ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดี กับ มหาวิทยาลัยเปิด

3
กรกฎาคม
2563

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เวียนมาบรรจบ ผมในฐานะศิษย์เก่า มธ. ของท่านรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอจารึกความรู้สึกไว้ว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสไม่ได้จากไปไหน เพียงแต่อัฐิธาตุของท่านได้ลอยจากไปท่ามกลางทะเลใสสะอาด แต่ผลงานของท่านยังคงอยู่ และผมระลึกอยู่เสมอว่า ฯพณฯ ปรีดี ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  ผมกล้าพูดได้ว่า ไม่มีท่าน ไม่มีธรรมศาสตร์ ไม่มีธรรมศาสตร์ ก็ไม่มีพวกเราทุกคน 

ไม่มีท่าน ไม่มีธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ผมขออนุญาตบันทึกไว้ว่า มีท่าน มีธรรมศาสตร์ เมื่อมีธรรมศาสตร์ ก็มีมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกในประเทศไทย  ผมขอเชิญคำพูดของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ย้ำคำกล่าวของท่านปรีดีว่า “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย” ดังนั้นสิ่งที่ ฯพณฯ สร้างไว้ดีแล้ว ก็ย่อมไม่สูญหาย แม้ธรรมศาสตร์จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคม กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดของท่านไม่มีวันตาย  รามคําแหงเกิดขึ้นได้ เพราะแนวคิดอมตะ  ไม่มีวันนั้น ก็ไม่มีวันนี้  และไม่มีรามคําแหง และไม่มีเรา 

ผมบุญน้อย ไม่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ท่าน ได้แต่เคารพคุ้นเคยกับท่านผู้หญิงของท่าน แม้วันครบ 72 ปี [9 มีนาคม 2531] อาจารย์ป๋วย ก็ยังได้กราบท่านด้วยความระลึกถึง และด้วยความเคารพอย่างสูง 

ในโอกาสที่วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม เวียนมา บรรจบอีกวาระหนึ่ง ผมขอถือโอกาสนี้ ขอคารวะดวงวิญญาณของท่านผู้ประศาสน์การอีกคำรบหนึ่ง “ไม่มีท่าน ไม่มีราม  ไม่มีราม ไม่มีเราทุกคน”

 

ภาพตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มา: ชมรมอนุรักษ์ฟิล์มเก่า ฟิล์มกระจก ภาพถ่ายขาวดำ
ภาพตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา: ชมรมอนุรักษ์ฟิล์มเก่า ฟิล์มกระจก ภาพถ่ายขาวดำ

 

พิมพ์ครั้งแรก: วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 49-50.

 

หมายเหตุ: ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ โสภารัตน์ เขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2531 ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคําแหง