ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับปฐมรัฐธรรมนูญ

18
มิถุนายน
2563

ในการเสวนาเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ได้ร่วมอภิปราย ความตอนหนึ่งดังนี้

ความจริงการเสวนาในวันนี้มีสองมิตินะครับที่กําหนดเป็นหัวข้อ มิติทางประวัติศาสตร์และมิติทางรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2745 พี่สุพจน์ [ด่านตระกูล] ได้พูดถึงมิติทางด้านประวัติศาสตร์ไปในรายละเอียด ผมจะขอให้ข้อสังเกตบางประการทางด้านมิติรัฐธรรมนูญฉบับแรก 

ก่อนอื่น ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะเน้นจะเตือนพวกเรารุ่นหลัง บอกว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นไม่ใช่เป็นการปฏิวัติ ไม่ใช่เป็นการพลิกแผ่นดิน เพราะคําว่าปฏิวัตินั้น ตามรูปศัพท์เป็นการหมุนกลับไปในทางล้าหลัง แต่คําว่า “อภิวัฒน์” นั้น เป็นเรื่องของการเจริญก้าวหน้าไปในอนาคต  ท่านจะใช้คําว่า “อภิวัฒน์” เสมอ

ผมพยายามศึกษาในสองมิติด้วยกัน  มิติทางประวัติศาสตร์อย่างที่พี่สุพจน์กล่าวแล้ว เราจะสังเกตเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่แท้จริงของประเทศสยาม คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475  

ก่อนอื่น คําว่า “ชั่วคราว” นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ที่เติมเอง วงเล็บมาเลยนะครับ  ทีแรกผมก็พยายามคิดอยู่เหมือนกัน เพราะว่า ถ้อยคําตามธรรมนูญฉบับนี้กับถ้อยคําในแถลงการณ์ของคณะราษฎรที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านเมื่อตอนเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จะต้องยอมรับว่า ถ้อยคําเป็นถ้อยคําที่แข็งมีน้ำหนักมาก อ่านแล้ว ฟังแล้วสะเทือนใจ ในอดีต ปัจจุบัน และแม้ในอนาคต  ทั้งทางฝ่ายเจ้าและฝ่ายประชาชนต้องยอมรับความจริงในเรื่องนี้  ท่านอาจารย์ปรีดีบอกว่า ท่านก็มีความรู้สึกเช่นนั้นเช่นเดียวกัน เพราะว่าตอนนั้นคําแถลงการณ์มุ่งถึงความสําเร็จเป็นสําคัญ ตอนหลังก็ได้กราบขอพระราชทานอภัยโทษ 

ในขณะเดียวกันถ้อยคําในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลายถ้อยคํา นํามาจากแถลงการณ์ในตอนเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผมพยายามศึกษาแล้วผมก็ไม่กล้าพูด ตัวธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี่นะครับ ใครเป็นผู้ยกร่างไม่แน่ใจ แต่ก็ได้อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ ท่านอาจารย์ปรีดี ได้กล่าวไว้เองเป็นการให้สัมภาษณ์ คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ เป็นคนถาม 

ขออนุญาตอ่านนะครับ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “10 ธันวาคม วารสาร อมธ.” ความตอนนี้มีอยู่ดังนี้ครับ อยู่ในหน้า 43 “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ผมในนามคณะราษฎร เป็นผู้ยกร่างขึ้น เดิมไม่มีคําว่า “ชั่วคราว”  เมื่อผมนําไปทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าฯ ที่วังสุโขทัย พระองค์ได้ขอให้เติมคําว่า “ชั่วคราว” แล้วก็ได้ทรงเขียนลายพระหัตถ์เองเติมคําว่า “ชั่วคราว” ไว้ โดยรับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อน แล้วจึงตั้งกรรมการให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น โดยทรงเห็นชอบโดยการให้มีสภาเดียว”

ผมคิดว่าอันนี้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่น่าจะได้ข้อเท็จจริง เอามาเป็นคําตอบของพี่สุพจน์  พี่สุพจน์ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “หลัง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านอาจารย์ปรีดีได้นําธรรมนูญฉบับนี้ไปถวายให้ท่านลงพระปรมาภิไธย ท่านบอกว่าขอรอไว้ประมาณ 1 วัน” ผมได้นําเอาเอกสารต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน จึงคิดว่าธรรมนูญฉบับนี้ ท่านอาจารย์ปรีดีได้ร่างพร้อมกับแถลงการณ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร่างขึ้นมาพร้อมกัน แต่เอาไปถวายที่วังสุโขทัย ไม่ใช่ที่หัวหิน นี่จึงเป็นสิ่งที่มีความสําคัญในทางประวัติศาสตร์  

