ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประชาธิปไตยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (?) ตอนที่ 1 : ดุสิตธานี การเทศบาล และเมือง

27
มีนาคม
2567

ดุสิตธานี เมือง และการเทศบาล สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก แนวคิดของชนชั้น หรือฝ่ายอนุรักษนิยมจะได้รับการอธิบายว่าเป็นจุดตั้งต้นของการปกครองท้องถิ่นหรือรูปแบบประชาธิปไตย หากในงานศึกษาทางวิชาการเรื่องการท้องถิ่นและเทศบาลชิ้นสำคัญ อาทิ งานศึกษาของตระกูล มีชัย ธเนศวร์ เจริญเมือง และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์[1] เสนอสอดรับกันว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีกิจการสุขาภิบาลแต่ยังไม่มีแนวทางการพัฒนาไปสู่ลักษณะของการกระจายอำนาจ และแม้ในรัชสมัยนี้จะมีการทดลองปกครองท้องถิ่นในรูปแบบของดุสิตธานีแต่ก็เป็นเพียงการทดลองในพื้นที่เขตนครบาลยังไม่ได้ส่งผลต่อการปกครองท้องถิ่น และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะผลักดันนโยบายปรับปรุงกิจการสุขาภิบาลเป็นแบบประชาภิบาลหรือเทศบาลผ่านร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฯ พ.ศ. 2473 แต่ก็มีข้อติดขัดและไม่ได้ผลักดันให้มีการปกครองรูปแบบเทศบาลได้สมบูรณ์

บทความนี้จะเสนอให้เห็นรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังไม่มีลักษณะการกระจายอำนาจตามหลักประชาธิปไตยในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

ดุสิตธานี

 


ดุสิตธานี

 


ดุสิตธานี

 

ในทัศนะส่วนใหญ่ของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าการมีดุสิตธานีสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการฝึกการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งแบบเทศบาล[2]  หากในงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ 6 ระบุว่า ในช่วงเวลานี้มีการสุขาภิบาล 25 แห่งที่ยังดำเนินสืบต่อมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงหรือจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่นอีกนอกเสียจากการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล พ.ศ. 2458 ที่เป็นการปรับปรุงสุขาภิบาลแยกเป็นสุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลท้องที่

หน้าที่หลักของสุขาภิบาลยังมุ่งรักษาความสะอาดและมีการเพิ่มหน้าที่ในการจดทะเบียนคนเกิดคนตายโดยมีเจ้าหน้าที่ของสุขาภิบาลส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในท้องที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยยังไม่มีการเลือกตั้งในการปกครองในรูปแบบสุขาภิบาลนี้ ส่วนความสนใจของรัชกาลที่ 6 เรื่องทดลองจัดตั้ง “ดุสิตธานี” หรือโครงการเมืองทดลอง (เมืองตุ๊กตา) ช่วงแรกใน พ.ศ. 2446 ได้ทรงสร้างดุสิตธานีสมัยที่ 1 และมีดุสิตธานี สมัยที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 โดยภาพรวมของรูปแบบดุสิตธานียุคนี้คือการสร้างเป็นเรือนแถวขึ้นตลอดแนวกำแพงที่กั้นระหว่างพระตำหนักจิตรลดากับวังปารุสกวันเดิมให้เป็นหมู่บ้านจำลองขนาดเล็กและสมมติให้มหาดเล็กเป็นผู้ปกครองพื้นที่ที่มีลักษณะการบริหารในแบบที่เรียกว่า นคราภิบาล (municipality)

และดุสิตธานีที่เป็นเมืองได้สร้างเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2461 โดยสร้างขึ้นบริเวณสนามเนื้อที่ราวสองไร่ครึ่งระหว่างพระที่นั่งอุดรและอ่างหยดในบริเวณพระราชวังดุสิต และยังทรงประกาศธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ดุสิตธานีเป็นจุดตั้งต้นหรือแบบอย่างของการปกครองท้องถิ่น กระทั่งใน พ.ศ. 2464 กระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างกฎหมายปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นสนองพระบรมราโชบายเพื่อจะให้รูปแบบของดุสิตธานีได้นำไปปฏิบัติยังต่างจังหวัดแต่เรื่องก็ไม่ดำเนินไปสู่การปกครองท้องถิ่น

ขณะที่ในธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พ.ศ. 2461 จะพบเนื้อหาสำคัญเรื่องการเลือกตั้งผู้เป็นนคราภิบาลหรือผู้ปกครองท้องถิ่นนั้นโดยใช้ลักษณะเดียวกับการเลือกผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 คือให้ราษฎรมาประชุมพร้อมกันเลือกเจ้าบ้านผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือของตนขึ้นเป็นนคราภิบาลซึ่งการกระจายอำนาจยังไม่ไปสู่ของประชาชนจนสิ้นรัชสมัย นอกจากดุสิตธานีแล้วในสมัยรัชกาลที่ 6 พบว่าไม่มีสถาบันทางการเมืองทางการปกครองท้องถิ่นอื่นเกิดขึ้นและเป็นการบริหารประเทศต่อจากที่รัชกาลที่5ทรงปูรากฐานไว้[3]

 

กำเนิดเทศบาลในสยามสมัยรัชกาลที่ 7

 


รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รถไฟหยุดตามระยะทางที่เสด็จผ่าน ทรงถ่ายรูปน้ำตกตามลำธาร (เด่นชัย-ลำปาง) วันที่ 10 มกราคม 2469
อ้างอิงภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงกิจการสุขาภิบาลให้เป็นรูปการบริหารแบบประชาภิบาล (municipality) หรือเทศบาลในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้เตรียมจัดการเรื่องประชาภิบาลซึ่งในขณะนั้น สุขาภิบาลท้องที่ก็มีลักษณะการดำเนินงานแบบข้าราชการแม้จะมีราษฎรในคณะกรรมการสุขาภิบาลแต่ก็ไม่มีผลให้ราษฎรมีส่วนในการควบคุมการเงินของสุขาภิบาล

และ พ.ศ. 2470 ในพระราชบันทึก “Democracy in Siam” ว่า “จะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอนสำหรับประชาชนที่จะเริ่มต้นด้วยการควบคุมกิจการท้องถิ่นก่อนที่เขาจะพยายามควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านทางรัฐสภา” นี่คือทัศนะเรื่องการปกครองท้องถิ่นของชนชั้นนำสยามเวลานั้น[4]

ต่อมาทางอภิรัฐมนตรีสภาได้มีการประชุมปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการสุขาภิบาลให้เป็นเทศบาล และมีความเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะคือ กรรมการจัดการประชาภิบาล โดยแต่งตั้ง Mr. R.D. Craig ที่ปรึกษากรมทะเบียนที่ดินเป็นประธานกรรมการเนื่องจากเป็นชาวยุโรปที่มีความรู้ด้านเทศบาลและกฎหมายกรรมการชาวไทยคือคนที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคัดเลือก 2 คน คือ อำมาตย์เอก พระยากฤษณามรพันธ์ ผู้ชำนาญการบัญชี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และพระยาจินดารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม

ที่สำคัญคือ คณะกรรมการจัดประชาภิบาลได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจัดประชาภิบาลหรือเทศบาลว่า ราษฎรยังไม่สมควรดำเนินการเทศบาลด้วยตนเองโดยลำพังเพราะยังไม่มีความรู้เพียงพอ แต่ควรมีการทดลองเลือกตั้งกรรมการที่ไม่เป็นข้าราชการร่วมดำเนินกิจการด้วย จะเห็นว่าชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมสนใจการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจากข้อเท็จจริงยังพบว่าการสุขาภิบาลในยุคนั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหัวเมืองทั้งหมดในยุคนั้น เช่นมณฑลพายัพจะมีเพียงสุขาภิบาลจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าชนชั้นนำสยามอาจเห็นด้วยที่จะจัดตั้งเทศบาลแต่เมื่อพิจารณาถึงข้อถกเถียงในรายละเอียดแล้วกลับมีปัญหาทางด้านหลักการขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริว่า “ในชั้นต้นนี้ก็หาได้มีความประสงค์ให้ทำอะไรมากไปกว่าที่กรรมการเสนอมา ที่จริงไม่ได้จะให้มีการโหวตเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าให้มีได้สำหรับเมืองโตๆ ก็อาจเปนประโยชน์ดี สำหรับกรุงเทพนั้นน่าจะคิดไว้เหมือนกัน เห็นว่าทำตามรูปคล้ายสิงคโปร์และฮ่องกง…”

