ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย (ตอนที่ 3)

12
พฤษภาคม
2567

ภาพต้นฉบับบทความข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยลายมือของกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

เราคิดว่ามีน้อยประเทศนัก ที่นักหนังสือพิมพ์จะต้องเรียนรู้หลักในการที่จะพิจารณาว่าอะไรเปนข่าว และอะไรไม่เปนข่าว เช่นที่นักหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยจะต้องเรียนรู้ หลักในการพิจารณาข่าว ตามที่เราได้ศึกษา และตามที่เราได้มาจากความชำนิชำนาญของเราเอง ในเวลานี้ก็แทบเปนอันใช้ไม่ได้เสียแล้ว เมื่อเราได้รับคำกำชับจากทางราชการในการเสนอข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ครั้งใด เราก็จำต้องทิ้งวิชาที่เราได้ศึกษามาแล้วทั้งหมด และเราก็จะต้องตั้งต้นเล่าเรียนกันใหม่

นับตั้งแต่ได้เกิดสงครามในยุโรปเปนต้นมา หนังสือพิมพ์ได้รับกำชับจากทางราชการ ไม่น้อยกว่า ๒-๓ ครั้งแล้ว ในการเสนอข่าวและออกความเห็นเกี่ยวกับการสงครามนี้ เพื่อให้สมกับฐานะของประเทศไทยเรา ซึ่งได้ประกาศตนเปนกลาง อันที่จริง ในกรณีที่เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศแล้ว เรารู้สึกว่าหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างแข็งแรงเสมอ ดังนั้นเมื่อมีคำกำชับหรือคำขอร้องของทางราชการในเรื่องเช่นนี้ หนังสือพิมพ์ก็ได้รับรองให้ความร่วมมือเปนอย่างดี และท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ภายหลังที่ได้เกิดสงครามยุโรป....(ต้นฉบับขาด)....วิพากษ์การกระทำของคู่สงครามแต่ประการใด หนังสือพิมพ์คงทำหน้าที่เพียงเสนอข้อเท็จจริงตามที่ได้รับทราบมาเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยนั้น ได้ละไว้ให้เปนของผู้อ่านเอง ตามนี้ เราคิดว่า ใครๆ ก็จะเห็นว่า หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยได้วางตนเปนกลางอย่างงดงามอยู่แล้ว แต่แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะไม่ได้ออกความเห็นวิพากษ์การกระทำของคู่สงครามว่ากระไรเลย หนังสือพิมพ์ก็ยังได้รับกำชับจากทางราชการเปนครั้งคราว...(ต้นฉบับขาด)...เสนอข่าวด้วยความเที่ยงธรรม คำกำชับเช่นนี้...(ต้นฉบับขาด)...ที่เข้าใจกันว่าทางราชการของต่างประเทศได้ร้องขอมายังรัฐบาลของเรา ถึงอย่างไรก็ดี ในเมื่อเราได้นั่งอยู่นิ่งๆ แล้ว และมีผู้มาบอกกับเราอีกว่าขอให้เรานั่งนิ่งๆ เถิด อย่างดีเราก็ได้แต่ฟังไว้เท่านั้น

เมื่อบ่ายวันจันทร์นี้ ทางราชการกองเอกสารหนังสือพิมพ์ก็ได้นัดประชุมบรรณาธิการ และได้กำชับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ว่า ให้หนังสือพิมพ์เสนอข่าวของคู่สงครามโดยเที่ยงธรรม คำสั่งนั้นได้ยกตัวอย่างด้วยว่า เช่นในกรณีเสนอความเสียหายในการรบนั้น ก็จะต้องลงรายงานของทั้ง ๒ ฝ่าย ดังนี้เปนต้น

อันที่จริงโดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ใช้หลักเช่นนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่อข้อเท็จจริงจากรายงานต่างๆ แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญหนังสือพิมพ์ก็มักจะลงพิมพ์รายงานของหลายๆ ฝ่าย เพื่อผู้อ่านจะได้พิจารณาใคร่ครวญหาความจริงเอาเอง ถึงมาตร์ว่า หนังสือพิมพ์จะตั้งใจเปนกลางอยู่แล้วก็ดี แต่การที่จะคาดหมายให้หนังสือพิมพ์ไม่ต้องใช้ปัญญาเสียเลยทีเดียว ก็ดูจะเปนการพ้นวิสัย และดูเปนการที่จะทำแก่หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยอย่างน่าสังเวชอยู่สักหน่อย และถ้าหนังสือพิมพ์ควรที่จะได้ใช้ปัญญาของตนเองบ้างแล้ว หนังสือพิมพ์ก็อาจพิจารณาได้ว่า ข่าวชนิดใด ของใคร ควรจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ข่าวบางชิ้นที่หนังสือพิมพ์พิจารณาเห็นว่ามีส่วนถูกต้องน้อยเต็มทีหนังสือพิมพ์ก็จะหย่อนลงทิ้งตะกร้าไป นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ยังจะต้องสงวนหน้ากระดาษไว้ลงข่าวอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้น ถ้าหนังสือพิมพ์ลงรายงานข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งน้อยไปมากไปก็ดี ไม่จำเปนจะต้องหมายความว่า หนังสือพิมพ์ไม่ตั้งตนเปนกลาง หรือไมให้ความเที่ยงธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย การที่เปนเช่นนั้น เปนด้วยหนังสือพิมพ์จำต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกเฟ้นตามสมควร เลือกเฟ้นข่าวมิใช่ในความประสงค์ที่จะให้ท้ายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพื่อที่จะมิให้หนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยความโง่เกินไปเท่านั้นเอง ซึ่งใครๆ ก็คงจะเห็นใจว่า หนังสือพิมพ์จำจะต้องคำนึงถึงเกียรติภูมิในข้อนี้ตามสมควร

ที่มา : นสพ. สุภาพบุรุษ รายวัน
เวลา : 12 กันยายน พ.ศ. 2483

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 53-60.

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง