ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : 129 ปี ชาตกาล หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

29
กุมภาพันธ์
2567

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล) เป็นพระราชธิดาใน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) หม่อมเฉื่อย (หม่อมเฉื่อย ดิศกุล) เป็นมารดา มีพี่น้องหลายองค์ ท้องหม่อมเฉื่อยมีหลายคน ถัดจากท่านไป พูนพิศมัย ก็ หม่อมเจ้าพิไลยเลขา (หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล) แต่ที่ท่านสนิทสนมเป็นพิเศษ คือ หม่อมเจ้าพัฒนายุ (หม่อมเจ้าพัฒนายุคุณวรรณ ดิศกุล) ที่เรียกว่า ‘หญิงเหลือ’ 3 องค์นี้ พูนพิศมัย, พิไลยเลขา, พัฒนายุ ได้ตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลี้ภัยไปอยู่ที่เกาะหมาก เป็นเวลา 10 ปี ถึงได้กลับมาเมืองไทย แต่ภายในปีเดียวกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็สิ้นพระชนม์

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับสายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แล้วหม่อมเจ้าพูนพิศมัย มีเรื่องราวอะไรบ้างตอนนั้น

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ตกงาน ไม่มีงานทำ เพราะเขายึดอำนาจไปหมดแล้ว แล้วในหลวงรัชกาลที่ 7 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน เกิดกบฏบวรเดช มีคนเข้าใจว่าในหลวงจะอุดหนุนพระองค์เจ้าบวรเดช (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช) เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชแพ้ ลือกันว่าจะไปจับในหลวงรัชกาลที่ 7 ในหลวงก็เลยให้ท่านชิ้น (พันโท หม่อมหลวงศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน) ที่เป็นลูกสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์) ไปขโมยรถไฟจากเพชรบุรีรับเจ้านายเดินทางไปหาดใหญ่ เจ้านายมีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กรมพระนริศฯ ท่านหญิงพูนฯ ใครต่อใครทั้งหมด

ส่วนในหลวงเองลงเรือยนต์ ชื่อ ‘วรุณ’ เอาพ่อตาท่าน เมียท่าน แม่ยายท่าน วิ่งไปสงขลา เมื่อขึ้นรถไฟคันนี้ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นผู้ว่าการรถไฟฯ สั่งให้ระเบิดทาง ทางพระราชญาติตกใจ ก็โทรศัพท์มาถาม พระยาพหลฯ (พลเอก พระยาพหลพยุหเสนา) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าระเบิดทางเจ้านายสิ้นพระชนม์หมดแน่ พระยาพหลฯ ก็เลยสั่งให้ระงับ รถไฟเลยมาถึงหาดใหญ่ ระหว่างที่อยู่ที่หาดใหญ่ ในหลวงอยู่ที่สงขลา ท่านหญิงมารยาตรฯ ส่งโทรเลขไปถึงสมเด็จพระยาดำรงฯ ว่าเพ็กบ๊วย (น.ส. เพ็กบ๊วย ณ ระนอง บุตรีพระยารัตนเศรษฐี เจ้าของคฤหาสน์อัษฎางค์ เมืองปีนัง มาเลเซีย) อยากพบ ทางกรุงเทพฯ เขาต้องล้างคุกเพื่อที่จะไปจับกรมสมเด็จพระยาดำรงฯ ได้โทรเลขของท่านหญิงมารยาตรฯ ทูลลารัชกาลที่ 7 ไปลี้ภัยอยู่เกาะหมาก ท่านหญิงพูนฯ ท่านหญิงพิไล ท่านหญิงเหลือ ตามไปด้วยอยู่ที่เกาะหมาก เป็นเวลา 10 ปี

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ในเวลานั้นหม่อมเจ้าพูนพิศมัยมีบทบาทอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยบ้างในช่วงนั้น

