Focus
- ในสังคมปฐมสหการ ฐานะและวิถีดำรงชีพของสมาชิกแห่งสังคมไม่แตกต่างกัน เพราะผู้คนร่วมมือช่วยเหลือกันและกันฉันพี่น้อง แต่ในสังคมทาส ศักดินา ธนานุภาพ ผู้คนมีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างๆ กัน จึงแบ่งผู้คนแตกต่างกันในเชิง “วรรณะ” “ฐานันดร” หรือ “ชนชั้น” (Class ในภาษาอังกฤษ) ตามฐานะและวิถีดำรงชีพ
- แม้ว่าในยุโรปและเอเซียมีการจำแนกสถานภาพบุคคลในสังคมแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็คำนึงถึงฐานันดรสมบัติ คือ ปัจจัยการผลิตเป็นหลักสำคัญและตามความมากน้อย
- ในยุโรปเน้นแบ่งผู้คนเป็น “ชนชั้น” แต่ในเอเชียแบ่งเป็น “วรรณะ” ตามแบบอย่างในอินเดีย โดยในยุโรปผู้มีทุนและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเรียกว่า “บูร์จัวส์” หรือ “เจ้าสมบัติ” แต่ในเอเชีย (แบบอินเดีย) เรียกว่า “เศรษฐี” “คฤหบดี” และ “กระฎุมพี” ตามลำดับความมากน้อยของการถือครองสมบัติ ส่วนคนชั้นล่างสุดในยุโรปก็จะเรียกว่า “ชนกรรมาชีพ” หรือ “ชนชั้นไร้สมบัติ” และในเอเชียเรียกว่า “วรรณะผู้ไร้สมบัติ”
บทที่ 6 วรรณะ ฐานันดร ชนชั้น
6.1
วรรณะ หรือ ฐานันดร หรือ ชนชั้น ซึ่งแปลมาจากศัพท์อังกฤษ CLASS นั้น เป็นการแบ่งสมาชิกแห่งสังคมตามฐานะและวิถีดำรงชีพแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยในสังคม
6.2
ในสังคมปฐมสหการ สมาชิกทั้งหลายร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง ฐานะและวิถีดำรงชีพของสมาชิกแห่งสังคมจึงไม่แตกต่างกัน ดังนั้นภาระแห่งการที่จะแบ่งแยกออกเป็น วรรณะ หรือ ฐานันดร หรือ ชนชั้น จึงไม่มี
6.3
ในสังคมทาส ศักดินา ธนานุภาพ ซึ่งสมาชิกในสังคมมีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างๆ กัน สมาชิกในสังคมก็แบ่งแยกออกเป็นวรรณะ หรือฐานันดร หรือชนชั้นต่างๆ และยิ่งฐานะและวิถีดำรงชีพของสังคมประเภทเหล่านี้สลับซับซ้อนมากเพียงใด วรรณะหนึ่งๆ ก็ยังแบ่งแยกออกเป็นจำพวกและเหล่าย่อยอีกหลายอย่าง ในสังคมสังคมกิจ (สังคมนิยม) ซึ่งตามนิตินัยนั้นฐานะและวิถีดำรงชีพของสมาชิกแห่งสังคมจะไม่แตกต่างกัน แต่เมธีวิทยาศาสตร์ทางสังคมก็ได้กล่าวไว้ว่า ซากแห่งความคิดของสังคมเก่าจะยังตกค้างอยู่อีกกาละหนึ่ง
6.4
การจำแนกสมาชิกของสังคมตามฐานะและวิถีดำรงชีพนั้นรูปแบบของยุโรปกับของอาเซียใต้ผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แต่ในสาระแล้วก็คำนึงถึงฐานันดรสมบัติ คือ ปัจจัยการผลิต เป็นหลักสำคัญ โดยจำแนกตามความมากน้อยและจักซอยตามฐานะและวิถีดำรงชีพที่มีสัญลักษณ์พิเศษออกไปอีก
6.5
ในทางยุโรปนั้นปรัชญาเมธีได้อาศัยหลักของชาวโรมันซึ่งจำแนกบุคคลเพื่อรับใช้สังคมในกองทัพ เรียกเป็นภาษาลาตินว่า CLASSIS (คล้าสสิส) ซึ่งภาษาอังกฤษแปลงมาเป็น CLASS (คล้าส) และท่านที่นิยมแบบยุโรปได้แปลเป็นไทยว่า “ชนชั้น”
ในสมัยโรมันนั้นได้แบ่งบุคคลออกเป็น “คล้าสสิส” ต่างๆ เพื่อรับใช้สังคมในกองทัพโดยถือตามกำลังสมบัติของบุคคล เพราะบุคคลที่เป็นนักรบในกองทัพโรมันนั้นจะต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเอง ผู้ใดมีสมบัติมาก เช่นมีม้า รถ ทาสมากก็อยู่ในประเภทชั้นสูง ผู้ใดมีสมบัติน้อยลงมาก็อยู่ในชั้นต่ำลงมา ผู้ใดไม่มีสมบัติจะรับใช้สังคมได้ก็แต่โดยมีลูก ภาษาลาตินเรียกลูก ว่า PROLES (โปรเลส) จึงแผลงศัพท์นี้มาเป็น PROLETARIUS (โปรเลตาริอุส) ซึ่งหมายถึง ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ
ภาษาฝรั่งเศสแผลงคำ PROLETARIUS มาเป็น PROLETARIAT (โปรเลตาริอาต์หรือออกสำเนียงเร็วเป็นโปรเลตาริยาต์) อังกฤษเอาคำฝรั่งเศสนี้ไปทับศัพท์แต่ออกสำเนียงว่า “โพรลีตาเรียต” ซึ่งมีผู้แปลว่า ชนกรรมาชีพ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าควรแปลว่า ชนชั้นไร้สมบัติ หรือ วรรณะผู้ไร้สมบัติ