ผมได้เอกสารมาชิ้นหนึ่งครับ เป็นเอกสารที่สําคัญมาก เป็นเอกสารอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นหนังสือเล่มเดียวที่หาได้ในขณะนี้นะครับ อาจจะมีเล่มอื่น เป็น คําอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ของ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) น่าสนใจมากครับ  ผมจะนําบางตอนเอามาอ่านให้ฟัง  คิดว่าเป็นสิ่งน่าจะได้ศึกษากันต่อไป  ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงลักษณะทั่วไป พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ความตอนหนึ่ง สําคัญมากครับ  อาจารย์หลวงจักรปานเขียนหนังสือเล่มนี้ หนึ่งเดือนหลังจากวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 

ท่านบอกว่า นับว่าเป็นของประหลาดมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในตํานานกฎหมายของโลก จะหาที่อื่นเปรียบได้ยาก จากตัวบทแห่งธรรมนูญปกครองที่พอสันนิษฐานได้ว่า ผู้ร่างตั้งใจจะเอาลัทธิและวิธีดําเนินการของประเทศที่มีธรรมนูญปกครองใหม่ๆ เช่น จีน รัสเซีย เติร์ก เข้าผสมกับลัทธิและหลักดําเนินการของประเทศที่มีธรรมนูญเก่าๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น รวมกันเข้าเป็นโครงแล้วปรับเข้ากับลัทธิและหลักการของประเทศสยาม เช่น พระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470 (ท่านไม่ได้ระบุนะครับ อันนี้ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้เขียน) 

อาจารย์หลวงจักรปาณีเขียนหนังสือเล่มนี้ตอนเป็นผู้พิพากษา อายุเพียงแค่ 29 ปี ท่านอธิบายในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวนี้ออกมาด้วยกันในธรรมนูญ 29 มาตรา ท่านอธิบายในสิ่งที่ผมจะขออนุญาตหยิบยกขึ้นมา ที่น่าสนใจบางเรื่อง คือ ในเรื่องของคณะกรรมการราษฎร  ท่านบอกว่า คณะกรรมการราษฎรตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว คณะกรรมการราษฎรทําการแทนกษัตริย์ได้ ผมมาดูตัวบทกฎหมายในฐานะที่เราเรียนกฎหมาย ปรากฏว่าเป็นความจริง

ความนี้อยู่ในมาตรา 5 บัญญัติไว้อย่างนี้ “ถ้ากษัตริย์มีเหตุจําเป็นชั่วคราวที่จะทําหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน” เพียงในหลวงเสด็จไปประทับต่างจังหวัด โดยอํานาจของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้เป็นอัตโนมัติเลย คณะกรรมการราษฎรทําการแทนกษัตริย์ชั่วคราวได้เลยครับ 

อาจารย์หลวงจักรปาณีอธิบายไว้ว่า ในช่วงนั้นมันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สําคัญมาก จําเป็นที่จะต้องมีการปกครองประเทศอย่างสืบเนื่องอย่างไม่ขาดสาย เพราะฉะนั้น ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ ก็จําเป็นที่จะต้องมีผู้ปกครองแทน ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว จึงได้เขียนไว้โดยอัตโนมัติ ท่านเสด็จไปอยู่ต่างจังหวัด คณะราษฎรทําหน้าที่แทน ไม่ต้องมีการกําหนดอะไรขึ้นมาใหม่ ความอยู่ในมาตรา 5

ข้อสังเกตอีกอันหนึ่ง มาตรา 6 เขียนไว้ซึ่งเป็นหลักแม่บทมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือในเรื่อง กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องวินิจฉัย” บัญญัติเฉพาะในเรื่องคดีอาญา คดีแพ่งไม่ได้พูดถึง ท่านอาจารย์หลวงจักรปาณีก็มีข้อสังเกตว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบอกว่า ฟ้องคดีอาญาพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่ก็น่าจะรวมถึงคดีในทางแพ่งด้วย เพราะว่าศาลจะต้องตัดสินในพระปรมาภิไธย นํามาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ก็คือว่าจะฟ้องร้องท่านไม่ได้เลย ไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา แต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวจะพูดถึงเฉพาะคดีอาญา 

อีกส่วนหนึ่ง ในหมวดพระมหากษัตริย์ฉบับนี้ ใช้ถ้อยคําว่า กษัตริย์ อยู่ในมาตรา 7  ในมาตรา 7 ระบุว่า “การกระทําใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมี กรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นโมฆะ” ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นนักกฎหมาย ท่านจะเอาคําว่า “โมฆะ” ซึ่งทั่วไปแล้วเราจะใช้ในกฎหมายเอกชน ในกฎหมายมหาชนปัจจุบันนี้เราไม่ใช้คําว่า “โมฆะ” แต่ท่านอาจารย์ปรีดีเอาคําว่า “โมฆะ” ซึ่งเป็นคําที่มีความเข้าใจได้ง่าย เอามาใช้ในธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยมีข้อสังเกตตามมา

คําว่า “โมฆะ” นี่ท่านอาจารย์ปรีดีเน้นมาก รวมมาถึงการประกาศสงครามสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในคําประกาศสันติภาพท่านอาจารย์ปรีดีก็เอาคําว่า “โมฆะ” มาบอกว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ เพราะประชาชนไม่เห็นด้วย ถูกบังคับให้จําเป็นต้องประกาศ ก็ถือว่าเป็น “โมฆะ” ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นําคําว่า “โมฆะ” มาใช้ครับ

อีกส่วนหนึ่งในเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกประชาชนยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง สภาผู้แทนในธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว แบ่งออกเป็น 3 สมัยด้วยกัน กล่าวคือ ในสมัยที่หนึ่ง เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราว จํานวน 70 คน แต่งตั้งโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร สมัยที่สอง เป็นการเลือกตั้งสามชั้นหรือการเลือกตั้งทางอ้อม ส่วนสมัยที่สาม ราษฎรจะมีสิทธิเลือกผู้แทนโดยตรงทั้งหมด

แต่สิ่งที่มีความกล้าหาญ เป็นการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก ก็คือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร บัญญัติไว้ในมาตรา 11 อายุ 20 ปีบริบูรณ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว แต่คุณสมบัติในทางวิชาการธรรมนูญการปกครองฉบับนี้จะใช้คําว่า (1) สอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตร ซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้ ผมคิดว่าอันนี้ก็สืบเนื่องมาตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงใช้คําว่า วิชาการเมือง ผ่านวิชาการเมืองก่อนจึงจะมีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร  สิ่งที่สําคัญตามมาก็คือว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 20 ปี บรรลุนิติภาวะ

ในขณะเดียวกัน ไม่จํากัดในเรื่องเพศเอาไว้  ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิชายหญิงเท่าเทียมกันมีมาตั้งแต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในขณะนั้นประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส หรืออเมริกา หญิงในหลายประเทศยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ในประเทศอังกฤษก็ยังถูกตัดสิทธิ แม้จะมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 30 ปี ก็แก้ไขกันมาเรื่อย 

ในขณะเดียวกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายประเทศในช่วงเวลานั้นยังต้องกําหนดคุณสมบัติ เช่น ต้องเสียภาษีอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับนี้ ให้สิทธิอย่างกว้างขวาง อายุ 20 ปีไม่ว่าชายหรือหญิง มีสิทธิที่จะไปเลือกตั้งได้  ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามาก 

ขอผ่านไปอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่า เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา ท่านอาจารย์หลวงจักรปาณีได้ตั้งปัญหาไว้ว่า คณะกรรมการราษฎร ตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับนี้ ในกรรมการราษฎรมีอํานาจฝ่ายธุรการ ได้แก่ อํานาจบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ  ท่านมีข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ว่า การปกครองแบบนี้เท่าที่ข้าพเจ้าทราบพอจะเทียบได้กับระเบียบสันนิบาตชาติอย่างหนึ่ง การปกครองของรัฐบาลโซเวียตรัสเซียอย่างหนึ่ง การปกครองของฝรั่งเศสภายหลังการกบฎใหญ่ ค.ศ. 1789  ท่านอาจารย์หลวงจักรปาณีมองคณะกรรมการราษฎรที่ได้อํานาจมากมาจากแนวคิดต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ ที่มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในยุคนั้น 

อํานาจของคณะกรรมการราษฎรอีกส่วนหนึ่ง คือ อํานาจในการออกกฎหมายที่เรียกว่า พระราชกําหนดในปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้นซึ่งคณะกรรมการจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงที่มิได้ และคณะกรรมการเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมแก่การฉุกเฉินนั้นๆ ก็ทําได้ แต่จะต้องรีบนํากฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง นี่เป็นที่มาของอํานาจฝ่ายบริหารในการออกพระราชกําหนดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีมาภายหลังในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบังคับของการประชุมสภาต่างๆ 

ผมจะข้ามไปอีกเรื่องหนึ่งในส่วนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ จะอยู่ในส่วนที่ 2 หมวด กรรมการราษฎรและเจ้าหน้าที่ประจํา ในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศได้บัญญัติไว้ในมาตรา 36 “การเจรจาการเมืองกับต่างประเทศเป็นหน้าที่ของกรรมการราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อการนี้ได้ การเจรจาได้ดําเนินไปประการใด ห้กรรมการรายงานกราบบังคมทูลกษัตริย์ทรงทราบ การให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรีเป็นพระราชอํานาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอํานาจนี้ตามคําแนะนําของกรรมการราษฎร” นี่ก็เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2540 ที่ถูกยกเลิกไปและกําลังยกร่างกันใหม่อยู่ในขณะนี้ 

ในการที่จะทําสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับอํานาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยในปัจจุบัน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 มาตรา 224 อยู่ในส่วนนั้น อีกข้อหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการประกาศสงคราม อยู่ในมาตรา 37 การประกาศสงครามเป็นพระราชอํานาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอํานาจนี้ตามคําแนะนําของกรรมการราษฎร  มีข้อสังเกตมาตรานี้พูดเฉพาะการประกาศสงคราม แต่ไม่ได้กล่าวถึงการเลิกสงคราม ในปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้เป็นอํานาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงครามและเลิกสงคราม 

ในหนังสือนี้ท่านได้แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ดังนี้

ก. คณะกรรมการราษฎร อาจทําการแทนกษัตริย์ได้ 

ข. อํานาจสิทธิขาดของกรรมการสภาราษฎร 

ค. คณะกรรมการราษฎรเป็นอํานาจฝ่ายธุรการหรือ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการตั้งคําถามไว้ในหนังสือเล่มนี้

ฆ. การให้สิทธิเลือกสภาผู้แทนแก่ราษฎรทั่วไป ไม่แบ่งแยกเพศชายหรือหญิง เมื่อบรรลุนิติภาวะก็มีโอกาสเท่าเทียมกัน 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การมีสภาเดียวหรือสองสภา ตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้มีสภาเดียว การมีสภาเดียวก็เชื่อมโยงไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ก็มีสภาเดียว เราเริ่มไปมีสองสภาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 

เจตนารมณ์ให้มีสภาเดียว แต่ท่านอาจารย์หลวงจักรปาณีท่านเขียนแย้งไว้ในหนังสือนี้ว่า ท่านไม่เห็นด้วย ควรที่จะมีสองสภาเพื่อความรอบครอบในการกลั่นกรองในเรื่องของกฎหมาย ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับนี้ได้เขียนรายละเอียดไว้ในเรื่องระเบียบการประชุมและการเลือกผู้แทนอยู่ด้วย  

สิ่งที่ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวไม่มี ยังขาดบทบัญญัติที่แสดงสิทธิของราษฎร ท่านอาจารย์หลวงจักรปานีบอกว่า เรื่องนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเคยสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2474 ว่าอํานาจอิสระ หรือเสรีภาพของมนุษย์มี 9 อย่าง 

  1. อิสระในตัวบุคคล 
  2. อิสระในเคหะสถาน 
  3. อิสระในการทํามาหากิน 
  4. อิสระในทรัพย์สิน 
  5. อิสระในเลือกถือศาสนา 
  6. อิสระในการสมาคม 
  7. อิสระในการแสดงความเห็น 
  8. อิสระในการศึกษา 
  9. อิสระในการร้องทุกข์ 

ท่านเสนอไว้ว่า ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อิสระทั้ง 9 ประการนี้ควรจะมีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปรากฏว่า อิสระทั้ง 9 ประการนี้จะอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นสําคัญ เป็นที่มาอํานาจสิทธิต่างๆ ของประชาชน 

อีกข้อหนึ่งเป็นข้อสังเกตที่ดีมาก บอกว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ขาดเครื่องสําหรับควบคุมสภาผู้แทนราษฎร คือ ขาดอํานาจยุบสภา  ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวนี้ ไม่มีการให้อํานาจฝ่ายบริหาร คือ คณะกรรมการราษฎร ยุบสภา ท่านบอกว่า อันนี้ขาดในสาระสําคัญ เพราะฉะนั้นในสิ่งนี้ก็มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 

ในหนังสือนี้ได้ใช้คําเกี่ยวกับอํานาจรัฐาธิปัตย์ หรือ อํานาจสูงสุดของประเทศโดยตั้งประเด็นไว้ว่า อํานาจสูงสุดคืออะไร คําว่าอํานาจรัฐาธิปัตย์หรืออํานาจสูงสุด เป็นคําที่เริ่มใช้กันตั้งแต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475

ในส่วนต่อไปเป็นเรื่องการใช้อํานาจสูงสุดของประเทศสยาม ท่านเน้นบอกว่าในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ผู้ใช้อํานาจแทนราษฎรมี 4 จําพวกคือ 

  1. กษัตริย์ 
  2. สภาผู้แทนราษฎร 
  3. คณะกรรมการราษฎร 
  4. ศาล 

หมวดหนึ่งที่น่าสนใจ ท่านเขียนไว้ ผลแห่งการจํากัดอํานาจกษัตริย์ ขออนุญาตสองเรื่องด้วยกัน กษัตริย์ยังคงเป็นประมุข และยังคงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยววอันสําคัญของชาติ เพราะราษฎรส่วนมากของเราหาคุ้นเคยกับการปกครองแบบอื่นนอกจากราชาธิปไตยไม่  ตราบใดที่พระเจ้าแผ่นดินยังครองราชย์อยู่ราษฎรส่วนมากก็มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นผู้ประสิทธิประสาทความมั่นคงความสงบความสามัคคีให้กับชาติอยู่เป็นนิจ  อีกข้อหนึ่ง กษัตริย์ผู้มีความสามารถรู้จักทําหน้าที่ ย่อมทําพระองค์เป็นประโยชน์แก่การปกครองโดยมากทรงเป็นผู้ออก ความเห็นต่างๆ ซึ่งโดยปกติพระองค์ทรงช่ำชองกว่าผู้ใดอื่น เพราะกษัตริย์ทําการประจําอยู่ตลอดเวลา มีโอกาสรู้เห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด จึงอาจชี้ได้ว่ากิจการอันใดรัฐบาลควรทําหรือไม่ และควรเลือกผู้ใดเป็นเสนาบดีเป็นตัวตน นอกจากนี้อาศัยอํานาจรอกฎหมายไว้ได้ 7 วัน ตามมาตรา 8 ย่อมมีโอกาสแก้ไขบทกฎหมายต่างๆ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรส่งมานั้นให้ดีขึ้นอีก

ในความเห็นส่วนตัวของผม เรามักจะเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกคือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ความจริงถ้าศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญฉบับแรกน่าจะได้แก่ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แม้จะเป็นชั่วคราว เพราะแม้จะบัญญัติไว้เพียงไม่กี่มาตรา แต่ก็เป็นรากฐานที่สําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตามมาจนถึงปัจจุบัน 

 

หนังสือเรื่อง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีจำหน่ายทาง Facebook Fanpage : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute ในราคาเล่มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว)

อ่านต่อได้ในหนังสือเรื่อง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีจำหน่ายทาง Facebook Fanpage : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute ในราคาเล่มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว)

 

หมายเหตุ: “ปฐมรัฐธรรมนูญ” เป็นคำของศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในการเรียบเรียงบทความชิ้นนี้จากงานเสวนาข้างต้น จึงเลือกใช้ถ้อยคำนี้ เพื่อสื่อถึงการอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย.