ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การแสวงหาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ*

1
สิงหาคม
2566

Focus

  • การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในปลายปี พ.ศ. 2477 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 สะท้อนถึงปัญหาการปรับตัวของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ของการปกครองในแบบที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
  • ในระหว่างที่รัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์ยังไม่สามารถทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ได้เอง บทบาทพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขจึงตกแก่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งแตกต่างกันตามยุคสมัยของผู้นำรัฐบาล
  • บทบาทสถาบันกษัตริย์ในนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร สมัยพระยาพหลทรงพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างปรองดองระหว่างคณะราษฎรกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในสมัยเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำรัฐบาลๆ พยายามจำกัดบทบาทสถาบันกษัตริย์มิให้มีบทบาทในทางการเมืองที่จะขัดกับรัฐบาล บทบาทของสถาบันกษัตริย์ผ่านระเบียบการต่างๆที่พัฒนาขึ้น จึงเป็นไปตามที่รัฐบาลเป็นใหญ่ในการกำหนด

 

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร ณ วันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485
พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร ณ วันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์สยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ คณะราษฎรจะประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่าด้วยการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ รวมถึงร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เพื่อกำหนดกติกาทางการเมืองและจัดวางอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมืองต่างๆ ในระบอบใหม่ แต่จากความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎรนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2475 ที่จบลงด้วยการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในปลายปี พ.ศ. 2477[1] ย่อมสะท้อนถึงปัญหาของการปรับตัวของพระมหากษัตริย์ เมื่อเข้าสู่ระบอบใหม่ และความไม่ราบรื่นในการกำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการแสวงหาบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติพระราชกิจในพระนามาภิไธยของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 จึงมีส่วนสำคัญในการแสวงหาบทบาทที่เหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ไปโดยปริยาย

 

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดแรกในรัชกาลที่ 8 : จุดเริ่มต้นของการกำหนดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ของคณะราษฎร

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาและสภาผู้แทนราษฎรจึงอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ทางรัฐบาลจึงเห็นควรตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งในการสรรหาบุคคลที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) เพื่อหารือเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรมพระยานริศฯ ทรงปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าพระองค์ทรงพระชรามากแล้ว[2]

ดังนั้น รัฐบาลจึงประชุมกันและมีมติให้ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3 ท่าน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ทรงเป็นประธาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยในการลงมติภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ และในการลงนามในเอกสารนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่านเป็นผู้ลงนาม[3]

 

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ชุดแรก ประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ซ้าย) กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ (กลาง) และเจ้าพระยายมราช (ขวา)
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ชุดแรก ประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ซ้าย) กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ (กลาง) และเจ้าพระยายมราช (ขวา)

 

คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดแรกในรัชกาลที่ 8 ที่มี กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธานฯ ถือว่าเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่มีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับรัฐบาลคณะราษฎร หากเทียบกับผู้สำเร็จราชการฯ ในสมัยรัชกาลที่ 7[4] ดังสะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการร่วมมือกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในการกำหนดบทบาทของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ความร่วมมืออย่างดีกับรัฐบาลในการให้ความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายหรือหารือข้อราชการ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ราบรื่นข้างต้นเป็นผลจากคณะราษฎรเริ่มมีอำนาจที่มั่นคงมากขึ้น ภายหลังปราบปรามกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 และการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7

ดังนั้น คณะราษฎรจึงสามารถกำหนดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักการที่ว่าในระบอบรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจในทางการเมือง มีแต่เพียงอำนาจในการพิธีกรรมและลงนาม นอกจากนี้การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหาร ตัวอย่างเช่น ในการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงวังต้องส่งคำแถลงการณ์มายังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีก่อนแล้วจึงให้กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งต่อไปยังสำนักงานโฆษณาการ[5]

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในการปรับปรุงกระทรวงวัง[6] และการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลระบอบใหม่[7] ประกอบกับเกิดปัญหาการบริหารจัดการพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเหตุให้เจ้านายบางพระองค์ติเตียนคณะผู้สำเร็จราชการฯ ว่าไม่รักษาพระเกียรติยศของพระราชวงศ์จักรี ซึ่งปัญหานี้ได้สร้างความกดดันให้กับคณะผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนเป็นเหตุให้พระองค์ตัดสินใจปลงพระชนม์ตนเองในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478[8]

สำหรับบทบาทของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดแรกนั้นได้มีส่วนช่วยประคับประคองระบอบใหม่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ดังสะท้อนได้จากคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้แสดงความไว้วางใจแก่รัฐบาลพระยาพหลฯ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากที่รัฐบาลเสนอให้สภาฯ พิจารณาให้ความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7[9] คณะผู้สำเร็จราชการฯ ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดแบบแผนประเพณีของระบอบรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎรคือ การปฏิญาณตนของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อสภาผู้แทนราษฎร และการวางระเบียบการที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเสด็จไปในที่ต่างๆ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการริเริ่มของคณะผู้สำเร็จราชการฯ เอง โดยมีฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในระเบียบแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ อันสะท้อนบทบาทและพระราชอำนาจที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี

 

การปฏิญาณตนของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อสภาผู้แทนราษฎร

คณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้มีส่วนในการกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ กับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในหนังสือจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2477 ความตอนหนึ่งว่า

 

