บ่ายนี้กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ มีนัดสนทนาสัมภาษณ์กับ ‘รองศาสตร์จารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ หรือ ที่รู้จักกันในบรรดามวลชนม็อบว่า ‘อาจารย์จั๊ก’ วันนี้แดดจัด อากาศร้อนเป็นพิเศษ หลังจากที่ฟ้าหม่นอึมครึมไปด้วยเมฆฝนในฤดูร้อนมาหลายวัน
เรานัดหมายกันที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อนุสาวรีย์ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ยังคงทรงพลังเสมอในทุกครั้งที่มีโอกาสได้กลับมายืนมอง ไม่นานนักบุคคลที่รอคอยก็มาถึง อ.ษัษฐรัมย์เดินเข้ามาทักทายกับพวกเราทีมงานอย่างเป็นมิตร ด้วยอากาศที่ร้อนจัด พวกเราจึงย้ายโลเคชั่นไปนั่งพูดคุยกันในร้านกาแฟเล็กๆ ร้านหนึ่งที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินชื่อ “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” อยู่บ้างบ่อยๆ โดยส่วนมากจะเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการเสียมากกว่า แต่ที่ทำให้เกิดการพูดคุยหนาหูมากขึ้นก็เป็นเพราะว่า เมื่อครั้งที่อาจารย์หนุ่มแห่งมธ. ผู้นี้ขึ้นไฮด์ปาร์คในม็อบคณะราษฎร เรื่องรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตย ชี้เสาหลักความเหลื่อมล้ำ และ กล่าวถึงรัฐสวัสดิการของปรีดี พนมยงค์ บนเวทีเฉพาะกิจที่ใช้รถกระบะ 18 ล้อกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ปลายเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้ว
นั่นคือการขึ้นปราศรัยบนเวทีม็อบครั้งแรกในชีวิตของเขา
“...โอกาสในการเลือกชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด และวางแบบแผนไว้ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างที่ต่อรองไม่ได้ สาเหตุสำคัญคือการที่ประเทศไทยขาดระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดีมากพอ ที่จะทำให้ความอับโชคของชาติกำเนิดเป็นโมฆะเมื่อคุณลืมตาดูโลก...”
เนื้อหาบนเวทีปราศรัยบางส่วนที่เรียกเสียงปรบมือดังกึกก้องในวันนั้น
ทำความรู้จักกับ “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี”
- ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2556 หลักสูตรที่สอนคือปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์
- ผู้อำนวยการดูแลศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการทางความเป็นธรรมศึกษา ผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการโดยตรง
- ที่ปรึกษา นักวิชาการให้ข้อมูลกลุ่มโครงการเสริมศักยภาพเครือข่าย เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.) หรือ We Fair เป็นเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
- ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ปี 2561 ช่วยวางนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการให้กับอนาคตใหม่ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวไกล และยังคงเป็นที่ปรึกษานโยบายด้านรัฐสวัสดิการ และช่วยร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หรือ ประเด็นเรื่องพ.ร.บ.บำนาญฉบับยื่นประกบกับฉบับของภาคประชาชน
ทำไมถึงสนใจประเด็น “รัฐสวัสดิการ”
จุดเริ่มต้นที่เริ่มสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมีการตั้งคำถามกันในกลุ่มเพื่อนคืออยากได้สังคมที่ดีขึ้น ซึ่งในเวลานั้นเป็นเป็นช่วงขาขึ้นของกระแสความเป็นประชาธิปไตยในยุคทักษิณ ชินวัตร
สมัยนั้นอาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ ลูกชายของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ สอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น่าจะก่อนผมเข้าเป็นนักศึกษาสักประมาณ 5-6 ปี ผมมีโอกาสเข้าร่วมกลุ่มศึกษา ได้เรียนกับอาจารย์ใจ จึงได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ได้ทำประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ คำว่า “รัฐสวัสดิการ” เป็นคำที่ถูกพูดถึงในช่วงเวลานั้น ว่าสิ่งที่จะทำให้เราได้มากกว่าการเลือกตั้ง
