใจเลยที่จะสละชีพเพื่อชาติไทย”

เรื่องที่ 2 ท่านก็ได้พูดเอาไว้อย่างที่น่าสนใจมากว่า “ผมไม่เคยคิดมาก่อนในชีวิตว่าจะต้องจับปืนต่อสู้ เดี๋ยวนี้ผมเป็นทหาร ผมจะอยู่ในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการกดขี่ได้อย่างไร ผมจะทำงานต่อไปได้อย่างไรในขณะที่พี่น้อง ญาติสนิท เพื่อนอยู่ในอันตราย ผมต้องยื่นมือที่อ่อนล้าไปช่วยเหลือ เผื่อว่ามันอาจจะช่วยยุติความเลวร้ายทั้งปวง ผมยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ผมจะทำให้ดีที่สุด”

 

 

เมื่อได้ไปฝึกแล้ว ท่านก็ถูกส่งเข้ามาอยู่บนเรือดำน้ำ ลอยอยู่นอกฝั่งไทย ท่านได้กล่าวถึงแผ่นดินแม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ข้าพเจ้าจำได้ว่าแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราสวยงามมาก หาดทรายขาวและมีกระท่อมคนหาปลาอยู่ มีต้นไม้เป็นอันมาก ข้าพเจ้าไม่เคยไปเลย แต่รู้สึกว่าที่นั่นเป็นแผ่นดินที่รักของเรา และมีคนร่วมชาติที่รักของเราอาศัยอยู่”

นี่คือความรู้สึกที่คนที่กำลังจะเสียสละ ก็ไม่ทราบจะเสียสละอะไรอย่างใด ได้เขียนรำลึกไว้ อันนี้ผมคิดว่ามีส่วนมากมาย พอเมื่อสามารถปะติดปะต่อกันแล้ว เขายอมรับขบวนการเสรีไทยภายใต้อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้า หรือภายใต้รหัส “รู้ธ (Ruth)” ท่านอาจารย์ป๋วยก็ได้ไปเป็นคนเจรจาในหลายๆ เรื่องด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็คือว่าท่านเป็นทหารของอังกฤษและถูกส่งเข้ามา แต่ท่านก็บอกว่าเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ประเทศไทย เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจบจากภารกิจแล้ว ท่านก็ไปลาออกจากการเป็นทหารอังกฤษ ท่านไม่ได้สนใจ ไม่ต้องการลาภยศหรือว่าสิทธิต่างๆ

ทีนี้เสรีไทยต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง หลัง 25 มกราคม 2485 นอกจากต่อสู้ขับไล่ผู้ที่เข้ามารุกรานประเทศไทยแล้ว ก็ต้องให้สัมพันธมิตรซึ่งเราได้ไปประกาศสงครามด้วยในช่วงนั้น ได้มายอมรับว่าเราได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ คือเราไม่ได้พูดแต่ปากแล้วก็ทำ สิ่งเหล่านี้ท่านได้ปฏิบัติโดยผ่านกระบวนการเสรีไทยในต่างจังหวัดและในที่ต่างๆ รับอาวุธมา เอาออกไปสู้ แกล้งขัดขวางญี่ปุ่น

 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทางอังกฤษให้เราส่งคณะไปเจรจา เราก็อยากจะไปเจรจาทางด้านการทหารว่าจะทำอย่างไรต่อ ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็เลยจะเอาเรื่องการเมืองเข้ามาพูดด้วยว่าจะต้องการเช่นนั้นเช่นนี้

เมื่ออาจารย์ปรีดีเห็นว่าสงครามคงจะต้องยุติอีกไม่นาน ถ้าเราไปหาอังกฤษอย่างเดียวอย่างนี้เรื่อยๆ เราคงต้องยอมโน่นยอมนี่ไปล่วงหน้า ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 20 พฤษภาคมปี 2488 ท่านก็ตัดสินใจส่งหนังสือโทรเลขไปถึงทั้งอังกฤษ คือผ่านลอร์ด เมานต์แบตเทน และให้ฝ่ายอเมริกาได้ทราบด้วยว่าไทยพร้อมแล้ว ตอนนี้ถูกบีบมาก เพราะฉะนั้นก็จะเปิดสงครามกับญี่ปุ่นแล้ว หรือจะเปิดหน้าสู้ ก็ไม่แน่ใจว่าท่านประสงค์อย่างนั้นจริงๆ หรือว่าเป็นการ Call the bluff (ท้าพิสูจน์สิ่งที่ได้กล่าวหรืออ้างไว้) คือจะต้องประกาศว่าฉันพร้อม ฉันจะทำแล้ว และในขณะเดียวกันก็บอกว่า ถ้าเราเริ่มเปิดฉากแล้ว ขอให้รับรองสถานะเราให้เหมือนกับก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกเข้าไทย ส่วนเรื่องอื่นค่อยเจรจากันทีหลัง ก็คือว่าเราควรจะมีเอกราชเหมือนเดิม

หนังสือนี้ก็ต้องถกเถียงกันเยอะมากทั้งอังกฤษและทั้งอเมริกา อังกฤษก็แน่นอน เขาไม่อยากจะได้อย่างนั้น เพราะเขาเป็นคนที่มีอิทธิพลมากในนี้ เขาคิดว่าเขายังใหญ่อยู่ แต่อเมริกาเห็นด้วย เพราะว่าเราไม่ได้ประกาศสงครามกับอเมริกา ก็เป็นข้อดี เมื่อเกิดการทิ้งระเบิดฮิโรชิมา นางาซากิ วันที่ 6 กับวันที่ 9 สิงหาคม ปี 2485 สงครามก็ใกล้จะยุติแล้ว พอวันที่ 15 ญี่ปุ่นยอมแพ้ ทางสัมพันธมิตรก็รีบมีหนังสือมา เน้นโดยฝ่ายอเมริกันว่าเราถือว่าคุณได้ประกาศออกมาสู้แล้ว