ข้อถกเถียงกันในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2473 ที่มีหลักการสำคัญอยู่ที่การแบ่งเทศบาลเป็น 3 ชั้น ตรี โท เอก ตามจำนวนประชากร และให้มีการตั้งเทศบาลชนบทออกมาอีกต่างหาก และมีการบริหารแบบอังกฤษที่มีคณะกรรมการที่มีหน้าที่นิติบัญญัติโดยข้อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ที่สำคัญคือ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ที่จะมาเป็นคณะเทศมนตรี (qualification for right of vote) ที่กำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการใช้ภูมิลำเนา (resident) สิทธิ์เหนือทรัพย์สิน (property right) ซึ่งจะต้องเป็นตัวแทนของผู้เสียภาษี และไม่มีส่วนได้เสียกับสัญญาค้าขายกับเทศบาล

ทั้งนี้ สมัยรัชกาลที่ 7 ยังมีปัญญาชนเจ้าหัวก้าวหน้าคือ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ผู้มีบทบาทในร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฯ ได้เสนอเรื่องคุณสมบัติพลเมืองสยามให้คณะกรรมการต้องพูดและอ่านภาษาไทยได้เพื่อเป็นการทำให้คนต่างด้าวมีความเป็นพลเมืองสยาม ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แสดงความเห็นคัดค้านอย่างชัดเจนว่าจะเป็นภัยแก่กรุงสยามโดยเฉพาะจากจีน ดังนั้น แนวคิดอีกส่วนหนึ่งก็คือ อาจจะให้มีการเลือกตั้งแต่สงวนสิทธิอำนาจอยู่ที่รัฐส่วนกลางและให้มีรัฐมนตรีจำนวนน้อยโดยให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า วิธีแก้ปัญหาควรจะมอบสิทธิในการเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารงานในเทศบาลแก่รัฐบาลแทน

 


รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพ ในภาพทรงเสด็จออก ณ มุขหน้า ศาลากลางจังหวัดลำปาง มีพระราชดำรัสตอบขอบใจประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ วันที่ 11 มกราคม 2469
อ้างอิงภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

การกระจายอำนาจไปสู่เทศบาลในช่วงเวลานี้จึงมีข้อถกเถียงอย่างเข้มข้นและเป็นไปได้ยากที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมจะเห็นสอดรับกับการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 7

 

เมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การขยายตัวของเมืองเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ช่วงรัชกาลที่ 5[5] มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองและเศรษฐกิจเข้าสู่เมืองหลวงส่งผลไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถาปัตยกรรมและประโยชน์ใช้สอยของอาคาร พื้นที่สาธารณะ ในเขตกรุงเทพชั้นในขนานใหญ่ และมีการขยายเขตเมืองออกไปนอกเขตกำแพงเมืองเดิมโดยเฉพาะส่วนพระราชวัง เช่น พระราชวังดุสิตทางตอนเหนือที่เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2441 ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัยและความทันสมัยโดยเชื่อมต่อกับพระบรมมหาราชวังด้วยถนนสามเสน ถนนราชดำเนิน

ขณะนั้นก็ทำให้เกิดย่านชุมชน ตลาด และบ่อนเบี้ยสามเสน ตลาดและบ่อนเบี้ยนางเลิ้ง จนเกิดโรงแถว หรือ ตึกแถวขึ้นในฐานะอสังหาริมทรัพย์แบบหนึ่ง รวมไปถึงวังของพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 ที่ขยายตัวไปสู่บริเวณรอบพระราชวังดุสิต ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมถนนสามเสน ส่วนหนึ่งริมถนนราชดำเนิน ส่วนหนึ่งริมคลองสามเสน รวมไปถึงบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมและคลองมหานาค และถนนพระรามที่ 1 โดยวังดังกล่าวถือว่าเป็นที่ประทับที่แยกขาดออกจากสถานที่ทำงานต่างจากในสมัยจารีต

แม้แต่วัดเบญจมบพิตรที่สร้างใน พ.ศ. 2442 ก็ถูกสร้างมาโดยให้ความหมายใหม่ทั้งในเชิงการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปจากทั่วราชอาณาจักรรวมถึงถนนราชดำเนินก็สร้างขึ้นในปีเดียวกันเพื่อเป็นการเชื่อมระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังดุสิตในลักษณะ Boulevard บนถนนดังกล่าวยังพบการสร้างสะพานข้ามคลองแบบยุโรปในช่วง พ.ศ. 2446-2450 ส่วนปลายของถนนคือ พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระราชวังดุสิตที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2450 ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของระบอบเก่า รวมไปถึงการขยายออกไปยังทิศตะวันออกด้วยการสร้างวังพญาไทในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ พ.ศ. 2452

การขยายอิทธิความเป็นเมืองของชนชั้นนำสยามยังได้ขยายอิทธิพลไปสร้างเมืองตากอากาศทั้งบริเวณเมืองตอนในอย่างบางปะอิน และบริเวณริมฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์การเมืองโดยเมืองแรกๆ คืออ่างศิลา สีชังในฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นจุดหมายการเดินทางไปท่องเที่ยวตากอากาศ ซึ่งขยายตัวมาพร้อมกับเรือกลไฟที่เริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4

และมีการเริ่มสร้างพระราชวังและสิ่งก่อสร้างอย่างสะพาน บ่อน้ำ เสาธง ประภาคาร ตึกสำหรับผู้ป่วยได้รักษาตัวได้ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะการสร้างพระราชวังฤดูร้อนที่เกาะสีชังในคราวที่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงพระครรภ์ใกล้ถึงกำหนดประสูติ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่ทะเลฝั่งตะวันออกถูกคุกคามด้วยอำนาจทางการทหารของฝรั่งเศสที่ส่งมายึดเกาะสีชังจนกระทั่งไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาเกาะสีชังอีกเพราะพื้นที่ไม่ปลอดภัย

ส่วนการขยายตัวฝั่งตะวันตกยังเกิดจากการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากรถไฟที่ขยายเส้นทางจากสถานีเพชรบุรีมาถึงสถานีหัวหินใน พ.ศ. 2454 การเดินรถไฟยังเชื่อมลงไปถึงสหรัฐมลายู ที่สำคัญคือมีการสร้างโรงแรมหัวหินใน พ.ศ. 2466 ทำให้หัวหินกลายสภาพจากหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเมืองตากอากาศที่นักท่องเที่ยวชาวสยามและยุโรปนิยมมาพักผ่อน

และในช่วงของการขยายตัวจากทางรถไฟนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนจากในเขตพระนครฯ เข้าสู่เมืองใหม่จนทำให้เกิดการก่อตัวของชุมชนชาวจีนออกจากกรุงเทพฯ หรือภาคกลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองที่อยู่บนทางรถไฟสายลำปางถึงเชียงใหม่ รถไฟสายโคราช-อุบลฯ และสายโคราช-อุดรธานี และมีการทำทางรถยนต์เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟไปสู่ชุมชนเมืองต่างๆ

การเกิดขึ้นของเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนเมืองที่สำคัญและมีการพัฒนานั้นมาจากศูนย์กลางทางการเมืองและชนชั้นนำ ขณะที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจยังอยู่ในมือชาวต่างชาติทั้งชาวจีนและชาวตะวันตกหรือคนในบังคับตะวันตก และประชากรจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองได้ทำให้เกิดชุมชนโรงเรียน และมีการก่อตั้งสมาคมต่างๆ ขึ้นมาอย่างแพร่หลายและทำให้เมืองกลายเป็นชุมชนที่แออัด ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัยส่งผลให้ชนชั้นนำสยามก่อตั้งสุขาภิบาลขึ้นจากแนวคิดเรื่องจัดการความสะอาดเมืองเป็นหลักโดยยังไม่ได้มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการกระจายอำนาจไปสู่ราษฎร

 

ข้อชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2473[6]

(๔) เรื่องสำคัญที่แสดงให้เห็นชัดว่า มีผู้นำไปปลุกปั่นให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจผิดนั้น ผมได้ตอบชี้แจงไว้หลายเรื่องในบันทึกข้อสังเกตและตอบคำถามนิสิตนักศึกษาฯ ที่ผมอ้างถึงท้ายข้อ (๒) ข้างบนนั้นและต่อมาได้มีคำชี้แจงอื่นๆ ที่พิมพ์เป็นบทความของผมอีก

นอกจากนั้นมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมเพิ่งทราบเมื่อ ๕ พ.ค. ๒๔๒๓ (ยังไม่ถึง ๑ ปี) จากหนังสือของอาจารย์สนธิ เดชานันท์ ชื่อ “แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๕)” (หนังสือเล่มนั้นได้รับการช่วยเหลือในการโฆษณาเผยแพร่)

