ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เขียนรัฐธรรมนูญทะลุฟ้า

16
มีนาคม
2564

 

 

วันนี้ 13 มีนาคม เป็นสัปดาห์ที่เราเดินมาถึงทางแยกที่มีสองทางคือซ้ายกับขวา ถ้าเป็นทางหนึ่งจะเป็นทางแยกที่นำไปสู่โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบพอถูพอไถ หรืออาจจะมีช่องทางไปได้ แต่ยังพอมีอุปสรรคบ้าง และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ ส่วนอีกทางหนึ่ง คือเป็นทางที่เดินย้อนกลับถอยหลัง ทำลายหลักการและหาทางไปต่อลำบากจริงๆ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน วันนี้เราจะมาอภิปรายกันลงลึกหน่อยในเรื่องๆ นี้

 

 

เอกสารที่ปรากฎอยู่ด้านบนนี้ เป็นหนึ่งในเอกสารประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายสำหรับสมาชิกรัฐสภาของประเทศไทย ซึ่งร่างขึ้นโดยสส.พรรคพลังประชารัฐ กับ สว. 1 ท่าน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 60 ฉบับปัจจุบัน เรียกได้ว่าแก้ไขยากมาก ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนแทบจะแก้ไม่ได้เลย ซึ่งในขั้นตอนที่ไม่สามารถแก้ไขได้นั้น ยังมีกลุ่มคนที่รู้สึกว่ายังยากไม่พอ ระหว่างทางน่าจะมีขั้นตอนอะไรก็ได้เพิ่มเข้ามาเพื่อคั่นกลาง จึงขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่”

 

 

สุดท้ายมีคำถามอยู่แค่เส้นสีแดง คือ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ดังนั้น คำถามที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น คือ รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ?

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน และออกคำวินิจฉัยมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 มีนาคม 2564) นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก ตกลงว่ารัฐสภาจะมีอำนาจพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มั้ย, แล้วกระบวนการจะเดินหน้าต่อได้มั้ย หรือจะหยุดรอ หรือจะทำอะไรอย่างไรต่อไป ? 

 

 

ท่านก็กรุณาให้เรามาทั้งหมด 2 ย่อหน้า แต่สาระสำคัญมีอยู่ 3 บรรทัด สาระสำคัญของท่านบอกว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

เราย้อนกลับไปที่คำถาม ...

คือ รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ?

 

 

คำตอบคือ YES. รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญตอบว่า “ได้” เพราะก่อนหน้าที่คนที่ตั้งประเด็นนี้ขึ้นมาคือ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน กับ คุณสมชาย แสวงการ เขาบอกว่ารัฐสภาทำไม่ได้ รัฐสภาตั้งสสร.ไม่ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 60 มาจากการลงประชามติ 

 

 

แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำได้ ทำได้ ต้องมี BUT คือ ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

 

ดังนั้น ต้องมีประชามติ 2 รอบ ประชามติรอบที่หนึ่ง แปลว่า ต้องมีประชามติก่อน ว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ ประชามติรอบที่สอง แปลว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ประชาชนต้องมาเห็นชอบกับร่างที่ร่างขึ้นใหม่หรือไม่

ตามกระบวนการปัจจุบัน รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) บอกว่า เมื่อลงมติวาระที่ 3 ผ่านไปแล้ว ต้องทำประชามติ และตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งจะลงมติในสัปดาห์หน้า (17 มีนาคม 2564) ก็บอกไว้แล้วว่า เมื่อสสร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องลงประชามติ สรุปต้องลงประชามติ 2 รอบ จึงสอดคล้องกับ 3 บรรทัดที่ศาลรัฐธรรมนูญให้มา ซึ่งกระบวนการนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาอะไร แต่มีคนที่บอกว่ามีคำที่มีปัญหา นั่นก็คือคำว่า “ก่อน” มีคนบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องให้ทำประชามติเสียก่อนว่าประชาชนจะให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ซึ่งคำว่า “ก่อน” ได้ถูกตีความออกเป็น 2 แบบ คือ

 

 

แบบที่ 1 คือ ก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ
แบบที่ 2 “ก่อน” การเริ่มเสนอตั้งแต่วาระแรกให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ดังนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 3 ตามมาตรา 256 (8) ก็ไปทำประชามติก่อน ถามว่าประชาชนจะให้มีสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็ถูกแล้วทั้งหมดไม่มีอะไรยากเลย

แต่มีคนอยู่ 2 กลุ่มที่บอกว่า “ก่อน” แปลว่ากระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดไม่ได้เลย ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ และให้ถามทำประชามติก่อนถึงค่อยเริ่มวาระหนึ่ง วาระสอง วาระสาม 

