ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

มรดกของปรีดี พนมยงค์ จดหมายและบันทึกของปรีดี และปาล พนมยงค์

17
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเนื่องในวาระ 101 ปีชาตกาล คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญที่มีบทบาทในการผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร ขบวนการเสรีไทย เหตุการณ์ทางการเมืองและนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีผลงานเด่นคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) ทั้งนี้ ในแง่ของความสัมพันธ์กับนายปรีดีและนายปาล พนมยงค์ นั้นได้พบว่ามีจดหมายโต้ตอบระหว่างกันบางส่วนจึงได้นำมาเสนอไว้ในบทความชิ้นนี้

 


นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และนายสุพจน์ ด่านตระกูล

 


จดหมายลายมือนายปาล พนมยงค์ ถึงนายสุพจน์ ด่านตระกูล

 

คําขึ้นต้น

 

ก่อนหน้าที่คุณปาล พนมยงค์ บุตรของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะถึงแก่กรรมเมื่อ 9 กันยายน 2524 นั้น คุณปาลฯ ให้เกียรติกับผมได้ร่วมศึกษาความรู้ที่อาจารย์ปรีดีฯ ซึ่งในขณะที่ท่านพํานักอยู่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีจดหมายบรรยายความรู้เพื่อคุณปาลและน้อง ๆ ที่พํานักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมกันศึกษาโดยคุณปาลได้ถ่ายภาพจดหมายของอาจารย์ปรีดีที่บรรยายความรู้นั้นมอบให้ผม และบอกให้เก็บไว้ศึกษาต่อเมื่ออาจารย์ปรีดีหาชีวิตไม่แล้ว จึงค่อยพิมพ์ออกเผยแพร่ตามเจตจํานงของท่านที่ระบุไว้ในจดหมายนั้น

บัดนี้ทั้งคุณปาล ผู้บุตร และอาจารย์ปรีดี ผู้บิดาต่างก็หาชีวิตไม่แล้ว ผมจึงเห็นสมควรที่จะได้จัดพิมพ์จดหมายดังกล่าวนั้นออกเผยแพร่ ภายใต้ชื่อ “มรดกปรีดีฯ”ตามเจตจํานงของอาจารย์ปรีดีและตามที่คุณปาลได้ออกปากไว้กับผม

และพร้อมกันนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณปาลฯ ผมเห็นสมควรที่จะพิมพ์จดหมายบางฉบับของคุณปาลที่แจ้งความเห็นของคุณพ่อมาให้ผมได้ทราบ และรวมทั้งจดหมายบางฉบับที่อาจารย์ปรีดีมีมาถึงโดยตรง

ในการพิมพ์จดหมายดังกล่าวออกเผยแพร่ ผมไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากจะพิมพ์จดหมายที่มีสาระประโยชน์ต่อส่วนรวมตามสมควร เพราะความสัมพันธ์ของผมและเพื่อนที่มีต่ออาจารย์ปรีดีและคุณปาลนั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์หลักในฐานะความคุ้นเคยเป็นส่วนตัว แต่เป็นความสัมพันธ์หลักในฐานะมิตรทางการเมือง

และเพื่อความ “อุดม” ของ “มรดกปรีดีฯ” ผมจึงได้รวมเอาคําสัมภาษณ์ที่อาจารย์ปรีดีได้ ให้แก่นิตยสารต่าง ๆ มารวมพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ด้วย ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก ต่อผู้รักชาติรักประชาธิปไตย และความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศเป็นที่สุด

ขอได้รับความขอบคุณจากผม

(สุพจน์ ด่านตระกูล)

 

จดหมายของนายปาล พนมยงค์ ถึงนายสุพจน์ ด่านตระกูล

 

จดหมายฉบับที่ 1

 

คุณพ่อผม ท่านขอฝากข้อความมายังคุณ ดังต่อไปนี้

1. ขอบใจที่คุณได้แสดงความคิดเห็นที่ปรารถนาดีต่อท่าน อีกทั้งได้แสดงทัศนะในเอกสารตีพิมพ์ต่าง ๆ ในนามจริงและนามแฝงที่สนับสนุนแนวทางของท่าน ท่านถือว่าแม้ทางกายคุณจะอยู่ห่างไกลกับท่าน แต่ทัศนะของคุณนั้นอยู่ใกล้ท่าน ซึ่งดีกว่าผู้ที่ทางกายใกล้ท่าน หรืออ้างว่าสนิทชิดเชื้อกับท่านแต่ทัศนะอยู่ไกลกับท่าน

