ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ และ คณะราษฎร : ผู้วางรากฐานการกระจายอำนาจในท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2475-2477

4
สิงหาคม
2566

Focus

  • การปฏิบัติตามนโยบายสำคัญๆของรัฐบาลสมัยคณะราษฎร ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้เป็นจริงมีหลายประการ โดยหนึ่งในนั้นคือ การเสริมสร้างการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยการเสริมสร้างภารกิจในส่วนท้องถิ่นที่สำคัญเร่งด่วนก็คือ การพัฒนาระบบงานเทศบาลในท้องถิ่นให้เป็นจริง  (หลังจากแรกเริ่มมีระบบงานสุขภิบาลในระดับท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ 5)
  • หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นบุคคลสำคัญในการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการเสริมสร้างกิจการของท้องถิ่นด้วยรูปแบบเทศบาล ผ่านพระราชบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476
  • (ร่าง) กฎหมายจัดระเบียบเทศบาลได้รับความสนใจติดตามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฝ่ายคณะราษฎร และฝ่ายเสรีนิยม-อนุรักษนิยม ต่างก็ได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างเข้มขันถึงการปฏิรูประบบงานแบบประชาธิปไตยที่มีฝ่ายบริหารและสภาของราษฎรเพื่อการปกครองตนเองในกิจการบางประเภทที่เป็นงานส่วนรวมในระดับท้องถิ่น รวมถึงกฎเกณฑ์ของการจัดตั้งเทศบาลที่รัฐบาลส่วนกลางเห็นชอบให้มีความเป็นไปได้ จนผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทรราษฎร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 และลงประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2477
  • นโยบายการกระจายอำนาจการบริหารงานของรัฐจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ก็ยังคงมีความสำคัญตลอดมา ดังปรากฎถึงนโยบายที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงในคราวการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

 

ต่อไปนั้น เราจะได้ยกตำบลทุกๆ ตำบลให้มีสภาพเป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น คือ อาจมีสภาเทศบาลซึ่งจำลองสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนึ่ง และอาจจะมีคณะเทศมนตรี ซึ่งจำลองมาจากคณะรัฐมนตรีอีกอย่างหนึ่ง เพื่อทำราชการอันเป็นส่วนของท้องถิ่น...และการเทศบาลต่างๆ ในจังหวัดอาจรวมกันตั้งเป็นสหเทศบาลเพื่อประกอบกิจการท้องถิ่นอันร่วมกัน โดยวิธีนี้ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้เต็มกำลัง และนอกจากนั้นการปกครองแบบรัฐธรรมนูญซึ่งท่านทั้งหลายประสงค์ช่วยกันปลูกปักให้มั่นคงก็จะได้แผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ราษฎรจะได้รู้สึกเห็นการปกครองชะนิดนี้ทางสภาของเทศบาล และทางคณะเทศมนตรีในท้องถิ่นของตน”

ปรีดี พนมยงค์, 2476.

 


ภาพถ่ายนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ Place du Trocadéro ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926

 


นายปรีดี พนมยงค์ ช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2476

 

ผลงาน ความทรงจำ และนโยบายของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นมรดกที่สืบทอดต่อมายังสังคมไทยในปัจจุบันแต่หลายส่วนเสี้ยวของความทรงจำได้ถูกหลงลืม เช่น กรณีวันชาติที่ได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงร่วมสมัยในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล[1] เสนอให้เปลี่ยนแปลงวันชาติกลับไปเป็นวันที่ 24 มิถุนายน หากอีกฝ่ายโต้แย้งว่าวันชาติคือวันที่ 5 ธันวาคม ด้วยไม่ทราบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าเดิมนั้นวันชาติของสยามคือวันที่ 24 มิถุนายน ที่กำหนดขึ้นในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร[2] จากข้อถกเถียงร่วมสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าความรับรู้ประวัติศาสตร์ช่วงสมัยคณะราษฎรยังมีอีกหลายมิติหลากเรื่องราวน่าค้นคว้าและนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศ เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบได้เริ่มต้นขึ้นหลังการอภิวัฒน์ผ่านพระราชบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 โดยมีคณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์ และหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นผู้วางรากฐานแนวคิดซึ่งจะเสนอหลักการสำคัญไว้ดังนี้

 

กำเนิดการกระจายอำนาจสมัยคณะราษฎร

ภายหลังการอภิวัฒน์สยามและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แล้วทางรัฐบาลคณะราษฎรได้เริ่มจัดระเบียบการปกครองให้สอดรับกับระบอบรัฐธรรมนูญ[3] และกำเนิดนโยบายกระจายอำนาจขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา

ภายหลังการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่นาน นายปรีดีได้เสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจให้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นโดยให้สหกรณ์เป็นกลไกจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐเพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยชี้แจงไว้ดังนี้

 


“ข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้”
ในเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

 

การแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์

การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ

ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ[4]

 

แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจไม่ได้ระบุรูปแบบไว้แต่พิจารณาจากสาระสำคัญได้ว่า สหกรณ์ในความคิดของนายปรีดีนั้น คือ สหกรณ์แบบสังคมนิยม (Cooperative Socialiste) ซึ่งเป็นสหกรณ์ครบรูปหรือสหกรณ์อเนกประสงค์อันเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย[5]

ขณะเดียวกันก็มีการจัดรูปองค์กรของรัฐสมัยใหม่ หลักแนวคิด และหลักวิชาของการจัดรูปองค์กรรัฐขึ้นใหม่ของรัฐบาลคณะราษฎรนั้นนับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนสำคัญได้แก่ แนวคิดที่ว่าด้วยรัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว โดยจัดองค์กรของรัฐหรือจัดระเบียบบริหารราชการแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามหลักแนวคิดการรวมอำนาจ (centralization) การแบ่งอำนาจ (deconcentration) และหลักการกระจายอำนาจ (decentralization) ซึ่งแนวคิดและหลักวิชาข้อนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นหลักวิชาใหม่หลังการอภิวัฒน์ และนายปรีดีคือบุคคลสำคัญที่นำหลักวิชาดังกล่าวเข้ามาในสยามรวมทั้งมีการอบรมสั่งสอนให้นักการเมือง ข้าราชการ นิสิตนักศึกษา และประชาชนรับทราบหลักการดังกล่าว และมีการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวจนกลายเป็น “สถาบัน” (institutionalization)[6]

ส่วนแนวความคิดเรื่องการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบสมัยใหม่นั้นปรากฏชัดเจนใน “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ของนายปรีดีตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์ซึ่งวิชากฎหมายปกครองเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสแต่ยังไม่มีผู้ใดรวบรวมเป็นตำราในสังคมสยามจนเมื่อนายปรีดีสำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการจึงได้นำความคิด ความรู้วิชากฎหมายปกครองมาเผยแพร่ด้วยการจัดทำเป็นตำราและสอนนักศึกษาในชั้นเรียนกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2474 นายปรีดีจึงได้เปิดสอนวิชากฎหมายปกครองขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

แนวความคิดในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของนายปรีดีนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ หลักการสำคัญของแนวความคิดนี้ ได้แก่ การจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็น 3 แบบคือ

  1. ระเบียบที่ใช้บังคับแก่พลเมืองทั่วไปในทุกอาณาเขตโดยอำนาจบริหารรวมอยู่ในศูนย์กลางที่รัฐบาลกลาง หรือที่เรียกว่า “การปกครองแบบมัธยภาค (Centralisation)”
  2. ระเบียบต่อมา คือ ระเบียบที่ใช้บังคับให้เหมาะสมแก่ท้องถิ่นต่างๆ โดยแยกอำนาจของรัฐบาลกลางไปยังส่วนต่างๆ หรือเรียกว่า “การปกครองแบบมัธยานุภาค (Déconcentration)” แม้จะเป็นกิจการที่แยกจากส่วนกลางมาเพื่อให้เหมาะแก่ท้องถิ่น แต่การปกครองในส่วนนี้ก็ยังเป็นราชการของรัฐบาลที่แยกไปประจำในส่วนนั้น มิได้เป็นนิติบุคคลต่างหากจากรัฐบาลส่วนกลาง และยังอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล
  3. การแยกอำนาจบริหารบางอย่างให้แก่คณะราษฎรในท้องถิ่นนั้นได้เลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ใช้อำนาจเอง และหน่วยการปกครองท้องถิ่นนี้จะมีสภาพเป็นทบวงการเมือง คือเป็นนิติบุคคลส่วนหนึ่งต่างหากจากรัฐบาลกลาง ซึ่งเมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา คือหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นอาจจะมีทรัพย์สิน สิทธิและหน้าที่ต่างๆ เช่น บุคคลธรรมดา

ลักษณะการแยกอำนาจบริหารให้แก่ท้องถิ่นนี้เรียกว่า “การปกครองแบบมัธยวิภาค (Decentralisation)”[7] การปกครองแบบมัธยวิภาคจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การจัดการปกครองในท้องถิ่นต่างๆ มีความสะดวก และพัฒนาไปในแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและการเมืองภายในแต่ละท้องถิ่น แต่การปกครองโดยวิธีแยกอำนาจให้ราษฎรในท้องถิ่นจัดทำเองนี้ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ดังที่นายปรีดีได้กล่าวไว้ ดังนี้

ผลดี

1. กิจการบางชนิดที่แยกออกไป เช่น การสุขาภิบาลย่อมเหมาะสมแก่ท้องถิ่นโดยเฉพาะ และกิจการอย่างอื่นซึ่งท้องถิ่นต่างๆ ในพระราชอาณาเขตจะปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่ได้ เมื่อได้แบ่งแยกเสียเช่นนั้นก็จะเหมาะสมแก่ท้องถิ่นเป็นรายๆ ไป

2. กิจการที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นก็ควรจะให้ผู้ที่ราษฎรในท้องถิ่นเป็นพนักงานจัดทำเพราะเป็นผู้ที่รู้ภูมิประเทศและความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ย่อมดีกว่าบุคคลซึ่งรัฐบาลกลางจะได้แต่งตั้งออกไป ซึ่งจะรู้ภูมิประเทศดีกว่าราษฎรในท้องถิ่นไม่ได้

3. วิธีเลือกตั้งพนักงานโดยราษฎรในท้องถิ่นนั้นเอง ย่อมทำให้ผู้ที่จะรับเลือกตั้งเอาใจใส่ในกิจการของท้องถิ่นและจะต้องจัดให้มีโครงการ ซึ่งตนจะปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกเพราะการเลือกโดยวิธีเช่นนี้ย่อมมีการแข่งขันในระหว่างผู้ที่ถือลัทธิต่างๆ และย่อมเปิดโอกาสให้ราษฎรในท้องถิ่นได้เลือกตั้งผู้ที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นและตามความนิยมในลัทธิของตน

4. กิจการของท้องถิ่นย่อมจะสำเร็จไปได้ไวและรวดเร็วเพราะไม่ต้องเสนอเรื่อยขึ้นไปเป็นลำดับเหมือนดั่งการปกครองที่ได้กล่าวในวิธี ก.

5. และผลดียังมีอีกอย่างหนึ่งสำหรับประเทศที่ราษฎรได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาการแผ่นดิน คือ ราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นก็เท่ากับได้รับความฝึกหัดในการเลือกผู้แทนในสภาการแผ่นดิน และสนใจในความเป็นไปของประเทศ

ผลร้าย

1. ทำให้อำนาจรัฐบาลกลางลดน้อยถอยลงไป

2. อาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกปฏิบัติการลำเอียงเข้าข้างฝ่ายที่เลือกตนคือ เข้าข้างฝ่ายที่ถือลัทธิอันเดียวกัน

ทางแก้

ทางแก้ผลร้ายที่ได้กล่าวมาแล้วอาจจะกระทำได้ ดังนี้

1. กิจการที่จะมอบให้แก่ราษฎรในท้องถิ่นนั้น จะต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยตรง สิ่งใดที่ได้มอบหมายไป จะเป็นภยันตรายต่อความเป็นอยู่ของประเทศทั้งหมดแล้วก็ไม่ควรมอบให้

2. รัฐบาลกลางยังทรงไว้ซึ่งอำนาจควบคุมดูแลเพื่อป้องกันมิให้ราษฎรในท้องถิ่นกระทำการอันเป็นภยันตรายต่อประเทศ

ส่วนการป้องกันความลำเอียงนั้นก็อยู่ในอำนาจรัฐบาลกลางซึ่งจัดการ ควบคุมดูแล เช่น การใดที่พนักงานท้องถิ่นปฏิบัติไม่ชอบก็ควรให้ร้องอุทธรณ์ได้ (ในประเทศฝรั่งเศสจึงมีศาลปกครองต่างหากจากศาลยุติธรรม)

 


คำอธิบายกฎหมายปกครอง
โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และพระสารสาสน์ประพันธ์ พ.ศ. 2475

 

จากคำอธิบายในกฎหมายปกครองของนายปรีดีนี้จะเห็นได้ว่ามีแนวทางคล้ายคลึงกับการจัดระเบียบบริหารปกครองประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลที่เขาได้รับจากการศึกษาแนวความคิด และหลักการของวิชากฎหมายปกครองฝรั่งเศสเมื่อครั้งเป็นนักเรียนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งแนวคิดและหลักการของกฎหมายฝรั่งเศสนี้ยังเป็นที่แพร่หลายและนิยมใช้กันทั่วไปในประเทศแถบยุโรปเช่น ประเทศเบลเยียม ฮอลแลนด์ อิตาลี สเปน และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งแนวคิดการกระจายอำนาจของนายปรีดียังเป็นหลักสำคัญในการวางโครงสร้างและองค์กรเพื่อบริหารงานของรัฐโดยการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ในเวลาต่อมา[8]

 

ปรีดี พนมยงค์ และปาฐกถาเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476

แนวคิดในการจัดวางรูปแบบการบริหารปกครองประเทศของนายปรีดียังส่งผลต่อการจัดทำพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามสมัยใหม่ฉบับแรกซึ่งนายปรีดีมีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการแถลงร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นผู้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ นี้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟัง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ดังมีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้

 


ปาฐกถาพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินแห่งอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476
โดยนายปรีดี พนมยงค์

 

พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินแห่งอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เป็นการจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก และยังได้กำหนดผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการต่างๆ โดยให้รัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายในแต่ละกระทรวงโดยแปรจากแนวคิดการกระจายอำนาจของนายปรีดี และคณะราษฎร โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ระเบียบราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง มีรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ว่าการบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ถ้าจำเป็นหากมีภารกิจมากอาจมีรัฐมนตรีช่วยว่าการด้วยก็ได้ และกำหนดให้แต่ละกระทรวงจัดระเบียบราชการออกเป็น
    1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีนั้นๆ
    2. สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา
    3. กรม หรือทบวงการเมือง ซึ่งมีฐานะเทียบกรม (เว้นแต่บางกระทรวงซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกราชการตั้งขึ้นเป็นกรม) มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวง โดยมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชา ในแต่ละกรมจะแยกออกไปเป็นกอง แผนก หรือหมวด ตามแต่ปริมาณและคุณภาพของงานที่ปฏิบัติอยู่

การตรวจสอบ ควบคุมการบริหารราชการส่วนกลางโดย “ข้าหลวงใหญ่” ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ตรวจ ควบคุม และแนะนำชี้แจงราชการบริหารทั่วไป และอาจมี “ข้าหลวงตรวจการ” หากกระทรวง ทบวงกรมใดมีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งข้าหลวงตรวจการเพื่อทำหน้าที่ตรวจ ควบคุมแนะนำชี้แจงราชการที่เกี่ยวกับกระทรวง ทบวง กรม นั้นๆ

  1. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค การบริหารราชการส่วนภูมิภาคได้จัดแบ่งออกเป็น “จังหวัด” และ “อำเภอ”ดังนี้
    1. จังหวัด ให้มี “คณะกรมการจังหวัด” ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้นๆ จัดแบ่งราชการออกเป็นส่วนกลาง ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของจังหวัดนั้น โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาและส่วนต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมจะได้ตั้งขึ้นใฝนจังหวัดนั้นๆ มีหัวหน้าส่วนนั้นๆ เป็นผู้บังคับบัญชา

      คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดเป็นกรรมการ โดยข้าหลวงประจำจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการในจังหวัดซึ่งก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและสมุหเทศาภิบาล
    2. อำเภอ ให้มี “คณะกรมการอำเภอ” ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในอำเภอนั้นๆ จัดแบ่งราชการออกเป็นส่วนกลางโดยมีนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา และส่วนอื่นๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมจะได้ตั้งขึ้นโดยมีหัวหน้าส่วนนั้นๆ เป็นผู้บังคับบัญชา คณะกรมการอำเภอประกอบด้วยนายอำเภอเป็นประธาน ปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเป็นหจ้าหน้าที่ประจำอำเภอเป็นกรรมการ
       
  2. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กฎหมายกำหนดให้ส่วนท้องถิ่นบริหารราชการเองจัดแบ่งออกเป็น
    1. เทศบาลตำบล ได้แก่ ตำบลต่างๆ
    2. เทศบาลเมืองและนครบาล ได้แก่ เทศบาลต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานจังหวัด หรือเทศบาลในที่ชุมนุมชนซึ่งได้มีกฎหมายประกาศให้เป็นเทศบาลเมืองหรือนครบาล
    3. สหเทศบาล ได้แก่ เทศบาลต่างๆ ซึ่งรวมกันเพื่อประกอบกิจการบางชนิด

ในขณะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลจึงให้คงใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2457 และกฎหมายอื่นๆ ว่าด้วยการปกครองตำบล หมู่บ้าน และการสุขาภิบาลไปพลางก่อน”[9]

 


พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476

 

ต่อมาพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ประกาศใช้บังคับทางราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 มีทั้งสิ้น 29 มาตราและแบ่งโครงสร้างในพระราชบัญญัติไว้ดังนี้

