ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประชาธิปไตยเบื้องต้น

5
ตุลาคม
2563
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

1.1

ท่านทั้งหลายส่วนมากย่อมสังเกตได้ว่า ในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น มนุษย์ได้ใช้สัญญาณที่แสดงออกโดยท่าทาง กิริยา อิริยาบถ และอาการต่างๆ นอกจากภาษาพูดและภาษาเขียนซึ่งมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นในโลกประมาณ 5,000 ปีมานี้เอง หลายศัพท์ในภาษาต่างๆ ก็เพิ่งมีผู้คิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่น คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้น เพิ่งมีผู้ตั้งเป็นศัพท์ขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว [นับจาก พ.ศ. 2517] ฉะนั้น เราไม่ควรอาศัยเพียงแต่ภาษาพูดกับภาษาเขียนเป็นหลักวินิจฉัยว่า ปวงชนชาวไทยและมนุษยชาติไม่รู้จักการปกครองประชาธิปไตย เพราะไม่เข้าใจความหมายของศัพท์ว่าประชาธิปไตย แม้ผู้แสดงตนว่าเข้าใจประชาธิปไตย บางคนก็ยังใช้คำนี้ต่างกับความหมายของสถาบันแห่งชาติ คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และพจนานุกรมสำหรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” อันเป็นสัญญาณของปวงชนไว้ว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” 

เราควรพิจารณาว่า ในยุคที่มนุษยชาติยังไม่มีภาษาเขียนและยังไม่มีผู้ใดคิดศัพท์ “ประชาธิปไตย” หรือศัพท์ในภาษาอื่นๆ ที่เทียบได้กับคำนั้น มนุษยชาติได้รู้จักปกครอง ที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่หรือไม่ 

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้วว่า ระบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาระบบประชาธิปไตยปฐมกาลได้ถูกทำลายโดยระบบทาสและระบบศักดินา 

ปวงชนชาวไทยสมัยก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินานั้น ก็มิได้มีลักษณะพิเศษแตกต่างกับมนุษยชาติในโลกที่จะไม่รู้จักปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หากปวงชนชาวไทยรู้จักปกครองสังคมหรือกลุ่มชนของตนโดยถือมติปวงชนเป็นส่วนใหญ่มาแล้วตั้งยุคดึกดำบรรพ์ ต่อมาเมื่อตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินา จึงทำให้ระบบปกครองประชาธิปไตยปฐมกาลนั้นเสื่อมไปในชั่วระยะเวลาหลายพันปี

แม้กระนั้นซากแห่งการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ยังเหลืออยู่บ้างในชนบทก่อนรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คือ ยังมีธรรมเนียมประเพณีซึ่งบทกฎหมายที่ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่า ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ที่ราษฎรในหมู่บ้านเลือกตั้งขึ้น ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดส่วนมากในชนบทว่างลง ทางคณะสงฆ์ก็ปรึกษาพระภิกษุในวัดกับชาวบ้านคัดเลือกเจ้าอาวาสองค์ใหม่ การทำนาในหลายท้องที่ก็มีการลงแขกช่วยกันไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว และต่างก็ช่วยกันในการปลูกที่พักอาศัยหลายแห่ง ฯลฯ อาการกิริยาที่ราษฎรในชนบทแสดงออกนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาธิปไตยปฐมกาลที่ยังมีซากตกค้างอยู่ ถ้าหากผู้ใดถามราษฎรว่าประชาธิปไตยคืออะไร ราษฎรทุกคนก็ยังไม่อาจตอบให้ถูกต้องได้ เพราะศัพท์นั้นเป็นคำซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในภาษาไทย 

การที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยคณะราษฎรเป็นผู้นำขอพระราชทานนั้น ได้ทำให้พวกที่มีซากทัศนะทาสและทัศนะศักดินาเกิดความไม่พอใจ จึงได้พยายามต่อต้านด้วยกลวิธีต่างๆ รวมทั้งใส่ความว่าราษฎรไม่เข้าใจประชาธิปไตยบ้าง ไม่เข้าใจคำว่า “รัฐธรรมนูญ” คืออะไรบ้าง และเสกสรรปั้นแต่งว่าราษฎรเข้าใจผิดไปว่า “รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหล” ผู้ที่ไม่ศึกษาถึงประวัติของคำนี้ก็พากันหลงเชื่อคำโฆษณานั้น แล้วนำมาเล่าต่อๆ กันมา

