เนื่องจากกองบรรณาธิการ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า “บทบาทของสตรีในสังคมไทย” เป็นประเด็นซึ่งนับวันจะยิ่งมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้ามากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะเลือกสรรและรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์สุภาพสตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย ทั้งนี้ เพื่อทราบถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาด้านต่าง ๆ ในทัศนะของสตรีเป็นการเฉพาะ
กองบรรณาธิการฯ พิจารณาเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นสุภาพสตรีไทยผู้มีประสบการณ์และบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่สังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภริยา นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย (วิชา) ธรรมศาสตร์ (และการเมือง) ปัจจุบันท่านผู้หญิงฯ มีอายุ 95 ปี ใช้ชีวิตอย่างสงบ ณ บ้านซอยสวนพลู ถ.สาทรใต้ และเมื่อกองบรรณาธิการฯ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว ท่านกรุณาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ระหว่างเวลา 09.30 - 11.30 น. แก่ตัวแทนคณะบรรณาธิการจุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, อาจารย์ณัฐพล ใจจริง, น.ส.วารุณี โอสถารมย์ และน.ส.ศรอ์ศนัญย์
เจริญฐิตากร กองบรรณาธิการฯ จึงขอกราบขอบพระคุณท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
ในฐานะคู่ชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ท่านได้เรียนรู้ด้านความคิด ได้สัมผัสและมีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างไร ด้วยวิธีใด
เมื่อฉันมาร่วมชีวิตกับนายปรีดีนั้น ฉันอายุเพียง 17 ปีเท่านั้นเอง เรื่องแรกที่ได้สัมผัสก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จดหมายฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ที่นายปรีดีเขียนถึงฉัน แม้จะเป็นการส่วนตัว แต่สาระในจดหมายที่บอกให้คิดถึงชาติกับราษฎรมาก ๆ ฉันก็ยังงง ๆ อยู่ หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อความปลอดภัยของนายปรีดีและผู้นำคณะก่อการ 2475 เรามาพักในวังปารุสกวัน ฉันได้เห็นนายปรีดีครุ่นคิด ขีดเขียน ร่วมประชุมกับผู้นำคนอื่น ๆ อดตาหลับขับตานอน จึงเพิ่งจะเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย
ต่อมายังมีเหตุการณ์ทางการเมืองหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมาในชีวิต เช่น นายปรีดีถูกเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2476 เพราะเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจวางเค้าโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติไทย และเพื่อการกินดีอยู่ดีของราษฎร แต่กลับได้รับการตอบแทนเช่นนี้ ฉันสังเกตว่า นายปรีดีไม่ได้ท้อแท้ หากขณะอยู่ฝรั่งเศสได้ศึกษาวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
แล้วยังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นบุกเมืองไทย นายปรีดีคิดต่อต้านผู้รุกรานให้ฉันทำหน้าที่ฟังข่าววิทยุสัมพันธมิตร และงานอื่น ๆ แล้วแต่นายปรีดีจะมอบหมายโดยถือความลับเป็นสุดยอดของการทำงาน หลังจากสงครามยุติ นายปรีดีก็ไม่ได้ทวงความดีความชอบหรือผลประโยชน์ส่วนตัว โดยถือว่าที่ตนทำไปนั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องรับใช้ชาติ
จากนั้นก็เหตุการณ์กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เป็นเรื่องเศร้าเสียใจของพสกนิกรทั่วประเทศ นายปรีดีกับฉันก็เช่นกัน เพราะเราทั้งสองชื่นชมในพระจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์
สิ่งที่ทำให้ฉันได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมาก ในเวลาต่อมา คือ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 รถถังของฝ่ายคณะรัฐประหารบุกเข้ามาที่ทำเนียบท่าช้าง นายปรีดีต้องหลบลี้หนีภัยการเมือง จากนั้นมา ฉันต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ของลูก ๆ ทั้ง 6 คนในขณะเดียวกัน
