ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม

5
ตุลาคม
2566

Focus

  • สมุฏฐานที่เป็นรากฐานของสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์และสังคมในมุมมองของปรัชญาสำนักต่างๆ แยกออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ ฝ่ายจิตธรรมที่ถือว่าจิตเป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลาย และฝ่ายสสารธรรมที่ถือว่าสสาร เป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลาย แต่ในความเป็นมนุษย์ หากไม่เอนเอียงจนสุดเหวี่ยง สสารก็มีอิทธิพลเหนือจิตและจิตก็มีอิทธิพลเหนือสสารอันคือร่างกายของมนุษย์ได้
  • ชีวปัจจัยเป็นรากฐานแห่งชีวิตมนุษย์ทั้งในด้านจิตใจและสสาร ถัดจากตัวมนุษย์ก็เป็นมนุษยสังคมที่มีกายาพยพอันเป็นเสมือนกายของสังคม อันเกิดจากการที่มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยกัน เช่น สถาบันต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบของสังคม และความสัมพันธ์ (ทาง) การผลิตระหว่างมนุษย์ในสังคม
  • ทรรศนะทางสังคมจึงเป็นเสมือนจิตใจทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกายาพยพของสังคม การเข้าใจถึงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่าเป็นเรื่องสสารธรรม (ไม่ใช่ปรัชญานิยมวัตถุหรือวัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อคริสตศตวรรษคริสตศตวรรษที่ 18) ที่เป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลายจึงสำคัญในการทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมมนุษย์

 

บทที่ 5 สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม

5.1

เมื่อเราได้พิจารณาปรากฏการณ์แห่งความเคลื่อนไหวของสังคมต่างๆ มาพอสังเขปที่จะทำให้เห็นสัจจะของกฎแห่งอนิจจังแล้ว เราก็ควรพิจารณาต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่า อะไรเป็นสมุฏฐานของสังคมที่เกี่ยวโยงสังคมทั้งระบบและทรรศนะทางสังคมในการเคลื่อนไหว

ดั่งนั้น เราจึงต้องเข้าสู่ปัญหาปรัชญาซึ่งเมธีทั้งหลายได้ค้นคว้ากันมาช้านานว่า อะไรเป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นรากฐานของสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสังคมของมนุษย์ให้มีอาการเคลื่อนไหวไป

5.2

ปรัชญามีหลายสำนักแต่ถ้าจะรวมเข้าแล้วแยกออกเป็นประเภทใหญ่ก็จะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่เท่านั้น คือ ฝ่ายหนึ่งถือว่า จิต เป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลายซึ่งเราเรียกว่า จิตธรรม อีกฝ่ายหนึ่งถือว่า สสาร เป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลายซึ่งเราเรียกว่า สสารธรรม

ลัทธิที่ถือว่าธาตุ เป็นสมุฏฐานตามคติของเมธีกรีกโบราณบางจำพวกและลัทธิที่ถือเอา วัตถุ เป็นสรณะหรือวัตถุนิยมตามคติของปรัชญาเมธีฝรั่งเศสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็รวมอยู่ในประเภทสสารธรรม หากแต่ไม่ใช่ สสารธรรมทางวิทยาศาสตร์ ข้าพเจ้าใช้คำ สสาร ในที่นี้โดยมีความหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า MATTER ซึ่งมี 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ

5.3

ข้าพเจ้าจำเป็นต้องขอทำความเข้าใจไว้ก่อนเพื่อป้องกันความเข้าใจของบางคนที่เอียงไปทางใดทางหนึ่งจนสุดเหวี่ยงตามสูตรสำเร็จที่ได้รับมา อันที่จริงระบบปรัชญาทั้งสองนั้นต่างก็ยอมรับว่าในตัวมนุษย์ย่อมมีทั้งสสารและจิต ความต่างกันอยู่ที่ว่าสสารหรือจิตเป็นสมุฏฐานและความสัมพันธ์ ระหว่างสสารกับจิตมีอยู่อย่างไร สสารมีอิทธิพลเหนือจิตและจิตมีอิทธิพลเหนือสสารอย่างไรบ้าง

5.4

บางคนที่ถือสูตรสำเร็จเพียงแง่ที่ว่า สสาร เป็นบ่อเกิดแห่ง จิต เท่านั้น แล้วก็อาจเข้าใจเอาเองเกินไปจนสุดเหวี่ยงโดยไม่ยอมรับอิทธิพลของจิตที่แม้จะเกิดมาจากสสารเป็นเบื้องแรก แต่ก็มีอิทธิพลสะท้อนไปยังสสาร และยิ่งไปกว่านั้นก็อาจกล่าวหาผู้ที่พิจารณาสภาพของจิตทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นผู้ล้าหลังแต่แท้ที่จริงผู้กล่าวนั้นเองล้าหลัง เพราะวิทยาศาสตร์ทางจิตของสสารธรรมนั้นก้าวหน้าไปไกลซึ่งตนตามไม่ทันแล้ว

เมธีฝ่ายสสารทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่าความเคลื่อนไหวของมนุษย์และสังคมของมนุษย์นั้นต่างกับความเคลื่อนไหวของสิ่งที่ไม่มีชีวิต กล่าวคือ มนุษย์และสังคมเคลื่อนไหวไปโดยมนุษย์มีจิตสำนึกแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้นเคลื่อนไหวไปโดยไม่มีจิตสำนึก อิทธิพลของจิตในทางวิทยาศาสตร์แห่งจิตมีอยู่ไม่น้อย ดั่งที่นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายสสารได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ เช่น การคลอดบุตรโดยไม่ให้มารดาเจ็บเป็นต้น สสารธรรมิกมากหลายที่ถูกศัตรูจับกุมไปทรมานก็ดี หรือเอา “วัตถุ” ล่อเพื่อให้ยอมจำนนก็ดีนั้น สสารธรรมิกเช่นนั้นก็มิได้เห็นแก่วัตถุ คือยอมถูกทรมานเพื่ออุดมคติของตน ในระหว่างสงครามชนิดต่างๆ สสารธรรมิกหลายคนที่ถูกข้าศึกล้อมแล้วขาดเสบียงก็ยังแข็งใจสู้ข้าศึกโดยปราศจากวัตถุ

สสารธรรมิกที่แท้จริงมากหลายมิได้โลภในวัตถุสิ่งของ คือมีความเป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟือย แทนที่จะหลงไปตามความยั่วยวนทางโลกสมัยใหม่ ศัพท์จีนที่แปลกันว่าไม่เสพสุข นี้ก็แสดงว่าอิทธิพลทางจิตมีอยู่มากที่ช่วยให้ตัดกิเลสในทางวัตถุ ดั่งนั้นสสารธรรมที่แท้จริงจึงไม่ปฏิเสธผลสะท้อนของจิตที่เกิดจากสสารและมิได้ถือเอาวัตถุเป็นสรณะ หรือนิยมวัตถุ หรือวัตถุนิยมตามที่เข้าใจผิดกันอยู่มาก ปรัชญาสสารธรรมที่แท้นั้นไม่ใช่วัตถุนิยมของฝรั่งเศสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่เป็นเรื่องของ สสารตามหลักวิทยาศาสตร์ คือธรรมชาติย่อมประกอบด้วยสสาร สสารธรรมที่แท้อธิบายปรัชญาตามหลักวิทยาศาสตร์

5.5

ส่วน จิตธรรม นั้นเล่าก็มีผู้เข้าใจชนิดเอียงสุดเหวี่ยงถึงกับปฏิเสธอิทธิพลของสสาร พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพิสูจน์แล้ว เช่นเมื่อก่อนพระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณนั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ไม่เสวยพระกระยาหารตามวิธีของจิตธรรมในอินเดียสมัยก่อนโน้น ในที่สุดพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าวิธีจิตธรรมเช่นนั้นไม่นำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงจึงได้กลับเสวยพระกระยาหาร ซึ่งแสดงถึงวาระแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ และแสดงว่าพระพุทธองค์มิได้ทรงปฏิเสธอิทธิพลของจตุปัจจัยที่เป็นสสารให้ร่างกายของมนุษย์เคลื่อนไหวไปได้ กล่าวคือร่างกายของมนุษย์ย่อมประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีอวัยวะสมองอยู่ด้วยที่ทำให้มนุษย์มีความคิด ความคิดของมนุษย์เป็นผลที่ประณีตของสมอง พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้มนุษย์ตัดกิเลสเพื่อมิให้หลงใหลในวัตถุ สสารธรรมิกที่แเท้จริงก็จะต้องยอมรับว่าวิธีสอนให้บุคคลไม่หนักไปในทางเสพสุข นั้นก็เป็นวิธีที่มีสอนไว้ในพระพุทธศาสนา

5.6

ท่านผู้อ่านย่อมสังเกตได้ว่า สังขารของมนุษย์นั้นย่อมประกอบด้วย ร่างกายและจิตใจ ร่างกายของเราประกอบด้วยสสาร คือมีของแข็ง ของเหลวและก๊าซ จิตใจของเราเป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวแห่งอวัยวะสมองอันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่มีร่างกายก็ไม่มีความคิดหรือจิตใจเกิดขึ้นมาได้

มนุษยสังคมก็มีกายาพยพ หรือนัยหนึ่งร่างกายของสังคมคือสถาบันต่างๆ อันประกอบเป็นระบบของสังคม ทรรศนะทางสังคม หรือนัยหนึ่ง จิตใจทางสังคม ก็เกิดขึ้นจากกายาพยพของสังคม

กายาพยพหรือร่างกายของสังคมนั้นมิใช่จะเกิดขึ้นมาลอยๆ คือต้องมีสสารทางสังคมซึ่งเป็นสมุฏฐาน

อะไรเป็นสสารทางสังคม?

