ตามรอยเอกสารและการวิวาทะยกแรก[1]
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรได้ประกาศหลักการไว้ 6 ประการ โดยหลักการประการที่สามกล่าวถึง “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ” อันเป็นเหตุให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หนึ่งในรัฐมนตรีและแกนนำคณะราษฎร ต้องนำเสนอแนวนโยบายเพื่อบรรลุอุดมคตินั้น วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2476 หลวงประดิษฐ์ฯ ได้เสนอ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมานุการเพื่อพิจารณา คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ วันที่ 28 มีนาคม พระยามโนปกรณ์ฯ นำเสนอ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ที่ทรงไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ อ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ขอลาออกเพื่อประกาศแนวคิดในนามของตนเอง แต่พระยามโนปกรณ์ฯ ไม่อนุญาต
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์ทำการยึดอำนาจด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนฯ และ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ต่อมา ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางไปขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ในขณะเดียวกัน บันทึกพระบรมราชวินิจชัยฯ ก็ได้ถูกปล่อยออกสู่สาธารณะ เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหาว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็น “คอมมิวนิสต์”
เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ นับแต่หลวงประดิษฐ์ฯ ได้นำเสนอ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่านเข้าสู่รัฐสภาในการตราเป็นพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งหลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางไปลี้ภัยยังต่างประเทศ และมีการเผยแพร่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 กินระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1 เดือน แต่เป็นความขัดแย้งที่แหลมคมมาก
จากนี้ไป เราจะเริ่มตามรอยเอกสารชิ้นแรก คือ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ
หลังจากหลวงประดิษฐ์ฯ ได้ร่าง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปแจกจ่ายก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อนำสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในการตราเป็นพระราชบัญญัติ ดังปรากฏหลักฐานบันทึกไว้ว่า
เมื่อร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแล้ว ได้พิมพ์ขึ้นแจกจ่ายในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร การที่แจกผู้ก่อการนั้นเพื่อให้เอาไปอ่านก่อนว่าจะมีความเห็นชอบด้วยหรือไม่ การที่แจกคณะกรรมการคณะราษฎรก็เพราะเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคณะราษฎร เพื่อให้โอกาสกรรมการคณะราษฎรได้อ่านเสียก่อน[2]
หากพิจารณารอยหลักฐานข้างต้น คาดว่าการแจกจ่ายเอกสารขึ้นนี้ น่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันที่เรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี สำหรับจำนวนการเผยแพร่ หากพิจารณาว่าเป็นการตีพิมพ์เพื่อแจกจ่ายผู้ก่อการฯ (115 คน)[3] และคณะกรรมการราษฎรแล้ว (คณะกรรมการนี้ ภายหลังวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนมาเรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” มีจำนวนสมาชิก 20 คน) คาดว่าจำนวนคำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ที่พิมพ์ น่าจะอยู่ในราวไม่เกิน 150 ฉบับ และถ้าหากเผยแพร่ให้กับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย อย่างมากไม่น่าพิมพ์เกิน 200 ฉบับ ซึ่งนับว่าเป็นการเผยแพร่เอกสารในวงค่อนข้างจำกัด
เมื่อหันมามองการเผยแพร่ บันทึกพระบรมราชวินิจชัยฯ จะพบว่าเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ (จำนวนพิมพ์ 3,000 ฉบับ) ได้ถูกปล่อยออกสู่สาธารณชนทันที กล่าวคือ “เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปต่างประเทศแล้ว จึงได้มีการพิมพ์พระราชวิจารณ์เค้าโครงการณ์ขึ้น”[4]
หากจะลำดับเวลาของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ว่าออกสู่สาธารณะเมื่อใดแล้ว จะพบว่าจากหลักฐานการพิมพ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งวันเวลาที่ปรากฏนี้ อาจมองได้ว่าจะเป็นวันปิดต้นฉบับ หรือเป็นวันที่เรียงพิมพ์เสร็จ หรือเป็นวันที่พิมพ์เสร็จก็ตาม แต่ไม่ว่าจะมองว่าเป็นกรณีใด จะเห็นได้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ขึ้นน่าจะมีจุดประสงค์ ที่ใช้เอกสารดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์ และลดความชอบธรรมของหลวงประดิษฐ์ฯ ทันทีเมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ พ้นจากอำนาจ ด้วยการกล่าวหาว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็น “คอมมิวนิสต์” ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า วันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอย่างเป็นทางการของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนใคร่ชักชวนให้ผู้อ่านช่วยถกเถียงในประเด็นที่ลึกลงไปอีกว่า จริงๆ แล้ว ใครเป็นผู้เขียน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ทั้งนี้ เนื่องจากในต้นฉบับที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2476 นั้น ไม่มีการลงชื่อผู้เขียน มีเพียงชื่อของเอกสารเท่านั้น ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่าพระปกเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์เอกสารชิ้นนี้
หากเราพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่การแจกจ่าย คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ก่อนวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับแบบศักราชเก่าเป็นปลายปี พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นวันที่เอกสารเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งพระยามโนปกรณ์ฯ นำบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ อ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระปกเกล้าฯ ทรงไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ จะเห็นว่ามีเวลาประมาณ 20 วัน ระหว่างวันที่ 9 - 28 มีนาคม ตามที่มีการระบุศักราช ในขณะที่เขียนว่า “เวลานี้เป็น พ.ศ. 2475”[5] สำหรับการผลิตต้นฉบับเอกสารเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ภายใต้ชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ
บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นี้ เมื่อตีพิมพ์แล้วมีความยาวถึง 50 หน้ากระดาษ และต้นฉบับลายมือเขียนของเอกสารดังกล่าวก็น่าจะมีจำนวนหน้ามากกว่านี้ ข้อเท็จจริงดังกล่าว น่าจะทำให้ประเด็นคำถามเกี่ยวกับผู้เขียน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ คลุมเครือยิ่งขึ้น เนื่องจากเราล้วนทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มักทรงพระราชนิพนธ์เรื่องขนาดยาวด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เช่น Problem of Siam และ Democracy In Siam[6] เนื่องจากทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในยุโรปตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์นานเกือบ 10 ปี[7] ทั้งยังมีอุปสรรคจากปัญหาเกี่ยวกับพระเนตร เมื่อสำรวจไปถึง คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 ก็ปรากฏร่องรอยเกี่ยวกับผู้อยู่เบื้องหลัง บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ดังนี้
พระยามโนปกรณ์กับพวกได้ทำพระราชวิจารณ์ตำหนิเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทยและเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วให้พระปกเกล้าฯ ลงพระนาม[8]
กระนั้นก็ตาม แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ หรือไม่ แต่พระองค์น่าจะทรงเห็นชอบกับเนื้อหาสาระในการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ด้วย จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนในการพิมพ์ถึง 3,000 ฉบับ[9] และนำออกแจกจ่ายในวงกว้างมากกว่า คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐ์ฯ มาก
การเผยแพร่เอกสารด้วยจำนวนที่แตกต่างกันมากนั้น อาจมีผลต่อความเข้าใจของสาธารณะที่มีต่อประเด็นต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเอกสารทั้งสองด้วย เช่น การเผยแพร่คำชี้แจง เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ นั้น อยู่ในวงจำกัด คือนำออกแจกจ่ายในหมู่คณะรัฐมนตรี สมาชิกคณะราษฎรและอาจรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนฯ เท่านั้น ในขณะที่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้นนำออกแจกจ่ายสู่สาธารณชนถึง 3,000 ฉบับ นอกจากนี้ รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ ยังสั่งห้ามหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ออกสู่สาธารณะด้วย (จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) หมายความว่าสาธารณชนแทบจะไม่ได้ทราบข้อมูลจากเอกสาร คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เลย ขณะที่บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ที่มุ่งเน้นการวิพากษ์วิจารณ์นั้นกลับได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากกว่า แม้ว่าต่อมารัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ จะห้ามหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ด้วยแต่กระบวนการแจกจ่าย บันทึกพระบรมราชวินิจชัยฯ ออกสู่สาธารณะก็ได้ดำเนินการไปแล้ว
เมื่อพิจารณาจากแหล่งพิมพ์พบว่า สิ่งพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ ล้วนใช้โรงพิมพ์เดียวกัน คือ โรงพิมพ์ลหุโทษ[10] แต่แหล่งทุนในการพิมพ์เอกสารทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือขณะที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ ได้รับเงินทุนสำหรับดำเนินการพิมพ์จากแหล่งใด (เป็นไปได้ว่า อาจเป็นทุนจากรัฐบาล ในฐานะที่เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน) แต่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เราทราบชัดเจนว่าพระปกเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับรัฐบาลในการจัดพิมพ์ เพื่อแจกจ่ายให้กับสาธารณะ[11] สาเหตุที่คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ถูกพิมพ์ที่โรงพิมพ์ลหุโทษ อาจเป็นเพราะโรงพิมพ์นี้เป็นโรงพิมพ์ของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และทำหน้าที่พิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้กับรัฐบาล[12] สำหรับเหตุที่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ถูกพิมพ์ที่โรงพิมพ์ลหุโทษอาจเป็นความสะดวกของผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ในการปกปิดกระบวนการการพิมพ์เอกสารดังกล่าวเป็นความลับด้วย
ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นผลมาจาก วิวาทะระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐ์ฯ กับความเห็นแย้งของกลุ่มที่ใช้ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เป็นเครื่องมือในช่วงนี้ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การยึดอำนาจจากสภาผู้แทนฯ โดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ อันนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ตลอดจนการกล่าวหาหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”ทั้งจากแถลงการณ์ของรัฐบาลและจากบทโคลงของพระยามโนปกรณ์เอง[13] ส่งผลให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ และจบลงด้วยการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หลังจากนั้นหลวงประดิษฐ์ฯ ได้ถูกเรียกตัวกลับมายังประเทศอีกครั้งหนึ่ง และรัฐสภาได้ดำเนินการไต่สวนข้อกล่าวหาการเป็น “คอมมิวนิสต์” และลงความเห็นว่า หลวงประดิษฐ์ฯ มิได้เป็น “คอมมิวนิสต์” ตามข้อกล่าวหานั้น
หลังการรัฐประหารจบสิ้นลง บรรยากาศการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แทบไม่มีการนำความขัดแย้งในประเด็นนี้ขึ้นมาวิวาทะกันอีกเลย นอกจากความพยายามในการสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องต่อหลวงประดิษฐ์ฯ ให้กับสาธารณะ ซึ่งสามารถเห็นได้จากร่องรอยของการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ข้อกล่าวหาการเป็น “คอมมิวนิสต์” ให้กับหลวงประดิษฐ์ฯ ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เช่น ตำราวิชา ลัทธิเศรษฐกิจ ของ ศาสตราจารย์ฮัต เจสสัน ได้ปรากฏการลงพิมพ์เรื่อง “บันทึกของคณะกรรมการธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร” ที่ทำการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็น “คอมมิวนิสต์” หรือไม่ “บันทึกคอมมินิสต์คือ อะไร” และ “บันทึกอุปกรณ์” ของเรอเน กียองในตอนท้ายของ ตำราด้วย[14]
นอกจากนี้ในระดับกว้าง เราพบหลักฐานในหนังสือเล่มเล็กที่ชื่อ คอมมิวนิสม์คืออะไร? หลักการไต่สวนหลวงประดิษฐฯ (2477) ซึ่งรวบรวมโดย “พ.อักษรสวาสดิ์” พิมพ์จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ในราคา 25 สตางค์ ซึ่งพิมพ์รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2 และ “บันทึกอุปกรณ์ เรื่องคอมมิวนิสม์คืออะไร” ของนายเรอเน กียอง โดยโปรยไว้ที่ปกว่า “เหมาะในการค้นคว้าวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” โดยระบุว่าได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ ตามสำเนาหนังสือของสำนักงานโฆษณาการ ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2477 ลงนามโดยหลวงรณสิทธิพิชัย แม้เราไม่ทราบว่า “พ.อักษรสวาสดิ์” เป็นใคร แต่เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการพยายามแก้ข้อกล่าวหาการเป็น “คอมมิวนิสต์” ของหลวงประดิษฐฯ ให้กับสาธารณะ ซึ่งปรากฏเป็นหนังสือที่แพร่หลายหมุนเวียนอยู่ในขณะนั้น โดยเขากล่าวถึงสาเหตุในการเผยแพร่ หนังสือเล่มดังกล่าวว่า “ต้องการให้ประชาชนทราบว่า หลวงประดิษฐฯ ไม่ได้เป็น คอมมิวนิสม์และเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ”[15]
บรรยากาศของการสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้น น่าจะเกิดภายหลังรัฐสภามีมติให้หลวงประดิษฐฯ พ้นจากข้อหาเมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2477 และการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เอกสารต้องห้ามและการเมืองของการผลิตซ้ำ
อาจเป็นครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อำนาจรัฐได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองด้วยห้ามการพิมพ์เผยแพร่ เนื่องจากเนื้อหาสาระของ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ และพระราชบัญญัติประกอบสองฉบับของหลวงประดิษฐฯ นั้นมีแนวนโยบายให้รัฐเข้ามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในรูปของสหกรณ์ โดยผสมผสานแนวคิดสังคมนิยมหลายสกุล และถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ในขณะที่ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้นคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยมีจุดยืนในทางอนุรักษนิยม เอกสารทั้งสองชิ้นจึงมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างไม่สามารถเข้ากันได้
การห้ามผลิตซ้ำเอกสารดังกล่าวโดยรัฐ เริ่มต้นจากการห้ามพิมพ์เผยแพร่ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ โดยในชั้นต้นอาศัยอำนาจจาก พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 ซึ่งได้กำหนดลักษณะของเอกสารที่เข้าข่ายห้ามเผยแพร่ในมาตรา 4 ว่า
เอกสารกับของรัฐบาลหรือของสภาในราชการ ซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือกิจการลับของที่ประชุมในราชการ ซึ่งสาธารณะชนเข้าไปไม่ได้ ท่านห้ามมิให้เอามาลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก่อน ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่[16]
และต่อมา พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476[17] การออกพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจเป็นนัยในการยืนยันต่อสาธารณะว่าหลวงประดิษฐฯ เป็น “คอมมิวนิสต์” จริง และติดตามด้วยการห้ามพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ซึ่งพระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ สมุหพระนคร ได้ประกาศห้ามโดยให้เหตุผลว่า
ห้ามพิมพ์เอกสารซึ่งแสดงไปในทางการเมืองหรือ นโยบายของรัฐบาล หรือเหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์ หากเอกสารใดที่สงสัยว่าอาจเปนเช่นดังกล่าว ให้นำเสนอพิจารณาเสียก่อนพิมพ์ มิฉนั้นอาจสั่งปิดสิ่งพิมพ์ทันที[18]