“...อันหน้าที่ที่ข้าพเจ้าได้รับมติเลือกตั้งจากสภาผู้แทนนี้ รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศอันสูงและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจะได้ตั้งใจเพียรพยายาม ทั้งจะปฏิบัติราชการในหน้าที่นี้ จนสุดกำลังและสติปัญญาที่จะสามารถจะพึงกระทำได้ ให้ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญจงทุกประการ เพื่อยังความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญสืบไป”[10]

 

จากท่าทีข้างต้นของคณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากต้องการทำความรู้จักกับคณะผู้สำเร็จราชการฯ มากขึ้น อันสอดคล้องกับความประสงค์ของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ดังนั้นคณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงเสนอเรื่องมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องที่จะไปแนะนำตัวกับสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการปฏิญาณตนในการปฏิบัติหน้าที่ว่าควรดำเนินการอย่างไร และควรใช้สถานที่ใดในการปฏิญาณตนระหว่างรัฐสภา (พระที่นั่งอนันตสมาคม) กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ค้นแบบอย่างของต่างประเทศมาพิจารณา[11]

หลังการสืบค้นแบบอย่างการปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการในข่าวต่างประเทศ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรเห็นว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระเจ้าปีเตอร์ที่ 2 แห่งยูโกสลาเวีย[12] ที่ได้สาบานตนต่อสภาซีเนตและสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคณะผู้สำเร็จราชการฯ ของประเทศสยาม โดยให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ เป็นผู้กล่าวนำ แล้วลงนามในคำสาบานเป็นสำคัญ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรยังมีความเห็นว่า ในการดำเนินการปฏิญาณตนของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ควรจะทำเสียแต่วันแรก คือวันประชุมถัดจากวันที่สภาลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ แล้วทางฝ่ายสมาชิกสภาจะไม่ต้องทำพิธีปฏิญาณตนก็ได้ โดยถือเสียว่าสภาเป็นผู้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ก่อนที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ จะบริหารงานตามหน้าที่ ก็ให้มาปฏิญาณตนต่อหน้าสภาเสียก่อน แต่เมื่อประเทศสยามไม่ได้ดำเนินการในลักษณะนั้น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรจึงเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ปฏิญาณว่าจะมีความซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและต่อรัฐธรรมนูญด้วย[13] โดยปฏิญาณว่า

 

“จะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามทุกประการ”[14]

 

ในประเด็นสถานที่ปฏิญาณตนของคณะผู้สำเร็จราชการฯ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรเห็นว่า ควรปฏิญาณตนที่สภาผู้แทนราษฎร (พระที่นั่งอนันตสมาคม) อันจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำความรู้จักกับคณะผู้สำเร็จราชการฯ และเป็นการเชื่อมสันถวไมตรีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรยังตั้งข้อสังเกตแบบแผนประเพณีของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ของประเทศยูโกสลาเวียที่นายกรัฐมนตรียูโกสลาเวียได้ไปหาคณะผู้สำเร็จราชการฯ และเสนอขอลาออก แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไป ว่ามีลักษณะตรงกับการที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ของประเทศสยามให้การรับรองรัฐบาลของพระยาพหลฯ เพื่อรับผิดชอบต่อการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7[15]

จากการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) ได้มีมติเห็นชอบตามความเห็นของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร[16] และคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งจากการดำเนินการในครั้งนี้ได้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่ทุกครั้ง อันสะท้อนบทบาทของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบประชาธิปไตย ที่มีเงื่อนไขผูกพันกับสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีคำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามร่วมกัน

 

การวางระเบียบการที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเสด็จและไปในที่ต่างๆ

คณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการกำหนดระเบียบแบบแผนต่างๆ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ดังสะท้อนได้จาก “การวางระเบียบการที่ผู้สำเร็จราชแทนพระองค์จะเสด็จและไปในที่ต่างๆ” โดยเรื่องนี้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ยื่นเรื่องผ่านทางกระทรวงวังมาหารือกับรัฐบาลว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ทั้งคณะหรือรายบุคคล) หากได้รับเชิญเสด็จและไปในสถานที่ใดๆ ควรเสด็จและไปในสถานะเช่นไร และควรดำเนินการอย่างไร จากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2478 ได้ตกลงว่า เรื่องดังกล่าวควรอยู่ในดุลพินิจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยความเห็นชอบของรัฐบาล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเป็นผู้แทนใกล้ชิดอยู่แล้ว และควรวางหลักเกณฑ์ไว้ประกอบการวินิจฉัย ได้แก่

(1) งานใดถ้าหากโดยปกติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำต้องเสด็จฯ ออกเป็นประธานประกอบงานนั้นด้วยพระองค์เอง อาทิ การออกรับทูต, แขกเมือง, สวนสนาม หรืองานที่รัฐบาลจัดขึ้นเป็นเกียรติยศแก่ชาติบ้านเมือง เช่น งานพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ควรออกทั้งคณะ

(2) งานใดโดยปกติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่จำเป็นต้องเสด็จฯ โดยพระองค์เอง อาทิ งานกิจการของกระทรวงต่างๆ, งานกรีฑานักเรียน, งานพระราชทานปริญญา อาจโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์แทนได้ โดยหน้าที่ย่อมตกเป็นภาระของประธานคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จในงานนั้นในฐานะผู้แทนพระองค์ เว้นแต่จะมีมติคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้องค์ใดองค์หนึ่งไปเป็นประธานประกอบงาน

