ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์ นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย

19
มิถุนายน
2563

ในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ไทย ผมใคร่จะถือโอกาสนี้เขียนถึง ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ครั้งนั้น 

รูปแบบข้อเขียนชิ้นนี้คงมิได้เป็นไปในลักษณ์ที่แน่นหนาด้วยเอกสารชั้นต้น (DOCUMENTS AUTHENTIQUES) ตามแบบที่อาจารย์ปรีดีนิยมยึดถือ แต่ขณะเดียวกันก็คงมิปล่อยให้เป็น เพียง “คําเล่าลือ” (QUI-DIRES) ที่หาแก่นสารสาระมิได้  หากมุ่งหมายให้เป็นการตีความเชิงประวัติศาสตร์ด้วยใจจริง (INTER PRETATION HISTORIQUE ET SINCERE) เกี่ยวกับบทบาทของท่าน และผลกระทบจากเหตุนั้นต่อการเมืองไทย โดยเน้นหนักที่เงื่อนไขและข้อจํากัดทางภววิสัยที่ท่านต้องผ่านเผชิญ ทั้งนี้ บนพื้นฐานการศึกษาชีวิตและงานของอาจารย์ปรีดีในหลายปีที่ผ่านมา 

เพื่อความเรียบง่าย ผมขอนําเสนอการตีความอาจารย์ปรีดีของผมในรูป “ข้อกล่าว” เรียงเป็นลําดับไปดังนี้ 

1) อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นนักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการ 

กล่าวคือ ท่านประกอบสัมมาชีพและก้าวขึ้นสู่อํานาจผ่านระบบราชการ ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ระบบราชการเป็นสถาบันที่กุมทรัพยากรไว้มากที่สุดและก้าวหน้าทันสมัยที่สุดในสังคม อาจารย์ปรีดีได้ใช้ระบบราชการเป็นฐานอํานาจดําเนินการ “อภิวัฒน์จากเบื้องบน” (REVOLUTION DEN HAUT) คือ อาศัยระบบราชการเป็นกลไกเปลี่ยนแปลงรัฐกับสังคมไทยให้ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (เทียบกับภาพการ “อภิวัฒน์จากเบื้องล่าง” (REVOLUTION DEN BAS) ซึ่งผู้ดําเนินจะอาศัยพลังสังคมนอกระบบราชการทําการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงรัฐกับสังคม โดยกลไกการจัดตั้งของมวลชนที่สร้างขึ้นใหม่เอง) 

ดังจะเห็นได้ว่า สมาชิกคณะราษฎรเท่าที่ระบุนามไว้ทั้ง 99 ท่านนั้น เป็นข้าราชการเกือบทั้งสิ้น  เค้าโครงเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง” ที่อาจารย์ปรีดีนําเสนอเมื่อปลายปี พ.ศ.2475 นั้นก็มีเนื้อแท้เป็นระบบรัฐสหกรณ์ (STATE CO-OPERATIVISM) ซึ่งมีภาครัฐที่ใหญ่โตมาก เป็นแกนนําการบริหารทุนที่ดิน แรงงาน และการประกอบการของสังคม และราษฎรส่วนใหญ่ทํางานให้รัฐในฐานะ “ข้าราชการ” 

หรือต่อมาแม้แต่ขบวนการเสรีไทยที่ดําเนินงานใต้ดินต่อต้านรัฐบาลจอมพล แปลก เพื่อกู้ชาติจากญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ก็ได้มีผู้ค้นคว้าวิจัยไว้ว่ามีขนาดไม่ใหญ่นัก (ราว 8,000 คน) ส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นจากระบบราชการไม่มีฐานประชาชนกว้างขวาง ความเป็นระบบระเบียบแบบราชการขององค์การนี้ยังแสดงออกที่มีการทํางบประมาณรายรับรายจ่าย แต่กลับไม่มีการออกเอกสารโฆษณาใต้ดินขององค์การเองเยี่ยงที่องค์การกู้อิสรภาพของมวลชนอื่นๆทั้งในและต่างประเทศเขาทํากัน 

ระบบราชการจึงมีฐานะใจกลาง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นแม่กุญแจในความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของอาจารย์ปรีดีในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทยเลยทีเดียว

2) วิธีการปฏิบัติการทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ดําเนินไปโดยการวางเครือข่ายสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ฉันอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหาหรือพรรคพวกเพื่อนฝูงขึ้นในระบบราชการ 

แม้ว่าแนวความคิดที่อาจารย์นําเสนอภายในเครือข่ายสายสัมพันธ์จะใหม่ ก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย แต่แบบวิถีความสัมพันธ์ยังคงเป็นเชิงอุปถัมภ์แบบเดิมที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าอุดมการณ์ความคิด (ดังนั้นเอง เมื่ออาจารย์ไปออกอากาศโจมตีรัฐบาลจอมพล แปลก กับจักรวรรดินิยมอเมริกา ทางสถานีวิทยุปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2497 ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน หลายคนในเมืองไทยจึงพากันประกาศตัดความสัมพันธ์กับท่านอย่างไร้เยื่อใย) 

นอกจากนี้ โดยที่ท่านใช้ระบบราชการเป็นฐานกําลังหลัก การต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อภารกิจอันก้าวหน้าเป็นธรรมของท่าน ไม่ว่าจะเพื่อประชาธิปไตย (สู้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2475) หรือเพื่อเอกราช (สู้กับรัฐบาลจอมพล แปลก พันธมิตรของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) จึงไม่ออกมาในรูปขบวนการมวลชน หรืออย่างมากก็เป็นแค่เพียงขบวนการกึ่งราชการ กึ่งมวลชน (ได้แก่ ขบวนการเสรีไทย) กล่าวคือ ท่านอาศัยบุคลากรและกลไก เครื่องไม้เครื่องมือของระบบราชการ สร้างเส้นสายจัด ตั้งซ้อนขึ้นแล้วดําเนินการอิสระนอกคําสั่งรัฐบาล กร่อนเซาะโค่นล้มรัฐบาลจากภายใน 

พูดง่าย ๆ ก็คือท่านใช้ระบบราชการล้มรัฐบาล 

ผลลัพธ์ร่วมโดยมีเจตนาของปฏิบัติการทางการเมืองในลักษณ์นี้ของท่าน ก็คือ ทําให้ระบบราชการไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก เป็นอิสระจากอํานาจอธิปัตย์ของรัฐมาก และมี ประเพณีที่ไม่ขึ้นต่อรัฐบาล หรือพูดกลับกัน ก็คือ ทําให้ระบบราชการไทยมีลักษณะการดําเนินงานที่ขัดกับวิถีทางที่ระบบราชการควรจะเป็น ไม่ว่าจะในแง่การยึดมั่นกับกฎเกณฑ์, การขึ้นต่อลําดับชั้น ตําแหน่งที่ลดหลั่นกันไป, การปฏิบัติหน้าที่ในกรอบสิทธิอํานาจที่ชอบด้วยกฎหมาย, การเคารพเชื่อฟังคําสั่งตามสายงานบังคับบัญชา เป็นต้น  แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้รวมทั้งการคลี่คลายขยายตัวของอํานาจ รัฐราชการที่ตามมาย่อมไม่ใช่ความรับผิดชอบของท่านเพียงผู้เดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่อาจปฏิเสธได้

3) อาจารย์ปรีดีเป็นผู้นําที่สามารถดึงเอาพลวัต การเปลี่ยนแปลงเป็นแบบประชาธิปไตย และต่อต้านระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีอยู่ในระบบราชการออกมาใช้เพื่ออภิวัฒน์สังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยจากเบื้องบน จนพลวัตดังกล่าวเหือดแห้งหมดลง 

อันที่จริงแล้ว แรงขัดที่ทวนสวนกระแสประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่ต้นในระบบราชการ ดังจะเห็นได้ว่า นโยบายทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัฐบาลคณะราษฎรชุดต่าง ๆ มีทั้งด้านที่กระจายอํานาจออกไปให้ราษฎร (เช่น การจัดให้มีการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การห้ามเจ้านายเล่นการเมือง ฯลฯ) และหวงอํานาจเอาไว้ในตัวระบบราชการเอง (เช่น การให้มีสมาชิกสภาฯ ประภท 2 จากการแต่งตั้ง, การไม่พัฒนาระบบพรรคการเมืองอิสระ, การจํากัดเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ฯลฯ) 

ลักษณะ 2 ด้านดังกล่าวมา ยุติลงเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 ซึ่งลิดรอนอํานาจระบบราชการ โดยเฉพาะกองทัพลง ด้วยการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาทางอ้อม และแยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมืองอย่างเด็ดขาด ผลก็คือ สถานการณ์มาถึงจุดที่ระบบราชการไม่ได้อะไรจากการผลักดันบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย  ยิ่งกว่านี้ ต่อไปตรงกันข้ามมีแต่เสียอํานาจอันตนเคยมีเคยได้มาจากระบอบเดิม พลวัตประชาธิปไตยของระบบราชการจึงหมดลง นับแต่นั้นบทบาททางประวัติศาสตร์ของระบบราชการก็กลับกลายเป็นองค์กรที่หวงอํานาจการเมืองไว้ให้กับตัวเอง ดังแสดงออกโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 และสถาปนารัฐธรรมนูญอํามาตยาธิปไตยของข้าราชการฉบับถัด ๆ มาขึ้นแทน

4) อาจารย์ปรีดีไม่ประสบความสําเร็จในการเปลี่ยนย้ายฐานอํานาจของท่าน จากระบบราชการไปสู่พลังอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนอกระบบราชการ 

ความพยายามย้ายฐานอํานาจของอาจารย์ปรีดีออกไปนอกระบบราชการ พอเห็นเค้าลางได้ตั้งแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ท่านกระชับราษฎรหัวก้าวหน้าภาคอีสานในการสร้าง พลพรรคเสรีไทย สืบเนื่องกันมาจนเด่นชัดยิ่งขึ้นหลังสงครามโลก เมื่อท่านให้การสนับสนุนพรรคสหชีพและผ่านนายตํารวจสันติบาลไปเชื่อมต่อกับประธานสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย 

แต่กระนั้น สายสัมพันธ์ใหม่นอกระบบราชการดังกล่าวก็เปราะบางเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวอาจารย์ปรีดีเองต้องลี้ภัยการเมืองออกไปอยู่ห่างไกลนอกประเทศ บุคคลในเครือข่ายนอกระบบราชการของอาจารย์เหล่านี้ถูกรัฐบาลจอมพล แปลก และอัศวินแหวนเพชรของพลตํารวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ปราบปราม จับกุมคุมขัง หรือสังหาร  มิหนําซ้ําพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังเข้ามาช่วงชิงแย่งคนของท่านไปเป็นสมาชิกอีก  เมื่อฐานอํานาจแท้ของอาจารย์ที่ยังคงอยู่ในระบบราชการ หดเหี้ยนงวดตัวลง เพราะถูกปราบปลดโยกย้ายขู่คุกคามเอาชีวิต หรือถูกทําให้เป็นอัมพาตทางการเมือง อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามก่อรัฐประหารลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธแล้วล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น หลัง พ.ศ. 2495 อาจารย์ปรีดีจึงหมดบทบาทในการเมืองไทยโดยตรงไปนับแต่นั้นมา

5) ความที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นนักอภิวัฒน์แห่งระบบราชการ ในขณะเดียวกับที่เป็นนักคิดสังคมนิยมไทยที่สร้างสรรค์ ท่านจึงไม่เข้าใจ และไม่เห็นระบบราชการในฐานะ ที่มันเป็นอุปสรรคเชิงสถาบันต่อการพัฒนาสืบต่อไปข้างหน้าของระบบประชาธิปไตยไทย 

ท่านเห็นแต่อุปสรรคประเภทซากเดนเก่าของระบบศักดินา, พวกนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าตัวราชาเอง, ซากความคิดเก่าแบบเจ้าขุนมูลนาย เป็นต้น ซึ่งเป็นการชี้ปัญหาในเชิงตัวบุคคลและความคิดด้วยศัพท์แสงสังคมนิยม ทว่าไม่มีแง่มุมอุปสรรคในลักษณ์สถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่อาจารย์เติบโตไต่เต้าขึ้นเองจนเห็นพลังที่ก้าวหน้าของมัน ซึ่งในที่สุดสถาบันนั้นก็เป็นตัวการลิดรอนรื้อถอนอํานาจ และขับไสท่านออกไปจากแผ่นดินเกิดเองด้วย 

 เป็นไปได้ว่า ที่อาจารย์ไม่เห็นระบบราชการเป็นอุปสรรคเชิงสถาบันต่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยต่อไป ก็เพราะมันใกล้ตัวอาจารย์เกินไปนั่นเอง

6) ในทางกลับกัน ความที่อาจารย์ปรีดีห่างเหินจาก ประเทศไทยไปร่วมสามสิบปีจนถึงอสัญกรรม ท่านจึงอาจจะไม่เห็น หรือไม่ได้สัมผัสถึงพลังธนานุภาพยุคใหม่ของไทยใน ฐานะพลังที่มีพลวัตประชาธิปไตยที่อาจจะขึ้นมาชิงอํานาจจากระบบราชการได้ 

ในแง่นี้การที่อาจารย์ไม่เห็นพลังธนานุภาพ ซึ่งทรงศักยภาพประชาธิปไตยในสังคมไทยอาจจะเกิดจากความที่มันไกลตัวอาจารย์เกินไปก็ได้

7) ข้อเสนอแนวคิดเรื่อง “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ที่เป็นประชาธิปไตย” ของอาจารย์ปรีดีที่ได้สรุปรวบยอดขึ้นมาในบั้นปลายของชีวิต ได้สะท้อนบุคลิกที่เป็น “ผู้มองเห็นปัญหา ก่อนกาล” ของท่าน คือ สามารถเล็งเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เส้นทางเดินของการพัฒนาระบบธนานุภาพกับการพัฒนาระบบประชาธิปไตยในเมืองไทยจะไปกันคนละทาง 

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า คําถามประวัติศาสตร์ในยุคสมัยหนึ่งอันเกี่ยวแก่บทบาทฐานะทางการเมืองของระบบราชการ อาจารย์ปรีดีไม่ได้ตอบ เพราะท่านไม่เห็นมันเป็นปัญหา หากแต่ท่านได้ให้คําตอบไว้แล้วกับคําถามอีกหนึ่งอันเกี่ยวแก่บทบาท ฐานะทางการเมืองของระบบธนานุภาพ โดยที่ประวัติศาสตร์เองยังไม่ทันจะได้ตั้งคําถามนั้นขึ้นสักเท่าไรเลย  แม้ว่าคําตอบที่ท่านให้ต่อคําถามหลังนี้ดูเสมอเสมือนหนึ่ง จะได้ถูกความเป็นจริงร่วมสมัยปัดปฏิเสธไปแล้วก็ตาม 

แต่ถึงที่สุดแล้ว ใครเลยจะปฏิเสธความเป็นอนิจจังของสังคมได้

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ วันที่ 24 มิถุนายน 2536