ข้อความเบื้องต้น

ลักษณะ 1 ระเบียบราชการบริหารส่วนกลาง

ลักษณะ 2 ระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค

หมวด 1 จังหวัด

หมวด 2 อำเภอ

ลักษณะ 3 ระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

นอกจากสาระสำคัญที่ได้รับทราบจากปาฐกถาของนายปรีดีและโครงสร้างของพระราชบัญญัติฯ ข้างต้นแล้ว ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดแบ่งราชการบริหารออกเป็น 3 ส่วนโดยมีการเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างจากการปกครองส่วนท้องถิ่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีหลักการเพื่อควบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นหลักแต่การปกครองท้องถิ่นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญได้มีการกระจายอำนาจบริหารไปสู่ท้องถิ่นด้วยการแบ่งราชการบริหารไว้ในส่วนภูมิภาค และให้ท้องถิ่นจัดทำเอง โดยรัฐบาลคณะราษฎรเห็นพ้องว่าการกระจายอำนาจย่อมจะนำผลดีมาให้แก่ระบบราชการมากกว่าการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้น การตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบในการบริหารราชการแผ่นดิน และกิจการที่เกี่ยวกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงมีความเป็นสมัยใหม่และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลคณะราษฎรที่ดำเนินการอย่างละเอียดและรอบคอบภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรราว 1 ปี

และการจัดโครงสร้างระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่านายปรีดีให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนเป็นกลไกหลักในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบราชการเพื่อเข้าสู่ระบอบใหม่ที่หัวใจสำคัญคือประโยชน์ของราษฎรอย่างเสมอภาค กระทั่งได้มีการปฏิรูประบบเทศบาลขึ้นในระยะต่อมา

 

หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ, ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร กับพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476

 


หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ผู้ผลักดันและร่างพระราชบัญญัติเทศบาล
ทั้งก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม

 


สากลเทศบาล โดยหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ

 

การรื้อโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นของระบอบเก่าก่อนการอภิวัฒน์ไม่ได้เกิดจากคณะราษฎรเพียงเท่านั้น แต่ยังสำเร็จได้จากความร่วมมือของเจ้าปัญญาชนหัวก้าวหน้าหลายท่าน เช่น หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ผู้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยมองว่าเทศบาลหรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคือรากฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตยจากพื้นฐานแนวคิดแบบสังคมนิยมเฟเบียนของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรนี้เองส่งผลให้ท่านได้ร่วมงานกับรัฐบาลคณะราษฎรทั้งสนับสนุนแนวคิดในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี และเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลหลัง พ.ศ. 2475[10]

ในระบอบเก่านั้นจะมีการสุขาภิบาลที่จัดขึ้นจากพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองนั้นแม้ว่าจะมีกรรมการสุขาภิบาลเป็นผู้ควบคุมก็จริงแต่ว่าราษฎรไม่มีสิทธิในการเลือกผู้แทนในท้องถิ่นของตนจึงมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476

ส่วนการปกครองแบบเทศบาลในทัศนะของนายปรีดี มีดังนี้

 

ต่อไปนั้น เราจะได้ยกตำบลทุกๆ ตำบลให้มีสภาพเป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น คือ อาจมีสภาเทศบาลซึ่งจำลองสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนึ่ง และอาจจะมีคณะเทศมนตรี ซึ่งจำลองมาจากคณะรัฐมนตรีอีกอย่างหนึ่ง เพื่อทำราชการอันเป็นส่วนของท้องถิ่น...และการเทศบาลต่างๆ ในจังหวัดอาจรวมกันตั้งเป็นสหเทศบาลเพื่อประกอบกิจการท้องถิ่นอันร่วมกัน โดยวิธีนี้ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้เต็มกำลัง และนอกจากนั้นการปกครองแบบรัฐธรรมนูญซึ่งท่านทั้งหลายประสงค์ช่วยกันปลูกปักให้มั่นคงก็จะได้แผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ราษฎรจะได้รู้สึกเห็นการปกครองชะนิดนี้ทางสภาของเทศบาล และทางคณะเทศมนตรีในท้องถิ่นของตน หรือจะกล่าวโดยย่อๆ ก็คือ การปกครองท้องถิ่นนั้น ราษฎรจะได้เลือกผู้แทนเข้ามาอยู่ในสภานั้น และคงจะมีผู้บริหารหรือคณะเทศมนตรีในท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งใกล้ชิดติดต่อกับราษฎรเป็นการฝึกซ้อมในการที่จะใช้สิทธิของราษฎรตามกฎหมาย…”[11]

 

การจัดระเบียบการบริหารใหม่โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจที่แบ่งออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นยังเป็นกลไกพื้นฐานที่ส่งผลต่อการก่อตั้งเทศบาลเพื่อให้ราษฎรมีสิทธิในการปกครองท้องถิ่นของตนเองตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ทำให้การเทศบาลมีสถานะเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้การจัดวางรูปแบบการปกครองประเทศของรัฐบาลคณะราษฎร

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

แนวคิดในการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลเริ่มต้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยการแถลงของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อเกิดความพลิกผันของเกมการเมืองทั้งการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี การรัฐประหารทางกฤษฎีกา และนายปรีดีต้องลี้ภัยครั้งแรก จึงทำให้การปฏิรูปเทศบาลล่าช้าออกไปจนมีการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 วันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476

 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 วันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ได้มีการตั้งกระทู้ถามเรื่องพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลว่าเหตุใดจึงล่าช้าโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวตอบในที่ประชุมว่า

เรื่องพระราชบัญญัติเทศบาลที่ช้าอยู่นี้ ก็เพราะเกี่ยวด้วย ข้าพเจ้าติดการประชุม ไม่ค่อยมีเวลาทำ แต่ได้มอบให้หม่อมเจ้าสกลฯ ไปพิจารณาร่างอยู่แล้ว เข้าใจว่าคงเสร็จในไม่ช้า การร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้ไม่ใช่ของง่าย แต่การที่จะตอบให้ทราบว่าจะเสร็จเมื่อใดนั้น จะตอบให้ทราบได้ในเวลาอันควร[12]

 


 รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 วันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2476

 

กระทั่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 วันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ได้มีพระยาประมวญวิชาพูลได้เร่งรัดสอบถามเรื่องพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลอีกครั้งโดยทางพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า “ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล คิดว่าจะนำเข้าที่ประชุมในวันจันทร์นี้” และมีนายมังกร สามเสน วิจารณ์เรื่องการรอร่างพระราชบัญญัตินี้ว่า[13]

 

ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลราษฎรได้คอยแล้วคอยเล่า คอยมา 5 ปี 8 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นขอให้เร่งเร็วสักหน่อย

 

ท้ายที่สุดการยกร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ก็มาตกอยู่ในมือของนายปรีดีที่เพิ่งกลับมาจากการลี้ภัยซึ่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีลอยและตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476

