“3 เดือนผ่านไป ลูกระเบิดลงที่เกาะสีชังและรอบ ๆ เกาะ ก็เกาะสีชังนั้นมิได้อยู่ห่างจากศรีราชาเท่าใดนัก ทําให้ดูน่าพรั่นพรึง ท่านผู้ควบคุมขบวนเสด็จ (ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล) จึงนําความเข้ามาทูลประธานผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเมื่อสมเด็จฯ ตัดสินพระทัยประทับอยู่ต่อที่ศรีราชานั้น ประธานผู้สําเร็จราชการ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาตรัสสั่งไว้ว่า
“ดีแล้วที่จะประทับโรงพยาบาลสมเด็จต่อไป เพราะที่วังสระปทุมก็ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ถ้ามีเหตุอะไรให้เข้ามาบอกจะจัดการถวายใหม่”
เมื่อประธานผู้สําเร็จฯ ทรงทราบแล้วตรัสว่า
“เรื่องนี้น่ะรออีก 3 วัน ค่อยมาฟัง เพราะท่านปรีดีได้บอกไว้ว่าถ้าถึงคราวจะอพยพสมเด็จพระพันวัสสา ท่านปรีดีจะจัดถวายเอง”
ไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใด ดร.ปรีดี ซึ่งเป็นหัวหน้าคนสําคัญในการบั่นทอนอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ กลับมาขออาสาเป็นธุระในการที่ถวายความปลอดภัยความสะดวกแด่สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า หลายคนแคลงใจ หลายคนชื่นชม แต่จะแคลงใจหรือชื่นชมก็ตาม ความปลอดภัยของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าอยู่เหนือสิ่งใด สําหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในขบวนเสด็จอพยพ
ในที่สุด สมเด็จฯ ก็เสด็จจากโรงพยาบาลศรีราชามาประทับที่โรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คงเหลืออยู่แต่พระองค์เจ้าวาปีประทับรักษาพระองค์อยู่ต่อไป เพราะทรงประชวร ดร.ปรีดี พนมยงค์ มารับเสด็จ และเชิญเสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ นําเรือไปจอดที่นนทบุรีตรงข้ามกับเรือนจําบางขวาง 15 วัน เพื่อรอการจัดที่ประทับที่อยุธยา ระหว่างที่เสด็จอพยพหลบภัยอยู่นี้ สมเด็จฯ ทรงมีพระราชหฤทัยนึกถึงสมเด็จพระราชนัดดาอยู่เสมอ ได้ตรัสว่า
“ดีใจ๊ ดีใจ หลานอยู่เมืองนอกไม่ต้องมาลําบากอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นฉันคงเอาไม่รอด ห่วงหลาน”
ที่อยุธยา ดร.ปรีดีและภรรยาได้เข้าเฝ้าแหน กราบทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิจ จนคนที่คลางแคลงอยู่บางคนชักจะไม่แน่ใจ เพราะกิริยาพาที่ในเวลาเข้าเฝ้านั้นเรียบร้อยนุ่มนวลนัก นัยน์ตาก็ไม่มีแววอันควรจะระแวง
ครั้งแรกที่เข้าเฝ้า ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล ผู้ควบคุมกระบวนเสด็จ กราบทูลว่า หลวงประดิษฐ์ฯ มาเฝ้า
สมเด็จฯ ไม่เคยทรงรู้จักหลวงประดิษฐ์ฯ มาก่อนเลย หลวงประดิษฐ์ฯ คนเดียวที่ทรงรู้จัก คือ หลวงประดิษฐ์บาทุกา (เซ่งชง) เจ้าของห้างทํารองเท้ามีชื่อแห่งหนึ่งในพระนคร เป็นผู้ที่ทรงพระกรุณาในเรื่องเงินทองอยู่เสมอ จึงตรัสว่า “อ๋อ เขาเอาเงินมาใช้ฉันน่ะ”
“ไม่ใช่เพคะ...” ม.จ.อัปภัศราภากราบทูล
“ไม่ใช่คนนี้ คนนี้เขาเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว”
กราบทูลแล้วเห็นสมเด็จฯ ยังทรงสงสัยอยู่ ก็กราบทูลต่อไปว่า
“สมเด็จเจ้าพระยายังไงล่ะเพคะ”
สมเด็จฯ ก็ทรงเข้าพระทัยทันที ทรงมีพระราชปฏิสันฐานด้วยเป็นอย่างดี
“มาซิ พ่อคุณ อุตส่าห์มาเยี่ยม”
ตรัสซักถามถึงที่พักและเมื่อทรงทราบว่าพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ก็ทรงหันไปทางข้าหลวง ตรัสสั่งว่า “ดูข้าวปลาไปให้เขากินนะ”
เวลาเย็น ๆ ผู้สําเร็จราชการฯ ก็เชิญเสด็จประทับรถยนต์ประพาสรอบ ๆ เกาะ
“หลานฉันยังเด็กนะ ฝากด้วย”
เป็นกระแสพระราชดํารัสครั้งหนึ่ง ผู้สําเร็จราชการฯ ก็กราบทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทําให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่คลางแคลงก็เริ่มจะไม่แน่ใจตนเอง
วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยา สมเด็จฯ ตรัสว่า “ฉันจะไปปิดทอง”
ตรัสแล้วเสด็จไปทรงซื้อทองที่วางขายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงปิดไม่ถึง ผู้สําเร็จราชการจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย”
สมเด็จฯ จึงประทานทองให้ไป พร้อมตรัสว่า
“เอาไปปิดเถอะ คนที่ทําบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็เป็นญาติกัน”
เล่าลือกันว่า กระแสพระราชดํารัสนั้น ทําให้ผู้สําเร็จราชการชาบซึ้งมาก พวกที่ชื่นชมก็สรรเสริญพระปรีชาสามารถในสมเด็จฯ ว่า ทรงเปลี่ยน ใจคนที่เคยเขียนประกาศประณามพระราชวงศ์ได้อย่างตรงไปตรงมา พวกที่เคลือบแคลงอยู่ก็ยังคงเฝ้าดูต่อไป
ประทับอยู่อยุธยาได้ 3 เดือน ก็ต้องทรงอพยพใหม่เพราะเกิดพายุใหญ่พัดเอาหลังคาที่ประทับพัง ต้องเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร แต่มิได้ไปประทับที่วังสระปทุม เพราะบริเวณนั้นมีสภาพเป็นดงญี่ปุ่น เสด็จประทับที่พระตําหนักในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ 6 เดือน ก็ต้องตกพระทัยอย่างยิ่ง เพราะวันหนึ่งได้มีการทิ้งระเบิดในพระนครครั้งใหญ่ ลูกระเบิดลงที่บางกอกน้อย วัดสุทัศน์ และในพระบรมมหาราชวังลงที่พระที่นั่งบรมพิมานและพระที่นั่งพิมานรัถยา อันอยู่ขวาซ้ายของพระตําหนักที่ประทับไม่กี่เส้น
ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์จึงเชิญเสด็จหลบภัยไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยทอดเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ให้เป็นที่ประทับอยู่หน้าพระที่นั่งวโรภาศ
พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ประทับที่ตําหนักของสมเด็จฯ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีประทับที่ตําหนักพระราชเทวี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทับที่ “เก้าห้อง” พระองค์เจ้าอาทรฯ ประทับที่ตําหนักพระราชชายา ข้าราชบริพารที่พักตามเรือนเล็กตําหนักน้อยทั่วกันไป ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล และ ม.จ.พัฒนายุ ดิศกุล ประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ตรงข้ามพระราชวัง
พระราชวังบางปะอินก็กลับคืนสู่สภาพมีชีวิตขึ้นบ้าง
ผู้สําเร็จราชการนั้นจอดเรือตะวันส่องแสงอยู่ที่หน้า “สภาคารราชประยูร” อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
เขตพระราชวังบางปะอินก็เป็นเขตพระราชฐานโดยแท้จริง ผู้ใดจะกล้ำกลายเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารทั้งไทยทั้งญี่ปุ่น พระบารมีของสมเด็จฯ แผ่ครอบบางปะอินเป็นที่ร่มรื่นอยู่นานถึง 9 เดือน
