ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และ เสรีไทยในจังหวัดตาก

24
สิงหาคม
2564

บทนำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ผมได้พบ ‘คุณสุพจน์ ด่านตระกูล’ และ ‘ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร์’ ถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติการของเสรีไทยในจังหวัดตาก ขณะนั้นผู้ที่ร่วมปฏิบัติการฯ ลับหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว ทั้งๆ ที่เพื่อนสนิทของผมรุ่นนั้นได้เข้าไปอยู่ในค่ายถึง ๒ คน คือ ‘คุณลิขิต อังศุสิงห์ นปณ.’ ซึ่งเข้าไปเป็นพนักงานวิทยุอยู่จนเสร็จ และ ‘ร.ต.อ. สนั่น บุณโยทยาน’ รอง ผกก. ตำรวจตากฯ ก็กลับมาอยู่ที่ตากอีกตั้งนาน ก็ไม่เคยถามเรื่องละเอียดภายในค่ายกันอีกเลย เพราะขณะนั้นปิดกันเป็นความลับ จึงทราบแต่เรื่องส่วนจังหวัดที่ท่านข้าหลวงฯ ได้สั่งให้ผมและท่านปลัดจังหวัดทำเท่านั้น

จึงได้ให้ไปและนำลงใน “สารานุกรมเสรีไทย เล่ม ๒” ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร์ แล้ว และในเล่มนั้น ผมได้ทราบจากเรื่องของ ‘ร.อ. อรุณ สรเทศน์’ ‘คุณพึ่ง ศรีจันทร์’ ‘พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์’ ซึ่งไปร่วมในจังหวัดตากด้วย และอีกเล่มหนึ่ง ‘ม.จ.การวิก จักรพันธ์’ ได้เขียนเรื่อง “ปฏิบัติการเนโรเนียน” ในหนังสือ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๓ เกี่ยวกับการปฏิบัติการในจังหวัดตากด้วย แต่ยังขาดบางอย่างที่ผมอยากทราบ ผมจึงได้ตามหาท่านจนพบ และท่านได้ประทานให้ข้อมูลให้มาพอสมควร และได้ข้อมูลเบื้องต้นมาจาก “บันทึกการปฏิบัติงานใต้ดินของอดีตเสรีไทย” อีกเล่มหนึ่ง

คงเป็นที่สมใจของคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ที่ได้ให้เกียรติผมในการที่ให้ผมมีโอกาสได้แสดงความกตัญญูต่อ ‘ท่านอาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ผู้ที่ผมเคารพบูชาสูงสุดยิ่งประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งผมได้มีโอกาสช่วยให้ ‘คุณสมจิตต์ อินสิงห์’ ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๘ อดีตเอกอัครราชทูตประจำบรูไน, ตุรกี ฯลฯ ซึ่งไปพักผ่อนอยู่ในไร่ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และได้พาเพื่อนๆ เอกอัครราชทูตหลายท่านที่สนใจเรื่อง “ห้วยเหลือง” ซึ่งเป็นที่ฝึกพลพรรคเสรีไทยนี้

ทำให้ได้ข้อมูลปัจจุบันมาในตอนท้ายนี้ด้วยแล้ว คงจะเป็นข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวถิ่นอันเป็นประวัติศาสตร์นี้เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง ในการระลึกถึงพลพรรค “เสรีไทย” เพิ่มเติมขึ้นจากที่ ‘ดร.พิจิตต รัตตกุล’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งชื่อถนนและสวน “เสรีไทย” พร้อมทั้งปลูกตันไม้ติดชื่อ “เสรีไทย” ที่ได้ไปปลูกเป็นที่ระลึกไว้ที่ปลายถนนสุขาภิบาล ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๐ นี้ อันเป็นเกียรติแก่ “คณะเสรีไทย” ซึ่งประสบอุปสรรคมานาน และเพิ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ฯพณฯ ชวน หลีกภัย (สมัย ๑) ได้อนุมัติเมื่อปี ๒๕๓๙ ให้ถือวันที่ ๑๖ สิงหาคม ของทุกๆ ปีเป็น “วันสันติภาพ” อันเป็นวันสำคัญของชาติเพิ่มขึ้นอีก ๑ วัน

ทั้งนี้นับเป็นพระคุณของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวนามมาแล้วทั้ง ๒ ท่านนั้นเป็นอย่างยิ่งแก่พลพรรค “เสรีไทย” ที่ได้มีส่วนช่วยชาติมานั้นเป็นอย่างสูงที่ได้รับเกียรติอันสมควรนั้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่พวกเราลูกโดมและพลพรรคเสรีไทย ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง ในปี ๒๕๔o นี้ คือ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร.ปรีดี พนมยงค์และอดีตหัวหน้าเสรีไทย ได้รับเกียรติเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ซึ่งจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี ๒๕๔๓

ทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติเงินทุนเริ่มต้นสำหรับงานฉลองสำหรับท่านในการนี้ประเดิมเป็นเงิน ๕ แสนบาท และบอกบุญแก่ศิษย์เป็นการทั่วไปอีกด้วย ความทราบถึงลูกโดม ๒ ท่านคือ คุณวิระ รมยะรูป และคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ จึงหารือคุณชาตรี โสภณพานิช อนุมัติให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ส่งเงินช่วยในการนี้ด้วย ๑ ล้านบาท เป็นการกตัญญูต่อท่านผู้มีพระคุณยิ่งต่อประเทศชาตินี้ ขอพวกเราจงมีส่วนร่วมในการฉลองครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกันด้วย

การเริ่มตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ

ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มบุกเข้าประเทศไทย เหตุการณ์ตามวาทะของ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า

“เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็ได้พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก). นายสงวน ตุลารักษ์, นายจำกัด พลางกูร, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วรวัฒน์) ฯลฯ เพื่อนที่ได้มาพบนั้นก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเอง และคณะราษฎรส่วนมากที่ได้ประสบเห็นภาพที่กองทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นทหารต่างด้าวได้เข้ามารุกรานประเทศไทย

และการที่ราษฎรไทยได้หลั่งน้ำตานั้น มิใช่เพราะความขลาดหรือกลัวตายหากหลั่งน้ำตา เพราะ “เจ็บใจ” และ “แค้นใจ” ที่ว่า “เจ็บใจ” นั้นก็เพราะถูกต่างชาติที่รุกราน ที่ว่า “แค้นใจ” นั้นก็เพราะรัฐบาลไม่ทำตามที่ได้โฆษณาเรียกร้องทั้งในทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง ให้ราษฎรเสียสละและต่อสู้เพื่อรุกราน คือ เมื่อสู้ทางอาวุธไม่ได้ ก็ให้เผาอาคารบ้านเรือน ยุ้งฉาง ก่อนที่ศัตรูเข้ามารุก ให้เหลือแต่ผืนดินเท่านั้นที่ศัตรูจะยึดเอาไปได้

ดังที่รัฐบาลตั้งคำขวัญไว้ว่า “ให้ศัตรูยึดได้ แต่ปฐพี” อีกทั้งโฆษกของรัฐบาลให้ใช้อาวุธทุกชนิดที่พลเมืองมีอยู่เช่น ปืน, ดาบ, หอก, หลาว ฯลฯ รวมทั้งสัตว์พืชที่มีพิษ…..

เมื่อได้ปรึกษาหารือกันพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมลับนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น”ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป.....”

 

นายพึ่ง ศรีจันทร์
นายพึ่ง ศรีจันทร์

 

หลังจากการบุกของญี่ปุ่น ๓-๔ วัน ท่านอาจารย์ ดร.ปรีดีฯ ได้เรียกลูกศิษย์ที่ใกลัชิดกับท่านมาพบ ในจำนวนนี้มี ‘นายพึ่ง ศรีจันทร์’ ส.ส.อุตรดิตถ์ (ภายหลังได้เป็นรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร) ร่วมอยู่ด้วย ท่านได้ชี้แจงโดยวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ขอความร่วมมือกันในการต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อเอกราชของคนไทย

การติดต่อต่างประเทศ

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ ท่านอาจารย์ ดร.ปรีดีฯ ได้ส่ง ‘นายจำกัด พลางกูร’ (สามีคุณพี่ ‘ฉลบฉลัยย์ พลางกูร’ เจ้าของโรงเรียนดรุโณทยาน) เล็ดลอดเดินทางไปประเทศจีนในฐานะผู้แทนองค์การใต้ดินของประเทศไทย นายจำกัด พลางกูรเดินทางด้วยความยากลำบากไปกับ ‘นายไพศาล ตระกูลลี้’ ถึงจุงกิงเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน และพยายามติดต่อกับ ‘ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช’ ตลอดจนติดต่อกับทางการของจีน, สหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ได้มีอุปสรรคนานัปการ (รวมทั้งการถ่วงเวลาของฝ่ายจีนและอังกฤษซึ่งต้องการเป็นใหญ่ในประเทศไทย) ทำให้การติดต่อไม่ได้ผลดีอย่างรวดเร็วได้เท่าที่สมควร

ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๖ เมื่อข่าวการเล็ดลอดออกจากประเทศไทยในฐานะผู้แทนองค์การใต้ดินในประเทศไทยของนายจำกัด พลางกูร ได้ทราบถึงทางการของสหรัฐฯ และอังกฤษ ๆ ได้ส่ง ‘พ.ต.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์’ (พ.ต.อรุณหรือท่านชิ้น) เดินทางมาพบพร้อมกับ พ.ท.ม.ล.ขาบ กุญชร ซึ่งเป็นทูตทหารอยู่ที่จุงกิงขณะนั้นแล้ว ท่านทั้ง ๒ ได้พบนายจำกัด เกือบพร้อม ๆ กับชุดที่ ๒ ที่ทางกรุงเทพฯ ส่งมาใหม่

ทางด้านกรุงเทพฯ ดร.ปรีดีฯ เมื่อไม่ได้รับข่าวจากนายจำกัดฯ เป็นเวลา ๕ เดือน ก็ได้ส่ง ‘นายสงวน ตุลารักษ์’ และ ‘นายแดง คุณะดิลก’ เดินทางไปจุงกิงเป็นผู้แทนองค์การใต้ดินชุดที่ ๒ ทั้งสองได้ไปพบนายจำกัด พลางกูร ก่อนที่นายจำกัดฯ จะถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๘๖ (ได้ทราบว่าถูกวางยา ป่วยกระเสาะกระแสะมานานแล้ว พอได้รับอนุมัติให้เดินทางไปยังวอชิงตัน ก็ถึงแก่กรรมทันที-นับเป็นเสรีไทยคนแรกที่ถึงแก่กรรม) คุณสงวนฯ และคุณแดงฯ จึงเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อประสานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อไป

ขบวนการต่อต้านภายในประเทศ

จนกระทั่งปี ๒๔๘๗ เมื่อญี่ปุ่นได้กลายเป็นฝ่ายรับ ท่านอาจารย์ปรีดีได้สั่งให้นายพึ่ง ศรีจันทร์ เตรียมสถานที่ซึ่งเหมาะสมสำหรับการฝึกอาวุธต่อมาได้รับคำสั่งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยในภาคเหนือตอนล่าง ในเขตจังหวัดพิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สุโขทัย และตาก นอกเหนือจากรอคอยรับและยุทธภัณฑ์ที่ทางสัมพันธมิตรจะส่งลงมากับร่มชูชีพ นายพึ่งฯ เองได้เดินทางลงไปลำเลียงอาวุธจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาทางภาคเหนือหลายเที่ยว

 

นายใหญ่ ศวิตชาติ
นายใหญ่ ศวิตชาติ

 

ทางภาคเหนือนี้มีทั้งค่ายอเมริกันและค่ายอังกฤษ ซึ่งโดยปกตินายพึ่งฯ จะดูแลทางค่ายอเมริกัน และมอบให้ ‘นายใหญ่ ศวิตชาติ’ ส.ส.นครสวรรค์ ดูแลทางค่ายอังกฤษ เช่นที่จังหวัดตากและแม่สอด

 

รต.อรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า)
รต.อรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า)

 

เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ ปฏิบัติการของกองกำลัง ๑๓๖ ซึ่งมีชื่อว่า “เนโรเนียน” คือ ‘รต.อรุณ สรเทศน์’ (ไก่ฟ้า) เป็นหัวหน้า ‘ร.ต.ม.จ.การวิก จักรพันธ์’ (รัศมี หรือ ขุนช้าง) ทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุ หน่วยนี้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดตากและอุทัยธานี ในความรับผิดชอบของอังกฤษจนสิ้นสงคราม

 

ร.ต.ม.จ.การวิก จักรพันธ์ (รัศมี หรือ ขุนช้าง)
ร.ต.ม.จ.การวิก จักรพันธ์ (รัศมี หรือ ขุนช้าง)

 

ความจริงเสรีไทยในสายนี้ได้เตรียมการอยู่นานแล้วที่จะหาทางเข้าประเทศไทย แต่ยังไม่ได้โอกาสและจังหวะที่จะเข้ามา จึงเตรียมการอยู่ที่กัลกัตตาประเทศอินเดีย จนกระทั่งถึงวันดังกล่าว เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ได้ขึ้นเครื่องบินลิเบอเรเตอร์ หรือ บี.๒๔ ตามแผนกำหนดเวลาจะถึงสุโขทัยตอนใกล้โพล้เพล้ (ก่อนค่ำหน่อย) แต่ถึงเร็วก่อนกำหนด เพราะได้ลมพม่าส่งท้ายให้ด้วย ทำให้การกระโดดร่มในวันนั้น กระทำกันภายใต้แสงแดดที่กำลังแผดเผา และเครื่องบินก็ร่อนต่ำลง จนกระทั่งราษฎรรวมทั้งทหารญี่ปุ่นที่มีค่ายอยู่ในบริเวณไม่ไกลนัก ก็ประสบพบเห็นกันถ้วนหน้า

ดังนั้น เมื่อการกระโดดร่มของนายทหารทั้ง ๒ นายและการทิ้งร่มสัมภาระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ‘นายแสวง กุลทองคำ’ หัวหน้าสถานีทดลองศรีสำโรง กระทรวงเกษตรฯ (ภายหลังได้เป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ) และคุณสมจิตร (ภรรยาคุณแสวงภายหลังเป็นคุณหญิง) ก็ได้พานายทหารเสรีไทยทั้ง ๒ นายหนีไปทางอุตรดิตถ์ โดยแวะพบเสรีไทยในท้องที่ เช่น ‘ขุนเพ่ง ลิมปะพันธ์’ นายกเทศมนตรีเมืองสวรรคโลก (ภายหลังเป็น ส.ส. และลูกชายได้เป็น ส.ส. และรัฐมนตรี) ‘ขุนระดับคดี’ ข้าหลวงฯ สุโขทัย (ภายหลังได้เป็นรัฐมนตรี) และเมื่อถึงตากก็ได้พบหัวหน้าใหญ่เสรีไทยในภาคนี้คือ ‘นายพึ่ง ศรีจันทร์’ (เยเนราล “บี”) ที่บ้านของ ‘นายหมัง สายชุ่มอินทร์’ ส.ส. ตาก

ตลอดการเดินทางจากสุโขทัยนายใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส.นครสวรรค์ (คุณโก๊ะ) หัวหน้าสายอังกฤษ เขตตาก-อุทัยธานี ได้เป็นผู้นำทางพร้อมด้วย ‘นายประสิทธิ์ วินิจฉัยกุล’ (ขุนแผน) ‘นายลิขิต อังศุสิงห์’ นปณ. ตาก ‘ร.ต.อ.สนั่น บุณโยทยาน’ รอง ผกก. ตาก ‘นายบุญธรรม อินทรวรรณโน’ ผู้ใหญ่บ้านประดาง (ภายหลังได้เป็นกำนัน)

ที่จังหวัดตากพักบ้านคุณหมังฯ เพียงชั่วขณะ แล้วออกเดินทางไปบ้านประดางของผู้ใหญ่บุญธรรมฯ ค้างที่นั่น ๑ คืน แล้วผู้ใหญ่บุญธรรมฯ ให้นายใยผู้รู้ทางป่านำทางขึ้นเขาไประหว่างอุ้มผาง-แม่สอด ผ่านบ้านนาโบสถ์ ค้างในป่า ๑ คืน เที่ยงของวันรุ่งขึ้นจึงไปถึงบ้านม้ง (แม้ว) ห้วยเหลือง

คณะได้ตกลงตั้งค่ายฝึกพลพรรคต่อสู้ญี่ปุ่น มีกองบัญชาการที่ผาวอกใกล้ๆ หมู่บ้านนี้ เพราะมีหุบเขาโล่ง ดูจะเป็นสนามบินเล็กๆ ได้ (แต่ฝันหวานไม่สำเร็จ เพราะตอแข็งมาก ถอนไม่สำเร็จ) เมื่อมีเรื่องด่วนจำเป็นต้องใช้งานสำหรับพลร่ม จึงต้องไปให้ถึง ‘ปัทม์ ปัทมสถาน’ และ Mr. Bryce Smith (ซึ่งเคยอยู่เมืองไทย ทำงานป่าไม้ของบริษัท บอร์เนียวฯ) ค่ายที่เลือกนี้มิดชิดดีมาก ดูจากเครืองบินจะเห็นแต่บ้านม้งธรรมดา ทางหนีทีไล่ดี ป้องกันได้ดี มีน้ำใสเย็นตลอดปี มีอากาศสบายมาก ที่ฝึกสอนเหมือนโรงเรียนที่ท่านเสรีไทยทั้ง ๒ ที่ผ่านมา ใช้ไร่ข้าวโพดและชายป่ารอบๆ เป็นสนามฝึกอาวุธ, ออกกำลัง และซ้อมรบทั่วไป สำคัญที่สุดทิศทางยอดเยี่ยมสำหรับส่งรับวิทยุ ได้ยินเสียงต๊อดๆ จากกัลกัตตาดังแจ๋วเหมือนส่งระยะ ๑๐๐ เมตร ส่วนทางที่จะมาถึงเรานั้น มีแต่พวกม้งกับชาวบ้านบางคนเท่านั้นที่รู้ (เพราะเป็นทางเดินฝิ่น)

การปฎิบัติงานขั้นแรกคือ “สร้างบ้าน” ทั้ง ๒ ได้เขียนแบบและวิศวกรอาคารไม้ไผ่เป็นศาลาจุ ๓๐ คน ระดมพลพรรคที่จะเข้ามาใหม่ สร้างคลังพัสดุเก็บของที่จะมาทางเครื่องบิน, โรงรับ-ส่งวิทยุ,โรงครัว,โรงอาหาร ฯลฯ

สิ่งแรกที่กังวล คือ ไม่มีหญ้าคาพอจะมุงหลังคาได้ดีพอจะกันฝนจริงๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องเรียกเอาผ้าใบผืนใหญ่ จากอินเดียมาทำหลังคาที่กันแเดดกันฝนอย่างมิดชิด และให้คนงานเอาหญ้าและใบไม้ไปรอง พรางให้ดูจากเครื่องบินเหมือนหลังคาชาวบ้านธรรมดาๆ กว่าจะได้มาตั้ง ๑๐ กว่าวัน จึงทำได้สำเร็จพลพรรค

ชุดเริ่มแรกของเรา คือ ตำรวจ ๑ หมวด, ชาวบ้านแม่สลิด ซึ่งเป็น “โจร” ที่ปล้นแพญี่ปุ่น นำโดย ‘นายเขียน ชูโฉม’ (ลูกผู้ใหญ่บ้านแม่สลิด) มีครูประชาบาลเป็นมือขวา (สมอง) พอรู้ข่าวว่ามีค่ายต่อต้านญี่ปุ่น จึงหนีมาเข้าค่ายก่อนได้อีก ๑ หมวด และต่อมาทางฝ่ายศึกษาธิการได้ส่งครูประชาบาลมาเพิ่มอีก ๑ หมวด และได้ทยอยเพิ่มมากขึ้น

ในระยะแรกๆ ฝ่ายจังหวัดที่นำส่งเสบียงอาหารให้ อาหารแห้งและสดหาได้ไม่ยาก แต่ต่อมาพลพรรคมากขึ้นๆ ตากมีข้าวสารน้อย จึงขาดข้าวมาก ได้ขอให้ทางจังหวัดหาข้าวสารให้ (ข้าหลวงฯ ได้สั่งให้ผมและปลัดจังหวัดจัดซื้อรุ่นแรก ๑๐๐ กระสอบ ส่งไปตามบันทึกต่อนี้) ส่งให้ครั้งเดียวต้องเลิกไปเพราะขบวนเสบียงนั้นใหญ่โตเอิกเกริกที่อาจทำให้ญี่ปุ่นอยากมาร่วมด้วย มีทั้งลูกหาบช้างม้าครบถ้วน กินกันไม่กี่วันก็หมด ถ้าขืนทำแบบนี้ต่อไปจะเกิดเรื่องแน่

ระยะนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้เข้ามาตรวจเยี่ยมค่ายด้วย ขณะนั้นพลพรรคเพิ่มขึ้นถึง ๓๐๐ กว่าคนแล้ว ท่านเห็นพลพรรคไม่มีผ้าห่ม (อากาศหนาวตลอดปี), ไม่มีหมวกใส่, ไม่มีรองเท้าใส่ และไม่มีอาหารสมบูรณ์ นายทหารเสรีไทยทั้ง ๒ และนายใหญ่ ศวิตชาติ มีความเห็นว่าควรจะสั่งมาจากต่างประเทศให้ครบ ทั้งอาหารและสิ่งขาดแคลนทั้งหมด จึงสั่งทั้งหมดมาจากหน่วยอังกฤษในอินเดีย ทำให้สภาพพลพรรคดีขึ้นมาก แต่เกิดขัดกันขึ้นกับนายพึ่ง ศรีจันทร์ ผู้รับผิดชอบเขตนี้ ซึ่งต้องการให้ขอแต่อาวุธยุทธภัณฑ์ที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเกรงว่าฝรั่งจะเห็นว่าคนไทยสิ้นคิดหรือเป็นขอทาน และบางท่านก็เกรงว่าฝรั่งจะส่งบิลล์มากเวลาสงครามจบ ฯลฯ

ทางค่ายได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าจะใช้แต่ของภายในประเทศเพื่อรักษาศักดิ์ศรี ก็จะต้องเสียความลับ จะต้องแห่กฐินกันถึงอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ผิดหลัก “กองโจร” อย่างแรง จึงจำเป็นต้องเลือกรับของทางเรือบิน ทิ้งมาโครมเดียวอยู่ได้หลายอาทิตย์

นอกจากนั้นทางค่ายยังไม่ยอมรับแผนการที่จะให้คนมาฝึกเพียง ๒-๓ วัน แล้วให้เอาปืนไปไว้ที่บ้านจนกว่าจะเป่านกหวีดเรียกรวมพล ถ้าทำเช่นนั้นแล้วจะ ได้พลพรรคมากดี แต่ทางค่ายไม่ยอม สมัครมาแล้วไม่ให้กลับบ้านจนกว่าจะถึงวันดีเดย์ หรือ สงบศึก ข้อนี้ผมเองเห็นว่าทางค่ายคิดถูกที่สุด (รวมทั้งการรับของจากนอกมานั้นด้วย) เพราะทราบนิสัยใจคอของคนไทยเราดี

มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากขึ้นอีกหลายสิบประการแน่นอน เช่น เคยได้ข่าวว่าผ้าร่มสีสวยๆ และกระดาษห่ออาหาร Ration หรือแม้แต่ชิ้นอาหาร Ration ซึ่งพลพรรคบางคนแอบเอาไปอวดพวกพ้องทางบ้านก็มีปรากฏกันหลายครั้ง ไม่นึกกันบ้างหรือว่า พวกเรามีกันหลายชนิดอาจจะหลุดไปหาญี่ปุ่นบ้างก็อาจเป็นไปได้ อนิจจาความลับ!

เมื่อรับของจากเครื่องบินครบตามความต้องการ และฝึกพลพรรคแล้ว ค่าย “ห้วยเหลือง” ดูจะเหมือนกองร้อยทหารจริงๆ มีที่พักสบาย มีส้วมถูกลักษณะอนามัย (ไม่มีกลิ่นบอกข้าศึกแต่ไกล) แต่ดูจากเครื่องบินจะดูเหมือนหมู่ชาวเขา แต่มีความลับเรื่องหนึ่งที่ท่าน ม.จ.การวิกฯ ซึ่งขณะนั้นมี “ขุนช้าง” ไม่อยากเปิดเผยว่าท่านเป็น “เจ้า” เกิดมีข่าวลือไปว่าใน ๒ ท่านนี้เป็น “เจ้า” อยู่องค์หนึ่ง ท่านจึงยกคุณอรุณ (ไก่ฟ้า) ซึ่งเป็นนายให้ท่านมีชื่อใหม่ว่า “ท่านชาย” ท่าทางท่านให้มากและท่านก็ไม่รังเกียจรับเป็น “ท่านชาย” ส่วนท่านชายตัวจริงก็เป็นขุนช้างต่อไปจนเสร็จการ

กิจกรรมเสรีไทยของส่วนกลางในจังหวัดตาก

ประมาณปลายปี ๒๔๘๗ นายพึ่ง ศรีจันทร์ หัวหน้าเสรีไทยเขตภาคเหนือ และนายใหญ่ ศวิตชาติ หัวหน้าสายอังกฤษ ตาก-อุทัยธานี ได้เข้าพบท่านข้าหลวงประจำจังหวัดตาก คือ ‘ขุนสี มะสิงห์สวัสดิ์’ (ใหญ่ สิมะสิงห์) และ ส.ส.ตาก นายหมัง สายชุ่มอินทร์ เพื่อเตรียมการต่างๆ โดยให้ผู้กำกับการตำรวจจังหวัดตาก ‘พ.ต.ต.อวม บุญยชลิโต’ และศึกษาธิการจังหวัด ‘นายทิพย์ ฟักเจียม’ เป็นผู้จัดหาพลพรรคไปฝึกอาวุธในรุ่นแรกนั้นฝ่ายละ ๑ หมวด

นายทหารเสรีไทยจากนอกมาถึง ให้ทางจังหวัดหาคนนำทางไปหาจุดที่ตั้งค่ายฝึกพลพรรคให้เหมาะสมในแถบภูเขาด้านทิศตะวันตก พร้อมทั้งให้จัดส่งเสบียงให้ด้วย (โดยเบิกเงินค่าใช้จ่ายจากหัวหน้าเขตคือ นายพึ่ง ศรีจันทร์)

ฝ่าย ผก.ก.ตำรวจ ได้มอบให้ รอง ผ.ก.ก. ร.ต.อ.สนั่น บุณโยทยาน จัดตำรวจ ๑ หมวด ให้ติดตามนายทหารเสรีไทยซึ่งจะลงร่มที่สุโขทัยในตอนตันปี ๒๔๘๘ ไปบุกเบิกตั้งค่ายด้วย และท่านข้าหลวงฯ ได้ขอให้ ‘นายลิขิต อังศุสิงห์’ นปณ.ตาก เดินทางไปร่วมในการรับ-ส่งวิทยุในค่าย ศึกษาธิการจังหวัด นายทิพย์ ฟักเจียม ได้ให้ศึกษาธิการอำเภอเมืองตาก ‘นายพินิจ สาเขตร์’ จัดส่งครูประชาบาล ๑ หมวด ตามเข้าไปฝึกในค่าย และเป็นผู้จัดหาเสบียงส่งไปให้ชาวค่ายพลพรรคทั้งหมดให้เพียงพอด้วย

การเริ่มปฏิบัติงานเสรีไทยในจังหวัดตากของผมนั้น ได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณต้นปี ๒๔๘๘ ในขณะนั้นผมเป็นผู้จัดการบริษัทตากจังหวัดพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการเศรษฐกิจของท่านอาจารย์ปรีดีฯ ตั้งบริษัทจังหวัดเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นทุกจังหวัด และให้ตั้งสาขาขึ้นทุกอำเภอในประเทศไทย เพื่อช่วยเป็นตัวแทนของทางราชการในการค้าสินค้าผูกขาด และการค้าสำคัญฯ ทั้งปวง เช่น สุรา, ไม้ขีดไฟ, น้ำมัน, บุหรี่ยาสูบ ฯลฯ ให้อยู่ในมือของคนไทยบ้าง

ตอนนั้นคนไทยไม่ค่อยชอบทำการค้า ผู้มีความรู้มักดูถูกพ่อค้า และเข้าทำราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ ท่านปรีดีฯ ได้ตั้งสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดและได้เชิญพ่อค้าไทยที่มีผลสำเร็จพอควรมาเป็นผู้จัดการค้าในเบื้องต้น และผู้จบ ธ.บ. มาอบรมและมอบตำแหน่ง “ผู้ช่วย” ไปก่อน แล้วเลื่อนเป็น “ผู้จัดการ” ดำเนินการค้าสินค้าผูกขาดนั้นเป็นหลัก เพื่อช่วยพ่อค้า และให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมชาวบ้านของคนไทยในยามปกติและช่วยแบ่งปันสินค้าให้ราษฎรในยามคับขัน)

ทุกจังหวัดมีประธานและคณะกรรมการบริษัทฯ อยู่ทางกรุงเทพฯ และมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ และมีสรรพสามิตจังหวัดเป็นกรรมการทางจังหวัด อีกท่านหนึ่ง ในจังหวัดตากขณะนั้นมีขุนสี มะสิงห์สวัสดิ์ (ใหญ่ สิมะสิงห์) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ท่านจึงเป็นผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดโดยตรงของผม

เรื่องปฏิบัติการเสรีไทยนั้น ผมทราบข่าวมานานแล้วจากเพื่อนฝูงหลายคน แต่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมมือ วันหนึ่งในตอนต้นๆ ปี ๒๔๘๘ นั้นเอง ท่านข้าหลวงฯ ได้เรียกผมไปพบท่านที่จวน ผมได้พบคนที่รู้จักอยู่แล้วอีก ๒ คนคือ ‘คุณใหญ่ ศวิตชาติ’ ส.ส.นครสวรรค์ และอีกคนหนึ่งคือ ‘ร.ท.อุทิศ ฉายแสงจันทร์’ ผู้เคยเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศฯ

เพื่อนผมคนนี้ทราบว่าเป็นคนเลือดร้อน รักชาติรุนแรง วันหนึ่งเขาชกต่อยนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง จึงได้รับการควบคุมตัวไว้ที่กระทรวงกลาโหม) วันนี้ได้มาพบผมที่นี่ จึงได้ทราบว่าเขาปฏิบัติงานเสรีไทย มีเพื่อนบอกให้เขามาพบผมที่นี่ ให้ช่วยท่านข้าหลวงฯ เท่าที่จะทำได้ด้วย

ตอนนั้นผมจำได้ว่าดีใจมากคือ ได้รับปากเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วย และได้พบเพื่อนสนิทคืออุทิศฯ วันนั้นผมรีบกลับเพราะมีงานด่วนรออยู่ ร.ท.อุทิศฯ เสร็จธุระกับท่านข้าหลวงแล้วก็รีบกลับไป เลยไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งเดินสวนสนามของเสรีไทย (วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘) ได้พบกันครั้งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้พบกันอีกเลย ได้ทราบข่าวอีกทีก็ได้ทราบว่าเขาได้ถูกฆาตกรรมพร้อมกับ ‘คุณชาญ บุนนาค’ อีกประการหนึ่งคือได้พบ คุณใหญ่ ศวิตชาติ ซึ่งเป็น ธ.บ. รุ่นพี่ผม ๒ ปี ซึ่งผมเพิ่งทราบภายหลังว่าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยอังกฤษภาคเหนือจากคุณพึ่งฯ หัวหน้าใหญ่เขตเหนือ ผมเรียกท่านว่า “พี่ใหญ่” หลังสงคราม พี่ใหญ่ได้เป็นรัฐมนตรีหลายสมัย

ต่อมาในระยะใกล้ๆ นั้น ท่านข้าหลวงฯ ได้บอกผมว่าทางตำรวจ ทหารชั้นผู้ใหญ่จังหวัดเรารู้เรื่องเต็มใจช่วยหมดแล้ว ได้ส่ง ‘คุณลิขิต อังศุสิงห์’ นปณ.เข้าไปช่วยทางวิทยุอยู่แล้ว คุณลิขิตฯ จบมัธยมปีที่ ๘ จากอัสสัมชัญ ภาษาอังกฤษเก่งมาก ส่วนทางด้านตำรวจนั้น มอบให้ ร.ต.อ.สนั่น บุณโยทยาน รองผู้กำกับจังหวัดตาก เป็นหัวหน้าคุมตำรวจบางส่วนไปฝึกอาวุธและยุทธวิธีจากหน่วยเสรีไทยที่มาจากข้างนอกอยู่แล้วพร้อมกับครูประชาบาลบางคน และหน่วยแม่สลิด ซึ่งเป็นลูกน้องและเพื่อนของนายเขียน ชูโฉม (ซึ่งเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านภายหลังได้เป็นกำนัน) ซึ่งไปทำลายแพญี่ปุ่นเป็นรายแรกและต้องหลบเข้าไปอยู่ในค่ายก่อนแล้วนั้นด้วย

ท่านข้าหลวงฯ ได้ชวนผมและนายอำเภอเมืองตาก ซึ่งขณะนั้นคือ ‘คุณหยด รามสูต’ รวม ๓ คน ได้ขอยืมม้าจาก ‘พ.ท.แช่ม อินทรสถิตย์’ ผบ.พัน ร.๓๓ ซึ่งรู้เรื่องการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแล้ว เพราะเอกชนมีแต่ม้าต่างบรรทุกสินค้าเท่านั้น ม้าขี่ไม่มีม้าเทศเลย ท่านข้าหลวงฯ ได้เข้าไปร่วมปรึกษาหารือกับคณะเสรีไทยสายอังกฤษที่เข้ามาอยู่ (ที่ห้วยเหลือง)