 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476 หลังเปิดประชุมกับทางนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้นายปรีดี แถลงเรื่องพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล โดยในการประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นายปรีดีเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติฯ และได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเทศบาลและการปกครองท้องถิ่นไว้ดังนี้

นายปรีดีแถลงเกี่ยวกับหลักการและความสำคัญของการรับร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันมากนักว่า

 

ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลที่รัฐบาลได้เสนอมานี้ รัฐบาลได้มอบให้คณะกรรมาธิการพิจารณา และยกร่างพระราชบัญญัตินี้คณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้เห็นว่ามีข้อที่ควรคำนึงอยู่หลายอย่าง ด้วยเหตุว่าการเทศบาลนั้น เราจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจการหลายอย่าง ไม่ใช่แต่การสุขาภิบาลอย่างในครั้งก่อนซึ่งทำกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือ เราจะต้องพิจารณาตลอดจนกระทั่งในเรื่องภาษีอากรที่จะแบ่งสันปันส่วน ในระหว่างรัฐบาลกับเทศบาลอย่างหนึ่ง

เราจะต้องพิจารณาถึงในเรื่องกิจการที่เทศบาลจะต้องกระทำเช่นเดียวกันกับในเรื่องสาธารณสุขก็ดี ในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยในพระราชอาณาจักรก็ดี และในกรณีย์อื่นๆ ดังที่ได้เห็นแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้ แต่การที่เราจะทำพระราชบัญญัติให้ครบถ้วนเช่นนั้น ก็จะต้องเสียเวลาอีกนาน เหตุฉะนั้นกรรมาธิการของรัฐบาลจึงได้หยิบเอารูปการของเทศบาลนั้นขึ้นร่างเป็นพระราชบัญญัติและเสนอรัฐบาลเสียชั้นหนึ่งก่อน ขอให้เทศบาลได้มีโอกาสที่จะเริ่มจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นได้ ในปีหน้า คือใน พ.ศ. ๒๔๗๗ และในต้นปี ๒๔๗๗ นี้ ก็คงจะได้เริ่มการได้บ้าง แต่ว่าการที่จะกระทำกิจการให้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์

เราก็จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมาย อีกหลายฉะบับ กฎหมายที่จะออกต่อไปในชั้นต้นนี้ แต่ภายหลังพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีอากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะแบ่งภาษีอากรในระหว่างเทศบาลกับรัฐบาลนั้นอย่างหนึ่ง และเราจะต้องมีร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ อีก ที่บัญญัติถึงว่าทรัพย์สินชนิดใดบ้างที่เราจะให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาล ดังเช่นกับที่ๆ เป็นที่หลวงอยู่ในปัจจุบันนี้ และได้กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ นี้

เราก็อาจพิจารณาได้เหมือนกันว่า ที่เหล่านั้นแทนที่จะให้เป็นที่อยู่ในกรรมสิทธิของรัฐบาล เราอาจจะมอบที่นั้นให้เป็นกรรมสิทธิแก่เทศบาลเสียทีเดียว ในการนี้เราจำเป็นต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติอีกอันหนึ่ง และจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ละเอียดต่อไปอีกว่า ที่ชะนิดใดบ้างเราจะยกให้เป็นที่ของเทศบาลและนอกจากนั้น เรายังจำเป็นที่จะต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานี้การปกครองหัวเมืองที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร เราก็อาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่การที่เราได้มีระเบียบการปกครองใหม่ และทำรูปแบบเป็นไปในทำนองที่ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระราชอาณาจักร

และนอกจากนั้นเรายังต้องออกพระราชบัญญัติซึ่งว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่หมายความแต่จะรักษาทางเดียว จะต้องรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น เรายังมีวิธีการต่างๆ ดังเช่นวิธีการของโรงจำนำ และวิธีการของเทศบาล เราจำเป็นต้องจัดให้มีระเบียบด้วยเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่ง พระราชบัญญัติที่จะควบคุมอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องทำอีกเช่น กฎกระทรวงที่เราจะต้องออกตามพระราชบัญญัตินี้ วิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวแก่เทศบาล หรือวิธีการที่เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติที่จะออก ในภายหน้า ตามที่ได้แถลงไปแล้วนั้น เป็นแต่ข้อความสังเขปเท่านั้น และการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อปรารถนาที่จะให้ท่านสมาชิกทั้งหลาย ลงมติรับหลักการของร่างพระราช บัญญัติฉะบับนี้เท่านั้น และราชการที่เราจะดำเนินต่อไปนี้ว่า เราจะวางรูปตามนี้ คือดำเนินตามคล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญพระราชอาณาจักรสยามเหมือนกัน

กล่าวคือ จะเห็นได้จากเทศบาลตำบล คณะมนตรีตำบล และสภาตำบล เพื่อให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามไปในตัว คือราษฎรจะได้ฝึกการปกครองในตำบลย่อมๆ ของตน และเพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภาฯ นี้ต่อไป และถ้าหากว่าท่านได้รับหลักการของพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลแล้วสภาฯ ก็จะได้ให้กรรมาธิการประจำหรือกรรมาธิการวิสามัญ สุดแท้แต่เห็นเป็นการสมควรในการที่จะไปพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้อีกชั้นหนึ่ง

 

และนายปรีดียังกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจร่างพระราชบัญญัติและที่มาของงบประมาณเทศบาลไว้ด้วยว่า

 

คือถ้าหากว่าสภาฯ นี้ได้รับหลักการแล้วและกรรมาธิการได้ตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอสภาฯ ทันในสมัยประชุมนี้แล้ว และสภาฯ ได้ลงมติใช้ในสมัยประชุมนี้แล้วก็เชื่อว่าใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เราจะเริ่มการได้ ข้อที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปอีกคือว่า ในเรื่องคลังเงินของเทศบาลเราจะได้คลังเงินนี้มาจากไหน ทางคณะกรรมาธิการที่ได้พิจารณางบประมาณอยู่ ได้เคยคำนึงถึงเรื่องนี้เหมือนกัน และข้าพเจ้าเองได้เคยแถลงกับท่านครั้งหนึ่งแล้วในเรื่องเงินที่ใช้จ่ายในตอนต้นนี้

