จากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 88 ปี กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการก่อตั้งรวมตัวของกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรป (ฝรั่งเศส อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์) โดยเรียกกลุ่มตนเองว่า “คณะราษฎร” การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้น ช่วงฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน ในปี 2469 ณ กรุงปารีส
หลายท่านคงทราบถึงเรื่องนี้ดีและเคยได้ยินกันหลายต่อหลายครั้ง ถึงสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของการพบปะนัดหมายประชุมของกลุ่มคณะราษฎร ในปารีส นั้นก็คือร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการเข้าใจผิดกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับร้านกาแฟแห่งนี้ และตามหากันว่า ร้านกาแฟแห่งนี้อยู่ที่ไหนและเป็นมาอย่างไร
ผมอยากขอเริ่มต้นอ้างอิงตามข้อมูลที่หามาได้ตามนี้นะครับ Café แห่งแรกที่คนเข้าใจผิดกันค่อนข้างยาวนานในช่วงแรกนั้นก็คือ Café de la Paix
Café de la Paix เป็นร้านกาแฟและร้านอาหารหรูหรา ย่านใจกลางเมือง อยู่ข้างโอเปร่า Le Palais Garnier ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในร้านกาแฟที่หรูหราและราคาแพงที่สุดในปารีสก็ว่าได้ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นผมยังจำได้เลยว่าราคากาแฟที่นั้นแก้วละ 50 francs ซึ่งราคาตามร้านปกติราคาจะไม่ถึง 10 francs..
และอีก Café หนึ่งที่มีการอ้างอิงถึงว่ามีความจะเป็นไปได้นั้นก็คือ Le Select
ถ้าวันนี้เรา search หาคำว่า Café Select แน่นอนครับว่า Le Select จะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องด้วยความโด่งดังของร้าน และย่านที่ตั้งอยู่ของร้านเองด้วย ร้านกาแฟและอาหาร Le Select ตั้งอยู่ในย่าน Montparnasse เช่นเดียวกับร้านดัง ๆ อื่น ๆ เช่น La Coupole, La Rotonde, Le Dome ซึ่งเป็นศูนย์รวมโรงแรม, บาร์, ร้านอาหาร และ ร้านกาแฟเข้าด้วยกัน ซึ่งในยุคสมัยก่อน จะมีผู้คนที่มีความรู้ เช่น นักปราชญ์, ศิลปิน, นักเขียน หรือคนดัง และรวมไปถึงนักการเมืองด้วย ที่จะไปใช้ชีวิต นั่งดื่มกาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด หรือทานอาหารเช้า จิบกาแฟไป เขียนบทความไปด้วย หนึ่งในนั้นก็จะมีนักเขียนชาวอเมกันอย่าง Ernest Hemingway ที่มีโอกาสได้มาอาศัยอยู่ในปารีส ในย่านนั้นและมีความผูกพันธ์กับร้านกาแฟในย่านนั้นดี
ภาพตัวอย่างบรรยากาศร้านในย่าน Montparnasse ในสมัยก่อนส่วนด้านหน้าร้าน La Coupole
Ernest Hemingway's Paris-Hemingway's favorite bars, brasseries, and cafes in Paris.
เราจะมาหาข้อมูลดูกันว่า ทำไมร้าน Café เบื้องต้นสองร้านนี้ ทั้ง Café de la paix กับ Le Select ถึงไม่ใช่ร้านที่ “คณะราษฎร” มีการนัดพบและประชุมกันเพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม
-------
จากคำบอกเล่าของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “ชื่อร้านที่ถูกกล่าวถึงซ้ำ ๆ อย่างเข้าใจผิดมาเนิ่นนานได้แก่ Café de la Paix” หากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้ภริยา พร้อมบุตรสาวของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน กลับเปิดเผยทำนองว่า มิใช่ร้านนี้หรอก แต่เป็นร้าน Café Select ใกล้ๆ ย่านนักศึกษาเยี่ยงการ์ติเย ลาแตง (Quartier Latin)
“บางวัน ข้าพเจ้ากับนายปรีดีออกจาก Sainte-Geneviève แล้วก็มานั่งเล่นที่ร้านกาแฟ Café Select มุมถนน Rue des Ecoles ตัดกับถนน Boulevard Saint-Michel ใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์ Cluny นายปรีดีเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่ร้านกาแฟนี้ นายปรีดีและเพื่อน ๆ ร่วมกันคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรารถนาให้สยามประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีเสรีภาพและประชาธิปไตย”
ถ้าเราจะอิงตามแผนที่ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าที่อยู่ของร้านนั้นตั้งอยู่ที่
หนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นได้ชัดเจนว่า ร้าน Le Select (Montparnasse) นั้นไม่ใช่ร้านที่ทางคณะราษฎรได้ร่วมประชุมกัน เนื่องจากสถานที่ไม่ตรง และร้าน Le Select เองนั้นก็ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) จนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยตัวร้านไม่ได้ถูกปิดและไปเปิดในสถานที่ใหม่ ตั้งแต่เปิดทำการถึงปัจจุบัน อีกทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ย่าน Quartier Latin
จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยอิงรายละเอียดที่อยู่ปัจจุบัน พบได้ว่า ที่อยู่ของร้าน Café Sélect นั้นได้ถูกอ้างอิงขึ้นในหนังสือบันทึกส่วนตัวหลาย ๆ เล่ม โดยเรียกชื่อร้าน Café นี้ว่า “Café Sélect Latin”
และเมื่อได้ทดลองค้นหาข้อมูลเชิงลึก โดยอ้างอิงจาก สํานักงานจดทะเบียนการค้าของ Paris (Greffe du Tribunal de Commerce de PARIS) ก็พบข้อมูลที่ตรงกันว่า มีการจดทะเบียนการค้าเปิดเป็นร้านอาหารอยู่จริงโดยใช้ชื่อจดทะเบียนว่า Select Latin ซึ่งจดทะเบียนการค้าขึ้นในปี 1954 (2497) และ น่าจะปิดตัวลงในช่วงปี 1994
จากรายละเอียดการค้นหาจากที่อยู่ตามนี้เราจะพบได้ว่า ในหลายช่วงเวลามีการเปลี่ยนเจ้าของกิจการโดยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 18XX (โดยประมาณ 1893-1929) มีร้าน café และอาหารใหญ่ชื่อว่า Café-Restaurant Soufflet ตั้งอยู่ตามที่อยู่ที่ระบุด้านบน
ต่อมาในช่วง ค.ศ. 19xx (โดยประมาณ 1934-1950) มีร้าน café และอาหารใหญ่ชื่อว่า DUPONT “Chez Dupon Tout Est Bon” ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในปารีส ได้มาทำการ เปิดแทนที่ Café-Restaurant Soufflet เป็นสาขาที่มีชื่อเรียกกันว่า DUPONT - LATIN
และร้าน Café สุดท้ายที่มาแทนที่และเปิดประมาณในปี ค.ศ. 1954 ที่มีชื่อว่า café Sélect Latin และได้ทำการปิดตัวลงภายหลังในช่วงปี 1994 (พ.ศ. 2537)
จนถึงปัจจุบันสถานที่ได้กลายเป็นร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง ชื่อร้าน pimekie ซึ่งมาแทนที่ Café Select Latin ในที่สุด ตามที่อยู่ : 25 Boulevard Saint-Michel 75005 Paris
ข้อสรุป ตามที่ได้ค้นหาดูข้อมูลในช่วงเวลาต่าง ๆ ผมคิดว่า ในช่วงที่กลุ่มคณะราษฎรได้นับพบประชุมกันในช่วงนั้น น่าจะเป็นช่วงที่ยังคงเป็นร้าน Café-Restaurant Soufflet อยู่ เนื่องจากท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับทุนมาศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1920-1929 (พ.ศ. 2463-2469) ซึ่งช่วงเวลานั้นยังเป็นช่วงที่ร้าน Café-Restaurant Soufflet เปิดให้บริการอยู่ และได้เปลี่ยนร้านไปตามช่วงเวลาตามที่ได้ระบุจากข้อมูลที่ได้ค้นหามาเบื้องต้น
สุดท้าย ถ้าใครสนใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ยินดีมากที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยน และแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและสมบูรณ์ตามความเป็นจริงให้มากที่สุดนะครับ
ขอบคุณครับ
บรรณานุกรม
- อ้างอิงจาก WikiPedia https://fr.wikipedia.org/wiki/Le_Select
- อ้างอิงข้อมูลจาก Infogreffe https://www.infogreffe.fr/entreprise-societe/542009543-select-latin-750154B009540000.html?typeProduitOnglet=EXTRAIT&afficherretour=true&tab=entrep
- อ้างอิง บันทึกเรื่องราวในอดีตสมัยที่ Sélect Latin ยังคงเปิดอยู่ ตามหนังสือบันทึกส่วนบุคคล
ป.ล. เพิ่มเติมสำหรับคนที่สนใจอยากดูรูปภาพขาวดำในสมัยก่อนของย่าน Quartier Latin ในปารีสนะครับ https://www.parisenimages.fr/en/s-109064-the-latin-quarter-and-the-sorbonne/page/1
ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ทาง https://www.facebook.com/notes/thai-students-in-paris-tsp/2475/597797447786104/
- คณะราษฎร
- ปรีดี พนมยงค์
- Café Select
- Café de la Paix
- ชวลิต ตั้งวงษ์พิบูลย์
- Le Palais Garnier
- Montparnasse
- Quartier Latin
- Rue des Ecoles
- Boulevard Saint-Michel
- ปรีดี-พูนศูข
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- หลวงสินธุสงครามชัย
- ประยูร ภมรมนตรี
- แปลก ขีตตะสังคะ
- ตั้ว ลพานุกรม
- จรูญ สิงหเสนี
- แนบ พหลโยธิน
- ทัศนัย มิตรภักดี
- หลัก 6 ประการ