ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

41 ปี อสัญกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ปฏิกิริยาของสังคมต่อการอสัญกรรม

2
พฤษภาคม
2567

อสัญกรรมรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 2 พฤษภาคม 2526
https://www.youtube.com/watch?v=Al3GC5kHV7k

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับนายปรีดี ในวาระสุดท้ายของชีวิต

 

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เวลา 11.45 น. ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการหัวใจวาย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุราว 83 ปี ซึ่งใกล้จะครบวาระชาตกาลของท่านในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์[1] กล่าวถึงมรณกรรมของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี ไว้ว่า

 

…ก็นั่งเขียนหนังสือนั่นแหละ เขียนเสร็จแล้วจะให้ลูกคนหนึ่งตรวจทานก็ให้ฉันออกไปตาม แต่ลูกไม่อยู่ ออกไปทำงานก่อน ฉันก็กลับเข้ามาเห็นนายปรีดีถอดแว่น พูดอะไรสองสามคำ ฉันก็จำไม่ได้ แล้วเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้คอพับแล้วนิ่งไป

ฉันก็รีบไปหยิบยาฉุกเฉินที่หมอเขาให้ไว้ แล้วก็รีบโทรศัพท์ ลูกอีกคนก็เช่าบ้านอยู่ข้างๆ…เผอิญมีหลานเรียนแพทย์จุฬาฯ ปี 4 มาพักอยู่ที่บ้าน ก็ให้เขามาช่วยผายปอด แล้วก็โทรศัพท์เรียกแพทย์ฉุกเฉิน หมอสั่งไว้ให้เรียกรถแอมบูแลนซ์ก่อน เพราะว่าแอมบูแลนซ์ของเขามีเครื่องเคราครบ เขาก็มาปั๊มหัวใจ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว นายปรีดีไม่ได้ทรมานเลย สิ้นใจอย่างสงบ หมอประจำตัวมาทีหลังบอกว่าตายอย่างงดงาม

 

และได้เล่าถึงภายหลังการอสัญกรรมที่น้อยคนนักจะทราบ

 

“(นายปรีดี)นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ใส่หีบตั้งห้าวัน มีคนไทยจากที่ต่างๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปมาเยี่ยมเคารพ ท่านเสียวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ถึงได้ลงหีบ นอนอยู่บนเตียงนอนเฉยๆ นี่ เหมือนคนนอนหลับ เล็บ แก้ม ไม่ได้ซีดเลย ผม หนวด เล็บ ยังงอกยาวออกมาเหมือนยังมีชีวิตอยู่  เจ้าหน้าที่บอกไม่ให้เราถูกตัว แล้วมียาอะไรไม่รู้วางไว้ทำสะอาด พอดีเดือนพฤษภาคมอากาศเย็น ความจริงถ้าเป็นโรคอื่นไม่ได้นะ เมืองฝรั่งไม่ให้ตั้งศพอยู่ที่บ้าน

ขณะที่ดุษฎี พนมยงค์[2] บุตรีของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี บันทึกความทรงจำของผู้ใกล้ชิด ณ บ้านอองโตนี ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 อย่างละเอียดไว้ว่า

วันที่ 2 พฤษภาคม 2526  ดิฉันกลับจากต่างจังหวัด ได้แวะส่งพี่ลิตา (ลลิตา พนมยงค์) ที่บ้านซอยสวนพลู พอกลับถึงบ้านนั่งพักยังไม่ทันหายเหนื่อย จู่ๆ บ้านก็สั่น พัดลมเพดานแกว่ง ประตูหน้าต่างสั่น ก็รู้ทันทีว่าแผ่นดินไหว เหลือบดูนาฬิกาเป็นเวลาใกล้บ่ายห้าโมง แผ่นดินไหวไม่กี่วินาทีก็หยุด มีพายุหมุนตามมาอีก ใบไม้ที่ร่วงอยู่ในสนามปลิวว่อน ดิฉันหยิบไม้กวาดมากวาดขี้ฝุ่นที่เข้ามาในบ้าน

เสี้ยววินาทีจากนั้น โทรศัพท์ดังขึ้น เป็นเสียงของน้องวาณี แจ้งข่าวร้ายว่า “คุณพ่อสิ้นใจอย่างสงบที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส”

น้อย (วิชินี จตุรพฤกษ์) เล่าเหตุการณ์ทางปารีสให้ฟังว่า เช้าวันนั้นที่บ้านอองโตนี ซึ่งอยู่ชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงปารีส ท้องฟ้าโปร่ง อากาศแจ่มใส ไม่ร้อน ไม่หนาว เป็นฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่น คุณแม่ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) และ ครูฉลบ (ฉลบชลัยย์ พลางกูร) นั่งรถเมล์ไปตลาดนัด กลับมาถึงบ้านเวลาประมาณสิบเอ็ดโมง

ส่วนพี่สาว (สุดา พนมยงค์) ไม่อยู่ ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฯ เธอเล่าว่า เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยฯ เจอญาติผู้น้องยืนรออยู่แล้ว และรีบบอกเธอเมื่อเจอหน้ากันว่า “คุณลุงไม่สบายมาก ให้รีบกลับบ้าน” พี่สาวรีบนั่งแท็กซี่เดินทางไปที่คลินิกที่คุณพ่อใช้บริการอยู่ประจำ ถามใคร ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง จึงรีบเดินทางกลับบ้าน พอมาถึงหน้าบ้าน มีสิ่งผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้น มีรถดับเพลิง รถพยาบาล ฯลฯ จอดอยู่หลายคัน มีคนยืนอยู่หน้าบ้านหลายคน ประตูรั้วบ้านเปิดกว้าง ประตูทุกบานในตัวอาคารก็เปิดหมด จึงเข้าใจว่าต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่แล้ว

ย้อนกลับมาเล่าถึงเรื่องคุณแม่นะคะ พอคุณแม่กลับมาถึงบ้าน ได้เข้าไปคุยกับคุณพ่อในห้องสมุด 2-3 ประโยค ไม่ทราบว่าคุยอะไรกัน อาจจะเป็นเรื่องการเขียนจดหมายถึงธนาคาร ซึ่งคุณพ่อเพิ่งเขียนเสร็จตอนนั้นพอดี

เช้าวันนั้น แอ๊ะ หลานชายที่รับใช้ใกล้ชิดคุณพ่อ (ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์) เดินทางไปธุระนอกบ้าน, ส่วนวาณีอยู่แฟลตข้างๆ บ้าน, ศุขปรีดา ทำงานอยู่ที่ฮ่องกง, ดุษฎี และ ลลิตาอยู่ที่กรุงเทพฯ

