ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

รำลึกถึง วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

17
กรกฎาคม
2563

ประวัติ

วาณีเป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัว เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2484 ที่บ้านป้อมเพชรนิคม หลังจากเกิดได้ไม่กี่เดือน สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แผ่มาถึงประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษาหารือกันแล้วลงมติตั้งคุณพ่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครอบครัวจึงย้ายไปพำนักที่ทำเนียบท่าช้างซึ่งทางราชการจัดให้

ในขั้นต้น วาณีเรียนที่โรงเรียนดรุโณทยานของคุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

พ.ศ. 2495 คุณแม่กับพี่ปาล ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพ คุณแม่ถูกขังอยู่ที่สันติบาล 84 วัน ในที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง คุณแม่เห็นว่าอยู่เมืองไทยต่อไปไม่ได้ เนื่องจากถูกศัตรูทางการเมืองปองร้าย จึงพาดุษฎีและวาณีเดินทางไปกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสองคนติดตามคุณแม่ไปอยู่ประเทศจีน ซึ่งคุณพ่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก่อนหน้าเป็นเวลา 5 ปี

 

ดุษฎี, สุดา, วาณี
ดุษฎี, สุดา, วาณี

 

วาณีเรียนชั้นมัธยมที่ปักกิ่งและกว่างโจ๊ว สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาจีน) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของจีน ซึ่งหลู่ซิน กวีเอกของจีนเคยเป็นอาจารย์สอนที่นี่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ย้ายไปอยู่ที่บ้านอองโตนี (Antony) ชานกรุงปารีส ดุษฎีกับวาณีจึงเดินทางตามไปอยู่ด้วย  วาณีทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวคุณพ่อด้วยการเขียนตามคำบอก พิมพ์ร่างให้ท่านแก้ไข แล้วจึงพิมพ์ใหม่ให้เรียบร้อยก่อนนำข้อเขียนไปส่งที่ไปรษณีย์ใกล้บ้านถึงผู้รับที่เมืองไทย (สมัยนั้นติดต่อได้ทางไปรษณีย์เท่านั้น)

พี่น้องมีหน้าที่ผลัดกันดูแลความเป็นอยู่ของคุณพ่อคุณแม่ ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ฯลฯ วาณีมีฝีมือทำอาหาร ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่งเศส และอาหารจีน เช่น เกี๊ยวปักกิ่งขนานแท้ ซุปปักกิ่ง ซุปเสฉวน เป็นต้น นอกจากงานบ้านทั่วไปแล้ว วาณียังเป็นพี่เลี้ยงหลานๆ ลูกของพี่ชายทั้งสองที่คุณแม่รับมาดูแล คือ ตุลยาและรุธิร์ และผลัดกับยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ (ลูกคุณน้าเพียงแข) ขับรถพาคุณพ่อคุณแม่ไปธุระบ้าง ไปเที่ยวตามสถานที่อื่นๆ บ้าง 

ในฤดูที่อากาศเริ่มอบอุ่น ก็มักจะขับรถพาไปเที่ยวชมธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และทางศิลปวัฒนธรรม เช่น ชายฝั่งนอร์ม็องดี (Normandie) แคว้นเบรอตาญ (Bretagne) ลุ่มแม่น้ำลัวร์ (Vallée de la Loire) พระราชวังและป่าฟงแตนโบลว์ (Fontainebleau) ฯลฯ โดยเตรียมอาหารจากที่บ้านไปนั่งรับประทานกันใต้ร่มไม้ในป่าโปร่งหรือริมแม่น้ำ ท้ายรถจะมีเก้าอี้สนามเพื่อให้ผู้สูงวัยนั่ง ส่วนลูกหลานปูเสื่อนั่งบนพื้นหญ้า 

ที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่งคือ วันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าเป็นวันรำลึกถึงบรรพบุรุษและญาติมิตรที่จากไป คุณพ่อจะให้วาณีและยงจิตต์พาไปสุสานในเมือง Montainville (อยู่ห่างจากเขตอองโตนีไปทางทิศเหนือ 77 กิโลเมตร) เพื่อไปวางดอกไม้แสดงความระลึกถึง Monsieur Ledeker คุณครูของคุณพ่อ

วาณีเป็นคนใฝ่หาความรู้ จึงไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมจากพื้นฐานที่เรียนไปจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กรุงเทพฯ ได้ไปเข้าค่ายฤดูร้อนหลายแห่ง เช่น ที่เมืองก็อง (Cean) และเมืองโป (Pau) ฯลฯ

เมื่อกลับไปเยี่ยมประเทศจีน วาณีได้พบรักกับ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายของ “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ชื่อดังของไทย กับ “จูเลียต” ชนิด สายประดิษฐ์ นักแปลและได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา

หลังจากแต่งงานกับสุรพันธ์ที่เมืองจีนแล้ว วาณีกลับมาใช้ชีวิตคู่ที่ฝรั่งเศส โดยเช่าห้องชุดขนาดเล็ก (42 ตารางเมตร) ในอาคาร 3 ชั้น อยู่ติดกับรั้วบ้านคุณพ่อคุณแม่ เพื่อดูแลท่านทั้งสองเช่นที่เคยปฏิบัติมา

วาณีและสุรพันธ์มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ตรงกัน รักความเป็นธรรม จิตใจโอบอ้อมอารี ไม่เบียดเบียนผู้ใด ใช้ชีวิตเรียบง่าย จึงเป็นเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจซึ่งกันและกัน

วาณีมีความมั่นคงในอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย มีคุณธรรม และเมตตาธรรม เป็นที่พึ่งของทุกคน ขยันลงแรงช่วยเหลือพ่อ แม่ และพี่ๆ อยู่เสมอ

 

สุรพันธ์และวาณี
สุรพันธ์และวาณี 

 

ระหว่างที่รอหางานที่ตรงกับวิชาภาษาและอารยธรรมจีนที่เรียนมาจนจบปริญญาโทจากประเทศจีน วาณีได้ไปทำงานรับจ้างเป็นครูพี่เลี้ยงช่วงเวลาอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมประจำ เมืองอองโตนี และรับจ้างรายชั่วโมง ทำความสะอาดบ้านของครอบครัวชาวฝรั่งเศส บางครั้งก็รับจ้างทำอาหารไปส่งตามบ้านลูกค้า

ต่อมา วาณีได้รับการแนะนำให้ไปสมัครสอนภาษาจีน ณ สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออก (Institut National des Langues et Civilisations Orientales) ซึ่งเป็นสถาบันแห่งชาติฝรั่งเศส และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก วาณีสอนอยู่หลายปี โดยมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย มิใช่เป็นเพียงอาจารย์พิเศษ

ลูกศิษย์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งของวาณี กล่าวถึงครูของเขาว่า “ผมยังระลึกถึงความเมตตา กรุณา และอารมณ์ขันของท่าน นักศึกษาภาคค่ำแผนกวิชาภาษาจีนที่สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออก เรียกท่านว่า ‘อาจารย์ผู้มีจิตใจงามของพวกเรา’

พ.ศ. 2531 หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนนานถึง 35 ปี วาณีกลับมาใช้ชีวิตในแผ่นดินเกิดอีกครั้ง เมื่อกลับมาเมืองไทย วาณีทำงานเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532-2543 เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ

งานหนังสือ

ด้านงานเขียน วาณีมีผลงาน 3 เรื่อง คือ วันวานในโลกกว้าง (2543) อัตชีวประวัติในรูปสาระนิยาย  ส่วนอีก 2 เล่ม คือ คนดีศรีแผ่นดิน-ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ฉบับการ์ตูน (2543) และ สุภาพบุรุษชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์  (2548) ที่วาณีเขียนเรื่องให้นักวาดสร้างสรรค์ออกมาในรูปการ์ตูนสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาผลงานสื่อมวลชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544 และรางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือการ์ตูน/นิยายภาพ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำ ปี พ.ศ. 2549 ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือของครอบครัวอีกหลายเล่ม เช่น แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (2535)  7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ (2539)  101 ปี ปรีดี 90 ปี พูนศุข (2545) 72 ปี ประชาธิปไตย 70 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2548)  60 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2548 (2548)  ธรรมาลัย (2550)  หวนอาลัย (2551)  ไม่ขอรับ เกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น: 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์ (2551) ใจคนึง: ตำนาน 100 ปี ชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (2555)

ด้านงานแปล ได้ถวายงานกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แปลบทกวีภาษาฝรั่งเศสของพระองค์ท่านส่วนหนึ่งเป็นภาษาไทยและจีน ดังได้รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ Réflexions ความคิดคำนึง และยังได้เขียนบทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าอ่านนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ” เป็นภาคผนวกในพระราชนิพนธ์แปล ผีเสื้อ ด้วย

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับวาณี พนมยงค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับวาณี พนมยงค์

 

งานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ด้านงานสาธารณกุศล วาณีมีส่วนร่วมเป็นหลักในกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แบ่งออกเป็นกิจกรรมเผยแพร่แนวคิดปรีดี พนมยงค์ ทั้งการกำหนดหัวข้อปาฐกถาและปาฐกถาประจำปี ได้แก่ ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ และปาฐกถาพูนศุข พนมยงค์ กิจกรรม สัมมนาในโอกาสต่างๆ เช่น 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย, 24 มิถุนายน วันอภิวัฒน์ และวันสำคัญอื่นๆ  กิจกรรมรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์  กิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน  ร่วมกับกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ จัดทำนิทรรศการถาวร “ห้องแห่งแรงบันดาลใจ”

