ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ทุกข์: กระบวนการพิสูจน์สัจจะ ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

31
ธันวาคม
2563

เอ่ยนามถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แม้จะเป็นผู้ที่ไม่ใคร่ใส่ใจในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยเท่าไรนัก แต่เชื่อว่าย่อมเคยคุ้นพอที่จะรับทราบถึงชีวิตที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความผันผวนของบ้านเมืองในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ด้วยความที่เป็นภรรยาของรัฐบุรุษอาวุโส “ปรีดี พนมยงค์”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) เคยกล่าวไว้ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขมิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ แต่ชีวิตท่านเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว ชีวิตที่ถูกกระแทกอย่างหนักหน่วงครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านเห็น รู้สึก และมองสถานการณ์นั้นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก

ในวัย 91 ปี (พ.ศ. 2546) ที่ยังกระฉับกระเฉง ท่านผู้หญิงสนทนากับผู้มาเยือนด้วยความแจ่มใส และระลึกถึงผู้คน ความรู้สึกของตนเองในวัยความทรงจำที่แม่นยำ แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะเจือความทุกข์ไว้ไม่เว้นวาง

จากพื้นฐานของครอบครัวที่สั่งสมความกล้าหาญไว้ตั้งแต่วัยเด็ก เสมือนเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตที่มีหนามแหลมคมแทงใจอยู่เป็นระยะ ๆ ในเวลาต่อมา

“ดิฉันไม่ได้คิดว่าตัวเองมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ ถ้าคนอื่น ๆ ต้องเจอเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนดิฉัน ก็คงต้องอดทนและเข้มแข็งเหมือนกัน”

“ความเข้มแข็งของดิฉันถ้ามีอยู่บ้าง ต้องย้อนไปในวัยเด็กที่ถูกคุณพ่อสอนไม่ให้เชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดิฉันอยู่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม หลังอาหารค่ำคุณพ่อชอบพาลูก ๆ ไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ถนนสาทร ตัดผ่านป่าช้าสีลม โดยดิฉันมักจะรั้งท้ายแถว ตอนนั้นจะว่าเป็นการผจญภัย ที่พอโตขึ้นได้กลายเป็นความแข็งแกร่งเมื่อต้องเผชิญกับเรื่องต่าง ๆ”

นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงยังได้รับการปลูกฝังในพุทธวจนะที่ว่า ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย

ครั้นได้ใช้ชีวิตคู่กับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาททางการเมืองไทยอย่างสูง เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าขบวนการเสรีไทย มีเหตุการณ์หลากหลายทั้งทางการเมืองและชีวิตส่วนตัวเกิดขึ้นกับท่านผู้หญิงพูนศุข เช่น นายปรีดีถูกเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรณีปรีดีลอบเข้าไทยดำเนินการฟื้นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2492 แต่ประสบความล้มหลว กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคต ซึ่งนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการ

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เป็นภรรยาต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะของผู้ช่วยเหลือและติดร่างแหว่ามีความผิดในข้อหาทางการเมืองตามไปด้วย

ในส่วนครอบครัว นอกจากจะต้องพลัดพรากจากลูก ๆ อันเนื่องมาจากภัยทางการเมืองแล้ว ท่านผู้หญิงยังต้องสูญเสียบุตรชายที่รักยิ่ง (ปาล พนมยงค์) จากโรคร้ายในวัยที่ยังมิสมควร

นับเป็นความทุกข์ของเมียและแม่ที่ฉุดกระชากให้ชีวิตก้าวสู่ความมืดมิดทุกครั้งครา

เมื่อครั้งที่นายปรีดียังมีชีวิตอยู่ ท่านผู้หญิงเคยถามถึงเหตุการณ์ที่ต้องประสบมาทั้งหมด ซึ่งได้รับคำตอบจากสามีว่า มันเป็นเวรกรรม

“เราสองคนมีความเชื่อเหมือนกันว่า ชีวิตเมื่อมีขึ้นย่อมมีลง เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ เมื่อมีความราบรื่นย่อมมีความลำบาก”

แต่ทั้งคู่ได้ผ่านกรรมเหล่านั้นมาได้ด้วยการยึดถือหลักที่ว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม

“ชีวิตดิฉันผ่านเหตุการณ์คับขันหลายเรื่อง เรื่องที่ระทึกใจที่สุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์หลังจากขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ประสบความล้มเหลว นายปรีดีรอดชีวิตมาได้หวุดหวิด ต้องหลบซ่อนอยู่ที่บ้านสวนแถบฝั่งธนฯ

“ในช่วง 5 เดือนกว่าที่ต้องหลบ ดิฉันแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอน ด้วยความห่วงใย เป็นทุกข์ที่รุมเร้าอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกทางอากัปกิริยา

“ดิฉันครุ่นคิดตลอดเวลาว่าจะหาทางอย่างไรให้เขาลี้ภัยไปต่างระเทศได้ และทำสำเร็จด้วยการวางแผนเพียงคนเดียวให้หนีไปกับเรือประมงมุ่งสู่สิงคโปร์ ในวันนั้นดิฉันระทึกใจทุกนาที แต่ข่มใจว่า พระย่อมคุ้มครองนายปรีดี เพราะเขาเป็นคนดี”

ท่านผู้หญิงบอกว่า เรื่องนี้นับเป็นกรรมที่ฝ่าฟันยากที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน วิบากครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นอีก

“13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ปาล-ลูกชายคนโตถูกจับในข้อหากบฏสันติภาพ ตำรวจมาจับและค้นบ้านสาทร ดิฉันพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก แต่คืนนั้นต้องน้ำตาไหลออกมาด้วยความเจ็บปวด เพราะเสียใจที่ไม่สามารถปกป้องลูกได้

“ถัดจากนั้นอีก 2 วัน ถึงคราวที่ดิฉันถูกจับกุมบ้าง ในข้อหาเป็นกบฏภายในและนอกราชอาณาจักร และถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่กองสันติบาล ตอนที่ต้องทำประวัติผู้ต้องหาและพิมพ์ลายนิ้วมือ ดิฉันต้องพยายามระงับเสียงสะอื้นไห้ที่ดังอยู่ในอก ในช่วง 84 วันที่ถูกคุมขัง ดิฉันตั้งคำถาม-คำตอบกับตัวเองว่า เพราะเป็นเมียนายปรีดีใช่ไหม เมื่อจับผัวไม่ได้ก็เลยจับเมียแทน”

ภาพหญิงวัยกลางคนแต่งกายภูมิฐาน ก้าวเดินอย่างมาดมั่นที่ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันที่ต้องเดินทางไปศาลอาญาเพื่อฝากขัง บ่งบอกถึงความทระนงในความบริสุทธิ์ได้เป็นอย่างดี

ท่านผู้หญิงเล่าให้ฟังถึงสภาพจิตใจในขณะนั้นว่าถูกกักขังเฉพาะกาย แต่ใจนั้นเป็นอิสระ

“ความขมขื่นนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่จะเป็นความรู้สึกในช่วงสั้น ๆ แล้วก็จางหายไปพร้อมกับคำพูดที่เกิดขึ้นในใจว่าฉันไม่ผิด ไม่ได้ทำผิดก็คือผู้บริสุทธิ์ ดิฉันพยายามนึกถึงสิ่งที่เชื่อมั่นว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม”

ในช่วงเวลา 84 วันที่ต้องถูกควบคุมตัวตามกฎหมายนั้น ต้องมีวิธีการที่จะประคองจิตใจมิให้แรงกระแทกก่อความบอบช้ำให้มากนัก

“ดิฉันต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่ได้ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน แต่ก็ไม่มีความเป็นอิสระ จะไปไหนก็ไม่ได้ ทุก ๆ 12 วันที่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อฝากขังต่อจึงได้สูดอากาศอิสระ

“ในทางใจดิฉันพยายามรักษาอิสรภาพไว้ ก็คือ เขาจะกล่าวหาว่าเป็นกบฏก็กล่าวหาไป ดิฉันไม่ยอมรับและไม่รับรู้ข้อกล่าวหาใด ๆ

“ในสภาพที่ถูกคุมขังนั้น จะนึกอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไม่ผิดสักวันหนึ่งต้องได้รับอิสรภาพ คำนี้ทำให้ดิฉันไม่อ่อนแอ ไม่ยอมแพ้ และรู้สึกว่าชีวิตนั้นมีค่ามากเมื่อผ่านพ้นวิกฤตมาได้”

เวลาผ่านไปแล้วเนิ่นนาน หากจะถามว่า เมื่อต้องผจญกับภัยที่มาจากหลายทิศทาง ในช่วงที่ธรรมะยังไม่มาคุ้มครอง ตามที่ท่านผู้หญิงเคยยึดมั่น ความเชื่อนี้เคยสั่นคลอนไปบ้างหรือไม่

