ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ปรัชญาการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในสมัยสงครามเย็น

1
พฤศจิกายน
2566

 

Focus

  • งานทางความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ในเชิงปรัชญาปรากฏถึงความรู้สำคัญๆ  อาทิ ความเป็นอนิจจังของสังคม  วิทยาศาสตร์สังคม สสารธรรม จิตธรรม จิตใจวิทยาศาสตร์ และสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
  • สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นปรัชญาการเมืองที่นำเสนอในช่วงบั้นปลายของชีวิต (พ.ศ. 2523) แสดงถึงการยึดโยงชาติเข้ากับปรัชญาการเมืองเพิ่มเติมจากงาน “ปรัชญาคืออะไร” ที่เคยเสนอก่อนหน้า (พ.ศ. 2513)
  • งาน “ปรัชญาคืออะไร” นำเสนอถึงสาระสำคัญในเรื่องสสารธรรมและจิตธรรม โดยฝ่ายสสารธรรมยึดถือกฎของธรรมชาติ แต่ฝ่ายจิตธรรมยึดถือสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ ในขณะที่ในมุมมองทางปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย นำเสนอในเรื่องประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ และหลัก 5 ประการ ได้แก่ (1) เอกราชของชาติ (2) อธิปไตยของชาติ (3) สันติภาพ (4) ความเป็นกลาง และ (5) ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน 

 

ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีและปรัชญาการเมืองไทยในทศวรรษ 2490 จนถึงปัจจุบันคือ ความเข้าใจเรื่องความคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่มักจะใช้เป็นข้ออ้างในการใช้เนรเทศบุคคลที่มีความคิดทางการเมืองดังกล่าว และการที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองใช้ความรุนแรงทางการเมืองเข้าปราบปรามผู้ที่มีความคิดทางการเมืองรูปแบบนี้ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2470-2510 โดยเหมารวมว่า ความคิดสังคมนิยมในเฉดหรือรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบมาร์กซิสม์ เลนินนิสม์ ทรอตสกี้ หรือเหมาอิสม์คือรูปแบบเดียวกันกับแนวคิดที่ก่อรูปพรรคคอมมิวนิสต์สากลรวมถึงพรรคอมมิวนิสต์จีนและไทย ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ท่านแรกที่ต้องลี้ภัยจากความแตกต่างทางความคิดการเมืองในเรื่องการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจว่ามีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ของสตาลินในรัสเซีย หากต่อมานายปรีดีได้กลับไทยและมีคณะกรรมาธิการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องคอมมิวนิสต์โดยได้รับการยืนยันความบริสุทธิ์หลังการสอบสวนว่า นายปรีดีไม่ได้มีแนวคิดและปรัชญาการเมืองแบบคอมมิวนิสต์อันหมายถึงตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายจะคลี่คลายความสงสัยเรื่องปรัชญาการเมืองของนายปรีดีจากการอธิบายความคิดของตนเองภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพียงไม่นานผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นสำคัญในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522 - 4 มกราคม พ.ศ. 2523 โดยนายปรีดีระบุว่า “ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism)

 

ปรัชญาการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ในบทสัมภาษณ์ Pridi Through a looking glass[1]

 

“...ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์...ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติ ตามหลัก 5 ประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน...”

นายปรีดี พนมยงค์ให้สัมภาษณ์ นายแอนโทนี พอล
ผู้สื่อข่าวนิตยสารเอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ใน
พ.ศ. 2522 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และตีพิมพ์ในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ถึงวันที่ 4 มกราคม
พ.ศ. 2523 ในชื่อบทความว่า “Pridi Through a looking glass”

 

บทสัมภาษณ์ Pridi Through a looking glass โดย Anthony Paul ในนิตยสาร เอเชียวีค  ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522-4 มกราคม พ.ศ. 2523
บทสัมภาษณ์ Pridi Through a looking glass โดย Anthony Paul ในนิตยสาร เอเชียวีค 
ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522-4 มกราคม พ.ศ. 2523

 

จากปากคำประวัติศาสตร์นายปรีดีได้ตอบคำถามเรื่องความคิดทางการเมือง กรณีช่วงที่ลี้ภัยทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2490 และสาเหตุที่ไม่กลับเมืองไทยไว้ในบทสัมภาษณ์ช่วงท้ายของชีวิต นอกจากกรณีเกี่ยวกับความคิดคอมมิวนิสต์แล้วยังมีกรณีอื่นที่เป็นสาเหตุหลักให้นายปรีดีต้องลี้ภัยโดยนาย Anthony ได้อ้างอิงคำตอบของนายเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2521 ที่เปิดโอกาสให้นายปรีดีกลับเมืองไทยได้ไว้ด้วยดังนี้

 

ท่านกลับเมื่อไรก็ได้ ด้วยความยินดี เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เรือเอก วัชรชัย อดีตราชองครักษ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันด้วยในข้อกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์ ก็ได้กลับไปแล้ว และไม่เห็นมีอันตรายอะไร

 

นายปรีดีให้คำตอบเรื่องการยังไม่กลับเมืองไทยว่า

 

โดยทั่วไป, สภาพแวดล้อมยังไม่เหมาะสําหรับข้าพเจ้าที่จะกลับไป ประการที่สอง คุณก็ทราบ ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ในเรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ และถ้าข้าพเจ้ากลับไป เพราะระยะเวลาที่กําหนดโดยข้อบัญญัติของกฎหมายว่าหมดอายุความแล้ว ประชาชนก็อาจพูดว่า “นั่นไง, เขาได้รับความคุ้มครองตามข้อบัญญัติของกฎหมายที่หมดอายุความในคดีอาญาของเขา บัดนี้เขาจึงกลับมา” เพราะฉะนั้น, ประชาชนอาจพูดว่า ไม่ใช่ว่าเขาบริสุทธิ์หมดจดหรอก ในเมื่อเขารอคอยจนกระทั่งเขาได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฎหมาย มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับเกียรติยศ และความเป็นธรรม ไม่ใช่ปัญหาถูกต้องตามกฎหมาย

…ข้าพเจ้ากําลังคอยสภาพแวดล้อม…เมื่อประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจถูกต้องว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

นายปรีดีอรรถาธิบายเรื่องความเข้าใจของประชาชนส่วนข้างมากต่อว่า

 

“...ประชาชนส่วนข้างมากอยู่ในขอบเขตที่มืดมนมองไม่เห็น พวกเขาบางทีไม่รู้ และก็ไม่ได้สนใจเท่าใดนัก แต่ข้าพเจ้าไม่สบายใจจากความจริงที่ว่า ประชาชนอาจคิดว่า ข้าพเจ้ากลับไป เพราะได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการหมดอายุความ ข้าพเจ้าไม่รีบเร่งอะไรหรอก

 

เอกสารการฟ้องร้องของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อบริษัท สยามรัฐ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2513
เอกสารการฟ้องร้องของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อบริษัท สยามรัฐ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2513

 

ขณะที่ในบริบทดังกล่าวนั้นนายปรีดียังได้รับการโจมตีทางการเมืองจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐอยู่เป็นระยะและมีการฟ้องร้องเป็นคดีความอยู่หลายครั้งโดยเฉพาะเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งนายปรีดีได้ชนะคดีความทุกครั้งแต่ก็ยังไม่มีความคิดที่จะกลับเมืองไทย

 

คดีล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ เป็นคดีหมิ่นประมาทที่ข้าพเจ้าชนะในกรุงเทพฯ หลายเดือนมาแล้ว บางคนกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าปลงพระชนม์กษัตริย์  นักหนังสือพิมพ์ (บางคน) เขียนอย่างนั้นลงในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย  ข้าพเจ้าชนะคดี (อดีตนายกรัฐมนตรี) คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย 

ภายหลังข้าพเจ้ามาถึงที่นี้ เมื่อปี ค.ศ. 1970 พวกปฏิปักษ์ของข้าพเจ้าพยายามรื้อฟื้นคดีมาโจมตีข้าพเจ้าเป็นระยะๆ และนั่นแหละ ทําให้ข้าพเจ้าต้องฟ้องร้องพวกเขา

 

นายปรีดีได้กล่าวถึงพลังและความคิดทางการเมืองไทยที่หลากหลายในบริบทหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งรัฐไทยได้มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชนโดยเข้าใจว่ามีความคิดทางการเมืองในแบบเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ว่าจะเป็นแบบตะวันตกหรือจีน

 

พลังสำคัญอย่างที่ทุกคนควรต้องยอมรับก็คือ ประชาชน แต่ประชาชน ตามที่รู้กันแบ่งออกเป็นหลายชนชั้นและหลายระดับชั้น ถัดมามีพลังที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนข้างมากในรัฐสภา แต่นอกจากนี้เราต้องพิจารณาถึงพลังที่อยู่นอกวงการของสภาด้วย อย่างที่ทราบกันในประเทศของเรามีพลังพิเศษนอกสภา ซึ่งจะต้องคำนึงถึงด้วย คือ พวกซากเดนศักดินา พวกซากเดนนาซีไทย พวกนิยมสังคมมนุษยชาติ พวกสังคมนิยม และพวกคอมมิวนิสต์ที่มีแนวทางต่างๆ กัน พวกนายทุนสมัยใหม่หรือพวกประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยทหาร และ ฯลฯ

 

นายปรีดียังเสนอกลายๆ ว่า การมีพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมหรือผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมน่าจะได้รับโอกาสให้เข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาแบบประเทศตะวันตก

 

ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นการดีกว่าสำหรับทุกคนที่จะอภิปรายเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมายในสภา อย่างเช่นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรปตะวันตก ซึ่งพวกคอมมิวนิสต์มีเสรี…. ข้าพเจ้าคิดว่ามันดีกว่า แน่ละ, มีพวกคอมมิวนิสต์หลายชนิด และพวกเขาก็มีทรรศนะแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้

ชาวคอมมิวนิสต์ที่มีแนวความคิดแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ที่แท้จริง ย่อมเดินตามคําสอนของเลนินในเรื่อง “สงครามพลพรรค” ที่ท่านได้เขียนขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1906 และ…ในหนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย–ความคิดระส่ําระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1920 และโดยเฉพาะเลนินได้ตักเตือนผู้นับถือท่านในหลายประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบรัฐสภา ให้ใช้การต่อสู้ทางรัฐสภา คําแนะนําของท่านที่มีต่อชาวคอมมิวนิสต์อังกฤษเป็นที่ชัดแจ้ง ไม่ผิดพลาด และอย่างเด็ดขาดว่า “ชาวคอมมิวนิสต์ในบริเทนใหญ่ควรใช้การเลือกตั้งทางรัฐสภาอย่างมั่นคง อย่างไม่หยุดยั้งและอย่างสม่ำเสมอ” แต่ก็มีนักมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์แต่เปลือกนอกบางคน ที่ทิ้งคําสอนอันแท้จริงของปรมาจารย์ของเขาเสียนี่

 …พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีและฝรั่งเศสได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนกว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์ ในการเลือกตั้งทางรัฐสภาในประเทศของเขาตามลําดับ ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ในบางประเทศอื่นแพ้อย่างสิ้นเชิงในการเลือกตั้ง เพราะว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะ ยอมรับพวกเขา หรือเนื่องจากข้อบกพร่องต่างๆ ของพรรคเขาเอง

 

และนายปรีดีได้อธิบายความคิดทางการเมืองของตนเองไว้ว่า

 

ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้า คือ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ แม้ในรัฐสภา การต่อสู้ทางสภาก็เป็นหนทางหนึ่งของการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน เราต้องพิจารณาที่จะเลือกการต่อสู้ตามกาลเทศะและเงื่อนไข บางทีการต่อสู้ทางรัฐสภาที่สําหรับบางคราว บางสภาพ เราไม่ควรปฏิเสธการต่อสู้ทางรัฐสภาเสียหมดทีเดียว

 

ในบริบทของสงครามเวียดนาม ช่วงทศวรรษ 1970 นายปรีดีได้ขยายความว่า ชาติคือหัวใจของปรัชญาการเมืองแบบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงนั้นว่าถ้าหากเวียดนามขยายการสู้รบมาถึงเมืองไทย

 

คําถามเหล่านี้ละเอียดอ่อนมากจริงๆ ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้รักชาติอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งเคยเสี่ยงชีวิตเพื่อประเทศอันเป็นที่รักมาแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมนําตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการเป็นปฏิปักษ์กัน ในภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าจะตอบคําถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติ ตามหลัก 5 ประการของ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน 

ไม่เพียงแต่เพื่อนร่วมชาติไทยจํานวนมากของข้าพเจ้าเท่านั้น ที่เห็นด้วยกับหลัก 5 ประการ แม้แต่ประธานเหมา เจ๋อตุง โจว เอินไหล และประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ก็ได้บอกข้าพเจ้าว่า หลัก 5 ประการของข้าพเจ้าเหมาะและสมควรกับประเทศไทย

 

สรุปปรัชญาการเมืองสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของนายปรีดีมีหลัก 5 ประการ ได้แก่

  1. เอกราชของชาติ
  2. อธิปไตยของชาติ
  3. สันติภาพ
  4. ความเป็นกลาง
  5. ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน 

 

หนังสือปรัชญาคืออะไรของนายปรีดี พนมยงค์ จัดพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2513 โดยนายปาล พนมยงค์ บุตรชาย
หนังสือปรัชญาคืออะไรของนายปรีดี พนมยงค์
จัดพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2513 โดยนายปาล พนมยงค์ บุตรชาย

 

จะเห็นได้ว่าปรัชญาการเมืองของนายปรีดีมีรากฐานมาจากผลงานเรื่องความเป็นอนิจจังของสังคมและปรัชญาคืออะไร[2] โดยมีการขยับเคลื่อนทางความคิดจากปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับจิตใจในผลงานเรื่องปรัชญาคืออะไรที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2513 มาสู่การยึดโยงชาติเข้ากับปรัชญาการเมือง อันนอกเหนือจากเดิมที่นายปรีดีเคยอธิบายเรื่อง ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม วิทยาศาสตร์สังคม จิตธรรม และจิตใจวิทยาศาสตร์ไว้หลักการสำคัญข้อที่ 17 ในหนังสือปรัชญาคืออะไร ดังนี้

 

“ข้อ ๑๗.
โดยที่ปรัชญายังคงเป็น “ยอดสรุปของวิชา” หรือ “วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย” ตามที่ได้กล่าวในข้อ ๑๔. นั้น วิชาสังคมของมนุษย์ซึ่งเป็นวิทยาหนึ่งในบรรดาวิทยาทั้งหลายก็ย่อมขึ้นอยู่กับปรัชญา และเราอาจเรียกวิชาประเภทนี้ว่า “ปรัชญาแห่งสังคม” หรือ “วิทยาศาสตร์สังคม” ในความหมายว่า สภาวะและอาการทั้งหลายแห่งสังคมของมนุษย์ย่อมเป็นไปตาม กฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

โดยที่คําว่า “วิทยาศาสตร์” มีเครดิตดีที่แสดงถึงความรู้อันถูกต้องแท้จริงในสภาวะทางธรรมชาติ จึงมีผู้นําเอาคํานี้ไปใช้เพื่อเรียกคติทางสังคมซึ่งตนเห็นว่า แท้จริง ว่าเป็น วิทยาศาสตร์ ความขัดแย้งจึงเกิดมีขึ้นระหว่างผู้ถือคติทางสังคมต่างกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็อ้างว่าของตนเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ปรัชญาเมธี ฝ่ายสสารธรรมผู้หนึ่งจึงอธิบายถึงทรรศนะ สสารธรรมทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้นว่า

“ทรรศนะสสารธรรมต่อธรรมชาตินั้น มิได้หมายความไปอย่างอื่นยิ่งกว่าการพิจารณาธรรมชาติตามที่เป็นอยู่ โดยปราศจากการเจือปนของสิ่งประหลาดใด ๆ”

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่เราจะต้องสังเกตความต่างกันระหว่าง ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ กับ ปรัชญาทางสังคมที่มีลักษณะเป็น “นอกเหนือธรรมชาติ” (เมตาฟิสิกส์) และ “จิตธรรม” ดั่งต่อไปนี้

๑) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์สังคม นั้นตั้งอยู่บนรากฐานแห่งทรรศนะสสารธรรม ซึ่งพิจารณาสภาวะและอาการของสังคมตามกฎธรรมชาติ ตรงกับความหมายของคําว่า “วิทยาศาสตร์” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ คือ ความรู้ที่ได้โดยการสังเกตและการค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ ส่วนปรัชญาทางสังคมที่มีลักษณะเป็นจิตธรรมนั้นตั้งอยู่บนรากฐานแห่งจิตวิสัย คือการสัมผัสทางจิตซึ่งเป็นความนึกคิดตามภาพทางจิตหรือมโนภาพ จึงนําไปสู่เรื่องที่เป็น “นอกเหนือธรรมชาติ” (เมตาฟิสิกส์)

๒) ความแตกต่างกันที่เด่น ระหว่างปรัชญาสสารธรรม ที่เป็นวิทยาศาสตร์กับปรัชญาฝ่ายจิตธรรม คือ

(ก) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า สภาวะทางสังคมเกิดขึ้นและมีอาการเคลื่อนไหวตามกฎธรรมชาติของมวลราษฎร ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า สภาวะและการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นไปโดยอภิเทวาหรือผู้วิเศษบันดาล

(ข) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า สภาพความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์เป็นสิ่งที่กําหนดจิตสํานึกทางสังคม ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า จิตเป็นสิ่งกําหนดจิตสํานึกของมนุษย์

(ค) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม มีทรรศนะว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อกฎธรรมชาติเป็นความรู้ที่แท้จริงซึ่งบุคคลอาจรู้กฎธรรมชาติโดยการทดลองปฏิบัติ (วิธีวิทยาศาสตร์) ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า บุคคลต้องตั้งจิตให้เกิด “ศรัทธานุสติ” (FIDEISM) ทางอัตวิสัยก่อน และถือว่ามีสิ่งที่เป็นอยู่ในตัวเอง (THINGS IN-THEMSELVES) ซึ่งบุคคลไม่อาจรู้ได้โดยสามัญวิสัย[1]

ปรัชญาสสารธรรมมิได้ปฏิเสธอํานาจแห่งจิตสํานึกเพราะฝ่ายสสารธรรมรู้ดีว่ามนุษย์ต่างกับสัตว์เดรัจฉานที่มีความรู้สึกตามสัญชาติญาณแต่มนุษย์สามารถมีจิตสํานึกซึ่งทําให้มนุษย์มีการปฏิบัติตามจิตสํานึกความต่างกันระหว่างปรัชญาสสารธรรมกับจิตธรรมในเรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายสสารธรรมถือว่า สภาวะความเป็นอยู่ก่อให้เกิดจิตสํานึก หรือนัยหนึ่งบุคคลต้องพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์ให้ถ่องแท้ทุกด้านทุกมุมแล้วจึงตั้งจิต, ส่วนฝ่ายจิตธรรมนั้นตั้งจิตขึ้นก่อนรูปธรรมที่ประจักษ์ถ่องแท้ทุกด้านทุกมุม

ปรัชญาเมธีเรื่องนามผู้หนึ่งได้สรุปไว้ว่า ผู้ใดถือว่าสสารเป็นแม่บทแห่งจิตผู้นั้นเป็นสสารธรรมิก ผู้ใดถือว่าจิตเป็นแม่แห่งสสารผู้นั้นเป็นจิตธรรมิก คติของเมธีผู้นี้ตรงกับทฤษฎีผัสสะของพระพุทธองค์ คือบุคคลต้องสัมผัสทางรูปธรรมก่อนแล้วจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงทางนามธรรม ดังนั้นบุคคลสามารถมีความเชื่อมั่นหรือศรัทธาได้ สุดแท้แต่ว่าศรัทธานุสตินั้นเกิดจากแม่บทอันใด คือถ้าเกิดจากรูปธรรมที่เป็นสภาวะทางสสารที่เป็นศรัทธานุสติทางสสารธรรม แต่ถ้าตั้งจิตมีศรัทธานุสติก่อนรูปธรรมก็เป็นศรัทธานุสติทางจิตธรรม

๓) ความแตกต่างที่เด่นระหว่าง ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์กับปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติ (เมตาฟิสิกส์) คือ

(ก) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายทางสังคมย่อมเกี่ยวข้องกัน และต่างก็มีอิทธิพลต่อกัน สภาพการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสภาพที่เกี่ยวข้องอํานวยให้เกิดสภาพนั้นได้ เช่นการที่ฝรั่งเศสมีระบบจักรวรรดิของนโปเลียนก็เพราะในสมัยนั้นฝรั่งเศสมีสภาพซึ่งเป็นการประจักษ์ทางสังคม ที่อํานวยให้นโปเลียน โบนาปาร์ต สถาปนาระบบจักรวรรดิชนิดนั้นขึ้นได้ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะว่า ปรากฏการณ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นและเป็นอยู่โดยลําพัง

(ข) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า สภาวะทางสังคมมีการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายทางธรรมชาติ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมองปรากฏการณ์ว่าคงอยู่กับที่

(ค) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณทีละน้อยที่ผสมกันเข้ามากๆ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายตามธรรมชาติ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะว่าการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยคุณภาพทันใดได้เพราะถือว่าปรากฏการณ์แต่ละสิ่งเกิดขึ้นได้โดยลําพัง

(ง) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ทุกสภาวะมีข้อขัดแย้งภายในตัวเอง เช่นเดียวกับทุกสิ่งตามธรรมชาติซึ่งมีข้อขัดแย้งภายในตัวเองคือมีด้านบวกก็ย่อมมีด้านลบ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะตรงข้ามดังกล่าวนี้

 

บทสรุปการค้นคว้าเรื่องปรัชญาการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ช่วงทศวรรษ 2520 ดังกล่าวได้พบการขยับเคลื่อนทางความคิดของนายปรีดีที่มีการเพิ่มเติมปรัชญาการเมืองตนตามบริบทของการต่างประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม[3] โดยให้ความสำคัญกับชาติและประชาชนผสานกับวิทยาศาสตร์ทางสังคมในช่วงบั้นปลายของชีวิต

 

หมายเหตุ : คงเลขไทย อักขร การเว้นวรรค และวิธีสะกดตามเอกสารของนายปรีดี พนมยงค์

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ :

สำหรับผู้ที่สนใจปรัชญาทางการเมือง “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ของนายปรีดี พนมยงค์ สามารถสั่งซื้อหนังสือเรื่อง “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” โดย มุนินทร์ พงศาปาน ได้ที่ลิงค์ : https://shop.pridi.or.th/th/product/929273/product-929273

 