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า กำลังยืนคุยกับคุณพ่อใกล้ๆ โต๊ะทำงาน คุณพ่อวางปากกาจากจดหมายที่เขียนถึงธนาคารเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วพูดอะไรกับคุณแม่สองสามคำ ซึ่งคุณแม่จำไม่ได้ จากนั้นก็นั่งก้มหน้าแน่นิ่งไป

“เธอคะ เธอเป็นอะไร” คุณแม่พูดเสียงดังจนได้ยินมาถึงชั้นล่างของบ้าน น้อยรีบวิ่งขึ้นไปดู เห็นคุณพ่ออยู่ในสภาพนั่งเก้าอี้ทำงาน ก้มหน้าอยู่กับโต๊ะ น้อยจึงรีบวิ่งไปตามวาณีที่แฟลตข้างบ้าน พอวาณีมาถึง ก็ช่วยกันกับน้อยรีบโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงของเมืองฯ (หน่วยดับเพลงของที่นี่มีหน้าที่กู้ชีพด้วย)

ส่วนกอล์ฟ หลานชาย (อนวัช ศกุนตาภัย) ซึ่งกำลังเรียนหมอปี 4 ที่จุฬาฯ เพิ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวพักผ่อนที่บ้านอองโตนี ช่วยกันกับวาณี พยุงร่างคุณพ่อให้เข้าไปนอนที่เตียงในห้องนอน และพยายามช่วยกันทำ CPR ปั๊มหัวใจ

หน่วยดับเพลิงกู้ชีพมาถึงพอดี พวกเขาพยายามใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณหน้าอกคุณพ่อ แต่ก็ไม่ได้ผล ระหว่างนั้น พี่สาว (สุดา พนมยงค์) กลับมาถึงบ้าน และได้พยายามติดต่อทั้งแพทย์ และรถฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุ แต่ทุกอย่างก็สายเสียแล้ว

 

ในวาระพฤษภาชาตกาล และ 41 ปี อสัญกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์จึงขอเสนอโทรเลข จดหมายของบุคคลสำคัญ อาทิ พระบรมวงศานุวงศ์ คณะราษฎร เสรีไทย ลูกศิษย์ นักคิด นักเขียนและปฏิกิริยาของสังคมต่อการอสัญกรรมไว้เพื่อให้บุคคลรุ่นถัดไปได้ทราบถึงคุณูปการของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสอย่างรอบด้าน

 

ชีวประวัติย่อของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526)[3]

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2443 ที่อําเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายเสียง มารดาชื่อนางลูกจันทน์ ซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน เมื่อพุทธศักราช 2457 สําเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมตัวอย่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสอบไล่เนติบัณฑิตไทยชั้นที่ 1 ของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อพุทธศักราช 2462 ในปีต่อมาได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส สอบไล่ได้ดุษฎีบัณ ทางกฎหมายของรัฐจากมหาวิทยาลัยปารีสเมื่อพุทธศักราช 2469 เมื่อเดินทางกลับ เข้ามารับราชการในกระทรวงยุติธรรมได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอํามาตย์เอก หลวง ประดิษฐ์มนูธรรม ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร เมื่อ พุทธศักราช 2471 มีบุตรและธิดาด้วยกัน 6 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 4 คน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ในปีต่อมาได้ดําเนินการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยได้กระทําพิธีสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 และดํารงตําแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยอยู่จนกระทั่งพุทธศักราช 2495 พร้อมกันนั้น

ในทางด้านการปกครอง ได้เข้าดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปีพุทธศักราช  2476 และดําเนินการสถาปนาระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นในรูปของเทศบาลออกไปอย่างกว้างขวางเกือบทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2478 ได้เข้ารับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศมหาอําานาจต่าง ๆ ในปี พุทธศักราช 2481 เข้าดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดําเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการจากประชาชนอีกด้วย

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศสยามในปีพุทธ ศักราช 2484 และรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐ อเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ได้รับการ แต่งตั้งให้ขึ้นดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างนั้นได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น (ซึ่งต่อมาเรียกว่า ขบวนการเสรีไทย) ขึ้นภายในติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายนอกประเทศกับรัฐบาลประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งทําให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศแพ้สงคราม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสกับทั้งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรานพรัตน์ราชวราภรณ์

ในปีพุทธศักราช 2489 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ดําเนินการจัดร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2489 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มี เจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย แต่จากความผันผวนของการเมืองไทยและการรัฐประหาร 2490 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์จําต้องออกจากประเทศสยามไปพํานักอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจนกระทั่งพุทธศักราช 2513 จึงเดินทางไปพํานักที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2526 รวมสิริอายุ 83 ปี

 

โทรเลขและจดหมายของบุคคลสำคัญและบทกวีในวาระการอสัญกรรมของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์

พระบรมวงศานุวงศ์

โทรเลขของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร

POONSUK BANOMYONG
173 AVENUE ARISTIDE BRIAND
92160 ANTONYFRANCE

WITH DEEP REGRET WE LEARNED OF THE DEATH OF YOUR DISTINGUISHED HUSBAND. PLEASE ACCEPT OUR SINCEREST CONDOLENCES.

SINCERELY H.R.H. PRINCE CHALERMBOL AND FAMILY

 

จดหมายของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

AMBASSADE ROYALE DE THAÏLANDE
8. RUE GREUZE
75116 PARIS

๔ พฤษภาคม ๒๕๒๖

กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เคารพอย่างสูง

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้มีโทรเลขผ่านกระผม เพื่อขอให้กระผมนำเรียนท่านผู้หญิง มีข้อความดังต่อไปนี้

“I am deeply grieved at the news of the sudden demise of Acharn, my condolence and love to you and your children, if I can do anything let me know and please kindly inform immediately in details concerning his funeral.”

จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
(นายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ)

 

จดหมายของหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล

30/1 ซอยมิ่งขวัญ
ถนนติวานนท์ นนทบุรี

4 พฤษภาคม 2526

เรียนท่านผู้หญิงทราบ

ดิฉันขอส่งจดหมายมาแทนตัวเพื่อเยี่ยมถามข่าวสลดใจและแสดงความเสียใจต่อท่านผู้หญิงและสมาชิกทุกคนในครอบครัวในการสูญเสียท่านรัฐบุรุษอาวุโสไปโดยกระทันหัน

ดิฉันไม่เชื่อหูตนเองเมื่อได้ยินข่าววิทยุตอนเช้าตรู่ ต้องโทรศัพท์ไปถามพวกเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ เขายืนยันมาว่าเป็นความจริงและได้เขียนข่าวไปแล้ว

ท่านผู้หญิงคงจะปลงตกนะคะ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นของหนีไม่พ้น ท่านผู้ชายมีกุศล จากไปโดยไม่ต้องเจ็บไข้ทนทุกข์ทรมานและท่านผู้หญิงก็กลับจากเมืองไทยไปทันช่วยท่านในตอนท้ายพอดี ขอให้ท่านผู้หญิงสิ้นเคราะห์เพียงแค่นี้ และอยู่ชมลูกหลานต่อไปอีกชั่วกาลนาน

เจ้าพี่หญิงพูนกับหญิงเป้าและคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ขอแสดงความเสียพระทัยและเสียใจมากับดิฉันด้วย

ด้วยความเคารพ
มารยาตรกัญญา ดิศกุล

 

คณะราษฎร

โทรเลขของพลเรือตรีธำรงนาวาสวัสดิ์

HER EXCELLENCY POONSOOK BANOMYONG
173 AVENUE ARISTIDE BRIAND
92160 ANTONY FRANCE

WE SUDDENLY HEARD THE VERY SAD NEWS OF THE DEPARTURE OF HIS EXCELLENCY PREDI WE WISH TO APPROACH HER EXCELLENCY'S WITH OUR GREATEST SORROWFUL AND SHOULD THERE BE ANY SERVICE WE CAN DO KINDLY ADVISE US

THAMRONG-NAWASAWAT

 

โทรเลขของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

FD DE PARIS44
URGENT
THANPHUYING PHUNSUK BANOMYONG
173 ARISTIDE BRIAND
ANTONY

DEAR THANPHUYING PHUNSUK

OUR WHOLE FAMILY SHARES A DEEP SENSE OF LOSS TODAY UPON HEARING ABOUT THE PASSING OF YOUR HUSBAND WE WISH TO EXPRESS OUR DEEPEST SYMPATHIES TO YOU AND YOUR FAMILY IF WE MAY BE OF ANY ASSISTANCE PLEASE DO NOT HESITATE TO LET US KNOW

THANPHUYING LA-UAD AND FAMILY

 

โทรเลขของครอบครัวบุณยเกตุ

THANPUYING PHOOKSUK
173 AVE UF ARISTIDE BRIAND
9216 ANTONY

WE WISH TO EXTEND OUR DEEPEST SYMPATHY TO YOU AND THE BEREAVED FAMILY

AMPASRI BUNYAKETU AND FAMILY

 

เสรีไทย

จดหมายของคุณทศ พันธุมเสน

10 au de...
C610T Nice
10 พฤษภาคม 2526

กราบเรียนคุณอาที่เคารพอย่างสูง

ผมได้ทราบข่าวมรณกรรมของคุณอาผู้ชายด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง เจียมมีจดหมายมาบอก แต่จดหมายเพิ่งมาถึง ไปรษณีย์ทาง Nice ช้ามาก บางครั้งจดหมายไปหรือมาปารีสกินเวลา 1 สัปดาห์ และ apartment ที่ผมอยู่กับลูกสาวก็ไม่มีโทรศัพท์ ก็ได้แต่แสดงความเสียใจมาทางจดหมาย คุณอาต้องศูนย์เสียทั้งบุตรชายและคู่ชีวิต ผู้จากไปแล้วก็พ้นทุกข์ แต่ผู้ที่ยังอยู่ต่อไปก็ระทมทุกข์

ลูกสาวผมกำลังเรียนปี 1 วิชา psychologic ผมต้องช่วยแกในวิชาภาษาอังกฤษ ก็คงต้องอยู่กับแกต่อไปจนสิ้นเดือนมิถุนายน

ผมขอกราบมาด้วยความเคารพและด้วยความเสียใจกับการศูนย์เสียของคุณอาอย่างสุดซึ้ง

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
ทศ พันธุมเสน

 

จดหมายของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์

41 Lavenham Rd
London SW18 5EZ

๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖

คุณพูนศุข

ผมได้รับข่าวท่านอาจารย์ปรีดีถึงแก่อสัญกรรมด้วยความตกใจและเศร้าโศกอย่างยิ่ง

ผมกับมาร์เกรต และลูกๆ ขอแสดงความเสียใจมาแด่คุณพูนศุข และหลานๆ ขอส่งใจมาร่วมในความทุกข์และความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงนี้

ด้วยความรัก
ป๋วย

 

โทรเลขของแดง คุณะดิลก และท่านผู้หญิงเลขา อภัยวงศ์

TANPHUYING BANCMYONG
173 AVENUE ARISTIDE BRIANO ANTONY
92165 FRANCE

DEEPLY SORRY PROFOUND CONDOLENCES

DAENG KUNADILOK KHUNYING LEKHA APAIVONGS

 

ลูกศิษย์ นักกฎหมาย และบุคคลที่เคยทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

โทรเลขของพิชัย รัตตกุล

MADAME PRIDI PANOMYONG
173 AVENUE ARISTIDE BRIAND
9216 ANTHONY FRANCE

THE NEWS OF THE PASSING AWAY OF HE PRIDI PANOMYONG CAME TO ME AS A GREAT SHOCK MY FAMILY JOINS ME IN EXPRESSING TO YOU OUR DEEPEST SORROW MAY THE LOVE OF YOUR FRIENDS AROUND THE WORD HELP YOU AND YOUR DEAR FAMILY BEAR THIS GREAT LOSS BRAVELY

BHICHAI RATTAKUL

 

โทรเลขของครอบครัวสุทธิพิทักษ์

MADAME BANGMYONG
173 AVENUE ARISTIDE-BRIAND
92160 ANTONY FRANCE

WE DEEPLY SAD AND MOURN THE PASSAWAY OF OUR BELOVED THAILANDS ELDER STATEMAN ARCHARN PRIDI BANDMYONG

SAVSI SUDHIPITAK AND FAMILY

 

โทรเลขของมารุต บุนนาค และครอบครัว

URGENT
MADAM PANOMYONG
174 AVENUE ARISTIDE BRIAND
9216 ANTONY PARIS FRANCE

REGRET DEEPLY

MARUT BUNNAG AND FAMILY

 

โทรเลขของชวลิต ธนะชานันท์

THANPUYING PHUNSUK BANOMYONG
173 REVENUE ARISTIDE-BRIAND 9216 ANTONY PARIS

IT WAS WITH DEEP REGRET THAT I LEARNT OF THE PASSING AVAY OF HE PRIDI BANOMYONG STOP STILL RECALL VIVDLY THE LONG MEETING WHICH I HAD WITH HIM IN MAY 1981 THAT WAS INDEED A GREAT PRIVILEGE FOR ME

PAGE 2

AND ONE WHICH I SHALL ALWAYS REMEMBER
AND CHERISH STOP ON THIS OCCASION
MY FAMILY AND I WOULD LIKE TO OFFER YOU OUR HEARTFELT
SYMPATHY AND DONDOLENCES

CHAVALIT THANACHANAN
BANK OF THAILAND

 

จดหมายของนายสรรเสริญ ไกรจิตติ

๑๘๗ ซอย ๓๑ ถนนสุขุมวิท
กรุงเทพมหานคร

๔ พฤษภาคม ๒๕๒๖

กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข ที่รักและเคารพยิ่ง

กระผมและพัชรีรวมทั้งแหม่มได้ทราบข่าวมรณกรรมของท่านอาจารย์ปรีดี ด้วยความเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ตั้งใจไว้ว่าวันที่ ๒๐ เดือนนี้กระผมจะไปราชการที่กรุงปารีส และจะถือโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านทั้งสองอีก ดังที่ได้ถือปฏิบัติมาเป็นประจำทุกครั้งที่กระผมได้มีโอกาสมาปารีส แต่ยังมิทันจะได้มีโอกาสดังกล่าว ท่านอาจารย์ก็ได้จากพวกเราไปสู่สัมปรายภพเสียแล้ว

กระผมและครอบครัวขอกราบแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมา ณ โอกาสนี้.

ด้วยความรักและเคารพอย่างยิ่ง
(นายสรรเสริญ ไกรจิตติ)
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

 

จดหมายของนายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ

AMBASSADE ROYALE DE THAÏLANDE
8.RUE GREUZE
75116 PARIS

3 พฤษภาคม 2526

กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เคารพอย่างสูง

ฯพณฯ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีโทรเลขผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้กระผม นำเรียนท่านผู้หญิง มีข้อความดังต่อไปนี้

“ฯพณฯ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อท่านผู้หญิงและญาติใกล้ชิดทุกท่านด้วย”

จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
(นายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ)

 

จดหมายท่านรองนายกรัฐมนตรี ถนัด คอมันตร์

AMBASSADE ROYALE DE THAÏLANDE
8.RUE GREUZE
75116 PARIS

๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖

กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เคารพอย่างสูง

ท่านรองนายกรัฐมนตรี ถนัด คอมันตร์ ได้มีโทรเลขผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้กระผม นำเรียนท่านผู้หญิง มีข้อความดังต่อไปนี้

“Kindly convey my heartfelt condolences to Thanpuying Phunsuk Banomyong on the grievous loss of her husband and highly respected son of Thailand.”

จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
(นายโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ)

 

จดหมายของพระบำราศนราดูร

๔๓ ซอยพิพัฒน์ ๑ ถนนสีลม
กรุงเทพมหานคร

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

กราบเรียนใต้เท้าที่เคารพ

กระผมและลูกๆ มีความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้งในอสัญกรรมของ ฯพณฯ รัฐบรุษอาวุโส กระผมเองไม่เคยได้พบกับ ฯพณฯ มาช้านานแล้ว แต่จิตใจก็คงระลึกถึงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในการจากไปของ ฯพณฯ จึงเป็นที่เสียใจอย่างยิ่ง ขอให้บุญกุศลของ ฯพณฯ ที่ได้บำเพ็ญไว้จงเป็นพลังปัจจัยส่งเสริมให้ ฯพณฯ ได้รับความสุขในสัมปรายภพทุกประการ

กระผมและลูกๆ
ขอกราบมาด้วยความเคารพอย่างสูง
(พระบำราศนราดูร)

 

จดหมายของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์

18 พฤษภาคม 2526

เรียน ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์

นับตั้งแต่วันที่ผมได้ทราบข่าวการมรณกรรมของท่านปรีดี พนมยงค์ วันแรกก็ได้ไปฟังข่าวที่บ้านท่านที่สวนพลู แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่จึงต้องกลับ ต่อมาได้ทราบข่าวว่า ทางญาติ ได้ตัดสินใจเผาที่ประเทศฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว และได้นำอัฐิมาไว้ที่กรุงเทพเมื่อเร็วๆ นี้ ผมตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมแสดงความเสียใจด้วยตนเอง แต่สุขภาพไม่อำนวย จึงได้เขียนหนังสือ ฉบับนี้มาแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เสียรัฐบุรุษผู้อาวุโสของประเทศไทยไป และตามข่าวหนังสือพิมพ์ ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ประชุมกัน เรี่ยไรจะสร้างอนุสาวรีย์ท่านปรีดี พนมยงค์ ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่อนุชนรุ่นหลัง และเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

โอกาสนี้ ผมได้สอดเช็คมีมูลค่า 10,000 บาทมาเพื่อสมทบทุนในการสร้างอนุสาวรีย์ท่านปรีดี พนมยงค์ มาพร้อมจดหมายฉบับนี้ด้วย

ด้วยความเคารพนับถือ
หลวงประเจิดอักษรลักษณ์

 

สื่อมวลชน นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์

โทรเลขของ MICHAEL J. GORMAN

THANPUYING PHUNSUK BANOMYONG
173 AVENUE ARISTIDE BRIAND
9216 ANTONY

DEAR THANPUYING

PLEASE ACCEPT OUR DEEPEST SYMPATHY FOR THE LOSS OF A GREAT MAN MAY HE REST IN PEACE

MICHAEL J GORMAN
MANAGING DIRECTOR
BANGKOK POST

 

โทรเลขของสุวัฒน์ วรดิลก

MADAM POONSUK BANOMYONG
173. AVE. ARISTIDE, BRIAND.
9216 ANTONY. PARIS

WE LEARNT WITH SORROW THAT DR. PRIDI PANOMYONG HAS PASSED AWAY WITH OUR KINDEST REGARDS WE HEARTLY EXPRESS OUR CONSOLENCE TO YOU AND AND YOUR FAMILY.

SINCERELY.
THAI ARTIS GROUP 1957
SUWAT VORADILOKE, BANGKOK. THAILAND

 

โทรเลขของกรุณา กุศลาศัย

173 AVENUE ARISTIDE BRIAND
92160 ANTONY FRANCE

SHOCKED AND GRIEVED TO LEARN OF ACHARNS DEMISE IN HIM THAILAND HAS LOST ONE OF HER NOBLEST S0NS MAY HIS SOUL REST IN PEACE

KARUNA KUSALASAYA

 

บทกวีจากนิสิต นักศึกษาพรรคแสงธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้าฯนามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

“เทียนเล่มขาว” หรี่แสงดับพ่อลับแล้ว
สะอื้นแผ่วสลดสิ้นทั่วถิ่นฐาน
จักสืบทอดปณิธานนานและนาน

ลูกโดมขานพ่อคือธรรมค้ำแดนโดม

 

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการอสัญกรรมของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์

พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ พูดถึงมรณกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า “ได้ทราบตั้งแต่เมื่อคืน ลูกสาวนายปรีดี เป็นผู้มาบอกให้ทราบ โดยส่วนตัวรู้จักกับครอบครัวนี้มานาน เพราะเป็นชาวอยุธยา คุ้นเคยกับภริยาตัวเองมาก่อน นายปรีดีจากประเทศไทยไปนาน แต่ก็ได้ยอมรับกันว่าเป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีผู้นับถือมากคนหนึ่ง ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนสิ้นชีวิต นายปรีดีได้ติดต่อขอกลับประเทศไทยบ้างหรือไม่ พล.อ.สิทธิ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นไม่ทราบ แต่สมัยที่ตัวเองเป็น รมว.มหาดไทย ยังไม่เคยได้รับการติดต่อ”

สิทธิ จิรโรจน์
ไทยรัฐ, 3 พฤษภาคม 2526

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีร้อง “อือ” คำเดียว แล้วรีบเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปยังห้องทำงาน เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงมรณกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ว่ารัฐบาลจะเตรียมพิธีเป็นทางการอย่างใดในเรื่องนี้หรือไม่

เปรม ติณสูลานนท์
สยามรัฐรายวัน, 3 พฤษภาคม 2526

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด-นักเขียน กล่าวว่า “รัฐบาลน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อการรำลึกถึงท่าน เป็นการแสดงความกตัญญูที่ท่านได้สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาถึง 3 สมัย เคยกอบกู้เอกราชชาติไทย ไม่มีท่านเราก็แพ้สงคราม ท่านเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
มาตุภูมิรายวัน,  4 พฤษภาคม 2526

 

สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไปเยี่ยมท่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ อยู่กับท่านถึง 18 วัน เพิ่งกลับมาเมื่อวันที่ 28 เมษายนนี้เอง ท่านเคยพูดว่า ขอให้ถือหลักการเมืองแบบเก่าคือ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ไม่มีชาติไหนจะรักเมืองไทยเท่ากับคนไทยเอง ท่านเห็นว่าความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ท่านยึดถือและนิยมสังคมนิยม โดยความหมาย “นิยม” คือ จำกัด  ไม่ได้หมายความว่า ชอบ ดังนั้นความหมายของท่านก็คือ สำคัญที่สังคมนั้นต้องเป็นสังคมที่อภิวัฒน์แท้ ๆ คือถ้าเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่อย่างอื่นมาบวก ผมเห็นชีวิตของท่านสองอย่างคือ 1. ถ้าไม่มีท่าน ประชาธิปไตยไม่มี 2. ถ้าไม่มีท่าน เราเสียเอกราชตอนสงคราม ส่วนกรณีสวรรคตนั้น เป็นการใส่ร้ายป้ายสี ใครที่บังอาจกล่าวเรื่องนี้ ต้องแพ้คดีในศาลหมด” 

สุภา ศิริมานนท์
มาตุภูมิรายวัน,  4 พฤษภาคม 2526

 

นายจรูญ สืบแสง อดีตผู้ร่วมก่อการฯ กล่าวว่า “เสียใจมาก แต่ก็ไม่เท่าความรุ้สึกที่มีอยู่ เสียดายท่านกำลังเขียนเรื่อง กำลังทำงานอยู่ด้วย เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับประวัติชีวิตการทำงาน จะได้รู้ว่าท่านทำอะไรไว้บ้าง คนโดยมากไม่รู้ ไม่เข้าใจ ที่รู้ก็พยายามปิดบัง ไม่พูดความจริงกัน ไม่เหมือนฝรั่ง ใครทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติ เขายกย่องคนที่ควรยกย่อง ไม่ทราบจะพูดอะไร เราต้องสูญเสียคนดีไป”

จรูญ สืบแสง
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

นายวิลาศ โอสถานนท์ อดีตประธานรัฐสภา “เสียใจที่เพื่อนรักและนับถือกันจากไปเสีย ท่านไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดเมืองนอนเลย ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส รัฐบาลน่าจะทำอะไรให้เป็นเกียรติแก่ท่าน ไม่ทราบว่าเขาจะเห็นความสำคัญของท่านอย่างไร แต่สำหรับท่านเองแล้วยังห่วงใยประเทศไทยมาตลอด”

วิลาศ โอสถานนท์
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กล่าวว่า “เคยเป็นศัตรูขับเคี่ยวกับนายปรีดี มานานแล้ว เวลานี้อายุมากขึ้นก็ลืมความหลังไปหมดแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ลูกชายผม (ม.ล.รองฤทธิ์) เมื่อเดินทางไปยังปารีสก็แวะไปเยี่ยมท่าน ท่านถามว่าลูกใคร พอรู้ว่าลูกผม ท่านก็ยังเอาตัวไปกอด แล้วถ่ายรูปไว้ดู พร้อมกับเดินมาส่งหน้าบ้าน ผมก็ถือว่าไม่มีอะไรแล้ว ผมลืมอดีตได้ ท่านเองก็อาวุโส อายุถึง 83 ปี ผมเคารพนับถือว่าท่านเป็นยิ่งกว่าพี่ใหญ่ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่าน แต่เรื่องกาลเวลาและธรรมชาติ ท่านจากไปโดยที่ไม่เดือดร้อนอะไร ผมก็ใส่บาตรกรวดน้ำให้ท่าน และในทางส่วนตัว ผมกับท่านก็ไม่เคยมีอะไรกันเลย เพราะผมไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับใครด้วยเรื่องส่วนตัว”

คึกฤทธิ์ ปราโมช
มาตุภูมิ, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กล่าวว่า “ผมสงสารที่คุณปรีดีเสียชีวิตโดยมิได้กลับประเทศไทย แม้ว่าเราจะเคยต่อสู้กันมาอย่างหนักหน่วงในอดีต แต่ตอนนี้ก็แก่แล้ว ไม่ถือสากัน ผมลืมเรื่องในอดีตไปหมดแล้ว เมื่อเช้าก็ทำบุญกรวดน้ำไปให้ท่าน ผมกับคุณปรีดีในทางส่วนตัวไม่เคยเป็นศัตรูกันเลย ท่านเป็นคนที่น่าเคารพ เป็นเสรีชน ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วย”

