ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : รากฐานของสถาบันการเมือง

9
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • ระบบการปกครองของสังคมประกอบด้วยสถาบันและระบบต่างๆ อันตั้งอยู่บนรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม โดยความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง หรือระหว่างสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยกับทางการเมือง มีผลสะท้อนถึงกัน ดังเช่น สถาบันและระบบการเมืองใหม่จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ก่อให้เกิดสภาพที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ (ทาง) การผลิตใหม่ แต่ก็ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง
  • สภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมกับสถาบันและระบบของสังคมในแต่ละยุคสมัยจะสอดรับกัน เช่น ในสังคมปฐมสหการ สมาชิกอยู่กันด้วยสามัคคีธรรมภายในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐ ประมุขแห่งสังคมคือพ่อแม่ที่คอยดูแลความผาสุกของสมาชิกในสังคมทาส เจ้าทาสมีอำนาจรัฐที่สมบูรณ์และสามารถบังคับกดขี่ทาสให้ทำงาน เป็นต้น
  • แม้ว่าในทางนิตินัย อำนาจรัฐเป็นของสมาชิกในสังคม แต่ในทางพฤตินัย สมาชิกในสังคมผู้ถืออำนาจรัฐ ก็คือวรรณะที่ปกครองสังคมซึ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์แก่วรรณะของตนยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เว้นแต่ผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกนั้น จะทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารอย่างแท้จริง

 

บทที่ 7 รากฐานของสถาบันการเมือง

 

7.1

กายาพยพ หรือนัยหนึ่งร่างกายของสังคม คือสถาบันและระบบต่างๆ ของสังคม ก็ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมสถาบันใหญ่น้อยและระบบปกครองของสังคมที่กล่าวกันว่ามีหน้าที่ ระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎร นั้น ถ้าจะสาวไปถึงรากอันลึกซึ้งก็คือสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยนั่นเอง เพราะความต้องการในการดำรงชีพ ไม่ว่าทางกายหรือทางใจก็ต้องอาศัยชีวปัจจัย แม้จะจำกัดให้น้อยลงได้เพียงใดก็ตาม ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว

7.2

เราจำต้องทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการเอียงจัดเนื่องจากสูตรสำเร็จเพียงแง่เดียวไว้ด้วยว่า การที่สูตรสำเร็จอันหนึ่งกล่าวไว้ว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานการเมือง และระบบการเมืองเกิดมาจากสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมนั้น มีความหมายในการแสดงถึง ที่มา ของสิ่งเหล่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองก็ดี หรือระหว่างสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยกับทางการเมืองก็ดี ย่อมมีผลสะท้อนถึงกัน คือเมื่อการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจ หรือตามสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยในขณะใดขณะหนึ่งแล้ว สถาบันและระบบการเมืองใหม่ก็ก่อให้เกิดสภาพที่ทำให้สังคมพัฒนาต่อไปใหม่ เช่นสถาบันและระบบการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้ก่อให้เกิดสภาพที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตหลายอย่างดั่งที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น การเปลี่ยนแปลงสถาบันและระบบการเมืองในสังคมอื่นก็ทำนองเดียวกัน ที่ก่อให้เกิดสภาพอันสะท้อนไปถึงสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยอันเป็นรากฐาน ไม่มีการอภิวัฒน์ใดที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตได้ในทันใดทุกอย่าง แม้การอภิวัฒน์นั้นจะได้รับยกย่องว่าก้าวหน้าที่สุด แต่ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยสภาพใหม่นั้น

7.3

สภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมเป็นอย่างไรสถาบันและระบบของสังคมก็เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ

(1) ในสังคมแห่งระบบปฐมสหการ ซึ่งสมาชิกแห่งสังคมมีความเป็นอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ระบบสังคมก็เป็นไปในลักษณะของสามัคคีธรรมภายในครอบครัว คือไม่จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐ ประมุขแห่งสังคมเป็นบุคคลที่สมาชิกแห่งสังคมยกย่องนับถือประดุจเป็นพ่อแม่ที่คอยดูแลความผาสุกของสมาชิกทั้งปวงโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับกดขี่