ในหน้า (ฉ)-(ซ) แห่งหนังสือเล่มนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับนั้นได้ผ่านการพิจารณาหลายขั้นหลายตอนและในตอนสุดท้ายร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ติดอยู่ที่กรมร่างกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ กรมร่างกฎหมายในขณะนั้นมีบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรเป็นเลขานุการ บุคคลผู้นี้คือ หลวงประดิษฐมนูธรรม ดังนั้นอาจเป็นได้ว่าคณะราษฎรได้รู้แนวทางพระราชดำริทางการเมืองดังกล่าวอย่างชัดแจ้งหรืออย่างน้อยที่สุดหลวงประดิษฐมนูธรรมผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายก็ต้องรู้เห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือเป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรรีบเร่งที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะคณะราษฎรทราบดีว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังจะทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลคณะราษฎรจึงต้องรีบทำการเสียก่อน แต่ถ้าคณะราษฎรไม่ทราบถึงเรื่องดังกล่าวก็มีปัญหาที่น่าคิดอีกประการหนึ่ง คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่หลวงประดิษฐมนูธรรมได้ปิดบังสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ มิให้ทราบถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับนี้เพราะไม่ต้องการให้มีการล้มแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรคำถามทั้งสองประการนี้ผู้รวบรวมใคร่ขอให้ผู้ทำการศึกษาเป็นผู้วินิจฉัยด้วยตนเอง”

ถ้าผมนำเรื่องที่อาจารย์สนธิ เดชานันท์เขียนไว้ดังกล่าวนั้นเสนอศาลยุติธรรมวินิจฉัยแล้ว ศาลยุติธรรมก็จะเห็นได้ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อเขียนนั้นในทางกฎหมายเรียกว่า “คำถามนำ” (Leading question) คือ นำให้ผู้อ่านเห็นว่าผมในฐานะผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะประกาศใช้พ.ร.บ.เทศบาลแล้ว ผมเร่งให้คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน หรือผมรู้เรื่องนั้นแล้วปิดบังสมาชิกคนอื่นฯ ของคณะราษฎร เพราะถ้าคณะรู้เข้าก็จะแซ่ซ้องสาธุการใน พ.ร.บ. เทศบาลนั้นถึงกับไม่กระทำการเปลี่ยนปกครอง

(๒) ผมพิสูจน์ต่อศาลได้ว่า นักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของอาจารย์และคณบดีนั้น และสามัญชนผู้อ่านหนังสือนั้นที่มิได้ค้นคว้าให้ถี่ถ้วนก็ต้องหลงเชื่อตาม “คำถามนำ” นั้นทำความเสียหายแก่เกียรติคุณและชื่อเสียงว่าเป็นคนชิงความดีของพระมหากษัตริย์และเป็นคนไม่ซื่อต่อคณะฯ

ผมอาจขอให้ศาลพิจารณาความผิดของอาจารย์สนธิ เดชานันท์ กับผู้ร่วมกระทำผิดนั้นอย่างน้อยที่สุดในทางแพ่งว่าด้วย “ละเมิด” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๓ ซึ่งมีความว่า

“ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเดินของเขาโดยประการอื่นก็ดีท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแก่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้”

(๓) ผมพิสูจน์ต่อศาลได้ว่า ในฐานะอาจารย์สังคมศาสตร์นั้น อาจารย์สนธิฯ ควรทราบดังต่อไปนี้

 

 

(ก) ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้นมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน หากเป็นเพียงกฎหมายปกครองท้องถิ่น (Administrative Law on local government) ที่ให้สิทธิเฉพาะ “ผู้มีเงิน” โดยไม่เลือกว่าเป็นคนไทยหรือต่างด้าวก็มีสิทธิในการปกครองเทศบาล

