ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ครอง จันดาวงศ์: จากผู้นิ่งเฉยกับการอภิวัฒน์สู่แนวหน้าการต่อสู้ถึงราก

31
พฤษภาคม
2564

31 พฤษภาคม 2564 ครบรอบ 60 ปี การประหารชีวิตอดีตนักการเมืองสามัญชนคนสำคัญผู้หนึ่งคือ ‘ครอง จันดาวงศ์’ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏต่อราชอาณาจักร พร้อมกับ ทองพันธ์ สุทธิมาศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2504 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 

วันนี้จึงเป็นวาระที่จะหวนรำลึกสามัญชนที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย บทความชิ้นนี้นำเสนอพัฒนาการความคิดทางการเมืองของครอง นับตั้งแต่วัยหนุ่ม ไปจนถึงวันที่เขาหมดลมหายใจจากปลายกระบอกปืน โดยอาศัยการค้นคว้าของ ‘สมชัย ภัทรธนานันท์’ เป็นพื้นฐานการอธิบาย ซึ่งพบว่าความคิดทางการเมืองของครอง สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองอย่างแนบแน่น ชีวิตของครองจึงเสมือนชีวิตของประเทศ

เนื้อนาดินของความคิดทางการเมือง ‘ครอง จันดาวงศ์’

‘ครอง จันดาวงศ์’ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ อำเภอธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ครอบครัวของครองเป็นชาวย้อ โดยพ่อแม่มีอาชีพทำนา และเขาเองเป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องจำนวน 9 คน ซึ่งแม้ว่าครอบครัวของครองเคยยากจนมาก่อนแต่ด้วยความขยันขันแข็งจึงมีฐานะดีในเวลาต่อมา

ครองเป็นเด็กอีสานจำนวนไม่มากที่ได้รับการศึกษาจนถึงชั้นมัธยม ตามนโยบายการสร้างรัฐประชาชาติไทย ปี 2441 และเมื่อเรียนจบ ก็เข้ารับราชการเป็นครูสอนหนังสือที่อำเภอสว่างแดนดิน การเปลี่ยนฐานะจากลูกชาวนาชาติพันธุ์ย้อมาเป็นข้าราชการนับเป็นส่วนหนึ่งของการผนวกของคนที่ไม่ใช่คนไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย

กล่าวได้ว่า ในช่วงที่รับราชการครูใหม่ๆ แม้ครองจะขยันขันแข็ง แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่ก้าวหน้าและเคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ดังที่ ‘วิทิต จันดาวงศ์’ ลูกชายของเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ครองยังรู้สึกเห็นอกเห็นใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่าที่จะสนับสนุนคณะราษฎร” 

แต่ถึงแม้ครองจะไม่กระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การอภิวัฒน์ครั้งนั้นก็ส่งผลต่อชีวิตของเขาอย่างใหญ่หลวง เพราะระบอบรัฐสภาได้เปิดช่องทางให้ราษฎรจากภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง รวมไปถึงราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลอย่างสว่างแดนดิน

ในช่วงเวลาดังกล่าว งานวิชาการหลายชิ้นชี้ให้เห็นบทบาทการอภิปรายของ ส.ส.อีสานอย่างดุเดือด โดยเฉพาะประเด็นความทุกข์ร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ กรณีเช่นนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายหลายข้อที่คณะราษฎรดำเนินการ โดยเฉพาะ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ได้ริเริ่มและผลักดัน เช่น การลดอากรค่านา ยกเลิกรัชชูปการ ลดอาญาบัตรค่าโค กระบือ ชลประทาน ฯลฯ ความคิดของปรีดีจึงได้รับการยอมรับอย่างสูงในกลุ่ม ส.ส.อีสาน เช่น ‘เตียง ศิริขันธ์’  ‘ถวิล อุดล’  ‘จำลอง ดาวเรือง’ จนกลายเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นและร่วมกันสร้างภารกิจที่สำคัญต่อประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองอีสานกับปรีดีเช่นนี้ ส่งผลต่อจุดยืนทางการเมืองของครองด้วย เมื่อครองเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการช่วยเตียง ศิริขันธ์หาเสียง ระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2481 และถัดจากนี้เตียงได้ชวนครองทำกิจกรรมทางการเมืองที่เข้มข้นกว่าการหาเสียงเพื่อได้ที่นั่งในสภาเท่านั้น นั่นคือ “การเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยในปี 2484 เพื่อเคลื่อนไหวกู้ชาติ”

