ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475-2490

8
มิถุนายน
2563

1. การยึดอำนาจการปกครองของคณะราษฎร

การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับว่าเป็นจุดสุดยอดของการสะสมความต้องการในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีการประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรม แก่คณะราษฎรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475

1.1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนำขึ้นทูลเกล้าถวาย  รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 39 มาตรา ร่างโดยคณะราษฎร  จากธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวแสดงว่า คณะราษฎรได้อำนาจควบคุมการปกครองไว้ทั้งหมด แม้แต่เสนาบดีก็ต้องขึ้นกับคณะราษฎร  สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ประชุมเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานสภาราษฎรคนแรก  หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการ  ในการประชุมครั้งนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เสนอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) ที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ประกอบด้วยกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) อีก 14 นาย ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวิถีทางแห่งธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

1.2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 68 มาตรา ร่างโดยอนุกรรมการซึ่งสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้แต่งตั้งขึ้น และได้แสดงความหวังว่า “ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรของเรานี้ยังยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปวสาน สมดังพระบรมราชประณิธานทุกประการเทอญ”[1]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 นี้ ก็มิได้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรเหมือนกับรัฐธรรมนูญอังกฤษหรืออเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากความผันผวนทางการเมือง ต่อมาคณะราษฎรเกิดแตกแยกกัน ประกอบกับประชาชนสนใจระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ประสงค์ที่จะให้เห็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์[2] แต่ก็ถือได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุการใช้ยาวนานที่สุด โดยเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่เคยมีมา คือใช้เกือบ 14 ปี นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับการยกย่องว่า ร่างกะทัดรัดที่สุด และร่างขึ้นโดยการออมชอมและการผ่อนปรนของทุกฝ่าย[3]

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2489 คณะรัฐมนตรีเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้าสมัย จึงได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาผู้แทนฯ ก็เห็นชอบ และได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

 

2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ  พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ไม่ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลเอง คณะราษฎรได้มอบหมายให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งนี้โดยหวังว่าคณะรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนนางเก่าจะเป็น “ตัวเชื่อม” หรือ “กันชน” ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่[4] แต่แล้วเหตุการณ์ได้ผันแปรไปจากที่คณะราษฎรคาดหวังไว้ เป็นเหตุให้พันโท หลวงพิบูลสงคราม ร่วมมือกับพันเอก พระยาพหลฯ นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ชิงก่อการรัฐประหารเสียก่อน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 แล้วบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากยึดอำนาจไว้ได้โดยเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลคณะรัฐประหารก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงสาเหตุแห่งการทำรัฐประหารในครั้งนี้ มีใจความว่า “ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญอันเป็นอันมากหลาย คณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จึงเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนฯ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎร ประชาชนทั้งหลาย อย่ามีความตระหนกตกใจ จงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง”[5]

การรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่นำทหารเข้ามาควบคุมระบอบการเมืองอย่างเต็มที่ อำนาจทางการเมืองอยู่ในความควบคุมของกลุ่มพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำให้ฐานะของคณะราษฎรดีขึ้น แต่ความขัดแย้งกับกลุ่มเจ้านายยังคงมีอยู่ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันเป็นสาเหตุนำไปสู่กบฏบวรเดชในระยะต่อมา

 

3. กบฏบวรเดช

กบฏบวรเดชเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11-25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า  ผู้ร่วมก่อการกบฏประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ประชาชน และเจ้านายที่ไม่พอใจเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก  ฝ่ายกบฏมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการก่อกบฏในครั้งนี้คือ ต้องการให้รัฐบาลจัดการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยตามกติกาการเมืองที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และด้วยความไม่พึงพอใจในการกระทำของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การเข้ามามีอำนาจทางการเมือง โดยใช้กำลังเป็นเครื่องมือและใช้กลวิธีต่าง ๆ ในการบริหารบ้านเมือง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมแก่ประชาชน และการยินยอมให้ข้าราชการประจำเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ผลจากการปราบปรามกบฏ รัฐบาลทำการกวาดล้าง จับกุม และสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจจากการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2476 ซึ่งผลของคำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาด ใช้บังคับคดีได้ทันที ไม่มีอุธรณ์ ฎีกา[6]

การเกิดกบฏบวรเดชในครั้งนี้ ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อฐานะและราชบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าตลอดเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ พระองค์ทรงเป็นกลาง แต่ความเข้าใจของรัฐบาลก็เชื่อว่า พระองค์มีส่วนช่วยเหลือเพื่อดึงอำนาจเข้าสู่ระบอบเก่าอีก[7]

 

4. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ

หลังจากที่คณะราษฎรโดยการนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้าครอบครองอำนาจปกครองในฐานะรัฐบาลอย่างเปิดเผย  ความขัดแย้งระหว่างพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลในเรื่องการบริหารประเทศก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง  กรณีกบฏบวรเดชทำให้รัฐบาลไม่ไว้วางใจพวกเจ้ามากขึ้น โดยเข้าใจว่าพวกเจ้ายังต้องการที่จะยึดอำนาจกลับคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[8] ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงมีความรู้สึกว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนไม่เห็นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์  การดำเนินการในเรื่องสำคัญ ๆ รัฐบาลทำโดยไม่ปรึกษา และพอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง[9] ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งเสด็จไปประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ส่งพระราชบันทึกต่อรัฐบาล ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2477

จากพระราชบันทึกที่ส่งมาให้รัฐบาลส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลไม่อาจจัดถวายตามพระราชประสงค์ได้ โดยรัฐบาลได้ตอบพระราชบันทึกแบบเลี่ยงที่จะปฏิบัติตาม[10] เมื่อพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นว่าไม่สามารถปกป้องคุ้มครองบุคคลใดได้ตามรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติโดยทรงมีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 2 มีนาคม 2477

 

5. บทบาทของรัฐบาลทหารสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม พ.ศ. 2471-2487

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อจากรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจการปกครองอย่างเฉียบขาด นับตั้งแต่วาระการเข้าดำรงตำแหน่งครั้งแรกจนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจ ทั้งนี้เห็นได้จากการเสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษพุทธศักราช 2482 เพื่อกำจัดบุคคลที่สงสัยว่าเป็นศัตรูทางการเมืองของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล  นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายปกครองประเทศในลักษณะที่ส่งเสริมอำนาจเผด็จการ มีการส่งเสริมลัทธิชาตินิยมเพื่อปลูกฝังให้คนไทยเกิดความรักชาติอย่างแรงกล้า ในขณะเดียวกันก็ควบคุมวิถีชีวิตของคนไทยทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม  กล่าวคือ ทางการเมืองรัฐบาลผูกขาดอำนาจโดยคณะราษฎรไม่ยินยอมให้ตั้งพรรคการเมืองอย่างอื่นขึ้นมาแข่งขัน  ต่อมาได้จำกัดสิทธิการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยไม่ให้มีการเลือกตั้งตามวาระ  ทางเศรษฐกิจรัฐบาลส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบชาตินิยม  ทางสังคมรัฐบาลใช้นโยบายควบคุมวิถีชีวิตในสังคมนับแต่การกินอยู่หลับนอน ไปจนถึงการแต่งกายอื่น ๆ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้นโยบายให้ตามผู้นำ ซึ่งมีคำขวัญกล่าวว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับระบบเผด็จการฟาสซิสต์และนาซีใช้ปกครองอยู่ในประเทศอิตาลีและเยอรมนี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมลัทธิทหารนิยม และทำให้อำนาจเผด็จการทางทหารมีลักษณะเด่นชัดยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังยินยอมให้มีรัฐบาลเป็นสถาบันรองรับความชอบธรรมในการปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 โดยมีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เนื่องจากประเทศอยู่ในภาวะสงคราม

ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำคณะรัฐบาลลาออกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนครบาลเพชรบูรณ์ และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑลไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร  ภายหลังจากที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อนุมัติใบลาออกของจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว สภาฯ ได้ทำการเปิดประชุมเพื่อนซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2487 ในการประชุมครั้งแรกสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกให้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี  ปรากฏว่าท่านปฏิเสธโดยอ้างว่าสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่เหตุผลที่แท้จริงเนื่องจากพันเอก พระยาพหลฯ เห็นว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังต้องการดำรงตำแหน่งต่อไป ท่านจึงไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[11]

 

6. บทบาทของรัฐบาลพลเรือน พ.ศ. 2487 - 2490

ในระยะนี้มีรัฐบาลพลเรือน 6 ชุด คือ

6.1 รัฐบาลพลเรือนชุดพันตรี ควง อภัยวงศ์ (1 สิงหาคม 2487 -17กรกฎาคม 2488)

ในระยะที่นายควง อภัยวงศ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าทางราชการผ่อนปรนข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งออกประกาศใช้ตามนโยบายรัฐนิยม และกฎอัยการศึกสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2487 ประเทศไทยทราบข่าวการยอมแพ้ของญี่ปุ่น นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทันที เพื่อพิจารณาเรื่องการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง[12] แต่ปรากฏว่า นายปรีดี พนมยงค์ ต้องการให้นายควงฯ อยู่บริหารประเทศต่อไป ดังนั้น นายควงฯ จึงได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมปรึกษาในคณะรัฐมนตรี  ต่อมานายควงฯ ได้นำมติของคณะรัฐมนตรีไปแจ้งแก่นายปรีดีฯ เพื่อยืนยันการลาออกโดยชี้แจงว่าตนเองเป็นรัฐบาลชุดที่ร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้ก็ต้องลาออก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงยอมอนุมัติการลาออกของนายควง อภัยวงศ์

6.2 รัฐบาลพลเรือนสมัยนายทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม - 17 กันยายน 2488)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายปรีดี พนมยงค์ มาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะนายปรีดีฯ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีบทบาทในการจัดให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เข้าบริหารประเทศ  สำหรับนายทวี บุญยเกตุ เป็นบุคคลที่นายปรีดี และสภาผู้แทนราษฎรให้ความเชื่อถือและไว้วางใจให้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นการชั่วคราว เนื่องจากนายทวีฯ มีส่วนร่วมกับคณะราษฎรมาตั้งแต่แรก ถึงแม้จะบริหารประเทศในระยะสั้น แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญหลายประการ เช่น การเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร เกี่ยวกับข้อตกลงเบื้อต้นทางทหารและเศรษฐกิจ

6.3 รัฐบาลพลเรือนชุดหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (17 กันยายน - 24 มกราคม 2489)

เนื่องจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีสภาฯ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งเป็นเวลานาน ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ทำให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยความยากลำบาก เพราะสภาฯ คอยคัดค้านรัฐบาลอยู่เสมอ ทั้งนี้เนื่องจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นบุคคลที่ถูกนายปรีดีฯ กำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีพรรคพวกในสภาฯ เลย เพราะไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองภายในประเทศมาก่อน เมื่อรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสภาฯ ได้ เช่นนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จึงตัดสินใจยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ แล้วรัฐบาลก็ออกไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วย แต่ในระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อรอการเลือกตั้งได้ดำเนินการทางการเมืองที่สำคัญหลายประการ เช่น ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489

6.4 รัฐบาลพลเรือนชุดนายควง อภัยวงศ์ (31 มกราคม - 18 มีนาคม 2489)

นายควง อภัยวงศ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2489[13] เมื่อพิจารณาดูรายชื่อคณะรัฐมนตรีแล้วปรากฏว่าไม่มีพรรคพวกของนายปรีดีฯ ร่วมอยู่เลย ทั้งนี้ เพราะนายควงฯ ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติของนายปรีดีฯ อีกต่อไป แต่ในที่สุด นายควงฯ จึงนำคณะรัฐมนตรีลาออกตามวิถีทางประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2489 เนื่องจากรัฐบาลไม่อาจรับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขันได้

6.5  รัฐบาลพลเรือนชุดนายปรีดี พนมยงค์ (24 มีนาคม - 21 สิงหาคม 2489)

ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ได้แก่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งดำเนินการร่างมาตั้งแต่สมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ จึงนำคณะรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2489 นายปรีดีฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง แต่ยังไม่ทันนำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเสียก่อน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคต ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน รัฐบาลตกอยู่ในสภาพที่ลำบากที่สุด จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายปรีดีฯ ดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง เสียงตำหนิรัฐบาลหาได้ลดลงแต่อย่างใดไม่ นายปรีดี พนมยงค์ จึงนำคณะรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2489 โดยอ้างเหตุผลว่า “เนื่องจากทำงานสนองคุณของชาติมาเป็นเวลานานพอสมควร รู้สึกว่าอนามัยเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่”[14]

6.6 รัฐบาลพลเรือนชุดพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (23 สิงหาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490)

เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งไปก็ได้กลับไปอยู่หลังฉากการเมืองอย่างเดิม โดยสนับสนุนให้พรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญร่วมกันเสนอพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทนต่อมา  ปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลต้องเผชิญและดำเนินการแก้ไขพอสรุปได้คือ ปัญหาทางด้านการคลัง และกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากรัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคณะกรรมการไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ประชาชนได้ เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านกล่าวโจมตีทั้งในและนอกสภา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐประหารอ้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

   

7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงภายในประเทศอยู่ตลอดเวลา เมื่อสงครามยุติลงจึงได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาได้เลือกให้นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 นายควงฯ ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถรับหลักการในพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 ได้ แต่รัฐสภาได้ลงมติรับหลักการพระราชบัญญัตินี้[15] สมาชิกรัฐสภาจึงเลือกให้นายปรีดี พนมยงค์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารแต่อย่างใด

เมื่อวิเคราะห์ดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะเห็นว่า ต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสมาชิกพฤติสภาก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาทั้งสองไม่เป็นข้าราชการประจำ เป็นการแยกข้าราชการออกจากการเมืองเป็นครั้งแรก นอกจากนี้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง  แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อำนวยผลประโยชน์ให้บุคคลสำคัญมีบทบาทในการร่างอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ในบทเฉพาะการระบุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤติสภา ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ เลือกสมัครพรรคพวกเป็นสมาชิกพฤติสภาเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ การห้ามข้าราชการประจำยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นการกีดกันและสกัดกั้นอิทธิพลของทหารประจำการมิให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะปันป่วนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ จึงทำให้รัฐธรรมนูญมีอายุเพียง 18 เดือน และหมดอายุไปพร้อมกับรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

8. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

รัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นับเป็นความพยายามของทหารบกที่ต้องการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหมดอำนาจลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและพวกถูกจับในข้อหาอาชญากรสงคราม ระบบรัฐสภาเฟื่องฟูถึงขีดสุด รัฐบาลเข้าออกตามวิถีทางรัฐสภา ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ได้วางหลักการแยกข้าราชการประจำกับการเมือง ทำให้ทหารต้องถอดเครื่องแบบจึงจะเข้ามาแข่งขันทางการเมืองได้ รัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำของฝ่ายทหารบกซึ่งมีหัวหน้าคนสำคัญได้แก่ พลโท ผิน ชุณหะวัน อดีตแม่ทัพภาคพายัพแต่ฝ่ายเดียว ผิดกับการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 อันเกิดจากการร่วมมือกันทั้งสามฝ่ายของพลเรือน ทหารบก ทหารเรือ จึงทำให้ฝ่ายทหารปกครองอำนาจตั้งแต่นั้นมา

ภายหลังยึดอำนาจได้สำเร็จคณะรัฐประหารจึงนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามเพื่อประกาศใช้

8.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

มีบทบัญญัติรวม 98 มาตรา โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้อำนวยการร่างโดยพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีบุคคลร่วมทำการร่างอีกหลายคน เช่น พระยาลัดพลีธรรมประดัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา พันเอก สุวรรณ เพ็ญจันทร์ เจ้าหน้าที่กรรมพระธรรมนูญทหารบก นายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์ุ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ร้อยเอก ประเสริฐ สุดบรรทัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ[16]

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ได้สมญาว่า “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” เนื่องจากเมื่อร่างเสร็จแล้ว พันเอก กาจ กาจสงคราม ได้นำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำก่อนทำรัฐประหาร เพราะเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลค้นพบ และถูกข้อหากบฏ 

คณะรัฐประหารอ้างเหตุผลในการประกาศใช้ว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เหมาะสมกับประเทศชาติและกาลสมัยที่ล่วงมาแล้ว และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมได้ คณะรัฐประหารเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งเป็นการบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้สู่ภาวะปกติได้สืบไป[17] รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญถาวรแล้วเสร็จ และนำมาประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492

 

 

ที่มา: วิภาลัย ธีรชัย, การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆ, เอกสารทางวิชาการ หมายเลข 2/007(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2524), หน้า 19-29.

 

 

เชิงอรรถ:

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475.

[2] รอง ศยามานนนท์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2520), หน้า 58-59.

[3] ไพโรจน์ ชัยนาม, สถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับระบอบการปกครองของไทย (นครหลวง : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2515), หน้า 25.

[4] แถลงการณ์เรื่องสมาคมคณะราษฎร ในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2475.

[5] สิริ เปรมจิตต์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี (พระนคร : โรงพิมพืฟื่องอักษร, 2505), หน้า 51.

[6] โปรดดูพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 50 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2476, หน้า 602.

[7] เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, การปฏิวัติ 2475, หน้า 64.

[8] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต, หน้า 706-709.

[9] สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, “บันทึกทรงเล่า”, เบื้องแรกประชาธิปไตย, หน้า 16-17.

[10] เกียรติชัย พงษพาณิชย์, ปฎิวัติ 2475, หน้า 76-78

[11] ชลอ ศีศรากร, สันติบาลใต้ดิน (พระนคร : โรงพิมพ์มิตรไทย, 2499), หน้า 24.

[12] แผนกเก็บ สลร., รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งพิเศษ/2487 (15 สิงหาคม 2487) เรื่องการลาออก.

[13] “ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 63 ตอนที่ 9 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2489.

[14] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมการช่าง,2517), หน้า 550.

[15] วิเทศกรณีย์, ประวัติศาสตร์ชาติไทย, หน้า 370.

[16] หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490.

[17] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490.