ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หม่อมเจ้าสกลฯ และ นายปรีดี พนมยงค์ กับการสถาปนาเทศบาลในระบอบประชาธิปไตยไทย

15
กรกฎาคม
2564

หม่อมเจ้าสกลวรรณกรกับระบอบประชาธิปไตย

บทบาทของ ‘หม่อมเจ้าสกลวรรณากร’ เจ้านายแหวกขนบ ผู้สำเร็จการศึกษาประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจจากเคมบริดจ์ โดดเด่นขึ้นภายหลังหลังการปฏิวัติ 2475 ได้ไม่นาน ท่านทรงเป็นเจ้านายจำนวนไม่กี่ท่านที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลในระบอบใหม่

ด้วยสภาพบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง ส่งผลให้ท่านทรงนำความตั้งใจและอุดมคติทางสังคมมาปรับใช้กับสภาพการณ์ของระบอบการปกครองใหม่ได้อย่างเต็มที่

ท่านถูกย้ายจาก อธิบดีกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นคือ ตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (ต่อมาคือ กระทรวงเศรษฐการ)

ต่อมา เมื่อ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ แกนนำสายพลเรือนของคณะราษฎร ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นเพื่อยกระดับชีวิตของชาวไทยให้มีความสุขสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็วตามหลัก 6 ประการด้วยการเสนอให้มีการรวมที่ดินให้เป็นของรัฐ แต่แนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งของกลุ่มขุนนาง เจ้าที่ดิน อนุรักษนิยม ท่านทรงถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2476

แต่แทบไม่น่าเชื่อ หากพิจารณาจากฐานันดรของท่าน ทรงเป็นเจ้านายผู้หนึ่งที่แสดงความเห็นสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน รวมถึงการที่ทรงแสดงจุดยืนความคิดสังคมนิยม (Socialism)

ดังสะท้อนจากทัศนะของท่านเรื่องการรวมที่ดินและแรงงานเพื่อการกสิกรรม ทรงมีความเห็นว่า แนวคิดการรวมที่ดินที่ปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดีเสนอมานั้น ไม่เพียงพอ แต่ควรรวมที่ดินในเมืองและที่อยู่อาศัยเข้าไปด้วย เพื่อนำที่ดินทั้งหมดของประเทศมาวางโครงการเศรษฐกิจให้ครบรูป

ในขณะที่ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ นายกรัฐมนตรีและกลุ่มอนุรักษนิยมต่อต้านโครงการนี้ แต่ท่านกลับทรงมีพระวินิจฉัยในทางตรงกันข้าม พร้อมทรงยกตัวอย่างแนวโน้มของแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ในยุโรปมาสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีว่า

“เวลานี้เศรษฐกิจตามลัทธิกำลังตึงเครียด (ลิเบอรัล-Liberal) ในยุโรปนั้นทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วไปแล้ว วิธีโซเชียลลิสต์จะเข้ามาเป็นแทนที่”

เมื่อความขัดแย้งจากเค้าโครงเศรษฐกิจส่งผลให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม เพื่อมิให้สภาพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจได้แล้ว

ไม่นานจากนั้น พระยามโนปกรณ์ฯ ย้ายหม่อมเจ้าสกลฯ จากปลัดกระทรวงเกษตรพาณิชยการไปเป็นหัวหน้ากองการโฆษณาการในปลายเดือนเมษายนนั้นเอง

ต่อมา เมื่อพระยาพหลฯ รัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ในเดือนมิถุนายน 2476 แล้วพร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ท่านทรงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลย้ายท่านกลับไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยอีกครั้งในตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเพื่อช่วยงานรัฐบาลในการจัดตั้งเทศบาลขึ้น

 

หม่อมเจ้าสกลฯ ผู้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล 2476
หม่อมเจ้าสกลฯ ผู้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล 2476

 

แนวคิดการเทศบาลใหม่ของหม่อมเจ้าสกลวรรณากร

สําหรับงานสำคัญชิ้นแรกของหม่อมเจ้าสกลฯ ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย คือ การนำเสนอความคิดผ่านบันทึกจำนวน 2 เรื่อง คือ “บันทึกการปรุงแต่งเทศบาลในสยาม” กับ “หลักเทศบาลในนานาประเทศ”

ท่านวิจารณ์ (ร่าง) กฎหมายเทศบาลฉบับเดิมที่ถูกร่างในช่วงที่ไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาขัดข้องในการปกครองชุมชนหรือเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการสาธารณสุข ดังนั้น ร่างกฎหมายนั้นจึงเน้นงาน “การบำรุง”

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จุดมุ่งหมายตามกฎหมายเทศบาลฉบับใหม่นี้ มีความหมายถึงลักษณะ “การปกครอง” ตนเองของท้องถิ่นด้วย

ทรงเห็นว่าเทศบาลคือ “การปกครองที่โดยราษฎรผู้มีสิทธิ์ออกเสียงผู้แทนฯ ของตนขึ้นเป็นสภา ทำหน้าที่ทางปกครองร่วมมือกับเจ้าพนักงาน”