เหตุการณ์เรื่องแล้วเรื่องเล่ามาจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีกับคณะได้กระทำการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องหลบซ่อนในประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งมีผู้ที่รักความเป็นธรรมแต่ไม่ได้รู้จักนายปรีดีมาก่อนเลยให้ที่พักพิง ฉันรำลึกถึงน้ำใจของท่านผู้นี้และภรรยาอยู่เสมอ เพราะถ้าเพลี่ยงพล้ำ เขาและครอบครัวก็คงได้รับภยันตราย ในตอนนั้นหมายจับเป็น (และตาย) นายปรีดีติดเต็มบ้านเต็มเมือง โดยมีรางวัลนำจับราคาสูงมาก
ฉันต้องผจญภัยคุกคามทั้งมืดและสว่างติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2595 ฉันถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “กบฏสันติภาพ” ในความเป็นจริงผู้มีอำนาจในขณะนั้นจับฉัน เพราะฉันเป็นภรรยานายปรีดี เมื่อจับสามีไม่ได้ ก็จับภรรยาแทน ลูกชายคนโต (ปาล พนมยงค์) ก็ถูกจับในข้อหาเดียวกัน ซึ่งฉันถูกควบคุมตัวที่กองสันติบาล กรมตำรวจเป็นเวลา 84 วัน อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่ปาลติดคุกอยู่เป็นเวลาเกือบ 5 ปี จึงได้รับนิรโทษกรรมในโอกาสกึ่งพุทธกาล
เมื่อฉันออกจากที่คุมขังจึงตัดสินใจไปฝรั่งเศส และเดินทางไปใช้ชีวิตในประเทศจีน และในที่สุด กลับมายังประเทศฝรั่งเศสพร้อมนายปรีดีและครอบครัว ที่เล่าเรื่องราวตัวเองมาเสียยืดยาวก็เพราะทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมืองของนายปรีดีทั้งสิ้น
ความคิดของนายปรีดี รวมทั้งประสบการณ์ทางการเมืองนั้น ฉันพอจะสรุปได้ว่า ฉัน “เห็นจากการกระทำ ฟังจากที่พูด อ่านจากที่เขียน” นายปรีดีเป็นครูคนสำคัญในชีวิตของฉัน และทำให้ฉันยกระดับความรู้ด้านต่าง ๆ สามารถเป็นคู่สนทนาเรื่องราวที่เป็นที่น่าสนใจร่วมกัน รวมทั้งสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เราใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน 55 ปี ฉันเห็นว่า นายปรีดีเป็นปุถุชนคนธรรมดา มีความรักชาติและราษฎรไทย เป็นคนดีที่ไม่เคยทำความชั่ว เป็นคนทำงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และขยันขันแข็ง ที่อาจมีข้อบกพร่องและผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา
ทุกวันนี้มีการบอกเล่า และเขียนถึงเรื่องของเสรีไทยมากมาย ส่วนใหญ่ผู้เล่าหรือผู้เขียนมักเป็นเพศชาย ในฐานะที่ท่านผู้หญิงเป็นภริยาผู้นำกลุ่มเสรีไทย อยากให้ท่านช่วยเล่าเรื่องขบวนการเสรีไทยในมุมมองของท่าน
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และขอท้าวความบางตอนที่ฉันเคยเขียนเล่าไว้ในบทความทรงจำเรื่อง “ย้อนรอยถนนสีลม”
“วันนั้นครอบครัวข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจ เช่นเดียวกับราษฎรไทยทั้งปวง หนังสือพิมพ์ Washington Times Herald ได้รายงานข่าวว่า ‘ชาวไทย ได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง’ (“The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.”) ในบ่ายวันเดียวกัน เมื่อนายปรีดีกลับจากการประชุม ค.ร.ม. ถึงบ้าน มีมิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนมาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) สงวน ตุลารักษ์ จำกัด พลางกูร วิจิตร ลุลิตานนท์ เตียง ศิริขันธ์ ถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) ทอง กันทาธรรม ฯลฯ ทุกคนแสดงความรู้สึกเจ็บใจและแค้นใจที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย โดยที่รัฐบาลไทยขณะนั้นก็ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้มาประชุมในวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ในการนี้ได้ตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งใน ประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย”
เหตุการณ์บ้านเมืองคับขันเช่นนี้ เป็นความทุกข์ของคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดินทุกคน ทางญี่ปุ่นบีบรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้นายปรีดีต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (Sole Regent) จึงทำให้นายปรีดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้อย่างเต็มตัว