(ข) ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้นถ้าตราขึ้นแล้วจะทำให้เสียหายแก่พระมหากษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยได้ทรงมีความเห็นคัดค้านไว้ตามหนังสือที่ ก.๔๕๖/๑๘,๙๒๑ - ถึงราชเลขาธิการขอให้นำความกราบบังคมทูลมีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศที่จะคัดค้านหลักการบางแห่งในร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้คือเทศบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัตินั้น มีสภามนตรีซึ่งบุคคลที่พำนักอยู่ในเขตนั้นๆ เลือกตั้งเป็นผู้ควบคุม และไม่มีบทบังคับจำกัดสิทธิในการเลือกหรือเป็นเทศมนตรีให้แก่เฉพาะคนพื้นเมือง ไม่ว่าบุคคลใดสักแต่ว่าได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในกรุงสยามไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี และมีทรัพย์อันมีค่าที่จะเก็บจังกอบของเทศบาลได้ ฯลฯ ตามความในมาตรา ๑๙ และ ๒๐ แล้วเป็นผู้เลือกและเป็นเทศมนตรีได้ทั้งนั้น หลักการนี้ประเทศที่เป็นเอกราชย่อมไม่ใช้กันเลยทั้งเป็นภัยแก่กรุงสยามโดยเฉพาะ ด้วยสิทธิทางการเมืองนั้นรัฐบาลย่อมไม่ให้แกใคร นอกจากคนพื้นเมือง ในกรุงสยามตามจังหวัดและเมืองมีบุคคลที่เป็นจีนอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนี้คงจะมีจีนหลายคนที่จะเป็นผู้เลือกและเป็นเทศมนตรีได้ ตามเกณฑ์ที่มีทรัพย์ และมีภูมิลำเนาในกรุงสยามไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี ตามบทบังคับในมาตรา ๑๙ และ ๒๐ แห่งร่างพระราชบัญญัติ ผลที่จะได้รับก็คือ อนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งมีความสวามิภักดิ์ต่อประเทศอื่นมามีอำนาจใหญ่ในกิจการของเทศบาลกรุงสยาม บางแห่งอาจมีอำนาจควบคุมกิจการเทศบาลอย่างสมบูรณ์ เช่นกับที่มณฑลภูเก็ตเป็นต้น ซึ่งมีคนต่างด้าวดั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นจำนวนมาก ในปรัตยุบันนี้ จีนมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงสยามเป็นจำนวนมาก ทั้งอำนาจทางเศรษฐ กิจก็อยู่ในมือเขาเกือบทั้งหมดแล้ว ฉะนั้น ถ้าฝ่ายเราจะออกพระราชบัญญัติตามหลักการที่กล่าว ข้างบนนี้ก็เท่ากับเราให้อำนาจในการเมืองแก่จีนด้วย

เท่าที่กระทรวงการต่างประเทศทราบ ดูเหมือนมีน้อยรายที่อนุญาตให้คนต่างด้าวและคนพื้นเมืองมีสิทธิในการเลือก จะมีอยู่ก็แต่เทศบาลของเมืองขึ้น เช่นกับ ฮ่องกง, พม่า, สิงค์โปร์, เซี่ยงไฮ้ และมนิลา เป็นต้น แต่ลักษณะการของเมืองเหล่านี้ผิดกับที่เป็นอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก”

(ค) อาจารย์สนธิฯ ทราบดีว่าร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนั้นได้มีข่าวแพร่หลายไปทั่วพระนครแล้ว ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองฉบับ ๒๖ พ.ค. ๒๔๗๔ ได้ลงพิมพ์ไว้ซึ่งแสดงคัดค้านดังต่อไปนี้

“ถ้าใช้เทศบาลไม่รัฐบาลก็พลเมืองจะแย่
จึงลือกันหนาหูว่าเทศบาลออกไม่ได้แน่
เกี่ยวด้วยเศรษฐกิจตกต่ําและกําลังพลเมืองที่จะเสียภาษี

ตามข่าวที่เราได้นํามาลงแล้วถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งผู้แทนของเราได้เรียนถามพระยาราชนุกูลฯ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย และได้คําจากเลขานุการของพระยาราชนุกูลว่าร่างพระราชบัญญัติเทศบาล กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัยต่อไปนานแล้ว และซึ่งพอเรานําลงพิมพ์ รุ่งขึ้นก็ได้รับจดหมายว่าความนั้นคลาดเคลื่อน คือ เลขานุการพระราชนุกูลมิได้บอกยืดยาวเช่นนั้น บอกเพียงว่าได้ส่งพ้นกระทรวงมหาดไทยไปแล้วนั้น

เรามีความยินดีที่จะยืนยันข่าวเรื่องนี้ของเราอีกครั้งหนึ่งว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการ (ซึ่งเปลี่ยนฐานะนามเป็นกระทรวงมุรธาธรแล้ว) เป็นเวลานานนักหนาแล้ว และกรมราชเลขาธิการได้นําทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงราชวินิจฉัยแล้ว

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างไปยังกรมร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาเทียบเคียงหลัก กฎหมายชนิดนี้ซึ่งมีอยู่ ณ นานาประเทศชั้นหนึ่งก่อน

เราได้ทราบว่า กรมร่างกฎหมายได้ตรวจร่างเทศบาลเรียบร้อยและได้ส่งกลับคืนไปยังกระทรวงมุรธาธรประมาณสักเดือนหนึ่งได้แล้ว แต่ต่อจากนั้นจะไปอยู่ที่ใดข่าวยังเงียบอยู่

อย่างไรก็ดี มีข่าวลือหนาหูเต็มทีว่าอย่างไรเสียพระราชบัญญัติเทศบาลจะออกไม่ได้เป็นเด็ดขาด ในระหว่างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจนี้ เพราะรายได้จากผู้เสียภาษีแก่เทศบาล จะกระทบกระเทือนไปถึงรัฐบาลอย่างน่าวิตกทีเดียว”