กรรมาธิการได้เคยเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการคลังพร้อมทั้งที่ปรึกษาและหัวหน้ากรมในกระทรวงการคลังมาเพื่อพิจารณาถึงหลักการอันนี้และเห็นกันว่า ในต้นปีนี้เราจะออกพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีอากรยังไม่ทัน เราจะได้แบ่งงบประมาณส่วนที่จะต้องใช้จ่ายในจังหวัดนั้นเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อได้ประกาศใช้เทศบาลในท้องที่ใดแล้ว ในท้องที่นั้นซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงิน ซึ่งเวลานี้ก็ใช้จ่ายอยู่ในงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น

เงินจำนวนนี้ก็จะได้ตัดไปตั้งให้เป็นงบประมาณของจังหวัดนั้น และอีกอย่างหนึ่งเมื่อกี้นี่เอง คือ ในการที่พิจารณางบประมาณ ก็ได้ถามความเห็นของผู้แทนรัฐบาลผู้หนึ่ง คือ อธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ถ้าหากว่าเราจะใช้พระราชบัญญัติเทศบาลในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว เราจำเป็นจะต้องขอจ่ายเงินมาลงทุนในเทศบาลนี้อีก

ท่านรับว่าท่านอาจจะพิจารณาหาทางให้ได้เงินก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าเงินส่งเสริมการเทศบาล และนอกจากนั้น เรายังมีทางที่จะตกลงกับรัฐบาล ได้อีก เมื่อเราได้ใช้พระราชบัญญัติเทศบาลในกรุงเทพฯ แล้ว เราก็อาจจะออกใบกู้ และใบกู้นั้นรัฐบาลก็อาจจะพิจารณารับซื้อใบกู้นั้นได้ โดยที่เราจะต้องจัดการทำแปลนให้ดี หรือชี้แจงผลได้ผลเสียให้ดีในการนี้ ก็เชื่อว่าคงจะสมความปรารถนาของท่านสมาชิกที่ได้แถลงไว้เมื่อวันก่อนๆ ก็คงจะทำได้ การออกใบกู้เราได้วางแบบแผนไว้ให้ดีๆ

 

การอภิปรายเรื่องเทศบาลเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยมี นายไสว อินทรประชา ผู้แทนจังหวัดสวรรคโลก (อำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การตั้งเป็นเทศบาลว่า “การที่ท้องถิ่นใดจะใช้แบบเทศบาลได้นั้น จะต้องมีสภาพและฐานะอย่างไร”

นายปรีดีกล่าวตอบว่า

 

ในเรื่องนี้ก็ต้องเข้าเกณฑ์หลายอย่าง ความจริงทางรัฐบาลที่ได้มอบให้กรรมาธิการมาพิจารณา รัฐบาลมีความประสงค์อย่างเต็มที่ อยากจะให้มีเทศบาลมิใช่อยากจะหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้าไว้ก็หามิได้ แต่ว่าจะต้องพิจารณาหลายอย่าง คือพิจารณาถึงท้องที่นั้นว่า มีคนที่จะอบรมและเพื่อที่จะจัดการเทศบาลนั้นได้พอเพียงแล้วหรือยัง และการเงินที่เราคิดว่าใช้ จ่ายบำรุงเทศบาลนั้นได้พอสมควรแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นต้น เป็นข้อที่จะควรคำนึง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความประสงค์ที่อยากจะให้มีเทศบาลทั่วด้วยกันนั้น ประสงค์อันยิ่งใหญ่ การที่จะเป็นไปไม่ได้ก็ด้วยอุปสรรคอย่างอื่น หาใช่อุปสรรคที่เกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลนั้นเลย

 

ในช่วงท้ายของการประชุมทางหลวงวิจิตรวาทการมีข้อสอบถามเรื่องหลักการของการตั้งถิ่นเป็นเทศบาลนครและมีฐานะเทศบาลตามมาตรา 48 ต้องมีประชากรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนและโดยเฉลี่ย 1,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรนั้นมาจากหลักการใดและจะมีการแก้ไขต่อไปหรือไม่

นายปรีดีกล่าวตอบหลวงวิจิตรวาทการว่า

 

ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าอาศัยหลักการหลายอย่าง เราได้เทียบ อย่างในประเทศออสเตรเลียหรือในสหปาลีรัฐอเมริกา เป็นต้น เรื่องกำหนดพลเมืองและกำหนดความแน่นอนไว้อย่างหนึ่ง เราได้พิจารณาหลายอย่าง ถ้าหากว่าจะถือเกณฑ์อย่างเขาแล้ว ก็ไม่ได้ เราได้ขยับขยายหลักการหลายอย่างเท่าที่ตัวเลขปรากฏว่า ในกองควบคุมเทศบาลเวลานี้เช่นเชียงใหม่ก็อาจจะเป็นนครบาลได้ หรือภูเก็ต อีกแห่งหนึ่งก็สามารถจะเป็นนครบาลได้ ต้องอาศัยหลักการเช่นนั้นๆ ไม่อยากจะให้มีนครบาลแต่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียวเท่านั้น

 

เมื่อจบการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลฯ แล้วทางหลวงวรนิติปรีชาจึงเสนอให้มีการพิจารณาร่างฯ ในรวดเดียว หากมีผู้เสนอว่าให้ร่างฯ นี้ผ่านกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ท้ายที่สุดเมื่อลงมติแล้วจึงให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นจำนวน 5 นาย ประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พระสารสาสน์พลขันธ์ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา[14]

การพิจารณาพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลและการเสนอแปรญัตติเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วเพียงสองสัปดาห์ ก็มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 เพื่ออภิปรายแก้ไขจากการแปรญัตติครั้งสุดท้ายและมีการลงมติให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้[15]

 


การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476

 