ถ้าหากเราปรารถนาสัจจะแห่งประวัติของคำนี้ว่าเป็นมาอย่างไร เราก็อาจทราบได้ว่า คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้น เพิ่งมีผู้เสนอขึ้นในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามนั้นใช้คำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” แต่คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เห็นว่า ควรใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อกะทัดรัด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ในระยะแรกๆ ราษฎรไม่เข้าใจได้ทั่วถึง 

อย่างไรก็ตาม ผู้มีใจเป็นธรรมซึ่งไม่หลงเชื่อคำบอกเล่าง่ายๆ เช่น ท่านที่เคยเป็นครูและนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2490 นั้นคงยังจำกันได้ว่า ท่านเคยสอนและเคยเรียนตามหลักสูตรสมัยนั้น ท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นก็เคยชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญคืออะไรและการปกครองประชาธิปไตยคืออะไร เป็นพื้นเบื้องต้นที่ราษฎรพอเข้าใจได้ และวิทยุกรมโฆษณาการ (ต่อมาสมัยหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ก็ได้กระจายเสียงคำอธิบายพร้อมทั้งเพลงประกอบแทบทุกวัน ผู้มีใจเป็นธรรมย่อมไม่ใส่ความราษฎรไทยว่าไม่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจได้ 

แต่ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 แล้ว การชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ลดน้อยลงไป และภายหลังที่สถาปนาระบบเผด็จการขึ้นแล้ว การชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็หยุดชะงักลง จึงทำให้บางคนที่มิได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประถมและมัธยมเหมือนระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2490 ไม่เข้าใจหรือแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจ 

ผู้ศึกษาประวัติการปกครองย่อมค้นคว้าหลักฐานที่เป็นสัจจะได้อีกว่า รัฐบาลพหลฯ ได้เสนอพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2477 ต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งให้ความเห็นชอบ ออกเป็นกฎหมายได้ รัฐบาลก็ได้แถลงเจตนารมณ์ให้ราษฎรทราบทั่วกันว่า ในการออกกฎหมายนั้นก็เพื่อให้ราษฎรปกครองตนเองโดยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ตั้งแต่ชั้นตำบล ขึ้นมาจนถึงเมืองและนคร เพื่อวางพื้นฐานประชาธิปไตยจากชั้นท้องถิ่น ประกอบด้วย ประชาธิปไตยระดับชาติทางสภาผู้แทนราษฎร เทศบาลเมืองได้จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด ส่วนเทศบาลตำบลได้จัดตั้งมากหลายตามกำลังของจำนวนผู้ตรวจการเทศบาลที่จะอบรมขึ้นมาได้ แต่ภายหลังเกิดระบบเผด็จการแล้ว ระบบนั้นก็อ้างเหตุผลอย่างเดียวกันกับซากทัศนะทาสและทัศนะศักดินาว่า ราษฎรยังไม่รู้เรื่องประชาธิปไตยจึงได้ยุบสภาเทศบาลซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกนั้นเสีย แล้วแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามที่เจ้าหน้าที่ของระบบเผด็จการเห็นชอบ 

ข้าพเจ้าวิตกว่า ถ้าหากยังมีผู้หลงเชื่อคำโฆษณาของผู้เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ที่ใช้เป็นข้ออ้างว่าความพยายามของรัฐบาลโดยวิธีต่างๆ ดังกล่าวแล้วในระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2490 ไม่อาจทำให้ราษฎรทราบแม้แต่เบื้องต้นว่าประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญคืออะไรแล้ว นิสิตนักศึกษาปัจจุบันที่มีความปรารถนาดีอุทิศตนเผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ราษฎรนั้นจะได้ผลเพียงในภายในเวลาไม่กี่เดือน เพราะจำนวนผู้เผยแพร่น้อยกว่าจำนวนครูและพนักงานท้องที่ดังกล่าวข้างบนนั้น 

แต่ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสและมีความเชื่อว่านิสิตนักศึกษามีสติปัญญาพอ โดยอาศัยสามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนนั้นเป็นหลักวินิจฉัยว่า คำโฆษณาของผู้เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ นั้นควรได้รับความเชื่อถือหรือไม่ 

โดยที่ผู้ปรารถนาดีหลายท่านต้องการทราบความเห็นของข้าพเจ้าเกี่ยวกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการร่างรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงสนองศรัทธาโดยเขียนบทความนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านทั้งหลาย [เนื่องจากใน พ.ศ. 2517 ที่เขียนบทความนี้ กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516]