ในวันรุ่งขึ้นหลังจากหลวงประดิษฐฯ ย่างก้าวออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์ได้เรียกประชุมผู้แทนจากหนังสือพิมพ์ทั้งหมดทันที โดยแจ้งว่าได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์หลักเมืองแล้ว เนื่องจากหนังสือพิมพ์ หลักเมือง ตีพิมพ์บทความที่เขียนสนับสนุน เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ[19] พร้อมทั้งประกาศห้ามกล่าวถึงโครงการนี้อีก มิฉะนั้นจะจัดการอย่างเด็ดขาด[20] ในขณะที่มีการแจกจ่าย บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ไปถ้วนทั่ว[21] หลังจากดำเนินการแจกจ่ายบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ไปช่วงหนึ่ง ในวันที่ 20 เมษายน หนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้ลงพิมพ์ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ออกสู่สาธารณะเป็นตอนแรก แต่ก็ถูกรัฐบาลสั่งห้ามการพิมพ์ในวันถัดมา[22] ต่อมารัฐบาลได้สั่งเก็บหนังสือพิมพ์ที่ลงเรื่องดังกล่าวทั้งหมดทันที การสั่งเก็บนี้น่าเป็นผลจาก บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ได้กล่าวพาดพิงถึงคณะราษฎร[23] อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นไม่พบร่องรอยว่ามีการสั่งห้ามการเผยแพร่หรือเก็บบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ที่ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ลหุโทษแต่อย่างใด
หลังการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ เมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯ ได้ขอร้องมิให้หนังสือพิมพ์รื้อฟื้นวิวาทะเกี่ยวกับเอกสารทั้งสองขึ้นมาอีก โดยให้เหตุผลดังนี้
ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อรัฐบาลไม่ปรารถนาให้แตะต้องเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐฯ และพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการนั้นแล้ว เราช่วยกันปล่อยให้ลืมเสียเถิด เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง[24]
ในส่วนของ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น เนื่องจากมีข้อความพาดพิงถึงบุคคลสำคัญในคณะราษฎร การรื้อฟื้นเอกสารดังกล่าวในขณะที่รัฐบาลซึ่งมาจากคณะราษฎรยังคงมีอำนาจอยู่จึงเป็นไปได้ยาก กลุ่มอนุรักษนิยมที่ต้องการรื้อฟื้นการวิวาทะ คงจะต้องมีความระแวดระวังตัวมากในการกล่าวถึงวิวาทะดังกล่าว อย่างน้อยก็ปรากฏร่องรอยของคำสั่งห้ามเผยแพร่ในงานของเปรมจิตร วัชรางกูร (จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ซึ่งได้ระบุว่า “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ถูกห้ามมิให้นำไปพิมพ์โฆษณา”[25]
อาจกล่าวได้ว่า คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เป็นเอกสารชิ้นแรกๆ ที่ถูกห้ามตีพิมพ์เผยแพร่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาตั้งแต่การวิวาทะครั้งแรก ใน พ.ศ. 2476 จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2490 ไม่มีการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองขึ้นอีกเลย
อย่างไรก็ตาม ในปลายพุทธทศวรรษ 2480 ได้ปรากฏกลิ่นอายของการรื้อฟื้นการวิวาทะ ซึ่งได้ถูกนำขึ้นมาบนหน้ากระดาษแบบกล้าๆ กลัวๆ ในลักษณะ “เหยียบเรือสองแคม” ในยุครัฐบาลพลเรือนหลังสงคราม หนังสือเล่มเล็กกะทัดรัดที่ชื่อว่า พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย เขียนโดยเปรมจิตร วัชรางกูร ได้รับการเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 (หลังกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เพียงเดือนเดียว) โดยเปรมจิตรได้เขียนคำอุทิศไว้ว่า
ความดีของหนังสือเล่นนี้ ขออุทิศถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพของชาติไทย[26]
ในขณะเดียวกัน เปรมจิตร วัชรางกูร ก็เขียนคำสักการะไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวแยกต่างหากอีกส่วนหนึ่งว่า
ขอน้อมสักการะบูชาแด่คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อประชาชนชาวไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และขอน้อมสักการะบูชาแต่คณะเสรีไทย ผู้ได้ช่วยกู้ชาติไทยให้คงเป็นเอกราชตลอดมา[27]
ซึ่งหากพิจารณาจากข้อความที่เปรมจิตรเขียนไว้ในหนังสือเล่ม ดังกล่าว ไม่น่าแปลกใจที่จะมองเห็น ความจำเป็นของเปรมจิตรที่พยายาม “เหยียบเรือสองแคม” เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น คือ หลวงประดิษฐฯ นั่นเอง ทั้งนี้เปรมจิตรได้กล่าวถึงวิวาทะอีกครั้งอย่างสังเขปในลักษณะที่นำเสนอเฉพาะ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ แต่เพียงด้านเดียว นอกจากนี้ เปรมจิตรกล่าวแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ในคำแถลงสุดท้ายว่า “สำหรับโครงการเศรษฐกิจนั้นข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าเป็นคอมมูนิสต์หรือน่าเกลียดน่ากลัวแต่อย่างไร”[28] และยังได้ให้เหตุผลถึงการรื้อฟื้นการวิวาทะในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “มิได้ประสงค์จะฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่จำเป็นที่ไม่ควรขาดในเชิงประวัติศาสตร์”[29]
หากตามรอยหนังสือของเปรมจิตรไปเรื่อยๆ อีก 30 ปีต่อมา เราจึงได้ทราบจากเปรมจิตร วัชรางกูร หรือ “ปรีดา วัชรางกูร” (ชื่อหลังนี้เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งที่เขาใช้ในการเรียนหนังสือชื่อ พระปกเกล้าฯ กับระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2520) ถึงความจำเป็นของเขาในการนำประเด็นวิวาทะ เรื่องร้อนในอดีตกลับมาว่า เราได้เผยแพร่หนังสือ พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ในช่วงที่รัฐบาลพลเรือนของหลวงประดิษฐฯ กำลังสั่นคลอนอย่างมากจากกรณีสวรรคต ของรัชกาลที่ 8[30]