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

หนีไปอยู่ที่เกาะหมากจะไปมีบทบาทอะไร อยู่นั่นถึง 10 ปี เพราะพระชนม์มายุ 80 พรรษา ก่อนหน้านั้นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ สิ้นพระชนม์ พี่น้องสองคนไม่ถูกกันนะ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จัดงานศพถวายกรมพระสวัสดิ์ฯ แล้วท่านนึกว่าน้องท่านตายแล้ว ครั้งหน้าคงถึงท่านบ้าง เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา มีลายพระหัตถ์ถึงลูกทั้งหมด บอกว่า “ถ้าเผื่อพ่อตายก็ให้เผาศพอยู่ที่ปีนัง เหมือนอย่างที่พ่อเผาศพสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ” ท่านพิศิษฐ์ดิศพงษ์ (หม่อมเจ้าพิศิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล) ตอนนั้นที่เป็นพันตรีทำงานอยู่กองประสานงานกับญี่ปุ่น หัวหน้าใหญ่คือ พลตรี ไชย ประทีปะเสน เป็นพลตรีคนโปรดของจอมพล ป. (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ลายพระหัตถ์เสด็จพ่ออ่านแล้วก็น้ำเนตรไหล คุณชายก็ถามท่านเป็นอะไรไป ก็เอาลายพระหัตถ์เสด็จพ่อให้ดู บอกว่า “พ่อลาตายแล้ว” คุณชายก็สงสารเขาก็บอก “จอมพล ป. กรมดำรงฯ จะ 80 แล้ว ไม่มีพิษมีภัยแล้วให้กลับมาเถอะ” จอมพล ป. ก็ยอมให้กลับมา เพราะฉะนั้นหม่อมเจ้าพิศิษฐ์มีบุญคุณ เพราะฉะนั้นคุณคึกฤทธิ์ถึงแต่งกลอนล้อว่า “พิศิษฐ์ดิศพิบูล, พูนพิศปรีดี, มารยาตรดำรง”

กลับมาตอนนั้นก็น้ำท่วมพอดี ต้องพายเรือไปขึ้นฝั่งวังวรดิศ แต่ว่าตอนนั้นอาจารย์ปรีดี (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจารย์ปรีดีก็ไปเยี่ยมกรมสมเด็จพระยาดำรง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านฉลาด ท่านต้อนรับอาจารย์ปรีดีเป็นพิเศษ ให้ขึ้นไปหาพระตำหนักข้างบน รับสั่งเรียกว่า “เจ้าคุณ” บ้านเมืองเป็นของเจ้าคุณแล้วนะ ฝากบ้านฝากเมืองด้วย แล้วท่านเป็นผู้ดีแบบฝรั่ง เหมือนผู้สำเร็จมาเยี่ยมท่าน ก็ต้องมาเยี่ยมตอบ ต้องนั่งพายเรือไป แต่ไม่เอาท่านหญิงพูนไปหรอก เดี๋ยวท่านหญิงพูนไปเฮี้ยวเค้า ก็เอาท่านหญิงพิไลย ไปเยี่ยมตอบอาจารย์ปรีดี อาจารย์ปรีดีเขาต้อนรับขับสู้ดี เสร็จแล้วอีกไม่นานท่านก็สิ้นพระชนม์

เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ตอนนั้นพวกเจ้านาย จอมพล ป. เขารังแกเจ้านายมาก เจ้านายก็พระพันวัสสา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ท่านหญิงแก้ว (หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล (ดิศกุล)) เป็นลูกสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แต่ว่าเป็นน้องหม่อมเจิม อยู่กับสมเด็จพระพันวัสสา ท่านหญิงแก้วก็ไปเจรจาอาจารย์ปรีดี ขอให้อาจารย์ปรีดีช่วย อาจารย์ปรีดีก็รับสมเด็จพระพันวัสสาไปอยู่ที่วังบางปะอิน จอมพล ป. ก็ไปเยี่ยมเรื่อยๆ ท่านหญิงพูนก็หนีระเบิดไปอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ความสัมพันธ์ของครอบครัวปรีดี-พูนศุขกับหม่อมเจ้าพูนพิศมัย

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ท่านหญิงพูนท่านเป็นคนรักความจริง แล้วทีหลังมาคุ้นกับอาจารย์ปรีดี แล้วมาคุ้นกับท่านผู้หญิงพูนศุข (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) ท่านเห็นว่าก่อนหน้านี้เป็นคนดี ท่านก็ไม่เชื่อเลย กรณีสวรรคต ท่านอยู่ฝ่ายอาจารย์ปรีดีมาตลอด เมื่ออาจารย์ปรีดีไปอยู่ที่ฝรั่งเศสท่านไปเยี่ยมถึงปารีส ท่านหญิงพูน ท่านเป็นคนรักความจริง รักความดี แล้วก็เป็นคนกล้า ท่านทรงพระเมตตาท่านผู้หญิงฯ มีอะไรท่านผู้หญิงก็ไปเฝ้า

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

หม่อมเจ้าพูนพิศมัยมีผลงานอะไรเด่นๆ ไหม

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ท่านเป็นนักเขียน ไปไหนท่านก็เขียนเล่าหมด สิ่งที่ท่านเขียนเป็นความจริง มองในแง่มุมของท่านนะ อะไรที่ท่านเล่ามักเป็นความจริงไม่มีอะไรบิดพลิ้ว

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

โดยส่วนตัวแล้วที่อาจารย์ สัมผัสท่านหญิง ท่านหญิงมีนิสัยอย่างไร แล้วก็ชอบทำอะไรไม่ชอบทำอะไร

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ถ้าสนใจก็คือศาสนาพุทธ อุทิศตัวมากเลยเพื่อพุทธศาสนาโดยเฉพาะองค์การพุทธสัมพันธ์แห่งโลก ท่านเป็นตัวตั้งตัวตีนะ เพราะเริ่มขึ้นที่ประเทศศรีลังกา โดย ดร.คุณปาล ปิยเสน มาลาลาเสเกรา เขาตั้งขึ้นเพราะตอนนั้นก็เกิดวุ่นวาย เลยย้ายมาอยู่พม่าอยู่ได้ปีเดียวพม่าเกิดรัฐประหารใหญ่ เลยย้ายมาอยู่เมืองไทยและท่านหญิงพูนอุ้มชูมา แล้วอยู่เมืองไทยมาตลอดเลย ท่านมีบุญคุณกับองค์กรพุทธสัมพันธ์แห่งโลกมาก คือท่านหาคนไปช่วยท่านบริหาร ท่านเองบริหารไม่เป็นแต่หาคนเก่งๆ ไปช่วยท่าน

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

อาจารย์ช่วยเล่าความเป็นมาของหอสมุดดำรงให้ฟัง

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านเป็นนักเรียงหนังสือ แม้กระทั่งหอสมุดแห่งชาติท่านเป็นคนริเริ่มหาหนังสือดีๆ มา หาบรรณารักษ์ดีๆ มา ส่วนพระองค์เองก็เก็บหนังสือดีๆ ทั้งนั้น บางอย่างหอสมุดหลวงไม่มี ท่านก็มี เพราะฉะนั้นเป็นของสมบัติมีค่ามาก ในเวลานั้นบ้านเมืองเราถูกญี่ปุ่นยึดครอง โดยนิตินัยญี่ปุ่นขอผ่านเฉยๆ แต่โดยพฤตินัยญี่ปุ่นปกครองอยู่เลย ญี่ปุ่นต้องการจะเอาหนังสือทั้งหมดของกรมสมเด็จพระยาดำรง ไปไว้ที่เมืองญี่ปุ่น ให้เงินเป็นล้านเลยไม่ใช่น้อยๆ ท่านหญิงพูนฯ ท่านเป็นคนชาตินิยมท่านก็ไม่ยอมขาย ท่านจะให้เป็นสมบัติของชาติ เลยปรึกษาอาจารย์ปรีดี อาจารย์ปรีดีเลยบอกให้รัฐบาลจัดตั้งหอดำรงได้สำเร็จ

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

หอดำรงสมัยก่อน ณ เวลานั้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ ตอนนั้น

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

สงครามใกล้จะยุติแล้ว ก็ช่วงประมาณปี 2487 - 2488 ประมาณนั้น

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ตอนนั้นหอดำรงฯ อยู่ที่ไหน

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

อยู่หลังหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติเดี๋ยวนี้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่หน้าวัดมหาธาตุ ที่หันหน้ามาทางสนามหลวง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ท่านออกแบบงามมาก เดิมรัชกาลที่ 5 ต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วก็สวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ 6 เลยขอให้เปลี่ยนมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ปัจจุบันนี้ย้ายไปอยู่ที่ไหน - ห้องดำรง

 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ย้ายมาอยู่ที่วังวรดิศ

 

ณภัทร ปัญกาญจน์ :

ก็เปลี่ยนชื่อ เป็นชื่อยาวขึ้นว่าเป็น “หอสมุดดำรงราชานุภาพ” แล้วอาจารย์เคยเจอหม่อมเจ้าพูนพิศมัยไหม

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ :

ผมสนิทกับท่าน เป็นองค์แรกที่ผมรู้จัก เพราะผมอยู่อังกฤษผมเขียนเรื่อง “สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ”เป็นภาษาอังกฤษ ท่านสั่งส่งมาถวาย ท่านโปรดมากบอกว่า “รู้เรื่องพ่อท่านดีกว่าน้องชายท่านอีก” เผอิญปีนั้นผมกลับมา พ.ศ. 2501 พอท่านทรงพระชนมายุ 96 พรรษา ท่านให้ผมแปลที่ผมเขียนและพิมพ์แจกในงานนั้นด้วย รับสั่งเรียกผม “น้องชาย น้องชาย” โปรดปรานผมมาก ว่าท่านถูกพระทัยมาก ทำไมเด็กสมัยใหม่รู้เรื่องดีขนาดนี้ เขียนลงที่สามัคคีสารของนักเรียนไทยในอังกฤษ แล้วส่งมาถวายท่าน โปรดมาให้แปลพิมพ์แจกในงานนั้นเลย ตอนพระชนมายุ 96 พรรษา

 

 

สัมภาษณ์โดย : ณภัทร ปัญกาญจน์
วันที่
: 21 กุมภาพันธ์ 2567