1.2

สำหรับผู้ที่รู้หลักภาษาไทยอยู่บ้างก็พอทราบได้ว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบขึ้นด้วยคำไทย 2 คำคือ คำว่า “ประชา” ซึ่งหมายถึงหมู่คนหรือปวงชน กับคำว่า “อธิปไตย” ซึ่งหมายถึงอำนาจสูงสุด คำว่า “ประชาธิปไตย” ตามมูลศัพท์จึงหมายถึง “อำนาจสูงสุดของปวงชน” ดังนั้น แบบการปกครองประชาธิปไตยจึงต้องถือมติปวงชนเป็นใหญ่ 

ส่วนผู้ปรารถนาหาความเข้าใจจากคำอังกฤษ “DEMOCRACY” คำฝรั่งเศส “DÉMO CRATIE” หรือคำเยอรมัน “DEMOKRATE” นั้นก็อาจทราบได้ว่า คำฝรั่งทั้งสามนั้นแผลงมาจากคำกรีก “DEMOKRATIA” ซึ่งมาจากมูลศัพท์ “DEMOS” แปลว่า “ปวงชน” (สมุหนามของชนทั้งหลายหรือราษฎรทั้งหลาย) ผสมกับคำว่า “KRATOS” แปลว่าอำนาจ และ “KRATEIN” แปลว่าการปกครอง จึงมีความหมายว่าอำนาจสูงสุดของปวงชน การปกครองโดยมติของปวงชน 

ดังนั้น ไม่ว่าจะตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กับฉบับสำหรับนักเรียน หรือตามความหมายของมูลศัพท์ หรือตามความหมายของคำฝรั่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว คำว่า “ประชาธิปไตย” จะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความหมาย “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนซึ่งมีสิทธิกับหน้าที่ตามธรรมชาติของมนุษยชน

1.3

การที่ประชาธิปไตยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ก็เพื่อราษฎรทั้งหลายที่ประกอบเป็นปวงชนนั้นได้มีรัฐบาลของปวงชนซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางผู้แทนราษฎร จึงจะเป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลายให้มีความอุดมสมบูรณ์ในการครองชีพ และปลอดภัยจากการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน อีกทั้งเพื่อให้ราษฎรทั้งหลายประพฤติต่อกันตามศีลธรรมอันดีของประชาชน ชาติจึงจะดำรงคงมีความเอกราชและพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ 

ชาติหนึ่งๆ ปัจจุบันนี้ประกอบด้วยชนที่มีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างๆ กัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคืออภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในชาติ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ สามัญชนซึ่งเป็นคนจำนวนส่วนข้างมากในชาติ 

อภิสิทธิ์ชน ได้แก่ บุคคลที่มีฐานะพิเศษตามระบบศักดินา และบุคคลที่เป็นเจ้าสมบัติสมัยใหม่ มีทุนยิ่งใหญ่มหาศาล เป็นจักรวรรดินิยม เป็นบรมธนานุภาพเหนือกว่านายทุนผู้รักชาติที่ทำมาหากินโดยสุจริต อภิสิทธิ์ชนหมายความถึงลูกสมุนที่ยอมตนเป็นเครื่องมือของอภิสิทธิ์ชนด้วย ในทางปฏิบัตินั้นอภิสิทธิ์ชนก็มีกำลังทรัพย์ใช้เป็นทุนในการเลือกตั้งได้ ยิ่งกว่าผู้สมัครสอบรับเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายสามัญอยู่แล้ว ถ้าหากตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนได้เป็นวุฒิสมาชิกโดยไม่ต้องรับเลือกจากราษฎร อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุนก็สามารถผูกขาดอำนาจการปกครองไว้โดยเด็ดขาดตลอดกาล ชาติก็จะมีรัฐบาลของอภิสิทธิ์ชนตลอดกาล โดยแต่งตั้งจากอภิสิทธิ์ชนตลอดกาล เป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่ออภิสิทธิ์ชนตลอดกาล อภิสิทธิ์ก็เป็นผู้เสวยผลผลิตของชาติที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของปวงชนตลอดกาล อันเป็นการเบียดเบียนสามัญชนคนส่วนมาก ซึ่งจะมีความอัตคัดขัดสนยิ่งขึ้น ปวงชนที่เป็นพลังสำคัญของชาติก็จะอ่อนเปลี้ยลง ซึ่งเป็นการบั่นทอนการพัฒนาก้าวหน้าและการดำรงความเป็นเอกราชของชาติ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นปวงชนและเพื่อประโยชน์ของชาติ แบบการปกครองประชาธิปไตยจึงต้องถือตามมติปวงชนเป็นใหญ่