โดยปกตินายปรีดีจะไม่ปรึกษาเรื่องราชการแผ่นดินกับฉันเลย แต่ครั้งนี้ เป็นงานรับใช้ชาติ และฉันก็เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ นายปรีดีจึงมอบหมายให้ฉันเป็นคนคัดลายมือรหัสวิทยุสำหรับติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร และยังมีหน้าที่รับฟังข่าวสารสู้รบในสมรภูมิต่าง ๆ ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับอักษะ เพื่อประกอบการประเมินผลบทบาทของเสรีไทย
นอกจากนี้ ฉันรู้จักผู้คนในวงกว้าง กอปรกับรู้ความเป็นมาของบุคคลหลายคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ก็ได้ใช้จุดนี้ช่วยนายปรีดี ซึ่งได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรในการพิสูจน์สมาชิกขบวนการเสรีไทยบางท่าน ทั้งนี้ทั้งนั้น เราทำกันอย่างเป็นความลับ ถือว่าเป็นวินัยสูงสุดของขบวนการเสรีไทย ฉะนั้น บทบาทของฉันก็เหมือนกับพลพรรคธรรมดาคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย
ฉันขออนุญาตยกสุนทรพจน์ของ “รู้ธ” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 มาเป็นข้อสรุปในหัวข้อนี้ว่า “ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำ ของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไป จากประเทศไทยโดยเร็วก็มี แม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวาง ผู้ต่อต้านญี่ปุ่น หรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติ ทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น”
ขอย้อนกลับไปเรื่องคราวที่ท่านถูกคุกคามในกรณี “เหตกุารณ์กบฏสันติภาพ” อยากให้ท่านช่วยเล่ารายละเอียดประสบการณ์ในเรื่องนี้เพิ่มเติม
หลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหารพยายามที่จะหาทางทําลายชื่อเสียงและตัวตนของนายปรีดีออกจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง ซึ่งได้กล่าวหาไว้ในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่าเป็นผู้บงการสําคัญ (ต่อมาศาลตัดสินความบริสุทธิ์ของนายปรีดี)
ส่วนทางด้านสากลระหว่างประเทศ ได้เกิดสงครามเกาหลี โดยสหรัฐอเมริกากับสหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยเป็นฝ่ายหนึ่ง กับสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมกับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกอีกฝ่ายหนึ่ง ฉันได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าสงครามใด ๆ ฉันก็คัดค้านทั้งนั้น ตอนนั้น ปาลลูกชายคนโตของฉันเอาใบแถลงการณ์คัดค้านสงครามเกาหลีมาให้ ฉันร่วมเซ็นชื่อคัดค้านด้วยคนหนึ่ง ในเมืองไทยได้ก่อตั้งคณะกรรมการสันติภาพ มีนายแพทย์เจริญ สืบแสง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นอาทิ เป็นประธานและรองประธานอยู่ แต่เราก็ไม่ได้ติดต่ออะไรกันในเรื่องนี้ ประชุมสักครั้งก็ไม่เคยไป
นอกจาก การคัดค้านสงครามเกาหลีแล้ว กลุ่มนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ประชาชน ได้ออกไปแจกจ่ายเสื้อผ้าของใช้ชาวบ้านทางอีสาน เพราะในขณะนั้นอากาศหนาวเย็น (ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน2495) เมื่อคณะบุคคลเหล่านี้กลับจากอีสาน ปรากฏว่าถูกจับเข้าคุกหมดในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยกล่าวหาว่า ไปปลุกระดมชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล ลูกชายคนโตปาลก็ติดร่างแหด้วย ท้ัง ๆ ที่ไม่ได้ไปแจกของที่อีสาน เพราะขณะน้ันกําลังเรียนโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
จําได้ว่า ปาลถูกจับวันที่ 13 พฤศจิกายน ตํารวจมาตรวจค้นบ้านถนนสาทรเหนือที่ฉันอยู่กับลูก ๆ ฉันมิได้มีลางสังหรณ์ว่าจะถึงตาตัวเองเลย เพราะตั้งแต่นายปรีดีลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ฉันมีหน้าที่เลี้ยงดูลูก 6 คน ทําขนมขายบ้าง รับส่งลูกเล็ก ๆ ไปโรงเรียนบ้าง ทุกวันไปเยี่ยมคุณแม่ที่สูงอายุแล้วที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ฉันไม่คิดและไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรมการเมืองใด ๆ ซึ่งฉันก็เป็นเป็นเพียง “แม่” เป็น “แม่บ้าน” ที่ภาระหน้าที่ก็หนักโขแล้ว ครั้นแล้ว วันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ตํารวจก็จับกุมฉันไปขังไว้ที่กองสันติบาล กรมตํารวจ (ถ้าอยากทราบรายละเอียด โปรดอ่านบทความ “เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘กบฏ’” ที่นี่)
