ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ระบบหัวโขน (ตอนที่ 4)

26
พฤษภาคม
2567

ต้นฉบับลายมือเรื่องระบบหัวโขนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยใช้นามปากกาว่า อิสสระชน

 

ระบบหัวโขน

-1-

ข้าพเจ้ากำลังเขียนเรื่อง...(ต้นฉบับขาด)...ตอนสองอยู่ พอได้ทราบข่าวเมื่อบ่ายวันจันทร์ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ผู้ที่เคยมีบรรดาศักดิกลับคืนสู่บรรดาศักดิของตนอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่า เปนการสมควรอยู่ที่จะแสดงข้อวิจารณ์พฤตติการณ์เรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง.

จะกล่าวในทางประวัติเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในทางประวัติก่อน หลังจากได้เปลี่ยนระบอบการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว เปนที่ทราบกันในบรรดาผู้ที่สนใจในกิจการเมืองว่า คณะราษฎรได้ทำความตกลงกันไว้ว่า จะกำจัดความเฟื่องฟูแห่งยศ บรรดาศักดิ. นัยหนึ่งจะจัดระเบียบความเปนอยู่ของมนุษย์ให้เข้าสู่หลักความเสมอภาคอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ โดยที่ระบบบรรดาศักดิในประเทศไทย และในทุกประเทศทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดเอกสิทธิและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอันยังให้เกิดความขมขื่นแก่สามัญชนมาช้านาน คณะราษฎรผู้ซึ่งในสมัยนั้นมีความรู้สึกอันซาบซึ้งต่อหลักการ “เสรีภาพ อิสรภาพ และภราดรภาพ” เปนอย่างยิ่ง จึงได้ตกลงกันว่าจะระงับระบบบรรดาศักดิเสียเปนเบื้องแรก เพราะเปนสิ่งที่ขัดแยังกับหลักการดังกล่าวอยู่ในตัวความสัมพันธ์ระหว่างใต้เท้ากรุณา ให้พระยา ก. กับนายหนุ่ย จะกลมกลืนไปในลักษณะภราดรภาพได้ยากยิ่ง หรืออาจเปนการพ้นวิสัยทีเดียว. การระงับระบบบรรดาศักดิ โดยคณะราษฎรได้กำหนดลงไว้ในชั้นแรกนั้น ก็เปนไปในทางลมุนลมัย...(ต้นฉบับขาด)...ต่อความกระทบกระเทือนแต่อย่างใด กล่าวคือในส่วนผู้ที่...(ต้นฉบับขาด)...คณะผู้ก่อการ...(ต้นฉบับขาด)...ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้ครองอำนาจ…(ต้นฉบับขาด)...ก็กลับเฟื่องฟูจนแทบจะล้ำหน้าไปกว่าเปนพระมหากษัตริย์เสียอีกจนในที่สุด กองทัพบกไทยก็ได้นางพันหญิงไว้ ๒ ท่าน เราทราบไม่ได้ว่า ถ้ารัฐบาลชุดนั้นได้ผูกขาดการครองอำนาจต่อไป กองทัพบกไทยจะมีนายพลหญิงหรือไม่ กองทัพบกไทยจะมีจอมแห่งจอมพล หรือจอมพลดุษฎีหรือไม่ และถ้าการณ์เปนไปเช่นนั้นจริงในวงการทหารจะระเริงในเกียรติ...(ต้นฉบับขาด)...ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบได้ เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่ทหาร

ข้อความทั้งนี้ข้าพเจ้าเขียนในด้านประวัติการณ์ความเคลื่อนไหวตามความเปนจริง เพื่อประชาชนได้พิเคราะห์ดูถึงหลักความคิดต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิในประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี. การเปลี่ยนแปลงในทางความคิดเห็นนั้น คงจะดูเปนของน่าเศร้านัก ถ้าการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น มิใช่เปนการกลับวาจาในชั่วเวลาอันเร็วพลันเกินไป และมิใช่เปนการกลับหลักความคิด อย่างที่เอาต้นเปนหัว เอาหัวเปนต้น อีกทั้งหลักความคิดนั้นๆ ก็ได้มีเจตนาตราตรึงลงไว้อย่างมั่นคงแล้ว

ในบทความเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามุ่งหมายจะแสดงประวัติการ...(ต้นฉบับขาด)...๑๐ ปี ซึ่งได้สัญญาไว้ในรัฐธรรมนูญว่า จะปล่อยอำนาจให้ประชาราษฎรได้ปกครองตนเองเต็มภาคภูมิ คณะผู้ครองอำนาจก็ต่ออายุสัญญาต่อไปอีก ๑๐ ปี โดยเหตุผลว่าประชาราษฎรยังโง่อยู่ แต่คณะผู้ปกครองอำนาจก็มิได้กล่าวสักคำเดียวถึงความรับผิดชอบของตน ที่ได้สัญญาไว้ว่าจะทำให้ประชาราษฎรฉลาดขึ้น ดังที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเอง

เมื่อมีเหตุผลอ้างอิง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเติมเกี่ยวกับการสถาปนายศฝ่ายหน้าแล้ว ต่อนั้นมา จากนายพันเอกก็ขึ้นสู่พลจัตวา พลโท พลเอก เปนลำดับไป และการเลื่อนยศก็เปนไปอย่างปราดเปรียว ภายในเวลาอันสั้น พวกพันโทพันเอกก็กลายเปนนายพลกันไปหมด และในที่สุด กองทัพบกก็ได้จอมพลคนหนึ่ง. นี่เปนประวัติการเปลี่ยนแปลงการฟื้นฟู การสถาปนายศทางฝ่ายหน้า

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เคยได้รับการตำหนิว่า พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานยศทหารอย่างพร่ำเพรื่อ จนทำให้เกียรติของวงการทหารเสื่อมไป. เมื่อได้เปลี่ยนระบอบการปกครองแล้ว คงจะมีความคิดในทางปฏิกิริยาว่า จะฟื้นฟูเกียรติของวงการทหาร โดยดำเนินการในทางตรงกันข้าม....(ต้นฉบับขาด)...มาถึง...(ต้นฉบับขาด)...คงดำรงบรรดาศักดิสืบต่อไป เปนแต่จะให้มีการพระราชทานบรรดาศักดิกันใหม่อีก ส่วนในทางยศนั้น ทางฝ่ายพลเรือน ก็เลิกล้มไปทางฝ่ายทหาร...(ต้นฉบับขาด)...ก็ได้ตกลงกันในบรรดาผู้ก่อการว่า จะให้มียศอย่างสูงเทียบกับนายพันเอก…(ต้นฉบับขาด)...โดยต่อเติมกันขึ้นไปจนถึงคั่นนายพล หรือจอมพล ดังที่นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชได้เปนนายพันเอกอยู่จนถึงวันที่ท่านผู้นี้ถึงแก่กรรม และหลวงพิบูลสงครามได้เปนหลวงพิบูลสงครามอยู่จนกระทั่งถึงวันที่ท่านผู้นี้ได้สละบรรดาศักดิ กลับเปนนายแปลก พิบูลสงคราม นี้เปนตัวอย่างแสดงให้เห็นร่องรอยแห่งข้อตกลงเดิม ที่ยังตกค้างอยู่ ความประสงค์อันแรกของคณะราษฎร คงจะมีอยู่ว่า การแสดงความ...(ต้นฉบับขาด)...จำเปนจะต้องแสดงออกโดยทางยศถาบรรดาศักดิ...(ต้นฉบับขาด)...ของบุคคลซึ่งจำเปนจะต้องมีในการเขียนการอ่านนั้น ย่อมแสดงออกได้โดยทางตำแหน่งแห่งที่ และความรับผิดชอบของแต่ละคน และการแสดงออกเพียงเท่านั้น ก็เปนการเพียงพอแล้ว ที่จะทำให้กิจการงานต่างๆ ดำเนินไปได้...(ต้นฉบับขาด)...โดยไม่จำเปนจะต้องไปเพิ่มเติมเสริมต่อยศศักดิ...(ต้นฉบับขาด)...เปนการแบ่งชั้นบุคคลอันไร้สาระ

องุ่นนั้นดูมีรสเปรี้ยวจัดน่า...(ต้นฉบับขาด)....อยู่  ในความรู้สึกของมนุษย์บางคนที่ยังไม่มีโอกาสจะกินมันได้ แต่เมื่อโอกาสที่จะได้กินองุ่นนั้นมาถึงเมื่อใด มนุษย์คนเดียวกันนั้นก็อาจพิจารณาว่า แท้จริงองุ่นนั้นมีรสหวาน หารสอื่นใดเปรียบปานได้ยาก. อาจเปนด้วยเหตุนี้ หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม เมื่อเดือนปีแห่งการครองอำนาจผ่านไป ข้อตกลงเดิมที่ว่าคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารจะครองยศคั่นสูงเพียงคั่นนายพันเอกนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลง...(ต้นฉบับขาด)...นั้นก็ย่อมจะประกอบด้วยเหตุผลอ้างอิงเปนธรรมดา. หมาป่าตัวที่กินลูกแกะในนิทานสุภาษิตนั้น มันก็มิได้กินลูกแกะโดยไร้เหตุผลอ้างอิง. เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เราก็มีเหตุผลแสดงว่าประชาราษฎร ฉลาดพอที่จะปกครองตนเองแล้ว

 

ระบบหัวโขน

-2-

เกี่ยวกับเรื่องบรรดาศักดินั้นทางคณะผู้ก่อการเปลี่ยนการปกครองก็....(ต้นฉบับขาด)...ยึดถือข้อตกลงเดิมตลอดมา กล่าวคือ ไม่มีการพระราชทานบรรดาศักดิกันใหม่...(ต้นฉบับขาด)...ผู้ที่มีบรรดาศักดิอยู่แล้ว ก็คงดำรงบรรดาศักดิไว้ได้ต่อไป การณ์ก็ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อย ไม่เปนที่กระทบกระเทือนแก่ฝ่ายใด จนกระทั่งในราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ขุนศรีสรากร สมาชิกในคณะผู้ก่อการ ได้ขอพระราชทานคืนบรรดาศักดิ ความเหลื่อมล้ำขยายตัวในปัญหาเรื่องบรรดาศักดิก็ได้อุบัติขึ้น แทนที่จะอนุมัติให้คืนได้ ดังในกรณีย์ของผู้มีบรรดาศักดิบางคน ซึ่งได้ขอคืน และก็ได้รับพระราชานุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น กลับถือเรื่องนี้เปนเหตุตั้งข้อพิจารณาไปในทางจะปรับปรุงบรรดาศักดิ เปน...(ต้นฉบับขาด)...ผู้ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลให้ไปดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเปนตัวตั้งตัวดี มีหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรี และขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการในพระองค์เปนสำคัญคณะกรรมการฟื้นฟูบรรดาศักดิชุดนี้ ตามถ้อยแถลงของขุนนิรันดรชัยที่ให้แก่ หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ได้วางรูปการฟื้นฟูบรรดาศักดิไว้ในข้อสาระสำคัญดังต่อไปนี้

จำแนกบรรดาศักดิออกเปน ๖ คั่น คั่น ๑. เรียกว่า สมเด็จเจ้าพญา คั่น ๒. ท่านเจ้าพญา คั่น ๓. เจ้าพญา คั่น ๔. ท่านพญา คั่น ๕. พญา

๒. ภริยาของท่านผู้มีบรรดาศักดิ ดังที่ได้กำหนดลงไว้นี้ ก็จะได้รับบรรดาศักดิตามบรรดาศักดิของท่านสามีด้วย และมวลภริยาของท่านเหล่านี้ จะได้ถูกขนานนามว่า สมเด็จเจ้าพญาหญิง และท่านพญาหญิง เปนลำดับ

๓. การฟื้นฟูบรรดาศักดิครั้งนั้น ได้กำหนดไว้อย่างมโหฬารแท้จริงเพราะได้กำหนดกฎเกณฑ์ลงไว้ว่า เมื่อผู้มีบรรดาศักดิถึงแก่กรรมลง บรรดาศักดิก็จะตกทอดไปยังผู้สืบสกุลด้วย ทั้งนี้ ท่านกรรมการฟื้นฟูได้ชี้แจงว่า เปนการ…(ต้นฉบับขาด)...ศักดิจากอังกฤษ (ทั้งดุ้น)

