ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ขบวนการเสรีไทย ภายใต้โดม (เตรียมธรรมศาสตร์-จุฬาอาสาศึก ปี ๒๔๘๘)

3
กุมภาพันธ์
2565

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มเกิดขึ้นในทวีปยุโรปเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๒ โดยกองทัพเยอรมันได้บุกเข้าโจมตีโปแลนด์ และได้รับชัยชนะในประเทศภาคพื้นยุโรปอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้โจมตีประเทศอังกฤษทางอากาศ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓ และบุกเข้าสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๔ ขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นกลางอยู่

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมจนเป็นชาติมหาอำนาจในเอเชีย และได้เริ่มนโยบายชาตินิยมด้วยคำขวัญที่ว่า “เอเชียเพื่อชาวเอเชีย” ประกาศนโยบาย “การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก และการสร้างวงศ์ไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา”

สำหรับประเทศไทยขณะนั้น รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเป็นกลางและพยายามรักษาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายอักษะ ได้ลงนามใน กติกาสัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ พร้อมกันนั้นได้ลงนามใน สนธิสัญญาเจริญสัมพันธไมตรีและการเคารพต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของกันและกันกับญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ในวันเดียวกัน

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้เปิดแนวรบทางด้านเอเชียตะวันออกโดยโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกา รวมทั้งฮ่องกงและเมืองโกตามารูของมาเลเซีย โดยไม่ได้ประกาศสงครามล่วงหน้า อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันนั้น "สงครามมหาเอเชียบูรพา" จึงเกิดขึ้นในวันนั้นเอง

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกำลังบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนด้านตะวันออก และยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และตำบลบางปูสมุทรปราการ หน่วยทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ อาสาสมัคร ประชาชน ในจังหวัดเหล่านั้นได้ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว พลีชีพเพื่อชาติเป็นจำนวนมากนับร้อยๆ คน 

รัฐบาลไทยซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่า ไทยยังไม่พร้อมที่จะรบกับกองทัพญี่ปุ่นที่มีกำลังและยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาล และทั้งญี่ปุ่น ได้แจ้งความประสงค์ที่จะขอเพียงเดินทัพผ่านประเทศไทยเท่านั้น ญี่ปุ่นจะเคารพต่อเอกราชอธิปไตยและเกียรติภูมิของไทย รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งให้หยุดยิงและยุติการสู้รบเมื่อเวลา ๗.๓๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔

ต่อมารัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งญี่ปุ่นได้แสดงความชื่นชม โดยญี่ปุ่นคงให้การบริหารประเทศของรัฐบาลไทยดำเนินการไปตามปกติ นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังได้ยกดินแดนเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้ไทย เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖

การที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้บุคคลสำคัญทางการเมือง การปกครอง ข้าราชการ และประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงรวมกลุ่มกันขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย

การรวมตัวของคนไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มคนไทยภายในประเทศ นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

๒. กลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา นำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำวอชิงตัน ดี.ซี. 

๓.  กลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดย กลุ่มนักเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายอรุณ สรเทศน์, นายเสนาะ นิลกำแพง, นายเสนาะ ตันบุญยืน, นายทศ พันธุมเสน

ซึ่งต่อมากลุ่มคนไทยทั้งสามกลุ่มได้ร่วมกันปฏิบัติการทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และนำมาซึ่งเอกราชอธิปไตยของชาติไทย ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ขบวนการเสรีไทย”

“ขบวนการเสรีไทย” ภายในประเทศซึ่งท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยเพื่อนรักร่วมงานของท่านทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค อันประกอบด้วย พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส, พลโท ชิต มั่นศิลป์, สินาดโยธารักษ์, พลโท สุข ชาตินักรบ, พลอากาศโท หลวงเทวฤทธิพันลึก, พลอากาศตรี หลวงเชิดวุฒากาศ, พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ, พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ, น.อ. ชาลี สินธุ์โสภน ฯลฯ

ฝ่ายพลเรือนประกอบด้วย นายดิเรก ชัยนาม, นายทวี ตะเวทีกุล, หลวงบรรณกรโกวิท, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์, นายสงวน ตุลารักษ์, นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร, นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ฯลฯ

เสรีไทยส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง และผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด อาทิ นายอุดม บุญประกอบ, นายอุดม บุญยประสบ, นายปรง พหูชนม์, นายสุวรรณ รื่นยศ, พ.ต.ท. ขุนพิชัยมนตรี, พ.ต.ต. อวบ บุญหงี, นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร), นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม), นายถวิล อุดล, นายพึ่ง ศรีจันทร์, นายเพ่ง ลิมประพันธุ์, นายทอง กันทาธรรม, เจ้าวงศ์แสนศิริพันธุ์

การดำเนินงานเสรีไทยได้กระทำอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ได้มีการติดต่อกับเสรีไทยสายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทยประสานกับเสรีไทยในประเทศอย่างต่อเนื่อง สัมพันธมิตรได้ส่งอาวุธที่ทันสมัยพร้อมยารักษาโรคให้แก่หน่วยเสรีไทยต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้เสรีไทยในส่วนภูมิภาคมีกองกำลังติดอาวุธนับเป็นหมื่นๆ คน

ท่านอาจารย์ปรีดี หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ตระหนักดีว่าในช่วงปี ๒๔๘๗-๒๔๘๘ การรบระหว่างสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะได้ทวีความรุนแรงใกล้จะแตกหักแล้ว กำลังคนและอาวุธของฝ่ายเสรีไทยพร้อมอยู่แล้ว แต่ยังขาดครูผู้ฝึกสอนและขาดผู้บังคับบัญชาระดับผู้นำหน่วยและผู้บังคับหมู่รบ ท่านอาจารย์ปรีดีจึงมอบหมายให้ พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ สารวัตรใหญ่ทหารในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ โดยต้องการกำลังทั้งสิ้นประมาณ ๗๐๐ คน

 

ภาพ: พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

คุณหลวงสังวรณ์ฯ ได้พิจารณาเห็นว่าบุคคลที่จะเป็นกำลังของชาติและมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมในขณะนั้น ควรจะเป็นคนหนุ่มที่มีการศึกษา มีประสบการณ์ในการฝึกอาวุธและวิชาทหารเป็นอย่างดีมาแล้ว และท่านคงจะพิจารณาถึงความรักชาติของคนหนุ่มไทยในขณะบ้านเมืองวิกฤติเป็นอย่างดี ประกอบด้วยขณะนั้นสถานศึกษาทุกแห่งปิดหมด ท่านจึงได้ตัดสินใจเข้าพบท่านอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มจ.รัชฎาภิเศก โสณกุล ทูลขออนุญาตให้บรรดานิสิตจุฬาลงกรณ์ไปช่วยราชการครั้งนี้ ซึ่งท่านอธิการบดีทรงอนุญาต แต่ให้สอบถามความสมัครใจของบรรดานิสิตก่อน โดยให้คณบดีแต่ละคณะทำหนังสือเวียนเรียกตัวนิสิตมาประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงของคุณหลวงสังวรณ์ฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ คำชี้แจงของท่านประทับใจบรรดานิสิตมาก มีนิสิตสมัครใจไปช่วยชาติถึง ๒๙๘ คน (ต้องการ ๓๐๐ คน)

พล.ต.ต. ม.ร.ว.ยงสุข กมลาสน์ อดีตประธานนักเรียนได้กล่าวไว้ว่า “ท่านพูดกับเราอย่างชายชาติทหาร ขอให้พวกเราไปช่วยงานของชาติ ท่านพูดกับเราน้อยมาก แต่ได้ความชัดเจนดี ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีคำพูดหว่านล้อมเอาสิ่งใดเป็นเครื่องล่อใจ พูดอย่างลูกผู้ชายกับลูกผู้ชาย พูดอย่างทหารกับทหาร” 

นิสิตจุฬาทั้ง ๒๙๘ คนได้ศึกษาในโรงเรียนนายทหารสารวัตร ซึ่งตั้งอยู่ ณ กองพลที่ ๑ รอ. ในปัจจุบัน หลังจากนั้น ประมาณสองเดือนก็ไปฝึกภาคสนามที่สวน “ลดาพันธ์” หลังวัดเขาบางทราย ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งเสรีไทยภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในเขตของกองบัญชาการนาวิกโยธิน ในบังคับบัญชาของ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ

อีกสองเดือนต่อมาได้มีประกาศรับสมัครนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารอีก จำนวน ๔๐๐ คน ความประสงค์ก็เพื่อจะให้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยรบแก่ขบวนการเสรีไทย เป็นการรับสมัครของ พล.ร.ต. หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ สารวัตรใหญ่ทหาร โดยประกาศรับสมัครจากนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 

การดำเนินการทั้งสิ้นกระทำในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองทั้งสิ้น สถานที่ตั้งของโรงเรียนเป็นเรือนไม้หลังคามุงด้วยจาก ใช้เสื่อรำแพนเป็นผนังกั้น ห้องเรียนมี ๔ ห้อง พื้นปูด้วยไม้กระดานห่างๆ มองเห็นพื้นเป็นสนามหญ้า สถานที่นี้อยู่ริมกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทิศเหนือติดกับแผนกนาฏศิลป์ กรมศิลปากร นอกจากนักเรียนเตรียมจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยังมีนักเรียนนายเรือร่วมด้วยอีก ๘ นาย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าตอนและรองหัวหน้าตอน

นักเรียนนายสิบสารวัตรทหารแบ่งเป็น ๓ กองร้อย ห้องเรียน ครูฝึกสอนก็คุ้นเคยกันดี เพราะเคยเป็นครูฝึกเมื่อครั้งเป็นยุวชนทหารส่วนใหญ่ ผู้บังคับบัญชาของโรงเรียน คือ พ.อ. หลวงพิเนตยุทธศิลป์ รอง ผบ.โรงเรียน คือ พ.ท. ย้อย ขวัญอยู่ แรกๆ ก็ให้นักเรียนเช้าไปเย็นกลับ การเรียน การฝึกก็ใช้บริเวณมหาวิทยาลัยและท้องสนามหลวง ปืนที่ใช้ฝึกคือปืนเล็กยาวแบบ ๘๓ เป็นการเรียนและฝึกอย่างปกติและเปิดเผย ทหารญี่ปุ่นซึ่งผ่านไปมาก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด นักเรียนทุกคนก็ไม่มีใครรู้ การเรียน การฝึกปกตินี้ดำเนินการไปประมาณสองเดือน (มิถุนายนถึงกรกฎาคม ๒๔๘๘)

แล้วเหตุการณ์สำคัญก็มาถึง วันหนึ่ง พล.ร.ต. หลวงสังวรณ์ฯ ได้มาที่โรงเรียน สอบถามครูผู้สอนถึงเรื่องการรักษาความลับของทางราชการ ถ้ายังก็ขอให้ดำเนินการโดยด่วน จากนั้นก็เรียกประชุมนักเรียนทั้งหมดพร้อมกับแจ้งให้ทราบว่า ภารกิจหลักของนักเรียนคือผู้นำพลพรรคใต้ดิน (UNDER GROUND ARMY) นำประชาชนเข้าต่อสู้กับญี่ปุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร และได้กำชับทุกคนให้รักษาเรื่องทั้งหมดเป็นความลับสุดยอด จะบอกใครไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่พี่น้องและอาจต้องเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ และตัวท่านเองก็จะร่วมเป็นร่วมตายด้วย คำพูดของท่านเป็นคำพูดที่กล่าวออกมาจากใจจริงอย่างลูกผู้ชายชาติทหาร ทำให้บรรดานักเรียนทุกคนบังเกิดความฮึกเหิมไม่กลัวตาย พร้อมที่จะพลีชีพเพื่อชาติ

จากนั้นการเรียนการฝึกระยะหลังใช้ห้องชั้นบนของตึกโดม มีการวางยามเฝ้าประตูตึก นักเรียนผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปเรียน เป็นการเรียนและฝึกอาวุธใหม่ จัดขบวนการรบแบบกองโจร ครูผู้ฝึก คือ นักเรียนนายร้อยสารวัตรทหารจำนวน ๕-๑๐ คน ทุกคนแต่งชุดเครื่องแบบสนามเครื่องหมายรมดำทุกคน อยู่ในสภาพหนวดเครารุงรัง ไม่ได้โกน อาวุธที่ฝึกสอนเป็นอาวุธปืนชนิดใหม่ของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น ได้แก่ ปืนคาร์บิน ทอมสัน ปืนกลบราวนิ่งไลท์ แมชชีนกัน ปืนต่อสู้รถถัง บาซูก้า ปืนใหญ่มอร์ต้า ตลอดจนการวางระเบิดทีเอ็นที ใกล้วันสันติภาพ (๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘) เหตุการณ์คับขันยิ่งขึ้น นักเรียนต้องอยู่เตรียมพร้อม ๒๔ ชั่วโมง อยู่บนตึกด้านหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ พระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อวันที่ ๖ และ ๙ สิงหาคม ๒๔๘๘

 

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพิธีสวนสนามขบวนการเสรีไทย 25 กันยายน พ.ศ. 2488
ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพิธีสวนสนามขบวนการเสรีไทย 25 กันยายน พ.ศ. 2488

 

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศวันสันติภาพ (ตามโทรเลขแนะนำของ ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฝ่ายพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร 

หลังจากสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโต ประกาศยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรแล้ว บรรดาทหารญี่ปุ่นทั้งหมดได้ยอมวางอาวุธโดยสิ้นเชิง สงครามมหาเอเชียจึงได้ยุติลง 

ภารกิจของขบวนการเสรีไทยสาย พล.ร.ต. หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ อันได้แก่ นักเรียนนายทหารสารวัตร นักเรียนนายสิบสารวัตร ภายหลังสงครามยุติแล้วก็มิได้สลายตัวดังเช่นเสรีไทยหน่วยอื่นๆ ยังต้องปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประเทศชาติต่อไปอีก อาทิ ได้รับคำสั่งให้ปราบปรามคนจีนเยาวราชที่ก่อการจลาจลทำร้ายคนไทย (เลี๊ยะพะ) ใช้อาวุธปืนต่อสู้เจ้าพนักงาน การปราบปรามใช้เวลา ๒-๓ วัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงตายหลายคน มีนักเรียนนายสิบของเราท่านหนึ่งถูกชาวจีนรุมทำร้ายอาการสาหัส แต่ท่านก็ได้ต่อสู้และยิงชาวจีนตายสองคน

กรุงเทพมหานครหลังสงครามอยู่ในภาวะวิกฤต โจรผู้ร้ายมีอยู่เป็นจำนวนมาก กองทัพสัมพันธมิตรได้เข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งทหารฮอลันดา ฟิลิปปินส์ กูรข่า เนปาล ฯลฯ

บรรดาพวกนายทหารสารวัตร และพวกนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบร่วมกับตำรวจ โดยตั้งเป็นหน่วยสารวัตรตำรวจผสม (สห.ตร.ผสม) และเพื่อป้องกันชาวจีนกำเริบอีก จึงได้จัดตั้งหน่วยไทย-จีนผสม โดยมีชาวจีนร่วมปฏิบัติงานด้วย รักษาความสงบในเขตที่มีชาวจีนอยู่หนาแน่น 

นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังสายตรวจโดยรถยนต์ ตรวจตระเวนกรุงเทพฯ และส่งกำลังบางส่วนเข้ารักษาโกดังทรัพย์สินของทหารญี่ปุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร ภารกิจอื่นที่ นร.ส.สห. ได้ปฏิบัติเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีก็ได้เป็นล่ามร่วมกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อฝ่ายจีนส่ง นายหลี เทียะเจิ่ง ทูตมาประเทศไทย นร.ส.สห. ก็ทำหน้าที่เป็นล่าม คือ คุณบุญเนื่อง พฤกษ์ศิริ และ คุณวินัย จิวางกูร ซึ่งได้รับคำชมเชยจากผู้ใหญ่ของไทยในขณะนั้นมาก

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายดีขึ้น พวก นร.ส.สห. ก็ถูกเรียกตัวกลับมารับการฝึกอบรมจนครบหลักสูตร และได้รับแต่งตั้งเป็นสิบเอก ๔ นาย นอกนั้นเป็นสิบโท เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๙ และปลดเป็นกองหนุนเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๐ 

เพื่อรำลึกถึงอดีตที่เคยร่วมกันรับใช้ชาติใน "ขบวนการเสรีไทย" บรรดาอดีต นร.ส.สห. จึงได้ร่วมกันเสียสละกำลังกายกำลังทรัพย์ก่อตั้งสมาคมขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างกันและครอบครัวโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมเตรียมธรรมศาสตร์-จุฬาอาสาศึก ปี ๒๔๘๘” ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสินพัฒนาธานี ถนนประชานิเวศน์ ๑ กรุงเทพมหานคร ด้านหน้าอาคารสมาคมมีรูปปั้นอนุสาวรีย์ พล.ร.ต. หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญและสัญลักษณ์ของความเสียสละ สามัคคีของบรรดาอดีตนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารชั่วนิรันดร์

พ.ต.อ.ชนันท์ ศิริโชค นบ.
ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๗
อดีตรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล กรมตำรวจ

 

ที่มา : ชนันท์ ศิริโภค. “ขบวนการเสรีไทย ภายใต้โดม (เตรียมธรรมศาสตร์-จุฬาอาสาศึก ปี ๒๔๘๘)”, ใน, วันปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542), น. 99-105