(2) ในสังคมแห่งระบบทาส ซึ่งบุคคลส่วนน้อยในสังคมที่เป็นเจ้าทาสมีสิทธิใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานเหมือนสัตว์พาหนะนั้น ระบบสังคมก็ต้องเป็นระบบที่ เจ้าทาส มี อำนาจรัฐ อย่างสมบูรณ์ที่สามารถบังคับกดขี่ทาสให้ทำงานได้

(3) ในสังคมแห่งระบบศักดินา ซึ่งแม้ เจ้าศักดินา จะได้ลดความกดขี่สมาชิกแห่งสังคมให้น้อยลงกว่าระบบทาสก็ดี แต่เจ้าศักดินาก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมี อำนาจรัฐ เพื่อบังคับคนส่วนมากในสังคมให้ทำงาน สถาบันและระบบสังคมศักดินาจึงเป็นไปตาม อำนาจรัฐ นั้น

(4) ในสังคมแห่งระบบธนานุภาพ ซึ่งแม้ เจ้าสมบัติ จะสามารถใช้ปัจจัยการผลิตของสังคมใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานโดยมี ค่าจ้าง ก็ตาม แต่เจ้าสมบัติก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมี อำนาจรัฐ ในการบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของตน สถาบันและระบบสังคมธนานุภาพจึงเป็นไปตาม อำนาจรัฐ นั้น

(5) ในบางสังคมที่เข้าสู่ระบบสังคมกิจ (สังคมนิยม) นั้น แม้ในทางนิตินัยจะไม่มีวรรณะเนื่องจากไม่มีฐานะและวิถีดำรงชีพแตกต่างกันระหว่างสมาชิกของสังคมทางหลักการก็ดี แต่นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็กล่าวไว้ว่า ซากแห่งความเคยชินและทรรศนะเก่ายังคงมีค้างอยู่อีกกาละหนึ่ง ฉะนั้นราษฎรส่วนมากในสังคมก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ อำนาจรัฐ ในระหว่างกาละนั้นสถาบันระบบสังคมกิจจึงเป็นไปตาม อำนาจรัฐ นั้น

7.4

ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 7.3 ข้างต้นนี้ ผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่า อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือของวรรณะที่ปกครองในสังคมที่สมาชิกแบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ สถาบันและระบบสังคมซึ่งจะประกอบด้วยอำนาจรัฐหรือไม่ก็ดีย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่เป็นรากฐาน

จริงอยู่ในทางนิตินัยอาจกล่าวกันว่าอำนาจรัฐเป็นของสมาชิกทั้งหลายแห่งสังคม แต่ในทางพฤตินัยสมาชิกแห่งสังคมผู้ถืออำนาจรัฐก็คือวรรณะที่ปกครองสังคม ซึ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์แก่วรรณะของตนยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ดั่งนั้น การแบ่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนตามทฤษฎีของมองเตสกิเออร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นแบบฉบับของระบบรัฐธรรมนูญมากหลาย คือการแบ่งออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ นั้น เป็นเรื่องจำแนกกลไกแห่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คล้ายกับการแบ่งกระทรวง ทบวง กรมนั่นเอง เพราะปัญหามิได้อยู่ที่ ตัวอักษร และ สถาบัน ที่เป็นนามธรรม แต่อยู่ที่บุคคลผู้มีอำนาจใช้กลไกนั้น และที่เป็นตัวกลไกนั้นว่าจะเป็นวรรณะใด หรือเป็นสมุน หรือซากของวรรณะใด ความเป็นธรรมสำหรับสังคมอาจมีได้ในกรณีที่สมาชิกแห่งสังคมที่พิพาทกันเป็นคนแห่งวรรณะอื่นด้วยกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องพิพาทระหว่างคนในวรรณะหนึ่งกับคนในวรรณะเดียวกับผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกแห่งอำนาจรัฐแล้ว ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นยาก เว้นแต่ผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกนั้นจะทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารอย่างแท้จริง แต่มนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลสตามวรรณะหรือตามที่ปุถุชนนั้นเป็นสมุนของวรรณะ

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. รากฐานของสถาบันการเมือง, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9), น. 29-32.

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :

บทก่อนหน้า