(3) งานใดโดยปกติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับเชิญก็ได้ อาทิ งานของสโมสร สมาคม หรือเอกชน, งานพระราชทานรางวัลต่างๆ หากเป็นการสมควรจะรับเชิญ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะมีบัญชาให้พระราชวงศ์องค์ใดเสด็จแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้[17]

อย่างไรก็ตามเมื่อกระทรวงวังนำเสนอมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในประเด็นดังกล่าวต่อคณะผู้สำเร็จราชการฯ ทางคณะผู้สำเร็จราชการฯ กลับยังข้องใจอยู่ว่าการไปในที่และงานต่างๆ ในทางส่วนตัวในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่นั้น จะสมควรเพียงไรให้หารือมายังรัฐบาล ดังนั้นกระทรวงวังจึงนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2478 ซึ่งที่ประชุมตกลงว่า ถ้าทูตเชิญเป็นทางราชการหรือกึ่งราชการ ควรหารือรัฐบาล ถ้าทูตเชิญเป็นการส่วนตัว ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะรับเชิญหรือไม่รับเชิญก็แล้วแต่จะเห็นสมควร ไม่ต้องหารือรัฐบาล แต่ถ้ารับเชิญทูตคนหนึ่งแล้ว ควรรับเชิญทูตและอุปทูตคนอื่นๆ ด้วย และควรจะสอบถามเสียก่อนว่าจะเชิญผู้ใดบ้างเพราะควรมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับเชิญไปนายหนึ่งด้วย[18]

นอกจากนี้ภายหลังจากที่หน่วยงานต่างๆ เชิญคณะผู้สำเร็จราชการฯ ไปในงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลจึงมีหนังสือแจ้งแก่หน่วยงานราชการต่างๆ ว่า “ขอให้เจ้าของงานเชิญคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้เพื่อว่างานใดที่จักต้องพระราชทานพระบรมราโชวาท หรือพระราชดำรัสประการใด ก็จักได้มีโอกาสพอที่จะดำเนินการได้ทันกำหนดนั้น”[19]

กล่าวโดยสรุปแบบแผนในการเชิญผู้สำเร็จราชการฯ ไปในงานต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้สำเร็จราชการฯ ตามประเภทของงาน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ให้ความเห็นชอบทั้งในการไปในงานต่างๆ รวมถึงการพระราชทานพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสในงานต่างๆ ด้วย อันสะท้อนถึงการกำหนดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎรยุคแรกที่รัฐบาลมีอำนาจในการจัดการกิจการของราชสำนัก แต่ผ่านการปรึกษาหารือ และความเห็นชอบร่วมกันกับ (คณะ) ผู้สำเร็จราชการฯ

 

แบบแผนประเพณีของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วง พ.ศ. 2478-2481

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯในรัชกาลที่ 8 คณะรัฐมนตรีจึงเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการในตำแหน่งที่ว่างอยู่ พร้อมกับตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ[20] โดยคณะผู้สำเร็จราชการฯ ในช่วงนี้นับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลคณะราษฎรเป็นอย่างมาก และมีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเกิดแบบแผนที่ชัดเจนมากขึ้น[21] ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองภายในรัฐบาลช่วงปี พ.ศ. 2478 และการลาออกของคณะผู้สำเร็จราชการฯ จากปัญหาการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่

 

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี พ.ศ. 2478 ประกอบด้วย เจ้าพระยายมราช (ซ้าย) พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (กลาง) และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (ขวา)
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี พ.ศ. 2478 ประกอบด้วย เจ้าพระยายมราช (ซ้าย) พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (กลาง) และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (ขวา)

 

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในปีพ.ศ. 2478

คณะผู้สำเร็จราชการฯ มีบทบาทในการบรรเทาวิกฤตการเมืองภายในรัฐบาลปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความตึงเครียดภายในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อพระยาพหลฯ ลาหยุดราชการเพื่อพักผ่อนที่จังหวัดราชบุรีเป็นระยะเวลาถึง 5 เดือน นับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2478 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2478 (ปฏิทินปัจจุบัน 2479) และขอให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ปลดเขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[22] ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2478 เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมตกลงว่า ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวโดยตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ การปลดออกจากตำแหน่งไม่มี ฉะนั้นทางคณะรัฐมนตรีจึงส่งตัวแทนไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีที่ราชบุรี[23] ซึ่งหลังจากสามารถเกลี้ยกล่อมให้พระยาพหลฯ กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้สำเร็จ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพบคณะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อรายงานผลการเจรจากับนายกรัฐมนตรีให้ทราบ เพื่อทางคณะผู้สำเร็จราชการฯ จะได้ดำเนินการต่อไปตามทางที่ควร[24]

ทั้งนี้จากการไปพบคณะผู้สำเร็จราชการฯ ทางผู้แทนคณะรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า เรื่องที่พระยาพหลฯ ขอให้ผู้สำเร็จราชการฯ ปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้ปรึกษากับคณะรัฐมนตรี ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งจากที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดนี้ดำรงตนอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด คณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงแก้วิกฤตการเมืองครั้งนี้ด้วยการอนุญาตให้พระยาพหลฯ ลาพักผ่อนต่อไปอีกตามกำหนดที่นายแพทย์แนะนำและให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเดิม[25] อันช่วยให้บรรเทาวิกฤตทางการเมืองภายในรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง

 

การลาออกของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากปัญหาการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่

แบบแผนของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังสะท้อนได้จาก กรณีที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ลาออกทั้งชุดเนื่องจากปัญหาการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่[26] ดังนั้นในการประชุมสภาฯ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ทางสภาจึงเตรียมเลือกประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นประธานสภาฯ ได้รับหนังสือจากคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดเดิมแจ้งขอถอนความจำนงจะลาออก โดยให้เหตุผลว่าประเทศไม่มีผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์และไม่มีรัฐบาลอันแน่นอนที่จะบริหารราชการต่อไป[27] ดังนั้นที่ประชุมสภาฯ จึงพิจารณาปัญหาว่าจะรับรู้ในเรื่องที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดเก่าขอถอนใบลาหรือไม่ ซึ่งในที่สุดสภาฯ ลงมติให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดเดิมลาออกได้ และสภาฯ จึงได้เริ่มทำการเลือกตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดใหม่ สำหรับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ตอนแรกสภาได้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ ทางสภาจึงเลือกกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์แต่พระองค์ก็ปฏิเสธอีก ดังนั้นสภาจึงเลือกพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ตามเดิม ซึ่งพระองค์ทรงตอบรับ ขณะที่ผู้สำเร็จราชการอีกสองท่านนั้นทางสภาได้เลือกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินและเจ้าพระยายมราช ดังนั้นจึงได้มีการประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 สิงหาคม 2480 และมีการทำพิธีปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ ณ ที่ประชุมสภาในวันถัดไป[28]

จากเหตุการณ์ทั้งสองข้างต้นย่อมสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่มีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นประธาน กับสถาบันการเมืองอื่นๆ ทั้งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดนี้นับว่ามีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ จะมีส่วนเกื้อหนุนรัฐบาลรวมถึงสามารถช่วยแก้ไขวิกฤตภายในรัฐบาลภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันคณะผู้สำเร็จราชการก็มีความผูกพันกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นผู้เลือกตั้งและให้การรับรองคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

การแสวงหาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487) นับเป็นช่วงเวลาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ภายใต้บริบทแวดล้อมที่แตกต่างไปจากช่วงปลายทศวรรษ 2470 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการบริหารงานของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามที่มีแนวโน้มเผด็จการอำนาจนิยม เน้นความสำคัญของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำของชาติ ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลมุ่งจำกัดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ประกอบกับจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่ใกล้ชิดระหว่างประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ กับนายกรัฐมนตรี จึงทำให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ในช่วงนี้ดูเหมือนอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจอมพล ป. จนเสมือนเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลและไม่ใช่ตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอิสระ แม้ว่าจะปรากฏความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างผู้สำเร็จราชการบางท่านกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองกับฝ่ายอักษะ แต่โดยภาพรวมคณะผู้สำเร็จราชการฯ ในช่วงนี้มีส่วนสำคัญในการค้ำจุนและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล อันสะท้อนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เป็นอย่างดี[29]

 

คณะสำเร็จราชการแทนพระองค์กลับจากพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2481
คณะสำเร็จราชการแทนพระองค์กลับจากพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2481

 

เมื่อพิจารณาการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม มีลักษณะแตกต่างจากรัฐบาลพระยาพหลฯ กล่าวคือ เดิมนั้นรัฐบาลและสภาจะรีบแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ แทนผู้สำเร็จราชการฯ ที่สิ้นพระชนม์หรือถึงแก่อสัญกรรมทันทีเพื่อให้ผู้สำเร็จราชการฯ ครบ 3 ท่าน แต่เมื่อเจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2481 ทางรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามกลับปล่อยให้คณะผู้สำเร็จราชฯ มีเพียง 2 ท่าน โดยไม่มีการแต่งตั้งเพิ่มตามคำเรียกร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่าน เนื่องจากรัฐบาลมีความเห็นว่าการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ 3 ท่าน เป็นเพียงนโยบายและไม่ใช่ข้อกฎหมายและในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เพิ่ม[30] ดังนั้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการจึงว่างลงหนึ่งตำแหน่งเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี จนกระทั่งเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลและสภาฯ จึงได้แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ 16 ธันวาคม 2484 เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดมา คณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงเหลือเพียง 2 ท่านคือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และนายปรีดีเท่านั้น และเมื่อจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2487 หลังจากนั้นไม่นานพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ เช่นกัน สภาฯ จึงแต่งตั้งให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการฯ แต่เพียงผู้เดียว[31]

 

การกำหนดพิธีการและการขอเฝ้าพระมหากษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากข้อมูลหลักฐานชั้นต้นบ่งชี้ว่า รัฐบาลพิบูลสงครามมีความพยายามที่จะกำหนดบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ (องค์พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) โดยไม่ให้มีบทบาททางการเมืองใดๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ มีบทบาทเฉพาะการประกอบพระราชพิธีต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาและจารีตประเพณีของชาติเท่านั้น ดังปรากฏจากการที่รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจค้นประเพณีของต่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2482 ความว่า

 