การประชุมครั้งนี้มีหลักการว่าต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและมีการแปรญัตติสำคัญ 3 ประเด็นหลักรวมทั้งมีประเด็นย่อยๆ ที่ถกถามกันคือ หัวข้อสภาตำบลและผู้แทนตำบล ในประเด็นหลักคือหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลในด้านการทุจริตคอร์รัปชัน การจัดการศึกษาและอบรมโดยเทศบาล และการตั้งสภาจังหวัด[16] หัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างละเอียด ได้แก่ ประเด็นการห้ามเครือญาติ พ่อแม่ บุตรธิดา หรือสามีภรรยาต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิบัติงานร่วมกันหรือรับเหมางานโดยในมาตรา 23 มีการแปรญัตติโดยเพิ่มเติมความใหม่อีกวรรคหนึ่งคือ “นายกมนตรีและมนตรีตำบลต้องไม่มีส่วนได้เสียในการรับเหมาทำการของเทศบาล”[17] รวมทั้งขยายข้อถกเถียงไปถึงเรื่องการห้ามมิให้ผู้ที่เกี่ยวดองในฐานะที่เป็นสามีภรรยา หรือบุตรธิดาดังกล่าว รวมทั้งบุตรเขยบุตรสะใภ้ของมนตรีผู้อื่นในคณะมนตรีตำบลเดียวกันเข้ามาเป็นนายกมนตรีหรือมนตรีตำบล โดยนายปรีดีในฐานะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติชี้แจงว่าหลักการดังกล่าวมาจากบริหารงานท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส ดังนี้

 

ในกฎหมายต่างประเทศเขากำหนดไว้ต่างๆ กันอย่างในประเทศฝรั่งเศส กำหนดไว้สำหรับตำบลใหญ่ๆ ถ้าหากว่าเป็นตำบลเล็กๆ แล้วเขายอมให้โวตกันทั้งนั้น ถ้ามิฉะนั้นจะหาใครในคณะมนตีตำบลไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นควรจะคำนึงถึงข้อนี้ด้วย[18]...การที่จะให้เติมคำว่ามีส่วนได้เสียอย่างกว้างนั้น ก็เป็นเช่นสมาชิกผู้หนึ่งกล่าว ข้อนี้กรรมาธิการได้คำนึงถึงถ้อยคำที่จะนำมาใช้และประกอบทั้งหลักฐานต่างๆ คือเห็นว่าตามธรรมดาคนก็ต้องมีส่วนได้เสีย ถ้าเราจะหาคนที่ไม่มีส่วนได้เสียเลย บางทีก็อาจจะได้แต่ก็ไม่แน่นัก ความประสงค์ของเราอยู่ที่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์แก่การงานของเทศบาล เช่น ผู้รับเหมาทำถนนของเทศบาลแล้วเป็นนายกรัฐมนตรีตำบลหรือมนตรีตำบลด้วยผลประโยชน์อันนี้ย่อมเป็นปฏิปักษ์กันในการที่จะทำสัญญาต่างๆ ส่วนได้เสียอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นจึ่งเสนอไว้แค่เพียงแคบๆ ไม่ขยายกว้างดังที่สมาชิกเสนอมา[19]...ในฝรั่งเศสเขาลักลั่นเช่นนั้นจริง คือว่าสำหรับตำบลใหญ่จึงห้าม ตำบลเล็กไม่ห้าม[20]

 

ขณะที่ ขุนสมาหารหิตะคดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร เสนอความคิดว่า

 

ในข้อสังเกตของกรรมาธิการ (นายปรีดี-ผู้เขียน) ที่แนะนำมา เสนอสภาฯ ว่า เราควรจะวินิจฉัยในข้อที่ว่านี้หรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นไปในทางที่ว่า การที่จำเป็นพี่น้องอาจทำการไม่สุจริตได้นั้น ไม่ใช่เป็นความจริงที่แท้ คนที่ไม่ใช่เป็นพี่น้องอาจจะสมคบคิดกันก็ได้ ข้าพเจ้ามีเหตุผลอีกประการหนึ่งว่า ในการที่จะมีนายกมนตรีหรือมนตรีต่างๆ อะไรนี้ แท้ที่จริงเรามอบความไว้วางใจให้เขาแล้ว เป็นหน้าที่ที่เขาจะเลือกและวินิจฉัยอย่างไรเราไม่ควรจะตั้งกฎหมายว่าเขาจะต้องเลือกอย่างนั้น[21]

 

ส่วนประเด็นถัดมาคือ การให้เทศบาลจัดการศึกษาระดับประถมแก่ราษฎรและกุลบุตรกุลธิดาตามมาตรา 28 ที่มีการเสนอแปรญัตติเพื่อสอบถามถึงหลักการเพิ่มเติมทางนายปรีดีได้อธิบายไว้ว่า

 

ความประสงค์เราจะให้กุลบุตรกุลธิดาเท่านั้น เมื่อเราจะให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการประถมศึกษาตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการจะได้ดำริขึ้นใหม่ เราจะได้หาวิธีการอบรมราษฎร เพราะบางประเทศที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่ หลายประเทศเขาพยายามให้ราษฎรที่ไม่รู้หนังสือให้รู้หนังสือได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นเราจึงได้รับวางลงไปอย่างกว้างๆ เพื่อจะให้การใช้รัฐธรรมนูญนั้นได้บรรลุสำเร็จได้ไวขึ้น จึงใช้ฉะเพาะราษฎร ไม่ใช่กุลบุตรกุลธิดาเท่านั้น

 

หากนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีเสนอให้ตัดคำว่าประถมศึกษาออกเสียเพราะการอบรมราษฎรทั่วไปนั้นไม่อยู่ในเกณฑ์พระราชบัญญัติประถมศึกษาและจะสามารถอบรมหัวข้ออื่นๆ แก่ราษฎรได้กว้างขวางขึ้น เช่น การอบรมทางศีลธรรม ระบอบการเมือง และหนทางการทำอาชีพต่างๆ ได้ ทางนายปรีดีจึงกล่าวตอบว่า

 

การที่จะทำอย่างนั้นก็ได้แต่การที่เราจะกล่าวไว้นั้นเพื่อจะให้แน่ชัด การสำเร็จการประถมศึกษาเช่นนี้เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเงื่อนไขสำหรับพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลอีกด้วยส่วนการที่จะอบรมศีลธรรมนั้นได้ไม่หวงห้ามทำได้ แต่ที่เขียนไว้เพื่อที่จะให้เข้าใจให้เทศบาลรู้สึกตนว่าจะสำเร็จตามความประสงค์ได้เต็มภาคภูมิด้วย การศึกษาชั้นประถมนี้ และราษฎรจะได้ใช้รัฐธรรมนูญเต็มที่อีกด้วย การศึกษาชั้นประถมศึกษานี้เป็นการเร้าใจ[22]

