ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

สตรีสมัยใหม่ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี

3
มกราคม
2564

สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ยุคสายลมแสงแดด 2503-2506 ต้องพูดว่าเกือบจะไม่รู้จักท่านอาจารย์ปรีดีเลย เพราะในสมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความทรงจำของคนธรรมศาสตร์มันหายไปหมด ฉะนั้น คนรุ่นผมจะไม่รู้จักอาจารย์ปรีดี  เราอาจเคยได้ยินเรื่องของเสรีไทยแว่ว ๆ แผ่ว ๆ แต่เราไม่รู้หรอกว่า ท่านปรีดีเป็นคนสำคัญ

ผมคิดว่า ความสามารถของคณาธิปไตยุคทหารเยี่ยมมาก ทำให้เราไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีต ไม่มีในตำราเรียน ไม่มีในห้องเรียน ไม่มีใน 4 ปีของธรรมศาสตร์ ที่แม้ว่าจะเรียนรัฐศาสตร์การทูต ก็ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ไม่รู้เรื่องว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  เราเพ้อเจ้อขนาดว่า ถ้าจุฬาฯ มีรัชกาลที่ 5 เป็นนามของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก็น่าจะมีเจ้านายสักองค์หนึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง  ตอนนั้นผมจึงคิดว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมริ่มสนใจเรื่องราวของอาจารย์ปรีดีเมื่อไปเรียนต่อต่งประเทศ ผมไปค้นห้องสมุดหาหนังสืออ่าน จึงเริ่มรู้เรื่องของท่านมากขึ้น ผมไปค้นเจอหนังสืองานศพ นายเสียง พนมยงค์ ในมหาวิทยาลัยคอร์แนล ข้างในมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนา

พอปี 2513 ผมไปเที่ยวปารีสมีฉายหนังเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เสียงในฟิล์ม ผมก็ไปดู แล้วผมก็เลยไปขอสัมภาษณ์ท่านปรีดี วันนั้นเป็นวันแรกที่พบท่านปรีดีกับท่านผู้หญิง จำได้ว่าประทับใจมาก จำได้แม่นมาก ๆ ท่านผู้หญิงเลี้ยงมื้อกลางวันเป็นข้าวคลุกกะปิ

ผมจำได้ว่า ท่านปรีดีให้สัมภาษณ์ แล้วท่านผู้หญิงนั่งอยู่ด้วย เมื่อถามท่านปรีดีก็จะตอบเป็นหลักเป็นฐานในฐานะนักกฎหมาย ส่วนท่านผู้หญิงจะเสริมให้ข้อมูลที่ละเอียดมาก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย โดยเฉพาะปี ค.ศ. พ.ศ. จำแม่นยำมาก มหัศจรรย์มาก

ในฐานะอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ เมื่อคิดกลับไปตอนที่สัมภาษณ์ท่าน เราไม่เห็นอารมณ์ความเจ็บช้ำ ขุ่นแค้น เคืองแค้นของท่านเลย คือ ท่านจะเล่าเหตุการณ์ไปตามเนื้อผ้า แน่นอนเราก็รู้สึกได้ว่า ทั้งสองท่านนี้ถูกกระทำ เป็นเหยื่อของการเมืองไทยที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย แต่ว่าความรู้สึกที่โกรธ เกลียดแค้นไม่ปรากฏ ผมเองก็สัมภาษณ์คนเยอะมาก เห็นอารมณ์ความโกรธของหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ แต่ในกรณีของสองท่าน เราไม่เห็นอันนั้น เราไม่ได้ยินเลย

โดยชาติกำเนิด ท่านผู้หญิงเป็นสตรีสูงศักดิ์ แต่ว่าในแง่ของการดำเนินชีวิตมาจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม ก็ลงมาสู่ความเป็นสามัญ ผมคิดว่า ท่านดำรงชีวิตในฐานะสตรีสมัยใหม่ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี ไม่ใช่ช้างเท้าหลังตามปรกติที่เรารู้จักกัน แล้วในด้านหนึ่งก็เป็นภริยาคู่ชีวิตที่ดี ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นแม่ที่ดี ผมว่า ในบั้นปลายชีวิต ท่านมีความงามตามวัย แก่ไปตามวัย แล้วก็จบอย่างงดงาม

ผมคิดว่า บุรุษและสตรีในเอเชียฝืนอายุเยอะมาก คือ หมายความว่าไม่ยอมแก่ ไม่งามตามวัย แน่นอน พออายุ 60-70 แล้วจะให้งามแบบ 20-30 มันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมคิดว่า ท่านผู้หญิง ถ้าเราดูรูปถ่ายแล้วเราจะรู้ว่า ท่านงดงามไปตามวัย ไปตามเวลา และตามธรรมชาติ

 

ที่มา: สารคดี ปีที่ 23 ฉบับที่ 269 เดือนกรกฎาคม 2550, น. 69.