กลุ่มแรก ก็คือคนที่อคติกับสว.และศาลรัฐธรรมนูญมากๆ มากจนเกินไป และคนกลุ่มนี้มีความคิดอยู่แล้วว่ายังไงต้องคว่ำแน่ ยังไม่ทันได้อ่าน พอเจอคำว่าก่อน จึงคิดว่าไปเริ่มใหม่ 

กลุ่มที่สอง ก็คือคนที่รู้สึกว่ายังไงก็ร่างใหม่ไม่ได้เด็ดขาด 

ซึ่งในความคิดของผมจะเห็นเป็นอื่นไม่ได้นอกจากศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว “รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และต้องมีการจัดทำประชามติก่อนทำรัฐธรรมนูญว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่”

 

 

ในระหว่างทางก่อนที่จะมาถึงวันนี้ ก็ยังมีกลุ่มคนที่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ไม่เอาสสร. หรือ ถ้าจะมีเต็มที่ต้องห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก เกือบๆ 250 คน โดยอ้างว่า ที่ไม่ต้องการ หรือ ไม่อยากให้มีสสร.ก็เพราะว่า ถ้าหากว่ามีสสร. สสร.จะทำการ “ตีเช็คเปล่า” ให้ไปเขียนอะไรก็ได้ รวมถึงประเด็นพระราชอำนาจและหมวดพระมหากษัตริย์ด้วย ซึ่งในจำนวน 240 กว่าคนนั้น ก็มีอยู่ไม่กี่คนที่พูดซ้ำไปซ้ำมา วนไปวนมา “ห้ามแตะหมวดหนึ่ง” “ห้ามแตะหมวดสอง” “ห้ามแตะพระราชอำนาจ” 

 

 

ตอนแรกก็ห้ามแตะหมวด 1 หรือหมวด 2 เด็ดขาด มีสสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สสร.ได้มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็ห้ามเขียนหมวด 1 หรือ 2 ใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ใช้อ้างว่าร่างฉบับที่ประชาชนเสนอไม่ควรผ่าน เพราะไปแตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งมาภายหลังได้ขยายออกว่าห้ามแตะบทบัญญัติในพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา ซึ่งมีตัวแทนออกมาพูดแล้วหนึ่งท่านว่าจะไม่ให้ผ่านเด็ดขาด

ถ้าเราได้สสร.ใหม่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าระบบการเลือกตั้งมันจะดีหรือมันจะร้าย อย่างไร ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้เลยว่าสสร.ใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้คนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ในการเมืองไทยต่อไปได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าจะมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งคนไหนที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.ยังอยู่

ถ้าเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ พวกเขาจะไม่สามารถอยู่ต่อได้ พวกเขาจึงได้อ้างพระราชอำนาจ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยังไม่มีใครพยายามไปแตะ หรือ ไม่มีใครไปยุ่งกับ 38 มาตรา พวกเขาจึงยกสิ่งเหล่านี้มาเป็นเหตุผลโดยบอกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้”

เรียนท่านสว. ทั้งหลายที่กำลังจะลงประชามติวันที่ 17 นี้ครับ อำนาจอยู่ในมือท่านวันที่ 17 ถ้าท่านมั่นใจว่าเหตุผลนี้ฟังขึ้นท่านโหวตไปเลย ท่านลงมติไปเลย แต่ท่านจะทำอะไร ท่านต้องอธิบาย ใครก็ตามที่ลงมติอะไรไปก็ตาม ท่านมีหน้าที่ต้องอธิบายกับประชาชน ถ้าท่านคิดว่าเหตุผลนี้ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ฟังขึ้น ท่านโหวตไป

ท่านอย่าลืมว่าร่างปัจจุบันนี้ ต้องการให้สสร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100% ถ้าท่านอ้างว่า การที่มีสสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% จะทำให้ใครไม่รู้ได้ “เช็คเปล่า” และสามารถไปเขียนเปลี่ยนเรื่องพระมหากษัตริย์อย่างไรก็ได้ แปลว่า ท่านรู้อยู่แล้วประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงในประเด็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งจริงหรือไม่ผมไม่อาจรู้ เพราะยังไม่เคยมีการลงคะแนนในประเด็นเรื่องนี้มาก่อน แต่ท่านกำลังส่งสัญญาณแบบนั้น 

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว 13 มีนาคม 2563 มีภาพนี้เกิดขึ้นที่เครือข่าย People Go ผมและเพื่อนๆ ได้จัดขบวนเดินรณรงค์บนถนนสาธารณะเป็นครั้งแรก ข้อเรียกร้องคือ “ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” วันนั้นได้ประกาศเชิญชวนเพื่อนๆ ต่างเครือข่ายให้มาช่วยกัน เรานัดกันที่ MRT กำแพงเพชร เดินไปที่รัฐสภามีคนมาร่วมเดินขบวนประมาณ 400-500 คน เป็นวันที่ตื่นเต้นดีใจมากที่มีคนมาช่วยกัน

คนเยอะแยะมากมายทำให้เครื่องเสียงที่เตรียมมาไม่เพียงพอ น้ำดื่มที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอแจก นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมีคนช่วยเหลือสนับสนุนมากพอสมควร 

 

 

ปีที่แล้ว เราได้สร้างปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์การชุมนุมทั้งหมด 779 ครั้ง เป็นการชุมนุมเพื่อสนับสนุนระบอบที่มีอยู่ 60 กว่าครั้ง แปลว่าการชุมนุม 700 กว่าครั้งเป็นการชุมนุมที่คนออกมาเรียกร้องสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลง และ หนึ่งในข้อเรียกร้องนั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

 

และถือว่าเราได้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไว้ได้เมื่อเราสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนมากกว่า 1 แสนคน ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 43 วัน เพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ รื้อระบอบอำนาจคสช. ออกจากการเมืองไทย เชื่อว่าหลายๆ ท่าน ณ ที่นี้ ได้ร่วมเป็น 1 แสนรายชื่อด้วยกัน ซึ่งก็ได้ถูกคว่ำไปแล้ว

จนถึงวันนี้ (13 มี.ค. 64) วนมาครบรอบ 1 ปีเต็มพอดี ที่เราออกไปยืนบนถนนครั้งแรก โดยที่คนถือไมค์ได้ตะโกนว่า “รัฐธรรมนูญ” ผู้ร่วมขวนตะโกนกลับมาว่า “ต้องแก้ ต้องแก้” คนถือไมค์ “ถ้าไม่แก้” ผู้ร่วมขบวน “ออกไป ออกไป” เป็นครั้งแรกจริงๆ จนถึงวันนี้แค่ 1 ปีเท่านั้น แต่มันคือวันเวลาที่ผ่านอะไรๆ มามากมาย

365 วันที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมากในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อไทยเสนอร่าง ก้าวไกลเสนอร่าง เสียงไม่พอ เอาใหม่ เริ่มใหม่ พลังประชารัฐเสนอร่าง วาระ 1 ถ่วงเวลาตั้งกรรมาธิการ มีประท้วงหน้าสภา มีคนยิงกัน มีระเบิดควัน มีแก๊สน้ำตา วาระ 2 เดือนที่แล้ว 24 กุมภาพันธ์ แทบไม่มีใครสนใจ วาระ 3 กำลังจะถึง

ผมคิดว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา เราเดินทางมาไกลเกินกว่าที่เราคิดไว้ ตั้งแต่เห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างเมื่อปี 2559 ถ้าใครบอกว่าเราจะสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงมันได้ภายใน 4 ปี ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ และก็เป็นไปไม่ได้จริงๆ

วันที่รัฐธรรมนูญวาระ 1 เข้าสภา ถ้าใครบอกว่ามันผ่านแน่เลย 3 วาระ ผมก็คิดว่าไม่น่าผ่านนะ

วันนี้กำลังจะมีการลงมติวาระ 3 และ พวกเขากำลังจะอ้างศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องน่าหดหู่หรือทดท้ออะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้อยู่แล้วว่าตั้งแต่เราลงถนนครั้งแรก ตั้งแต่วาระ 1 มันไม่ได้ผ่านจุดนี้ไปได้ง่ายๆ นี่เป็นเพียงแค่จังหวะ สถานการณ์ที่เราคาดหมายเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ 4-5 ปีก่อนหน้านี้แล้ว

 

 

“สุดท้ายไม่ว่าเราจะได้เดินต่อ หรือไม่ได้เดินต่ออย่างไรนั้น ประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญด้วยกันมา ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางเริ่มใหม่ สิ่งที่ผ่านมาแล้วเป็นขั้นบันไดแต่ละก้าวที่จะนำเราไปข้างหน้า เพื่อโอกาสที่มากขึ้น เป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนตัวบทกฎหมายที่เขียนเป็นตัวอักษร รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งที่เราต้องการเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ที่ดีขึ้น”

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในหัวข้อ “เขียนรัฐธรรมนูญทะลุฟ้า”

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