ผมจึงไม่มีเหตุใดที่จะปิดบังเพื่อให้คณะราษฎรถึงพระราชดําริที่ให้มี พ.ร.บ. เทศบาลฉบับนี้ซึ่งมิใช่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

(ง) อาจารย์สนธิฯ และผู้ร่วมกระทําผิดควรรู้ว่า การใช้กําลังยึดอํานาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนระบอบปกครองนั้นมิใช่เรื่องทําได้ตามใจนึก (อัตวิสัย: Subjectivism) เช่น เมื่อผมกับคณะฯ นึกว่าจะเร่งทําการก็สามารถทําได้ดังใจนึก เอกสารหลักฐานของพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิฯ, และของผมที่พิมพ์เปิดเผยแล้วนั้น ก็แสดงว่าคณะราษฎรได้เตรียมการมาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้วก่อนลงมือทําการนั้น

(จ) อาจารย์สนธิฯ ควรรู้ ข้อความในบันทึกเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการเป็นผู้จดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งได้มีผู้นํามาลงพิมพ์เปิดเผยแล้วมีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับพระราชดําริ ที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

 

“บันทึกลับ

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ พระยาศรีวิสารฯ, พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯ, กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเฝ้าที่วังสุโขทัย มีพระราชดํารัสว่าอยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติทรงนึกว่า ถูกเลือกทําไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทําอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

๑. คงต้องการให้ลบล้างกิจการที่รัชกาลที่ 6 ทําไว้ จึงได้ทรงพยายามใช้หนี้และแก้ไขให้ฐานะการเงินเฟื่องฟูขึ้น ครั้นเสด็จไปอเมริกากลับมา การเงินเพลียลง ทรงรู้สึกว่าไม่ใช่โทษผิดของพระองค์เป็นเพราะเหตุการณ์ภายนอก แต่ก็ทรงรู้สึกว่าได้แก้ไขช้าไปบ้างและอ่อนไปบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะรู้สึกว่าจะดันทุรังก็ไม่ใคร่ได้ ด้วยมีผู้ใหญ่ที่ชํานาญการห้อมล้อมอยู่

๒. อีกอย่างหนึ่ง ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยา (F.B.Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี ในส่วนพระราชดําริในชั้นต้นอยากจะทําเป็น ๒ ทางทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสนองราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐ์ฯ ทราบอยู่แล้ว แต่การก็ช้าไป ในส่วนข้างบนได้ทรงตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้นหวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ฯ กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยผู้หนึ่งก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารและนายสตีเวนส์ขัดข้องเสียดังนี้ก็เลยเหลวอีก ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปีแล้ว เพราะจะเป็นที่ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่าเป็นเวลาโภคกิจตกต่ํา ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหินก็ได้ทรงพระราชดําริ ที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา Interpellate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยน เสนาบดีได้และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าตละอย่างๆ จะเป็นได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวัง ว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ทําการมานานตั้ง ๒๐ ปีก่อนพระองค์

แปลนที่ ๒ คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร (preside) เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์ จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจํานวนกรรมการขององคมนตรี ทําหน้าที่อย่างรัฐสภาได้ ทรงเตรียมไว้ ๒ แปลนใหญ่นี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทํา (memo) บันทึกเสนอ เสนาบดีสภา ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ก็ปรากฏช้าไปอีก ที่คณะราษฎรทําไปไม่ทรงโกรธกริ้วและ เห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่าคงจะเป็นเรื่องการปกครองของ คณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความ จริงเลย...” (จากหนังสือ “เรื่องของคนห้าแผ่นดิน” โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล)

ขอให้สหภาพฯ โปรดพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงรับสั่งว่า



“ที่คณะราษฎรทําไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน”

แต่อาจารย์สนธิฯ กับผู้ร่วมกระทําผิดได้เขียน “คําถามนํา” เพื่อจูงใจให้นิสิตนักศึกษาและผู้อ่าน หลงเข้าใจผิดว่า ผมกับคณะราษฎรรู้เรื่องที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญ) นั้น จึงรีบชิงยึดอํานาจทําการสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญเสียก่อน[7]

 

สรุป

ดุสิตธานี การเทศบาล และเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ชนชั้นนำศึกษาประชาธิปไตยหรือราษฎรได้มีการดูแลท้องถิ่นของตนเองแต่ยังไม่ใช่ลักษณะของการปกครองท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475  ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในยุคนี้เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจ ชนชั้นนำ มีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจ แม้จะมีแนวทางของการร่างพระราชบัญญัติฯ เทศบาล หรือการจัดตั้งเมืองสมมติแต่ก็ยังไม่พัฒนาไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริงซ้ำการผลักดันเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นยังไม่ได้มาจากประชาชน

ขณะที่ข้อชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2473 แสดงให้เห็นการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์กระแสหลักในทศวรรษ 2520 ที่ชี้ให้เห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาลฯ ฉบับนี้คือธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเพื่อสนับสนุนว่าการอภิวัฒน์สยามคือการชิงสุกก่อนห่าม และวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามยังคงเป็นข้อโจมตีของฝ่ายอนุรักษนิยมต่อคณะราษฎรจนถึง พ.ศ. 2567

 

ภาพประกอบ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

บรรณานุกรม :

เอกสารชั้นต้น

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 เบ็ดเตล็ด ร.7 บ.1.4/17 เรื่อง เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2469. (21 พ.ค. 2469-25 มิ.ย. 2470).
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพถ่าย ภ 003 หวญ. 18,19 เรื่อง รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2469.

หนังสือ บทความ และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

  • กระทรวงมหาดไทย. ประมวลพระราชหัตเลขา รัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย. (เล่ม 1) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2513.
  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา, 2532.
  • เตช บุนนาค. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458 : กระทรวงมหาดไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย, 2556.
  • ตระกูล มีชัย. (2020). การปกครองท้องถิ่นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (พ.ศ. 2435-2475). วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 2(1). https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244800
  • ธเนศวร์ เจริญเมือง. 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540. กรุงเทพฯ:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540.
  • นรนิติ เศรษฐบุตร, ดุสิตธานี:การทดลองจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2461, wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ดุสิตธานี%3Aการทดลองจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น_เมื่อ_พ.ศ._2461
  • ประสิทธิ์ โกมลมาย์. “โครงการจัดตั้งเทศบาลและสุขาภิบาล”, เทศาภิบาล 50 : 24 สิงหาคม 2498.
  • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์, วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535.
  • พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล,  wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (23 กรกฎาคม 2564). เทศบาลกับแนวความคิดเมืองของราษฎร หลังปฏิวัติสยาม 2475. https://pridi.or.th/th/content/2021/07/771
  • สถาบันดำรงราชานุภาพ. เอกสารประวัติศาสตร์ : การบริหารการปกครองกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ พิมพ์ดี, 2540.
  • เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., (22 กรกฎาคม 2563). “สมุดปกเหลืองคนตกอกตกใจกันมาก เพราะมันเป็นของแปลกใหม่ของสังคมขณะนั้น ถ้าเป็นทุกวันนี้ก็คงไม่มีอะไร”. https://pridi.or.th/th/content/2020/07/350

[1] ตระกูล มีชัย. (2020). การปกครองท้องถิ่นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (พ.ศ. 2435-2475). วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 2(1). https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244800, ธเนศวร์ เจริญเมือง. 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พ.ศ. 2540., ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (23 กรกฎาคม 2564). เทศบาลกับแนวความคิดเมืองของราษฎร หลังปฏิวัติสยาม 2475. https://pridi.or.th/th/content/2021/07/771

[2] เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., (22 กรกฎาคม 2563). “สมุดปกเหลืองคนตกอกตกใจกันมาก เพราะมันเป็นของแปลกใหม่ของสังคมขณะนั้น ถ้าเป็นทุกวันนี้ก็คงไม่มีอะไร”. https://pridi.or.th/th/content/2020/07/350

[3] โปรดอ่านเพิ่มเติมใน เตช บุนนาค. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458 : กระทรวงมหาดไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย, 2556., ธเนศวร์ เจริญเมือง. 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540. กรุงเทพฯ:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540. และ

[4] พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล,  wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล

[5] โปรดอ่านเพิ่มเติมใน สถาบันดำรงราชานุภาพ. เอกสารประวัติศาสตร์ : การบริหารการปกครองกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ พิมพ์ดี, 2540. และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (23 กรกฎาคม 2564). เทศบาลกับแนวความคิดเมืองของราษฎร หลังปฏิวัติสยาม 2475. https://pridi.or.th/th/content/2021/07/771

[6] คงอักขระ การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ

[7] วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์, วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535. 78-82.