นี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องค้นคว้าถึงสาเหตุที่ดลบันดาลให้มนุษย์ต้องรวมกันอยู่เป็นสังคม

5.7

ในการดำรงชีวิตอยู่ได้นั้นมนุษย์จำต้องมีชีวปัจจัย แม้ว่าเราสามารถตัดกิเลสในทางเสพสุขโดยจำกัดความต้องการในชีวปัจจัยให้เหลือน้อยได้เพียงใดก็ตาม แต่เราก็ยังมีความจำเป็นในจตุปัจจัยหรือปัจจัยทั้งสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย ยารักษาโรคเท่าที่จำเป็นแก่อัตภาพ

นอกจากความต้องการปัจจัยดำรงชีพทางกายแล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการความสุขทางใจซึ่งรวมทั้งทางวัฒนธรรมด้วย แม้เราสามารถตัดกิเลสในทางวัตถุให้น้อยลงได้เพียงใดก็ตาม เราก็ยังมีความจำเป็นในเครื่องอุปกรณ์แห่งการศึกษาอบรมเพื่อขัดเกลากิเลส เช่น จำเป็นต้องมีหนังสือ กระดาษ ดินสอ เป็นต้น

ดั่งนั้น ความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีพทางกายหรือทางใจก็มีรากฐานหยั่งลงไปถึงชีวปัจจัยนั่นเอง

ข้าพเจ้าต้องขอย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงชีวปัจจัยว่าเป็นรากอันลึกซึ้งแห่งชีวิตมนุษย์นั้น ข้าพเจ้ากล่าวในทางวิทยาศาสตร์แห่งสังคมที่ถือว่าสสารเป็นสมุฏฐานของสิ่งทั้งหลาย ไม่ใช่ถือปรัชญานิยมวัตถุหรือวัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อคริสตศตวรรษที่ 18 อันเป็นบ่อเกิดแห่งความเข้าใจผิดของบุคคลจำนวนน้อยที่นึกว่าปรัชญาฝ่ายสสารอื่นๆ ก็จะนิยมวัตถุเช่นกัน

ลา เมตตรี (LA METTRIE) นักปรัชญาฝรั่งเศสที่นิยมวัตถุนั้นได้นิยมวัตถุจริง เพราะผู้นี้ได้อธิบายไว้ว่ามนุษย์เปรียบเหมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่ง จิตนั้นมิใช่อะไรอื่นหากเป็นส่วนหนึ่งของอินทรีย์ เมื่ออินทรีย์สลายไปแล้วจิตก็หมดไปไม่มีอะไรอีก ครั้นแล้วผู้นี้ให้ผลสรุปทางจริยศาสตร์ว่าระหว่างที่มนุษย์มีชีวิตนั้นต้องทำให้เกิดความชื่นบานแก่วิสัยและหาความสุขเกษมสำราญ ทรรศนะวัตถุนิยมของปรัชญาชนิดที่กล่าวนี้ได้ถูกโต้จากเมธีสสารธรรมวิทยาศาสตร์ ดั่งนั้นเพื่อไม่ปะปนกับปรัชญาวัตถุนิยมดั่งกล่าว ข้าพเจ้าจึงเรียกปรัชญาฝ่ายสสารที่ถือหลักวิทยาศาสตร์ ว่า “สสารธรรม” เพราะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และมีหลักสั่งสอนมิให้สสารธรรมิกเสพสุขแบบวัตถุนิยมฝรั่งเศส

5.8

ในการมีชีวปัจจัยดั่งกล่าวแล้วก็จำต้องมีการผลิตชีวปัจจัยเหล่านั้น ขอให้เราพิจารณาความจริงว่ามนุษย์แต่ละคนไม่อาจทำการผลิตได้ด้วยตนเองทุกๆ อย่าง บางคนสามารถผลิตข้าวได้ แต่ผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือที่พักอาศัยหรือยารักษาโรคไม่ได้ บางคนสามารถทำงานทางกำลังกายหรือทางสมอง แต่ผลิตชีวปัจจัยโดยตรงด้วยตนเองไม่ได้ทุกอย่าง บางคนไม่ผลิตหรือออกแรงด้วยตนเองแต่มีปัจจัยการผลิตที่จะใช้ให้คนอื่นทำงานเพื่อตน บางคนเช่นบุตรต้องอาศัยชีวปัจจัยของบิดามารดา ฯลฯ

ดั่งนั้นมนุษย์จึงไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังได้ คือจำต้องมีความสัมพันธ์กันอยู่เป็นสังคม เพื่อได้มาซึ่งชีวปัจจัยโดยการผลิต

ความสัมพันธ์การผลิตระหว่างมนุษย์ในสังคมอาจเป็นชนิดที่สมาชิกทั้งหลายของสังคมมีความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง เช่น ระบบปฐมสหการและระบบสังคมกิจ หรืออาจเป็นชนิดที่คนจำนวนน้อยส่วนหนึ่งในสังคมซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตใช้ให้สมาชิกส่วนมากของสังคมซึ่งไม่มีปัจจัยผลิตทำงานเพื่อเจ้าของปัจจัยการผลิตนั้น เช่น ระบบทาส ระบบศักดินา และระบบธนานุภาพ หรืออาจเป็นความสัมพันธ์ชนิดผสมระหว่างประเภทต่างๆ

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9) น.19-24.

 

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :

บทก่อนหน้า

 

บทถัดไป