ภาษาจีนเคยใช้ทับศัพท์อยู่นานโดยออกสำเนียงว่า “ผู่ หลอ เลียะ ทะ เลียะ ย่า” แต่ในที่สุดใช้ศัพท์ใหม่ว่า “อู๋ฉ่านเจียจิ” (แต้จิ๋วออกสำเนียง : บ้อซั้วไกขิบ) ซึ่งแปลว่าชนชั้นหรือวรรณะที่ไม่มีสมบัติหรือไร้สมบัติ
6.6
ส่วนอาเซียใต้ซึ่งถือคติฮินดูที่ครอบงำอยู่ทั่วไปในดินแดนส่วนนี้ของโลกนั้น จำแนกบุคคลในสังคมออกเป็น “วรรณะ” ซึ่งตามมูลศัพท์แปลว่า ผิว หรือ สีเนื้อ
ในยุคคัมภีร์พระเวทหลายศตวรรษก่อนพุทธกาลนั้น มโนสาราจารย์ได้จำแนกบุคคลในสังคมออกเป็น วรรณะ โดยคำนึงถึงฐานะและวิถีดำรงชีพ คือแบ่งบุคคลในสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ ซึ่งเป็นนักบวชได้รับความยกย่องให้เป็นผู้ใหญ่ หัวหน้าสังคม กษัตริย์ ซึ่งเป็นนักรบ ผู้ถืออาวุธป้องกันสังคม แพศย์ เป็นผู้ทำการเลี้ยงสัตว์และทำการค้า มีสมบัติบ้านเรือน ศูทร์ คือผู้ที่ไม่มีสมบัติซึ่งต้องรับใช้วรรณะที่สูงกว่า
การแบ่งวรรณะแห่งยุคพระเวทได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขในสมัยต่อมา การแบ่งวรรณะที่ใช้อยู่ในแคว้นมคธและแคว้นใกล้เคียงเมื่อครั้งพุทธกาลได้เข้ามาสู่สังคมไทยหลายศตวรรษแล้วคือวรรณะกษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินสูงสุดของสังคมพราหมณ์ตกลงไปเป็นครูของกษัตริย์ ส่วนผู้มีสมบัตินั้นได้จำแนกออกเป็น 3 อันดับ คือ
อันดับที่ 1 ได้แก่ “เศรษฐี” คือคนมั่งมีที่ดินและสมบัติมากในสังคม
อันดับที่ 2 ได้แก่ “คฤหบดี” คือผู้ครองเรือนซึ่งมีที่ดินและสมบัติขนาดกลาง
อันดับที่ 3 ได้แก่ “กระฎุมพี” คือพ่อค้าเมล็ดพืชในชนบทและให้ชาวนากู้เงินเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถือเป็นวรรณะที่เกือบจะตกเป็นคนชั้นต่ำ
อันที่จริงมวลราษฎรไทยเข้าใจความหมายของ วรรณะกระฎุมพี ได้ดีพอสมควรทีเดียว จึงเรียกวรรณะนี้คู่กันไปกับ ข้าที่ดิน หรือ ไพร่ ว่า “ไพร่กระฎุมพี” ถ้าจะเทียบกับการแบ่งชนชั้นแบบยุโรปแล้วก็เท่ากับนายทุนน้อย เท่านั้นเอง ฉะนั้นกระฎุมพีจึงเป็นวรรณะที่ต่ำกว่าชนชั้นซึ่งเรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า BOURGEOIS (บูร์จัวส์) ซึ่งเป็นนายทุนขนาดใหญ่โตมโหฬาร
วิทยาศาสตร์ทางสังคมนิยามได้ว่า บูร์จัวส์ได้แก่นายทุนสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมฯ ดั่งนั้นถ้าจะเทียบคติกับฮินดูเรื่องวรรณะแล้ว “บูร์จัวส์” ก็น่าจะได้แก่วรรณะ “เศรษฐี” แต่ “บูร์จัวส์” นั้นในชั้นเดิมเป็นพ่อค้าซึ่งได้รับสัมปทานจากเจ้าศักดินาให้ปกครองบุรี ซึ่งเป็นปฐมกาลแห่งการปกครองเทศบาล แต่ต่อมาพวกนี้ได้สะสมสมบัติไว้มากแล้วทำการสู้เจ้าศักดินาซึ่งทำให้เจ้าศักดินาหมดอำนาจไป แล้วตนเองก็ขี่ครองสังคมแทน ซึ่งเท่ากับเป็นเจ้าชนิดหนึ่ง คือ เจ้าปัจจัยการผลิตของสังคม ซึ่งเป็นสมบัติของสังคม (Modern Capitalists, owners of social production and employers of wage-labour) ข้าพเจ้าจึงเรียก บูร์จัวส์ ว่า เจ้าสมบัติ
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. วรรณะ ฐานันดร ชนชั้น, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9), น. 25-28.
บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :
บทก่อนหน้า
- บทที่ 1 กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
- บทที่ 2 หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
- บทที่ 3-4 ที่มาของมนุษยชาติกับมนุษยสังคมและสัญลักษณ์พิเศษของมนุษย์แต่ละสังคม
- บทที่ 5 สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม
บทถัดไป
- บทที่ 7 รากฐานของสถาบันการเมือง