๔. ผู้ใดควรได้รับบรรดาศักดิชั้นใดนั้น หลวงวิจิตรวาทการ...(ต้นฉบับขาด)...หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๘๔ ว่าจะเทียบตามลำดับของเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ ชั้นนพรัตนราชวราภรณ์ จะได้เปนสมเด็จเจ้าพญา (ผู้ที่ได้รับนพรัตนราชวราภรณ์ในเวลานั้นมีอยู่แต่จอมพลพิบูลสงครามผู้เดียว ถ้าหลักเกณฑ์การฟื้นฟูบรรดาศักดิได้ประกาศใช้ในสมัยนั้น หลวงพิบูลสงครามก็จะได้รับสถาปนาเปนสมเด็จเจ้าพญาพิบูลสงคราม) ชั้นมหาปฐมาภรช้างเผือกเทียบชั้นท่านเจ้าพญามหาวชิรมงกุฎ มงกุฎเทียบชั้นเจ้าพญา ปฐมาภรณ์ช้างเผือก เทียบชั้นท่านพญา ปฐมาภรณ์มงกุฎไทย เทียบชั้นพญา ถ้าระเบียบบรรดาศักดิอันนี้ได้ประกาศใช้ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะและผู้ก่อการมากท่านซึ่งได้เคยตั้งรังเกียจระบบบรรดาศักดิมาแต่เดิมก็จะไม่เปนผู้คนธรรมดาสามัญอีกต่อไป ท่านก็จะจำแลงแปลงกายเปนพญาอะไรต่ออะไรไปหมด

๕. ในโอกาสที่ได้จัดการฟื้นฟูบรรดาศักดินั้น คณะกรรมการได้พิจารณาปรับปรุงฐานันดรของเจ้านายในทางตัดทอนอันดับต่างๆ ของเจ้านายลงด้วยพร้อมกัน

คณะกรรมการฟื้นฟูบรรดาศักดิชุดนี้ย่อมฉลาดกว่าหมาป่าตัวที่กินถูกแกะในนิทานสุภาษิตเปนธรรมดา ฉะนั้นท่านก็ย่อมมีเหตุผลอ้างอิงในการฟื้นฟูไม่น้อยหน้าไปกว่าขุนนิรันดรชัยได้ตอบหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ในเดือนตุลาคม ๒๔๘๔ เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงบรรดาศักดิว่า “ในชั้นประเดิมก็ได้ปฏิบัติกันเรื่อยมา ในทางที่จะให้บรรดาศักดิสิ้นสูนย์ไปโดยวิธีไม่มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิกันขึ้นอีก แต่บัดนี้รัฐบาลเห็นเปนการสมควรที่จะดำรงบรรดาศักดิไว้เพื่อเปนเครื่องหมายแสดงคุณงามความดีของข้าราชการสืบต่อไป”

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ คณะผู้ก่อการเห็นสมควรระงับบรรดาศักดิเพราะขัดกับหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ หรือเพราะเหตุผลอย่างอื่นอีก ครั้นอีก ๙ ปี ต่อมา สมาชิกหมู่หนึ่งในคณะเดิมนั้นเอง กลับเห็นสมควรดำรงและฟื้นฟูบรรดาศักดิ เพื่อเปนเครื่องหมายแสดงคุณความดีของข้าราชการ

เมื่อข่าวการฟื้นฟูบรรดาศักดิและเหตุผลของการฟื้นฟูได้แพร่หลายไปในหมู่ชนแล้ว คนกลางถนนผู้โง่เขลาต่างพากันตั้งคำถามในทำนองซุบซิบกัน จำแนกหัวข้อสำคัญได้ดังนี้ ๑.ทำไมท่านถึงได้กลับตาลปัตหลักความคิดของท่านรวดเร็วนัก ๒.ทำไมในชั้นแรกท่านเห็นว่าเรื่องขุนน้ำขุนนางเป็นเรื่องแบ่งชั้นวรรณะอันชั่วร้าย...(ต้นฉบับขาด)...หลักเสมอภาค และภราดรภาพ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ท่านกลับไม่เห็นเช่นนั้น ๓.หรือว่าเมื่อเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ ท่านยังไม่มีบรรดาศักดิสูงๆ กัน ท่านจึงรังเกียจบรรดาศักดิของคนอื่น เดี๋ยวนี้ท่านมีอำนาจจะตั้งบรรดาศักดิสูงๆ ให้แก่ตัวท่านเองแล้ว ท่านอยากให้บรรดาศักดิสูงๆ ประดับบารมีของท่านกระมัง ท่านจึงคิดฟื้นฟูบรรดาศักดิขึ้นอีก ๔.เราจะเชื่อตามที่ท่านประกาศได้หรือว่าท่านทำการต่างๆ เพื่อเห็นแก่ชาติ

คำถามซุบซิบที่คนกลางถนนตั้งขึ้นถามกันทั่วหัวระแหงนี้ ข้าพเจ้าเรียงลงเปนใจความในทำนองอันสุภาพ ส่วนที่เขาตั้งถามกันจริงๆ ดังที่ได้ยินได้ฟังอยู่ทั่วไปในเวลานั้น ยังประกอบด้วยคำรุนแรงและคำหยาบ ซึ่งไม่ควรจะเขียนลงไว้ในที่นี้

ในเวลานั้น หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ เช่นเดียวกับพวกคนกลางถนน ไม่สู้เข้าใจในหลักความคิดของคณะกรรมการและของรัฐบาลในการฟื้นฟูบรรดาศักดิ จึงได้ตั้งข้อถามขึ้นสองสามข้อดังต่อไปนี้

“๑. ในขณะที่ได้พิจารณาตัดทอนฐานันดรของพวกเจ้าลงไป ซึ่งเท่ากับเปนการวางรูปนโยบายในทางกวาดล้างพวกเทวดาออกไป จากชุมนุมนั้นเอง ทางราชการก็ได้พิจารณาส่งเสริมในเรื่องบรรดาศักดิไปพร้อมกัน ซึ่งถือได้ว่าเปนการตั้งศักราชขุนนางกันขึ้นใหม่ เปนการสถาปนาเทวดาอีกจำพวกหนึ่งขึ้นในชุมนุมมนุษย์ ซึ่งดูเปนการขัดแย้งกับรูปนโยบายตัดทอนฐานันดรแห่งเจ้านาย

“๒. กรรมการผู้หนึ่งได้แถลงว่าการที่ได้กลับมีความคิดจะให้ดำรงเรื่องบรรดาศักดิไว้ที่เพื่อจะให้เปนเครื่องหมายแสดงเกียรติคุณของผู้ที่ทำความดีความชอบในราชการ หรือต่อแผ่นดิน แต่ความดีความชอบนั้นใครๆ ก็ทราบกันอยู่ดีแล้วว่าเปนของฉะเพาะตัว แต่เหตุไฉนจึงดำหริจะให้บรรดาศักดิซึ่งเป็นเครื่องแสดงคุณงามความดีฉะเพาะตัวบุคคลได้ตกทอตไปยังทายาทด้วยเล่า ทั้งนี้เปนการไร้เหตุผล และขัดขืนฝืนจิตดีใจของประชาธิปไตยทุกคน

“๓. กรรมการผู้หนึ่งแถลงว่า หลักเกณฑ์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดมา จากระบบขุนนางของอังกฤษ แต่นักศึกษาอาดทราบได้ว่า ในประเทศอังกฤษนั้น ยังคงมีขนบธรรมเนียมที่เหลวไหลอยู่ไม่น้อย และระเบียบสังคมของอังกฤษนั้นเล่าก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ก็คนอังกฤษเองเขาก็ต้องการชำระล้างอยู่ ระบบขุนนางและเอกสิทธิ...(ต้นฉบับขาด)...เปนเหตุให้กษัตริย์ในยุโรปต้องเสียราชบัลลังก์ไป ขนบธรรมเนียมที่ยังตกค้างอยู่ในอังกฤษบัดนี้ บางอย่างอาดเรียกได้ว่าเป็นของ ‘เดนตาย’ ของสวรรษอันชราและระบบขุนนางของอังกฤษที่น่าจะรวมอยู่ในสมบัติ ‘เดนตาย’ นี้ด้วย

คำถามเหล่านี้เมื่อได้ตั้งขึ้นแล้วก็ไม่มีคำตอบชี้แจงจากคณะกรรมการฟื้นฟูบรรดาศักดิแต่อย่างใด

องุ่นเปรี้ยวจริงหรือท่าน? องุ่นน่าจะหวานดอกกระมัง ถึงหวานก็ตามที่ แต่เมื่อเปนของเสาะท้องประชาธิปไตยแล้ว นักประชาธิปไตยก็ควรสลัดตัดใจมิใช่หรือ?

ประวัติการณ์ความเคลื่อนไหวในเรื่องบรรดาศักดินี้ยังจะมีอีกตอนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าจะเขียนมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

ที่มา : นสพ. ประชาชาติ รายวัน
เวลา : วันที่ 28 ธันวาคม 2484

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ระบบหัวโขน” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 65-68.

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง