ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ปรีดี ทักษิณ อภิสิทธิ์ ใครเป็นใครในตระกูล ณ ป้อมเพชร์

8
มกราคม
2564

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” (na Pombejra) แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

 

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” (na Pombejra) แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

 

เกริ่นนำ

“ณ ป้อมเพชร์” เป็นตระกูลเก่าแก่ สืบย้อนกลับไปได้ถึงปลายกรุงศรีอยุธยา เริ่มจาก นายเหลียง แซ่อึ้ง คนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในยุคนั้น แล้วได้ภรรยาเป็นชาวรามัญชื่อ นางทองกาวเลอ และมีบุตรธิดารวม 8 คน เสียเมื่อยังเยาว์ 1 คน เหลือ 7 คน ดังนี้ นางลิ้ม นางอิ๋ว นางคุ้ม นางสาวฉิม นางสาวน้อย นางมี และนายศุข

น้องสาวของนางอิ๋วชื่อ นางคุ้ม มีลูกกับนายสด 5 คน ดังนี้ นางจู นายแพ นางพวง นางตรุส และนายมา

นางอิ๋ว สมรสกับ นายอิน มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ นายด้วง นางหุ่น นางพิน นางสาวริ้ว และนายศุข

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นายด้วง รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิทักษ์เทพธานี” ตำแหน่งผู้ช่วยผู้รักษากรุงเก่า เขามีบุตรธิดากับ นางบุญมา รวม 5 คน ได้แก่ นางแจ่ม นางเจียม นายนาค นายอ่อน และนายจุ้ย ต่อมา นายนาค รับราชการจนเจริญก้าวหน้าได้เป็น “พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา” ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้รักษากรุงเก่า

พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

 

พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) บิดาของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค)
พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) บิดาของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค)

 

พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) บิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)
พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) บิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)

 

หนังสือกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_11362)
หนังสือกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน
ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_11362)

 

ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ตรงไหนในสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จะได้กล่าวถึงต่อไป โดยจะได้พิจารณาสายของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดาเป็นหลัก (เหลนของนางอิ๋ว) แล้วกล่าวถึงสายของนางคุ้ม (ทวดของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) เพื่อไขคำตอบข้างต้น ก่อนที่จะแถมถึงความสัมพันธ์กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ)

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) กับ ม.ร.ว.เจียก ภุมรินทร์

เจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) สมรสกับ คุณหญิงเพ็ง (สกุลเดิม สุวรรณศร) มีบุตรธิดาด้วยกัน 12 คน ดังนี้

  1. นางพิศ อดิศักดิ์อภิรัตน์ ภรรยาพระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)
  2. หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว) บิดาของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต
  3. นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์
  4. นางศรีราชบุรุษ (เล็ก ปุณศรี) ภรรยาหลวงศรีราชบุรุษ (แปลง ปุณศรี)
  5. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
  6. นางอัมพา สุวรรณศร
  7. นางเพียงแข สุนทร-วิจารณ์ ภรรยาเย็น สุนทร-วิจารณ์
  8. นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์
  9. เด็กหญิงเภา ณ ป้อมเพชร์
  10. นางอุษา สุนทรวิภาต
  11. นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์
  12. นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์

 

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายด้วยฝีพระหัตถ์ ภาพ พระยากับคุณหญิงชัยวิชิตฯ และครอบครัว เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2466
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายด้วยฝีพระหัตถ์ ภาพ พระยากับคุณหญิงชัยวิชิตฯ และครอบครัว เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2466

 

เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวคือ

ท่านผู้หญิงพูนศุข สมรสกับ นายปรีดี พนมยงค์ (อดีต หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) มีบุตรธิดา ได้แก่ นางสาวลลิตา นายปาล นางสาวสุดา นายศุขปรีดา นางดุษฎี และนางวาณี

ขณะที่ นางอัมพา สมรสกับนายประมูล สุวรรณศร (อดีต หลวงประสาทศุภนิติ) มีธิดารวม 4 คน คือ นางประพาพิมพ์ เด็กหญิงประพิชพรรณ นางศันสนีย์ และนางมณีรัตนา

โดยที่นางประพาพิมพ์ สมรสกับ นายพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย แล้วมีลูก 2 คน คือ นายอนวัช และนางพิมพ์เพ็ญ  ซึ่งนางพิมพ์เพ็ญ ต่อมาสมรสกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

พระยาและคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. 2474
พระยาและคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. 2474

 

พระยาและคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. 2481
พระยาและคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. 2481

 

คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. ๒๕๐๐
คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา กับลูกหลาน พ.ศ. ๒๕๐๐

 

พูนศุขกับอัมพา

พูนศุขกับอัมพาเป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดกันมาก ดังเช่นเมื่อครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” ต้องระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศเพราะการเมืองเป็นพิษ อัมพาได้รับเลี้ยงดู ลลิตา ลูกสาวคนโตของพูนศุขที่มีอาการป่วยทางสมอง ไว้ที่บ้านของอัมพา

ขณะที่ข้างคู่เขย อย่างปรีดีและประมูล ก็รู้จักกันมาช้านาน เพราะได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณและคุณหญิงชัยวิชิตฯ ด้วยกันมาแต่ยังเป็นหนุ่ม ในฐานะที่ทั้งสองท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของแต่ละคน กล่าวคือ ย่าของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (คือนางบุญมา) เป็นน้องสาวของนางปิ่น (ย่าของนายเสียง พ่อนายปรีดี)  ส่วนประมูลเป็นบุตรชายของหลวงอรรถสารสิทธิกรรม (บุ สุวรรณศร) พี่ชายคนโตของคุณหญิงเพ็ง

ปรีดีเขียนถึงเจ้าคุณชัยวิชิตฯ ไว้ว่า “นับตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ 18 ปี ก็ได้รับความอุปการะคุนจากท่านไนทางส่วนตัวเปนอเนกประการตลอดมาจนกะทั่งท่านถึงแก่กัม นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังถือว่าท่านเปนครูผู้ไห้ความรู้ไนเรื่องระเบียบและวิธีปติบัติราชการ คือไนระหว่างที่ข้าพเจ้าเริ่มเปนข้าราชการครั้งแรก โดยเข้าเปนเสมียนไนกรมราชทันฑ์ และได้พักอาสัยไนบ้านของท่านนั้น ท่านได้ฝึกฝนสั่งสอนแนะนำความรู้ไนราชการหลายหย่าง ซึ่งข้าพเจ้าได้นำความคิดความเห็นของท่านมาไช้เปนประโยชน์แก่ราชการไนพายหลังหลายประการ”

นอกจากนี้ ลูกของพูนศุขและอัมพา ก็ยังสนิทสนมกันดีตราบจนปัจจุบัน ดังที่ย้อนหลังกลับไป สุดาเคยเล่าว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อจะให้ ปพาฬ บุญ-หลง ลูกศิษย์ที่โรงเรียนกฎหมาย พาลูกๆ หลานๆ ไปเที่ยว ไปดูหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง ไปกินไอศกรีม ฯลฯ ซึ่งสุดามักจะไปกับประพาพิมพ์

 

อัมพาและประมูล สุวรรณศร ถ่ายภาพครอบครัว พ.ศ. 2479
อัมพาและประมูล สุวรรณศร ถ่ายภาพครอบครัว พ.ศ. 2479

 

พจมาน ณ ป้อมเพชร

สำหรับสายสกุล ณ ป้อมเพชร์ ทางฝั่งของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ต้องย้อนกลับไปที่นายมา ลูกของนางคุ้ม ผู้เป็นน้องสาวของนางอิ๋ว (ทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) กล่าวคือ นายมา มีบุตรธิดากับ นางโหมด รวม 7 คน คนหนึ่งชื่อ หลวงคลัง (ต่วน)

หลวงคลัง (ต่วน) เป็นบิดาของ พ.อ. พร้อม ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นพ่อของนางพจนีย์

คุณหญิงพจนีย์ สมรสกับ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ พงษ์เพชร เพรียวพันธ์ พีระพงศ์ และพจมาน

พจมาน ดามาพงศ์ แต่งงานกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว เธอเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา

 

ม.จ.มารยาตรกัญญา กับเจ้าน้องร่วมมารดาเดียวกัน จากซ้ายถัดจากตัวท่าน ม.จ.พรพิลาศ ม.จ.พวงมาศผกา ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล
ม.จ.มารยาตรกัญญา กับเจ้าน้องร่วมมารดาเดียวกัน จากซ้ายถัดจากตัวท่าน ม.จ.พรพิลาศ ม.จ.พวงมาศผกา ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อกล่าวถึงสายของนางคุ้มแล้ว อีกความสัมพันธ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ นางพวง พี่สาวของนายมา (ทั้งคู่เป็นหลานป้าของนางอิ๋ว ผู้เป็นทวดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ) เป็นแม่ของพระยาดำรงราชานุภาพ (ช้อย ศตรัต) ซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายช้อย มีน้องชายคนหนึ่งชื่อชุ่ม ธิดาคนหนึ่งของชุ่มชื่อ แสง ต่อมาถวายตัวเป็นหม่อมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หม่อมแสงเป็นมารดาของ ม.จ.มารยาตรกัญญา ม.จ.พรพิลาศ ม.จ.พวงมาศผกา ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ม.จ.เราหิณาวดี และ ม.จ.กฤษณาพักตรพิมล

 

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) พ.ศ. 2422-2487
พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) พ.ศ. 2422-2487

 

ส่งท้าย

บทความนี้เสนอเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี 3 นายของไทย คือ ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์อันใดต่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จึงขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยข้อคิดของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) ที่เขียนครั้งแรกในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2484 เรื่องความรอบคอบ ดังนี้

ความรอบคอบในกิจการทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ส่วนรวม หรือส่วนตัว ย่อมให้ผลดีเกินคาดเสมอ กล่าวอีกทีหนึ่ง ความรอบคอบก็คือ ความเป็นผู้ไม่ประมาท คือมีสติระลึกได้ก่อนแต่ทำพูดคิด

ความรอบคอบนี้ จำปรารถนาในกิจการทั้งปวง และต้องดูกาละเทศะประกอบให้เหมาะเป็นเรื่องๆ ไป เช่น เวลานี้เป็นเวลาอะไร ท้องถิ่นนี้เป็นอย่างไร บุคคลในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างไร จะประกอบกิจการใดๆ ต้องใคร่ครวญทำให้เหมาะให้ถูกต่อเวลา สถานที่ และบุคคล  ผลสำเร็จแห่งงานอันน่าพึงใจย่อมต้องบังเกิดโดยไม่ต้องสงสัย

งานใดๆ ไม่ว่าสูงหรือต่ำ หยาบหรือละเอียด ถ้าความรอบคอบเข้ากำกับอยู่ด้วยแล้ว ผลของงานนั้นย่อมประณีตยิ่งขึ้น ผลที่ท่านคิดไว้กะไว้ว่าจะได้เพียงเท่านั้นเท่านี้ ย่อมจะได้สมประสงค์หรือมากกว่าเสมอ ไม่มีขาดทุน

ในการพูด ที่ว่าพูดดีเป็นเงินเป็นทองนั้น ก็เพราะมีความรอบคอบ  ที่ว่าพูดไม่ดีเสียเข้าเสียของ อาจติดคุกติดตรางก็ได้นั้นก็เพราะขาดความรอบคอบ จะฝึกหัดคนอย่างไร จึงจะเป็นคนรอบคอบ ทำอะไรไม่ผิด ข้อนี้ต้องดำเนินตามมหาสมณภาษิตเป็นเบื้องต้นก่อนว่า “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย” แปลว่า “ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำดีกว่า” นี้เป็นบันไดขั้นต้น ไม่ว่าจะทำอะไรต้องใคร่ครวญเสียก่อนให้ถูกให้เหมาะแก่เหตุการณ์ แล้วจึงทำด้วยความมีสติรอบคอบไม่ประมาท ผลของงานจักไพบูลย์

 

บรรณานุกรม

  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางศรีราชบุรุษ (สารี ปุณศรี) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2523)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. “บรรพบุรุษในสกุล “ณ ป้อมเพชร์”,” ใน ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ อาจารย์นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์ (ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2545)
  • วิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร์. ชีวิตที่เป็นไป (9 ธันวาคม 2548)
  • สุดา พนมยงค์, “ชีวิตในยามสงครามโลกครั้งที่ 2,” ใน 72 ปี วันสันติภาพไทย: สยามในยามสงคราม (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560)
  • เอช. เอกูต์. คำอธิบายอาชญาวิทยา: ตอนที่ว่าด้วยทันทวิทยาทั่วไป) (นายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์เปนที่ระลึกไนงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาชัยวิชิตวิสิถธัมธาดา (ขำ นะป้อมเพชร) นะ วัดเทพสิรินทราวาส พ.ส. 2487)
  • ขอบพระคุณในไมตรีจิตร (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์ พี.พี., 2550)
  • บันทึกถึงแม่: พนอรำลึก (พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นางพนอ บัณฑิตย์ เป็นกรณีพิเศษ วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2559 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร)
  • อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางหน่อย คอมันตร์ (ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2526)
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประมูล สุวรรณศร ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. (ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2524)

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.the101.world/na-pombejra/ (7 สิงหาคม 2562)