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย โดย มุนินทร์ พงศาปาน
ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย
โดย มุนินทร์ พงศาปาน

 

ภาคผนวก

หลักฐานชั้นต้นประเภทบทสัมภาษณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง Pridi Through a looking glass โดย Anthony Paul ในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522-4 มกราคม พ.ศ. 2523, หน้า 14-18

 

 

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย :

  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544).
  • ปรีดี พนมยงค์, ปรัชญาคืออะไร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มปท., 2513)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และโครงการ 60 ปีประชาธิปไตย,  2535).
  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2553).
  • ปรีดี พนมยงค์, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2524)
  • มุนินทร์ พงศาปาน, ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย. (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2565).
  • ไมตรี เด่นอุดม, โลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2553).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] ใน พ.ศ. 2522 นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ได้สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และนำคำสัมภาษณ์นั้นลงในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522-4 มกราคม พ.ศ. 2523 ภายใต้หัวเรื่องว่า “Pridi Through a looking glass” ต่อมา ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ รน. ถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทรรศนะ ดร.ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยในปัจจุบัน” และได้รับการตรวจทานจากสุภัทร สุคนธาภิรมย์

[2] ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้แนะนำหนังสือทั้งสองเล่มนี้ให้หลานชายอ่าน โปรดดูเพิ่มเติมที่ พูนศุข พนมยงค์ (12 พฤษภาคม 2564). “จดหมายจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงหลานชาย” https://pridi.or.th/th/content/2021/05/701 [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566.

[3] ผู้เขียนเห็นสอดคล้องกับวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองในไทยของ Tomas Larsson อาจารย์ประจำภาคการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งใช้ระเบียบวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของแนวคิดเสรีนิยมด้วยวิธีแบบ Daniel Bell โดยจัดประเภทความคิดของบุคคลจากการนิยามความคิดของบุคคลนั้นเองและการได้รับการยอมรับจากกลุ่มปัญญาชนที่มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกันเป็นเกณฑ์วัด เมื่อนำมาปรับใช้กับการศึกษาความคิดของนายปรีดีจะคงลักษณะความคิดที่นายปรีดีนิยามว่าตนมีความคิดทางการเมืองและปรัชญาทางการเมืองแบบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ขณะที่ในเบื้องแรกของการอภิวัฒน์นั้นนายปรีดีมีแนวทางความคิดแบบสังคมนิยมที่สอดรับกับหม่อมเจ้า สกลวรรณากร วรวรรณ จะเห็นได้ชัดจากในการประชุมฯ เรื่องร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่หม่อมเจ้า สกลวรรณากร สามารถเข้าใจแนวคิดเรื่องการเศรษฐกิจของนายปรีดีโดยอธิบายรวมทั้งโต้แย้งต่อผู้ร่วมประชุมฯ ท่านอื่นได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนคิดต่อยอดวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดของ Daniel Bell และ Tomas Larsson ตามแนวทางการศึกษาของสำนักประวัติศาสตร์ความคิด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่คำนึงถึงบริบททางสังคมการเมืองซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดว่า นายปรีดีมีการขยับเคลื่อนทางความคิดจากทศวรรษ 2470 จากแนวทางสังคมนิยมทางเศรษฐกิจมาเป็นสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย โปรดดูที่ Larsson, Tomas. “In Search of Liberalism: Ideological Traditions, Translations and Troubles in Thailand.” Sojourn: Journal of Social Issues in Southeast Asia 32, no. 3 (2017): 531–61. http://www.jstor.org/stable/44668438 [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566. และโปรดดูเพิ่มเติม การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้วิธีการศึกษาจากตัวบทของบุคคลนั้นๆ ที่ Connors,  Michael K. “Towards a History of Conservative Liberalism in Thailand after the 1932 Siamese Revolution: An Ideological Analysis.” Asian Studies Review, 47:1 (2021): 88-108. 10.1080/10357823.2021.1973366  [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566.