เรามีการตั้งคำถามว่า ‘ประเทศมีการเลือกตั้ง’ ‘มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งเราก็คิดว่าถ้ามองตามมาตรวัดทั่วไปแค่นี้ก็คงพอ เศรษฐกิจดี การเมืองไม่มีรัฐประหาร ทีนี้เรามาคิดว่า ถ้าจะมองให้ครบหลายๆ ด้านเพิ่มขึ้นอีก จะมีอะไรอีกไหมที่ควรจะก้าวหน้า และพัฒนาเพิ่มมากขึ้นไปอีก จึงเป็นที่มาของการสนทนาถึงคำว่า “รัฐสวัสดิการ”
ความจำเป็นถึงการที่จะต้องมีรัฐสวัสดิการที่ดี ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
อันดับแรก สิ่งที่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องย้ำก็คือ เวลาที่เราพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” มันไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของสิทธิการเลือกตั้ง หรือ สิทธิในการส่งเสียง แต่อีกด้านหนึ่ง เรากำลังพูดถึงเรื่องความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าถ้าพูดถึงประชาธิปไตย แปลว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดมานั้น สามารถที่จะกำหนดชีวิตของเราเองได้โดยไม่ต้องกังวลอะไรเลย
ขณะเดียวกันมีคนส่วนมากในสังคมนี้ที่เกิดมาพร้อมกับโซ่ที่มัดพวกเขาไว้ เกิดมาพร้อมกับหนี้ เกิดมาพร้อมกับความกังวล หนี้ที่พ่อแม่ก่อ หนี้ที่ตัวเองจะต้องแบกรับ หนี้ของลูกหลานไปอีกหลาย Generation สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำแบบนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นสังคมที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ผมเลยคิดว่าถ้าจะพูดถึงความเสมอภาค รัฐสวัสดิการที่เหมือนกัน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ความแตกต่างกันโดยชาติกำเนิดเป็นโมฆะได้มากที่สุด ทำให้มนุษย์เสมอภาคกันได้มากที่สุด และทำให้ประชาธิปไตยของเราสมบูรณ์ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน
คุณเคยบอกว่า “รัฐสวัสดิการ” คือการต่อสู้ และ ต่อสู้กันมาหลายยุคหลายสมัย
สิ่งหนึ่งจำเป็นต้องย้ำครับ เราคุยกันถึงประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าผมจะพูดปีนี้ 5 ปีที่แล้ว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือว่า 15 ปีที่แล้ว มักจะมีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยกัน แต่สิ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ “การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในกระบวนการการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยมาอย่างยาวนาน”
การต่อสู้ฉากแรกระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘อนุรักษนิยม’ ก็คือการต่อสู้ภายใต้แนวคิดนี้ว่า “ประเทศไทยควรจะมีรัฐสวัสดิการหรือไม่” ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งฝั่ง Conseravtive (อนุรักษนิยม) และ ฝั่งก้าวหน้าในสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 รวมถึงการที่ฝั่งก้าวหน้าถูกพยายามทำให้มีบทบาทน้อยลงหลังจากที่มีการต่อสู้เพื่อแนวคิดของรัฐสวัสดิการ
สิ่งที่ผมอยากย้ำอีกเรื่องคือ แนวคิดของ ‘อาจารย์ปรีดี พนมยงค์’ การนำเสนอผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งคำประกาศที่อยู่ในแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ยังพูดถึงกรอบแนวคิดที่ว่าด้วยความเสมอภาคทางเศรษฐกิจของผู้คนที่อยู่ในสังคม
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยที่สุดเราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นเวลา 80 กว่าปี ก่อนมี Concept นี้ที่อยู่ในสังคมไทย และก็เป็นกรอบสำคัญในการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยแทบทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งยุคปัจจุบันเอง ขบวนการคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ก็ยังคงมีคำนี้ที่ปรากฏอยู่ คำว่ารัฐสวัสดิการถูกพ่วงเข้าสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เคยขาดหายไปจากสังคมไทยเลย
สถานการณ์รัฐสวัสดิการสังคมไทยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และ ปัจจัยอะไรที่คุณคิดว่าเป็นตัวถ่วงของการเดินไปข้างหน้าของรัฐสวัสดิการ