ฉันมาใคร่ครวญดูแล้ว ฉันไม่ได้อยู่ในข่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” เลย แต่ที่ทางการจับกุมฉัน ก็เพื่อจะจับกุมนายปรีดี เพราะทางตํารวจรู้ว่า ฉันกับนายปรีดีรักและผูกพันกันมาก เมื่อภรรยาถูกจับนายปรีดีคงต้องมามอบตัว ฉันรู้ว่า นายปรีดีทราบข่าวฉันถูกจับด้วยความห่วงใย แต่ขณะน้ัน นายปรีดีกําลังลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เราขาดการติดต่อกันมาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว จะให้ช่วยฉันอย่างไรก็ไม่ได้ ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยทั้งตัวนายปรีดีและตัวฉันเอง ซึ่งฉันก็เข้าใจนายปรีดีว่าทุกข์ร้อนใจมากแค่ไหน
ในที่สุด หลังจากถูกคุมขัง 84 วัน ฉันก็พ้นคดี “กบฏสันติภาพ” โดยอัยการสั่งไม่ฟ้องและได้เดินทางไปฝรั่งเศส อังกฤษ ต่อมาเดินทางไปสวีเดน ผ่านฟินแลนด์ สหภาพโซเวียต จนได้ใช้ชีวิตลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2496 และในบั้นปลาย นายปรีดีกับฉันใช้ชีวิตคู่ทุกข์คู่ยากที่บ้านพักชานกรุงปารีส จนนายปรีดีสิ้นอายุขัย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
ในฐานะที่ท่านผู้หญิงได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมายาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสตรี อยากเรียนถามความคิดเห็นของท่านถึงความแตกต่างของสตรีไทยใน อดีตและปัจจุบัน
ฉันขอพูดในส่วนตัวของฉันเองดีกว่า ฉันเกิดในปี พ.ศ. 2455 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้หญิงสมัยนั้นในครอบครัวข้าราชการ ขุนนาง กับชาวบ้านก็แตกต่างกัน ถ้าเป็นชาวไร่ชาวนา นอกจากต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัวแล้ว ยังต้องช่วยครอบครัวเพาะปลูก หรือทํามาหาเลี้ยงชีพตามความถนัด
ส่วนครอบครัวข้าราชการและขุนนาง ก็ให้ลูกผู้หญิงมีโอกาสเรียนหนังสือเท่าที่จะเห็นควร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องออกเรือนเป็นแม่บ้าน แม่เรือน ในครอบครัวฉัน คุณพ่อ (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) มีลูกสาว 7 คน ท่านให้โอกาสเรียนหนังสือ บางคนเรียนโรงเรียนฝรั่ง บางคนก็ได้ถวายตัวเป็น “ข้าหลวงเรือนนอก” ในทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลอลงกรณ์ฯ เรียนที่ ร.ร.ราชินี ในจํานวนนี้ลูกสาว 2 คน ได้มีโอกาสไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่เมืองดาลัด ประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนั้น เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และใน 2 คนนี้ มีคนหนึ่งได้เล่าเรียนต่อที่กรุงปารีส และกลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ตัวฉันเรียนถึงช้ัน Standard 7 ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ แล้วก็ออกมาแต่งงานกับนายปรีดี
หลังแต่งงาน ฉันได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยชีวิต ได้เรียนรู้ความรู้ต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนไม่ได้สอน อยู่กับนายปรีดีเป็นสามีภรรยากัน เป็นเหมือนครูกับนักเรียน จากการที่นายปรีดีให้ฉันช่วยจดคําบรรยายวิชากฎหมายที่สอนอยู่ ฉันก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย แต่งานในแต่ละวันคงเป็นเรื่องเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ส่วนที่ฉันช่วยตรวจปรู๊ฟหนังสือ หรือจัดระเบียบการส่งหนังสือ นิติสาส์น นั้น จะถือว่า เป็นการช่วยครอบครัวทํามาหาเลี้ยงชีพอีกแรงหนึ่งก็ว่าได้
ในเรื่องการเมืองนั้น ฉันไม่เคยยุ่งเกี่ยวเลย และไม่เคยเรียกร้องสิทธิอะไร เพราะในครอบครัวฉันก็มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้ให้สิทธิชายหญิงทัดเทียมกัน ถ้าจะเปรียบกับประเทศฝรั่งเศสแม่แบบประชาธิปไตยของโลก ไทยเราถือว่าให้สิทธิสตรีก่อนเสียอีก ในสังคมไทย มีสตรีชั้นสูงที่สามีเป็นผู้บริหารประเทศ ก็ได้พยายามยกย่องฐานะของสตรีอยู่เหมือนกัน เช่น ตั้งสโมสรวัฒนธรรมสตรี แต่ถึงกระนั้น ผู้หญิงไทยยังด้อยโอกาสทางการเมือง ไม่มีผู้หญิงในคณะรัฐบาล และกว่าจะมี ส.ส.หญิง วุฒิสมาชิกหญิง รวมทั้งรัฐมนตรีหญิง ก็อีกหลายปีต่อมา