การวิวาทะของเอกสารทั้งสองถูกหยิบขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในระลอกที่สอง (พ.ศ. 2496 - 2515) หลังจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมมองหลวงประดิษฐฯ ด้วยความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ 2 ประการ คือ การเป็น “คอมมิวนิสต์” อันเป็นผลมาจากการเคยนำเสนอ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เมื่อ พ.ศ. 2476 และการเชื่อว่าหลวงประดิษฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ดังนั้น การผลิตซ้ำเอกสารต่างๆ ของกลุ่มอนุรักษนิยมจึงเป็นไปเพื่อตอกย้ำและสร้างภาพ “ปีศาจทางการเมือง” ให้กับหลวงประดิษฐฯ ในขณะที่กลุ่มนิยมปรีดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ต่าง และสร้างภาพลักษณ์ที่ถูกต้องให้กับหลวงประดิษฐฯ
จากนี้ไป เราจะเริ่มแกะรอยการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองชิ้นไปทีละเล่ม โดยจะพิจารณาผู้เขียน ผู้จัดพิมพ์ หรือผู้เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตซ้ำเอกสารทั้งสองขึ้นกับบริบททางการเมือง
การพยายามรื้อฟื้นเอกสารต้องห้ามสองชิ้นที่ถูกห้ามผลิตซ้ำเป็นเวลานานถึง 14 ปีให้กลับมาวิวาทะกันอย่างดุเดือด ด้วยการพิมพ์เอกสารทั้งสองขึ้นใหม่นั้น เราพบร่องรอยแรกจากหนังสือที่จัดพิมพ์โดย ศักดิ์ ศิลปานนท์ ชื่อว่า บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (2490) ซึ่งศักดิ์ อ้างว่าได้ขออนุญาตจากผู้จัดการมรดกของพระปกเกล้าฯ แล้ว และยังได้อ้างต่ออีกว่า
การจัดพิมพ์ขึ้นนี้มิได้หมายความว่าข้าพเจ้ามีอิทธิพลทางการเมืองหนุนหลังอยู่ แต่ข้าพเจ้าหวังประโยชน์ในการบรรทึกประวัติศาตร์ของชาติเท่านั้น และไม่ให้มีเจตนาร้ายใดๆ ต่อท่านรัฐบุรุษอาวุโส โดยเฉพาะท่านรัฐบุรุษอาวุโส เรานับถือท่าน ถ้าใครจะลงโทษเราว่า เปนผู้เปิดเผยความลับในพระบรมราชวิจารณ์นี้แล้ว (เน้นโดยผู้เขียน) ขอให้เทพยุดาฟ้าดิน เป็นพยานด้วยเถิด ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาร้ายใดๆ ต่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสเลย การจัดพิมพ์ในเล่มต่อไป ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสเมื่อใด ก็จะได้จัดการพิมพ์ตัวเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมออกเสนอท่านอีก เพราะเป็นหนังสือคู่กัน ท่านผู้อ่าน จะได้พิจารณาโดยรอบคอบทั้งสองฝ่าย[31]
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในความเห็นของศักดิ์แล้ว บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์ คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ นั้น เป็นความลับที่ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะจึงน่าสนใจว่า เหตุใดศักดิ์จึงนำมาผลิตซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่หลวงประดิษฐฯ พ้นจากอำนาจแล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาจากลำดับเวลาของเอกสารทั้งสอง คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ เป็น “ฝ่ายเสนอ” ก่อน แต่ปรากฏว่าศักดิ์กลับผลิตซ้ำ บันทึกพระบรมราชวินิจชัยฯ อันเป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเป็น “ฝ่ายค้าน” ขึ้นก่อนแล้วจึงผลิตซ้ำ “ฝ่ายเสนอ” หากเราเชื่อศักดิ์จากคำนำที่เขากล่าวอ้างถึงข้างต้นแล้วไซร้ ให้พลิกหนังสือดังกล่าวมาดูในปกหลัง ของพระบรมราชวินิจฉัยฯ ฉบับของศักดิ์นี้ จะพบข้อความที่กล่าวถึงหนังสือที่จะออกใหม่ว่า
ลัทธิคอมมิวนิสม์ ใครๆ เขาก็ลงโทษว่าเป็นลัทธิอุบาทการีโลก แต่ลัทธินี้ได้แซกซึมเข้าไปอยู่ในสมองของคนที่เจริญแล้วทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย โปรดคอยฟังกำหนดออก
หนังสือเล่มใหม่เล่มนี้อาจหมายถึงหนังสือของศักดิ์ที่ชื่อ สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (2491)[32] ทั้งนี้ ศักดิ์ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2491 ว่า
ข้าพเจ้าไม่มีแง่คิดไปในทางการเมืองและก็ไม่มีนักการเมืองคนใดสนับสนุนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัดพิมพ์ขึ้นเองโดยพละการและหากจะเป็นเสียหายต่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้โง่เขลา ยอมรับความผิดพลาดด้วยความเต็มใจ[33]
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศักดิ์จะมีเจตนาอย่างไรในการผลิตซ้ำเอกสารสองชิ้นดังกล่าวให้กลับมาวิวาทะกันใหม่อีกครั้ง โทษของศักดิ์ก็ไม่อาจจะมีได้ เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนสิ้นอำนาจไปแล้วด้วยการรัฐประหารเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ทั้งนี้การประเมินการผลิตซ้ำวิวาทะดังกล่าวของศักดิ์ในภายหลังโดยเดือน บุนนาค เดือนเห็นว่าศักดิ์เป็นฝ่าย “อนุรักษนิยม”[34] นอกจากนี้ ถ้าเหลือบมองภาพบนปกหนังสือเล่มดังกล่าวเราอาจจะเข้าใจศักดิ์ หรือจุดมุ่งหมายของการพิมพ์ครั้งนี้ได้มากขึ้น หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างภาพปกกับตัวบท (text) จะพบว่า ปกในการพิมพ์ครั้งนี้ปูพื้นด้วยสีเหลืองอ่อน เห็นภาพวิวชนบทลางๆ อยู่ในหมอกเมฆ ดูเคลิบเคลิ้มชวนฝัน มองจากมุมไกลจะเห็นมีชาวนากำลังไถนาอยู่ลิบๆ ตรงมุมด้านซ้ายของภาพมีต้นไม้ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งประกอบอยู่ ซึ่งอาจสื่อถึงต้นกัลปพฤกษ์ ภาพดังกล่าวอาจหมายถึงยุคพระศรีอาริย์?
คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ ปรากฏถ้อยคำที่อาจสื่อถึงความประสงค์จะสร้าง “ยุคพระศรีอาริย์” ให้เกิดขึ้น ดังนี้
สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่าง ประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอาริยะ ก็จะบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ก็เมื่อบัดนี้เราจะดำเนิรวิถีไปสู่อริย์สมัย แต่ก็ยังจะมีบุคคลที่ถอยหลังเข้าคลองซึ่งหนักๆ แล้วเข้าก็จะกลับไปสู่สมัยก่อน พุทธกาล คือเมื่อ 2475 ปี ที่ล่วงมาแล้ว[35]
บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ได้ประเมินความพยายามสร้างยุคพระศรีอาริย์ตาม คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐฯ ว่าเป็นการล่อลวงให้คนนิยมนับถือไปในทางศาสนาพระศรีอริย์คอยเก็บต้นกัลปพฤกษ์ก็มี ล่อลวงให้อยากได้สิ่ง ให้เห็นสิ่งที่ยังทำไม่ได้ จนในที่สุดแทนที่จะได้ไปสู่สวรรค์ของพระศรีอาริย์ มันจะเลยกลายตกไปสู่อเวจีของพระศรีอาริย์เสียเป็นก็ได้[36]
นอกจากนี้ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ยังกล่าวถึงยุคพระศรีอาริย์ เพิ่มเติมว่า
ตามคำที่มีผู้ทำนายไว้ว่า พระสาสนาศรีอาริย์จะมาถึงในโลกในปี พ.ศ. 5000 นั่นคงจะเป็นจริงได้กระมัง ถ้าจริงแล้วเวลานี้เป็น พ.ศ. 2475 ก็คงจะยังไม่ถึงเวลาตามคำทำนาย เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ถึงเวลาแล้วเราจะรีบด่วนไปทำไม คนเราจะเชื่อคำทำนายอันศักดิ์สิทธิ์นี้ หรือจะเชื่อบุคคลชาวรัสเซียซึ่งยอมปล่อยให้พวกพ้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง… อย่าชิงสุกก่อนห่ามไปเลย ถ้ามัวรีบจะเก็บต้นกัลปพฤกษ์เสียแต่เวลาที่ยังไม่สุกหรือยังไม่โตพอ เราจะหาดอกผลไม่ได้เลยอาจจะมีแต่หนาม แต่กิ่งที่เปราะที่จะหักพาเราลงไปตกเหวกันหมด ก็เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่ได้ทำนายไว้แล้วดั่งนี้ ก็เราลองทิ้งไม่คิดถึงมันเสียพักหนึ่งจะมิดีกว่าหรือไม่ ใช่บังคับให้คนเป็นทาสแบบอเวจีพระศรีอาริย์ คอยชิงสุกก่อนห่ามดังที่โครงการเศรษฐกิจกำหนด[37]
หลังการร่วมมือระหว่างคณะรัฐประหารและกลุ่มอนุรักษนิยมทำการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2490 ประกอบกับความล้มเหลวเมื่อปี พ.ศ. 2492 ของกลุ่มหลวงประดิษฐฯ ส่งผลให้หลวงประดิษฐฯ และกลุ่มผู้สนับสนุนต้องหลบหนี และเกิดการกวาดล้างอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา
ท่ามกลางความสับสนของข้อกล่าวหาที่มีต่อหลวงประดิษฐฯ ไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตนักการเมืองและผู้ใกล้ชิดหลวงประดิษฐฯ ได้ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการเพื่อฟื้นฟูความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ “อาจารย์” ให้กับสาธารณชน ด้วยการเผยแพร่หนังสือชื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์กับการปฏิวัติ (2493) ซึ่งเดือน บุนนาคได้รื้อฟื้นให้เห็นถึงภาพความยากลำบากเบื้องหลังการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า ไสวเขียนอยู่ที่มลายู และนำมาตีพิมพ์ที่นครศรีธรรมราช[38] และนับเป็นการตีพิมพ์ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ โดดๆ เป็นครั้งแรกโดยกลุ่มนิยมปรีดี นอกจากนี้ ไสวยังได้วิจารณ์ถึงการแจกจ่าย บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ภายหลังหลวงประดิษฐฯ ลี้ภัยไปยังต่างประเทศเมื่อครั้งนั้นว่า “นำออกแจกจ่ายโฆษณาถึง 3,000 เล่ม มากพอดูสำหรับการลอบตีข้างหลังและการกระทืบซ้ำ”[39]
ความพ่ายแพ้ในการพยายามทำรัฐประหารโดยทหารเรือที่สนับสนุนหลวงประดิษฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2494 หรือที่รู้จักกันในนาม “กบฏแมนฮัตตัน” ได้เปิดศักราชของการใช้คำว่า “คอมมิวนิสต์” คู่กับหลวงประดิษฐฯ[40] หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2497 ได้มีการพิมพ์เอกสารสองชิ้นนี้อีกครั้งหนึ่งในหนังสือชื่อ สามโลก เขียนโดย “อารยันตคุปต์” ซึ่งน่าสนใจตรงที่เป็นการตีพิมพ์เอกสารทั้งสองชิ้นไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรก โดยการจัดเรียงข้อความใน คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ให้วิวาทะประกบคู่กัน โดยเรียงเอกสารสองชิ้นสลับกันไปตามประเด็น เป็นการกดบังคับให้เอกสารที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันและเคยพิมพ์แยกขาดจากกันคนละเล่มตั้งแต่แรกเริ่ม ให้กลับมาอยู่ร่วมในหนังสือเล่มเดียวกัน
การผนวกรวมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการนำเสนอ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ในหนังสือรุ่นต่อๆ มา ทั้งการพิมพ์แบบนำเอกสารสองขึ้นมาปะปน สลับกันไปตามประเด็น เช่น งานของเดือน บุนนาค (2500, 2517) ไมตรี เด่นอุดม (2516) สิริ เปรมจิตต์ (2516) “นายสุจินดา” (2519) ปรีดา วัชรางกูร (2520) ฉบับสำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์ (2526) โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (2526) และชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (2544) และรูปแบบการพิมพ์ประกอบคู่เอกสารสองชิ้นไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น “วิเทศกรณีย์” (2511, 2518) โครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ (2542) และศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและสถาบันปรีดี พนมยงค์ (2542)
สำหรับภูมิหลังของ “อารยันตคุปต์” นั้น ทราบแต่เพียงว่า เป็นนามปากกาของนายอารยัน เมตตันตคุปต์ อดีตทหารเสนารักษ์ มีงานเกี่ยวกับการเมืองและศาสนาเกือบ 20 เล่ม และเล่มที่สร้างชื่อเสียงให้มากคือ เมื่อพระศรีอารย์มาเป็นเจ้าโลก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 และพิมพ์ต่อเนื่องถึง 6 ครั้งในรอบ 2 ปี เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวโจมตีระบอบคอมมิวนิสต์และลัทธิสังคมนิยม
ก่อนก้าวข้ามกึ่งพุทธกาล ในปี พ.ศ. 2499 มีผู้ดำเนินการนิรนามได้จัดพิมพ์เอกสารสองชิ้นนี้ ประกบคู่กัน ภายใต้ชื่อ หนังสือ เค้าโครงการเศรฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (สมุดปกเหลืองปกขาว) พร้อมทั้ง พระบรมราชวินิจฉัย (2499) พิมพ์ที่โรงพิมพ์กฤษณปกรณ์
ในปีกึ่งพุทธกาล หลังการรัฐประหารเดือน บุนนาค ได้ผลิตหนังสือที่ชื่อ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (2500) เดือนได้นำเอกสารสองชิ้นนี้เผยแพร่อีกครั้งหนึ่งในรูปแบบวางสลับกันไปตามประเด็นในเล่มเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีคำโปรยที่เพิ่มความน่าเชื่อถือที่กระดาษหุ้มปกว่า
เก็บจากบันทึกหลักฐานและความจำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา คือ 35 ปีมาแล้ว เป็นงานประวัติศาสตร์แห่งชีวะประวัติของบุคคล ผู้มีอุดมคติมุ่งต่อความสุขของทุกคน ไม่ได้กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ดั่งผู้มีอำนาจทั้งหลาย
เดือนเริ่มต้นบทแรกโดยการชี้ให้เห็นถึงความสนิทสนมกันเป็นเวลานานระหว่างตนเองกับหลวงประดิษฐฯ ด้วยบท “ข้าพเจ้ารู้จักท่านปรีดี” และเคลื่อนไปสู่บทอื่นๆ เพื่อนำไปสู่เอกสารทั้งสองชิ้น และทิ้งท้ายด้วยเรื่อง “ได้อะไรจากเค้าโครงการและพระบรมราชวินิจฉัย” หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2517 และถูกใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการมากมาย[41] ตลอดจนถูกหยิบยืมมาเป็นต้นฉบับหลักในการผลิตซ้ำเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในงานเขียนของกลุ่มนิยมปรีดี[42]
ที่มา : ณัฐพล ใจจริง, “วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ,” จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 6 มิถุนายน 2544-พฤษภาคม 2545, ฉ.6 (2544): 4 - 11.
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
[1] ขอเพิ่มเติมข้อมูลเท่าที่สำรวจได้ว่า เฉพาะ คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือของ K. Landon ชื่อ Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years since the Revolution of 1932. New York. Greenwood Press 1968 (Originally published in 1939 by the University of Chicago และ National Economic Policy of Luang Pradit Manudhum. Bangkok Ruankaew Printing House. 1999. และ Chris Baker and Pasuk Phongpaichit. Pridi By Pridi. Selected writing on Life Politics and Economy. Bangkok. The Pridi Banomyong Foundation and Silkworm Books. 2000. โดยฉบับท้ายสุดนี้ ได้แปลคำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ จากภาษาไทยเป็นอังกฤษ โดยยึดฉบับของศักดิ์ ศิลปานนท์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ 2491 เป็นต้นฉบับ ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์โดย Ruankeaw Printing House นั้นคัดลอกต้นฉบับมาจากงานของ Landon (1968) นอกจาอนี้ยังมีการตีพิมพ์ทั้งคำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ เป็นภาษาฝรั่งเศส Pierre Fistié : Sous-développement et utopie. Le programme de réformes présenté en 1933 par Pridi Phanomyong. Paris. Mouton & Co. et Maison des Sciences de l’Homme.1969.
[2] กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, พระนคร: โรงพิมพ์พานิชศุภผล, หน้า 19.
[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม 2475, กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2541, หน้า 346 - 349.
[4] กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, หน้า 23.
[5] บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, พระนคร : โรงพิมพ์ลหุโทษ, 2476, หน้า 41.
[6] ดูเพิ่มเติมตัวอย่างเอกสารภาษาอังกฤษขยาดยาวที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง Problem of Siam และ Democracy in Siam ใน Benjamin A. Batson, Siam's political future: documents from the end of the absolute monarchy, Data Paper: Number 96, Ithaca, Southeast Asia Studies, Cornell University, p. 9-50.
[7] พระปกเกล้า เสด็จฯ ไปยุโรปเพื่อศึกษาต่อเมื่อพระชนมายุ 13 ชันษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 - 2458.
[8] กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, หน้า 20.
[9] ประชาชาติ, 20 เมษายน 2476 อ้างใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา, 2543, หน้า 296.
[10] โรงพิมพ์นี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2439 เดิมชื่อ เคาเวอนแมนปรินติงโอฟิศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์กองมหันตโทษ มีหน้าที่พิมพ์เอกสารของทางราชการ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์ลหุโทษ หลังปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์มหาดไทย (นวลจันทร์ รัตนากร และคณะ “การพิมพ์หนังสือของคนไทย” ใน ปกิณกะเรื่องหนังสือสมัยรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท. 2525).
[11] ประชาชาติ 20 เมษายน 2476, อ้างใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, หน้า 296.
[12] โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ในการพิมพ์เอกสารให้กับรัฐบาลเพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508.
[13] วิชัย ประสังสิต ได้อ้างอิงไว้ใน แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า (พระนคร: โรงพิมพ์ผดุงชาติ, 2505, หน้า 284-285) ว่าเคยได้รับโคลงจากพระยามโนปกรณ์ฯ ให้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่เขาเคยทำงานอยู่เมื่อช่วงนั้น ดังมีความว่า
เห็นสีแดงโร่แล้ว ปรีดี
ลองคิดเมื่อวันมี จิตชื้น
ไรราเร่งทายที เถิดแม่ โหรเอย
ฝันนี่จักลึกตื้น ถูกต้อง ทำนองไฉน
ซึ่งวิชัย ได้ขยายความถึงบุคคลต่างๆ ที่ถูกพระยามโนปกรณ์โจมตีด้วยโคลงว่า “แดง” หมายถึงคอมมิวนิสต์ “ปรีดี” หมายถึง ชื่อเดิมของหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) “ลอง” หมายถึง ชื่อเดิมของพระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานน์) “วัน” หมายถึง ชื่อเดิมของพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) “ชื้น” หมายถึง ชื่อเดิมของพระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)
[14] ฮัต เจสสัน, ลัทธิเศรษฐกิจ, พระนคร : อัษรนิติ, 2477, หน้า 235-314.
[15] “พ.อักษรสวาสดิ์” “คำนำ” ใน คอมมิวนิสต์คืออะไร? หลักการไต่สวนหลวงประดิษฐฯ, พระนคร, โรงพิมพ์ศุภอักษร, ไม่มีเลขหน้า.
[16] ดู “พระราชบัญญัติสมุด เอกสารแลหนังสือ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475” ใน รัตนา เมฆนันทโพศิฐ, การเมืองกับกฎหมายการพิมพ์, (พ.ศ. 2453 - 2487), วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2531 ภาคผนวก ค, หน้า 235.
[17] พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ใน ราชกิจจานุเบกษา แผนกกฤษฎีกา เล่ม 50 (2 เมษายน 2476) หน้า 10 - 12 โดยมีเหตุผลว่า การก่อให้เกิดขึ้นหรือแม้แต่พยายามก่อให้เกิดขึ้นซึ่งคอมมิวนิสต์ จักเป็นเหตุนำซึ่งหายนะแก่ประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศจะมีโทษ
[18] พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิช. 2520. หน้า 48.
[19] หนังสือพิมพ์ หลักเมือง ถูกสั่งปิดในวันที่ 13 เมษายน 2476 ในข้อหาเป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินตาม มาตรา 6 ของ พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2470 และผิด พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476 (พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม. บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2. หน้า 163).
[20] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, หน้า 322. “วิเทศกรณีย์” เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย เล่มที่ 1, พระนคร : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าวิทยา, 2518, หน้า 241 - 244. Landon ชื่อ Landon. Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years since the Revolution of 1932, p.30, 260. Sivaram, The New Siam In The Making: A Survey Of The Political Transition In Siam 1932, Bangkok: Stationers Printing Press, 1936, p.61-62.
[21] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), กรุงเทพฯ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517, หน้า 66.
[22] ประชาชาติ 21 เมษายน 2476 อ้างอิงใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, หน้า 296.
[23] “วิเทศกรณีย์” เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย เล่มที่ 1, พระนคร: สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าวิทยา, 2518, หน้า 245.
[24] ศรีกรุง 27 มิถุนายน 2476. อ้างใน พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 83.
[25] เปรมจิตร วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับชาติไทย, พระนคร : การพิมพ์กรุงเทพฯ, 2489, หน้า 54.
[26] เปรมจิตร วัชรางกูร, “คำอุทิศ” ใน พระปกเกล้ากับชาติไทย, ไม่มีเลขหน้า.
[27] เปรมจิตร วัชรางกูร, “คำสักการะ” ใน พระปกเกล้ากับชาติไทย, ไม่มีเลขหน้า.
[28] เปรมจิตร วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับชาติไทย, หน้า 208.
[29] เปรมจิตร วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับชาติไทย, หน้า 207.
[30] “ปรีดา วัชรางกูร”, “คำนำ” ใน พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: หจก. การพิมพ์พระนคร, 2530, ไม่มีเลขหน้า.
[31] ศักดิ์ ศิลปานนท์, “คำนำ” ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม, พระนคร: สำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์ 2490, ไม่มีเลขหน้า.
[32] ฉบับนี้เป็นฉบับเดียวกับที่อยู่ใน หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งบริจาคโดย อรุณ เวชสุวรรณ และวิจิตร ลุลิตานน์ ตลอดจนปรากฏโฉมอยู่ในหนังสือรำลึกถึงหลวงประดิษฐฯ หลายต่อหลายครั้ง
[33] ศักดิ์ ศิลปานนท์, “คำสารภาพ” ใน สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม, พระนคร: สำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์, 2491, หน้า ข-ค.
[34] เดือน บุญนาค, “คำนำ” ใน ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, พระนคร : สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2500, หน้า (26) - (17).
[35] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร กับ เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความประกอบเศรษฐกิจ, พระนคร, โรงพิมพ์ลหุโทษ, 2476, หน้า 51.
[36] บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม, พระนคร, โรงพิมพ์ลหุโทษ, 2576, หน้า 15-16.
[37] บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม, หน้า 41-42.
[38] เดือน บุนนาค, “ความนำ” ใน ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจคนแรก, หน้า (16).
[39] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, นครศรีธรรมราช: สำนักพิมพ์สิริธรรมนคร, 2493, หน้า 285.
[40] มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475 - 2526, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543, หน้า 121.
[41] …ในหนังสือชื่อ ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (2529) ของ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. ความคิดสหกรณ์ของปรีดี พนมยงค์ (2530) ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2475 การปฏิวัติสยาม (2543) ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (2540) ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (2543) ของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฐมทรรศน์ทางการเมือง ของปรีดี พนมยงค์ (2544) ของทิพวรรณ เจียมธีรสกุล เป็นต้น
[42] ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (2526) ของโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย และเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับ ปรีดี พนมยงค์ (2542) ของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและสถาบันปรีดี พนมยงค์ เค้าโครงเศรษฐกิจ (2542) ของคณะกรรมการดำเนินการ ฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง
- สมุดปกขาว
- ณัฐพล ใจจริง
- คณะราษฎร
- หลัก 6 ประการ
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- รัฐบุรุษอาวุโส
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พ.อักษรสวาสดิ์
- พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์
- คอมมิวนิสต์
- พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ สมุหพระนคร
- เปรมจิตร วัชรางกูร
- ปรีดา วัชรางกูร
- กรคณีสวรรคตรัชกาลที่ 8
- ศักดิ์ ศิลปานนท์
- เดือน บุนนาค
- ยุคพระศรีอาริย์
- กบฏวังหลวง
- กบฏแมนฮัตตัน
- อารยันตคุปต์
- ไมตรี เด่นอุดม
- สิริ เปรมจิตต์
- นายสุจินดา
- ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
- อารยัน เมตตันตคุปต์