ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ (ตอนที่ 7)

16
มิถุนายน
2567

กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

บทที่ 1

ในระหว่าง ๒-๓ สัปดาห์มานี้ หนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษได้ลงพิมพ์บทความว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจของนักเขียนที่มีชื่อเสียงแทบมิเว้นแต่ละวัน นับแต่บทความของท่าน ๕๕๕ เป็นลำดับมายังนายกรัฐมนตรีก็ได้ปราศรัยกับประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง เรียกร้องให้ประหยัดการใช้เครื่องแต่งกายอีกเล่า ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ หรือนัยหนึ่งเรื่องการครองชีพของประชาชนกำลังเปนปัณหาร้อนขึ้นเปนลำดับ.

การแลกเปลี่ยนความเห็นกันในบรรดาผู้สนใจในปัณหาเรื่องนี้นับว่าเปนกิจที่มีประโยชน์ยิ่ง การโต้แย้งความเห็นกันโดยอาศัยหลักวิชาและเหตุผลตามทัศนะของคนหนึ่งๆ เพื่อที่จะขบปัญหาเรื่องนี้ให้แตกออกไปนั้น ก็เปนกิจอันพึงกระทำแต่ว่าการโต้แย้งความเห็นกันนั้น ถ้าจะให้ได้ประโยชน์โดยแท้จริงแล้ว ควรจะกระทำโดยมูลฐานแห่งความร่วมมือ ประกอบด้วยน้ำใจไมตรีต่อกัน และส่งเสริมความบากบั่นของกันและกัน อาศัยมูลฐานและจิตต์ใจดังกล่าว การโต้แย้งความเห็นกันย่อมดำเนินไปโดยปราศจากคำพูดพล่ามและคำพูดเสียดสีอันไร้สาระ

ความร้อนจัดแห่งปัญหาเรื่องนี้ บัดนี้ได้ดำเนินมาถึงขีดที่ต้องบำบัดโดยวิธีการอันรุนแรง ดังที่ได้ปรากฏออกมาในรูปพระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๘ เดือนนี้ สาระสำคัญของพระราชกำหนดนี้อยู่ที่มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ธนบัตรชนิดราคาหนึ่งพันบาท บรรดาที่ได้ออกใช้อยู่นั้นให้ถือว่าได้ถอนกลับคืนมาแล้ว จากธนบัตรออกใช้และไม่เปนชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและเมื่อผู้ครอบครองได้ส่งมอบธนบัตรนั้นต่อธนาคารแห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่จะกำหนดลงไว้แล้ว ธนบัตรใบละพันนั้นก็สลายสภาพเปนธนบัตรออมทรัพย์ไป ซึ่งรัฐบาลสัญญาว่าจะไถ่ถอนคืนต้นเงินตามพันธบัตรออมทรัพย์เต็มตามราคาที่ตราไว้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบสองเดือน และรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละหนึ่งต่อปี

จริงอยู่ โดยพระราชกำหนดนี้ธนบัตรใบละพันได้ศูนย์เสียฐานะที่เปนเงินตราอันเปนสื่อกลางในการอำนวยความสดวกในการแลกเปลี่ยนไป แต่ในฐานะที่เปนพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลสัญญาว่าถอนคืนต้นเงินเต็มตามราคาที่ตราไว้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบสองเดือน และซึ่งอาจจะโอนเพื่อความประสงค์ในการเปลี่ยนและอาจจำนำเพื่อได้มาซึ่งเงินตราก็ได้นั้น ธนบัตรใบละพันซึ่งได้จำแลงรูปมาเปนพันธบัตรออมทรัพย์ก็ยังทรงค่าในฐานะที่เปนทรัพย์สินอันมีค่า ซึ่งผู้ครอบครองอาจใช้ในความประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนได้ ตามควรแก่สภาพของทรัพย์สิน ดุจผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินบ้านเรือน และทรัพย์สินอันมีค่าอื่นๆ ซึ่งอาจจะหมุนทรัพย์สินเหล่านั้นออกใช้เปนเงินตราได้ผู้ที่มีความรู้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ และการคลังอยู่บ้างที่ย่อมจะอ่านความมุ่งหมายของรัฐบาลได้ว่า ในการตราพระราชกำหนดนี้ รัฐบาลมีความมุ่งหมายจะแก้ปัณหาในเรื่อง (        )[1] ดังที่มีบางท่านเรียกในภาษาของเราว่าเงินเฟ้อหรือเงินลอยเปนสาระสำคัญ ภาวะของ (       )[2] หรือเงินเฟ้อนั้นอาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า ได้แก่ความล้นหลามของจำนวนเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาด อันไม่สัมพันธ์กับจำนวนเข้าของสินค้า ถ้าความล้นหลามของจำนวนเงินตรามีปริมาณสูงเท่าใด และการนำออกใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือมีมากเท่าใด แสดงอาการเฟ้อของเงินมากเท่านั้น ผลแห่งการเฟ้อของเงินจะจูงราคาสินค้าให้สูงขึ้นไปตามอาการที่เฟ้อนั้น อาการเฟ้อมีมากเท่าใด ราคาสินค้าก็จะถีบสูงขึ้นเท่านั้น

ในระหว่าง ๒-๓ สัปดาห์มานี้ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่าราคาสินค้าทั่วๆ ไปได้ถีบสูงขึ้นอย่างรีบรุดและโดยไม่หยุดยั้ง ในตอนเช้าเราซื้อกาแฟถ้วยละ ๕๐ สตางค์ พอตกเย็นราคาก็เปลี่ยนไปเป็น ๗๕ สตางค์ ราคาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปในทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทำนองเดียวกัน

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการครองชีพได้ทวีขึ้นอย่างรวดเร็วและในขนาดใหญ่หลวงเช่นนี้ ค่าแรงงานของชนทั่วไปสิหาได้เพิ่มขึ้นเปนส่วนสัมพันธ์กับค่าครองชีพไม่ ชนผู้ยากจนและผู้มีรายได้เปนเงินเดือน ซึ่งนับว่าเปนชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เปนผู้ที่ต้องผเชิญกับความยากลำบากอย่างที่สุด และถ้าปล่อยภาวะการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป โดยปราศจากการแก้ไขให้ได้ผลประจักษ์แล้ว ความอดอยากยากแค้นสาหัสก็จะอุบัติขึ้นในหมู่ชนจำพวกนี้สักวันหนึ่ง

หลักการแก้ไข (       )[3] ในข้อสาระสำคัญได้แก่การลดจำนวนธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือในหมู่ประชาชน ส่วนวิธีการลดนั้นก็มีหลายอย่างต่างกัน ผู้รับผิดชอบในการคลังของประเทศจะใช้วิธีใดนั้น ก็ย่อมจะพิจารณาจากสถานการณ์ในชั่วขณะหนึ่งๆ ว่าวิธีการเช่นใดจึงจะเหมาะสมกับสถานะการณ์นั้นๆ การชักชวนให้ประชาชนนำเงินฝากคลังออมสินก็ดี การเพิ่มภาษีอากรหรือตั้งรูปภาษีอากรขึ้นใหม่ก็ดี การกู้เงินจากประชาชนโดยวิธีการขายพันธบัตรก็ดี ล้วนแต่เปนการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ไปทางจะบรรเทาอาการเฟ้อของเงินทั้งนั้น

มีการกระทำของรัฐบาลในสมัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประชาชนแต่งกายอย่างฟุ้งเฟ้อ และส่งเสริมให้วงการต่างๆ มีการเล่นรื่นเริงเลี้ยงดูกันอยู่แทบมิเว้นแต่ละเดือน ตลอดจนรัฐบาลเองก็ได้จับจ่ายใช้สรอยเงินของแผ่นดินอย่างฟุ่มเฟือยนั้น เปนภาวะที่ไม่มีใครเข้าใจว่า การบริหารประเทศในยามมีโรคเงินเฟ้อ โดยวิธีการเช่นนั้น รัฐบาลผู้บริหารได้ใช้ทฤษฎีทางการเงิน ทฤษฎีใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ใช้วิธีการวางยาอย่างอ่อนแก้โรคเงินเฟ้อซึ่งหมายถึงว่า เปนความพยายามในการรักษาระดับสินค้ามิให้ถีบสูงขึ้นไปโดยไม่หยุดยั้ง ไม่สัมฤทธิ์ผลเปนที่พอใจ แล้วเปนธรรมดาที่รัฐบาลจะพึงคอตกทำตาปริบๆ อยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐบาลขืนนั่งมองดูอาการกำเริบของโรคเฉยอยู่ก็จะแสดงว่ารัฐบาลสิ้นวิทยาคมที่จะแก้โรคเงินเฟ้อ รัฐบาลก็จะเปนรัฐบาลต่อไปไม่ได้ฉะนั้น รัฐบาลจึงจำต้องแสดงวิทยาคมปรุงยาขนานใหม่ขึ้นมาบำบัดโรคเงินเฟ้อให้คลายอาการหนักลงจนได้ และเมื่อยาอย่างอ่อนไม่สัมฤทธิ์ผลแล้วก็จำต้องปรุงยาอย่างแรง โดยเหตุเช่นนี้รัฐบาลจึงจำเปนต้องออก พ.ร.ก.กำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน ซึ่งเปนการลดจำนวนธนบัตรที่ใช้ในการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ โดยวิธีการบังคับ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเปนการบังคับให้ประชาชนออมทรัพย์ ซึ่งจะเปนประโยชน์แก่ประชาชนผู้ถูกบังคับออมทรัพย์ ๒ ประการ ประการที่หนึ่ง คือ ประโยชน์แห่งการออมนั้นเอง ประการที่สอง เมื่อปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือได้ลดจำนวนลงเปนอันมากแล้ว ราคาสินค้าก็จะลงตามลงมา หรืออย่างน้อยกี่สามารถยับยั้งราคาสินค้ามิให้สูงขึ้นไปโดยอาการพรวดพราดรีบรุด ดังที่เปนอยู่ในขณะนี้ ค่าครองชีพของประชาชนส่วนรวมก็จะไม่ดำเนินไปสู่อาการยากแค้นสาหัส

การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนั้น นับว่าเปนการสำแดงความตัดสินตกลงใจอันอาจหาญของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เพราะรัฐบาลย่อมทราบอยู่ดีว่าการกระทำอันนี้ จะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของชนผู้มั่งคั่งและผู้ประกอบการค้าตลอดจนผู้ครอบครองธนบัตรใละพันทั่วๆ ไป และโดยที่รัฐบาลนี้เปนรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งได้กระทำการไปในทางขัดขืนยืนความต้องการของประชาชนแล้ว ก็อาจจะถูกเชิญหรือยินดีจะเชิญตัวเองลงจากเวทีได้ทุกเมื่อ แต่แม้เช่นนั้น รัฐบาลชุดนี้กี่มีความอาจหาญพอ และมีความไม่เห็นแก่การครองตำแหน่งพอที่จะตัดสินใจวางยาแก้โรคเงินเฟ้อขนานแรงด้วยการเสี่ยงภัย โดยมุ่งหมายจะแก้ความยากลำบากของประชาชนส่วนรวมเปนสำคัญ ความอาจหาญของรัฐบาลข้อนี้ สมควรได้รับความสรรเสิญ

ยาขนานใหม่นี้ จะสามารถบำบัดโรคเงินเฟ้อหรือบำบัดโรคราคาสูงของสินค้าให้ผลชงักเพียงใดหรือไม่นั้น เรายังต้องการเวลาที่จะดูผลไปก่อน ส่วนความขลุกขลักขัดข้องต่างๆ อันเปนผลของการประกาศ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งสมควรจะปลดเปลื้องบรรเทาในส่วนนั้น เราก็หวังว่ารัฐบาลจะเพ่งเล็งสอบสวน และคงจะเตรียมการบรรเทาอยู่แล้ว

ที่มา : นสพ.ประชามิตร-สุภาพบุรุษ
เวลา : วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488

 

บทที่ 2

ในบทก่อน ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ว่า การที่รัฐบาลประกาศให้ พ.ร.ก.กำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน ซึ่งเปนการลดจำนวนธนบัตรที่ใช้ในการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ โดยวิธีการบังคับ หรือนัยหนึ่งเปนการบังคับให้บรรดาบุคคลผู้ครอบครองธนบัตรใบละพันออมธนบัตรนั้นไว้ภายในกำหนดเวลา ๑ ปี จะอำนวยประโยชน์ ๒ ประการ ประการที่หนึ่ง ได้แก่ประโยชน์แห่งการออมนั้นเอง ประการที่สอง เมื่อปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือได้ลดจำนวนลงเปนอันมากแล้ว ราคาสินค้าก็จะลดตามลงมา หรืออย่างน้อย ก็จะสามารถยับยั้งราคาสินค้า มิให้สูงขึ้นไปโดยอาการพรวดพราดรีบรุด ดังที่เปนอยู่ในขณะนี้

ประโยชน์ข้อแรกนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้ถูกบังคับออมทรัพย์โดยตรง ซึ่งผู้ถูกบังคับออมทรัพย์ อาจปฏิเสธหรือไม่ยินดีรับประโยชน์ในการออมก็ได้ และอันที่จริงก็น่าจะไม่ยินดี ในเมื่อเพ่งเล็งถึงความพอใจและประโยชน์ฉะเพาะตัวของผู้ถูกบังคับออมทรัพย์

ประโยชน์ข้อสอง เปนประโยชน์ข้อสาระสำคัญ อันเปนความมุ่งหมายใหญ่ของพ.ร.ก.ฉบับนั้น ประโยชน์ข้อสอง เปนเรื่องร้องกับประชาชนส่วนรวม เปนประโยชน์ของชุมชนส่วนรวม ซึ่งจะต้องได้รับนับถือเทิดทูนก่อนประโยชน์อื่นใด ถ้าพร.ก.ฉบับนั้น สามารถระงับการขึ้นสูงของราคาสินค้าอย่างไม่หยุดยั้งลงได้ สามารถขบปัณหาเรื่องค่าครองชีพของประชาชนส่วนรวม มิให้ดำเนินไปสู่อาการยากแค้นสาหัสได้แล้ว บรรดาบุคลลผู้มีมนุษยธรรมก็จะต้องสำแดงอภินันทนากร ต่อการกระทำของรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยทั่วกัน

เมื่อได้มีการโฆษณาพ.ร.ก.พันธบัตรออมทรัพย์ ทางวิทยุกระจายเสียงในคืนวันพุธ ได้ปรากฏในวันต่อมาว่า มีเสี่ยงบ่นกันแซ่ไปถึงความเดือดร้อน และความติดขัดนานาประการในการดำเนินธุรกิจทั้งมีความวิตกกันไปต่างๆ เสียงบ่นนั้นเปนธรรมดามาจากผู้ครอบครองธนบัตรใบละพัน มีน้อยคนที่คำนึงถึงส่วนดีใน พ.ร.ก. ฉบับนั้นเพราะส่วนดีของพ.ร.ก.นั้น เปนไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งคนเรารู้สึกได้ช้ากว่าประโยชน์ส่วนตัวมาก

ความเดือดร้อนที่บ่นกันนั้น เปนของที่ต้องจำแนก และต้องซักถามกันต่อไปว่าเดือดร้อนในข้อใด ผู้ที่ประกอบการค้าจะบ่นว่าการค้าหากำไรของเขาจะต้องชงักไป เขาจะถือว่าการสูญเสียประโยชน์ในการค้าหากำไร เปนความเดือดร้อนของเขาผู้มั่งคั่งจำพวกที่มิได้ประกอบการค้าก็จะบ่นว่า การใช้ความมั่งคั่งเพื่อการครองชีวิตอยู่ด้วยความสดวกสำราญนานาประการของเขาได้ถูกบั่นทอนลงไม่มากก็น้อย เขาจะถือว่าการสูญเสีย หรือถูกบั่นทอนความสดวกสำราญในการครองชีวิตนั้น เปนความเดือดร้อนของเขา

แต่ทว่าในยามยากลำบาก และในยามที่เพื่อนมนุษย์เกือบทั้งโลกต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในท่ามกลางเปลวเพลิงสงครามนี้ ไม่เปนการสมควรและไม่เปนการสอดคล้องกับมนุษยธรรมดอกหรือ ที่เราจะกล่าวถึงและพิจารณาความเดือดร้อน ก็แต่ฉะเพาะในกรณีที่กระทบกระเทือนต่อการครองชีวิตอย่างแท้จริงและอย่างค่อนข้างสาหัส เช่น ขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่มอันจำเปน เสียงบ่นถึงความเดือดร้อน ที่เราได้ยินได้ฟังกันภายหลังที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.พันธบัตรออมทรัพย์แล้ว ส่วนมากหรืออาจจะกล่าวได้ว่าทั้งหมดใช่เปนความเดือดร้อนที่กระทบกระเทือนต่อการครองชีวิตอย่างแท้จริงไม่ การที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า บรรดาผู้ที่เสียประโยชน์ในการค้าหากำไรและเสียความสดวกสำราญในการครองชีวิตโดยผลแห่ง พ.ร.ก.ฉบับนั้น ไม่พึงได้รับความเห็นใจเลย หากหมายความว่า ถ้าบรรดาท่านเหล่านั้น จะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ซึ่งมิได้กระทบกระเทือนต่อการครองชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว เราก็ปรารถนาว่าควรที่จะเสียสละให้เพื่อประโยชน์ในการครองชีวิตของชุมชนส่วนรวมอันเปนอุดมคติของ พ.ร.ก.ฉบับนั้น และก็เปนการเยสละเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

นอกจากประโยชน์ในการป้องกันการขึ้นสูงของราคาสินค้าตามที่รัฐบาลมุ่งหมาย หรือคาดหมายว่าจะได้รับจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนั้นแล้ว ข้าพเจ้าเองเล็งเห็นว่า จะมีประโยชน์อันทรงศักดิ์ยิ่งอีกอันหนึ่งจากผลแห่งการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนั้น คงมีอีกมากคนไม่แต่ข้าพเจ้าซึ่งสังเกตเห็นว่า ในสมัยสงครามและรัฐบาลมีความจำเปนต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมออกมา มิรู้ว่ากี่เท่าต่อกี่เท่าของจำนวนธนบัตรในยามปรกติ ซึ่งเป็นเหตุให้จำนวนธนบัตรออกมาหมุนเวียนเปลี่ยนมือในหมู่ประชาชนอย่างฟุ่มเฟือยนั้น ศีลธรรมและความรู้สึกในทางดีงามของประชาชนได้เสื่อมทราม ช่องทางหาเงินมีมาก ทั้งง่ายและสดวก การใช้จ่ายก็เปนไปในทางฟุ่มเฟือย นิสัยในทางประหยัดอดออมก็ทรามลง เงินต่อตา เย้ายวน ทุกหนทุกแห่ง ความกระหายอยากได้กระหายอยากได้ โลภจริตก็ทับทวีขึ้น การติดสินบาทคาดสินบนเปนของไม่พูดถึงกัน เพราะได้กลายเปนเหตุการณ์ธรรมดาไป ความสุจริตในหน้าที่สั่นสเทือนอย่างเปนที่สลดใจนัก ไมตรีจิตต์ที่ถูกทำลายด้วยความตลบแตลงและเล่ห์เหลี่ยม ความซื่อสัตย์ก็ซบเซาดง ด้วยแสงสีของเงินตรา อะไรก็เงิน อะไรก็เงิน เรื่องเงินเปนเรื่องที่พูดกันแต่ย่ำรุ่งวันหนึ่งถึงย่ำรุ่งอีกวันหนึ่ง

รัฐบาลในสมัยหนึ่ง ก็ได้บทขยี้ศีลธรรมและความดีงามเสียด้วยการใช้เงินเหมือนกัน มีคนไม่น้อยที่ได้ยอมสละตัว สละวิชา สละศิลปะ และสละศรัทธาของตนให้แก่การประมูลซื้อของรัฐบาลในสมัยนั้น เมื่อรัฐบาลก็ได้ลงมือเสียเอง เช่นนี้ ศีลธรรมและความรู้สึกในทางความดีงามของประชาชน จะไม่เสื่อมทรามลงได้อย่างไร[4]

การประกอบอาชีพบางชนิด ใช้เวลาเพียงสองวันก็มีรายได้ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นนั่งนอนกินไปได้อย่างสบายตั้งเดือน หรือปี ความบากบั่นก็สูญเสียไป ผู้ที่ใช้วิชาการศิลปและฝีมือซึ่งทำงานด้วยความบากบั่นมีฐานะดังลูกจ๊อกของบุคคลบางประเภท ซึ่งมั่งคั่งมาด้วยการประกอบอาชีพอันหมุนพลิ้วรอบตัว โดยมิได้ใช้ฝีมือและออกเหงื่อสักหยดเดียวนี้เป็นภาวะที่เห็นได้ว่าไม่เปนธรรมแก่สังคม

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า พ.ร.ก.พันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะเรียกธนบัตรจากบุคคลต่างๆ ไปเก็บรักษาไว้ได้เปนจำนวนตั้งร้อยๆ พันขึ้นไปนั้น จะเปนทางแก้ไขศีลธรรมและความรู้สึกในทางความดีงามของประชาชนซึ่งได้เสื่อมทรามลงอย่างมากในสมัยหนึ่งให้กลับดีขึ้นได้ หรืออย่างน้อยก็จะไม่ทรุดหนักลงไป ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะได้มีส่วนปรับปรุงการเป็นอยู่ของคนในชาติ มิให้มีความแตกต่างกันอย่างลิบลับนัก คืออ้ายที่สุขสำราญที่เหมือนหนึ่งว่าสถิตย์อยู่ในเมืองแมนแดนสวรรค์ อ้ายที่ยากลำบากก็เหมือนจมอยู่ในปรักแห่งนรกอเวจี การครองชีวิตอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ไม่มีแตกต่างกันอย่างมากมายนั้นเปนการสำแดงออกซึ่งความอยู่ร่วมฉันพี่น้อง และหลักภราดรภาพนี้มิใช่เปนเพียงหลักที่ประชาธิปไตยรับนับถือเชิดชูเท่านั้น หากเปนหลักธรรมในสาสนาใหญ่ของโลกทุกสาสนาด้วย

ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.พันธบัตรออมทรัพย์นั้น รัฐบาลก็ได้สำแดงความอาจหาญในการเริ่มต้นใหม่ การปลงใจทำกิจใหญ่หลวงเช่นนี้ เปนธรรมดาจะต้องก่อความกระทบกระเทือนไม่มากก็น้อย ก็จำจะต้องแข็งใจให้เปนไป และได้แต่จะขอร้องความร่วมมือให้อดทนกันไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ปมยุ่งยากในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ บัดนี้ เปนปมใหญ่หลวงนัก และดาบนั้น เมื่อชักออกจากฝักแล้ว ก็จะต้องมุ่งหมายให้ตัดปมยุ่งยากให้ขาดออกจงได้ ถ้ารัฐบาลแน่ใจว่า พ.ร.ก.ฉบับนั้น จะแก้ปัณหาเรื่องค่าของเงินและการขึ้นสูงแห่งราคาสินค้าได้จริง รัฐบาลจงมีความมั่นคงในการบริหารกฎหมายฉบับนั้นให้ปรากฏผลประจักษ์เถิด

ที่มา : นสพ. ประชามิตร-สุภาพบุรุษ
เวลา : วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 111-124.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] ต้นฉบับเป็นวงเล็บที่ไม่มีข้อความ -บก.

[2] ต้นฉบับเป็นวงเล็บที่ไม่มีข้อความ -บก.

[3] ต้นฉบับเป็นวงเล็บที่ไม่มีข้อความ -บก.

[4] ข้อความในย่อหน้านี้มีร่องรอยในต้นฉบับว่าต้องการลบทิ้ง -บก.