1.4

“ทัศนะประชาธิปไตย” เป็นทัศนะที่เกิดขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่จะต้องสัมพันธ์กันอยู่เป็นกลุ่มชน หรือสังคม หรือเป็นชาติ ไม่มีบุคคลใดจะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังได้ มนุษย์จึงต้องมีทัศนะที่เป็นหลักนำความประพฤติของตนเพื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อื่นในชาติเดียวกันเพื่อให้ชาติดำรงอยู่และเพื่อพัฒนาเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ ทัศนะประชาธิปไตยจึงเป็นทัศนะที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน แม้ว่ามนุษย์มีเสรีภาพส่วนบุคคลตามธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อมิให้เสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่น และเพื่อให้ชาติดำรงอยู่กับเติบโตพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ตั้งแต่ยุคปฐมกาลจึงมีธรรมจริยาซึ่งมนุษย์มีจิตสำนึกตามธรรมชาติ ที่จะต้องใช้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมิให้เป็นที่เสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและแก่ส่วนรวมของกลุ่มชน 

ทัศนะประชาธิปไตยจึงต่างกับทัศนะที่เกิดจากคติ “ปัจเจกนิยม” (INDIVIDUALISM) ซึ่งถือเสรีภาพเฉพาะตัวของบุคคลเป็นใหญ่โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ต่อส่วนรวมของปวงชน และชาติ จากรากฐานปัจเจกนิยมนี้ก่อให้เกิดลัทธิการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจ และลัทธิเสพย์สุขหลายอย่างที่ขัดต่อธรรมจริยาส่วนรวมของปวงชน หรือที่เรียกว่าศีลธรรมอันดีของประชาชน อาทิ 

ก. ลัทธิการเมือง “อนาธิปัตย์นิยม” (ANARCHISM) ลัทธิจำพวกนี้ถือว่าเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ฉะนั้น แบบการปกครองของมนุษย์จะต้องไม่มีรัฐบาล บุคคลจึงจะมีเสรีภาพเต็มที่ โดยแยกย้ายกันอยู่เป็นกลุ่มน้อยๆ ซึ่งสมานกันโดยความตกลงกันอย่างเสรี ลัทธินี้แยกออกเป็นหลายสาขา บางสาขาที่เชิดชูเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ก็ประพฤติและสนับสนุน “ลักเพศนิยม” 

ข. ลัทธิเศรษฐกิจ “เสรีนิยม” ซึ่งปล่อยให้เอกชนมีเสรีภาพเต็มที่ในการประกอบ เศรษฐกิจ ต่างคนต่างทำ ผู้ใดมีทุนมากก็ได้เปรียบผู้ไร้สมบัติ ในวิชาว่าด้วยประวัติลัทธิ เศรษฐกิจ (HISTOIRE DES DOCTSINES ECONOMIQUES) จัดลัทธิเสรีนิยมเข้าอยู่ในจำพวกสำนักปัจเจกนิยม (ECOLE INDIVIDUALISTE) เมื่อลัทธินี้ดำเนินถึงขีดสูงสุดก็ช่วยให้ผู้ที่สะสมทุนมหาศาลเป็นเจ้าสมบัติ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งมีบรมธนานุภาพกดขี่เบียดเบียนคนส่วนมาก นักประชาธิปไตยผู้หนึ่งเปรียบเทียบเสรีนิยมว่าเสมือน “เสรีภาพของสุนัขจิ้งจอกในเล้าไก่” 