ในยุคนี้ บทบาทของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประการแรก ผู้หญิงไทยเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะสามารถทํามาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาสามี ฉะนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานจึงมีมากขึ้นและมีหน้าที่การงานสําคัญมากขึ้น ประการต่อมา การศึกษาของผู้หญิงยุคนี้สูงขึ้น เรียนจบปริญญาตรีเป็นเรื่องเห็นดาษดื่น และที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นนักวิชาการด้านต่าง ๆ ก็มีไม่น้อย อีกประการหนึ่ง ผู้หญิงยุคนี้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชนก็ดี ผู้หญิงแถวหน้า ๆ เป็นที่ยอมรับจํานวนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้ สังคมก็ยังไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิงเท่าที่ควร ซึ่งในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ผู้หญิงได้เป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีก็หลายประเทศ แม้แต่ประเทศกําลังพัฒนาเช่นเพื่อนบ้านของเราก็ยังมีทั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีหญิง แต่เมืองไทยเคยมีแต่รัฐมนตรีหญิงเท่านั้น
แล้วบทบาทของสตรีกับการเมืองทุกวันนี้ ท่านผู้หญิงมองว่าเป็นอย่างไร
พลเมืองของประเทศประกอบด้วยเพศชายและเพศหญิง รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (พ.ศ. 2540) ก็ได้กําหนดไว้ว่า ชายหญิงมีความเสมอภาคกัน ทั้งนี้ ความเสมอภาครวมถึงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสถานภาพในครอบครัว เมื่อก่อนนี้ ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเดินนําหน้า แต่ปัจจุบันควรเดินคู่กันไป ผู้หญิงไหนจะต้องช่วยครอบครัวทํามาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะต้องดูแลครอบครัว ไหนจะต้องจะเลี้ยงลูก ฉันเห็นใจคนเป็นแม่ในยุคนี้มาก ก็เหมือนที่ฉันได้กล่าวไปแล้ว สังคมยังไม่ให้การยอมรับบทบาทของผู้หญิงเท่าที่ควรจะเป็นในช่วงชีวิตของฉัน อยากเห็นผู้หญิงไทยได้มีหน้าที่บริหารประเทศระดับสูง เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี ฉันไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เห็นวันนั้นหรือไม่
แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตําแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกําลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาอํานาจและผลประโยชน์ เป็นประตูกั้นขวางมิให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตําแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่าง ๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหารสิ่งนี้ ฉันคิดว่าสําคัญมากที่จะทําให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง แต่ตราบใด ผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิเสมอภาคกับชายในทางพฤตินัย ก็คงจะต้องมีการเรียกร้องด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อไปอีกนาน
ที่มา : จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 11 (มิถุนายน 2550 - พฤษภาคม 2551)
- พูนศุข พนมยงค์
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
- พูนศุข
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- 24 มิถุนายน 2475
- วังปารุสกวัน
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8
- รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490
- ขบวนการเสรีไทย
- 26 กุมภาพันธ์ 2492
- ขบวนการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย 2492
- กบฏสันติภาพ
- ปาล พนมยงค์
- หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
- ณัฐพล ใจจริง
- วารุณี โอสถารมย์
- ศรอ์ศนัญย์ เจริญฐิตากร
- ย้อนรอยถนนสีลม
- ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลอลงกรณ์ฯ
- โรงเรียนราชินี
- เซนต์โยเซฟคอนแวนต์
- นิติสาส์น
- หงวนถิบิ่นห์