วาณีเป็นกรรมการ ผู้อุทิศแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัว สนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มาโดยตลอด ในที่สุดเมื่อสังขารร่วงโรยจนไม่อาจทำงานต่อไปได้ วาณีจึงตัดสินใจลาออกจากกรรมการมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังติดตามการดำเนินกิจกรรมของสถาบันปรีดีและมีข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเสมอมา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

งานกองทุนศรีบูรพา

วาณียังเป็นกรรมการกองทุนศรีบูรพา และดูแลรักษาบ้านศรีบูรพาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสืบค้นข้อมูลและพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ที่มีทั้งรูปนิทรรศการ เอกสารจัดแสดง หนังสือเก่า อุปกรณ์การทำงาน เครื่องพิมพ์ดีด ฯลฯ ในครั้งแรกช่วงต้นทศวรรษ 2530 คุณชนิด สายประดิษฐ์ เป็นผู้ริเริ่มให้จัดนิทรรศการเรื่องศรีบูรพาขึ้นที่บ้านด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพ (Pictorial Biography) โดยคุณชนิดเป็นผู้เขียนคำบรรยาย สันติสุข โสภณสิริ และเกศรา แซ่แต้ เป็นผู้ช่วย สุรพันธ์เป็นฝ่ายสนับสนุน ออกไปล้างรูป ไปหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ และวาณีเป็นฝ่ายสวัสดิการดูแลอาหารการกินและร่วมเสนอความเห็น

จนถึงปี 2559 รูปภาพที่ติดไว้ซีดจาง วาณีจึงให้เกศราอัดรูปมาติดพร้อมพิมพ์คำบรรยายใหม่ โดยคงเนื้อหาเดิมจากที่คุณชนิดทำไว้แล้ว

 

นิทรรศการบ้านศรีบูรพา
นิทรรศการบ้านศรีบูรพา

 

สุขภาพ 

วาณีเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรง แคล่วคล่องว่องไว นอกจากนี้เธอยังเคยเป็น นักกีฬาทศกรีฑา ว่ายน้ำระยะไกล เคยว่ายน้ำในแม่น้ำจู๊เจี๊ยง จากนครกว่างโจ๊ว ถึงเมืองหวงผู่ ระยะทาง 22 กิโลเมตร 

เมื่อเจ็บป่วยลง วาณีมีกำลังใจที่จะเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อจะได้มีกำลังกายที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม วาณีป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ และพาร์กินสันเป็นเวลานับสิบปี ผ่านการผ่าตัดใหญ่ 12 ครั้ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ในระยะหลังต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล บี. เอ็น. เอช. และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคลากรที่โรงพยาบาลเป็นอย่างดี 

อิ่ม เกศรา แซ่แต้ เป็นคนหนึ่งที่คอยเป็นธุระดูแลการเจ็บไข้ได้ป่วย และการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการไปพบแพทย์ การจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ การติดต่อประสานงานต่างๆ ฯลฯ โดยเฉพาะในช่วงปีสุดท้าย  อิ่มเป็นเสมือนตัวแทนของพี่ๆ เดินทางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล แม้บางครั้งต้องนั่งรอหน้าห้องฉุกเฉินตั้งแต่บ่ายจนกระทั่งตีสองตีสาม เพื่อรอเข้าห้องผู้ป่วย และยังมีน้องอีก 2 คน คือ วิชินีกับยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ ที่หมั่นไปเยี่ยมดูแลอย่างใกล้ชิดที่บ้านและที่โรงพยาบาล 

เมื่อมะเร็งต่อมไทรอยด์ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นจนเกินสภาพร่างกายจะเอาชนะได้ วาณีก็ทำใจยอมรับยอมรับความเป็นอนิจจังของสังขาร และเตรียมตัวตายก่อนตาย

เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ในบรรยากาศเสียงบรรยายธรรมของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระไพศาล วิศาโล และบทเพลงคนดีมีค่า แม่จ๋า หวนอาลัย ศรีบูรพา และ Meditation from THAÏS  ในที่สุด วาณีก็ลาจากพี่ทั้งสองและญาติมิตรที่วาณีรัก และรักวาณีไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 17.35 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2561 

วาณีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานดอกไม้เยี่ยมไข้หลายครั้ง  ในวาระสุดท้าย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ วางพวงมาลาพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์อีกด้วย

แม้วาณีจะจากไปแล้ว แต่วาณีก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำของพี่ๆ น้องๆ และหลานๆ จะเป็นน้องณีที่รักของพี่ๆ ตลอดไป

 

ที่มา: พิมพ์ครั้งแรก: สุดา และ ดุษฎี พนมยงค์, “ประวัติ,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์  (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562), น. 151-162.