ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปาฐกถาพิเศษ: ความสำคัญของเอกราชกับการต่างประเทศ

18
สิงหาคม
2564

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ เจ้าของเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador
นายรัศม์ ชาลีจันทร์
อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ
เจ้าของเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador

 

วิสัยทัศน์ของท่านปรีดี พนมยงค์ในด้านนโยบายต่างประเทศที่ได้วางรากฐานจนกลายมาเป็นเสาหลักของการทูตไทย

นโยบายที่สำคัญที่ท่านปรีดี พนมยงค์ได้วางไว้ ก็คือเรื่องของนโยบายต่างประเทศที่จะต้องอยู่บนหลักของเอกราชและอธิปไตย แต่เดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในยุคสมัยอาณานิคม แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ตกเป็นประเทศเมืองขึ้นทางนิตินัย เราก็ยังถือว่ามีเอกราชอยู่ แต่ในทางพฤตินัย ในทางปฏิบัติ อย่างที่ทราบกันในประวัติศาสตร์ เราถูกเอารัดเอาเปรียบ ถ้าจะว่ากันตามกฎหมาย เรามีสถานะกึ่งเมืองขึ้น เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างถูกเอารัดเอาเปรียบ แลtคนชาติของประเทศ เขาไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย มีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกสภาพอาณาเขต” ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคหรือสิ่งที่จะไม่สามารถทำให้ประเทศเราสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้ได้ผลประโยชน์แห่งชาติได้สูงสุด

เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกท่านปรีดีจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ให้ประเทศของเราเป็นเอกราช มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ทั้งนิตินัยและพฤตินัย เพื่อที่จะสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างอิสระแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ท่านปรีดีวางรากฐานก็คือการพยายามเจรจาต่างๆ กับนานาประเทศ ไม่ว่าจะที่เป็นพันธมิตรเดิม อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ที่เรามีสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ท่านก็แก้ไข เพื่อจะได้ให้เราหมดไปจากสิ่งที่กีดขวางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเรา ได้มีการดำเนินการไปอย่างเข้มข้น พยายามปรับเพื่อที่จะเป็นการวางฐานที่จะไปสู่การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งท่านก็เน้นเรื่องบทบาทของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระหว่างประเทศ พร้อมกับการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแนวความคิดนี้ก็ได้นำไปสู่การก่อตั้ง “อาเซียน” ได้สำเร็จในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “ท่านเปรียบเสมือนเป็นผู้วางรากฐานนโยบายต่างประเทศ” ซึ่งยังคงมีผลและเป็นที่ยึดถือปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้ครับ

ในการปาฐกถาครั้งนี้ ผมจะขอยกนโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนาในสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งเป็นเรื่องที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อจะโยงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ผมจะแบ่งการบรรยายออกเป็นสองช่วงได้แก่ ช่วงแรก คือ ยุคอาณานิคมมาจนถึงสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นยุคที่หนึ่ง ซึ่งกล่าวได้ว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานที่สำคัญที่สุดผู้หนึ่งของประเทศไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่แรกเริ่มที่ประเทเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบบประชาธิปไตย

ในยุคแรกที่เป็นยุคของท่านปรีดี พนมยงค์ นั้น เป็นยุครอยต่อระหว่างยุคอาณานิคมจนมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อยมาจนถึงสงครามเย็น ซึ่งประเทศในส่วนใหญ่ตอนนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ใช่เฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเดียว แต่ว่าทั้งในเอเชียทั้งในอัฟริกาและหลายๆ ที่ ส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญในการที่จะได้รับเอกราชและอธิปไตย เพราะในยุคนั้นหลายประเทศยังไม่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราชมาซึ่ง ส่วนไทยเราเอง แม้ว่าในทางนิตินัยจะเป็นประเทศเอกราช แต่ด้วยพันธกรณีหลายๆ อย่างที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกผูกมัดกับเรา ทำให้เราไม่ได้มีเอกราชและอธิปไตยอย่างแท้จริง ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะดีกว่าอีกหลายประเทศในโลก แต่ยังมีสิ่งที่เป็นขีดจำกัดในการดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศอยู่ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบพันธะกรณี สนธิสัญญาต่างๆ ที่เรามีไว้กับทางประเทศตะวันตก ซึ่งตรงนี้ท่านปรีดีมีบทบาทมากและเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนโยบายต่างประเทศที่ดีไม่สามารถกระทำได้ ตราบใดที่เรายังไม่มีเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มันก็ไม่สามารถทำให้เรากำหนดสิ่งเหล่านี้หรือนโยบายต่างประเทศตามที่เราปรารถนาได้อย่างแท้จริง

เราจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปโดยคู่ขนานกันกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ในช่วงก่อนสงครามโลก ประเทศไทยเราพยายามวางตัวเป็นกลาง สิ่งสำคัญที่ผมมองว่าเป็นมรดกของท่านปรีดี คือ ได้วางรากฐานไว้ให้กับนโยบายต่างประเทศของไทย ซึ่งก็คือแนวทางการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักสันติภาพ การริเริ่มก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asia League หรือ ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก ซึ่งตรงนี้ก็ยังมีอิทธิพลหรือเป็นรากฐานมาถึงนโยบายต่างประเทศของไทยในทุกวันนี้ จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นบิดาแห่งการวางรากฐานนโยบายการต่างประเทศของไทยที่สำคัญที่สุดท่านหนึ่ง

การริเริ่มการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออก แนวคิดนี้ก็ถูกนำไปสานต่อในนักการทูตรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านรัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ แล้วก็นักการทูตไทยและหลายๆ ท่านก็ได้สานต่อนโยบายเหล่านี้ ซึ่งเราก็จะได้เห็นการก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations) ซึ่งสำเร็จมาใน 50-60 ปี ในยุคของคุณถนัด คอมันตร์ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยให้ประเทศไทยเราฟันฝ่าอุปสรรคและก้าวมาในจุดที่เราถือว่าจะสร้างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้

ในสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าท่านจะเน้นในเรื่องการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในสันติภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสู่สงครามเย็นนั้น มันมีความเข้มข้นของสงครามเย็นมาก แม้ในทางหลักการเราจะบอกว่าเราวางตัวเป็นกลาง แต่ในช่วงสงครามเย็นที่ร้อนแรงเต็มที่ เราก็ไม่สามารถทำได้ จริงๆ แล้วก็เป็นที่น่าเสียดายว่านโยบายดีๆ ที่ท่านปรีดีวางไว้นั้น ถูกขัดขวางหรือบ่อนทำลายไปมากพอสมควร ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากสงครามเย็น และมาเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองของไทยด้วย

ในช่วงสงครามเย็นสหรัฐฯ ต้องการคานอำนาจของการแพร่หลายลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านการแพร่หลาย เพื่อไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่เข้ามามากยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดมันก็ไปสู่การทำรัฐประหารปี 2490 เรียกว่าเป็นการสลายอำนาจเดิมของทางคณะราษฎรไปหมดสิ้น ซึ่งการสลายขั้วอำนาจเดิมของคณะราษฎรนี้มีผลอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศไทย หลายคนอาจจะไม่คาดคิด

ในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ที่เรียกกันว่า “ยุคสงครามเย็น” ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการจากไทย คือ ต้องการให้เป็นพันธมิตรที่ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงในประเทศไทย

จนในที่สุด ผลจากนโยบายของเราที่เคยเป็นกลางก็กลายเป็นเอนเข้าข้างสหรัฐฯ โดยตรงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950-1970 จนมีคำกล่าวว่า ไทยนี้เดินตามก้นสหรัฐฯ  เสมอ ซึ่งตอนนั้น สถานะความเป็นกลางของไทยสูญเสียไปมาก และที่เป็นจุดด่างพล้อยของการต่างประเทศไทยนี้ คือการที่ยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไท และส่งกองกำลังไปโจมตีทิ้งระเบิดประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การที่เรามีฐานทัพของต่างประเทศอยู่ในประเทศเรา และฐานทัพนั้นๆ ส่งกองกำลังไปโจมตีประเทศอื่นๆ ใช่ประเทศที่มีเอกราชอธิปไตยจริงหรือ?

เพราะโดยหลักเกณฑ์แล้ว ประเทศที่เป็นเอกราชอธิปไตยจะไม่มีกองกำลังต่างชาติที่ตั้งอยู่และส่งกองกำลังไปโจมตีประเทศอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าเอกราชและอธิปไตยของเราที่มีนั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งจริงๆ สภาวะในช่วงปี 1950-1960 ในทางพฤตินัย ประเทศเราไม่ได้ต่างอะไรมากกับการเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา เพราะเขาบงการได้หมดทุกอย่าง แม้กระทั่งการผลักดันให้ใครขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศของเรา ผมจึงคิดว่าสหรัฐฯ ก็ต้องมีส่วนสำคัญให้ประเทศเราเป็นอย่างนั้นเช่นนั้น 

ตรงนี้หลายคนอาจไม่ทันได้คิดว่าการที่ประเทศเราเป็นเช่นนั้น เกิดจากการที่เราไปอยู่ในวังวนของสงครามเย็นที่กำลังเดือดระอุก็เลยทำให้ประเทศเราถูกรัฐประหาร และในที่สุดก็ถูกยึดครองในทางพฤตินัยโดยสหรัฐฯ เพื่อจะใช้ไทยเป็นฐานเพื่อสู้รบกับการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้น ซึ่งตรงนี้มันก็ทำให้การวางตัวเป็นกลางของเรานั้นเสียไปมาก

อย่างไรก็ดี นโยบายที่ท่านปรีดี พนมยงค์ วางไว้ก็ยังคงอยู่ คือ การพยายามให้เรามีบทบาทในเวทีโลก โดยเฉพาะในการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตอนออกเฉียงใต้ ซึ่งกลายมาเป็นอาเซียน แม้ว่าเราจะสูญเสียในเรื่องของความเป็นเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะถูกยึดไปโดยพฤตินัย เราก็ขาดความเป็นกลาง

แต่ในท้ายที่สุดสมาคมอาเซียนดังกล่าว ก็มีบทบาทสำคัญโดดเด่นโดยเฉพาะในช่วงปัญหาสงครามของกัมพูชาที่เวียดนามบุกโจมตีเข้ายึดกัมพูชา และนั่นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเรามีกองกำลังต่างชาติที่ถือว่าเป็นกองกำลังอันดับต้นของโลกคือเวียดนาม มาประชิดชายแดนไทย และเกิดการประทะกันระหว่างกองทัพทหารไทยกับทหารเวียดนาม ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงและร้ายแรงมาก ด้วยศักยภาพทางการทหารของเวียดนามสามารถบุกประเทศไทยได้ทุกเมื่อ อย่างชายแดนแถบตาพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาไม่ถึงวันก็เข้ามาถึงได้แล้ว

ในตอนนั้นถือว่าเป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่เราสามารถใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการทางการทูตที่ผลักดันให้เราสามารถโดดเดี่ยวเวียดนามได้ และหาพันธมิตรจากทั่วโลกในการผลักดันให้เวียดนามต้องถอนออกจากกัมพูชา ในที่สุดซึ่งก็ใช้เวลาร่วม 10 ปีในการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสิ้น ซึ่งผลงานสำคัญขององค์กรอาเซียนที่ได้รับอิทธิพลมาจากท่านปรีดีที่สามารถเป็นมิตรกับประเทศต่างๆ

จนมาถึงเมื่อเสร็จสิ้นปัญหากับกัมพูชา นโยบายต่างประเทศของไทยก็ต่อมาในยุคของท่าน ‘ชาติชาย ชุณหะวัณ’  ซึ่งเราก็มีนโยบายว่า “เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า” อันลือลั่น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และอยากจะเน้นว่านโยบายการเปลี่ยนครั้งนี้เป็นที่โดนใจทางผู้นำเวียดนามและในอินโดจีนเป็นอย่างมาก เพราะมีการเก็บไปวิเคราะห์และมีการกล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราเลยทีเดียว ถ้าใครจำได้ เศรษฐกิจนั้นรุ่งเรืองมาก

ภายหลังจากเสร็จสิ้นปัญหากับกัมพูชา ประเทศไทยเราสามารถรวมตัวอาเซียนได้ 10 ประเทศ ตามที่ท่านเคยวางไว้ถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง ซึ่งมันก็เป็นจริงแต่ว่ามันก็ได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายเพราะว่ายุคนี้เป็นยุคที่เสร็จสิ้นสงครามเย็น เป็นยุคใหม่ซึ่งเท่ากับทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งก็จะมีความอิสระในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างที่ท่านปรีดีได้กล่าวไว้ ซึ่งมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในวังวนหรือถูกบีบโดยสหรัฐฯ รัสเซีย หรือจีน

 

เอกราชและประชาธิปไตยเป็นปัจจัยนำพาประเทศเข้าสู่สังคมโลก

เรามีความอิสระและเราก็มีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะสหรัฐฯถอนกำลังออกไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ยึดครองเหมือนในช่วงสงครามเย็นอีก เพราะฉะนั้นในช่วงนั้น หลังจากเสร็จสิ้นสงครามเย็นแล้วจึงถือว่าเรามีเอกราชและอธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ผมอยากจะเรียนตรงนี้ว่า ประเทศไทยเรามามีบทบาทในด้านการต่างประเทศที่โดดเด่นมากที่สุดในช่วงของรัฐบาล ‘คุณทักษิณ ชินวัตร’ เพราะนอกจากการมีเอกราชและอธิปไตยที่สมบูรณ์ในช่วงนั้นแล้ว ไม่ได้มีการถูกแทรกแซง และที่สำคัญคือ รัฐบาลของคุณทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่มีที่มาโดยประชาธิปไตยและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

เมื่อบวกกันแล้วรัฐบาลจึงมีทั้งแรงขับเคลื่อนในทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านการต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น นโยบายต่างประเทศในยุคคุณทักษิณ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นยุคที่มีบทบาทเด่นมากที่สุด และก่อตั้งเวทีต่างๆ ในทางการระหว่างประเทศมากมายไม่ว่าจะเป็น (Asia Cooperation Dialogue (ACD), Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS)

เราเริ่มมีบทบาทเป็นผู้นำที่ข้ามออกนอกอาเซียน ไปสู่เอเชียคือ ACD ซึ่งรวมไปถึงประเทศทางตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะว่าอะไร? ก็วนกลับมาที่เดิมคือ เรามีเอกราชอธิปไตยที่สมบูรณ์ และเรายังมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วย จึงทำให้ประเทศไทยเราโดดเด่น เพราะว่านอกจากการที่คุณมีพลังขับเคลื่อนจากประชาชน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว คุณก็ยังได้รับการยอมรับจากประเทศในโลกที่มีประชาธิปไตยจริงๆ

แม้ว่าในทุกวันนี้จะมีประเทศที่ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอยู่อย่างจีน เวียดนาม หรือลาว ที่ยังใช้ระบบสังคมนิยม อาจจะมีคิวบา เกาหลีเหนือที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย และประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ หรือ สังคมนิยมจริงๆ เหลือไม่ถึง 5 ประเทศ ในขณะที่โลกส่วนใหญ่นั้นแนวปฏิบัติของโลกมันคือ “ประชาธิปไตย”

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน นั่นแปลว่าคุณถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบโดยอัตโนมัติ เพราะว่าคุณไม่ได้มาตรฐานโลก ถ้ากระบวนการหรือประชาธิปไตยของเราไม่ถูกตัดตอนหรือขาดตอนไป อย่างที่เราเห็นสภาพหรือขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศของเกาหลีใต้ เมื่อก่อนนี้เขาล้าหลังกว่าไทยเราด้วยซ้ำไป แต่ด้วยการมีประชาธิปไตยต่อเนื่องเขาไปไกล จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเราก็มีขีดความสามารถไม่แพ้เกาหลีใต้ เพียงแต่ว่าของเราน่าเสียดายที่ประชาธิปไตยของเรานี้มันถูกตัดตอนตลอดเวลา

เมื่อครั้งที่อาจารย์ปรีดีได้เปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องเอกราชและอธิปไตย และการขับเคี่ยวเรื่องประชาธิปไตยก็ยังมีมาต่อเนื่อง ในช่วงที่ประชาธิปไตยของเราลุ่มๆ ดอนๆ เมื่อเกิดรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังถือว่าเป็นปัจจัยจากภายนอก เพราะมีมหาอำนาจคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแต่ตอนหลังมันไม่ใช่ปัจจัยภายนอก เป็นสิ่งที่น่าเจ็บใจ น่าเสียดายก็คือมันกลายเป็นปัจจัยภายในของประเทศเราเอง

การได้มาของรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร คือ ความล้มเหลวของชาติบ้านเมือง

บทสรุปสุดท้ายที่ผมอยากจะนำเสนอ ซึ่งจะถูกนำมาโยงกับเรื่องนโยบายต่างประเทศของไทยในสถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด 19 และการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์นี้ คือเราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยนี้ ตามเกณฑ์มาตรฐานของโลกเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ตามเกณฑ์โดยทั่วไปที่เขาตัดสินเพราะว่ากฎเกณฑ์แต่ละอย่าง

หนึ่ง คือ ที่มาของรัฐบาลปัจจุบันเป็นการสืบทอดอำนาจมาจากในการทำรัฐประหาร ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในสายตาของชาวโลก เท่ากับว่าคุณไม่ได้อำนาจมาอย่างเป็นธรรมแท้จริง เป็นการปล้นอำนาจมา การฉีกรัฐธรรมนูญ Cope d’tat รัฐประหาร ชื่อมันก็บอกในตัวอยู่แล้วว่ามันคือการได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้อง

หลังจากนั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่สามารถบอกได้พูดได้ว่าโปร่งใสเป็นธรรม และขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงโดยเฉพาะการมีสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่มาจากการแต่งตั้งและมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่แน่นอนในแง่ของหลักการประชาธิปไตย ถ้าคุณจะบอกว่าคุณเป็นประชาธิปไตย จะพูดคุณก็พูดได้ แต่คนอื่นเขาก็มองคุณอยู่ดีว่าคุณเป็นจริงหรือไม่ เหมือนกับเกาหลีเหนือเรียกตัวเองว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งก็มีคำว่าประชาธิปไตยอยู่แต่ทุกคนในโลกเขาก็รู้ว่าคุณไม่ได้เป็น ก็เช่นเดียวกับในกรณีของเรา

 

การมีประชาธิปไตยสมบูรณ์เกี่ยวพันกับนโยบายต่างประเทศอย่างไร?

เมื่อเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแท้จริง จึงไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของโลก จึงไม่ได้มาตรฐานของโลก เมื่อไม่ได้มาตรฐานของโลกก็ทำให้เราถูกมองด้วยสายตาตำหนิ และความสัมพันธ์อันดีที่เราเคยมีเมื่อก่อนกับหลากหลายประเทศจึงถึงคราวห่างเหิน

ห่างเหินเพราะอะไร?

ก็เพราะว่าเราไม่ทำตามเกณฑ์ของสังคมโดยทั่วไป คือถ้าเราบอกว่าเขาไม่อยากคบเราเราก็ต้องมองตัวเองก่อนว่า เขาไม่อยากคบเราเพราะอะไร เพราะเขามาทำเรา หรือ เราไม่ประพฤติตัวให้อยู่ในครรลองที่เป็นธรรมหรือเปล่า

สังคมโลกก็เหมือนกับสังคมหมู่บ้าน หากคุณจะอยู่ด้วยกัน สนิทสนมรักใคร่กัน วันหนึ่งเมื่อมีสมาชิกคนหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม กลายเป็นรังแกคนในหมู่บ้านตนเอง หรือว่ามียามในหมู่บ้านนั้นยึดอำนาจคนในบ้านอีกทีหนึ่ง และรังแกตีเมียลูกเด็กเล็กแดง ซึ่งสิ่งเหล่านี้โดยทั่วไป ก็เป็นที่ยอมรับไม่ได้ของชุมชนนั้นๆ ซึ่งเหมือนกับสังคมโลก เมื่อเราไม่ทำตัวให้อยู่ในเกณฑ์สิ่งที่ดีงามเป็นธรรมต่างๆ เราเปลี่ยนไป เขาก็ต้องมองเราด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว จึงทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้ห่างเหิน

เท่านั้นยังไม่พอ ยังบีบให้เรามีตัวเลือกน้อยลง เราอย่าลืมว่าการทูตที่ดี ก็คือการมีมิตรที่มาก ยิ่งคุณมีน้อยนิดเท่าไหร่ ก็แสดงว่าการทูตของคุณแย่ลงทุกวัน ก็คือสภาวการณ์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเรามีมิตรน้อยลงทุกวันๆ เราก็ต้องหันไปคบค้ากับไม่กี่ประเทศที่เขาไม่สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจว่าคุณจะรังแกลูกเด็กเล็กแดงในบ้านอย่างไร หรือจับเด็กอายุไม่ถึง 20 ปีเข้าคุก อะไรเหล่านี้ มันก็เหลือให้คุณคบได้แค่นี้ เหมือนคุณทำตัวให้แคบลงๆ

ผลที่ตามมาโดยเราจะมองจากสถานการณ์ปัจจุบันว่าคืออะไร ก็คือพอเราทำตัวให้แคบ และยิ่งเราตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลกของสหประชาชาตินี้ สะท้อนทัศนคติที่ไม่อยากร่วมมือกับประชาคมโลก นี่คือการโดดเดี่ยวตนเองอย่างจงใจ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผิดมาก

ทัศนคติที่ดีคืออย่างที่ท่านปรีดี พนมยงค์พูดว่า เราจะต้องมีบทบาทในเวทีโลก ไม่ใช่เรามาจำกัดตนเอง มาคอยขีดวงตนเอง การที่จะไม่เข้าร่วม นั่นหมายถึงเป็นการแยกตัวจากประชาคมโลก แยกตัวอยู่ตามลำพัง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเราไม่ได้รับวัคซีนในจำนวนและในเวลาที่ทันท่วงที อย่างหลายๆ ประเทศที่เขาได้รับ ตามมาด้วยการที่เราไม่มีมิตรประเทศหรือมีน้อยลงทุกวันๆ ทำให้เราได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศหรือได้รับวัคซีนช้าและจำนวนน้อย

แม้ว่าเราจะได้รับจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่อย่าลืมว่าต่อให้รับจากอเมริกา เขาก็ให้ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก่อน ให้มาเลเซียก่อน ให้อีกหลายประเทศก่อนไทย เพราะว่าไทยเราไม่ทำตัวอย่างที่เคยเป็น เราไม่ได้อยู่ในกรอบมาตรฐานของโลกอีกต่อไป แต่เขาก็ยังเห็นแก่ไมตรีครั้งก่อน ยังช่วยเหลือ แต่มาช้า ซึ่งพอมาช้าก็มีผลทำให้ยิ่งได้รับช้า ได้ฉีดช้า ทำให้ยิ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น

นี่คือผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ สิ่งเหล่านี้มันก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้มิตรเราน้อยลงและมันก็มีผลส่งผลอย่างแน่ชัดในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราควรจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้ ถ้าเราเป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ มากกว่านี้ ซึ่งเดิมเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผมเชื่อมั่นว่าจำนวนวัคซีนที่เราจะได้รับการช่วยเหลือจะมามากและรวดเร็วกว่านี้ และผมเชื่อว่าถ้าเราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราก็จะต้องเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) อย่างแน่นอน ถ้ารัฐบาลเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าอย่างน้อยก็จะมีทัศนคติที่อยากร่วมมือกับประชาคมโลก เพราะนี่เป็นแนวนโยบายต่างประเทศที่ปฏิบัติมาแต่ไหนแต่ไร เราจะต้องอยู่เคียงข้างโลกส่วนใหญ่ไม่ใช่เราไปอยู่โดดเดี่ยว เราจะต้องแสวงหามิตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด เพราะว่า “เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย”

ประการสุดท้ายที่อยากให้คิด ว่าการที่เราโดดเดี่ยวตนเองและเราเข้าไปพึ่งประเทศที่เขาไม่ได้นิยมประชาธิปไตย หรือ ไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย และไปพึ่งเขาประเทศเดียวเป็นผลเสียหายอย่างมาก เพราะนอกจากเราไม่มีทางเลือกอื่นๆ หรือได้รับการช่วยเหลือช้าแล้ว ประเทศที่เราไปหวังพึ่ง หรือ ประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เขาก็รู้นะ...ว่าเราไม่มีที่พึ่งและไม่มีที่ไปต้องมาพึ่งเขา

เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งประเทศจีนเอง ผมก็ว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เราจะดูว่าประเทศจีนช่วยเหลือไทยในการบริจาควัคซีนซิโนแวคให้ประเทศไทย ถ้าผมจำไม่ผิดก็ประมาณหนึ่งล้านโดสโดยประมาณ

ตรงนี้ชี้ให้เห็นอะไร?