ชาวบ้านในแถบนั้นก็กลับมีขวัญดีชวนกันมาเฝ้าหาอะไรแสดงถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงพระสําราญดังที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาในกาลก่อน บางวันก็มาแข่งเรือถวายให้ทอดพระเนตร บางวันก็มาเล่นเพลงเรื่อถวายให้ทรงฟัง บางคืนก็มารําวงถวาย เพราะการรําวงในสมัยนั้นแพร่หลายมาก ทางราชการเองก็ให้หยุดวันพุธครึ่งวัน เพื่อข้าราชการได้หัดรําวงกัน สมเด็จฯ ก็พระราชทานผ้าห่ม เสื้อผ้าแก่เขาเหล่านั้น ของเหล่านี้ในระหว่างสงครามแพงมากที่สุด แต่ผู้สําเร็จราชการจัดหามาถวายจาก “อ.จ.ส.” คือร้านค้าของทางราชการในราคาถูก
เย็น ๆ ก็เสด็จขึ้นทรงโครเกที่สนามหน้าพระที่นั่งวโรภาศ และก็เช่นเคย ทรงรําลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า
“ฉันเคยเล่นโครเกกับพระพุทธเจ้าหลวงที่สนามข้างใน นี่ไม่มีใครจะเล่นกับฉันได้ ตายกันเสียหมด”
ผู้สําเร็จราชการก็หมั่นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ จนเจ้านายที่ตามเสด็จที่เคยไม่โปรด ก็เริ่มจะโปรด เสด็จพระองค์ประดิษฐาเคยตรัสเล่าให้ ผู้เขียน (นายสมภพ จันทรประภา) ฟังวันหนึ่งว่า “ผู้สําเร็จฯ นี่เขาดีนะ เมื่อวานเขาเดินผ่านมา เห็นขุดดินปลูกต้นไม้อยู่ เขาว่าดี ได้ออกกําลัง”
วันเกิดผู้สําเร็จฯ ผู้คุมกระบวนเสด็จก็จัดให้มีการแสดงละครสิ่งละอันพันละน้อยให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ พวกที่ชื่นชมยินดีในการกลับใจได้ของ ดร.ปรีดี ก็ชื่นชมไป ฝ่ายที่คลางแคลงและหัวแข็งก็ยังไม่ยอมลงใจสนิท
9 เดือนในบางปะอินเป็น 9 เดือนแห่งความสุขของทุกคนที่บางปะอินอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ในยามสงคราม ส่วนสมเด็จฯ นั้น ทรงพระประชวรไข้หวัด เมื่อหายประชวรแล้ว พระอธิษฐานที่เคยทรงไว้เมื่อครั้งถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชธิดาของพระองค์ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ว่า ขอให้ทรงลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด เริ่มจะเป็นผลบ้าง แต่ทุกคราวที่มีคนเฝ้าก็ตั้งพระสติได้
ผู้สําเร็จราชการนั้นทุกคราวที่มาเฝ้าจะทรงต้อนรับอย่างดี เคยตรัสด้วยว่า
“พ่อคุณเถอะ ฝากหลานด้วยนะ พ่อมาทําบุญกับคนแก่นี่ พ่อได้กุศล”
ผู้สําเร็จฯ ก็รับพระราชเสาวนีย์ด้วยกิริยามารยาทอันงดงาม เจ้านายทั้งหลายเห็นใจในการที่ผู้สําเร็จฯ มาอยู่ใกล้ชิดเป็นประจําทําให้อุ่นพระทัยกันทั่ว
แต่ไม่มีสักพระองค์หรือสักคนจะทราบว่า ภายใน “สภาคารราชประยูร” อันเป็นที่พักของผู้สําเร็จฯ นั้น คือสถานที่บัญชาการเสรีไทยในประเทศ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุอันทันสมัยอยู่ชั้นล่างอย่างมิดชิด
นายเฉลียว ปทุมรส ผู้อยู่ในตําแหน่งรองราชเลขาธิการสํานักพระราชวัง ก็กว้างขวาง ได้รับการนับหน้าถือตาอย่างแพร่หลายในกระบวนเสด็จ และกว้างขวางอยู่ต่อมาอีกนานจนเสร็จสงคราม
คำชี้แจงเพิ่มเติม
ปรีดี พนมยงค์
ตามที่หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ประทานเล่าไว้ในหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ตอนหนึ่งว่า เมื่อท่านหญิงกราบทูลสมเด็จแนะนําว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ท่านหญิงเห็นสมเด็จฯ ยังทรงสงสัยอยู่จึงกราบทูลว่า “สมเด็จเจ้าพระยายังไงล่ะเพคะ” แล้วสมเด็จฯ จึงเข้าพระทัยทันทีนั้น
สําหรับคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นปัจจุบันที่จงรักภักดีแท้จริงในพระราชวงศ์จักรีก็ย่อมเข้าใจได้ว่า ท่านหญิงได้กราบทูลโดยวิธีเปรียบเทียบกับสมัยที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้น ยังทรงพระเยาว์อยู่ จึงมีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
คนรุ่นท่านหญิงและข้าพเจ้านั้น เมื่อได้ยินคนใดกล่าวถึง “สมเด็จเจ้าพระยา” โดยมิได้ระบุเจาะจงนามต่อท้ายว่า เป็นองค์ใดแล้ว ก็หมายถึงองค์ที่เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 5 ขณะยังทรงพระเยาว์ มิใช่ท่านหญิงสนับสนุนให้ข้าพเจ้าเป็นสมเด็จเจ้าพระยา
(ในสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และหลวงวิจิตรวาทการเป็นที่ปรึกษาเบื้องหลังนั้น เคยดําริจะให้มีขุนนางเจ้าศักดินาเทียบอย่างเจ้าศักดินาฝรั่งและญี่ปุ่น เช่น ให้มี “DUKE” เรียกว่า “สมเด็จเจ้าพญา” ฯลฯ แต่รัฐมนตรีส่วนมากปฏิเสธข้อเสนอของจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ แล้วเลือกเอาทางเวนคืนบรรดาศักดิ์ ซึ่งข้าพเจ้าเวนคืนบรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” มาใช้ชื่อและสกุลเดิมว่า “ปรีดี พนมยงค์” หลวงพิบูลสงครามชื่อเดิม “แปลก” นามสกุลเดิม “ขีตตะสังคะ” ใช้ชื่อเดิม “แปลก” ใช้นามสกุลใหม่ว่า “พิบูลสงคราม” หลวงวิจิตรวาทการชื่อเดิม “กิมเหลียง” สกุลเดิม “วัฒนปฤดา” เปลี่ยนชื่อเดิมเป็น “วิจิตร” เปลี่ยนนามสกุลเดิมเป็น “วิจิตรวาทการ” ฯลฯ เรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในหนังสือเล่มอื่น อาทิ หนังสือที่จะให้ชื่อว่า โมฆสงคราม)
สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ขณะเสด็จประทับที่อยุธยานั้น ทรงมีพระ ชันษากว่า 80 พรรษา แล้ว ท่านทรงทราบตําแหน่งเก่าหรือเทียบบรรดาศักดิ์เก่ากับตําแหน่งของคนนั้น ๆ
เมื่อท่านเสด็จถึงอยุธยา ข้าพเจ้าเบิกข้าราชการเข้าเฝ้า เริ่มต้นด้วย “ข้าหลวงตรวจการมหาดไทยภาค” ข้าพเจ้ากราบทูลตําแหน่งตามระบบราชการใหม่นั้น สังเกตว่า สมเด็จฯ ยังไม่เข้าพระทัย จึงกราบทูลใหม่ว่า “เทศา” ก็ทรงเข้าพระทัย
ครั้นแล้วข้าพเจ้าเบิกคนรองไป ถวายตัวก็มิได้กราบทูลตําแหน่งของผู้นั้นว่า “ข้าหลวงประจําจังหวัด” คือ ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “เจ้าเมือง”
ตลอดไปถึงสรรพสามิตจังหวัดที่เป็นชื่อตําแหน่งใหม่ ข้าพเจ้าก็ได้กราบทูลว่า “หัวหน้าฝิ่นสุรา” ก็เข้าพระทัยได้ดี ฯลฯ
* นายปรีดีคัดมาจากหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ของนายสมภพ จันทรประภา เนื่องจากเป็นคำประทานเล่าของหม่อมเจ้าหญิงองค์นี้ในหนังสือดังกล่าว.
ที่มา: หนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (2543), น. 1-8 และ 116-117.
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- หม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล
- สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ปรีดี พนมยงค์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
- สถาบันพระมหากษัตริย์
- พระมหากษัตริย์
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- ประชาธิปไตย
- พูนศุข พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- หลวงประดิษฐ์บาทุกา
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- หลวงวิจิตรวาทการ
- เวนคืนบรรดาศักดิ์
- แปลก ขีตตะสังคะ
- กิมเหลียง วัฒนปฤดา
- โมฆสงคราม