Focus
- ในคราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการ โดยประการที่สอง คือ “จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก” ซึ่งสัมพันธ์กับการจัดการกับปัญหาโจรชุกชุมในเวลาต่อมาที่มีมากขึ้น หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476
- ในสมัยแรกของระบอบประชาธิปไตยไทย สส. ในสภาได้พยายามทำหน้าที่อย่างแข็งขัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับปัญหาโจรผู้ร้ายนั้น หลวงวรนิติปรีชา (สส. จาก จ. สกลนคร) ขุนประเจตดรุณพันธ์ (สส. จาก จ. พิษณุโลก) ได้พยายามกระตุ้นและเร่งเร้าให้รัฐบาลทำหน้าที่อย่างเต็มที่
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี 2476 (ปี 2477 ในปัจจุบัน) ยืนยันกับสส.ในสภาถึงการปราบปรามโจรผู้ร้ายของรัฐบาลว่าจำเป็นต้องทราบด้วยถึงสมุฏฐานของเหตุการมีโจรผู้ร้ายมาก เช่น ความฝืดเคืองในทางเศรษฐกิจ และการศึกษาอบรมในทางศีลธรรมจรรยาที่ยังไม่ถึงขนาด ฯลฯ
- รัฐบาลอาศัยกรมตำรวจจัดการกับโจรผู้ร้าย โดยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัชกาลที่ 7 ในปี 2473 คือ “กรมตำรวจภูธร” และ “กรมตำรวจภูบาล” แต่ต่อมาทรงมีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2475 ให้ประกาศด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น เปลี่ยนชื่อ “กรมตำรวจภูธร” เป็น “กรมตำรวจ” (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน)
“กระทรวงมหาดไทย” เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและโจรผู้ร้าย ดังช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เรามักเห็นการรายงานข่าวถึงนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่าง ๆ นั่นชวนให้น่าฉุกคิดว่า หากย้อนกาลเวลาไปในสมัยที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนับแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 (เทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมีนาคม พ.ศ. 2477) มาจนถึงปลายปี พ.ศ. 2478 (เทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับต้นปี พ.ศ. 2479) แล้ว นโยบายในการปราบปรามโจรผู้ร้ายชุกชุมจะมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2477 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2478) ซึ่งเริ่มต้นประชุมเวลา 15.40 น. ดำเนินการประชุมโดยรองประธานสภาคนที่ 1 คือ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 127 ราย
ช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม ขุนประเจตดรุณพันธ์ (เหล็ง ศุขโรจน์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกได้ตั้งกระทู้ถามว่า
“...ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา จนถึงเดือนกรกฎาคม สถิติโจรผู้ร้ายอุกฉกรรจ์บางจังหวัดทวีมากขึ้นกว่าระยะเดียวกันในศกก่อน และทราบว่าในจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายจังหวัดก็เช่นเดียวกัน ราษฎรมีความหวาดหวั่นต่อภัยนี้เป็นอันมาก พากันอพยพเข้ามาอยู่ตำบลในเมืองหรือตำบลที่ตั้งอำเภอกันมากขึ้นทุกที จึงขอเรียนถามรัฐบาลว่า รัฐบาลได้ทราบถึงสมุฏฐานแห่งภัยนี้หรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุใด และมีนโยบายที่จะกำจัดโจรผู้ร้ายให้ลดน้อยลงไปได้ โดยวิธีใดบ้าง”
ต่อมา หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร จึงลุกขึ้นกล่าวว่า
“ตามที่รัฐบาลกล่าวในที่ประชุมสภาฯ ว่า สยามเรามีโจรผู้ร้ายที่ชุมเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ของโลก และปรากฏตามข่าวหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ ว่า มีเหตุอุกฉกรรจ์เช่นการปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ตามหัวเมืองต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน อยากทราบว่าเจ้าพนักงานได้จัดการปราบปรามได้ผลดีเพียงไรหรือหาไม่ เพราะทั้งนี้เกี่ยวแก่ความปกติสุขของพลเมือง 12 ล้านคนของประเทศ ข้าพเจ้าจึงใคร่ที่จะทราบความจริงโดยละเอียด ตลอดจนถึงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย”
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต่อการดูแลรับผิดชอบเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะด้านการปราบปรามโจรผู้ร้าย ได้ชี้แจงว่า
“ในเรื่องโจรผู้ร้ายนี้ ได้มีท่านผู้แทนราษฎรหลายนายที่ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงเรื่องที่โจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นหลายจังหวัด และขอทราบว่ารัฐบาลได้ค้นคว้าหาสมุฏฐานและวิธีการที่จะปราบปรามอย่างไรให้สงบลงได้บ้างนั้น ในเรื่องนี้รัฐบาลขอแถลงว่า รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจเลย ในการที่จะปราบปรามและป้องกันโจรผู้ร้ายให้สงบลง การที่จะป้องกันและปราบปรามนี้ ในชั้นต้นก็จะต้องพิจารณาถึงสมุฏฐานของเหตุเสียก่อน และสมุฏฐานของเหตุมีเป็นทำนองเดียวกัน
กล่าวคือ ถ้าพูดโดยทั่วๆ ไปแล้ว ก็เนื่องจากความฝืดเคืองในทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และในทางศึกษาอบรมในทางศีลธรรมจรรยายังไม่ถึงขนาด และความคึกคะนอง และการแก้แค้นอันเป็นเหตุส่วนตัว อันเนื่องด้วยภูมิธรรมของราษฎรประจำท้องถิ่น ตลอดจนทั้งการคมนาคมในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของการปราบปรามอย่างหนึ่งยังไม่สะดวก การพำนักอาศัยของราษฎรยังไม่เข้าสู่ระเบียบที่ปลอดภัย
ทั้งในทางโจรผู้ร้ายและสุขาอนามัย รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ที่จะพิจารณาหาลู่ทางและตรวจสอบสถิติของการโจรกรรม และแนะนำชี้แจงไปยังคณะกรมการจังหวัดถึงวิธีที่จะป้องกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังเห็นว่าเหตุการณ์เนื่องมาจากที่ในระหว่างทางบ้านเมืองอันอยู่ในหัวต่อหัวเลี้ยว ประกอบกับได้เกิดการจราจลซึ่งรัฐบาลได้ปราบปรามเสร็จสิ้นลงใหม่ ๆ นั้น เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งให้เกิดการโจรผู้ร้ายมากขึ้น
แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็มิได้นิ่งนอนใจ ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้สั่งการไปยังคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดให้ร่วมกำลังกันพยายามปราบปรามโดยกวดขัน เฉพาะในวงการตำรวจก็ได้แบ่งแยกกำลังจากกองตำรวจสันติบาลออกไปร่วมมือกับตำรวจท้องที่ทำการปราบปรามอยู่เนืองๆ ในเมื่อได้ปรากฏว่าท้องที่ใดมีเหตุโจรกรรมชุกชุมขึ้น นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาหาทางประสานงานในระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรในการที่จะปราบปรามโจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบต่อไป รัฐบาลหวังเป็นอย่างมากว่าเมื่อได้กระทำการดังนี้ด้วยความพยายามมานะบากบั่นแล้ว เหตุการณ์โจรผู้ร้ายก็จักสงบเบาบางลง ตามที่ได้แถลงมาแล้วเป็นข้อความโดยทั่วๆ ไปเท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีเหตุที่เกี่ยวกับเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะราย และประการสำคัญที่สุดในการที่ผู้ร้ายได้เกิดมากขึ้นเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าในทางฝ่ายเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ร้ายก็หาไม่ สิ่งที่สำคัญและที่เป็นอุปสรรคอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อได้เกิดการโจรกรรมขึ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รู้ว่าผู้นี้เป็นผู้ร้าย และการที่จะนำเอาคนผู้นั้นมาให้ศาลลงโทษก็เป็นการยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาอาชญาอีกหลายประการ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหาได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ไม่ ท่านได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลได้กำชับไปยังคณะกรรมการจังหวัด และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังท้องที่ที่โจรกรรมชุกชุมขึ้น”
ผู้แทนจังหวัดสกลนครยังเอ่ยอีก “ข้าพเจ้าขอถามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งรัฐบาลได้ทราบอยู่นานแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งส่งกองสันติบาลไปเมื่อวันที่ 1 นี้เอง”
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตอบ
“เรื่องนี้การที่ผู้ร้ายเกิดชุกชุมในราชบุรี รัฐบาลได้ทราบและความจริงทางเจ้าหน้าที่ทางราชบุรีก็ได้พยายามกวดขันในเรื่องนี้อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะนิ่งนอนใจก็หามิได้ แต่มาภายหลังปรากฏจากข่าวคราวว่ามีผู้ร้ายกำเริบมากขึ้น เราจึงได้ส่งกำลังไปสมทบ แต่ทั้งนี้ก็หาได้นิ่งนอนใจไม่”
ขุนประเจตดรุณพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก ร่วมตั้งคำถามสมทบ
“ข้าพเจ้าอยากถามรัฐบาลว่า กำลังตำรวจที่มีประจำอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เวลานี้ปรากฏว่าไม่ค่อยจะพอ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ร้ายกำเริบขึ้น อยากจะทราบว่ารัฐบาลได้ส่งกำลังตำรวจเพิ่มออกไปประจำมากขึ้นจังหวัดละประมาณสักเท่าไร”
รัฐมนตรีนามปรีดีอธิบายว่า
“ในเรื่องนี้รัฐบาลได้ดำริเหมือนกันในทางที่จะเพิ่มกำลัง แต่ว่าไปติดขัดอยู่ที่เรื่องเงิน ท่านคงจะเห็นได้ว่าเมื่อคราวทำงบประมาณแก้ไขเพิ่มเติม ทางตำรวจก็ได้เพิ่มกำลังขึ้นมา และกำลังนี้เราก็เอารวมไว้ที่กองกลางก่อน คือสันติบาล ส่วนการที่จะให้มีกำลังทุกจังหวัด รัฐบาลก็ยินดีอย่างที่สุด แต่ว่าติดขัดเรื่องเงินจึงเป็นการลำบากอยู่”
ผู้แทนจังหวัดสกลนครยังไม่สิ้นสงสัย “ข้าพเจ้าขอซักต่อไปว่า สถิติผู้ร้ายที่สูงขึ้นในปีนี้ สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ทราบหรือไม่”
ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ ตอบ “เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริง ถ้าท่านอยากทราบว่า ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ทราบได้ ขอเชิญท่านไปพบที่กระทรวง เวลานี้จำไม่ได้”
ขณะผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครซัก “ประมาณได้หรือไม่”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเลยชี้แจง
“บางจังหวัดลดลงก็มี บางจังหวัดเพิ่มขึ้นก็มี แต่เท่าที่ประมาณได้อย่างนี้ว่า จังหวัดใดในท้องที่ที่ได้มีการกบฏ เช่นอย่างจังหวัดสระบุรี โจรผู้ร้ายได้เพิ่มขึ้นมากจริง เพราะเหตุว่าในจังหวัดเหล่านั้นเมื่อท้องที่ที่กบฏได้ทำการอยู่นั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเจ้าพนักงานและได้เปลี่ยนกันหลายคน ถ้าสำหรับจังหวัดที่กบฏเกิดขึ้น รับรองได้ว่าเพิ่มขึ้นมาก แต่จังหวัดอื่น ๆ ลดน้อยลง เพราะฉะนั้นตอบยาก ถ้าท่านไปกระทรวง จะตอบได้ว่าจังหวัดไหนเพิ่มจังหวัดไหนลด”
ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกถามต่อ
“ในงบประมาณที่รัฐบาลจะเสนอมานี้ได้กะไว้สำหรับเพิ่มกำลังตำรวจที่จะจัดส่งออกไปต่างจังหวัดนั้นอีกหรือไม่ และถ้าได้คิดกะเพิ่มไว้แล้วจะมีกำลังตำรวจส่งออกไปได้ประมาณสักเท่าไร”
หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบ “ทางกระทรวงมหาดไทยได้ขอไป แต่ว่าเวลานี้กำลังเตรียมทำงบประมาณ สุดแท้แต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดี๋ยวท่านจะชี้แจงให้ทราบ”
พระยามานวราชเสวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟังแล้ว ก็ลุกขึ้นกล่าวว่า
“ในเรื่องงบประมาณนี้ ในทางตำรวจ แม้ถึงเขาจะเพิ่มไป ท่านก็คงมีโอกาสที่จะได้เห็นเมื่อมาถึงสภาฯ เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงสภาฯ แล้วจะวินิจฉัยว่าจะเพิ่มมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่สภาฯนี้”
หลวงวรนิติปรีชา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดสกลนคร ได้รับตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งอาศัยวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อม โดยประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด
คุณหลวงมีพื้นเพเป็นชาวตำบลธาตุเชิงชุม ตัวเมืองสกลนคร บิดาคือ หลวงโชติภูมิภักดี (ทะ) (ต่อมาได้รั้งตำแหน่งนายอำเภอในมณฑลอุดรธานี) กับ นางทองคาย เคยศึกษาที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล พอจบชั้นมัธยมสามก็เข้ามาเรียนต่อ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ถึงชั้นมัธยมหก แล้วจึงเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจนสำเร็จเนติบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2464
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ หลวงวรนิติปรีชา เคยรับราชการศาลยุติธรรม เริ่มต้นจากตำแหน่งเสมียนประจำศาลฎีกา มาสู่ตำแหน่งฝึกหัดผู้พิพากษาศาลแพ่งและฝึกหัดผู้พิพากษาศาลโปริสภาตามลำดับ ช่วงปลายทศวรรษ 2460 เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลมณฑลพิษณุโลก ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนม และย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลอุดรปลายปี พ.ศ. 2469 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “คุณหลวง” ปลายปี พ.ศ. 2471 กระทั่งลาออกจากราชการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 เพราะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของเมืองไทย
หลวงวรนิติปรีชา นับเป็น ส.ส. อีกคนที่มักอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมอย่างแข็งขันอยู่เนืองนิตย์ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในด้านต่าง ๆ
ทางด้าน ขุนประเจตดรุณพันธ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดพิษณุโลก มีนามเดิมว่า เหล็ง ศุขโรจน์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เกษม” ลืมตาดูโลกหนแรกสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพริมแม่น้ำน่านในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนบุตรทั้ง 10 คนของนายทองสุกและนางพุก ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนตัวอย่างประจํามณฑลพิษณุโลก ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2461 จากนั้นเข้ารับราชการครู จวบกระทั่งในปี พ.ศ. 2470 จึงได้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และเลื่อนขึ้นเป็นศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนประเจตดรุณพันธ์”
ท่านขุนประเจตฯ เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจัดสรรงบประมาณส่งให้ไปดูงานร่วมกับข้าราชการด้านการพัฒนาที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเพื่อนําความรู้กลับมาปรับปรุงประเทศ ซึ่งผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวประกอบด้วย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นหัวหน้าคณะ, ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง, นายทองกระจาย รัชตะวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี, หลวงนาถนิติธาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ, ขุนประเจตดรุณพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก, นายเลมียด หงสประภาส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายไสว อินทรประชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสวรรคโลก และนายหอมจันทน์ รัตนวิจารณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
การไปดูงานในญี่ปุ่นคราวนั้น คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและข้าราชการออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน และหวนคืนกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 รวมเป็นเวลาเกือบๆจะ 4 เดือน โดยไปดูงานในเมืองต่าง ๆ เช่น โกเบ, โตเกียว, โยโกฮามา, นิคโก้, อาโคเน, โตโกซูเกะ, นาโงยา และ โอซากา เป็นต้น ฯลฯ โดยคณะผู้แทนราษฎรล่องเรือไปขึ้นฝั่งที่โกเบเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 2478 ด้วยเรือเปรซิเดนท์ คูลิช ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นและผู้แทนสถานอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นได้มาให้การต้อนรับตั้งแต่เรือจอดเทียบท่าที่เมืองโกเบ คณะดูงานชุดนี้ยังได้ไปเข้าพบนายกรัฐมนตรีเคซูเกะ โอกาดะ (Keisuke Okada) และคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าเจ้าชายฟูมิมาโร โคโนเอะ (Prince Furmirnaro Konoe) ประธานสภาสูงและประธานสมาคมไทยในญี่ปุ่น รวมถึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito) ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอีกด้วย
ขุนประเจตฯถือเป็นปัญญาชนคนสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก เพราะมีความรอบรู้หลายด้าน นอกเหนือไปจากการเป็น ส.ส. ก็เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการและกระทรวงเกษตราธิการ ภายหลังจากพ้นตําแหน่งทางการเมืองได้มาประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ เช่น ค้าไม้ รับเหมาก่อสร้าง ทำน้ำตาล และเป็นผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย จนกระทั่งล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน จึงผันตัวมาอุทิศตนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ โดยริเริ่มก่อตั้งสมาคมโรคเบาหวานและดํารงตําแหน่งเป็นนายกสมาคมเป็นคนแรกเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2509 ครั้นเล็งเห็นว่ามรณกรรมคงจะมาถึงอีกไม่ช้า ก็ยินดีอุทิศร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่สําหรับนักศึกษาแพทย์แห่งศิริราชพยาบาล ซึ่งท่านขุนได้อำลาโลกไปเมื่อปี พ.ศ. 2524
มูลเหตุที่ขุนประเจตดรุณพันธ์ตระหนักถึงปัญหาโจรผู้ร้ายจนตั้งกระทู้ถามรัฐบาล คงเนื่องมาจากในพื้นที่พิษณุโลกรวมถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือบริเวณละแวกนั้นเต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายชุกชุม เนื่องจากเป็นแหล่งที่แม่น้ำมาสบกันถึงสองสายคือแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม จึงเกิดกลุ่มโจรในลุ่มแม่น้ำยมและลุ่มแม่น้ำน่าน คอยดักปล้นผู้ล่องเรือสัญจรไปมา นอกจากนี้ยังมีโจรจากพื้นที่อื่นๆที่แพร่กระจายมาพร้อมกับรถไฟ
ส่วนพื้นที่อย่างราชบุรีซึ่งหลวงวรนิติปรีชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครเอ่ยปากถามว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น ถือเป็นพื้นที่อันมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทางการสยามต้องส่งผู้มีฝีมือและความสามารถสูงไปปราบปรามเสมอ ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ราชบุรีก็ยังมีโจรผู้ร้ายก่อเหตุอุกอาจเนือง ๆ อีกทั้งภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ราชบุรียังเป็นฐานที่มั่นสำคัญของผู้ก่อการกบฏ แม้รัฐบาลคณะราษฎรจะปราบปรามได้สำเร็จ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎรอีกมากมายได้ตั้งก๊กตั้งเหล่าและประพฤติตนเป็นโจรผู้ร้ายก่อกวนความสงบสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำพื้นที่ราชบุรีไม่สามารถปราบปรามได้ราบคาบสักที กระทั่งในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477 (เทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2478) ทางรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยจึงส่งกองตำรวจสันติบาลจากส่วนกลางเข้าไปปราบปรามและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง
คุณผู้อ่านคงจะเห็นว่าในการประชุมสภาครั้งนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ได้กล่าวถึงตำรวจสันติบาล ซึ่งกองตำรวจนี้มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังปรากฏพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประกาศเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2473 ว่า
“โดยมีพระราชประสงค์จะให้ราชการในกรมตำรวจภูธรดำเนินเจริญยิ่งขึ้น เป็นการสมควรที่จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งรอบรู้ในวิชาการบางอย่างเป็นพิเศษขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนและปราบปรามผู้กระทำผิด”
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมหนึ่งขึ้นในกรมตำรวจภูธร ให้ชื่อว่า “กรมตำรวจภูบาล” โดยเจ้ากรมที่รับผิดชอบยังมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจภูธรด้วย
ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่าสมควรจัดโครงสร้างกรมตำรวจขึ้นใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศดังนี้คือ ให้เปลี่ยนชื่อกรมตำรวจภูธร เป็น “กรมตำรวจ” มีอธิบดีประจำกรม และมีรองอธิบดีเป็นผู้ช่วย โดยกรมนี้จะแบ่งกิจการออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ กองบังคับการ, ตำรวจนครบาล, ตำรวจภูธร และ ตำรวจสันติบาล ซึ่งกำหนดให้มีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด มอบหมายให้ พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล (ชิต สุนทรวร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยวางแผนแบ่งแผนกงานไปตามสมควร
กองตำรวจสันติบาลจึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่บัดนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ยังโปรดเกล้าฯ ให้นายพันตำรวจ พระนรากรบริรักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ มาเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล
ทางกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้รวบรวมกรมตำรวจภูบาล ตำรวจกองพิเศษ กับตำรวจภูธรกลางเป็นตำรวจสันติบาล แบ่งออกเป็น 4 กองกำกับการ ประกอบด้วยกองที่ 1 กองที่ 2 กองที่ 3 และกองตำรวจแผนกสรรพากร พลตำรวจโท พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล ผู้เป็นบิดาของ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย) ซึ่งรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจสมัยรัฐบาลที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ยังแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของกองที่ 1 กองที่ 2 กองที่ 3 ไว้ดังนี้
- กอง 1 สืบสวนปราบปราม กำหนดให้รับหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายทั้งในและนอกพระนครหรือทั่วราชอาณาจักร และคอยช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร หากทั้งตำรวจทั้ง 2 ส่วนมีกำลังปราบปรามไม่เพียงพอ
- กอง 2 สืบราชการลับ กำหนดให้รับหน้าที่สืบสวนราชการลับ และสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของนักการเมืองทั้งโดยทางลับและโดยเปิดเผย เพื่อนสอดส่องความเคลื่อนไหวของนักการเมืองว่าดำเนินการไปในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่
- กอง 3 กองวิทยาการตำรวจ กำหนดให้รับหน้าที่ซึ่งต้องอาศัยผู้มีความรู้พิเศษ เช่น การตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา หรือตรวจสอบผู้สมัครเข้ารับราชการว่าเคยต้องโทษมาแล้วหรือไม่ ทำบันทึกประวัติของผู้กระทำผิด การตรวจดูของกลางต่าง ๆ การออกตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด และออกประกาศจับผู้ร้ายซึ่งหลบหนีคดีอาญา กองที่ 3 ยังแบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ, แผนกบันทึก, แผนกประทุษฐกรรม, แผนกวิทยาการ และ แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย
กองตำรวจสันติบาลเปิดทำการครั้งแรกโดยเช่าตึกอาคารที่ตำบลท่าเตียนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม หรือ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ ผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน จ่ายค่าเช่าเดือนละ 400 บาทให้หม่อมหลวงผ่าเพ็ญพัฒน์ ผู้รับมรดก คนยุคนั้นเรียกขานติดปากว่า “สันติบาลท่าเตียน”
ต่อมา ทางกรมตำรวจได้สร้างตึกกองตำรวจสันติบาลขึ้นใหม่ที่อำเภอปทุมวัน บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดปทุมวนาราม แล้วย้ายมาเปิดทำการเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2479
กองตำรวจสันติบาลถือเป็นหน่วยงานตำรวจที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลคณะราษฎรภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 สมัยรัฐบาลที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้นคือนายพันตำรวจเอก พระยาอนุสสรธุระการ (จ่าง วัจนะพุกกะ) อธิบดีกรมตำรวจ ได้กำหนดงานของกองตำรวจสันติบาลขึ้นใหม่โดยแบ่งออกเป็น 5 กอง ได้แก่
- กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้าย
- กองกำกับการ 2 สืบราชการพิเศษ
- กองกำกับการ 3 เทคนิคตำรวจ แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ, แผนกบันทึกแผนประทุษกรรม, แผนกพิสูจน์หลักฐาน, แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย ออกรูปพรรณผู้ร้าย หลบหนี และของหาย, แผนกเนรเทศ
- กองกำกับการ 4 ทะเบียนตำรวจ แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกทะเบียนปืน, แผนกรถ, แผนกสมาคมและเอกสารหนังสือพิมพ์, แผนกโรงหญิงนครโสเภณี โรงรับจำนำ ค้าของเก่า โรงแรม การพนันและเรี่ยไร และแผนกพิจารณาภาพยนตร์
- กองกำกับการ 5 ตำรวจสรรพสามิต
อีกทั้งยังเพิ่มหน้าที่ให้ตำรวจสันติบาลมาดูแลงานด้านการเนรเทศผู้กระทำความผิด และกำหนดให้กองกำกับการ 5 ตำรวจสรรพสามิต ดำเนินงานปราบปรามยาเสพติดที่ผิดกฎหมายทุกประเภทด้วย
ภายหลังการปราบปรามกบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พอเสร็จการปราบปราม จึงมีการแต่งตั้งให้พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ) มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล
ช่วงที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ตึกกองตำรวจสันติบาลจึงยังคงเปิดทำการอยู่ที่ตำบลท่าเตียน ในปี พ.ศ. 2477 ทางกระทรวงได้มีการวางระเบียบราชการกองบัญชาการและกรมขึ้นใหม่ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองตำรวจสันติบาล กำหนดให้โอนแผนกรถของกองกำกับการ 4 ทะเบียนตำรวจไปขึ้นอยู่กับกองตำรวจเทศบาล กองกำกับการ 4 จึงเหลือเพียง 4 แผนก คือ แผนกปืน, แผนกสมาคมและเอกสารหนังสือพิมพ์, แผนกโรงหญิงนครโสเภณี โรงรับจำนำ ค้าของเก่า โรงแรม การพนันและเรี่ยไร และแผนกพิจารณาภาพยนตร์เท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเลื่อนขึ้นเป็นชั้นสัญญาบัตรทั่วราชอาณาจักร โดยทางกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ต้องแต่งตั้งจากกองตำรวจสันติบาล
ช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่นายปรีดี ได้ส่งให้กองตำรวจสันติบาลไปช่วยปราบปรามโจรผู้ร้ายชุกชุมในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย
อีกเรื่องที่น่าสนใจสมัยที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับหน้าที่ดูแลกระทรวงมหาดไทยนั่นคือ ได้ปรากฏกรณีที่ตำรวจไทยเริ่มพกปืนสั้นกันมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่เดิมที ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ต้องออกไปปราบปรามโจรผู้ร้าย แค่ปฏิบัติงานออกตรวจการณ์ทั่วไป พวกเขาก็จะแบกปืนยาวและถือไม้กระบอง การเริ่มให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจการณ์พกปืนสั้นได้เป็นความคิดของรองอธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น อันน่าจะหมายถึง หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล อดุลเดชจรัส)
ความตื่นตัวต่อการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพกปืนสั้นได้รับความสนใจในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมาก หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2478 ถึงกับนำไปพาดหัวข่าวตัวโต “ตำรวจเริ่มใช้ปืนพกแทนกระบองแล้ว ต่อไปจะใช้แพร่ เห็นว่าจะมีประโยชน์กว่ากระบอง - ปืนยาว” และรายงานว่า
“ข่าวคืบหน้าในวงการตำรวจที่ควรเอาใจใส่ก็คือ ตั้งแต่นี้ต่อไปตำรวจกองตรวจจะได้มีอาวุธปืนพกพกติดตัวอยู่อย่างครบครัน แทนการใช้ไม้พลองอย่างแต่ก่อน ถึงแม้ในขณะนี้เราท่านที่อยู่ในพระนครก็คงจะได้เห็นประปรายแล้วว่า มีตำรวจขนาดนายสิบพกปืนเดิมไปมาตามท้องถนนหลวง และการพบได้เปนไปอย่างเปิดเผย ซึ่งดูท่วงทีมีสง่าดีอยู่
การที่ตำรวจกองตรวจใช้ปืนพกแทนไม้พลองนี้ทราบว่าเป็นความคิดของรองอธิบดีกรมตำรวจปัจจุบัน และที่ให้ตำรวจใช้ปืนพกนี้ไม่ใช่เป็นเพราะบ้านเมืองอยู่ในฐานะไม่สงบ หากเป็นการมุ่งหวังให้ใช้แทนไม้พลองดังกล่าวแล้ว โดยเห็นว่าเสมอไม้พลองกะจิหริดนั้น อาจไม่ทานน้ำมือของพวกมิจฉาอาชีวะได้ อนึ่ง, การใช้หรือพกปืน อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การโจรกรรม ประทุษฐกรรม ลดน้อยลง โดยเมื่อพวกเหล่าร้ายตระหนักว่าตำรวจทุกวันนี้มีอาวุธดีใช้ ก็อาจระย่อย้ำครั่นคร้ามไม่หาญพอที่จะก่อเรื่องร้ายได้
ความจริงตำรวจของเราเท่าที่เปนอยู่ในเวลานี้ หากจะได้ฝึกฝนการยิงปืนมาบ้างก็เปนเพียงปืนยาว แต่ปืนพกไม่ได้เคยมีการฝึกหัดกันเลย เพราะฉะนั้นต่อแต่นี้ไปการฝึกหัดใช้ปืนพกจะเป็นวิชาหนึ่งซึ่งจะมีอยู่ในหลักสูตรการอบรมตำรวจ
การใช้ปืนพกนั้นมีประโยชน์มากหลาย ฉะเพาะอย่างยิ่งเวลาเข้าประชิดติดตัว ส่วนปืนยาวพอเข้าถึงตัวกันเสียแล้วก็เกือบไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ดี การใช้ปืนยาว ทางการตำรวจยังจะคงใช้อยู่ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการจราจลวุ่นวายอันหากจะมีเกิดขึ้น
การให้นายสิบตำรวจใช้ปืนพกในขณะนี้ อาศัยที่ปืนยังมีจำนวนน้อยกระบอก กรมตำรวจจึงให้จ่ายฉะเพาะในท้องที่จังหวัดพระนครและธนบุรี ยังไม่จ่ายแพร่หลายไปตามต่างจังหวัด และเลือกจ่ายแต่ผู้ที่เห็นว่าไว้วางใจได้ กับฉะเพาะเป็นตำรวจกองตรวจเท่านั้น และกองตรวจที่มีโอกาสพกปืนนี้ส่วนมากก็ออกทำการเมื่อเวลา ๑ นาฬิกาคล้อยไปแล้ว
โดยที่กรมตำรวจเห็นประโยชน์ในการใช้ปืนพกดั่งกล่าวแล้ว ในขั้นต่อไปกรมตำรวจจะได้สั่งปืนชนิดโคลนรีโวเวอร์มาใช้ในราชการไม่เพียงพอให้พอเพียงปืนพกที่ให้ใช้ทุกวันนี้นั้นยังไม่ใช่แบบเดียวชนิดเดียวกันโดยที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ และการใช้ปืนพกชะนิดโค๊ลต์รีวอลเวอร์มาใช้ในราชการให้พอเพียง ปืนพกที่ให้ใช้ทุกวันนี้นั้นยังไม่ใช่แบบเดียวชะนิดเดียวกัน โดยที่ได้มาจากที่ต่างๆ และการใช้ปืนพกชะนิดโค๊ลต์รีวอลเวอร์นั้น ย่อมเปนประกันในความด้านของกระสุนเปนอย่างดี กล่าวคือเมื่อยิงออกไปนัดหนึ่งแล้วก็สามารถที่จะยิงนัดที่สองได้ทันท่วงที ไม่ต้องชักลำกล้องอันเปนการเปลืองเวลาและไม่ทันใจ
กับการขออนุญาตมีปืนของนายสิบตำรวจ ส่วนมากกรมตำรวจได้ยินยอมอนุญาตให้มีได้ตามความประสงค์ แต่วางเงื่อนไขไว้ว่าจะอนุญาตฉะเพาะระหว่างที่รับราชการเป็นตำรวจประจำการอยู่เท่านั้น ถ้าออกจากประจำการแล้วก็ต้องพิจารณากันต่อไปว่าความเปนอยู่จะสมควรแก่การมีปืนไว้ใช้หรือไม่ ถ้าพิจารณาเปนที่พอใจก็จะอนุญาต ถ้าเห็นไม่สมควรก็งดการอนุญาตทีเดียว
สำหรับพลตำรวจที่มีปืนพกติดตัว ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่คงให้ใช้ฉะเพาะที่มีหน้าที่ดูแลสถานที่สำคัญเปนต้นว่าสถานทูตหรือประจำตามกระทรวงและรัฐมนตรีเปนต้น
จะให้ตำรวจมีปืนพกนี้ได้เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่แล้วมา”
อาวุธปืนถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดคดีอาชญากรรมจำนวนไม่น้อยช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากเสาะหามาครอบครองได้ง่ายดายและสะดวก เพราะการซื้อขายอาวุธปืนกระทำได้โดยเสรี ปืนและเครื่องกระสุนดินดำแทบจะมีขายตามโรงรับจำนำแทบทุกโรง กฎหมายที่ควบคุมการพกพาอาวุธปืนก็ยังไม่เข้มงวด จึงเป็นเหตุให้อาวุธปืนแพร่กระจายในหมู่ราษฎรและเกิดความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนในการก่อคดีต่าง ๆ โจรผู้ร้ายก็ทบทวีความชุกชุม มิหนำซ้ำปืนที่โจรผู้ร้ายใช้ยังมีคุณภาพดีกว่าปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะปืนสั้นพกพาสะดวก โจรผู้ร้ายมีใช้การอย่างคล่องมือ ขณะที่ตำรวจยังคงต้องใช้ปืนยาวเป็นหลัก ดังนั้น การเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพกปืนสั้น ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แสดงออกถึงความเอาใจใส่กับการปราบปรามโจรผู้ร้ายอย่างจริงจัง ดังที่ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของวันฉลองรัฐธรรมนูญ 2478 เริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า
“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย
วันคืนก็ได้ล่วงมาบรรจบครบรอบปีที่ ๓ ณ วันนี้ที่ ๒๗ มิถุนายน อันเป็นวันมหามงคลสมัยที่ชาติไทยได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง ๑ ปีนับแต่วันที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาแสดงถึงเรื่องสองปีที่ล่วงมาแล้ว รัฐบาลก็ได้พยายามที่จะผดุงประเทศชาติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นตลอดมา
อันชีวิตของชาติจะเจริญด้วยความมั่นคงสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ แห่งชาติ ความสามัคคีเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาติมีกำลังเข้มแข็งเข้าสู่ความเจริญอย่างไรนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงมาแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ และชาติเราจะต้องฝ่าอุปสรรคอันมีอยู่ประการใดบ้างนั้น เมื่อคืนวันที่ ๒๖ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้แสดงให้ท่านทราบแล้วว่า นอกจากขาดกำลังทรัพย์ ประเทศเรายังขาดกำลังคน คือขาดผู้รู้ผู้ชำนาญในวิทยาการ สยามที่ได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น
มิใช่จะตั้งต้นใหม่แต่ในระบอบการปกครอง สยามจำต้องเพาะคนขึ้นใหม่ จำต้องเพาะผู้รู้ผู้ชำนาญเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมอวัยวะของชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภาษิตของชาวตะวันตกบทหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้อ้างถึงเมื่อปีกลายนี้ว่า กรุงโรมมิได้สร้างสำเร็จลงในวันเดียวนั้น ข้าพเจ้าก็จำต้องขออ้างซ้ำอีก สำหรับประเทศสยาม ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ณ บัดนี้ ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรอบขวบปีนี้มีประการใดนั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงแก่ท่านโดยสังเขป ในส่วนที่เกี่ยวแก่หลักการทั่วไปตามแนวหลัก ๖ ประการ และบรรยายหนักไปในหน้าที่กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะดังต่อไปนี้”
แล้วทยอยแจกแจงรายละเอียดของหลักแต่ละประการ ซึ่งในด้านการปราบปรามโจรผู้ร้ายนั้นอยู่ในหลักประการที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่ นายปรีดี ให้ความสำคัญ อาจเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับภาระหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ดังความว่า
“เรื่องรักษาความสงบภายในนั้น กล่าวโดยเฉพาะในเรื่องโจรผู้ร้ายที่ลุกลามอยู่มากมายใน พ.ศ. 2476 และต้นปี พ.ศ. 2477 บัดนี้ก็ได้ลดน้อยถอยลงไป จะเห็นได้ว่า คดีอุกฉกรรจ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 75 ราย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2478 น้อยกว่าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 40 ราย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 น้อยกว่าในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2477 73 รายการ ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่แล้วมา ก็ปรากฏว่า จำนวนคดีอุกฉกรรจ์ได้ลดน้อยลงอย่างมาก”
การแก้ไขปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งอันโดดเด่นของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เพราะภารกิจนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างแข็งขันภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รวมถึงช่วงหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งการที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะแปรปรวน และยังไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองย่อมจะก่อให้เกิดกลุ่มโจรผู้ร้ายจำนวนมาก ทว่าดูเหมือนบทบาทด้านนี้ของ นายปรีดี ยังมิค่อยได้รับความสนใจศึกษาค้นคว้าสักเท่าใดนัก
เอกสารอ้างอิง
- ชาญณวุฒ ไชยรักษา. นักการเมืองถิ่นจังหวัดพิษณุโลก. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2549.
- ณัฐพล ใจจริง. ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ สามัญ พ.ศ. ๒๔๗๗. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2478.
- สมพงษ์ แจ้งเร็ว. บทบาทของตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ.2475-2500. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2545..
- “สุนทรพจน์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478” ใน ชุมนุมปาฐกถาของคนสำคัญ. ส. คนปรีชา (รวบรวม). พระนคร: สุวรรณบรรพต, 2504. หน้า 97-111.
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเกษม ศุขโรจน์ (ขุนประเจตดรุณพันธ์) ต.ช. ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2526. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง, 2526.
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519.