ชี้ให้เห็นว่าในหนึ่งล้านโดสที่ให้มา แต่ไทยเองก็ต้องซื้อจากจีนเป็นสิบๆ ล้านโดสและซื้อในราคาแพงกว่าด้วย ในขณะที่จีนเองให้ความช่วยเหลือวัคซีนกับประเทศอย่างอินโดนีเซียในจำนวนที่มากกว่าไทยแน่นอน ราคาก็ถูกกว่าไทยแน่นอน ก็เพราะว่าเขาก็รู้ว่าเราไม่มีทางไป เพราะว่าเราปิดกั้นตัวเอง เหมือนหมูในอวย เขายิ่งรู้ว่าไทยต้องหาที่พึ่งพิง เขาจึงให้มาเพียงหนึ่งล้านโดส ซึ่งผมว่าคิดกันง่ายๆ จากราคาของซิโนแวคที่คุณซื้อแพงกว่าไฟเซอร์ก็เท่ากับว่าเขาไม่ได้ให้คุณเลยนะ เพราะถ้าเทียบกับราคาที่คุณซื้อซิโนแวคกับราคาที่อินโดนิเซียซื้อ  หนึ่งล้านโดสนี่เผลอๆ เขาแทบจะไม่ได้บริจาคเลยด้วยซ้ำไป ก็แค่วนอยู่ในราคาที่คุณซื้อเกินแพงกว่าคนอื่นเขาหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นบทสรุปของผมก็คือ การดำเนินนโยบายที่พึงปรารถนาในปัจจุบันนอกจากเราจะต้องมีเอกราชอธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว เราจะต้องมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงถึงจะนำพาประเทศให้แก้ไขปัญหาและเจริญก้าวหน้าไปได้ อย่างที่เกาหลีใต้เป็น ซึ่งเมื่อก่อนเขาก็ล้าหลังกว่าเราด้วยซ้ำไปและเขาก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เผอิญเพราะเขาเป็นประชาธิปไตยแล้วเขาก็ก้าวหน้าไป

ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศล่มจมก็มีให้เห็นชัด ใกล้ๆ ประเทศเราก็คือเมียนมา ที่ทหารยึดครอง จากประเทศที่เคยร่ำรวยกว่าไทยในยุคหนึ่งพม่าส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกเมื่อ 60 ปีมาแล้ว แต่ตอนหลังก็แทบจะไม่เหลืออะไรเลยเพราะการบริหารที่ผิดพลาดและไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราก็เห็น มีให้เห็นกันอยู่ชัดๆ เราก็ต้องเลือกเอา

เป็นที่น่าเสียดายว่าทุกวันนี้ ความเป็นประชาธิปไตยของเรายังห่างจากการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มาก และผมเห็นว่ามันไม่มีทางใดที่ประเทศเราจะเจริญก้าวหน้าไปได้ ตราบใดที่เรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และการไม่เป็นประชาธิปไตยมันก็ส่งผลถึงการต่างประเทศ ส่งผลถึงการที่เราไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นชัดในกรณีสถานการณ์โควิดปัจจุบัน

 

รัศม์ ชาลีจันทร์

 

ผมขออนุญาตจบการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้ ต้องขอขอบคุณทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ อีกครั้งนะครับที่ให้เกียรติเชิญผมให้มาพูดในวันนี้ ผมรู้สึกเป็นความภาคภูมิใจในฐานะลูกหลานของคณะราษฎรและเสรีไทยด้วยนะครับ และ ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ.

 

 

 

 

ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราชกับการต่างประเทศและข้อเท็จจริงเรื่องขบวนการเสรีไทย” ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความสําคัญของหลักเอกราชกับการต่างประเทศ” โดย นายรัศม์ ชาลีจันทร์