 

และประเด็นสำคัญประการสุดท้ายที่มีการถกเถียงกันในการแปรญัตติคือ เรื่องสภาจังหวัด นายปรีดีกล่าวว่า การตั้งสภาจังหวัดโดยที่ยังไม่มีเทศบาลเมืองและเทศบาลนครนั้นสามารถทำได้[23]

 


พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476

 

เมื่อลงมติรับร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลแล้วจึงมีการตรากฎหมายเทศบาลขึ้นโดยประกาศทางราชกิจจานุเบกษาในชื่อว่า พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2477

การออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อกระจายอำนาจและปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นตามระบอบรัฐธรรมนูญของรัฐบาลคณะราษฎรจากกระบวนการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 แสดงถึงความตั้งมั่นในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของระบอบใหม่ที่มีความร่วมมือจากตัวแสดงหลายฝ่ายทั้งฝ่ายคณะราษฎร และฝ่ายเสรีนิยม-อนุรักษนิยม มีการถกเถียงกันอย่างเข้มขึ้นเพื่อคงไว้ซึ่งหลักการอันชอบธรรมและคำนึงถึงประโยชน์ของราษฎรอย่างเสมอภาค

ที่สำคัญในการตรากฎหมายทั้งสองฉบับนี้คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นที่ส่งอำนาจออกจากส่วนกลางไปสู่ชนบท และที่คาดไม่ถึงคือ การค้นพบแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องเทศบาลและการปกครองท้องถิ่นที่กล่าวถึงหลักการและอุดมคติไว้อย่างละเอียด โดยไม่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ความคิดของนายปรีดีเรื่องการเทศบาลมากนัก

บทความชิ้นนี้แม้จะย้อนกลับไปสู่จุดตั้งต้นของประชาธิปไตยแต่กลับร่วมสมัยเพราะอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันที่รัฐไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่และนโยบายการกระจายอำนาจได้กลับมาเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง[24]

หมายเหตุ :

คงอักขรตัวสะกดและการเว้นวรรคตามต้นฉบับ และใส่ภาพประกอบจากราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476,” เล่มที่ 50 ตอนที่ 751, น. 751-762.
  • ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476,” เล่มที่ 51 ตอนที่ 82, น. 82-107.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 วันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 337.
  • “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 วันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 429-430.
  • “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 1800-1820.
  • “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 2422-2496.

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • พระยาสุนทรพิพิธ. “ที่มาแห่งเทศบาล” ใน สรรคธานีอนุสรณ์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนสรรคธานี 16 กุมภาพันธ์ 2506. (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506).

หนังสือภาษาไทย :

  • ขุนจรรยาวิเศษ และนายทองหล่อ บุณยนิตย์. “คำอธิบายการเทศบาล,” (พระนคร: โรงพิมพ์ดำรงธรรม, 2478).
  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. “100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง,” (พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2554).
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. “ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์,” (กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2531).
  • ปรีดี พนมยงค์. “เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์),” กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552.
  • ปรีดี พนมยงค์. “ปาฐกถาเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476,” พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2477.
  • ปรีดี พนมยงค์. “คำอธิบายกฎหมายปกครอง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และพระสารสาสน์ประพันธ์,” พระนคร: มปท, 2475.
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “เทศบาล พื้นที่ เมือง และกาลเวลา,” (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2560).
  • สกลวรรณากร วรวรรณ ม.จ., “สากลเทศบาล,” (กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์สยามวิทยากรณ์, 2478).

วิทยานิพนธ์ :

  • สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2543).

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • ชัยวัฒน์ ม่านศรีสุข. “การปกครองท้องถิ่นในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 22, ฉบับที่ 1 (2543), น. 49-69.
  • ณัฐพล ใจจริง. “หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ กับ การเทศบาลของไทย,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 17, ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2562), น. 79-113.
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. “ปรีดี พนมยงค์ กับการปกครองท้องถิ่นไทย,” วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 (2542), น. 35-44.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนายน ถึง 5 ธันวาคม,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547), น. 70-128.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] ประชาไท (26 มิถุนายน 2566), โรม แจงข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติ 24 มิ.ย. เป็นความเห็นส่วนตัว ขอโฟกัสโหวต ปธ.สภา-ตั้งรัฐบาลก่อน,” [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่  31 กรกฎาคม 2566.

[2] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนายน ถึง 5 ธันวาคม,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547), น. 70-128.

[3] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2543. น. 49.)

[4] ปรีดี พนมยงค์, “เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์),” กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552, น. 21-24.

[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (8 กรกฎาคม 2563), ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 3: สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ (ต่อ).” [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566.

[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “ปรีดี พนมยงค์ กับการปกครองท้องถิ่นไทย”, วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 (2542), น. 35-44.

[7]  สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543, น. 50.)

[8] ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายกฎหมายปกครอง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และพระสารสาสน์ประพันธ์,” (พระนคร: ม.ป.ท., 2475), น. 86-87.

[9] ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476,” เล่มที่ 50 ตอนที่ 751, น. 751-762., พนารัตน์ มาศฉมาดล. พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566.

[10] ณัฐพล ใจจริง, “หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ กับ การเทศบาลของไทย,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 17, ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2562), น. 80-83.

[11] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, “ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์,” (กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2531), น. 235.

[12] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร,” ครั้งที่ 10 วันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, น. 337.

[13]สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร,” ครั้งที่ 15 วันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, น. 429-430.

[14] “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,”  น. 1800-1817.

[15] “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 2496.

[16] โปรดดูเพิ่มเติม อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (23 ตุลาคม 2564), “ประชุมสภาจังหวัด” รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะราษฎรเริ่มริ,” [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566.

[17]“รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม,” น. 2437.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 2438.

[19] เรื่องเดียวกัน, น. 2440.

[20] เรื่องเดียวกัน, น. 2446.

[21] เรื่องเดียวกัน, น. 2445.

[22] เรื่องเดียวกัน, น. 2449-2451.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. 2495.

[24] ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (26 มีนาคม 2566), “ก้าวไกล ปลดล็อกท้องถิ่น “พูดจริง ทำได้ ทำแน่,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่  2 สิงหาคม 2566.