“มีบ้างบางขณะที่ดิฉันคิดเข้าข้างตัวเองว่า เราไม่ได้ประกอบกรรมทำอะไรที่ไม่ดี ทำไมชะตาชีวิตของตัวเองจึงลุ่ม ๆ ดอนๆ มีทุกข์มีโศกมาแผ้วพาน ความคิดนี้แล่นเข้ามาในสมองแล้วก็ผ่านไป แล้วก็กลับข้ามาอีกซ้ำซาก แต่ถึงอย่างไรดิฉันก็เชื่อว่า พระย่อมคุ้มครอง”

แล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าได้รับความอบอุ่นใจจากธรรมะเป็นพิเศษบ้างหรือไม่

“บอกไม่ได้ว่า เหตุการณ์ครั้งไหนที่รู้สึกแบบนั้น แต่จะเห็นทุกครั้งที่ประสบความไม่เป็นธรรม ธรรมะจะทำให้รอดพ้นจากภยันตราย  ที่ดิฉันฝังใจจนทุกวันนี้ คือ การที่ได้ช่วยเหลือนายปรีดีให้รอดน้ำมือเหล่าอัศวินของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2492 เหตุการณ์ครั้งนั้นชัดเจนมากทีเดียวที่ได้รับความคุ้มครองจากธรรมะ”

ยามที่มีความทุกข์ มีวิธีแยกความทุกข์ในใจกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติอย่างไร

“ในเรื่องนี้ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ดิฉันไม่ชอบแสดงความรู้สึกในใจ ในช่วงที่สามีลี้ภัยไปต่างแดน ดิฉันต้องเป็นทั้งแม่และพ่อในคราวเดียวกัน ดูแลลูก ๆ ในวัยกำลังเจริญเติบโต 6 คน ดูแลลูกสาวคนโตที่มีอาการสมองไม่พัฒนา ดูแลคุณแม่ที่ชราและสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรง

“รู้สึกทุกข์ก็เวลาจะนอน ดิฉันพยายามข่มความทุกข์ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน แล้วนึกถึงภาระหน้าที่ในวันรุ่งขึ้น”

“สำหรับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต คือการจากไปไม่มีวันกลับของนายปรีดี เราเป็นคู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา 55 ปี ดิฉันพยายามปรับใจรับความจริงนี้ให้เร็วที่สุด เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีชีวิตต่อไป”

วิกฤตชีวิตที่ยากจะมีใครพานพบเท่าทำให้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าใช้พลังจากไหนนำจิตใจผ่านพ้นมาถึงวันนี้ - วันที่ชีวิตได้อยู่กับความสงบอย่างแท้จริง

“คิดว่าแต่ละวัยแต่ละช่วงที่รับธรรมะเข้ามามันสะสมเป็นพลังที่ทำให้สามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้ ตอนเด็ก ๆ ครอบครัวสอนให้รักษาศีล 5 พอมาใช้ชีวิตร่วมกับสามีนายปรีดีก็เป็นแบบอย่างของความซื่อตรงและซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบใคร

“ในช่วงท้ายของชีวิตยามแก่เฒ่า นาน ๆ จึงไปฟังเทศน์ของพระคุณเจ้าที่เคารพบ้าง อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสบ้าง อ่านพระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต) บ้าง หรือไม่ก็พระอาจารย์สายหลวงพ่อชา”

ท่านผู้หญิงคิดบ้างหรือไม่ว่าสัจจะของชีวิตที่ได้มา ต้องแลกกับความทุกข์ที่มากมายเกินกว่าที่ควรจะต้องรับ

“ดิฉันไม่เคยคิดเช่นนั้น ชีวิตจำต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โหมกระหน่ำเข้ามา แต่สิ่งเหล่านี้ได้สอนให้เข้าใจในสัจจะของโลกอย่างแจ่มชัด และคิดได้ว่า หากเราตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ อโหสิกรรมให้กับทุกสิ่งทุกอย่างทุกคน สัจจะก็คือสัจจะ เป็นความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงและลบล้างได้ ส่วนความทุกข์อยู่ในกระบวนการของการพิสูจน์สัจจะที่เราต้องผ่าน”

พร้อมทั้งตอกย้ำถึงความเข้าใจในความเป็นไปของโลกอีกว่า

“กว่าสัจจะบางอย่างจะได้รับการพิสูจน์และได้รับการยอมรับต้องใช้เวลายาวนาน บางครั้งเราอาจไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเห็นวันนั้น”

หากในชีวิตเท่าที่มีอยู่ได้ประจักษ์ในสัจธรรมแล้วเป็นอย่างมาก

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก วีณา โดมพนานดร, ผลึกแสงแห่งใจ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546)