ในขณะนั้นแล้วคือ ‘ร.ต.อรุณสรทศน์’ (ภายหลังได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาฯ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห์กรรม) และ ‘ร.ต.ม.จ.การวิก จักรพันธ์’ ส่วนผมและนายอำเภอเมืองตากได้ไปเยี่ยมดูผู้มาอยู่ในค่าย ที่รู้จักก็คือ คุณลิขิตฯ, ร.ต.อ.สนั่นฯ และพี่ใหญ่ฯ เมื่อปรึกษาเสร็จ ท่านข้าหลวงฯ และนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษทั้งสองนายก็ออกมาร่วมตรวจค่าย ได้เวลาแล้วจึงกลับงานแรก คือ ท่านข้าหลวงฯ ได้แจ้งว่าทางค่ายขาดแคลนข้าวสารจึงมอบให้ท่านปลัดจังหวัดคือ ‘ขุนสิริบุรานุการ’ (ชัชย์ จารุจินดา) และผมไปจัดหาซื้อข้าวสารที่กำแพงเพชร และให้มาส่งไว้ที่บ้านกำนันบุญธรรมฯ ที่ประดางฯ อันเป็นต้น ทางที่จะนำไปส่งที่ค่ายห้วยเหลือง

การเดินทางไปติดต่อกำแพงเพชรในสมัยนั้นกระทำได้วิธีเดียวคือ นั่งเรือถ่อไป-กลับประมาณ ๒-๓ วัน เรือถ่อบรรทุกข้าวขึ้น ๒-๓ วัน ผู้นำข้าวมาส่งเข้าใจผิด นำข้าวสารมาส่งที่บริษัทจังหวัดฯ ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือ ญี่ปุ่นทราบสงสัยว่าบริษัทฯ ทำไมจึงมีข้าวมาก ไม่เคยค้าข้าว จึงจำต้องแจ้งว่าบริษัทจังหวัดฯ มีหน้าที่ช่วยคนไทย จึงจำเป็นต้องมีข้าวสารสำรองไว้

เราจึงจำเป็นต้องขนกลับไปที่บ้านประดาง พร้อมทั้งซื้อของแห้งและอาหาร ในระยะนั้นไม่มีทางรถยนต์ขนส่งจึง ของสดจากในเมืองส่งเพิ่มเติมไปด้วยจำเป็นต้องบรรทุกช้างม้าซึ่งทำได้ครั้งเดียวก็ต้องเลิก โดยติดต่อขอให้ฐานทัพสัมพันธมิตรที่อินเดียจัดส่งเสบียงอาหาร ส่งมาพร้อมกับวัสดุและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ด้วย

งานครั้งที่ ๒ ท่านข้าหลวงฯ ได้มอบให้ “พี่ใหญ่” และผมนำท่านชิ้น (ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) กับฝรั่งอีก ๑ ท่าน ขึ้นรถยนต์ผ่านสุโขทัยไปพิษณุโลก ลงเรือยนต์ไปกับใครอีกบ้างจำไม่ได้ มีเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ในขณะนั้นเป็นนายอำเภอเมืองพิษณุโลกคือ ‘นายเรวัต (ละออ) เมฆทรงกลด’ ไปกรุงเทพฯ ส่งขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นค่ายกักกันเชลยต่างด้าว พบ ‘คุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์’ และคณะเสรีไทยอีกหลายคน ผมจำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง ในระยะติดๆ กันนี้ ผมจำได้ว่ามีผู้มาเกี่ยวข้องกับทางจังหวัดตาก จากกรุงเทพฯ อีก ๒ คน เป็นนักหนังสือพิมพ์ คนอ้วนชื่อ ‘ฉลวย ชัยทัต’ คนผอมชื่อ ประสิทธิฯ (นามสกุลจำไม่ได้) ได้กลับกรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ด้วย

งานครั้งที่ ๓ เป็นครั้งใหญ่และระยะเวลานานที่สุดคือการสร้างสนามบินที่ตำบลโป่งแดง อำเภอเมืองตาก ได้รับมอบจากท่านข้าหลวงฯ ให้ปลัดและผมคุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายมหาดไทยและชาวบ้านจัดสร้างสนามบินลับ โดยปิดความลับว่าจะทำไร่ส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพและเก็บกักอาหารไว้ให้ราษฎรตามนโยบายของบริษัทจังหวัดฯ

ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ทางต่างประเทศได้ส่งอาวุธให้เราได้เป็นจำนวนมากแล้ว เป็นอาวุธยิงเร็วทั้งสิ้น ทางตากซึ่งเป็นสายอังกฤษ ได้ส่งพวกสเตน, คาร์ไบน์ มาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางสุโขทัยซึ่งเป็นสายอเมริกัน มี เอ็ม ๓ และอาวุธประเภทอื่นๆ อีกหลายอย่าง ปืน เอ็ม ๓ ถอดเป็น ๓ ส่วน พับเข้ากระเป๋ามือถือได้ ทางสุโขทัยได้มอบให้จังหวัดตากใช้ ๓ กระบอก คือ ท่านข้าหลวงฯ ท่านปลัดจังหวัด และผม ใช้พกไปติดต่อในที่ใดก็ได้ ส่วนอาวุธอื่นต้องเก็บไว้ที่ค่ายจะนำเข้าเมืองไม่ได้เพราะเตรียมไว้สำหรับนำไปใช้เฉพาะในวัน ดี.เดย์. เท่านั้น

ในระยะนี้ก็มีผู้เข้าออกมาจากสุโขทัยและกรุงเทพฯ มาติดต่อทางท่านข้าหลวงฯ หลายคนเสมอๆ ผมพบบ้าง ไม่ได้พบบ้าง แต่ส่วนมากเป็นพวกสุโขทัย ในระยะนี้ญี่ปุ่นได้มาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่สนามบินจังหวัดตากซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตำบลโป่งแดงไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตร

ในระยะนี้จนเสร็จสิ้นสงคราม เราได้ผู้ช่วยเหลือสำคัญมากอีกคนหนึ่งเป็นนักเรียนไทยจบจากญี่ปุ่น ถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเป็นล่ามประจำค่ายญี่ปุ่นจังหวัดตาก ชื่อ ‘นายเกษมฯ’ (ดูเหมือนจบวิชาการประมง นามสกุลเป็นราชทินนามของท่านบิดา) บุคคลผู้นี้เป็นผู้ที่ส่งข่าวให้ทางเราทราบเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น เมื่อเราเห็นว่าจะปิดเรื่องการถางป่าเพื่อสร้างสนามบินที่โป่งแดงไม่ไหว จึงแจ้งต่อญี่ปุ่นว่าทางราชการได้มอบให้ปลัดจังหวัดและผู้จัดการบริษัทจังหวัดฯ มาถางป่าเพื่อจัดการปลูกพืชไร่ช่วยราษฎรที่อดอยาก

