ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

จำกัด พลางกูร : เพื่อชาติ เพื่อ Humanity

15
สิงหาคม
2563

“ถ้าปราศจากจํากัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสําเร็จ ก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง”

ข้อความข้างต้นนั้นเป็นข้อความที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำกลุ่มเสรีไทยได้กล่าวยกย่องนายจำกัด พลางกูร สมาชิกขบวนการเสรีไทยคนสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่ามีคณะเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทยด้วย ภารกิจนี้ได้นำไปสู่การรับรองคืนสถานะเอกราชให้ไทยหลังสงครามจบลงของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเริ่มจากรัฐบาลจีนเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยการยืนยันจากสหรัฐอเมริกา จนทำให้อังกฤษล้มเลิกความคิดการยึดประเทศไทยเป็นรัฐในอารักขาได้ในที่สุด

จาก “ออกซ์ฟอร์ด” สู่ “ทำเนียบท่าช้าง”

นายจำกัด พลางกูร ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ช่วงมัธยมที่โรงเรียนบรอมโกรฟ ในปี 2474 จนกระทั่งในปี 2479 สามารถสอบเข้าเรียนได้ที่วิทยาลัยบอลลิโอล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และสำเร็จการศึกษารับปริญญาเกียรตินิยมในสาขาวิชา ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ปี 2481 หลังจากสำเร็จการศึกษาจึงได้กลับมาทำงานรับราชการในประเทศไทย นายจำกัด ทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการได้อยู่เพียงพักหนึ่งก็ถูกให้ออกจากราชการ เนื่องจากมีความเห็นต่อต้านผู้มีอำนาจในขณะนั้น 

 

นายจำกัด พลางกูร แถวล่าง คนที่ 4 จากซ้าย ณ ประเทศอังกฤษ ในปี 2478
นายจำกัด พลางกูร แถวล่าง คนที่ 4 จากซ้าย ณ ประเทศอังกฤษ ในปี 2478

 

ต่อมานายจำกัด ได้ก่อตั้ง “คณะกู้ชาติ” โดยรวบรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร นายถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าด้วยกัน ในเวลาต่อมา นายจำกัดและพรรคพวกได้เดินทางไปพบนายปรีดี พนมยงค์เพื่อเรียนเชิญมาเป็นหัวหน้าคณะกู้ชาติ กลุ่มคนเหล่านี้ต่อมาได้กลายมาเป็นขุมพลสำคัญของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปี 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้ตัดสินใจส่งผู้แทนออกไปติดต่อประสานงานกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งได้มีการจัดตั้งองค์การ “เสรีไทย” เพื่อช่วยสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับญี่ปุ่นอยู่เดิมแล้ว ภารกิจสื่อสารครั้งนี้ต้องใช้ผู้ที่มีความสามารถและไว้วางใจได้ จนในที่สุดนายปรีดีได้มอบหมายภารกิจนี้ให้แก่นายจำกัดในการเดินทางไปยังเมืองจุงกิง ประเทศจีน ไม่เพียงแต่เหตุผลความเหมาะสมในด้านอุดมการณ์ ทว่านายจำกัดยังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจช่วยสร้างความเชื่อถือให้กับอังกฤษได้มากขึ้น รวมถึงความสนิทสนมของนายจำกัดกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เคยเป็นเพื่อนบ้านระแวกเดียวกันและพบปะสนทนากันเสมอ ๆ ก่อนที่ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะเดินทางไปรับตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วยกัน จึงอาจทำให้ติดต่อกันได้สะดวกมากขึ้น

“เพื่อชาติ เพื่อ Humanity นะคุณ”

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486 นายจํากัดได้อําลานายปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง ก่อนออกเดินทางไปยังเมืองจุงกิง นายปรีดีได้บอกทิ้งท้ายกับนายจํากัดว่า “เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วันก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่า สละชีวิตเพื่อชาติไป” การเดินทางครั้งนี้ นายจำกัดออกเดินทางจากหัวลำโพงพร้อมด้วยนางฉลบชลัยย์ผู้เป็นภรรยาเดินทางไปส่งสามีที่ชายแดนไทย โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มชาวบ้านในภาคอีสานที่สนับสนุนคณะเสรีไทย พาเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งประเทศลาว เดินทางไปยังประเทศเวียดนาม ก่อนเข้าสู่แผ่นดินประเทศจีน จนในที่สุดนายจํากัดและนายไพศาล ตระกูลลี้ ล่ามภาษาจีน ได้ไปถึงเมืองจุงกิง อันเป็นที่ตั้งรัฐบาลลี้ภัยของเจียงไคเช็ค