2. สภาพจริงที่บังเกิดขึ้นในระหว่างผู้ที่หวังดีตามอัตวิสัยซึ่งประจักษ์แก่คุณนั้น ก็ได้ประจักษ์แก่ท่านว่าเขาเหล่านั้นแตกสามัคคีกัน ถึงกับแย่งชิงเอาดีเอาเด่นระหว่างกัน มีการผูกขาดตัดตอนความรักท่านเอาไว้เฉพาะของเขาคนเดียว จึงมีการกีดกันกันท่าผู้อื่นตรง กับที่คุณได้แจ้งมายังผมให้เรียนกับท่านแล้ว ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะเขาเหล่านั้นมีรากฐานจาก ความเห็นแก่ตัว หรือมาจากทัศนะ “อีโก” หรือ “อัตตา” นั่นเอง ซึ่งเป็นรากฐานให้ เกิดความโลภในการอยากได้ของ ๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน

และต้องการเอาความดีความชอบ มาเป็นของตน ผู้ที่มี “อัตตา” อย่างร้ายแรงก็ทําการถึงขนาดใส่ความผู้หวังดีด้วยกัน แทนที่จะมุ่งต่อสู้ศัตรูและทําเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ที่เขารักใคร่นับถือ อาจารย์เพื่อให้อาจารย์ทําตามแนวทางของเขา ทัศนะเช่นนี้ขัดต่อคําสอนของพระพุทธองค์ และวิทยาศาสตร์สังคมที่ก้าวหน้า

ท่านจะพยายามที่สุดที่จะทําให้ผู้เดินทางผิดได้กลับประพฤติตนเป็นคนดีมีทัศนะที่ เห็นแก่ส่วนรวมและแก่อาจารย์ที่เขารักนับถือ แต่ถ้าไม่สามารถทําเช่นนั้นได้ ท่านก็จะใช้ความเด็ดขาด มิฉะนั้น ประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้ในอดีตก็จะซ้ํารอย

ในระหว่างนี้ ก็ขอให้คุณสุพจน์ช่วยสอดส่องระมัดระวังบุคคลเหล่านั้นด้วย และขอให้พยายามชี้แจงว่า ทัศนะที่แท้จริงของอาจารย์นั้นขัดแย้งกับทัศนะของผู้ที่ถือ “อัตตา” เป็นใหญ่ ยิ่งผู้ที่ใกล้ชิดอาจารย์ที่แท้จริงแล้วก็ต้องมีทัศนะอย่างอาจารย์ มิฉะนั้นแล้ว ก็เป็นแต่เพียงผู้แอบอิง แอบอ้าง เพื่อ “อัตตา” ของเขาเท่านั้น ท่านหวังว่าคุณสุพจน์คงจะช่วยท่านได้แรงหนึ่งในการนี้ โดยกุศโลบายที่เหมาะสมเป็นคน ๆ ไป

(หน้านี้จดหมายตัวจริงเลือนลาง จึงใช้ตัวเรียง)

 

จดหมายฉบับที่ 2

 

9 สิงหาคม 2514

คุณสุพจน์ ที่รัก

หนังสือเกี่ยวกับคุณพ่อที่คุณสุพจน์เรียบเรียง ผมได้รับหลายวันแล้ว ด้วยความ

ขอบคุณมาก วันนี้ได้รับ จ.ม. ของคุณฉบับ 6 ส.ค. อีก ผมจึงขอตอบคุณดังข้อความต่อไป

คุณพ่อขอให้แจ้งมายังคุณว่า ท่านขอขอบใจในการที่คุณได้จัดการรวบรวมเรื่องราวของท่านบางส่วนจัดเป็นเล่มหนังสือขึ้น และยินดีที่หนังสือนี้ได้จําหน่ายได้แพร่หลาย ถึงกับจะพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ฉะนั้น จึงถือโอกาสรีบแจ้งมายังคุณว่า สาระของหนังสือที่นำเอกสารแท้จริงลงไปนั้นทําให้หนังสือมีคุณค่ามาก แต่น่าเสียดายที่มีข้อความซึ่งคุณอ้างว่าได้มาจากคนใกล้ชิดเขียนลงไป แม้ผู้ใกล้ชิดจะหวังดีต่อท่านแต่เมื่อข้อความที่คน ๆ นั้นบอกคลาดเคลื่อนต่อความจริง ก็ทําให้สิ่งเล็กน้อยนั้นทําให้คุณค่าของหนังสือลดลงไปจาก 100 เปอร์เซนต์ที่ควรได้ ถ้าไม่มีคําบอกกล่าวที่คลาดเคลื่อน เท่าที่ผมได้อ่านไปจบหนึ่งนั้นก็พบว่า มีความคลาดเคลื่อนที่ควรตัดออกไปหรือแก้ไขให้ถูกต้องดังต่อไปนี้

1. รายชื่อผู้ริเริ่มประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1927 นั้นมีเพียง 7 คน คือ (1) นายปรีดี (2) แปลก ขีตตสังคะ (3) ประยูร ภมรมนตรี (4) ทัศนัย มิตรภักดี (5) หลวงสิริราชไมตรี (6) ตั้ว ลพานุกรม (7) แนบ พหลโยธิน ต่อมาเมื่อคุณพ่อกลับจากฝรั่งเศสแล้ว เพื่อน ๆ ที่รับช่วงงานทางปารีสได้ชวนทวี บุณยเกตุ กับสินธุ์ กมลนาวิน ร่วมด้วย แล้วต่อมา ไทยมุสลิมจากอียิปต์คือ บรรจง ศรีจรูญ มาเข้าร่วมด้วยที่ปารีส ส่วนนายควงนั้นไม่มีใครชวนเขาระหว่างที่เขาอยู่ในฝรั่งเศส โดยเหตุผลบางประการ ซึ่งตัวเขาเองก็ได้เคยกล่าวที่สามัคยาจารย์ว่าเขาถูกเชิญให้เข้าร่วมไม่กี่เดือนก่อน 24 มิถุนา

ส่วนหลวงคหกรรมบดีนั้น ไม่เคยชวนก่อน 24 มิถุนาเลย แต่เชิญตัวไปร่วมทํางานภายหลังยึดอํานาจได้แล้ว อันที่จริง คนที่ร่วมประชุมครั้งแรกยังมีชีวิตอยู่อีกบางคนซึ่งต้องถือว่าเขาเป็นคนใกล้ชิดคุณพ่อสมัยนั้น และบางคนก็ยังใกล้ชิดอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่นคุณหลวงสิริราชไมตรี ก็น่าจะรู้ความจริงได้และจําได้ เฉพาะเรื่องนี้ ถ้าคุณจะพิมพ์ครั้งที่สองก็อย่าอ้างชื่อคุณพ่อว่าเป็นผู้บอก หรืออย่าอ้างชื่อใครเลย เอาเป็น เรื่องของคุณรู้มาเองจะงดงามกว่า และจะไม่เป็นที่เสียใจแก่ผู้ก่อการคนอื่น ๆ ที่เขายังดีอยู่ บัญชีผู้ก่อการทั้งหมดนั้น เมื่อครั้งยังมีประชุมผู้ก่อการอยู่เป็นประจําก็ปรากฏอยู่ว่าใครบ้างเป็นผู้ก่อการ และเมื่อครั้งนิตยสารนาครสงเคราะห์ประจําปียังออกอยู่ก็มีรายชื่อผู้ก่อการทั้งหมด ในทุกวันนี้ก็มีผู้จัดการออกหนังสือเวียนชวนผู้ก่อการไปทําบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุเป็นประจํา ผู้จัดการก็เชิญคนตามบัญชีนั้นเอง ผู้ใดไม่ถูกเชิญไปก็มิใช่ผู้ก่อการที่เขาจัดเป็น ดี 1 แต่อาจเป็น ดี 2 ที่มาร่วมภายหลังวันที่ 24 มิถุนา หรือเป็น ดี 3 ก็ได้ตามกฎที่ส่วนมากเขาต้องการเช่นนั้นซึ่งก็ไม่เหมาะสมอยู่

เพราะบางคน เช่นคุณเยื้อนซึ่งถูกชวนตั้งแต่ พ.ศ. 2470 แต่วันยึดอํานาจ คุณเยื้อนอยู่เชียงใหม่นัดให้มาไม่ทันแต่ได้มาช่วยงาน นายทหารเรือบางส่วน เช่นคุณศรี ดาวราย ได้รับมอบหมายให้คุมอยู่ทางปากน้ํามิได้มา ภายหลัง 24 มิถุนา และมีหิริโอตัปปะไม่เรียกร้องเป็นผู้ก่อการ ณ พระที่นั่งอนันต์ฯ ในวันที่ 24  ก็มิได้ถูกจัดเข้าอยู่ในบัญชีผู้ก่อการ ดี 1 แต่บางคนในตอนเช้าวันที่ 24 อ้างว่าป่วยแล้วเข้ามาพระที่นั่งภายหลังยึดพระที่นั่งแล้วพรรคพวกสายนั้นก็ยกย่องให้เป็นดี 1 ยังมีอีกหลายคนที่ตกลงร่วมไว้แล้วแต่เรานัดเขาไม่ทัน มิใช่เป็นความผิดของเขาที่มิได้มาในวันที่ 24 ตอนเช้า เช่นมหาเปรื่อง เมื่อไม่จัดเข้าอยู่ในดี 1 ก็มีหิริโอตัปปะไม่อวดอ้างว่าเป็นผู้ก่อการ ดี 1 ที่เล่ามานั้นเพียงให้คุณสําเหนียกไว้เท่านั้นโดยมิได้ขอให้คุณเขียนบัญชีผู้ก่อการ และขอให้แก้ไขผู้เข้าร่วมในฝรั่งเศสตามที่กล่าวแล้วให้ถูกต้อง ขอย้ําว่าให้ถือว่าเป็นเรื่องที่คุณรู้มาเอง

