ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789: การจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

11
กันยายน
2564

การจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง[1]

 

ภาพ: ภาพพิมพ์ในปี 1794 หลังการประกาศเลิกทาสในดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศสทั้งหมด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน มีถ้อยคำระบุว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน การเกิดไม่ได้ทำให้คุณค่าของมนุษย์แตกต่างกัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: ภาพพิมพ์ในปี 1794 หลังการประกาศเลิกทาสในดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศสทั้งหมด
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน มีถ้อยคำระบุว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน การเกิดไม่ได้ทำให้คุณค่าของมนุษย์แตกต่างกัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

ในการยกร่างคำประกาศสิทธิ สมาชิกสภาแห่งชาติได้แรงบันดาลใจมาจากทั้งปรัชญาและประสบการณ์ ในส่วนของปรัชญานั้น สภาแห่งชาติไม่ต้องการอ้างถึงพระเจ้าหรือหลักการในทางศาสนามาแปลงรูปลงในระเบียบทางการเมืองใหม่ มิฉะนั้น คำประกาศสิทธิก็ไม่ต่างอะไรกับ “บัญญัติ 10 ประการ” ในศาสนาคริสต์และยิว พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาปรัชญาแบบอื่นๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คำประกาศสิทธิได้แก่ สำนักกฎหมายธรรมชาติ และความคิดของ John Locke, Jean-Jacques Rousseau, Montesquieu

นอกจากงานทางปรัชญาแล้ว สภาแห่งชาติยังได้นำประสบการณ์ของ “ผู้มาก่อน” อย่างสหรัฐอเมริกามาพิจารณาด้วย การปฏิวัติอเมริกาและคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 1776 เป็นภาพที่อยู่ในความคิดของสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น ร่างคำประกาศสิทธิที่ Lafayette ยกร่าง ขึ้นนั้น แทบจะนำความคิดมาจากคำประกาศอิสรภาพของอเมริกามาทั้งหมด

เนื่องมาจาก Lafayette เป็นนายทหารของฝรั่งเศสที่ไปช่วยสหรัฐอเมริกาในการรบกับอังกฤษ นอกจากนี้ ในเวลานั้น Thomas Jefferson ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างคำประกาศอิสรภาพ ยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีสด้วย ทำให้เขามีโอกาสให้คำแนะนำสมาชิกสภาแห่งชาติ มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 13 คน เคยเป็นขุนนางที่กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ส่งไปประจำการที่อเมริกา เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากอังกฤษ

สมาชิกทั้ง 13 คนนี้ต่างประทับใจในการปฏิวัติอเมริกา จึงได้รวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการในชื่อ “Americains” (พวกอเมริกัน) เพื่อนำความคิดต่างๆ ที่ปรากฏในช่วงปฏิวัติอเมริกามาใช้ในฝรั่งเศส สมาชิกกลุ่มนี้ก็เช่น La Fayette, le vicomte de Noailles (ผู้ริเริ่มเสนอให้ตรากฎหมายยกเลิกระบบอภิสิทธิ์), สองพี่น้อง Lameth, le marquis de Ségur, le comte Mathieu de Montmorency, le duc de la Rochefoucauld d' Enville (ผู้แปลรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาฝรั่งเศส)

เนื้อหาของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา มีลักษณะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์และกล่าวเฉพาะเจาะจงกรณีดินแดนอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ความเลวร้ายของรัฐบาลและกษัตริย์อังกฤษ มูลเหตุของการประกาศอิสรภาพ

เหตุเหล่านี้เองได้ทำให้อาณานิคมทั้ง 13 ในอเมริกามีสิทธิในการปฏิวัติ ล้มล้างการปกครองของรัฐบาลอังกฤษ และประกาศอิสรภาพแยกตัวจากอังกฤษได้ สมาชิกสภาแห่งชาติบางส่วน นำโดย Sieyès เห็นว่าไม่ควรนำคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ แต่ควรยกร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของฝรั่งเศสเอง เพราะประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน

เขายังเห็นอีกว่าคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกายังคงรักษาภาพแทนของอำนาจแบบเก่าเอาไว้ ไม่ได้ตัดขาดจากอำนาจกษัตริย์ สังเกตได้จากเนื้อหาในหลายตอนที่ยืนยันว่าดินแดนอเมริกาได้อดทน ร้องขอ เรียกร้องต่อกษัตริย์อังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องประกาศอิสรภาพ

ข้อความเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับอำนาจกษัตริย์ หากกษัตริย์ตอบสนองข้อเรียกร้อง ก็คงไม่จำเป็นต้องประกาศอิสรภาพ อาจกล่าวได้ว่า สำหรับ Sieyès แล้ว การเขียนคำประกาศที่เป็นการก่อตั้งระเบียบทางการเมืองใหม่จำเป็นต้องเขียนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล มิใช่บรรยายถึงมูลเหตุความจำเป็นที่ต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมือง

การยกร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก สมาชิกสภาแห่งชาติหลายคนได้เสนอร่างคำประกาศในชื่อแตกต่างกันไป เช่น Sieyès ให้ชื่อว่า “บทเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญ” Mounier ให้ชื่อว่า “ร่างมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญ” Bouche ให้ชื่อว่า “กฎบัตรอันประกอบเป็นรัฐธรรมนูญในเรื่องวัตถุประสงค์พื้นฐาน” เป็นต้น ชื่อเรียกที่แตกต่างกันเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในเรื่องสถานะและรูปแบบของเอกสารชิ้นนี้

วันที่ 19 สิงหาคม 1789 คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 6 ประจำสภาแห่งชาติได้เสนอร่างเบื้องต้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งชาติ ร่างนี้มีทั้งหมด 24 มาตรา ยกร่างโดย Jérôme Champion de Cicé ซึ่งในการพิจารณาของสภาแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 20-26 สิงหาคม 1789 สมาชิกสภาแห่งชาติได้ถกเถียงกันอย่างหนัก และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม

Mirabeau และ Mounier ได้ยกร่างคำปรารภขึ้น และเสนอให้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนี้ต้องเริ่มต้นด้วยคำปรารภเสียก่อน ซึ่งสภาแห่งชาติเห็นชอบด้วย ส่วน Abbé Grégoire เห็นว่าไม่ควรรับรองสิทธิไว้เท่านั้น แต่ควรกำหนดหน้าที่ไว้ด้วย จึงเสนอให้เติมคำว่า “หน้าที่” เข้าไปในชื่อเป็น “สิทธิและหน้าที่” แต่ข้อเสนอนี้ตกไป

สภาแห่งชาติได้พิจารณาและลงมติทีละมาตรา จนกระทั่งถึงมาตรา 17 ที่รับรองกรรมสิทธิ์ แต่แล้วในวันที่ 27 สิงหาคม สภาแห่งชาติกลับมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องกลับมายกร่างรัฐธรรมนูญกันต่อ ส่วนคำประกาศสิทธิที่ร่างกันมาแล้วและที่จะร่างกันต่อไป ก็ให้มาพิจารณากันใหม่หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจากนั้น