ด้วยตามที่ได้มีการปกครองตามแบบประชาธิปัตตัยโดยมีพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลา 7 ปี เศษแล้วนี้ ทางการยังมิได้วางระเบียบและกำหนดหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไว้เกี่ยวกับระเบียบการปฏิบัติอันเป็นพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ เช่นในพิธีการต่างๆ พิธีการใดสมควรให้พระมหากษัตริย์เสด็จไปเป็นประธาน พิธีการชะนิดใดควรเป็นผู้มีเกียรติอื่น เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ปรากฏว่าไม่ว่าพิธีการใด-และชะนิดใดมักจะเชิญคณะผู้สำเร็จราชการ หรือประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเป็นประธานเสมอ ซึ่งเป็นการรบกวน และบางพิธีการก็ไม่จำเป็นและทั้งยังไม่เหมาะสมที่จะให้คณะผู้สำเร็จฯ ไปเป็นประธาน เพราะการที่คณะผู้สำเร็จจะไปในพิธีการใดๆ นั้น ย่อมหมายถึงไปแทนองค์พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นจึงมีบัญชานายกรัฐมนตรีให้ท่านตรวจค้นประเพณีของต่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ว่า

1. พิธีการชนิดใด จึงสมควรทูลเชิญให้พระมหากษัตริย์เป็นประธาน

2. พิธีการชนิดใด ควรเชิญผู้มีเกียรติชั้นใดเป็นประธาน ทั้ง 2 ข้อนี้ให้วางระเบียบมาให้แน่ชัด

3. การที่บุคคลภายนอก รวมทั้งชาวต่างประเทศถ้าจะขอเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ควรจะมีระเบียบการอย่างไร

ทั้งนี้ขอได้โปรดตรวจค้นประเพณีของต่างประเทศที่ปฏิบัติอยู่ แล้วบันทึกเสนอเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี[32] (สะกดตามต้นฉบับ)

 

หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแบบแผนประเพณีจากต่างประเทศในระยะเวลา 8 เดือน[33] คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเสนอหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการวางระเบียบเกี่ยวกับการทูลเชิญหรือการเข้าเฝ้า มายังคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปความได้ดังนี้

 

(1) พิธีการอันสมควรทูลเชิญให้พระมหากษัตริย์เป็นประธาน ควรเป็นพิธีที่เกี่ยวกับความสำคัญของชาติ หรือรัฐพิธี และพิธีการอันเป็นราชประเพณีเคยเสด็จเป็นประธาน

(2) พิธีการอันควรเชิญผู้มีเกียรติต่างๆ เป็นประธาน ควรเป็นพิธีที่เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมของทางราชการ, พิธีการที่พระมหากษัตริย์ควรเสด็จเป็นประธานแต่ไม่เสด็จไป, พิธีการเกี่ยวกับกิจการของกระทรวงต่างๆ, และพิธีการเกี่ยวกับกิจการส่วนย่อยอันเป็นแขนงของกิจการใหญ่

(3) ระเบียบการขอเฝ้าพระมหากษัตริย์ แบ่งเป็นสำหรับคนไทยและคนต่างประเทศ ถ้าเป็นการเข้าเฝ้าทางราชการหรือกึ่งราชการ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล โดยถ้าเป็นคนไทยควรให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนชั้นหนึ่ง ส่วนชาวต่างประเทศควรให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาทำความเห็นมาก่อน[34]

 

จากหลักการข้างต้นหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาหลักการข้างต้นเสนอความเห็นมายังนายกรัฐมนตรี[35] ซึ่งจากการพิจารณาอย่างยาวนานถึง 1 ปี 2 เดือน ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอหนังสือบันทึกความเห็นลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2485 มายังนายกรัฐมนตรีสรุปความว่า

1. พิธีการอันสมควรทูลเชิญให้พระมหากษัตริย์เป็นประธาน ในส่วนของรัฐพิธี พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทรงตั้งข้อสังเกตว่า หลักการที่เกี่ยวกับรัฐพิธีที่วางไว้ถูกต้องแล้ว คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาให้ชัดเจนว่า พิธีใดจะควรเสด็จไปเป็นประธานเอง หรือควรให้นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธาน ส่วนพิธีการเป็นราชประเพณีเคยเสด็จเป็นประธาน ซึ่งเป็นพิธีที่ทางสำนักพระราชวังเรียกว่า พระราชพิธี สามารถสอบถามได้จากสำนักพระราชวังซึ่งได้ทำบัญชีไว้แล้ว นอกจากนี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมีพิธีแจกปริญญา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ว่าถ้าจะเทียบกับแบบอย่างในต่างประเทศนั้น ไม่ใช่พิธีที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นประธาน แต่ที่เคยปฏิบัติกันมาในประเทศไทยนี้ ถือว่ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุดมศึกษาเป็นพิเศษ ดังนั้นจะคงพิธีดังกล่าวไว้หรือดำเนินการประการใดเป็นข้อนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีวินิจฉัย

2. พิธีการอันควรเชิญผู้มีเกียรติต่างๆ เป็นประธาน พระองค์ทรงไม่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เนื่องจากมีการวางหลักการที่ชัดเจนแล้ว

3. ระเบียบการขอเฝ้าพระมหากษัตริย์สำหรับคนไทย พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่าควรมีเพียง 3 กรณี ได้แก่ (1) คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าขณะได้รับแต่งตั้งและออกจากตำแหน่ง (2) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลแถลงข้อราชการ และ (3) เอกอัครราชทูตและอัครราชทูตเข้าเฝ้าในการไปรับตำแหน่งหน้าที่ ส่วนระเบียบการขอเฝ้าสำหรับคนต่างประเทศนั้น พระองค์ให้คงหลักการของบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มีการแก้ไขข้อความเพียงเล็กน้อย[36]

หลังจากนายกรัฐมนตรีพิจารณาความเห็นของที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. มีบัญชาให้ทางสำนักพระราชวังพิจารณาดำเนินการตามสมควร ซึ่งในการพิจารณาชั้นนี้เห็นพ้องกับความเห็นของที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากการพิจารณาชั้นนี้คือ มีการวางระเบียบทูลเฝ้าประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนต่างประเทศ อันได้แก่ (1) การจะเฝ้าประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นทางราชการ เช่น ขอเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์น หรือเพื่อทูลข้อความทางราชการตามคำสั่งที่ได้รับมา ควรติดต่อขอมายังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (2) การขอเฝ้าส่วนเอกชน (private) เช่น ขอเฝ้าเพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น ควรติดต่อขอมายังอธิบดีกรมพิธีการ กระทรวงการต่างประเทศ และ (3) การขอเฝ้าส่วนเฉพาะ (personal) โดยไม่ไปพูดข้อราชการเลยนั้น ควรติดต่อขอผ่านมายังอธิบดีกรมพิธีการ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดต่อไปยังราชเลขานุการในพระองค์[37] นอกจากนี้เลขาธิการพระราชวังได้เสนอข้อสังเกตว่า ในประเด็นการแจกประกาศนียบัตรโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ ทางกระทรวงกลาโหมแจ้งว่าไม่มีงานพิธีใดที่จะต้องเชิญเสด็จพระมหากษัตริย์เป็นประจำ ส่วนพิธีแจกปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเดิมพระมหากษัตริย์เป็นประธานนั้น สมควรแก้ไขเป็นให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการแทน[38]

หลังจากจอมพล ป. พิจารณาบันทึกของสำนักพระราชวัง จึงมอบเรื่องให้ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเชิญเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักพระราชวัง และผู้แทนสภาวัฒนธรรมแห่งชาติร่วมพิจารณายกร่างขึ้นใหม่ในวันที่ 5 มกราคม 2486 ซึ่งจากการประชุมได้ตกลงตามหลักการเดิม แต่เห็นควรแยกระเบียบเป็น 2 เรื่อง คือ (1) ระเบียบพิธีการและการขอเฝ้า ซึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ควรเป็นระเบียบการทางสำนักพระราชวังและราชเลขานุการในพระองค์ และ (2) พิธีการทางราชการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ควรทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจากการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มกราคม 2486 ได้มีมติเห็นชอบด้วยและให้สำนักพระราชวังดำเนินการประกาศระเบียบพิธีการและการเข้าเฝ้า ส่วนพิธีทางราชการนั้นให้แจ้งให้กระทรวงต่างๆ ทราบเพื่อถือปฏิบัติต่อไป[39]

จากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นทางสำนักพระราชวังจึงได้ออกประกาศเรื่อง ระเบียบพิธีการและการขอเฝ้า ซึ่งในระเบียบนี้ได้ระบุพิธีการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานไว้อย่างชัดเจนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 พิธีได้แก่

  1. พระราชพิธี ได้แก่ 1) พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ 2) พระราชพิธีรัชมงคล 3) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา 4) พระราชพิธีวันที่ระลึกมหาจักรี 5) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา 6) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา 7) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง 8) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเข้าพรรษา 9) พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 10) พระราชพิธีพระราชทานผ้าพระกฐิน 11) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันที่ระลึกรัชกาลที่ 5
  2. รัฐพิธี ได้แก่ 1) รัฐพิธีพืชมงคล 2) รัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร 3) รัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[40]

ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชพิธีนั้น ตามประกาศระบุว่าแล้วแต่จะทรงพระกรุณา ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐพิธีที่พระมหากษัตริย์เป็นประธานทำได้โดยมติคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงอนุญาต นอกจากนี้ในระเบียบนี้ยังระบุว่า หากรัฐพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่เสด็จหรือคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ไป ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน[41]

สำหรับการเข้าเฝ้าของคนไทย ตามประกาศกระทำได้โดยติดต่อกับราชเลขานุการในพระองค์ เมื่อราชเลขานุการในพระองค์รับคำขอพบ ให้ปรึกษาหารือกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการพิจารณาตกลงต่อไป ส่วนการเข้าเฝ้าของชาวต่างประเทศ กระทำโดยติดต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำขอแล้ว หากเป็นการพบตามระเบียบประเพณี ให้ติดต่อราชเลขานุการในพระองค์จัดการพบได้ หากเป็นกรณีพิเศษให้กระทรวงการต่างประเทศปรึกษาหารือกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อเห็นสมควรให้พบได้จึงให้แจ้งไปยังราชเลขานุการในพระองค์เพื่อจัดการเข้าพบต่อไป[42]

จากข้อมูลข้างต้นกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดระเบียบแบบแผนของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. นั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ เนื่องจากจอมพล ป. พยายามจำกัดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้มีบทบาททางการเมืองใดๆ ที่อาจจะขัดแย้งกับบทบาทผู้นำชาติไทยของตน ดังสะท้อนได้จากการปรับปรุงระเบียบการพิธีการและการขอเฝ้าว่าถูกริเริ่มจากตัวจอมพล ป.เอง โดยมีกลไกของรัฐบาล ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสำนักพระราชวังคอยสนับสนุนตามบัญชาของจอมพล ป. ขณะที่บทบาทของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับแทบไม่มีบทบาทเลยในการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว เนื่องจากไม่ปรากฏเอกสารโต้ตอบระหว่างรัฐบาลกับคณะผู้สำเร็จราชการฯ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ทางคณะกรรมการปรับปรุงระเบียบข้างต้นให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการจำแนกพิธีการใดบ้างที่ควรทูลเชิญพระมหากษัตริย์เป็นประธานแล้ว ก็คือการพิจารณาว่าผู้ใดมีอำนาจในการตัดสินใจต่อการขอเฝ้าพระมหากษัตริย์หรือคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้สะท้อนการจำกัดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. ได้เป็นอย่างดี ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางพิธีการเท่านั้น และการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

 

บรรณานุกรม

บทความในหนังสือและวารสาร

  • ณัฐพล ใจจริง. “กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2475-2490,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2554) น. 88-91.
  • ปรีดี พนมยงค์. “ความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์,” ปรีดี พนมยงค์ และ ป๋วย อี๊ง ภากรณ์. บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2515).
  • ภารุต เพ็ญพายัพ. “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร? : พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในบริบททางประวัติศาสตร์,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2551). น. 172-201.
  • วิเทศกรณีย์, “ล้มรัฐบาล,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเลียง ไชยกาล (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2529), น. 16-37. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพนายเลียง ไชยกาล ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2529)
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนายน ถึง 5 ธันวาคม,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่2 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2547): 88-91.

ราชกิจจานุเบกษา

  • ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23 เล่ม 60 (20 เมษายน 2486).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี

  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 71/2477 (13 มีนาคม 2477).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 72/2478 (15 มีนาคม 2477).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 73/2477 (18 มีนาคม 2477).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2478 (8 เมษายน 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 9/2478 (29 เมษายน 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2478 (22 พฤษภาคม 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 76/2478 (14 ตุลาคม 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 77/2478 (16 ตุลาคม 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 78/2478 (18 ตุลาคม 2478)
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 86/2478 (8 พฤศจิกายน 2478).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2481 (10 มีนาคม 2481).

 รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2480 (วิสามัญ) พ.ศ. 2480 (27 กรกฎาคม 2480)
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 สมัยสามัญ (20 สิงหาคม 2478

หนังสือภาษาไทย

  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517).
  • พูนพิสมัย ดิศกุล, ม.จ.. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551).
  • เสทื้อน ศุภโสภณ. ชีวิตทางการเมืองของ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์. (พระนคร: สำนักพิพม์วัชรินทร์, 2514).

หนังสือภาษาอังกฤษ

  •  Stowe, Judith A.. Siam becomes Thailand : a story of intrigue (Honolulu: University of Hawaii Press, 1991).

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.8.1/16 กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ สิ้นพระชนม์ (2478).

เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี . (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.22/1 เรื่องตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการออกจากตำแหน่ง (5 มกราคม 2476 – 9 มีนาคม 2494).
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.22/2 เรื่องระเบียบการที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะออกรับแขกเมือง และไปในงานพิธี หรือในที่ต่างๆ (28 มีนาคม 2477 – 7 พฤษภาคม 2491).

หมายเหตุ

* บทความนี้ ปรับปรุงแก้ไขจากบทความเรื่อง “การแสวงหาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญระหว่าง พ.ศ. 2478 - 2487,” ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 (มิถุนายน 2555 – พฤษภาคม 2556).

เนื้อหาบางส่วนของบทความคงอักขรวิธีตามเอกสารชั้นต้น


[1] ความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร เริ่มจากการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (มีนาคม 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน) นำไปสู่เหตุการณ์ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วยการปิดสภาผู้แทนราษฎร (เมษายน 2476) การรัฐประหาร (มิถุนายน 2476) การเกิดกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) และสุดท้ายคือการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 (มีนาคม 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน)

[2] “บันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีมาเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477” ใน สลค. (2)สลค.3.22/1 เรื่องเลือกตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการออกจากตำแหน่ง (5 มกราคม 2476 – 9 มีนาคม 2494).

[3] ดูความเห็นเกี่ยวกับคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดนี้ใน ปรีดี พนมยงค์, “ความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์,” ปรีดี พนมยงค์ และ ป๋วย อี๊งภากรณ์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2515), น. 51-52. และ พูนพิสมัย ดิศกุล, ม.จ., สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551), น. 170-177. ขณะที่งานของ Judith A. Stowe เห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการชุดแรกเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์ไม่ขัดแย้งกับรัฐบาล รวมถึงไม่มีบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นในสมัยรัชกาลที่ 7 ดู Stowe, Judith A., Siam become Thailand : a story of intrigue (Honolulu: University of Hawaii Press, 1991), p. 87.

[4] ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ค่อนข้างจะขัดแย้งกันอย่างชัดเจน ซึ่งจากการประมวลรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างเดือนตุลาคม – มีนาคม 2477 ผู้สำเร็จราชการฯ มีความขัดแย้งกับรัฐบาลในเรื่องร่างพ.ร.บ.อากรมฤดก, ร่างพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์, และเรื่องอำนาจในการสั่งจ่ายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงไม่ทรงลงพระนามร่างกฎหมาย 3 ฉบับอันได้แก่ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477, ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2477 และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลอาญาทหาร พ.ศ. 2477 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการประหารชีวิต

[5] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2478 (22 พฤษภาคม 2478).

[6] ในการปรับปรุงกระทรวงวังของรัฐบาล คือ การลดขนาดของกระทรวงวังจากเดิมมีฐานะเป็นกระทรวงลงมาเป็นกรม และให้เรียกชื่อว่า “สำนักพระราชวัง” โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

[7]ดู ภารุต เพ็ญพายัพ, “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร? : พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในบริบททางประวัติศาสตร์,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2551): 172-201.

[8]ดู “บันทึกรายงานการไต่สวนของกรมตำรวจในเรื่องการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ” ใน หจช. สร.0201.8.1/16 กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ สิ้นพระชนม์ (2478). และ “รัฐบาลแถลงเรื่องกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 สมัยสามัญ (20 สิงหาคม 2478), น. 311-326.

[9] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 71/2477 (13 มีนาคม 2477).

[10]“หนังสือที่ 1/2 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2477” ใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517), น. 188-189.

[11] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 72/2478 (15 มีนาคม 2477).

[12] พระเจ้าปีเตอร์แห่งยูโกสลาเวีย ขึ้นครองราชย์สมบัติหลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ กษัตริย์พระองค์ก่อน ถูกปลงพระชนม์ ทั้งนี้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ของยูโกสลาเวียชุดนี้ประกอบด้วย เจ้าชายพอล (Prince Paul), ดร.สแตนโกวิตช์ (Dr.Stankovitch) และดร.เปโรวิตช์ (Dr.Perovitch) ที่มา: “The Time” October 12, 1934 ใน สลค. (2)สลค.3.22/1 เรื่องตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการออกจากตำแหน่ง (5 มกราคม 2476-9 มีนาคม 2494).

[13] “บันทึกเรื่องคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอความดำริเรื่องที่จะไปให้สมาชิกสภารู้จักและเรื่องการปฏิญาณตน ลงวันที่ 15 มีนาคม 2477” ใน สลค. (2)สลค.3.22/1 เรื่องตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการออกจากตำแหน่ง (5 มกราคม 2476-9 มีนาคม 2494).

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 73/2477 (18 มีนาคม 2477).

[17] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2478 (8 เมษายน 2478).

[18] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 9/2478 (29 เมษายน 2478).

[19] “หนังสือที่ น.10170/2478 ลงวันที่ 30 มกราคม 2478” ใน สลค. (2)สลค.3.22/2 เรื่องระเบียบการที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะออกรับแขกเมือง และไปในงานพิธี หรือในที่ต่างๆ (28 มีนาคม 2477 – 7 พฤษภาคม 2491).

[20] ปรีดี พนมยงค์, “ความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์,” น. 54-55.

[21] ณัฐพล ใจจริง, “กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2475-2490,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2554): 125.

[22]สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิเคราะห์วิกฤตการเมืองครั้งนี้ว่าเป็นผลมาจากความขัดแย้งจากการที่หลวงพิบูลสงครามแสดงอำนาจ (assertion of authority) อันสร้างความไม่พอใจให้กับพระยาพหลฯ และปรีดี เหตุการณ์ครั้งนี้ยุติลงเมื่อปรีดีตัดสินใจย้ายตัวเองจากกระทรวงมหาดไทยไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อลดความอิจฉาและระแวงของหลวงพิบูลสงคราม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนายน ถึง 5 ธันวาคม,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่2 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2547): 88-91.

[23] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 76/2478 (14 ตุลาคม 2478).

[24] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 77/2478 (16 ตุลาคม 2478).

[25] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 78/2478 (18 ตุลาคม 2478) และ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 86/2478 (8 พฤศจิกายน 2478).

[26] ดู วิเทศกรณีย์, “ล้มรัฐบาล,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเลียง ไชยกาล (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2529), น. 16-37. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพนายเลียง ไชยกาล ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2529) และ “กระทู้ถาม เรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2480 (วิสามัญ) พ.ศ. 2480 (27 กรกฎาคม 2480).

[27]เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมืองของพ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (พระนคร: สำนักพิพม์วัชรินทร์, 2514), น. 308-310.

[28]เรื่องเดียวกัน, น. 311-318.

[29] ดู ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, น. 55-78.

[30] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2481 (10 มีนาคม 2481).

[31]ณัฐพล ใจจริง, “กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย 2475-2490,” น. 125-126.

[32] “หนังสือที่ ฎ.11855/2481 ลงวันที่ 18 มี.ค. 2482” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[33] คณะกรรมการกฤษฎีกาพยายามสอบไปทางต่างประเทศและจัดหาตำรามาประกอบการพิจารณา แต่ดำเนินการไม่สะดวกเนื่องจากยุโรปอยู่ในภาวะสงคราม ดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงสอบถามไปยังสถานทูตอังกฤษ ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเพียงสถานทูตอังกฤษและญี่ปุ่นเท่านั้นที่ตอบมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา

[34]“บันทึกเรื่องขอให้ตรวจค้นประเพณีของต่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2483,” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[35]“หนังสือที่ น.8905/2483 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2483” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[36] “บันทึกเรื่องการตรวจค้นประเพณีของต่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 ก.พ. 2485” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[37] “หนังสือที่ น.2287/2485 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2485” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[38] เรื่องเดียวกัน.

[39] “ที่น.ว.15/2486 ลงวันที่ 23 มกราคม 2486” ใน สลค. (2)สลค.3.22.1/9 การตรวจค้นประเพณีกำหนดหน้าที่พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (ปรับปรุงระเบียบ วิธีการ และการขอเฝ้า) (4 ธันวาคม 2483 - 5 เมษายน 2488).

[40] “ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องระเบียบพิธีการและการขอเฝ้า” ใน ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23 เล่ม 60 (20 เมษายน 2486).

[41] เรื่องเดียวกัน.

[42] เรื่องเดียวกัน.