2. เรื่องหม่อมเจ้าหญิงแก้ว อ้างว่าพระพันวสารับสั่งเช่นนั้นเช่นนี้ สมควรเอาออกเสียเพราะท่านหญิงองค์นี้อาจจะคัดค้านก็ได้ และคุณจะไปยันเอาคุณสนิทว่าได้ยินมา เรื่องก็จะไปกันใหญ่ และเมื่อถูกคัดค้านแล้วคนทั่วไปจะเชื่อคุณสนิทเพียงใดและเชื่อท่านหญิงแก้วเพียงใด ก็ไม่คุ้มค่าที่คุณจะไปอ้าง และที่สําคัญเมื่อหนังสือของคุณอ้างว่าคุณสนิทเป็นคนใกล้ชิดของคุณพ่อ ความเสียหายก็จะตกอยู่แก่คุณพ่อด้วยว่าเอาเรื่องเหลวไหลไปบอกกับคนใกล้ชิด เขาจะไม่เข้าใจว่าคุณสนิทเป็นผู้ได้ยินเอง เขาจะหาว่าคุณพ่อเป็นคนบอกคุณสนิท

3. ความที่ว่าลอร์ดหลุยส์ เอาเรือบินมารับคุณพ่อที่ฝรั่งเศสนั้น คุณพ่อไม่รู้ว่าใคบอกคุณเช่นนั้น แม้ผู้บอกจะเจตนาดีเพื่อแสดงว่าคุณพ่อมีอิทธิพลแก่ลอร์ดหลุยส์ แต่นักเรียนไทยในอังกฤษก็อาจเข้าใจผิดคุณพ่อว่าเอาเรื่องไม่จริงไปบอกคนใกล้ชิดเขาจะไม่เชื่อว่าผู้ใกล้ชิดพูดเอาเอง อันที่จริงนั้น ลอร์ดหลุยส์มิได้ส่งเครื่องบินมารับคุณพ่อ เมื่อคุณพ่อถึงอังกฤษ ท่านเชิญไปวีคเอนที่ปราสาทของท่าน ถ้าคุณลงเพียงเท่านี้ก็ได้ประโยชน์แก่คุณพ่อโดยไม่ต้องเกินเลยไป และโดยเฉพาะคนเคยอยู่เมืองนอกรู้เรื่องเครื่องบินไปมาว่าเขาทํากันอย่างไร ก็จะพากันสงสัย เรื่องการที่ลอร์ดหลุยส์ส่งเครื่องบินมารับคุณพ่อ

4. เรื่องการเงิน การธนาคารที่คุณพ่อฝากเงินนั้น เป็นเรื่องสําคัญที่ต้องแก้ไขเพราะจะทําให้ผู้ที่เคยเป็นเลขานุการของคุณพ่อหลายคน เสียใจ หรือหัวเราะเยาะได้เพราะเป็นธรรมเนียมของเลขานุการรัฐมนตรีที่เป็นผู้เบิกเงินเดือน แล้วทําบัญชีค่าใช้จ่ายที่กระทรวงหักออกเหลือเท่าใดก็นําไปมอบรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ของคนใกล้ชิดอื่น ๆ ที่จะทําเช่นนั้น ๆ และเมื่อคุณพ่อได้รับเงินเดือนที่หักค่าใช้จ่ายออกแล้ว ก็มอบให้คุณแม่รักษาไว้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว และแจกจ่ายแก่ผู้ที่มาขอบ้าง เหลือเท่าใดก็ฝากธนาคารไว้ โดยคุณแม่เป็นผู้รักษาสมุดฝากที่ธนาคาร ส่วนผู้อื่นบางคนเช่นคุณสนิทก็อาจได้รับเงินเป็นบางคราว จํานวนหนึ่ง เพื่อจ่ายให้แก่เพื่อนบางคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เงินยอดนี้ที่คุณสนิทจึงลดลง เพราะมีแต่รายจ่าย

แต่นอกจากคุณสนิทแล้ว ก็ยังมีคนใกล้ชิดอื่น ๆ ที่คุณพ่อมอบเงินไว้ให้จ่ายแก่เพื่อนหากแต่เขาไม่แสดงว่า เขาเป็นผู้รวบยอดการสมุดบัญชีของคุณพ่อ ฉะนั้น แม้ผู้บอกเล่าแก่คุณ เรื่องเงินในธนาคารของคุณพ่อว่าลดลงไปทุกที จะมีเจตนาดีที่แสดงว่าคุณพ่อมิได้มีรายได้คดโกงใคร แต่ผลแห่งคําบอกเล่าก็อาจทําให้คุณพ่อเสียหาย ถ้าหากผู้บอกเล่ามีการค้าหรือการอื่นใดอันเป็นส่วนตัวของเขา อันจะทําให้คนอื่นเห็นไปว่า คุณพ่อเกิดพัวพันกับการค้าของคนนั้น ๆ ฉะนั้น ขอให้ตัดความหรือแก้ไขความโดยไม่ต้องไปอ้างชื่อว่าใครเป็นคนบอก คือให้เป็นเรื่องของคุณรู้มาเองดีกว่าโดยตัดชื่อคนที่บอกคุณออกไป เพราะถ้าจะตัดเรื่องตอนนี้เสียทั้งหมดก็จะทําให้คนเข้าใจผิด ว่าเหตุที่ต้องตัดออกทั้งหมดนั้น เพราะเป็นเรื่องที่ผมไปโกงใครมาจึงร้อนตัว

5. เรื่องคนใกล้ชิดนั้นคุณพ่อซึ่งมีงานทํามากหลายยุคหลายสมัยย่อมมีคน ใกล้ชิดมากมาย ซึ่งคุณพ่อก็มอบงานไปคนละอย่างและตามกาลสมัยต่าง ๆ กัน ไม่มีผู้ใดทีจะผูกขาด ตัดตอนว่าเป็นผู้ใกล้ชิดเสียคนเดียวรู้เรื่องของคุณพ่อไปทุกอย่าง ถ้าคุณได้ศึกษาระเบียบการของผู้ก่อการก็จะเข้าใจได้ ว่าในสมัยก่อการนั้นได้ถือระเบียบเคร่งครัด ว่าแต่ละสาย หรืออนุสาย ก็รู้งานเฉพาะที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้น คุณพ่อก็ได้ถือระเบียบนี้เคร่งครัด

โดยเฉพาะคุณสนิทนั้น มีบางกรณีที่มอบหมายคุณสนิท แต่อีกหลายกรณีก็มิได้ มอบหมาย คุณสนิทก็มีความดีอยู่มากที่ในระหว่างคุณแม่ได้ออกไปอยู่เมืองจีนกับคุณพ่อนั้น คุณสนิทก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมกับญาติมิตรอีกบางคนในการดูแลบ้าน และกิจการบางอย่าง เกี่ยวแก่ทรัพย์สิน ส่วนทรัพย์สินเช่นการขายที่ดิน ก็ได้มอบไว้ทางคุณอัมพา และพี่สาว ของผมคือคุณลลิตาก็ได้ฝากคุณอัมพาให้ดูแลและเป็นผู้พิทักษ์โดยชอบธรรม เพียงเท่านี้คุณก็ย่อมเห็นแล้วว่าคุณพ่อและคุณแม่ มิได้มอบหมายทรัพย์สินและการดูแลพี่สาวของผมให้คุณสนิท แม้คุณสนิทจะหวังดีต่อคุณพ่อ แต่ความเหมาะสมว่าคุณพ่อควรมอบงานแก่ผู้ใดนั้น ก็อยู่ในดุลยพินิจของคุณพ่อ ยังมีกรณีที่สําคัญอีกมากมายที่คุณพ่อรอดชีวิตอยู่ได้โดยญาติมิตรได้ช่วยเหลือให้ออกไปจากประเทศไทยโดยปลอดภัย ท่านเหล่านั้นก็ทําการประดุจปิดทองหลังพระ ไม่อ้างความดีว่าเป็นคนใกล้ชิด และยังไม่ต้องการเอาชื่อเสียงจนปัจจุบันนี้ และก็เป็นธรรมดาที่คุณสนิทไม่รู้รายละเอียดว่าคุณพ่อปลอดภัยได้ด้วยใครบ้าง เพราะคุณสนิทมิได้รับมอบหมายให้จัดการในเรื่องนี้

ขอส่งความระลึกถึงมายังคุณและครอบครัว และขอฝากความคิดถึงมายังคุณพินิจด้วย

ปาล พนมยงค์

(จดหมายตัวจริงเลือนลาง จึงใช้ตัวเรียง)

 

จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงนายสุพจน์ ด่านตระกูล

 