สภาแห่งชาติได้เริ่มต้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 1789 รวม 19 มาตรา สถานการณ์การเมืองในเวลานั้น ประชาชนได้เดินขบวนเรียกร้องให้หลุยส์ที่ 16 กลับมาพำนักอาศัยที่กรุงปารีส และลงนามในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองรวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญ 19 มาตรา หลุยส์ที่ 16 ต้านทานแรงกดดันไม่ไหว จึงตัดสินใจลงนามในรูปของพระราชสาส์นพระบรมราชานุญาต (lettres patentes) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1789

ในส่วนของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนั้น เมื่อหลุยส์ที่ 16 ลงนามแล้ว สภาแห่งชาติก็ไม่ได้นำมาพิจารณายกร่างเพิ่มเติมอีกดังเช่นที่ตั้งใจไว้ตอนแรก ทำให้คำประกาศนี้ยังคงมี 17 มาตราตามเดิม

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นต้นแบบของการยกร่างคำประกาศสิทธิของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นมรดกโลกตามคำประกาศของ UNESCO และมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายฝรั่งเศสปัจจุบัน เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองที่ยังยกร่างไม่แล้วเสร็จ

 

เอกลักษณ์และสาระสำคัญของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง[2]

 

ภาพ: ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ภาพเขียนของบาร์บีเยร์ในราว ค.ศ. 1789
ภาพ: ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ภาพเขียนของบาร์บีเยร์ในราว ค.ศ. 1789

 

ความคิดเรื่องการประกาศถึงสิทธิให้รับรู้ทั่วกันปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 18 โดยมีจุดกำเนิดในทางปรัชญาซึ่งเริ่มต้นจาก สิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และขยายต่อไปถึง สิทธิทางการเมือง

ในส่วนของ “สิทธิตามธรรมชาติ” เราอธิบายได้ว่า ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิบางประการซึ่งรัฐมิอาจพรากเอาไปได้ ด้วยลักษณะธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์เป็นผู้ทรงสิทธิเหล่านี้ สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดจึงไม่อาจถูกจำกัดหรือตีกรอบได้โดยกฎหมาย สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้มาก่อนกฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐ เพราะมันมาตามธรรมชาติ เมื่อเป็นมนุษย์ ก็มีสิทธิเหล่านี้ขึ้นทันที

ในขณะที่กฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐนั้นเป็นเรื่องของอำนาจในการตรากฎหมายของผู้ปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเพื่อก่อตั้งสังคมการเมือง

“สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์” ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งเรียกร้องว่าไม่มีบุคคลใดจะพรากเอาชีวิตและร่างกายไปจากมนุษย์ได้, เสรีภาพ ยืนยันถึงอำนาจของมนุษย์ในการกระทำการใดก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบเสรีภาพของผู้อื่น, กรรมสิทธิ์ ซึ่งยอมรับให้มนุษย์มีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

ทั้งสิทธิในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์ เกิดขึ้นก่อนตั้งแต่มนุษย์จะรวมตัวกันก่อตั้งสังคมการเมืองหรือรัฐ มันจึงเป็นสิทธิที่เกิดก่อนการเมือง เรายอมรับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้ ก็ด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ เพียงประการเดียว นั่นคือ “ความเป็นมนุษย์” เมื่อเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิเหล่านี้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมากำหนดให้มี

John Locke อธิบายไว้ว่า สิทธิตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่อาจถูกพรากเอาไปและไม่อาจถูกละเมิดได้ สิทธิตามธรรมชาติจึงกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้อำนาจของผู้ปกครองและรัฐบาล เจตจำนงของผู้ปกครองที่แสดงออกในรูปของการตรากฎหมาย ไม่อาจทำลายสิทธิเหล่านี้ วันใดที่ผู้ปกครองล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ปกครองจะสูญสิ้นซึ่งความชอบธรรมในการปกครอง ประชาชนย่อมมีสิทธิในการต่อต้านผู้ปกครองมีสิทธิในการล้มล้างผู้ปกครองด้วยกำลัง เพราะการกระทำของผู้ปกครอง คือ อาชญากรรมอันเป็นนิรันดร์

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เกิดความคิดนำสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ไปบัญญัติไว้ในเอกสารคำประกาศ ฝ่ายที่สนับสนุนความคิดดังกล่าวต้องการแปลงสิทธิตามธรรมชาติให้อยู่ในรูปของกฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐ เพื่อให้คุณค่าของสิทธิตามธรรมชาติถูกยอมรับและรับรู้โดยทั่วกัน ผู้ปกครองจะอ้างว่าไม่รับรู้รับทราบถึงการมีอยู่ของสิทธิเหล่านี้ไม่ได้

หากพิจารณาในทางประวัติศาสตร์ของการจัดทำเอกสารคำประกาศเรื่องสิทธิ เราอาจต้องย้อนกลับไปถึง Magna Carta ซึ่งตราขึ้นในปี 1215 ต่อด้วย Petition of Rights ซึ่งตราขึ้นในปี 1629 Habeas Corpus ซึ่งตราขึ้นในปี 1679 และ Bil of Rights ซึ่งตราขึ้นในปี 1688 คำประกาศสิทธิชุดนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษภายใต้บริบทของความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยืนยันอำนาจของรัฐสภาในการจัดเก็บภาษี หลักประกันสิทธิของบุคคล และอำนาจสูงสุดของรัฐสภา อาจกล่าวได้ว่า คำประกาศสิทธิของอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อรูประบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภาได้สำเร็จ

 

ภาพ: ภาพเขียนสีน้ำมันโดย John Trumbull ศิลปินในยุคสงครามปฏิวัติอเมริกา แสดงเหตุการณ์การเสนอร่างคำประกาศอิสรภาพต่อที่ประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปของคณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย จอห์น อดัมส์ ตัวแทนจากแมสซาชูเซตส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน ตัวแทนจากเวอร์จิเนีย, เบนจามิน แฟรงคลิน ตัวแทนจากเพนน์ซิลวาเนีย, โรเจอร์ เชอร์แมน ตัวแทนจากคอนเนคติกัต และ โรเบิร์ต ลิฟวิงส์ตัน ตัวแทนจากนิวยอร์ก (เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1776 ไม่ใช่วันลงนามประกาศอิสรภาพ) ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: ภาพเขียนสีน้ำมันโดย John Trumbull ศิลปินในยุคสงครามปฏิวัติอเมริกา แสดงเหตุการณ์การเสนอร่างคำประกาศอิสรภาพต่อที่ประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปของคณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย จอห์น อดัมส์ ตัวแทนจากแมสซาชูเซตส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน ตัวแทนจากเวอร์จิเนีย, เบนจามิน แฟรงคลิน ตัวแทนจากเพนน์ซิลวาเนีย, โรเจอร์ เชอร์แมน ตัวแทนจากคอนเนคติกัต และ โรเบิร์ต ลิฟวิงส์ตัน ตัวแทนจากนิวยอร์ก (เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1776 ไม่ใช่วันลงนามประกาศอิสรภาพ)
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา คำประกาศอิสรภาพ 4 กรกฎาคม 1776 ซึ่งร่างโดย Thomas Jefferson ได้ยืนยันอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา โดยอ้างอิงถึงเสรีภาพ สิทธิในชีวิต ความผาสุก และความเสมอภาค หลังจากนั้น มีการยกร่างคำประกาศสิทธิเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันถึงเสรีภาพส่วนบุคคลเช่น กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย การนับถือศาสนา การชุมนุม การพิมพ์ เป็นต้น

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ของฝรั่งเศส ก็เกิดขึ้นภายใต้บริบทเดียวกันนี้ ท่ามกลางกระแสการยืนยันถึงสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ตามแนวทางของสำนักกฎหมายธรรมชาติ ผสมกับกระแสการนำสิทธิตามธรรมชาติเหล่านี้มายกร่างเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของคำประกาศสิทธิ สมาชิกสภาแห่งชาติจึงกำหนดให้การจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเป็นภารกิจสำคัญแรก อย่างไรก็ตาม เพื่อไปให้พ้นจากความคิดแบบเดิมที่ผูกพันกับพระเจ้าในฐานะเป็นแหล่งที่มาของความถูกต้องดีงามทั้งหลาย เช่นเดียวกัน ก็ต้องไม่กลับไปอ้างความชอบธรรมตามระบอบเก่าอย่างกษัตริย์ด้วย ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงต้องค้นหาแหล่งอ้างอิงแบบใหม่เข้าทดแทน ซึ่งก็คือ “ธรรมชาติ” นั่นเอง

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้จากคำปรารภของคำประกาศฯ ได้ ดังนี้

“โดยที่พิจารณาเห็นว่า ความเขลาเบาปัญญา ความหลงลืม หรือความละเลยเพิกเฉยต่อสิทธิประการต่างๆ ของมนุษย์นั้น เป็นสาเหตุแต่เพียงประการเดียวของความหายนะที่เกิดมีขึ้นแก่ส่วนรวม และของความฉ้อฉลที่เกิดมีขึ้นในรัฐบาลชุดต่างๆ บรรดาผู้แทนปวงชนชาวฝรั่งเศสซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาแห่งชาติ จึงเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะแสดงให้ปรากฏเห็นอย่างเป็นทางการลงไปในคำประกาศ ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจถ่ายโอนแก่กันได้ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์

เพื่อว่าเมื่อคำประกาศฉบับนี้ได้ปรากฏแก่สมาชิกทั้งมวลอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมแล้ว จะกระตุ้นให้สมาชิกเหล่านั้นได้ตระหนักอยู่เสมอถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของพวกเขา

เพื่อว่าเมื่อพิจารณาถึงการกระทำของอำนาจนิติบัญญัติและการกระทำของอำนาจปกครองบริหาร ไม่ว่าจะในคราใดก็ตาม ประกอบกันเข้ากับวัตถุประสงค์แห่งสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน จักพึงได้รับการเคารพยิ่งขึ้น

เพื่อว่าข้อเรียกร้องทั้งปวงของพลเมือง - ซึ่งนับแต่บัดนี้ไป จักตั้งอยู่บนหลักการต่างๆ อันชัดเจนและเป็นหลักการที่มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป - จักมุ่งไปสู่การธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ ต่อเบื้องหน้าและภายใต้การคุ้มครองแห่งองคภาวะสูงสุด สภาแห่งชาติจึงยอมรับและประกาศซึ่งสิทธิทั้งหลายแห่งมนุษยชนและพลเมืองไว้ ดังต่อไปนี้…”[3]

จะเห็นได้ว่า ในคำปรารภนี้ ไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าหรือกษัตริย์เลย แต่เน้นถึงสภาวะตามธรรมชาติที่ดำรงอยู่แล้ว มีมาก่อนหน้าแล้ว และผูกพันกับความเป็นมนุษย์ เพียงแต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา เราได้หลงลืมหรือเพิกเฉยมันไปเอง ดังนั้น คำประกาศนี้จึงไม่ได้เป็นการ “กำหนด” หรือ “ก่อตั้ง” ให้สิทธิเหล่านี้มีขึ้น แต่มัน “ประกาศ” สิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ปรากฏชัดเจน

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิของคำประกาศ และสนับสนุนความชอบธรรมให้แก่สภาแห่งชาติในการจัดทำคำประกาศนี้ สภาแห่งชาติจำต้องไปหาองคภาวะอะไรบางอย่างมาประกอบ เมื่อไม่ต้องการอ้างพระเจ้าและกษัตริย์ พวกเขาจึงต้องอ้างสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม โดยให้ชื่อว่า “Etre supreme” หรือ “องคภาวะสูงสุด”

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังมีลักษณะแตกต่างจากคำประกาศสิทธิของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเรื่องของ “ความเป็นสากล” ผู้ร่างมีเจตจำนงชัดเจนต้องการให้คำประกาศนี้มีลักษณะสากล ใช้กับมนุษย์ทั้งปวง โดยไม่ยึดติดกับพรมแดนและเชื้อชาติ ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดสากลนิยมในศตวรรษที่ 18 นั่นเอง

เราสังเกตได้ว่า ไม่ปรากฏคำว่า “ฝรั่งเศส” หรือ “ประชาชนชาวฝรั่งเศส” ในคำประกาศนี้เลย ทั้งนี้ ก็เพราะว่า สภาแห่งชาติมุ่งหมายให้คำประกาศนี้ใช้กับมนุษย์ทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะกับคนฝรั่งเศส เมื่อสิทธิทั้งหลายที่ประกาศไว้ในคำประกาศนี้ เป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์ทั้งปวงจึงเป็นผู้ทรงสิทธิ และ มันคือสิทธิของมนุษยชาติ

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีลักษณะที่แตกต่างไปจากคำประกาศสิทธิอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศสิทธิหลายฉบับของอังกฤษ หรือคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาอาจกล่าวได้ว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีเอกลักษณ์อยู่หลายประการ ดังนี้

ประการแรก ลักษณะความเป็นสากล คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไม่มุ่งหมายเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศสและคนฝรั่งเศส แต่ผู้ร่างต้องการให้ครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคน เพราะสิทธิทั้งหลายที่ได้ประกาศไว้นั้นสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติและพรมแดน

ประการที่สอง คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยการนำเอาสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์เชื่อมต่อกับสิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สภาแห่งชาติจงใจใช้ชื่อว่า “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอกสารนี้ได้ประกาศถึง “สิทธิมนุษยชน” (Droits de l'homme) พร้อมๆ กับ “สิทธิพลเมือง” (Droits du citoyen) โดยเนื้อหาในแต่ละมาตราก็ได้ยืนยันถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองไว้

นับตั้งแต่นี้ การจัดองค์กรทางการเมืองและการใช้อำนาจของผู้ปกครองทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด นั่นคือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง

ประการที่สาม คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังเป็นตัวบทแรกที่ยืนยันถึงเสรีภาพซึ่งเป็นแรงบันดาลใจดั้งเดิมอันสืบเนื่องมาจากปรัชญาแสงสว่าง ไปพร้อมๆ กับความเสมอภาคซึ่งเป็นความคิดใหม่ในช่วงเวลานั้น การยืนยันถึงเสรีภาพก็เพื่อป้องกันปัจเจกบุคคลให้พ้นไปจากการกดขี่ในทุกรูปแบบ ในขณะที่ความเสมอภาคนั้นถูกอ้างถึงในฐานะเป็นปัจจัยอันสำคัญในการยกเลิกอภิสิทธิ์และยกระดับฐานันดรที่ 3 ให้ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองแทนที่พวกพระและขุนนาง

ประการสุดท้าย คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีรูปแบบการเขียนไม่สลับซับซ้อน สั้นกระชับ ชัดเจน ประกอบไปด้วยคำปรารภและบทบัญญัติเพียง 17 มาตราเท่านั้น ผู้ร่างประสงค์ให้ประชาชนทั้งหลายสามารถเข้าถึงและเข้าใจคำประกาศฉบับนี้ได้โดยง่าย คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เป็นคำประกาศทางการเมืองที่แสดงออกอย่างชัดเจน เชื่อมโยงเป็นระบบและเข้าใจง่าย

ในด้านเนื้อหา คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เริ่มต้นจากการยืนยันถึงความเสมอภาคไว้ในมาตรา 1 ว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น”

ผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ต้องการสถาปนาหลักความเสมอภาคขึ้นในฐานะเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบใหม่ แสดงให้เห็นถึงการแตกหักกับระบอบเก่า ยุติการแบ่งคนออกเป็นฐานันดรยกเลิกอภิสิทธิ์ของพวกพระและขุนนาง ชาติกำเนิดและสถานะทางสังคมไม่อาจเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งอภิสิทธิ์อีกต่อไป

ในมาตรา 2 บัญญัติว่า “วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัยและสิทธิในการต่อต้านการกดขี่”

บทบัญญัตินี้หมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐาน 4 เรื่อง อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และ การต่อต้านการกดขี่ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็ย่อมมีเสรีภาพ เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ได้ มีสิทธิในการได้รับความปลอดภัย และเมื่อมนุษย์ถูกกดขี่ ก็ย่อมมีสิทธิต่อต้าน และสิทธิทั้ง 4 เรื่องนี้ติดตัวมากับความเป็นมนุษย์ จึงไม่อาจถูกเพิกถอนไปได้

ในส่วนของ เสรีภาพ นั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ได้แจกแจงรายละเอียดของเสรีภาพในแต่ละเรื่องไล่เรียงไปทีละมาตรา เริ่มตั้งแต่ ในมาตรา 4 ยืนยันถึงเสรีภาพส่วนบุคคลว่า เสรีภาพ คือ ความสามารถของมนุษย์ในการกระทำการใดก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น ข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลมีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เสรีภาพของบุคคลอื่น

ดังนั้น การใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมถูกจำกัดลงได้แต่เพียงเพื่อการประกันให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมสามารถใช้สิทธิอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย ข้อจำกัดทั้งหลายในการใช้สิทธิเหล่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยบทกฎหมายเท่านั้น

จากบทบัญญัติในมาตรา 4 นี้เอง ทำให้ George Jellinek นักนิติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้สร้างคำอธิบายเรื่องประเภทของสิทธิ เห็นว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 พูดถึงแต่สิทธิในทางปฏิเสธ (status negativus) หรือสิทธิในการปฏิเสธไมให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้พูดถึงสิทธิในการเรียกร้องจากรัฐ (status positivus) และสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง (status activus)[4]

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของพวกกระฎุมพีที่เน้นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ พวกเขาไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของพวกเขามากกว่าที่จะเรียกร้องให้รัฐให้อะไรแก่พวกเขา ในสายตาของพวกกระฎุมพี รัฐไม่จำเป็นต้องมอบอะไร ขอแค่รัฐอย่ามายุ่งกับเขาก็เพียงพอแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง หากพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายซ้าย คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีเนื้อหาที่เอียงไปในทางเสรีนิยม (liberalist) มากกว่าสังคมนิยม (socialist) สนับสนุนให้รัฐมีอำนาจน้อย รัฐแทรกแซงน้อย เพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพ และไม่สนับสนุนให้รัฐมีอำนาจมาก รัฐแทรกแซงมาก เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังได้ยืนยันถึงหลักประกันในการไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยอำเภอใจ (มาตรา 7) หลักการกำหนดโทษต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย (มาตรา 8) หลักการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (มาตรา 9) เสรีภาพในความคิดและการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด (มาตรา 10) เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนสื่อสารซึ่งความคิดและความเห็น เสรีภาพในการพิมพ์ พูด เขียน (มาตรา 11)

ในส่วนของกรรมสิทธิ์นั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยืนยันไว้ในมาตรา 17 ว่า “กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้และเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ บุคคลจะถูกพรากไปซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเห็นประจักษ์ชัดตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยมีเงื่อนไขในการชดเชยที่เป็นธรรมและกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว”

“กรรมสิทธิ์” เป็นเงื่อนไขของเสรีภาพ มนุษย์มีเสรีภาพและใช้เสรีภาพได้ จำเป็นต้องถือครองทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์จึงเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้ ข้อจำกัดของกรรมสิทธิ์มีเพียงประโยชน์สาธารณะเท่านั้น รัฐอาจละเมิดกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลได้ก็เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ

มนุษย์ย่อมมี สิทธิในความปลอดภัย (มาตรา 4) ความปลอดภัยเป็นหลักประกันของการมีและใช้เสรีภาพ มนุษย์ต้องมั่นใจได้ว่าการใช้เสรีภาพของตนจะไม่ถูกรบกวนหรือกระทบต่อชีวิตและร่างกาย สิทธิในความปลอดภัยยังยึดโยงถึงภารกิจของรัฐ และเหตุผลของการมีอยู่ของรัฐด้วย เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองและยินยอมยกให้รัฐมีอำนาจเหนือพวกตนได้ ก็เพราะต้องการให้รัฐปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากภัยอันตรายต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องประกันได้ว่าปัจเจกบุคคลจะใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย

สิทธิขั้นพื้นฐานอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ในเรื่องสุดท้าย คือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ เมื่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบ กดขี่ข่มเหงประชาชน พรากเอาสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายของประชาชนไป จนไม่หลงเหลือสิทธิใดอีก แต่ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิประการสุดท้ายหลงเหลืออยู่ นั่นคือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง ล้มล้างผู้ปกครองนั้น เพื่อก่อตั้งระบอบการเมืองและรัฐบาลขึ้นใหม่ ในนัยนี้เองสิทธิในการต่อต้านการกดขี้จึงเป็น “อาวุธ” สุดท้ายของมนุษย์ในการต่อสู้กับการใช้อำนาจที่ทำลายสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์

นอกจากสิทธิขั้นพื้นฐาน 4 เรื่องซึ่งไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และการต่อต้านการกดขี่แล้ว คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังได้ประกาศยืนยันถึงความเสมอภาคเอาไว้ด้วย

ผู้ก่อการปฏิวัติปกป้องหลักความเสมอภาคในฐานะเป็นหลักการที่แตกหักกับวิธีคิดของระบอบเก่าชาติกำเนิดและสถานะทางสังคมไม่ได้นำมาซึ่งอภิสิทธิ์ ความแตกต่างทางชาติกำเนิด สถานะทางสังคม ไม่อาจทำให้บุคคลไม่เท่าเทียมกันได้ ในสายตาของผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ความไม่เสมอภาคระหว่างบุคคลและการเลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากชาติกำเนิดและสถานะนั้นเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ เพราะ มันจะเบียดบังลิดรอนเอาเสรีภาพของคนเล็กคนน้อยไป

ในนัยนี้ หมายความว่า เสรีภาพจะบังเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีความเสมอภาคเสียก่อน ดังนั้น ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง จึงเริ่มต้นมาตราแรกว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาแห่งชาติเห็นว่า ความเสมอภาคไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและติดตัวมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด อย่างน้อยที่สุด ในทางกายภาพ มนุษย์ก็ไม่ได้มี รูปร่าง หน้าตา เพศ สีผิว เหมือนกันทั้งหมด และในทางสติปัญญา ก็ไม่มีทางที่มนุษย์จะมีความรู้ มีทักษะการใช้เหตุผล มีทัศนคติ ในแบบเดียวกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาชิกสภาแห่งชาติจึงมิได้ยืนยันให้ความเสมอภาคเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวกับความเป็นมนุษย์ แต่พิจารณาความเสมอภาคในฐานะเป็นอุดมคติทางปรัชญาและการเมืองที่สังคมการเมืองพยายามก้าวไปให้ถึง เป็นเงื่อนไขของการมีเสรีภาพ และเป็นเงื่อนไขของการคุ้มครองสิทธิอื่นๆ

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เน้นไปที่ “ความเสมอภาคตามกฎหมาย” มากกว่า “ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ” หรือ “ความเสมอภาคทางโอกาส” ความเสมอภาคตามกฎหมาย เรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลเสมอภาคกันในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ดังปรากฏให้เห็นในมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “...กฎหมายจักต้องมีผลบังคับเสมอกันแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ความคุ้มครองแก่สิทธิของบุคคล หรือกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ลงโทษแก่บุคคล…”

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมเช่นไร ต่างก็มีความเสมอภาคกันในการเข้าสู่ตำแหน่งข้ารัฐการ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 เช่นกันว่า “...พลเมืองทุกคนซึ่งเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายนั้น ย่อมเข้าสู่ตำแหน่งและงานอาชีพทางสาธารณะได้ ทั้งนี้ตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยไม่จำต้องพิจารณาความแตกต่างอื่นใด เว้นเสียแต่ความแตกต่างอันเนื่องมาจากคุณธรรมและความแตกต่างในด้านทักษะความสามารถพิเศษของบุคคลแต่ละคน”

ประการสุดท้าย ความเสมอภาคตามกฎหมายเรียกร้องต่อไปถึงความเสมอภาคทางภาษีด้วย ดังที่ในมาตรา 13 บัญญัติว่า “เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจสาธารณะและค่าใช้จ่ายทางการปกครอง เป็นการจำเป็นที่จะต้องเรียกให้สังคมเข้ามารับภาระในเรื่องนี้ร่วมกัน การมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายสาธารณะจะต้องกำหนดสัดส่วนในระหว่างพลเมืองโดยเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความสามารถของพลเมืองแต่ละคน”

หากพิจารณาจากบทบัญญัติในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แล้ว เราอาจสังเกตได้ถึงทัศนคติของสมาชิกสภาแห่งชาติในปี 1789 ที่ไม่ได้สนใจหรือสนับสนุนเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสเท่าไรนัก แน่นอนว่าหลักความเสมอภาคตามความคิดของพวกเขานั้นเรียกร้องห้ามมิให้รัฐกระทำการอันไม่เสมอภาคอย่างไม่เป็นธรรม แต่มันก็ไม่ได้ไปไกลถึงขนาดที่จะลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เกิดมาตามธรรมชาติและรัฐไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น กรณีคนที่มาจากครอบครัวยากจนและด้อยโอกาสทางสังคมย่อมเสียเปรียบคนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยและมีโอกาสทางสังคมมากกว่า ทั้งสองคนนี้เริ่มต้นชีวิตด้วยความไม่เท่าเทียมกัน คนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยย่อมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากร และแหล่งทุนได้มากกว่าคนที่มาจากครอบครัวยากจน ในท้ายที่สุด คนรวยก็ได้เปรียบคนจนเสมอ

กรณีเช่นนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเสมอภาคทางโอกาส ตรงกันข้าม หากรัฐมีมาตรการช่วยเหลือคนจนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เท่ากับคนรวย โดยให้ประโยชน์แก่คนจนมากกว่าคนรวย และเก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจนเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นว่าละเมิดเสรีภาพของคนรวย ละเมิดกรรมสิทธิ์ของคนรวย เบียดบังทรัพยากรจากคนรวยไปให้คนจน จนกลายเป็นความไม่เสมอภาคขึ้นมาอีก

ด้วยวิธีคิดแบบนี้เอง จึงไม่เกินเลยไปนักที่จะยืนยันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เป็นการปฏิวัติของพวกกระฎุมพีที่ต้องการยกระดับชนชั้นตนเองให้มีบทบาททางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และรับรองกรรมสิทธิ์ของพวกตนเอง ความเสมอภาคที่คณะผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ปรารถนา เป็นความเสมอภาคที่ทำให้พวกกระฎุมพีได้เท่าเทียมกับพวกพระและขุนนาง การปฏิวัติ 1789 ไม่ใช่การปฏิวัติที่มุ่งหมายสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างพวกกระฎุมพีกับพวกชนชั้นล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อการปฏิวัติอุบัติขึ้น ชนชั้นกระฎุมพีซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดการปฏิวัติ ก็ไม่ได้เป็น “เจ้าของ” การปฏิวัติเสียแล้ว เหตุปัจจัยและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกสภาได้ทำให้กระฎุมพีที่ครอบงำสภาแห่งชาติไม่อาจ “ควบคุม” และ “บังคับ” ทิศทางของการปฏิวัติให้เป็นไปในทางเสรีนิยมได้ทั้งหมด วิกฤตเศรษฐกิจ ความยากจน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพวก sans-culotte ตามท้องถนน เป็นแรงกดดันให้สภาแห่งชาติต้องคำนึงถึงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมากขึ้น จนกระทั่งในปี 1792 ที่นักปฏิวัติปีก Jacobin ได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติ การปฏิวัติก็ก้าวรุดหน้าไปในทางสังคมนิยมมากขึ้น

คงเป็นดังที่ Maximilien Robespierre ได้กล่าวสุนทรพจน์ “ว่าด้วยสงคราม” ไว้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1792 ต่อสมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญว่า

“ลองไตร่ตรองถึงการเดินทางของการปฏิวัติ ในสภาพการณ์ที่ก่อตั้งขึ้นแล้วเสร็จ เกือบทุกประเทศในยุโรป มีสามพลังอำนาจ คือ กษัตริย์ อภิชน และประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าหากการปฏิวัติได้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป

การปฏิวัติเริ่มขึ้นโดยขุนนางนักบวช คนรวย และประชาชนก็สนับสนุนพวกเขาเหล่านี้หากว่าประโยชน์สอดคล้องต้องกัน ด้วยการต่อต้านอำนาจที่ครอบงำอยู่ นั่นคือ อำนาจของกษัตริย์ เช่นเดียวกันกับรอบๆ ตัวพวกท่านนี่แหละ คือ รัฐสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย ที่ได้เริ่มขับเคลื่อนการปฏิวัติ

จากนั้นประชาชนก็ปรากฏขึ้น บรรดาสมาชิกสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย อาจรู้สึกสำนึกผิดเสียใจ หรืออยากยุติการปฏิวัติ เมื่อพวกเขาได้เห็นว่าประชาชนจะขึ้นมากอบกู้เอาอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของตัว แต่ก็พวกเขาเองนั่นแหละที่ได้เริ่มต้นการปฏิวัติ…”[5]

 

การอ่านคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองตามแบบ Naturalist และ Legal Positivist[6]

มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 โดยพิจารณาจากมุมมองทางนิติปรัชญาว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ค่อนไปทางสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Naturalist) หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivist) กันแน่

หากพิจารณาจากมุมมองของ สำนักกฎหมายบ้านเมือง พบว่าเนื้อหาในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เน้นเรื่อง “กฎหมาย” มากจนอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะให้กฎหมายที่ผู้แทนประขาชนตราขึ้นนั้นเป็นศูนย์กลาง (légicentrisme) ซึ่งการตีความคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แบบมีกฎหมายเป็นศูนย์กลาง รับอิทธิพลความคิดมาจาก Jean-Jacques Rousseau ที่เห็นว่า ไม่มีสิทธิมนุษยชนอยู่ในกฎหมายธรรมชาติ มีเพียงแต่สิทธิของพลเมืองเท่านั้น ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจะถูกใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อมีสิทธิของพลเมืองขึ้นมาก่อน

หากพิจารณาเนื้อหาในคำประกาศสิทธิมนุษชนและพลเมือง 1789 ในหลายมาตรา อาจช่วยยืนยันได้ถึงความคิดเช่นนี้ ในมาตรา 6 กำหนดว่า กฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน (la volonté générale) พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมในการร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านทางผู้แทนของพลเมือง กฎหมายต้องมีผลบังคับเสมอกันแก่ทุกคน ไม่ว่ากฎหมายกำหนดให้ความคุ้มครองแก่สิทธิของบุคคลหรือกฎหมายกำหนดโทษแก่บุคคล…”  หรือในมาตรา 5 กำหนดว่า กฎหมายมีสิทธิจะห้ามได้ก็แต่การกระทำซึ่งอาจก่ออันตรายเสียหายแก่สังคม การใดซึ่งมิได้ถูกห้ามไว้โดยบทกฎหมาย การนั้นย่อมสามารถจะกระทำได้ และบุคคลจะถูกบังคับให้กระทำการที่บทกฎหมายมิได้บัญญัติไว้มิได้

ในมาตรา 4 กำหนดว่า “เสรีภาพ ได้แก่ ความสามารถของบุคคลที่จะกระทำการใด ๆ ได้โดยไม่ก่ออันตรายเสียหายแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ การใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมถูกจำกัดลงได้แต่เฉพาะที่จะให้การประกันแก่ผู้เป็นสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคมเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย ข้อจำกัดทั้งหลายในการใช้สิทธิเหล่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยบทกฎหมายเท่านั้น กรณีนี้ ย่อมหมายความว่า เสรีภาพของบุคคลย่อมถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย

เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลอาจถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายเช่นกัน ดังที่ในมาตรา 10 บัญญัติว่า “บุคคลสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนและทางศาสนาได้โดยไม่จำต้องเกรงต่อเหตุใดๆ โดยมีเงื่อนไขว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลนั้นจักต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยแห่งสาธารณะซึ่งรับรองโดยกฎหมาย”

ในมาตรา 11 ก็ยืนยันไว้เช่นเดียวกันว่า “การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลโดยเสรีในทางความคิดและความเห็นเป็นสิทธิประการหนึ่งในบรรดาสิทธิอันมีค่าอย่างยิ่งยวดของมนุษย์ พลเมืองทุกคนจึงสามารถพูด เขียน พิมพ์เผยแพร่ได้อย่างเสรี เว้นเสียแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนด ไว้ว่าการกระทำใดเป็นการใช้เสรีภาพผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง”

ในส่วนของกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้น อาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย ตามที่มาตรา 17 บัญญัติว่า “กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้และเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ บุคคลจะถูกพรากไปซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเห็นประจักษ์ชัดตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยมีเงื่อนไขในการชดเชยที่เป็นธรรมและกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว”

บทบัญญัติที่ยกมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “กฎหมาย” แม้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ได้ “ประกาศ” สิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ก็ตาม แต่สิทธิเหล่านี้ ก็อาจถูกกำหนดกรอบได้โดยกฎหมายอยู่ดี ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ คือ เจตจำนงร่วมกันของพลเมืองนั่นเอง

หากมองในมุมของ สำนักกฎหมายธรรมชาติ แล้ว คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แสดงให้เห็นถึงความคิดแบบสำนักกฎหมายธรรมชาติอยู่ในหลายกรณี ตั้งแต่พื้นฐานความคิดทางปรัชญาที่ สืบเนื่องมาจากปรัชญาแสงสว่าง ตามความคิดของ John Locke แล้ว สิทธิพลเมืองก็คือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกนำมาประกาศ บังคับใช้ และสร้างหลักประกันให้สิทธิเหล่านั้นเกิดผลได้จริง

ดังนั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ก็คือการทำให้สิทธิตามธรรมชาติ สภาวะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กลายเป็นสถาบัน (institutionalization) เพื่อมิให้สิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงมีนั้นกลายเป็นเพียงเรื่องทางศีลธรรมและไม่มีสภาพบังคับ

เราสามารถพบเห็นความคิดแบบกฎหมายธรรมชาติตั้งแต่มาตราแรกที่ยืนยันว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น”

จากนั้นในมาตรา 2 ก็ประกาศอย่างหนักแน่นว่า “วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่”

บทบัญญัติในสองมาตราแรกนี้ช่วยยืนยันให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ก็ตาม อย่างไรเสีย เมื่อมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว มนุษย์ก็มีเสรีภาพเสมอภาคในสิทธิต่างๆ ทันที และรัฐมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง “สิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์” ดังนั้น รัฐจึงไม่อาจออกกฎหมายทำลายสิทธิเหล่านี้ได้

แม้ในบทบัญญัติมาตราอื่นๆ จะยอมให้มีการตรากฎหมายเพื่อตีกรอบหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเหล่านั้นจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ แต่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้วย เช่น การออกกฎหมายเพื่อห้ามมิให้บุคคลกระทำการนั้น จะต้องเป็นกรณีที่การกระทำนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายเสียหายแก่สังคม (มาตรา 5) หรือกรณีกฎหมายกำหนดบทลงโทษ ก็ทำได้ก็แต่ “เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเท่านั้น” และบุคคลจะถูกลงโทษได้ก็แต่โดยอาศัย “อำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นและประกาศใช้ก่อนหน้าการกระทำอันเป็นความผิด และได้ใช้บทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ โดยชอบแล้วเท่านั้น” (มาตรา 8) และในกรณีที่จำเป็นต้องจับกุมบุคคล หากมีมาตรการที่เข้มงวดอย่างไม่จำเป็นอยู่ ก็ต้องตรากฎหมายยกเลิกเสีย (มาตรา 9)

จะเห็นได้ว่า แม้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ให้ความสำคัญแก่กฎหมายก็ตาม แต่กฎหมายที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่กฎหมายอะไรก็ได้ แต่มันอยู่ภายใต้เงื่อนไขทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหา ได้แก่กฎหมายต้องตราขึ้นโดยพลเมืองหรือผู้แทน และกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องทำเท่าที่จำเป็น และเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และไม่อาจเพิกถอนทำลายสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่ หากอ่านคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไปตามทิศทางนี้ ก็ต้องสรุปได้ว่า คำประกาศฯ ค่อนไปทางสำนักกฎหมายธรรมชาติมากกว่า

ความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองกับสำนักกฎหมายธรรมชาติอาจปะทะกันอย่างชัดแจ้งที่สุดในเรื่องของสิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง ในมาตรา 2 ยืนยันให้การต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครองนั้นเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์อันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้

ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 7 กลับกำหนดว่า ในกรณีที่ “พลเมืองถูกเรียกหรือถูกจับกุมโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย พลเมืองนั้นต้องยอมปฏิบัติตามแต่โดยดีการฝ่าฝืนนขัดในกรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นผู้ต้องกระทำความผิด”

หากยืนยันตามสำนักกฎหมายธรรมชาติแล้ว เมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจกดขี่พรากเอาสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายของประชาชนไป ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิประการสุดท้ายหลงเหลืออยู่ นั่นคือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง และล้มล้างผู้ปกครองนั้น ในทางกลับกัน หากยึดถือสำนักกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายในการจับกุม การต่อต้านการจับกุมย่อมมีความผิดตามกฎหมาย กรณีเช่นนี้จึงเกิดปัญหาตามมาว่าตกลงแล้วบุคคลมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนหรือไม่? ในกรณีที่บุคคลต่อต้านขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เขาจะมีความผิดหรือไม่?

ความขัดแย้งกันเองดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากความลังเลใจและความกังวลใจของสมาชิกสภาแห่งชาติ ด้านหนึ่ง พวกเขาจำเป็นต้องรักษาระเบียบและอำนาจเอาไว้ อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิ์ในการต่อต้านและล้มล้างผู้ปกครองตามความคิดแบบปฏิวัติ

 

หลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักอำนาจอธิปไตย[7]

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไม่ได้ประกาศยืนยันถึงสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีบทบัญญัติที่วางโครงสร้างการเมืองการปกครองในระบอบใหม่ หรือกรอบเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญไว้ด้วย ได้แก่ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักอำนาจอธิปไตย และกฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงร่วมกัน

ในมาตรา 16 รับรองหลักการแบ่งแยกอำนาจไว้ว่า “สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยซัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ” บทบัญญัติในมาตรา 16 นี้เป็นการยืนยันว่า รัฐธรรมนูญไม่อาจมีเนื้อหาสาระอย่างไรก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติที่ประกันสิทธิและจัดวางโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบแบ่งแยกอำนาจเอาไว้

สมาชิกสภาแห่งชาติได้รับแรงบันดาลจากปรัชญาของ John Locke และ Montesquieu พวกเขาเห็นว่า การปกครองที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือคณะบุคคลนั้นเป็นสาเหตุสำคัญของเผด็จการกดขี่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดโครงสร้างการปกครองแบบแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจออกจากกัน เพื่อให้องค์กรหนึ่งสามารถใช้อำนาจในแดนของตนหยุดยั้งการใช้อำนาจของอีกองค์กรหนึ่งได้การให้คุณลักษณะของรัฐธรรมนูญตามแบบที่คณะปฏิวัติ 1789 กำหนดนี้ ทำให้ “รัฐธรรมนูญ” ไม่ได้เป็นข้อความคิดที่มีความเป็นกลางอีกต่อไป

“รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นกฎหมายพื้นฐานที่กำหนดระบอบการปกครองตามแบบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น หากมีกฎหมายพื้นฐานอื่นที่เกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองการปกครองแต่กลับไม่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานและการแบ่งแยกอำนาจไว้ กฎหมายพื้นฐานก็ไม่อาจมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญได้ หากพิจารณาตามแนวคิดนี้ ย่อมหมายความว่า ประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการไม่มีรัฐธรรมนูญ นิยามของรัฐธรรมนูญตามนัยนี้จึงมีความสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

หลักการแบ่งแยกอำนาจของ Montesquieu มีอิทธิพลต่อคณะปฏิวัติ 1789 โดยปรากฏให้เห็นชัดแจ้งที่สุดจากบทบัญญัติในมาตรา 16 นี้เอง อย่างไรก็ตาม มีผู้ตีความว่า เฉพาะระบบประธานาธิบดีเท่านั้นที่สอดคล้องกับความคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจของ Montesquieu เพราะระบบประธานาธิบดีได้แบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด

ในขณะที่ระบบรัฐสภาไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายบริหารยังคงมีความสัมพันธ์กันอยู่โดยที่องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจบริหารและองค์กรฝ่ายบริหารก็มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น หากเชื่อกันว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจตามมาตรา 16 รับอิทธิพลมาจาก Montesquieu จริง ก็ย่อมหมายความต่อไป ว่า ระบบการปกครองที่คณะปฏิวัติ 1789 ต้องการ คือ ระบบประธานาธิบดีด้วย

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะ Montesquieu ไม่เคยเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด ขอเพียงแต่อำนาจต้องไม่รวมศูนย์อยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น ในความเห็นของ Montesquieu แล้ว ไม่จำเป็นที่องค์กรหนึ่งต้องมีอำนาจในภารกิจใดเพียงภารกิจเดียว ภารกิจหนึ่งอาจมีหลายองค์กรร่วมกันใช้อำนาจนั้นก็ได้ และองค์กรหนึ่งอาจมีอำนาจในหลายภารกิจก็ได้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจของฝ่ายบริหาร หรือองค์กรฝ่ายบริหารอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรากฎหมาย

การแบ่งแยกอำนาจตามความคิดของ Montesquieu จึงไม่ใช่การแบ่งแยกอำนาจแบบเคร่งครัดหรือการแบ่งแยกแบบเด็ดขาด แต่เป็นการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจต่างๆหรือดุลยภาพแห่งอำนาจนั่นเอง (balance des pouvoirs)

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พบว่า ในการยกร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง มาตรา 16 นั้น ไม่มีสมาชิกอภิปรายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจเท่าไรนัก พวกเขาไม่ได้มีภาพของระบบประธานาธิบดีอยู่ในหัว แต่ขอเพียงแค่ให้ไม่มีการรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่องค์กรใดหรือบุคคลใดเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

เอาเข้าจริงแล้ว หลักการแบ่งแยกอำนาจที่ปรากฏในมาตรา 16 เป็นเพียงการรับรองไว้อย่างกว้างๆ และเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันในชั้นหลังว่าจะออกแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่อไปอย่างไร ดังจะเห็นได้จาก ในการประชุมสภาแห่งชาติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น สมาชิกสภาแห่งชาตได้อภิปรายอย่างเข้มข้นในประเด็นที่ว่าฝรั่งเศสควรเลือกโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบอเมริกาหรือแบบอังกฤษ

เราอาจวิเคราะห์ทัศนะของผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ผ่านบทบัญญัติในมาตรา 16 ได้ว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญอย่างมาก โดยยืนยันว่า การปกครองแบบเผด็จการกดขี่ คือ การปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ และสิ่งที่จะมีคุณค่าเป็นรัฐธรรมนูญได้ ก็ต้องจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ แบบแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจออกจากกัน

หากปราศจากซึ่งการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกันแล้ว เผด็จการผู้กดขี่ก็สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้เสมอสภาพเช่นนี้ ทำให้ไม่มีหลักประกันว่า ผู้ปกครองจะใช้อำนาจอย่างไร ผู้อยู่ใต้อำนาจไม่อาจคาดหมายได้ว่าอำนาจของผู้ปกครองนั้นมีกรอบอยู่ตรงไหน สิทธิและเสรีภาพของบุคคลจึงอาจถูกละเมิดได้ตลอดเวลา

ในส่วนของ หลักอำนาจอธิปไตย นั้น ในมาตรา 3 บัญญัติว่า “หลักการอำนาจอธิปไตยทั้งหลายตั้งอยู่ในชาติ ไม่มีองค์กรใดหรือปัจเจกบุคคลใดใช้อำนาจอธิปไตยนั้นได้โดยลำพัง” บทบัญญัติในมาตรา 3 นี้ คือการยืนยันซ้ำอีกครั้งหนึ่งถึง “ชาติ” ในฐานะองค์อธิปัตย์ หลังจากที่ผู้ก่อการปฏิวัติได้ลงมติเปลี่ยนสถานะสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติไปแล้วในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 อาจกล่าวได้ว่า หลักการอำนาจอธิปไตยแห่งชาติตามมาตรา 3 ได้เชื่อมโยงเอาเหตุการณ์ในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมายขึ้น

แม้บทบัญญัติในมาตรา 3 มีลักษณะ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานของการเมืองการปกครองฝรั่งเศสไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ก็ยังคงมีความยากลำบากในการจัดวางสิ่งของตกค้างจากระบอบเก่าให้เข้ากับระเบียบโครงสร้างแบบใหม่อยู่นั่นเอง แน่นอนว่า นับตั้งแต่นี้ อำนาจสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสเป็นของชาติ หาใช่เป็นของกษัตริย์หรือพระเจ้าไม่ แต่ “ชาติ” คือใคร ประกอบด้วยใครบ้าง แล้วกษัตริย์จะมีสถานะใด เป็นส่วนหนึ่งของชาติหรือไม่

หากอ่านบทบัญญัติในมาตรา 3 ส่วนแรกที่ว่า “หลักการอำนาจอธิปไตยทั้งหลายตั้งอยู่ในชาติ…” ก็เป็นที่ชัดเจนว่า “ชาติ” คือ องค์อธิปัตย์ แต่ใครหรือองค์กรใดเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นในนามของชาติ? ในขณะที่ส่วนท้ายของมาตรา 3 ยืนยันว่า “ไม่มีองค์กรใดหรือปัจเจกบุคคลใดใช้อำนาจอธิปไตยนั้นได้โดยลำพัง”

หากอ่านมาตรา 3 ในส่วนท้ายอย่างเคร่งครัดแล้ว ย่อมหมายความว่า การใช้อำนาจอธิปไตยของชาติไม่อาจถูกใช้ได้โดยสภาแห่งชาติ เพราะมีสถานะเป็นองค์กร และไม่อาจถูกใช้ได้โดยกษัตริย์เช่นกัน ไม่ว่าจะพิจารณากษัตริย์ในฐานะเป็นองค์กรหรือปัจเจกบุคคลก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า การใช้อำนาจอธิปไตยต้องกระทำร่วมกันระหว่างสภาแห่งชาติและกษัตริย์?

กรณีนี้กลายเป็นปัญหารากฐานที่ถกเถียงกันอย่างหนักในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญ และมันยังกลายเป็ความขัดแย้งหลักจนนำไปสู่การล้มสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ที่มา: ปิยบุตร แสงกนกกุล. ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789: จากการกำเนิดขึ้นของสภาแห่งชาติจนถึงการจัดทำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง, ในรวมบทความวิชาการในวาระ 70 ปี วรวิทย์ กนิษฐะเสน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2, 2561), น.54-68

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ

[1] François BURDEAU et Marcel Morabito, < Les experiences etrangeres et la première constitution française >, Pouvoirs, N 50,1989, pp. 97-112 ; Marcel MORABITO, Op.cit., pp.56-61 ;Marcel GAUCHET, La Révolution des droits de l'homme, Gallimard,1989

[2] Keith M. Baker, < Constitution > in François FURET et Mona OZOUF (Sous la direction de), Dictionnaire critique de la Révolution française, Flammarion, 1988, pp. 179-205 ; Paul BASTID, L' idee de Constitution, Economica, 1985, pp. 145-162 ; Pierre DUCLOS, La notion de Constitution dans l'oeuvre de l'Assemblée constituante de 1789, Librairie Dalloz, 1932 ; Marcel pp.121-138 ; Marcel MORABITO, Op.cit., pp.56-61 ; Olivier NEY, Histoire des idées politiques, Armand Colin, 2016, pp.295-300 ;Stéphane RIALS, La Déclaration des droits de l'homme et du citoyen, Hachette, 1988.

[3] ดัดแปลงเล็กน้อยจากการแปลของ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และเน้นข้อความโดยผู้เขียน

[4] George Jellinek, La Déclaration des droits de l'homme et du citoyen. Contribution à l'étude du droit constitutionnel moderne, trad. par Georges FARDIS, 1902.

[5]  Maximilien ROBESPIERRE, Pour le bonheur et la liberté, La Fabrique, 2000, pp.

[6]  Marcel MORABITO, Op.cit, pp. 58-59.

[7] Marcel MORABITO, Op.cit., pp.59-61 ; Stephane RIALS, La Déclaration des droits de L' homme et du citoyen, Hachette,1988 ; Michel TROPER, " L'interprétation de la Déclaration des droits : L'exemple de l' article 16 > in Michel TROPER, Pour une théorie juridique de l'Etat, PUF, 1994, pp.263-274.