ค. ลัทธิลักเพศนิยม (Homosexuality) คือ การเสพย์เมถุนระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิง ซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ลัทธิเสพย์เมถุนระหว่างหญิงกับหญิงนั้นยังมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เลสเบียนิสม์” (Lesbianism) “ลักเพศนิยม” ถือว่าเสรีภาพของบุคคลที่จะกระทำการใดตามความพอใจในการเสพย์สุขนั้นมีค่าสูงสุด บุคคลจึงต้องหาความสุขสำราญให้เต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงศีลธรรมอันดีของปวงชน เพราะการเสพย์เมถุนระหว่างคนต่างเพศยังไม่เป็นการเพียงพอที่ให้ความสุขสำราญได้ จึงต้องเสพย์เมถุนระหว่างคนเพศเดียวกัน ลัทธินี้ถือเอาความเสพย์สุขทางเมถุนเป็นสำคัญยิ่งกว่าชาติพันธุ์ของมนุษยชาติ โดยไม่คำนึงถึงว่า มนุษยชาติมีเพศชายและเพศหญิงซึ่งได้แพร่พันธุ์สืบต่อๆ มา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มิฉะนั้นมนุษยชาติก็สูญสิ้นชาติพันธุ์ไปพ้นจากโลกนี้ช้านานมาแล้ว ผู้ประพฤติลักเพศและเผยแพร่ลักเพศในชาติใดผู้นั้นก็ทำลายชาติพันธุ์แห่งชาติของตนเอง อันเป็นอาชญากรรมอย่างมหันต์ 

ในประเทศอังกฤษนั้น ท่านเจ้าศักดินาหลายท่านที่โปรดลักเพศนิยมได้พยายามติดต่อกันมาหลายปีในการเสนอทางสภาเจ้าศักดินา (HOUSE OF LORDS) เพื่อให้ยกเลิก กฎหมายห้ามการลักเพศ แต่ท่านเจ้าศักดินาถูกคัดค้านจากสภาสามัญชน (HOUSE OF COMMONS) โดยเฉพาะพรรคแรงงานซึ่งเป็นสังคมนิยมอังกฤษที่ต้องการรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชนไว้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พรรคจารีตนิยมซึ่งเป็นฝ่ายอภิสิทธิ์ชนได้ชนะการเลือกตั้ง ความปรารถนาของท่านเจ้าศักดินาและอภิสิทธิ์ชนก็ประสบความสำเร็จในการยกเลิกกฎหมายห้ามการลักเพศ 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2514 ข้าพเจ้าได้มีจดหมายตอบคณะผู้จัดทำมหิดลสาร ซึ่งต้องการบทความของข้าพเจ้าเกี่ยวกับสาธารณรัฐราษฎรจีน ข้าพเจ้าได้เขียนตอนหนึ่งว่า “ส่วนกระเทยหรือชายกองกลางซึ่งเป็นการพัฒนาคนแบบใหม่ในบางประเทศนั้นไม่เคยมีในประเทศจีนเก่าหรือปัจจุบัน” ในอดีตของไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์เป็นการผิดศีลธรรมอย่างแรง จึงโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ลงโทษจำคุกหลายปีแก่ผู้กระทำกามวิตถารเช่นนั้น แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้บางคนอ้างว่าจงรักภักดีในรัชกาลที่ 5 ได้ ยอมลงมติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 

ง. ลัทธิ “ฮิปปี้” ซึ่งคัดค้านธรรมจริยาของปวงชนว่า เป็นการตัดเสรีภาพสมบูรณ์ เฉพาะตัวซึ่งบุคคลมีเสรีภาพที่จะแต่งกาย อยู่กิน เสพย์ยาต่างๆ ซึ่งทำให้จิตใจเบิกบาน (NARCOTIC DRUG) อาทิ กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน และผลิตภัณฑ์เคมีทำนองเดียวกันนั้น ลัทธิฮิปปี้เป็นที่คู่กันไปกับลักเพศนิยม เพราะผู้ประพฤติตามลัทธิฮิปปี้นี้ก็ประพฤติลักเพศด้วย และผู้ประพฤติลักเพศก็ประพฤติลัทธิฮิปปี้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทุกส่วนด้วย

1.5

ปวงชนแสดงมติในการปกครองแบบประชาธิปไตยโดย 2 วิธีคือ 

ก. วิธีแสดงมติโดยตรง เรียกว่า “ประชามติ” หมายความว่า ปวงชนออกเสียงตรง ในกิจการปกครองบ้านเมือง คือ การบัญญัติกฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) การแต่งตั้งและควบคุมรัฐบาล (อำนาจบริหาร) การแต่งตั้งตุลาการ (อำนาจตุลาการ) 

สำหรับบ้านเมืองที่มีพลเมืองน้อย เช่น “สักกะชนบท” เมื่อครั้งพุทธกาลและนครเล็กนครน้อยในสมัยกรีกโบราณ ฯลฯ นั้น ปวงชนก็สามารถประชุมกันได้ทั่วถึงเพื่อออกเสียง 

แต่สำหรับบ้านเมืองหรือประเทศที่มีพลเมืองหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านคนนั้นย่อมเป็นการยากลำบากที่จะจัดให้ปวงชนประชุมกันได้ทั่วถึง เพื่อออกเสียงโดยตรงใน กิจการปกครองบ้านเมืองทุก ๆ อย่างได้ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีที่สอง คือ แสดงมติโดยผ่าน ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แม้กระนั้นในบางประเทศได้สงวนอำนาจของปวงชนในการแสดงมติโดยตรงเฉพาะกฎหมายและนโยบายที่สำคัญและการแต่งตั้งประมุขของประเทศ 

ข. วิธีแสดงมติโดยผ่านผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง หมายความว่า ราษฎรในเขตหนึ่งๆ เลือกผู้แทนของตนให้แสดงมติแทนตนในสภาผู้แทนราษฎรหรือในรัฐสภาเพื่อ บัญญัติกฎหมายให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐบาล ควบคุมรัฐบาลในการปฏิบัติ (บริหาร) บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการตั้งศาล และมีองค์การแต่งตั้งถอดถอนตุลาการ 

วิธีแสดงมติโดยผ่านผู้แทนนั้นมี 2 แบบคือ 

(1) ราษฎรเลือกผู้แทนโดยตรง 

(2) ราษฎรเลือกผู้แทนโดยทางอ้อม คำว่า “โดยทางอ้อม” ในที่นี้แปลมาจากภาษาอังกฤษ “INDIRECT” เมื่อนำมาใช้แก่การออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็หมายถึงการที่ราษฎรเลือกตัวแทนให้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแทนตนชั้นหนึ่งก่อน แล้วตัวแทนจึงเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง เช่น ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วผู้แทนตำบลจึงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

(ในบางประเทศที่มีพลเมืองหลายร้อยล้านคน เช่น ประเทศจีนต้องใช้วิธีเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในบริเวณทั่วไป 3 ชั้น คือ ราษฎรเลือกตั้งตัวแทนเพื่อเลือกสมาชิกสภาท้องที่ชั้นหนึ่งก่อน แล้วสมาชิกสภาท้องที่เลือกสมาชิกสภามณฑลเป็นชั้นที่สอง แล้วสมาชิกสภามณฑลเลือกผู้แทนราษฎรเป็นชั้นที่สาม ยกเว้นบางท้องที่ซึ่งราษฎรเลือกผู้แทน โดยตรงบ้าง โดย 2 ชั้นบ้าง) 

วิธีเลือกตั้งทางอ้อมนั้นก็มาจากพื้นฐานการออกเสียงลงมติของราษฎรเอง ซึ่งต่างกับ การแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภาโดยรัฐบาลหรือองคมนตรี

1.6

ในหลายประเทศประชาธิปไตยที่มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น มิใช่รัฐบาลหรือองคมนตรีเป็นผู้เสนอประมุขรัฐให้แต่งตั้ง วุฒิสมาชิกโดยการแต่งตั้งจึงมิใช่ผู้แทนของปวงชนหากเป็นตัวแทนของ อภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในชาติ จึงไม่ใช่วิธีประชาธิปไตยซึ่งถือปวงชนเป็นใหญ่ ส่วนวิธีให้องคมนตรีทำบัญชีรายชื่อบุคคลจำนวนหนึ่งตามที่องคมนตรีเห็นสมควร แล้วส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกตามบัญชีนั้น วุฒิสมาชิกชนิดนี้ก็ไม่ใช่ตัวแทนของปวงชน เพราะสภาผู้แทนราษฎรจำต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อขององคมนตรี เท่ากับเลือกจากตัวแทนขององคมนตรีเท่านั้น 

ส่วนมากของประเทศประชาธิปไตยที่มีวุฒิสภานั้นใช้วิธีเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 2 ชั้น คือ ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด หรือ สภามณฑลชั้นหนึ่งก่อน แล้วสมาชิกสภาจังหวัด หรือ สมาชิกสภามณฑลเลือกตั้งวุฒิสมาชิก วุฒิสมาชิกชนิดนี้จึงเป็นตัวแทนของราษฎร

1.7

การที่ประเทศประชาธิปไตยบางประเทศมี 2 สภานั้น ก็เพื่อให้ผู้สูงอายุช่วยกลั่นกรองร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติแล้ว เพราะถือว่าผู้แทนราษฎรนั้นกฎหมายกำหนดอายุชั้นต่ำไว้น้อยกว่าวุฒิสมาชิก แต่ไม่ได้กำหนดอายุขั้นสูงของผู้แทนราษฎรไว้ ฉะนั้น ในทางปฏิบัติปรากฏว่า หลายคนที่สูงอายุกว่าวุฒิสมาชิกได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร ฉะนั้น หลายราชอาณาจักรปัจจุบันจึงมีผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียวซึ่งมีสมาชิกคนหนุ่มและคนสูงอายุร่วมงานกัน ส่วนบางประเทศที่ยังมีวุฒิสภานั้นก็เพื่อช่วยกลั่นกรองร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร คือ การ “ยับยั้ง” ประดุจเป็นห้ามล้อมิใช่เป็นการ “ถ่วง” 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ถืออุดมการณ์ที่ว่าพฤฒสภาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย ฉะนั้นมาตรา 54 จึงให้สิทธิสภานี้ยับยั้งไว้ในระหว่างพิจารณาเพียง 30 วัน และถ้าเป็น กฎหมายว่าด้วยการเงินก็ยับยั้งเพียง 15 วันเท่านั้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มาตรา 122 ให้สิทธิวุฒิสภายับยั้งร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรได้ 60 วัน และยับยั้งร่าง กฎหมายการเงินไว้ได้ 30 วัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ได้กำหนดเวลาเช่นนั้นไว้ ตามฉบับ 2492 จึงทำให้วุฒิสภามีลักษณะเป็น “สภาถ่วง” 

ปัญหาจึงเกิดขึ้นในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ คือ 

ในทางวิชาการแห่งทฤษฎีนั้นเรื่องที่เรียกว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” แห่งระบบรัฐสภา นั้น หมายถึงการให้อำนาจสูงสุดทั้งสาม คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจ ตุลาการ มีอำนาจสมดุลระหว่างกัน ไม่ปรากฏในทางวิชาการประชาธิปไตยว่า ภายในอำนาจนิติบัญญัตินั้นต้องมีการถ่วงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรโดยอภิสิทธิ์ชน จนทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องทรุดเซไป อันทำให้เสียดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร 

ถ้าวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นผู้ “ถ่วง” อำนาจนั้นเป็นบุคคลที่องคมนตรีจัดบัญชีรายชื่อลับ โดยไม่กำหนดคุณสมบัติ คือ สุดแท้แต่ว่าองคมนตรีเห็นว่ามีความรู้ความชํานาญในการแผ่นดิน เราก็ควรพิจารณาถึงผลที่จะได้ในทางปฏิบัติว่า บุคคลชนิดใดจะได้เป็นวุฒิสมาชิก เพราะราษฎรย่อมสนใจในผลปฏิบัติ และถ้าเป็นนิสิต นักศึกษา นักเรียนในสถานศึกษา ที่สอนถูกต้องตามวิธีสอนแล้ว ผู้สอนก็ย่อมให้ความรู้ในทางทฤษฎีสมานกับการปฏิบัติอัน เป็นวิธีที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาเมื่อครั้งเป็นนักเรียนกฎหมาย คือ ครูอาจารย์ท่านสอนทฤษฎีใด ท่านก็ให้ตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์ประกอบด้วย และถ้ามีคำพิพากษาศาลฎีกาท่านก็อ้างตัวอย่าง คำพิพากษาศาลนั้น ถ้าครูอาจารย์ท่านใดสอนแต่ทางทฤษฎี นักเรียนก็ขอให้ท่านยกตัวอย่างประกอบ 

ในกรณีที่คณะองคมนตรีเป็นผู้ทำบัญชีรายชื่อลับ 300 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกเพื่อเป็นวุฒิสมาชิก 100 คนนั้น เราก็ไม่ควรพิจารณาเพียงนามธรรมของคำว่า “องคมนตรี” เท่านั้น คือ ต้องพิจารณาตามรูปธรรมที่ประจักษ์ว่า องคมนตรีประกอบด้วยท่านผู้ใด มีฐานะและอายุเท่าใด ซึ่งเป็นบรรทัดฐานขององคมนตรีต่อไปในอนาคตด้วย ท่านที่เป็นองคมนตรีในปัจจุบันนี้ [พ.ศ. 2517] เป็นข้าราชการบํานาญซึ่งบางท่านเคยเป็นเสนาบดี (รัฐมนตรี) สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2475 บางท่าน เช่น กรมหมื่นพิทยลาภฯ ประธานองคมนตรี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2428 ทรงมีพระชันษาถึงปัจจุบันนี้ 89 พรรษา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร มีอายุ 89 ปี เท่ากับกรมหมื่นพิทยลาภฯ พระยาศรีเสนาและพระยามานวราชเสวี มีอายุคนละกว่า 84 ปี และอีกหลายท่านก็มีอายุคนละประมาณ 80 ปี

ท่านที่มีอายุน้อยกว่าผู้อื่น คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในการทำบัญชีชื่อลับดังกล่าวนั้นองคมนตรีที่ชรามากนั้นมีภาระหนักมาก เพราะท่านต้องสำรวจบุคคลมากมายหลายพันหลายหมื่นคนซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชํานาญในการแผ่นดิน แล้วท่านจึงจะคัดเอาไว้เพียง 300 คน เพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากท่านจะเลือกเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิดกับท่าน เพราะเคยทำงานร่วมกันมาหรือเคยใกล้ชิดกันมา ท่านก็จะถูกครหานินทาว่าไม่ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมอันจะเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันองคมนตรี ดังนั้น ก็อาจมีผู้คิดช่วยทุ่นแรงองคมนตรีโดยใช้วิธีที่เคยปฏิบัติมาในการจัดทบัญชีชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ คือ ใช้คนประมาณ 4-5 คน ร่างบัญชีชื่อขึ้นก่อน แล้วเสนอองคมนตรีคัดเลือกเอา 300 คน ผลที่จะได้รับเป็นอย่างไรนั้น เราท่านก็รู้อยู่เต็มอก โดยข้าพเจ้าไม่ต้องชี้แจง

ส่วนเหตุผลที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงในสภานิติบัญญัติว่า การที่ต้องทำบัญชีชื่อลับส่งให้สภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่มีชื่อในบัญชีซึ่งอยู่ในข่ายจะได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกมีโอกาสวิ่งเต้นหาคะแนนเสียงนั้น ก็เป็นวิธีใหม่ที่นิมิตร (INVENTION) ขึ้น สำหรับประเทศไทย ข้าพเจ้าไม่คัดค้านการนิมิตรสิ่งใดขึ้นใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการนิมิตรนั้นเป็นนิมิตรทางประชาธิปไตยหรือไม่ และในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้อย่างไร โดยเฉพาะการที่ผู้ร่างประสงค์รักษาความลับบัญชีรายชื่อ 300 คนนั้นก็ต้องคำนึงว่า องคมนตรีจะต้องเขียนและทำสำเนาบัญชีด้วยตนเองซึ่งเป็นภาระหนักมากแก่องคมนตรี 

ดังนั้น เพื่อทุ่นแรงก็จะต้องมีคนอื่นช่วยท่านระหว่างทาง นับตั้งแต่มีผู้ช่วยท่านทำบัญชีชื่อเป็นครั้งแรกจนถึงมือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็อาจมีคนรู้ “ไต๋” ก่อนคนอื่นๆ เราต้องยอมรับความจริงจากพฤติการณ์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจาก สมาชิกสมัชชาแห่งชาติว่ามีบางท่านไม่วิ่งเต้นหาเสียงก็จริงอยู่ แต่บางท่านก็วิ่งเต้นหาเสียง ผู้ใดรู้ “ไต๋” ก่อน ผู้นั้นก็ได้เปรียบคนอื่น ฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า การนิมิตรวิธีใหม่นี้ไม่ถูกต้องตามวิธีประชาธิปไตย ถ้าหากสภานิติบัญญัติต้องการมีวุฒิสภาก็ควรใช้วิธีเลือกตั้งโดยตัวแทนของราษฎร ซึ่งอาจใช้วิธีเลือกตั้ง 2 ชั้น โดยสภาเทศบาลและสภาจังหวัด หรือมิฉะนั้นก็โดยสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเลือกจากบัญชีชื่อลับขององคมนตรี ให้โอกาสแก่ทุกคนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก สามารถสมัครได้โดยเปิดเผยและให้สภาผู้แทนราษฎรมีเวลาพอพิจารณาว่า ผู้สมัครคนใดสมควรได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก 

 

ที่มา : ส่วนแรกของบทความ เรื่อง “ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้น กับการร่างรัฐธรรมนูญ” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2517