จดหมายฉบับที่ 1

อองโตนี

9 กันยายน 2515

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่รัก

ได้อ่านบทความของคุณที่ลงในนิตยสาร “ชาวบ้าน” และ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งคุณได้ชี้แจงความจริงและความเห็นที่เป็นธรรมเพื่อแก่การใส่ร้ายต่อผมและคณะราษฎรแล้ว ผมขอแสดงความขอบคุณมายังคุณเป็นอันมาก ขอผลแห่งความเป็นธรรมของคุณดลบันดาลให้คุณประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ประสบความสุขความเจริญในกิจการเพื่อชาติและราษฎรไทยและเพื่อส่วนตัวของคุณด้วยทุกประการ

ปัจจุบันนี้มีคนไทยในโลกตะวันตกจํานวนหลายหมื่นคน อาทิ ใน ส.ร.อ.(สหรัฐอเมริกา-กองบรรณาธิการ) ประมาณ 25,000 คน ในอังกฤษประมาณ 3,000 คน ในเยอรมันประมาณ 2,000 คน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีกประมาณ 3,000 คน คนไทยเหล่านี้พวกปฏิกิริยาชนิดเหล้าเก่าในขวดใหม่พยายามที่จะปลุกปั่น เอาเป็นพวกเพื่ออุดมคติถอยหลังเข้าคลอง…บางคนที่ถูกกรอกสมองมาตั้งแต่ยังอยู่ในเมืองไทยก็เคลิบเคลิ้มไป แต่หลายคนก็ใช้สติปัญญาพิจารณาว่าสิ่งใดควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ นอกจากนั้นก็มีพวกกลาง ๆ และมีพวกก้าวหน้าที่แท้จริงจํานวนหนึ่ง

เท่าที่แล้วมาสมาชิกคณะราษฎรส่วนมากได้ปล่อยปละละเลยให้มีผู้โจมตีไม่เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น คือยังมีพวกศัตรูโจมตีในต่างประเทศอีกด้วย ส่วนพวกก้าวหน้าที่แท้จริงก็ขาดความเอาใจใส่ต่อปัญหาคนไทยในต่างประเทศโดยไม่ศึกษาประวัติของนักอภิวัฒน์ให้ตลอด ถ้าคุณมีโอกาสก็ขอให้ศึกษาเพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่งด้วย ผมหวังว่าเมื่อคุณมีโอกาสก็คงจะสละเวลาเดินทางมายุโรปสักครั้งหนึ่งซึ่งจะได้เรื่องราวไปเขียนเพื่อประโยชน์ของราษฎรได้อีกบ้างตามสมควร เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าปราชญ์ผู้แต่งทฤษฎีที่ก้าวหน้า ก็ได้มาอยู่ในยุโรปตะวันตกหลายปี บางท่านก็อยู่จนสิ้นอายุขัย ท่านโจวก็มาเริ่มก่อตั้งเยาวชนที่ปารีสและเยอรมันนีระหว่าง ค.ศ. 1920 ถึง 1923 หลี่ลี่ชาน เติ้งเสี่ยวผิง จูเต๋อ ช่ายข้างกับสามีและพี่ชายก็มาเคลื่อน ไหวในยุโรปตะวันตกก่อนกลับประเทศของตน ดังนั้นคนไทยในต่างประเทศจึงมีบทบาทสําคัญอยู่ไม่น้อย

บทความของคุณถ้าจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ ใช้กระดาษปรูฟ ขอให้คุณปราโมทย์ช่วยจัดพิมพ์โดยพิมพ์ขึ้นประมาณ 1,000 เล่ม แล้วแจกมายังสถานทูต สถานกงสุล สํานักผู้ดูแลนักเรียนและสมาคมนักเรียนเพื่อให้เขาแจกจ่ายกันต่อไปก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ส่วนที่อยู่ของผู้ที่จะส่งบทความของคุณให้นั้นก็ขอให้วานคุณเยื้อนหรือคุณปราโมทย์ สืบถามจาก ก.พ. และจากกระทรวงต่างประเทศ และจากนักเรียนที่กลับมาแล้วบางคน

 

ในที่สุดนี้ ขอส่งความรักและคิดถึงมาด้วย

 

จดหมายฉบับที่ 2

15 ม.ค. 2516

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่รัก

ได้รับ จ.ม.พร้อมทั้งหนังสือเรื่องรัฐบุรุษลี้ภัยรัฐประหารแล้ว ขอบใจมากในความปรารถนาดีของคุณ เพื่อที่หนังสือที่คุณจะแต่งต่อไป ผมมีข้อสังเกตุที่ขอให้คุณรับไว้ดังต่อไปนี้