ในระยะแรกฝ่ายสัมพันธมิตรไม่รับรองคณะเสรีไทยในประเทศไทย จนกระทั่งนายจํากัดใช้ความพยายามจนได้พบกับประธานาธิบดี เจียงไคเช็ค วันที่ 28 มิถุนายน 2486 นายจำกัดชี้แจงว่าได้มีการรวมตัวของกลุ่มคนที่ปฏิบัติภารกิจต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในไทย เจียงไคเช็กเองก็รับปากจะช่วยเหลือไทยให้ไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และรับรองว่าจะคืนสถานะเอกราชกลับให้ไทยหลังสงคราม ด้านการประสานกับฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศอื่นอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ นั้น เขาได้ส่งแผนการของคณะเสรีไทยให้กับรัฐบาลอังกฤษ และส่งโทรเลขไปสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ช่วยแสดงว่าคณะเสรีไทยในเมืองไทยเป็นเรื่องจริง แต่การติดต่อกับอัครราชทูตไทยนั้นยังไม่เป็นผล ทำให้รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้นายจำกัดเดินทางไปอเมริกาเพื่อพบกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 

 

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช - นายจำกัด พลางกูร - นายไพศาล ตระกูลลี้
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช - นายจำกัด พลางกูร - นายไพศาล ตระกูลลี้

 

ในเวลาต่อมา หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ผู้นําเสรีไทยสายอังกฤษ ได้เดินทางมาพบกับนายจำกัด และได้มีการปรึกษาหารือกัน จนในที่สุดก็ได้มีการร่วมมือกันของเสรีไทยฝ่ายไทยและสายอังกฤษ ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2486 ทางการจีนได้ส่งคนมาแจ้งนายจำกัดว่าจอมพลเจียงไคเช็คได้อนุญาตให้เขาเดินทางไปพบสหรัฐฯ ได้แล้ว เพียงแต่ต้องรอเครื่องบินเพื่อเดินทางเท่านั้น

ในช่วงต้นเดือนต่อมา ฝ่ายไทยได้ส่งนายสงวน ตุลารักษ์, นายแดง คุณะดิลก และนายวิบูลวงศ์ วิมลประภา มาที่จุงกิงเพื่อติดตามข่าวนายจำกัดที่เงียบหายไปหลายเดือน โดยจำกัดและสงวนได้รับการยืนยันจากรัฐบาลจีนว่าพวกเขาจะได้เดินทางไปกรุงวอชิงตันด้วยกันในอีกไม่นาน แต่ยังไม่ทันที่จะได้เดินทางไปตามกำหนด อาการป่วยของนายจำกัดก็ทรุดลงและถึงแก่กรรมในวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ด้วยวัยเพียง 26 ปี แม้ทีมแพทย์จะลงความเห็นว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งตับและกระเพาะอาหาร แต่ยังคงเป็นที่สงสัยในหมู่เจ้าหน้าที่สืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตรว่านี่อาจเป็นแผนวางยาพิษจากฝ่ายจีนหรือฝ่ายญี่ปุ่น

 

เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ทราบข่าวก็รู้สึกเสียใจและเขียนความรู้สึกเกี่ยวกับนายจำกัดไว้บางตอนว่า

“...ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าสงสารและนับถือจำกัด คนดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย จำกัดตายคราวนี้ไม่ได้ ตายเปล่าให้โลกลืมอย่างคนทั้งหลาย จำกัดอาจจะเป็นคนหัวดื้อและบ้าบิ่น แต่ตลอดชีวิตเขาเป็นคนติดตามแสวงความจริง เพราะเหตุนี้จึงถูกรังแกมาแล้ว แม้แต่ในชีวิตอันสั้นและที่ตายก็อาจจะตายเพราะพูดจริงทำจริงนั่นเอง วีรบุรุษจำกัด วิญญาณของท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ขอจงเป็นสุขเถิด เราทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่เบื้องหลังจะรับช่วงดำเนินงานของท่านต่อไปจนสำเร็จ งานที่ท่านอุทิศชีวิตให้แล้ว งานอันมีเกียรติยิ่งที่จะกอบกู้เอกราชของไทย…

……………………………

...เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่ายังมีเกียรติสูงสุดอันพึงใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรีใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่งร.ม.ต.มีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ตายอย่างจำกัดนี้ ไม่มีใครแย่งไปจากเขาได้ เขาตายแล้วไม่สูญ…”

 

แหล่งอ้างอิง

  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 692-707.
  • คณะนิสิตเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2556. เพื่อชาติ เพื่อ humanity. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.