อย่างที่ผมเรียนไปในข้างต้นนะครับ ผมคิดว่า การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการคือการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของผู้คน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงถูกมาพ่วงกับกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้ นั่นหมายความว่า ยุคสมัยไหนที่ประชาธิปไตยเติบโต ยุคสมัยไหนที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ยุคสมัยไหนที่ประชาชนออกมาต่อสู้ ออกมายืนยันสิทธิได้มาก รัฐสวัสดิการก็จะเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างใหม่นะครับ จะลองชวนทุกท่านหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา แล้วดูไปพร้อมๆ กับผม คุณเข้าไปที่ Google Trend แล้ว Search คำว่า “รัฐสวัสดิการ” จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2014 หรือว่าถ้าเทียบแล้วคือตั้งแต่ในยุคสมัยปี 2551 2552 2553 ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ มีคน search ประเด็นคำว่า “รัฐสวัสดิการ” มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งมาพีคสุดในช่วงประมาณปี 2 ปีที่ผ่านมา คือคนสนใจมากขึ้นเป็น 3-4 เท่าเทียบกับ 6-7 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ยุคสมัยที่เรารู้จักกับการใช้ internet อย่างแพร่หลาย สิ่งที่ผมเห็นคือมันไปสอดคล้องกับคำอธิบายที่คลาสสิคมาก ก็คือไม่มีกราฟรัฐสวัสดิการที่ตกในการ search ของผู้คนเลย คือมีแต่ขึ้น ขึ้นมากหรือขึ้นน้อยช่วงไหนที่ประชาชนออกไปประท้วงเยอะคนก็ search คำว่ารัฐสวัสดิการมากขึ้น
เช่นเดียวกันครับ การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการในสังคมไทย พอมีการต่อสู้เพิ่มขึ้นมาครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะมีรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย แต่การตระหนักคุณภาพชีวิตของประชาชน ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะสามารถย้อนกลับไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมจะยืนยัน คือ ผู้คนเสมอภาคกันมากขึ้นจากการต่อสู้ และ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ได้สัมผัสถึงความเสมอภาคในคุณภาพชีวิตของผู้คนมันก็ยากที่จะหมุนกลับไป
ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องประกันสังคม แม้ว่าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเป็นการสต๊าฟหยุดการบังคับใช้ พ.ร.บ. ประกันสังคมนานกว่า 40 ปี แต่พอฟ้าเปิดเป็นประชาธิปไตย พ.ร.บ.ประกันสังคมก็ถูกประกาศใช้ รัฐธรรมนูญปี 40 มีการชนะการเลือกตั้งของพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ การเกิดการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
จากนั้นในสมัยของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เกิดเบี้ยผู้สูงอายุ มันมีสิ่งที่พัฒนามากขึ้นมากขึ้น จนปัจจุบันแม้ว่ามีความพยายามหลายครั้งที่จะหมุนกลับคุณภาพของสวัสดิการไป แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่บวก คือ สิ่งที่เราเห็นสวัสดิการของเราเติบโตขึ้นพร้อมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่จะเติบโตช้าเมื่อมีการรัฐประหาร เมื่อประชาชนถูกปราบปราม ถูกคุมขัง การเติบโตด้านคุณภาพชีวิตก็จะช้าลง
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมจะยืนยันก็คือ มันมีการเติบโตขึ้น แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจในด้านหนึ่งที่ว่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ การปราบปรามการชุมนุมอะไรต่างๆ ก็จะทำให้การเติบโตของรัฐสวัสดิการก็ช้าลง ถ้าไม่มีรัฐประหาร ผมก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่า บางทีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของคนไทยจะดีกว่านี้ก็ได้
คุณลองนึกย้อนไปถึงสมุดปกเหลือง และ ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาเมื่อ 80 กว่าปีก่อนนั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า ไม่ใช่เพียงแค่กับยุคสมัย ถ้าเอามาเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ามากกว่าหลายๆ ประเทศที่ก้าวหน้าด้านสวัสดิการในปัจจุบันอีก แต่ก็น่าเสียดายว่ารัฐประหารแต่ละครั้งมันทำให้ส่วนที่จะสามารถพัฒนาประเทศชาติได้ ถูกทำให้ช้าลงไป
ณ เวลานี้แรงงาน Platform จะเรียกได้ว่ามีจำนวนอยู่ไม่น้อย และปัญหาก็คือว่า แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้ ระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้ตอบสนองต่ออาชีพของเขา คุณคิดว่ามีแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง
ประเทศไหนที่มีการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถรักษาสวัสดิการไว้ได้ อย่างที่เราเห็นในกลุ่มประเทศนอร์ดิก แต่ว่าในกลุ่มประเทศตะวันตก แม้กระทั่งในเยอรมนีเอง แม้ว่าจะเป็นต้นกำเนิดของระบบประกันสังคม แต่ว่าด้วยการที่สมาชิกสหภาพแรงงานน้อยลง ก็ทำให้คุณภาพของสวัสดิการประกันสังคมในเยอรมันนีถูกทำลาย ถูกลดทอนลงไปเยอะ
พอพูดถึงประเด็นแรงงานอิสระ หรือว่าแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง หรือที่ทางการเรียกกันว่าเป็น “แรงงานนอกระบบ” ในบริบทสังคมไทยเขาต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอย่างที่เราเห็นอยู่ เช่น แรงงาน platfrom ในปัจจุบัน คนที่ขับรถส่งอาหาร หรือว่าคนที่เป็นแม่บ้านออนไลน์ เป็นอะไรต่างๆ มันน่าแปลกที่ว่า เมื่อบริษัทพวกนี้อยู่ที่ต่างประเทศ เขาเรียกว่า “ลูกจ้าง” คนที่ขับมอเตอร์ไซค์ส่งของให้เขาจะเป็นลูกจ้าง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
แต่พอบริษัทนี้มาเปิดที่ประเทศไทยเขาเรียกว่า Partner พอการเป็น Partner สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทั้งๆ ที่สภาพการปฏิบัติงาน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือทำไมแรงงานอิสระในบ้านเราถึงเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการที่ผู้คนรักอิสระ อยากจะมีชีวิต อยากจะเผชิญความเสี่ยงด้วยตัวเอง แต่เกิดจากสภาพการจ้างและกฎหมายแรงงานของไทยที่มันอ่อนด้อย ที่มันเอื้อให้เกิดแรงงานอิสระมากขึ้น
“แรงงานเหมาค่าแรง” ซึ่งภาครัฐกลายเป็นเป็นภาคส่วนในการเหมาค่าแรงเยอะมาก ก็คือทำงานโต๊ะเดียวกัน คนหนึ่งเป็นข้าราชการ คนหนึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าจ้าง สวัสดิการไม่เท่ากัน ทำงานแบบเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นต้นกำเนิดให้เกิดการงานอิสระมากขึ้น
ทีนี้คำถามสำคัญก็คือ “เราจะทำยังไงให้กลุ่มแรงงานอิสระที่มีเยอะมากขึ้นอยู่ในสังคมไทยได้รับการคุ้มครอง”
เราจำเป็นต้องพยายามพูดถึงสวัสดิการในฐานะสิทธิที่ไม่ได้เป็นสวัสดิการที่ผูกติดกับการจ้างงาน สำหรับประเทศไทยนี้ จริงๆ แล้ว แม้แต่พอประกันสังคมของเราที่ออกมาในช่วงปี 2538 สิ่งที่เกิดขึ้นคือพยายามเน้นสวัสดิการของกลุ่มคนที่มีงานประจำ มีนายจ้าง พอถึงจุดนี้ ผมคิดว่ามันเป็นกระแสสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ถึงพูดถึงรัฐสวัสดิการเยอะขึ้น เพราะทุกคนต่างเห็นว่าตัวเองทำงาน ตัวเองก็มีส่วนร่วมแก่สังคม เสียภาษีทั้งโดยตรง เสียภาษีทั้งโดยอ้อม สร้างความมั่งคั่งให้แก่สังคม
ทำไมเราไม่สามารถได้รับสวัสดิการในฐานะสิทธิ ???
ทำไมต้องมีการพิสูจน์ความจนเพื่อให้ได้รับ ??? หรือ
ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเก่งพอที่ควรจะได้รับ ???
ทำไมเราไม่ได้มันในฐานะสิทธิ ???
ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราจัดสวัสดิการไม่ใช่เพราะความจำเป็น ไม่ใช่เพราะว่าเขาทำอาชีพอะไร แต่จัดสวัสดิการให้เขาเพราะเขาเป็นมนุษย์
สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้คนสามารถวางแผนในชีวิตของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากย้ำคือ เรามักจะพูดถึงเรื่อง give and take อยู่เสมอในเรื่องของการจัดสวัสดิการ แต่ผมมีการคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวเดนมาร์ก เขาบอกว่าสิ่งที่ประชาชนชาวเดนมาร์กเรียนรู้เป็นอันดับแรกไม่ใช่การให้ แต่คือการได้รับ เมื่อสวัสดิการเพียงพอ เราก็สามารถเติบโตในชีวิต เราก็สามารถทำธุรกิจ เราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ในเมื่อเราได้รับมากพอ เราถึงจะสามารถเป็นผู้ให้ได้
ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เมื่อสังคมมีความเสมอภาคกัน ตัวทวีคูณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะเติบโตในอีกแบบหนึ่งซึ่งจะต่างจากสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง อันนี้ เป็นทางออกต่อกลุ่มแรงงานอิสระซึ่งมีมากกว่า 60% ในกำลังแรงงานไทย
จากบาทแรกจนถึงบาทสุดท้าย ควรจะเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องพิสูจน์ว่าใครจน แล้วควรจะได้ก่อน ไม่ต้องพิสูจน์ว่าใครเก่งหรือใครดี หรือว่าใครควรจะได้ก่อน
อันดับแรกผมอยากชวนให้ทุกท่านคิดคือเรื่อง รัฐสวัสดิการมันไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเข้าไปคุยกับคนที่ทำงานอยู่ในตลาด หรือว่าเราไปคุยกับพนักงานก่อสร้าง คุยกับเด็กนักศึกษา คุยกับสาวโรงงานต่างๆ ซึ่งเท่าที่เห็นคือทุกคนสามารถบอกได้ว่าชีวิตที่ดีคืออะไรบ้าง เขาควรจะได้อะไรบ้าง
แต่สิ่งที่ผมอยากชวนให้ทุกท่านคิดแบบง่ายที่สุด เหมือนกับว่าถ้าคุณอยากให้คนมีสุขภาพดี คุณก็ให้เขารักษาพยาบาลฟรี ถ้าคุณอยากให้คนแก่มีชีวิตที่มีความมั่นคง มีความสุขและลูกหลานไม่มีความกังวล คุณก็ทำให้เขามีเงินบำนาญ ถ้าคุณอยากให้เด็กทุกคนเกิดมาไม่ต้องกังวลว่าจะต้องติดลบ ต้องไปขายพวงมาลัย หรือว่าถูกใช้ความรุนแรง คุณก็ทำให้เด็กทุกคนพร้อมกับการมีเงินเลี้ยงดูเด็ก
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมพยายามชวนให้ทุกคนคิดคือมองแบบง่ายที่สุด ต้องนึกถึงว่าเด็กอายุ 0 ถึง 18 ปี ให้มี เงินเด็กถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ให้ 600 บาท และให้เฉพาะกลุ่มเด็กที่มีรายได้น้อย ซึ่ง 600 บาทมันก็ไม่พอ และยังให้เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยเข้าไปอีก
มองให้ง่ายเข้าไปอีก ให้ทุกคนเรียนหนังสือฟรี ไม่ให้ใครต้องรู้สึกว่าตัวเองต้องทิ้งต้องมีเรื่องราวสามัญประจำบ้านที่พี่ต้องลาออก เพื่อให้น้องได้เรียนหนังสือ แม่ต้องไปทำงานหนัก ไปกู้นอกระบบเพื่อที่จะทำให้ลูกได้เรียนต่อ เรื่องเหล่านี้มันควรจะหมดไปตั้งนานแล้วในประเทศไทย แต่ว่ามันถูกฉายซ้ำเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนเรียนฟรีจนจบปริญญาเอกพร้อมกับการมีเงินเดือน ซึ่งตอนนี้เหมือนกับเยอะนะครับ แต่ว่าผมลองเทียบให้เราเห็นลองดูก็นึกว่าตอนนี้นักศึกษาอยู่ในระบบมหาวิทยาลัย ตีแบบเวอร์ที่สุดเลยนะครับ ทั้งรัฐและเอกชนมหาวิทยาลัยเปิดประมาณ 2 ล้านคน ถ้าต้องใช้งบปีละแสนบาท เพื่อที่จะทำให้ทุกคนเรียนฟรี สิ่งเหล่านี้ก็น่าสนใจมาก ก็คือต้องใช้สองแสนล้านบาทต่อปีที่ Top Up ฟังดูเยอะแต่ว่ามันคือ 8% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เช่นเดียวกัน ถ้าจะทำให้ผู้สูงอายุมีเงินบำนาญ 3,000 บาททุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน เถ้าแก่ร้านทอง จนกระทั่งถึงเป็นแรงงานอิสระ ก็ใช้งบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท หรือว่าแม้กระทั่งเงินเด็กถ้วนหน้า ก็ใช้งบหลักแสนล้านบาทที่เพิ่มเติมขึ้นมา
นี่คือ Concept ของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” ก็คือ เงินบาทแรกจนกระทั่งบาทสุดท้ายมาใช้จ่ายเรื่องนี้ก่อน ใช้เงินเรื่องนี้ก่อน เราเหลือก็เอาไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น แต่ว่าแน่นอนว่าถ้าคุณเป็นรัฐประเภทอื่น คุณก็ใช้จ่ายเรื่องอื่นก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยโอนให้เป็นสวัสดิการสำหรับประชาชน นี่คือความแตกต่างกัน
จากการคำนวณของผม ถ้าเราใช้ระบบนี้เป็นระบบถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ว่าใครจน แล้วควรจะได้ก่อน ไม่ต้องพิสูจน์ใครเก่ง หรือใครดี หรือใครควรจะได้ก่อน ประเทศไทยตอนนี้กำลังหลงทางกับระบบที่เราเรียกกันว่า proxy means test ก็คือการพิสูจน์ความจนซ้ำเพื่อดูศักยภาพเพียงพอ สัมภาษณ์เด็กคนนี้เพื่อที่จะดูว่าเด็กคนนี้จนอย่างเดียวไม่พอ เด็กคนนี้ต้องมีความพยายาม มี Connection เพื่อที่เขาจะได้ไปต่อ แต่ว่ามันทำลายความเป็นมนุษย์มากเลย
รัฐควรเอาเรื่องพวกนี้ออกไป แล้ววางเป็นระบบถ้วนหน้า มีนักศึกษาเคยมาคุยกับผมมีเอกสารมาให้ผมเซ็น 2 ใบ คือใบลาออกกับใบขอทุน เขาบอกว่า ถ้าเขาขอทุนไม่ได้ก็คงต้องลาออก ช่วง covid ลำบากมาก มีประโยคหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนใจ เขาถามผมมาประโยคหนึ่งว่า “หรือว่าที่นี่จะไม่ใช่ที่ของหนู?”
เขามาจากครอบครัวที่ค่อนข้างลำบากยากจน ซึ่งแน่นอนว่าคงจะต้องพยายามอย่างมากที่จะได้เข้ามาเรียนได้ถึงในธรรมศาสตร์ แต่พอมาถึงจุดนี้ได้ กลับมีคำถามว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของหนู หนูควรจะลาออกแล้วไปทำงานเก็บเงิน เก็บเงินให้ได้ก่อน แล้วค่อยหาที่เรียน
ประเด็นคือว่า ประเทศนี้เราสามารถดีกว่านี้ได้ โดยที่คุณไม่ต้องถามว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของหนู เมื่อคุณมาถึงตรงนี้ คุณควรจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่กับทุกคนที่มีความสามารถ ควรจะมีระบบรองรับ ในเรื่องของการศึกษา ก็ควรจะมีระบบรองรับให้ถ้วนหน้า อย่างเท่าเทียม ไม่เป็นการตัดโอกาสคนที่มีความสามารถ
ในช่วง COVID-19 รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือค่าครองชีพ ภาพที่เราเห็นคือไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ แต่ละคนต้องพิสูจน์ความยากจน คิดว่าภาพแบบนี้ส่งผลต่อชีวิตคนยังไง
สิ่งหนึ่งที่ผมคิด เราเห็นภาพอะไรเยอะขึ้นในมุมบวกต่อเรื่องรัฐวัสดิการ คือเราเห็นว่าประเทศนี้มีเงิน มีช่องทางในการที่จะเอาเงินออกมา ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น
สำหรับคำกล่าวเรื่อง “สวัสดิการชิงโชค” ผมคิดว่าน่าสนใจมาก คือพอสุดท้ายแล้วเราเห็นว่า เออ มันก็ได้ทุกกลุ่มนะ มันก็ได้เกือบเกือบทุกกลุ่มเลย แต่ว่ามันเป็นวิธีการคิดหรือว่า mind set ของรัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายนี้ไม่สามารถให้ได้ทุกคนเพราะว่า ถ้าให้ไปแล้วเดี๋ยวเขาจะใช้จ่ายกันแบบไม่สมเหตุสมผล หรือว่าไม่ไว้ใจการใช้จ่ายของประชาชน คิดว่าพอได้ไปแล้วอาจจะไปกินเหล้า เอาไปเที่ยวหรือใช้อะไรโดยที่ไม่สมเหตุสมผล นี่คือวิธีการคิดของรัฐบาล ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ เพื่อการันตีว่าคนนี้สมควรที่จะได้หรือเปล่า
ถ้าเรามองย้อนกลับไปปีที่แล้ว 1 พฤษภาคม 2563 ที่หน้ากระทรวงการคลัง ก็จะเห็นว่า ผู้คนไปต่อแถวเยอะมาก วันนั้นผมก็ไปสังเกตการณ์ดูอยู่ คนมาต่อแถวเยอะมาก คนก็กังวลว่าตัวเองจะได้หรือไม่ บางคนเครียดในช่วงเวลานั้น ที่เห็นว่ามีคนกรอกยาเขาบอกว่าตอนนี้ไม่ไหว บอกว่าเงิน 5,000 มันสำคัญกับเขามาก ถ้าเขาไม่ได้มันจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่าสำหรับกลุ่มทุนนี้รัฐบาลถึงขนาดเชิญให้กลุ่มทุน คือกลุ่มทุนเขาก็ลังเลว่าจะรับ soft loan กับรัฐบาลดีไหม รัฐพยายามวางเงื่อนไขต่างๆ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มทุนเนี่ยที่จะมารับเงินช่วยจากรัฐบาล นี่คือฐานความคิดที่สำคัญว่า เงินมันถูกจับวางแผนวิธีการคิดว่า คุณไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรับประชาชน ส่วนเรื่องผลต่อคุณภาพชีวิตของคน
ทีนี้ ผมจะพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เงินที่เราได้ผ่านเงื่อนไขความไม่แน่นอน หรือที่เขาเรียกกันว่า “ชิงโชค” ไม่ว่าจะได้ผ่านการ punish หรือว่า reward ไม่ว่าจะได้จากการลงโทษ หรือว่าได้เพราะว่าคุณเป็นคนดี คนเก่ง วิธีการใช้เงินในลักษณะนี้กับเงินที่คุณได้ในฐานะสิทธิมันต่างกันแน่นอน
ถ้าคุณได้รับเงินในฐานะสิทธิ สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยง่ายคือการวางแผน ผมเทียบแล้วกันว่า ระหว่างเงินที่ได้จากการถูกหวย กับ เงินเดือน พฤติกรรมการใช้เงินมันต่างกันแน่นอน เพราะว่าพอเป็นเงินเดือนเราสามารถวางแผนได้ว่าจะใช้จ่ายต่อสิ่งที่สำคัญกับเรา แต่พอเป็นเงินที่ได้จากการถูกหวย การวางแผนเกี่ยวกับเงินตัวนี้จะน้อยกว่า เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเขาจะได้เมื่อไหร่ ตรงนี้ผมคิดว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนก็ต่างกัน ระหว่างสวัสดิการในฐานะสิทธิกับสวัสดิการในรูปแบบการชิงโชค
เราจะเอาเงินมาจากไหนจึงจะสามารถเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการที่ดีได้
คำถามนี้อาจจะไม่เป็นคำถามทางเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าเป็นคำถามทางปรัชญา คือว่าเอาเข้าจริงแล้ว เราเชื่อไหมว่าคนเท่ากัน จริงๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมันมีสิ่งที่ท้าทาย เราใช้เงินเยอะกว่าการสร้างการสวัสดิการอีกก็คือ “การเลิกทาส”
คนที่เป็นแรงงานทาส นายทุนหรือว่าคนมีอำนาจในสังคมทั้งไทย หรือของโลกก็ตาม สามารถใช้งานเขาได้ฟรี โดยที่คุณไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่ต้องมีสวัสดิการ ไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายด้วยซ้ำ คุณใช้งานจนเขาตายเลยก็ยังได้ แต่ว่าตอนที่ยกเลิกทาส ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนไหนมาคำนวณบอกว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าคุณต้องจ่ายค่าจ้างทุกคน
หรือแม้กระทั่งเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิง เราย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อน สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้หญิงก็ไม่ได้มีสิทธิเสมอภาคเท่ากับผู้ชาย ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินเท่ากับผู้ชาย สถานะของผู้หญิงเหมือนกับเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้ชาย เมื่อ 100 กว่าปีก่อนสิ่งที่ขึ้นก็คือเมื่อผู้หญิงกับผู้ชายเสมอภาคกัน ก็ไม่ได้มีใครมาคำนวณตอนนั้นว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เช่นเดียวกันครับผมคิดว่า mindset แรกคือเราต้องถามก่อนว่า เราเชื่อไหมว่าคนเท่ากัน ประเทศไทยก่อนที่จะเดินหน้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ไม่มีใครเชื่อหรอกครับว่า เราจะสามารถมี fix cost ปีละแสนกว่าล้านบาทเพื่อมาใช้จ่ายให้คนรักษาพยาบาลได้ฟรี
ผมเคยฟังนักการเมืองท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องการกำหนดนโยบายนี้ในช่วงเวลานั้น เขาบอกว่าแม้กระทั่งทำโพลล์คนไทยว่ามีความต้องการด้านนโยบายด้านใดมากที่สุดก่อนปี 2544 คนไทยส่วนมากบอกว่า ไม่ได้ต้องการรักษาพยาบาลฟรี แต่ต้องการพักหนี้มากกว่า ที่การรักษาพยาบาลไม่ได้อยู่ในความคิดของคนไทย เพราะเขาไม่รู้ว่า นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะได้
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เรากลับมาว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน เราจะสามารถเดินหน้าสู่การสวัสดิการได้ไหม ในฐานะที่เราเป็นประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูง ผมเคยคุยกับเป็นท่านทูตสวีเดนที่อยู่ในไทย เขาบอกว่าประเทศสวีเดนก่อนที่เป็นรัฐสวัสดิการ เป็นประเทศที่ยากจนมาก
สวีเดนในช่วงที่ยากจน คือเมื่อประมาณ 80-90 ปีก่อน ได้รับเงินกู้จากอาร์เจนตินาด้วยซ้ำ แต่ตอนที่สวีเดนเดินทางเข้าสู่รัฐสวัสดิการ ไม่ได้เป็นเรื่องการกดเครื่องคิดเลขเลย แต่เป็นเรื่องของการเชื่อว่าคนต้องเท่ากัน เชื่อว่าคนต้องมีคุณภาพ เพียงแค่กลับหัวกลับหางว่า แทนที่คุณจะเอาเงินบาทแรกไปให้กับอภิสิทธิ์ชน คุณก็เอาไปให้คนทั่วไป คนธรรมดาก่อน
ประเทศไทยเราเคยพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้ การสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยผู้สูงอายุ ประกันสังคม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ที่เป็นหน่ออ่อนของแนวคิดรัฐสวัสดิการแทบทั้งสิ้น
ตามที่ผมได้คำนวณมาว่าจริงๆ แล้วประเทศเรามีเงินมากพอ ที่เราจะสามารถนำมาสร้างและรัฐสวัสดิการได้ จากงบเดิมที่เรามีสามารถ Kick Off สามารถเริ่มต้นได้เลย แต่ถ้าเราจะพูดถึงความมั่นคงในงานเองก็ได้เป็นเพียงแค่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือความมั่นคงทางการเมืองนั้น จะต้องลดความเหลื่อมล้ำโดยการมีการเก็บภาษีจากกลุ่มชนชั้นนำ
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชวนให้เราคิดคือ การเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจริงๆ แนวคิดนี้ก็มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่ว่ายุคนี้ทรัพย์สินมันมีความซับซ้อนมากขึ้นเยอะ จึงชวนให้เราเก็บเป็นภาษีทรัพย์สินสุทธิไปเลย คือ ไม่ต้องแยกประเภท คนที่มีทรัพย์สินในประเทศนี้เกิน 400 ล้านบาทต้องเสียภาษี 3% ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่คนส่วนมาก ไม่ใช่คนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ถ้าคุณมีทรัพย์สินล้านล้าน คุณต้องเสียภาษีสามหมื่นล้าน ถ้าคุณไม่อยากเสียคุณก็ต้องเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุน หรือว่าลดความมั่งคั่งของคุณ
ถ้าคุณรวยค้ำฟ้ามาก ไม่สามารถที่จะลดความมั่งคั่งของคุณได้ ก็ต้องเสียภาษีส่วนนี้ top up มา ซึ่งอาร์เจนตินาตอนนี้ก็กลายเป็นประเทศที่น่าจะเป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีทรัพย์สินจากกลุ่มคนมั่งคั่งที่มีทรัพย์สินเกิน 80 ล้านบาท เพื่อที่เอามาใช้ในการจัดสวัสดิการในช่วง covid-19 ผมคิดว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ว่ามันเกี่ยวข้องกับวิธีการคิดและก็การลดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนในอีกด้านหนึ่งครับผม
คุณคิดว่าคนทั่วไปเข้าใจความหมายของรัฐสวัสดิการหรือไม่
จริงๆ แล้วเวลาที่เราพูดให้ใครเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่นักวิชาการแต่เป็นผู้คนธรรมดาที่อยู่ตามท้องถนน ผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ทำงานวัน 8 - 10 ชั่วโมง เพื่อที่ว่าจะได้มีค่าจ้างเพียงแค่เดือนละหมื่นกว่าบาท
เราพูดถึงแรงงานอิสระที่ทำงาน ทำงานอยู่บนมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์ก็มอเตอร์ไซค์เขา แรงก็แรงเขา แต่ว่าสุดท้ายแล้วสร้างความมั่งคั่งให้แก่นายทุน คนกลุ่มนี้ผมเชื่อว่าเป็นคนกลุ่มที่เข้าใจความไม่เป็นธรรมมากที่สุด
รวมถึงคนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คุณเงยหน้ามา คุณก็เห็นแต่ความอยุติธรรมเต็มไปหมดเลย คุณเห็นระบบกฎหมายไทยที่ไม่สามารถพึ่งพาได้ คุณเห็นระบบทุนนิยมที่ผูกขาด ที่เจ้าสัวสามารถจองประเทศนี้ข้าม Generation ให้ลูกของพวกเขาได้ คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกไม่พอใจ
ผมเคยทำโพลมาครั้งหนึ่ง บทสำรวจว่าคนกลุ่มไหนมีแนวโน้มที่จะชอบนโยบายรัฐสวัสดิการมากที่สุด สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากเลย คือเรามักจะคิดว่าผู้ใช้แรงงานหรือชนชั้นกลางจะไม่สนใจว่า ปรากฏว่าผลออกมาทุกกลุ่ม 60 : 40 ชอบรัฐสวัสดิการมากกว่า กลุ่มคนที่ดูเหมือนจะปฏิเสธรัฐสวัสดิการมากที่สุด กลับกลายเป็นคนที่จบปริญญาเอก หรือว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ การที่เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีเบี้ยผู้สูงอายุ มีประกันสังคม เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการที่เราสามารถที่จะมีวันหยุดวันเสาร์ วันอาทิตย์ มีวันลาพักร้อน มีวันหยุดต่างๆ ได้ ก็เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญ
การที่ภาพจำของอาจารย์ปรีดีฯ ถูกทำให้เลือนรางอยู่ในความทรงจำของคนไทย ก็เป็นเพราะว่า “ปรีดี พนมยงค์” ไม่ใช่เป็นแค่บุคคล แต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และแน่นอนที่สุดครับ ผู้มีอำนาจในสังคมนี้ เกลียดกลัวความเสมอภาค เพราะเขาจะกลัว จะเกลียดสิ่งที่ประชาชนรัก และเขาก็จะรักในสิ่งที่ประชาชนเกลียด เราต้องพยายามพิทักษ์ไว้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ผมคิดว่าการที่เรารื้อฟื้นถึงความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการของอาจารย์ปรีดีฯ ขึ้นมานั้น ถือว่าเป็นอีกสิ่งที่ทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการที่ดี ที่เป็นธรรม และเท่าเทียม ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมา 80 กว่าปีแล้ว และผมเชื่อว่ามันคือการต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ผลแห่งความไม่ย่อท้อ เราจะได้ชัยชนะนั้นมา...ในไม่ช้า
กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์
- บรรณาธิการ และ เรียบเรียง ...... ณภัทร ปัญกาญจน์
- สัมภาษณ์ ............................... เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- ถ่ายทำ - ตัดต่อ ....................... กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- ถอดบทสัมภาษณ์ ................... ปวิตรา ผลสุวรรณชัย
- พิสูจน์อักษร ........................... ชญานิษฐ์ แสงสอาด, ศิริพร รอดเลิศ
- PRIDI Interview
- ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ลานปรีดี พนมยงค์
- ม็อบคณะราษฎร
- แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
- ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการทางความเป็นธรรมศึกษา
- รัฐสวัสดิการ
- We Fair
- พรรคอนาคตใหม่
- ใจ อึ้งภากรณ์
- ป๋วย อึ้งภากรณ์
- ปรีดี พนมยงค์
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- กระทรวงการคลัง
- ทักษิณ ชินวัตร