ทีแรกเราก็สงสัยเหมือนกันว่าถ้าเราถางแล้วปลูกพืชลงไปเครื่องบินจะร่อนลงได้อย่างไร เขาชี้แจงให้เราทราบว่าเขามีตะแกรงเหล็กสี่เหลี่ยมมีรูโปร่งกลมๆ ปูทับลงไปให้เต็มพื้นที่ เครื่องบินก็จะลงได้สะดวก

ญี่ปุ่นไม่ทราบเรื่องนี้ เราจึงปล่อยให้เขามาคุมเราได้ทุกวัน พอถางเสร็จเราก็เอาถั่วเขียวมาปลูก เมื่อพืชไร่ขึ้น ทางญี่ปุ่นหมดความสงสัย ก็ถอนทหารกลับไป เรื่องนี้ผมเพิ่งทราบจากท่านการวิกฯ ว่าญี่ปุ่นสงสัย หรือ รู้เหมือนกันว่าเราจะทำสนามบิน ได้ไปที่ไร่นั้น โดยนำผ้าบางๆ ไปตั้งรับทางลม บอกว่าไร่นี้ตั้งรับทางลมได้ดี พูดเป็นเชิงรู้เท่าทันเรา สนามบินนี้ไม่ได้ใช้เพราะญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน

งานครั้งที่ ๔ ท่านข้าหลวงฯ ได้มอบให้ท่านปลัดจังหวัดกับผมพาคุณปัทม์ ปัทมสถาน นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ (ชื่งกระโดดร่มลงที่ตากพร้อมกับพ.ต.ไบรชสมิธ นายทหารอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘) ไปส่งกรุงเทพฯ และให้ปลัดจังหวัดไปติดต่อราชการที่กรุงเทพฯ ด้วย ในระยะนั้นรถไฟสายพิษณุโลก-กรุงเทพฯ ไม่แน่นอน มีบ้างไม่มีบ้าง จึงเช่าเรือถ่อจากจังหวัดตาก

ตั้งใจว่าจะไปเช่าเรือยนต์ที่กำแพงเพชรเข้ากรุงเทพฯ อย่างช้า ๓-๔ วัน ก็คงจะถึง แต่ปรากฎว่าน้ำลงแห้งมาก ลงเรือถ่อจากตากถึงกำแพงเพชรใช้เวลา ๒ วัน แล้วเช่าเรือยนต์นายท้ายเกษม มีครูใหญ่โรงเรียนการช่างสตรี (คุณนิตยา) ขออาศัยไปด้วยอีกคน ก็ต้องเข็นเรือกันอีก ต้องกินนอนกันกลางหาดทรายโดยอาศัยฝีมือคุณครูใหญ่และลูกสาวท่านปลัดจังหวัด ๒ คนช่วยทำอาหารให้ รอนแรมกันร่วม ๑๐ วัน จึงถึงกรุงเทพฯ เป็นการเดินทางที่ยาวนานที่สุดในการเข้ากรุงเทพฯ คราวนั้นได้นำคุณปัทม์ ปัทมสถาน เข้าพบเจ้าหน้าที่เสรีไทยที่ธรรมศาสตร์โดยเรียบร้อย

บทสุดท้ายของพลพรรคเสรีไทยและญี่ปุ่นยอมจำนน

เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน และไทยได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ แล้ว ทางผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของหน่วยทหารญี่ปุ่นที่ตาก คงอยากจะแสดงน้ำใจต่อฝ่ายไทยโดยผ่านทางล่ามคือคุณเกษมฯ ว่าอยากจะเลี้ยงฝ่ายเราสักมื้อหนึ่ง

เขาทราบดีว่าพวกเราเกลียดพวกเขามาก แต่เขาต้องการแสดงว่าเขาเป็นทหาร ต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น เขาแพ้ก็จะยอมแพ้จริงๆ ขอให้เห็นใจเขา อโหสิให้เขาบ้าง ความจริงเขาควรจะติดต่อทาง ส.ส.หมัง สายชุ่มอินทร์ ซึ่งเขาเคยแสดงตัวว่าเขาเป็นหัวหน้าเสริไทยที่ตากนี้ แต่เขาคงจะไม่รู้ และล่ามก็คงจะไม่รู้เหมือนกัน เพราะ ส.ส.หมังฯ ไม่เคยปรากฏตัวในงานเสรีไทย

ญี่ปุ่นคงสืบรู้แต่ว่าในจังหวัดตากมีแต่ท่านข้าหลวงฯ, ปลัดจังหวัด และผมเท่านั้นที่เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการเรื่องเสรีไทย โดยติดต่อกับกองบัญชาการฯ ที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศ ญี่ปุ่นได้มาขอให้ผมจัดสถานที่เลี้ยงอาหารที่บริษัทจังหวัดฯ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่จวนเจ้าเมืองเก่าที่ทำโพธิ์ เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น มีอาคารหลังเล็กอีก ๒ หลังอยู่ด้านหน้า ชั้นบนกว้างขวางมาก จัดเลี้ยงกันได้พอ ชั้นล่างเป็นที่จัดทำอาหารได้สะดวก เพราะด้านหลังเป็นนอกชานกว้างติดแม่น้ำปิง หุงหาอาหารและล้างชามได้สะดวก

ญี่ปุ่นมอบให้ผม และล่ามไปเรียนเชิญท่านข้าหลวงฯ และหัวหน้าหน่วยราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพราะเขาไม่ใคร่รู้จักใครมากนัก ทีแรกเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าญี่ปุ่นจะมาไม้ไหนกันแน่ ท่านข้าหลวงฯ ได้เรียกนายเกษมฯ ล่ามไทยมาปรึกษาโดยละเอียดก่อน เพราะคุณเกษมฯ เคยอยู่ที่ญี่ปุ่นมานานพอที่จะรู้นิสัยใจคอคนญี่ปุ่นได้ดี จึงได้รับคำรับรองจากคุณเกษมฯ ว่าคงไม่มีอะไรและญี่ปุ่นก็ได้ให้คำรับรองต่อท่านข้าหลวงฯ ว่าเป็นความตั้งใจจริงของเขาที่จะจัดเลี้ยงขออภัยแก่พวกเราอย่างจริงใจเท่านั้น เราไม่ต้องทำอะไรเลย ขอแต่ให้เตรียมสถานที่ให้เขาไว้เฉย ๆ เท่านั้น เขาจะจัดหาสัมภาระและอาหารดิบมาจัดปรุงแต่งอาหารให้เอง และขอทราบจำนวนคน โดยพวกเขาจะมาเฉพาะนายทหารที่สมควรมาเท่านั้น เราจึงจัดสถานที่ไว้ให้ตามประสงค์ของเขา ปรากฏว่าในวันนั้นตั้งแต่เช้าจนบ่ายยังไม่มีทหารญี่ปุ่นคนใดมาติดต่อที่บริษัทฯ ประการใดเลย

จนถึงประมาณ ๑๕.๐๐ น. ทหารญี่ปุ่นได้ขนสัมภาระเครื่องครัว และอาหารดิบทั้งหมดมาจัดทำกันอย่างเต็มที่ที่นอกชานชั้นล่าง จนแล้วเสร็จทันเวลา ๑๗.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลานัดจัดเลี้ยง ผู้ที่ได้รับเชิญมาถึงพอดี นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพวกเราชาวตากทุกคนก็ได้รับความนอบน้อมจากชาวญี่ปุ่นทั่วถึงกันทุกคน ซึ่งตรงข้ามกับท่าทีของเขาก่อนนั้น ซึ่งปั้นปิ่งหยิ่งยโสมาก จนเป็นที่เกลียดชังของคนไทยทั่วไป นอกจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากญี่ปุ่นเท่านั้น

ผมลืมเล่าไปตอนหนึ่งที่ ‘ม.จ.การวิก จักรพันธุ์’ ทรงนิพนธ์ถึง ‘คุณจินตา บุณยอาคม’ (ไม่ใช่ “จินดา”) ผู้พิพากษาที่ช่วยซ่อนยางรถยนต์ที่สัมพันธมิตรส่งมาให้ คุณจินตาฯ ผู้พิพากษามีภรรยาชื่อคุณสุกรีฯ เป็นพยาบาล เป็นรุ่นพี่ที่นับถือของผมมาก เราไม่รู้จะไปฝากของที่ไหนเพราะกลัวญี่ปุ่นจะไปตรวจ จึงต้องไปอาศัยท่านดังกล่าว ตำแหน่งราชการสุดท้ายของท่านได้ตำแหน่งสูงสุดถึงประธานศาลฎีกา และภายหลังเกษียณอายุราชการแล้วก็ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีและเพิ่งจะสิ้นฯ ไปเมื่อต้นปี ๒๕๓๔ นี้

ส่วนคุณพี่สุกรีฯ ได้เป็นถึงท่านผู้หญิงภายหลังจากที่ท่านจินตาฯ สิ้นไปแล้วในตอนกลางปี ๒๕๓๔ นั้นเอง คุณลิขิต อังศุสิงห์ นั้นไปเป็นนายไปรษณีย์เขตเชียงใหม่ เพิ่งสิ้นชีวิตไปทั้งภรรยาด้วย เมื่อ ๓-๔ ปีมานี้เอง บุตรสาวคนโต คุณฉันทนาฯ เป็นหัวหน้าพยาบาลอยู่โรงพยาบาลสวนดอก ท่านข้าหลวงฯ ประจำจังหวัดตากคือ ท่านขุนสี มะสิงห์สวัสดิ์ (ใหญ่ สิมะสิงท์) และท่านขุนสิริบุรานุการ (ชัชย์ จารุจินดา) ปลัดจังหวัดนั้นไม่ทราบว่าท่านย้ายไปไหน รวมทั้งครอบครัวของท่านด้วย ไม่ทราบว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากท่านผู้ใดทราบกรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วย จักเป็นพระคุณ

ความจริง เมื่อประมาณกลางปี ๒๔๘๘ นี้ พลพรรคชาวค่ายเสรีไทย ซึ่งได้รับการฝึกอาวุธและรับอาวุธมาจากอเมริกาและอังกฤษ ได้เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่นกันอย่างกระตือรือร้น ได้ทราบว่ามีอยู่ทั้งหมดถึง ๓๑ แห่ง และส่วนมากยังมั่นใจว่าจะมีพวกเต็มใจช่วยอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย เช่นที่ตากนี้ อย่างน้อยยังมีพรรคพวกกองทหารอีกถึง ๒ กองพัน ส่วนมากได้ชี้แจงไปทางเบื้องบนให้ได้ทราบว่าท่านได้แจ้งไปทางต่างประเทศแล้ว ให้รอคอยคำสั่งก่อนพลพรรคทั้งหลายจึงเฝ้ารอคอยวัน ดี.เดย์. อยู่ด้วยความเร่าร้อนใจ

จนกระทั่งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงที่ญี่ปุ่น พวกเราถึงเข้าใจว่าทำไมเขาจึงต้องให้เรารอก่อน เพื่อเราจะไม่ต้องพลีชีพเสียเลือดเนื้อของพวกเราไปอีก นอกจาก ๑ ท่าน คือ ‘คุณจำกัด พลางกูร’ ซึ่งไปถึงแก่กรรมในประเทศจีน ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วนั้น อีก ๒ ท่านคือ ‘คุณการเวก ศรีวิจารณ์’ และ ‘คุณสมพงษ์ ศัลยพงษ์’ ซึ่งกระโดดร่มลงไปภาคเหนือโดยปลอดภัย นำเครื่องสื่อสารวิทยุติดตัวมาพร้อมทองแท่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหากติดขัดมาด้วย เพื่อมุ่งไปพบอธิบดีตำรวจ แต่จากความโลภของตำรวจผู้จับกุมนั้นได้ยิงทิ้งชิงทองไป จึงถึงแก่กรรมไปทั้ง ๒ คน ทั้ง ๓ ท่านนี้ได้รับพระราชทานยศเป็น พ.ต. และจารึกชื่อลงในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ความจริงยังมีอีก ๑ ท่าน ผมรีบเขียนจึงยังมิได้ค้นหามาโปรดอภัยด้วย)

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ พลพรรคเสรีไทยประมาณ ๘,๐๐๐ นาย จากทั่วประเทศ ได้ทำการสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน ฯพณฯ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีขึ้น ๓ ประการคือ

๑. เพื่อแสดงเปิดเผยให้เห็นเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า ขบวนการนี้มุ่งเพียงจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทยซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทั้งมวลเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังรางวัลทดแทนหรือทำเพื่อประโยชน์บุคคลหรือคณะใดโดยเฉพาะ

๒. แสดงให้สหประชาชาติเห็นว่าบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่สัมพันธมิตรมอบให้แก่เสรีไทยมีอยู่ครบถ้วน ไม่สูญหาย

๓. แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของขบวนการเสรีไทยในการสู้รบ หากจำเป็น อย่างน้อยก็มีจำนวนถึง ๘,๐๐๐ คนที่ได้เข้าร่วมเสียสละชีวิตโดยเต็มใจ หากมีการสู้รบอย่างจริงจังเกิดขึ้น

ขบวนการเสรีไทยซึ่งได้รับใช้ชาติมาตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จึงถือว่าสลายตัวไป ณ บัดนั้น

 

ที่มา: ตัดตอนมาจาก ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และ เสรีไทยในจังหวัดตาก โดย พยุง ย. รัตนารมย์ ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541 น.71-86

 

หมายเหตุ: พยุง ย. รัตนารมย์ ธ.บ. ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็น อดีต เสรีไทย, กรรมการจัดการบริษัท ตากจังหวัดฯ, ประธานสภา จังหวัดตาก. เทศมนตรี และประธานสภาเทศบาลเมืองตาก ฯลฯ