 

 

ย้อนไปวันที่ 20 พฤษภาคม ฉบับแรกที่ออกมาบอกว่า เรายอมรับนะว่าท่านพร้อมที่จะทำ ท่านได้เริ่มเสียสละแล้ว ซึ่งอันนั้นเขาเรียกว่า Work your passage home (การได้ทำสิ่งที่มีค่าเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ที่ได้รับ) แต่อย่าเพิ่งเปิดฉากโจมตี เพราะฉะนั้น แผนใหญ่ซึ่งเมานต์ แบตเทนกำลังวางแผนที่จะสู้กับญี่ปุ่นก็จะเสียหาย ญี่ปุ่นจะรู้ตัว ไหวตัว แล้วอาจจะปรับโน่นปรับนี่ ทำให้แผนใหญ่ดำเนินไม่ได้ ขอให้ไทยระงับไว้ก่อน

การระงับก็ต้องถือว่าไทยได้ Contribute ได้ช่วยภารกิจสัมพันธมิตร ในการต่อสู้กับญี่ปุ่น อันนี้เป็นหลักฐานอันใหญ่ที่สำคัญมากที่วันที่ 15 สิงหาคม เขาก็ได้เอาโทรเลขฉบับแรกมาบอกว่า ขอให้ไทยประกาศสันติภาพได้ ไม่ใช่ว่าเรานึกอยากจะประกาศสันติภาพก็ประกาศได้ ทั้งอังกฤษและอเมริกาซึ่งเป็นคู่สงคราม ซึ่งเราไปประกาศสงครามด้วยก็ต้องเป็นคนเห็นว่าเราสามารถประกาศได้ แล้วยอมรับ อเมริกายอมรับทันที อังกฤษในที่สุดก็ต้องยอมรับ

นี่คือหลักการใหญ่ที่ว่า เอกราชของเราได้รับมาโดยการเสียสละของเสรีไทยทั้งมวล นำโดยท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จากนั้นก็เป็นเรื่องการเจรจา จะบอกว่าปลีกย่อยก็ไม่ได้ปลีกย่อยนะ กว่าเราจะได้เอกราชที่สมบูรณ์ จากการที่ไปประกาศสงครามกับเขา เช่น เรื่องการทหาร การส่งอาชญากรสงคราม นั้นเป็นเรื่องรอง เพราะสำหรับเสรีไทยและอาจารย์ปรีดี นั่นคือการรับใช้ชาติที่ถูกต้อง ได้กู้ชาติกลับมาจากสถานะซึ่งไม่พึงปรารถนา ได้เอกราชตรงกับหลักที่หนึ่งนั่นเอง

 

 

ผมดีใจที่เราได้มาพูดถึงวันสันติภาพในครั้งนี้ ซึ่งวันสันติภาพนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ต่อสู้หลังจากที่อาจารย์ปรีดีเสียชีวิตไปแล้ว กว่ารัฐบาลจะยอมรับว่าวันนี้เป็นวันสันติภาพของไทย อันนี้ก็ต้องกล่าวถึง เมื่อกล่าวถึงอย่างนี้แล้ว ผมขออนุญาตย้อนไปสัก 10 ปีก่อน ผมได้มาพูดที่นี่ครั้งหนึ่ง เรื่องสันติภาพเหมือนกัน แต่ว่าในแง่เสรีไทยที่เป็นผู้หญิงและคนที่ผมกล่าวถึงมากที่สุด แน่นอนว่าเป็น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์และคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร รวมทั้งท่านอื่นๆ ด้วย เมื่อครู่มีคนได้สรรเสริญคุณฉลบชลัยย์ไปเรียบร้อยแล้ว ผมอยากจะให้พวกเราได้ระลึกถึงว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ช่วยสร้างบ่อน้ำที่สำคัญ ที่ทำให้เราสามารถดื่มกินได้จนถึงทุกวันนี้ ผมขอเล่าเพียงแค่นี้

พิธีกร :

ตอนนี้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยกันบ้าง นักศึกษาได้มีการเรียกร้องในเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการเมือง เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทยมากขึ้น ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียกได้ว่าน่าจะบอกกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ของเราได้ วันนี้มีอะไรที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของความเป็นสันติภาพไทยกันบ้าง

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร :

จิตวิญญาณของความเป็นอิสระชน ความเป็นเสรีไทยซึ่งนำมาสู่สันติภาพ ผมอยากให้เราได้ปลูกฝังในคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าด้วย อย่างน้อยที่เห็นก็บอร์ดที่อุตส่าห์ทำกันมาอย่างสวยงาม ถ้าได้ไปเวียนตามโรงเรียนต่างๆ ในกทม. ก่อน แล้วไปที่ต่างๆ และหาคนที่เกี่ยวข้องมาพูด เล่าให้ฟังบ้าง เด็กจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปทีละนิดๆ ได้ แต่ต้องเริ่มบางอย่าง เรามีบอร์ดมีอะไรอยู่แล้ว ก็ไปตามโรงเรียน ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ปีหน้าหวังว่าถ้าจะมีอย่างนี้เรื่อยๆ อาจจะมีตอบคำถามเกี่ยวกับเสรีไทยจากโรงเรียนต่างๆ แล้วก็ทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องที่ทุกคนจับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือการตอบแทนบุญคุณและคุณูปการของบรรพบุรุษของเรา

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/100064881360154/videos/1003049954308779

 

ที่มา : ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร. “ขบวนการเสรีไทย” ในอดีตกับข้อคิดสำหรับคนยุคปัจจุบัน. กิจกรรมวันครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ณ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย กรุงเทพมหานคร.