ต่อมา ภายใต้รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ตั้งกรรมการร่าง พ.ร.บ.เทศบาลขึ้น ประกอบด้วย ‘หม่อมเจ้าสกลฯ’ เป็นประธานกรรมการ ‘หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ’ และ ‘นายปรีดี พนมยงค์’

พวกเขาใช้เวลาร่างเพียง 3 เดือน ต่อมารัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีมหาดไทย
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีมหาดไทย

 

เทศบาลแบบประชาธิปไตย กับการกระจาย “การบำรุง” และ “การปกครอง” สู่ท้องถิ่น

พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล (2476) วางหลักการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นและให้สิทธิ์แก่พลเมืองแต่ละท้องถิ่นในการปกครองตนเอง โดยคำนึงถึงหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นใหม่อันแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน

โดยเทศบาลเป็นส่วนราชการในระดับท้องถิ่นถูกออกแบบเพื่อให้พลเมืองได้ปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย และมีบทบัญญัติที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับ “การบำรุง” และ “การปกครอง” ให้เกิดขึ้นในระดับฐานราก

กฎหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 6 หมวด จำนวน 65 มาตรา

นายปรีดีชี้แจงหลักการของกฎหมายฉบับนี้ในการประชุมของสภาผู้แทนฯ ว่า “การเทศบาลนั้นเราจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจการหลายอย่าง ไม่ใช่แต่การสุขาภิบาลอย่างในครั้งก่อน ซึ่งทำกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น”

ในที่สุด สภาผู้แทนฯ ผ่านกฎหมายดังกล่าว และประกาศใช้เมื่อ 24 เมษายน 2477

เมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล ประกาศใช้แล้ว หม่อมเจ้าสกลฯ ยังคงมีส่วนช่วยวางรากฐานการเทศบาลในประเทศสยามต่อไป โดยเฉพาะการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทศบาลซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในสังคมไทย ผ่านการอบรมข้าราชการเพื่อเป็นที่ปรึกษาเทศบาลของเทศบาลของมหาดไทย

ขณะนั้น นายปรีดีเป็นรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2477 รับหน้าที่ในการจัดการอบรมที่ปรึกษาเทศบาลให้กับรัฐบาล โดยการหมุนเวียนข้าราชการจากต่างจังหวัดผลัดกันเข้ามาอบรบที่ มธก.

ต่อมา นายปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การ มธก. ได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าสกลฯ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิสามัญ เป็นผู้สอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในกฎหมายการคลัง อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา เศรษฐศาสตร์พิสดาร เป็นต้น

ต่อมา ท่านทรงนิพนธ์ตำราประกอบการสอน เช่น กฎหมายการคลัง ( 2477) สากลเทศบาล (2478) อีกด้วย

หม่อมเจ้าสกลฯ ทรงมีอุดมคติถึงความสำคัญของการเทศบาลในฐานะที่เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยและเป็นหนทางในการสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับประชาชนว่า

“…การปกครองจากภายนอกอาจให้ผลดีบ้างก็จริงอยู่ แต่สู้การปกครองตนเองไม่ได้ หลักนี้เป็นความจริงสำหรับการปกครองท้องถิ่นเช่นเดียวกับสำหรับการปกครองประเทศ… การปกครองตนเองเป็นการปกครองของคนจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนได้เสียมากในท้องถิ่น แต่การปกครองจากภายนอกเป็นการปกครองของคนจำนวนน้อย ซึ่งมีส่วนได้เสียน้อยในท้องถิ่น” (สกลวรรณากร วรวรรณ, 2496, 41-42)

ต่อมา รัฐบาลแต่งตั้งหม่อมเจ้าสกลฯ เป็นประธานร่วมสำรวจโภคกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในต้นปี 2477 เพื่อใช้สำรวจข้อมูลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกับนายเยมซ์ เอ็ม. แอนดรูส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ด้วยเหตุความเชี่ยวชาญและทรงความรู้ในฐานะนักวิชาการของหม่อมเจ้าสกลวรรณากรมีอย่างกว้างขวาง ทำให้ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ในสาขาปรัชญาในปี 2477

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร อันทำให้ท่านมีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนฯ ผู้มาจากอีสานของ ‘นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์’ ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แนบแน่นกันจนนำไปสู่ความร่วมมือจัดตั้ง “พรรคสหชีพ” ซึ่งมีนโยบายแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม หม่อมเจ้าสกลฯ ทรงรับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาถึง 2484 ท่านทรงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการโดยไม่ทราบเหตุผล อาจวิเคราะห์ได้ถึงความเป็นไปได้ว่า ท่านอาจมีปัญหาในการทำงานร่วมกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะทัศนคติทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.มีลักษณะโน้มเอียงไปทางแนวคิดทหารนิยม

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงทรงยุติบทบาทในทางราชการและทรงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย จวบกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ท่านจึงกลับมามีบทบาทโลดแล่นบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางสายธารของการเฟื่องฟูของกระแสแนวคิดสังคมนิยมเมื่อสงครามจบสิ้นลง

 

ที่มา: ณัฐพล ใจจริง. “หม่อมเจ้าสกลฯ และนายปรีดี พนมยงค์”, มติชนสุดสัปดาห์, เผยแพร่เมื่อ 18 มีนาคม 2564

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