คึกฤทธิ์ ปราโมช
มติชนรายวัน, 4 พฤษภาคม 2526

 

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมรณกรรมของนายปรีดีว่า “รู้สึกเสียดาย เพราะเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์เอาไว้มาก และกล่าวถึงผลงานของนายปรีดีว่า เป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในบ้านเมืองเป็นคนแรก จริงอยู่ แม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชน แต่นายปรีดีได้ทำก่อน ก็ต้องยกย่อง นอกจากนั้นก็พยายามเร่งร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งการตั้งกงศุลด้วย และที่สำคัญในขบวนการเสรีไทย เขามีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีคนนี้มาช่วยเคลื่อนไหว งานนี้เห็นจะสำเร็จยาก ผมคงทำอะไรไม่ได้มากแน่”

เสนีย์ ปราโมช
มติชนรายวัน, 5 พฤษภาคม 2526

 

นายแคล้ว นรปติ เลขาธิการพรรคสังคมประชาธิปไตย “ตนได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในพิธีของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงชีวิตของนายปรีดี ได้ประกอบคุณงามความดีไว้อย่างมาก เช่น ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบต่างชาติ เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่า ไทยไม่ใช่ผู้แพ้สงคราม เหตุที่นายปรีดีถึงแก่กรรมต่างประเทศ เนื่องจากความเข้าใจผิดของบุคคลบางคนบางฝ่าย จึงเห็นว่ารัฐบาลสมควรจัดพิธีศพให้สมเกียรติเช่นเดียวกับวีรบุรุษ”

แคล้ว นรปติ
มาตุภูมิ, 5 พฤษภาคม 2526

 

นายมารุต บุนนาค รมว.ยุติธรรม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ได้ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจไปแล้วเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง นับเป็นการสูญเสียคนสำคัญคนหนึ่งของบ้านเมือง เมื่อนำกระดูกกลับมาแล้ว จะมีการจัดงานใหญ่ระหว่างญาติมิตรกับธรรมศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ด้วย นายมารุตเปิดเผยต่อไปว่า การจัดงานเมื่อวานนี้มีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภาเป็นประธานในพิธี และมีบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีก หลายคน เช่น ประภาศน์ อวยชัย นายบุญ เจริญชัย นายกนธีร์ ศุภมงคล ส่วนกรณีที่ว่ารัฐบาลควรมีส่วนในการจัดงานครั้งนี้หรือไม่นั้น นายมารุตกล่าวว่า “ต้องไปถามนายกฯเอาเอง”

มารุต บุนนาค
มาตุภูมิ, 5 พฤษภาคม 2526

 

ด้านนายชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ แสดงทัศนะต่อ “เศรษฐกิจการเมือง” ว่า “นายปรีดีเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึง”

ชัยอนันต์ สมุทวณิช
เศรษฐกิจการเมือง, 5 พฤษภาคม 2526

 

นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา กล่าวกับ “มาตุภูมิ” ว่า “ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นประธานรัฐสภา ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมจัดพิธีศพนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง จะต้องไปร่วมในการทำบุญตามประเพณีให้ได้ ไม่ว่าใครจะกล่าวอย่างไร ตนไม่ห่วงทั้งสิ้น เป็นเรื่องส่วนตัวที่ใครจะมาแตะต้องไม่ได้”

จารุบุตร เรืองสุวรรณ
มาตุภูมิรายวัน,  6 พฤษภาคม 2526

 

นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา “ผมคงให้ความเห็นในฐานะประธานรัฐสภาไม่ได้ แต่ความเห็นส่วนตัวแล้ว รู้สึกสะเทือนใจที่ท่านต้องล่วงลับไป ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผมมีโอกาสเข้าศึกษาในขั้นอุดมศึกษา ถ้าไม่มีท่าน อาจจะทำให้ชีวิตทั้งชีวิตของผมไม่มีโอกาสศึกษาในขั้นอุดมศึกษาเลยก็ได้ ผมจึงมีความเสียใจอย่างมาก”

จารุบุตร เรืองสุวรรณ
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 8 พฤษภาคม 2526

 

นายชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นท่านมาก่อน ระหว่างเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็ไม่เคยเห็น แต่ก็รักและศรัทธาท่าน ระหว่างที่เรียนอยู่ เป็นช่วงสมัยรัฐประหาร เขาพยายามจะตัดชื่อมหาวิทยาลัยออก โดยตัดตัวย่อตัวท้าย คือ ม.ธ.ก. เหลือแต่ ม.ธ. เพื่อให้ลืมอดีตให้หมด และให้นักศึกษารุ่นใหม่เปลี่ยนแนวความคิด ไม่ให้มีงานการที่จะระลึกถึงวันเก่า ๆ แต่ในส่วนนักศึกษาเห็นได้ชัดว่า เลื่อมใสศรัทธาและมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยนี้เกิดขึ้นโดยท่าน น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยอีกเลย ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และเป็นบุคคลที่มั่นคงเหนียวแน่น หาไม่ได้ง่าย ๆ”

ชวน หลีกภัย
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 8 พฤษภาคม 2526

 

นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีนักศึกษายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้สร้างอนุสาวรีย์นายปรีดีว่า “เป็นความคิดริเริ่มที่ดี ขอสนับสนุน ทั้งนี้เหตุผลก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า นายปรีดีเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ ปี 2475 ให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่มีประโยชน์ต่อราษฎรมากที่สุด”

อุทัย พิมพ์ใจชน
มติชนรายวัน, 10 พฤษภาคม 2526

 

นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การสูญเสียนายปรีดี เป็นการสูญเสียเพชรอันล้ำค่าของประเทศ ท่านคือผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนส่วนใหญ่ ตลอดชีวิตของท่านไม่เคยมีความสุข มีแต่อุทิศชีวิตเพื่อคนส่วนใหญ่ นักการเมืองทั้งหลายควรยึดถือท่านเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นผู้ริเริ่มธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นบันไดของระบอบประชาธิปไตยในทุกวันนี้ นอกจากนี้นายปรีดียังเป็นผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นธรรม ต่อสู้เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่อสู้เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย ท่านคือนักกฎหมายผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แต่ถูกความไม่เป็นธรรมโจมตี”

มารุต บุนนาค
มาตุภูมิรายวัน,  11 พฤษภาคม 2526

 

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา “นายปรีดี เป็นผู้นำเอาวิชาการที่ก้าวหน้ามาใช้กับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ มีส่วนในการศึกษาเรื่องเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความสำคัญของที่ดินทำกิน ซึ่งราษฎรทุกคนควรจะมี ความคิดของท่านล้ำหน้ากว่ายุคสมัย เมื่อมาถึงวันนี้ เราก็ตระหนักในสิ่งนี้

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
มาตุภูมิรายวัน,  11 พฤษภาคม 2526

 

พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ได้กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาว่า “มีแต่คนหูหนวกตาบอดเท่านั้นที่ไม่รู้ว่ารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ทำอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง อาตมภาพได้ไปเยี่ยมท่านที่บ้าน ณ ประเทศฝรั่งเศส 2-3 ครั้ง เคยถามท่านว่า เมื่อไรจะกลับเมืองไทย ท่านตอบว่าถ้าความบริสุทธิ์ของท่านไม่บริสุทธิ์ทั่วถึง ท่านก็จะไม่กลับ ถ้ารัฐบาลรับรองความบริสุทธิ์นั่นแหละถึงจะกลับมา” พระพิมลธรรมกล่าว และว่า “ท่านเป็นห่วงบริวารที่ร่วมงานกันมา แต่แล้วท่านก็มามรณกรรมเสียก่อน อย่างไรก็ตามเราไม่ควรโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ร้องห่มกัน เพราะไม่มีประโยชน์อันใดแก่ผู้ตาย ถ้าเรานึกถึงท่านต้องรู้จักท่านอย่างถูกต้อง ศึกษาทรรศนะท่านอย่างถูกต้อง รักษาความดีที่ท่านให้ไว้แก่เราอย่าให้สูญหาย” 

พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) อดีตผู้ก่อการฯ วัย 86 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดนายปรีดีคนหนึ่งกล่าวว่า “ความดีของท่านรัฐบุรุษมีผู้เห็นมามาก กล่าวได้ไม่ผิดว่าท่านมีส่วนอย่างมากในการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ท่านเป็นคนสำคัญในการก่อร่างเสรีไทยที่ช่วยให้ฐานะเราไม่ใช่ประเทศแพ้สงคราม ถ้าไม่มีเสรีไทย ไม่รู้ว่าทุกคนจะได้มานั่งหน้าชื่นตาบานอย่างนี้หรือไม่ ท่านเป็นผู้นำที่ไม่เคยคอรัปชั่นโกงกิน ท่านนึกถึงแต่เรื่องชาติบ้านเมืองและประชาชน ท่านไม่มีชีวิตต่างไปจากคนธรรมดาสามัญเลย

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) กล่าวถึงความหลังอีกว่า “คนที่ได้รู้จักท่านปรีดีอย่างแท้จริงแล้วจะยกย่องว่า เป็นพ่อ, เพื่อนที่ดี และไม่เคยมีผลประโยชน์เป็นกรรมการบริษัทการค้าแต่อย่างใด แม้แต่ค่าน้ำมันรถที่ปรีดีได้รับเพื่อสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในฐานะผู้ประศาสน์การ ยังบริจาคให้กับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์”

หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
มาตุภูมิรายวัน,  12 พฤษภาคม 2526

 

นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็เป็นลูกศิษย์ท่านหลายคน ควรจะริเริ่มทำอะไรเพื่อตอบแทนบุญคุณท่านบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ลูกศิษย์ลูกหาของนายปรีดี ต้องทำอย่างแน่นอน อนุสาวรีย์ควรสร้างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านเป็นผู้ประศาสน์การ”

เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
มติชนรายวัน, 12 พฤษภาคม 2526

 

พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยกล่าวว่า “รู้สึกเสียใจที่ท่านเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันโดยส่วนตัว ส่วนรัฐบาลควรจะมีบทบาทอย่างไรนั้น ตนไม่กล้าที่จะออกความเห็นอะไรลงไป สุดแท้แต่รัฐบาลจะดำเนินการตามความเหมาะสม” ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลายฝ่ายต้องการสร้างอนุสาวรีย์ให้นายปรีดี นายประมาณกล่าวว่า “ความจริงควรที่จะสนับสนุน ควรจะให้เกียรติในฐานะที่ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส” ผู้สื่อข่าวถามว่าใครจะผลักดันเรื่องนี้ เพราะท่านนายกฯ ไม่ค่อยสนใจ พลตรีประมาณกล่าวว่า ”เป็นเรื่องของท่าน ไม่รู้จะพูดอย่างไร”

ประมาณ อดิเรกสาร
มติชนรายวัน, 13 พฤษภาคม 2526

 

ที่รัฐสภา นายเสริมศักดิ์ การุญ สส.ระยอง พรรคชาติไทย ได้เสนอญัตติด่วนเข้าสภา ให้สภาไว้อาลัยแก่นายปรีดี โดยให้เหตุผลว่า “นายปรีดีเป็นผู้ทำหน้าที่และคุณประโยชน์ให้แก่ชาติและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐสภาไทยจะแสดงความเคารพ โดยร่วมกันยืนไว้อาลัยให้ท่านเป็นเวลา 1 นาที” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญัตติด่วนของนายเสริมศักดิ์ยังไม่เข้าเกณฑ์ ที่จะบรรจุในวาระด่วนได้ เพราะขาดคนรับรอง

เสริมศักดิ์ การุญ
มาตุภูมิรายวัน,  13 พฤษภาคม 2526

 

“เนื่องจากมีเหตุการณ์อันจำเป็นที่ท่านจะต้องออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตส่วนตัวในต่างแดนจนมรณกรรมดังกล่าว ประกอบกับทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศยอมรับว่าท่านเป็นรับบุรุษของโลกคนหนึ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐสภาไทยจะแสดงความเคารพ โดยร่วมกันยืนไว้อาลัย ให้ท่านเป็นเวลา 1 นาที ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองอย่างเหลือคณานับ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การสังคม และด้านอื่นๆ”

เสริมศักดิ์ การุญ
ดาวสยาม,  14 พฤษภาคม 2526

 

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำสำนักนายกรับมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกยินดีในเรื่องที่จะมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน แต่ขอให้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติในอดีต ซึ่งประเทศไทยมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์แก่ผู้นำทางการเมืองหลายคน ล้วนแล้วแต่ก่อสร้างด้วยเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น ไม่เคยใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด” นายไตรรงค์กล่าวอีกว่า “ในเรื่องนี้ตนได้ปรึกษาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายท่านแล้ว ตามความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การสร้างด้วยเงินบริจาคจะขลังกว่า เชื่อว่าลูกศิษย์ธรรมศาสตร์ที่มีอยู่จำนวนมากก็คงบริจาคเงินอย่างเพียงพอในการก่อสร้าง”

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
มติชน, 14 พฤษภาคม 2526

 

41 ปี อสัญกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ปฏิกิริยาของสังคมต่อการอสัญกรรมผ่านโทรเลข จดหมาย บทกวี และหนังสือพิมพ์สะท้อนทั้งความเคารพ รัก ความผูกพัน ความสำคัญ และคุณูปการที่สำคัญคือ แสดงให้เห็นบุคลิกอันโดดเด่นของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีในการประสานทุกฝ่ายได้อย่างดียิ่ง

 

ภาคผนวก :

ภาพถ่ายสำคัญในช่วงวาระสุดท้ายของ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ พร้อมคำบรรยายโดยละเอียด

ภาพถ่ายศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ก่อนการอสัญกรรม 1 เดือน และหลังการอสัญกรรม ณ บ้านอองโตนี

 


กำลังรับการรดน้ำเนื่องในวันสงกรานต์ ปี 2526 จากศิษย์

 


ณ โต๊ะอาหาร พร้อมด้วยบุตรี คือ คุณสุดา พนมยงค์ (ยืน)
กับอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร

 


ถ่ายที่บันไดหน้าบ้านหลังจากส่งชาวต่างประเทศ
ผู้มาอำนวยอวยพรวันสงกรานต์ 2526 แล้ว

 


ที่โต๊ะทำงานนี้เองที่ท่านวายชนม์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
ถ่ายไว้ก่อนประมาณหนึ่งสัปดาห์

 


อีกอิริยาบถหนึ่ง ณ โต๊ะทำงานตัวเดียวกัน ถ่ายก่อนวายชนม์ประมาณหนึ่งสัปดาห์

 


ท่านผู้หญิงนั่งพิจารณาศพท่านอาจารย์
ซึ่งนอนอยู่บนเตียงของท่านเองเช่นปกติหลังจากมรณกรรม 5 วัน

 


หีบศพของท่านอาจารย์พร้อมด้วยหรีดจากบุคคลต่างๆ ที่ส่งไปคารวะ ท่านผู้หญิงพร้อมด้วยคุณสุดา พนมยงค์ บุตรีและคุณศุขปรีดา บุตร นั่งเฝ้าอยู่ข้างหน้า

 


คุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, คุณสุดา พนมยงค์, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, คุณศุขปรีดา พนมยงค์ และคุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
หน้าศพของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หน้าศพของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
และหรีดซึ่งบรรจงทำขึ้นอย่างมีความหมายแห่งความรักผูกพันของท่านผู้หญิง (สีขาว) กับของบรรดาลูกๆ (สีแดง) ในระหว่างที่ตั้งศพของท่านอาจารย์ไว้ ณ ห้องอเนกประสงค์ ซึ่งปกติท่านก็มักจะนั่งเล่นอยู่ตรงนี้

 

ภาพงานอสัญกรรม ณ ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 


ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส ณ กรุงปารีส ในวันฌาปนกิจศพ
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

 


หรีดพิเศษของ ฯพณฯ เมอซิเออร์ โมรอย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส พ.ศ. 2526
ที่ส่งมาคารวะศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคารพศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ก่อนจะเคลื่อนศพเข้าเตาเผา

 


ท่านปัญญานันทภิกขุ ที่ไปร่วมงานฌาปนกิจศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ที่ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส

 


มุมหนึ่งในฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส
ขณะกำลังเคลื่อนศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมด้วยลูกๆ และญาติสนิท
อยู่ในแถวเพื่อแสดงความคารวะ ในขณะเคลื่อนศพผ่านเข้าสู่
ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมด้วยลูกๆ และส่วนหนึ่งของบรรดา
ผู้ที่ไปร่วมคารวะศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ภายในห้องโถงของฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วางดอกไม้ธูปเทียนบนหีบศพ
ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


หีบศพของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ขณะเคลื่อนเข้าสู่เตาเผา ณ ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส

 


อัฐิของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

 


โกศบรรจุเถ้าแห่งร่างของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตั้งไว้ในห้องอเนกประสงค์ ณ บ้านชานกรุงปารีส ตรงที่ท่านพอใจจะนั่งพักผ่อน
และสนทนาเป็นประจำ ตราบจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

 

หมายเหตุ :

  • ที่มาของภาพจากหนังสือมิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และเอกสารส่วนบุคคลนายปรีดี พนมยงค์

หนังสือภาษาไทย :

  • โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535)
  • ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
  • ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
  • สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529)
  • วาณี พนมยงค์ บรรณาธิการ, 101 ปี ปรีดี-90 ปี พูนศุข (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545)
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กองบรรณาธิการ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. (28 ธันวาคม 2563). ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับคำบอกเล่าถึงอดีต. https://pridi.or.th/th/content/2020/12/549. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.
  • ดุษฎี พนมยงค์. (3 พฤษภาคม 2565). ปรีดี พนมยงค์ : ผู้เป็นพ่อในความทรงจำของบุตรคนที่ 5. https://pridi.or.th/th/content/2022/05/1079. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.
  • ดุษฎี พนมยงค์. (4 พฤษภาคม 2564). วันที่ต้องจดจำชั่วชีวิตของลูก. https://pridi.or.th/th/content/2021/05/693. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (10 มิถุนายน 2563). ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/295. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (3 พฤษภาคม 2563). ปฏิกิริยาของสังคมต่อมรณกรรมของปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/05/236 . [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567.
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. อสัญกรรมรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 2 พฤษภาคม 2526. https://www.youtube.com/watch?v=Al3GC5kHV7k. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567.
  • สายสวัสดี สวัสดิวัตน, ม.ร.ว.. (2 พฤษภาคม 2564). ฉันเป็นฉันทุกวันนี้ได้เพราะคุณลุงปรีดี. https://pridi.or.th/th/content/2021/05/689. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567.
  • อนวัช ศกุนตาภัย. (2 พฤษภาคม 2564). คุณตาปรีดีในความทรงจำ. https://pridi.or.th/th/content/2021/05/690. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567.

 


[1] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (10 มิถุนายน 2563). ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/295. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.

[2] ดุษฎี พนมยงค์. (4 พฤษภาคม 2564). วันที่ต้องจดจำชั่วชีวิตของลูก. https://pridi.or.th/th/content/2021/05/693. [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567.

[3] โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526). ไม่ปรากฏเลขหน้า.