1. ผมปรารถนาที่จะใคร่ให้หนังสือที่คุณแต่งเป็นหนังสือที่เยาวชนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปอ้างเป็นหลักฐานที่เขาจะค้นคว้าต่อไปสมดังที่ผมได้กล่าวชมเชยต่อนักเรียนในยุโรปหลายคนว่าพวกหัวนอกปริญญาสูง ๆ หลายคนที่เขียนลงในนิตยสารนั้นสู้คุณซึ่งมิได้มีปริญญาไม่ได้…ขอให้คุณรักษาหลักการนี้ไว้และปฏิบัติต่อไปตามที่ผมได้ชมเชยไว้ ดังนั้น

ก. ขอให้คุณถือเอาหลักฐานทางการที่ไม่อาจมีผู้ใดปฏิเสธได้เป็นหลักสําคัญ

ข. เรื่องที่มีคนอื่นเขียนก็ดี เล่าให้คุณฟังก็ดีนั้น ขอให้คุณสอบสวนให้แน่นอนเสียก่อนรวมทั้งใช้เหตุผลอย่างคอมมอนเซ็นส์ว่าข้อเขียนและคำบอกเล่านั้นจะเป็นจริงและจะเสียหายในด้านมุมกลับอย่างไร

ค. ข้อวิจารณ์ของคุณจากหลักฐานเอกสารแน่นอนและคําบอกเล่าซึ่งคุณจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ย่อมทำได้

2. เรื่องผมลี้ภัยรัฐประหารนั้นมีคําบอกเล่าที่คลาดเคลื่อนสําคัญที่ขอให้คุณรับทราบไว้คือ พระองค์เฉลิมพล (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร-กองบรรณาธิการ) มิได้ไปติดตามผมที่บ้านเดนิสและมิได้เอาเครื่องบินไล่ติดตามเลย ถ้าผู้นี้คัดค้านจะทําให้หนังสือนั้นเสื่อมเสียไป อนึ่งถ้ามองในด้านมุมกลับแสดงว่าการลี้ภัยของผมก่อนถึงสิงคโปร์นั้นรั่ว ความเสียหายตกอยู่แก่ผู้ช่วยเหลือที่เขารักษาความลับเป็นอย่างดี พระองค์เฉลิมพล เป็นคนจับคุณเฉลียวที่สนามม้า เจ้าที่ไปบ้านเดนิสคือ ม.จ.นิทัศน์ที่เรียกกันว่า “ท่านบู้” เขามิได้ไปเพื่อจับผมแต่บังเอิญผมไปบ้านเดนิส เขาก็มีธุระมาหาเดนิสซึ่งขณะนั้นเป็นทูตทหาร เรือของเขาใช้ให้ไปพบพิบูลตั้งแต่วันแรกมี ร.ป.ห. ผู้จัดการบริษัทน้ํามันนั้นไม่ใช่ “อาดัม” ดูเหมือนชื่อ “อีเวนส์” ขอให้คุณสอบดูอีกครั้งไม่ควรเขียน หรือแปลจากหนังสืออื่นจะทําให้หนังสือที่คุณแต่งเสียหลักฐานไป พวกจัดการบริษัทน้ํามันนี้รู้จักผมดีเพราะผมเคยช่วยความเป็นธรรมเมื่อก่อนสงครามที่จอมพลฯ จะเอาน้ํามันจากญี่ปุ่นมาแข่งขัน และระหว่างสงครามพวกนี้ถูกญี่ปุ่นจับ ไปเป็นเชลยทําทางรถไฟสายมรณะ พวกเขาอัตคัดเงิน พวกเราเคยช่วยรับเช็คที่พวกเขาแอบเขียนไว้ เสร็จสงครามเขามาหาผมแสดงความขอบใจ ฉนั้นจึงมิใช่ว่าเขาไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ความช่วยเหลือจากผม คุณเข้าใจว่าฝรั่งนายทุนนั้นไม่ใจดีถึงขนาดที่จะช่วยคนที่ไม่รู้จัก และเขาจะช่วยเพียงที่ไม่นานนักแล้วเขาก็จะทําอุบายให้เราออกจากสิงคโปร์ โดยจับคุณเฉียบเป็นการตีวัวกระทบคราด ดังนั้นก่อนวิจารณ์คําบอกเล่าจึงขอให้คุณคิดให้รอบคอบทั้งด้านตรงและด้านมุมกลับ

3. เล่มต่อไป “จากกรุงเทพฯ ถึงปักกิ่ง” นั้น มีคนช่วยเหลือผมอยู่หลายคนที่เขายังสงวนความลับอยู่ ถ้าคุณงดไว้ชั่วคราวได้จะขอบใจมากเพราะถ้าคุณเขียนจากคําบอกเล่าและคําสันนิษฐานผิดพลาดไปแม้แต่น้อย ผู้ช่วยเหลือผม ก็จะเข้าใจผิดว่าผมบอกให้คุณเขียนเช่นนั้นโดยลืมผู้มีบุญคุณช่วยชีวิตไว้ เรื่องนี้ยังเป็นความลับอีกมาก ผมขอร้องคุณให้เห็นใจโดยยับยั้งไว้อย่างเด็ดขาด อนึ่งขอแจ้งให้คุณทราบว่าหนังสือที่ผมแต่งเกี่ยวกับชีวิตและการไปเมืองจีนเป็นภาษาฝรั่งหลายภาษาจะพิมพ์ออกในไม่ช้านี้ ถ้าคุณเขียนอย่างหนึ่งและผมเขียนอีกอย่างหนึ่งก็จะทําให้หนังสือที่คุณแต่งหมดคุณค่าไป และจะเกิดเสียหายแก่ผมมากซึ่งสํานักพิมพ์ทางนี้ก็ดี ผู้วิจารณ์ทางนี้ก็ดีจะพากันโจมตีผมทําให้หนังสือของผมหมดคุณค่าและขาดทุนย่อยยับทีเดียวเพราะการแต่งหนังสือทางนี้ผมต้องเอาบํานาญลงทุนจ้างคนพิมพ์โรเนียวทําเล่มชั่วคราว จ้างเขียนและอัดภาพ ขอให้คุณถามคุณอิสสระและคุณโอฬารตามสกุลที่ได้มาเห็นด้วยตาว่าเราทํางานนี้อย่างรับผิดชอบเหน็ดเหนื่อยจริงจังอย่างไร จึงขอให้คุณรอไว้ว่าผมได้เขียนเพียงแค่ไหนอย่างไรแล้วจึงปรึกษากันว่าภาษาไทยจะพิมพ์แค่ไหน นอกจากนี้ต้องขอบอกว่าอเมริกันในไทยบางคนได้ส่งต้นฉบับที่เขาเขียนตามคําบอกเล่าและอ้างหนังสือของคุณที่แต่งมาแล้วด้วยนั้นส่งไปยังสํานักพิมพ์ที่อเมริกาเพื่อพิมพ์ตัดหน้าหนังสือของผม เรื่องกําลังต่อว่ากันอยู่ ขอให้คุณเห็นใจผมด้วย

4. เล่มต่อไปที่คุณปรึกษามาคือ “ท่านปรีดีกับราชบัลลังก์และกรณีสวรรคต” นั้น คุณเขียนได้โดยเงื่อนไขว่า

ก. เอาหลักฐานทางการและรายงานพิจารณาของศาลตลอดคําฟ้องคําขมาจําเลยเป็นหลัก แล้ววิจารณ์โดยมิให้ศาลถือว่าเมิดอํานาจศาลที่ยังมีตุลาการให้ความเป็นธรรมแก่ผมอยู่ และอย่าให้พวกปรปักษ์ต่อความยาวสาวความยืดที่ผมจะต้องตามไปแก้อีก

ข. ที่คุณจะอ้างหนังสือครูเกอร์นั้นต้องปรึกษาคุณอิสสระและทนายของเราคือคุณชิต เวชประสิทธิ์ ช่วยกันวิจารณ์และช่วยคุณอย่างละเอียดเพราะเรื่องล่อแหลมมาก อนึ่งครูเกอร์เขียนตามคําบอกเล่าที่คลาดเคลื่อนหลายตอน ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูเกอร์อยู่แล้วเมื่อเขาพิมพ์ใหม่ในภาษาต่าง ๆ ขอให้คุณนึกว่าหนังสือของคุณนั้นมิใช่คนในเมืองไทยที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเท่านั้นเป็นผู้อ่าน นักเรียนนอกที่รู้ภาษาฝรั่งก็อ่าน ซึ่งเวลานี้มีจํานวนกว่าหมื่นคน ถ้าเขาอ่านครูเกอร์ฉบับใหม่ กับของคุณที่อ้างครูเกอร์ฉบับเก่า เรื่องก็จะไปกันใหญ่

ค. ทางที่ดีผมเห็นว่าคุณเอาเรื่องจากหนังสือแจกวันคล้ายวันเกิดของผม, สํานวนที่มหาเปรื่องพิมพ์, ก็จะพอแก่การทําเล่มใหม่นี้ของคุณได้

 

ขอขอบใจอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยความรักและคิดถึง


 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำ และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม 

  • สุพจน์ ด่านตระกูล, มรดกปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง สำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์, ม.ป.ป.)