จากเสรีไทยสู่กบฏสันติภาพ

ในปี 2485 เตียง ศิริขันธ์ ได้จัดประชุมเสรีไทยในโรงแรมตราชู จังหวัดอุดรธานี ทำให้เสรีไทยสายอีสานเริ่มต้นขึ้นที่นั่น โดยมีนักการเมืองอีสานปีกที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ระดมมวลชนหลากหลายกลุ่มให้ทำบทบาทหลายอย่าง ตั้งแต่การหาข่าว การสร้างสนามบินลับ การลำเลียงอาวุธ หรือเวชภัณฑ์ เป็นต้น

สมาชิกขบวนการเสรีไทยในอีสานแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีพื้นฐานที่ได้รับการศึกษาจะได้รับหน้าที่ดูแลหน่วยเป็นหลักหรือถูกส่งไปฝึกต่างประเทศ เช่น ‘จารุบุตร เรืองสุวรรณ’ จากจังหวัดขอนแก่น ถูกส่งไปฝึกกับหน่วยกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ส่วนคนที่มีหน้าที่ประสานงานส่งข่าวในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ‘สุวรรณ รื่นยศ’ ดูแลหน่วยจังหวัดขอนแก่น ‘อ้วน นาครทรรพ’ ดูแลหน่วยจังหวัดหนองคาย และ ‘ถวิล สุนทรสารทูล’ ดูแลหน่วยจังหวัดนครพนม ขณะที่ ‘จำลอง ดาวเรือง’ ดูแลหน่วยจังหวัดมหาสารคาม ‘ทองอินทร์ ภูริพัฒน์’ ดูแลหน่วยจังหวัดอุบลราชธานี ‘เพ่ง โพธิจิดา’ ดูแลหน่วยจังหวัดอุดรธานี

ในช่วงเวลานี้ ‘ครอง จันดาวงศ์’ ได้ร่วมกับ ‘ทองปาน วงศ์สง่า’ เคลื่อนไหวในพื้นที่ห่างไกล อาทิ ระดมมวลชน ส่งข่าวจากส่วนกลางต่อภูมิภาค หรือ บริเวณเทือกเขาภูพานอันเป็นสถานที่ฝึกกำลังที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยร่วมกับกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เช่น ‘ละเอียด อภิวาทนะศิริ’  ‘เสรี นวลมณี’  ‘สุรสี กองเสนา’ ที่ได้รับการฝึกโดยกองบัญชาการ ที่ 136 ของอังกฤษ ในเวลาต่อมามีการจัดตั้งหน่วยวิทยุจากจีน ในหมู่บ้านโพนก้างปลา จังหวัดสกลนคร มี ‘กระจ่าง ตุลารักษ์’ เป็นผู้คุม

กล่าวได้ว่า ความเอาจริงเอาจังของครองในการทุ่มเทให้แก่ขบวนการเสรีไทย เห็นได้จากการที่เขาลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนสว่างวิทยาเพื่อทำงานเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว และการที่ครองทุ่มเทชีวิตขนาดนี้ ก็มาจากความศรัทธาต่อเตียงมากกว่าเหตุผลทางการเมือง โดยลูกชายของครองเล่าว่า “เมื่อครูเตียงสั่งให้ทำอะไร ครองจะรับไปปฏิบัติอย่างไม่คิดชีวิต”

แต่ถึงแม้จะเริ่มต้นจากความศรัทธาต่อเตียง ‘สมชัย ภัทรธนานันท์’ ก็เสนอว่า การเคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยครั้งนั้น สะสมต้นทุนที่มีคุณค่าต่อการต่อสู้ทางการเมืองของครองในเวลาต่อมา สองประการ คือ

หนึ่ง เป็นการสร้างเครือข่ายมวลชนที่มีประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต และ สอง ครองได้เรียนรู้วิธีการทำงานในลักษณะองค์กรที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ขบวนการเสรีไทยมีส่วนในการทำให้ไทยไม่ตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม ปรีดี พนมยงค์ได้เสนอผ่านเตียงให้ครองกลับเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ แต่ครองปฏิเสธ และเลือกที่จะเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกับพลพรรคเสรีไทยที่มาจากชนบทคนอื่นๆ กระนั้น ยังคงทำภารกิจให้แก่รัฐบาลปรีดีต่อไป โดยเฉพาะภารกิจจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

ทว่าหลังการรัฐประหาร 2490 นักการเมืองที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ถูกกวาดล้างอย่างหนัก ครองได้ช่วยเหลือเตียงหลบหนี โดยพาไปหลบภัยยังดงพระเจ้า ภูพาน พื้นที่ที่ครองเคลื่อนไหวมายาวนาน ที่นี่เองทำให้ครองได้รู้จักนักคิดและปัญญาชนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนเห็นร่องรอยความคิดที่แตกต่างมากขึ้นระหว่างเตียงกับครอง ขณะที่ฝ่ายแรกเชื่อในการปฏิรูปแต่ฝ่ายหลังยืนยันการปฏิวัติ

กระนั้นครองก็ถูกรัฐบาลจอมพล ป. จับกุม ในปี 2491 เขาถูกขังไปช่วงหนึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว และกลับมาเลือกตั้งจนได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2493 ในตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด ก่อนจะแพ้เลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2495 ในช่วงที่เขามีความขัดแย้งกับเตียง ศิริขันธ์

ภายใต้ช่วงเวลาของการสยายปีกของประเทศมหาอำนาจสหรัฐ ก็ทำให้ครองได้ทำหน้าที่สำคัญอีกนั่นคือการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพล ป. ดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลางและยุติการส่งทหารไทยไปรบในสงครามเกาหลี

จากบทบาทที่เข้มแข็งนี้ ครองได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปประชุมสันติภาพ ที่ประเทศจีน แต่เกิดเหตุการเคลื่อนไหวสันติภาพถูกกวาดล้างอย่างหนักเสียก่อน ทำให้ครองและเพื่อนจึงถูกจับกุม โดยหนึ่งในบรรดาผู้ถูกจับกุมนับร้อยคนที่ครองได้พบระหว่างจองจำคือ ‘ปาล พนมยงค์’

หลายปีต่อมาเมื่อครองได้รับการปล่อยตัว เขาลงเลือกตั้งในปี 2500 อีกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500 แต่ไม่ได้รับการเลือกเนื่องจากเขาถูกจองจำไม่มีโอกาสได้หาเสียง

แต่ชีวิตการเมืองของครองก็ไม่ต้องรอนานนัก เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่สองมาถึงอีกครั้งหลังการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการเลือกตั้งวันที่ 16 กันยายน 2500 ครั้งนี้ครองได้กลับคืนสู่สภา เพราะได้รับการนิรโทษกรรมในวาระกึ่งพุทธกาล ก่อนที่ครองจะประสบความสำเร็จในทางการเมืองโดยได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการทำงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี แสดงให้เห็นผ่านผลงานของเขาจำนวนมาก มากเสียจนเราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าวาระสุดท้ายของครองจะมาถึง.. ไม่ช้า 

การเปลี่ยนนโยบายกวาดล้างประชาชนของสฤษดิ์

เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 สภาผู้แทนราษฎรของครองก็สิ้นสุดลง สฤษดิ์เปลี่ยนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐไทย รวมถึงมุมมองใหม่ต่อภูมิภาคอีสาน เพราะแม้เพียงแค่การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเรื่องที่ดินทำกิน หรือเพื่อร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาภัยแล้งหรืออุทกภัย ก็จะกลายเป็นถูกรัฐมองว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ผลที่ตามมาจึงทำให้ทั้งเสรีไทยสายอีสานหลายคนและชาวนาโดยทั่วไปที่ไม่เคยเคลื่อนไหวกับเสรีไทยเลยแต่ใกล้ชิดกับนักการเมืองหัวก้าวหน้าอีสานก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาร้ายแรงนั่นคือ “แบ่งแยกดินแดน” 

ในที่สุด หนึ่งในกรณีที่น่าจดจำนั้นคือ การประหาร ‘ครอง จันดาวงศ์’ และ ‘ทองพันธ์ สุทธิมาศ’ จึงเกิดขึ้น และการจับกุมคนที่ทางการเห็นว่าเป็น “พวกพ้อง” ของครอง กว่า 148 คน จนนำมาสู่การประหารครองและทองพันธุ์ ในวันที่ 31 พ.ค. 2504

 

สิ่งที่น่าเศร้าอย่างหนึ่ง คือ ลานประหารที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการลั่นกระสุนสังหารครองและทองพันธุ์นั้น คือ สนามบินลับของเสรีไทยที่ครองและชาวบ้านมีบทบาทสำคัญในการสร้างเพื่อภารกิจกู้ชาติ

 

 

อ้างอิง

  • สมชัย ภัทรธนานันท์. (2558). การสร้างรัฐประชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน, หน้า 82-115
  • สมชัย ภัทรธนานันท์. (2557). ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน. วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1, กรกฎาคม-ธันวาคม, หน้า 1-45