เมื่อบาดเจ็บสาหัสจากคมกระสุนที่ยิงมาจากฐานปืนกลประจำเครื่องบินสปิตไฟร์ในศึกป้องกันเมืองท่าแขก และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพนมอยู่ระยะหนึ่ง เจ้าสุพานุวงจึงเดินทางเข้าบางกอกพร้อมเจ้าเวียงคำชายาเพื่อรักษาตัวเพิ่มเติม ศัลยแพทย์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลท่านในขณะนั้นคือ นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์
เจ้าสุพานุวงพักที่บ้านในซอยเทียนเซี้ยง (สาทร 7) ของคนในตระกูล “สิทธิสาริบุตร” อันเป็นเครือญาติทางฝ่ายราชวงศ์ล้านช้างแห่งเวียงจันทน์ที่สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าสิทธิสาร ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ตระกูลสิทธิสาริบุตรเข้ามาอยู่ในสยามเป็นตระกูลใหญ่ บัดนี้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปจำนวนมาก
คุณประสิทธิ์ สิทธิสาริบุตร ทำหน้าที่ดูแลรับใช้เจ้าสุพานุวง ญาติผู้อาวุโสอย่างใกล้ชิด และญาติแห่ง “สิทธิสาริบุตร” ก็ให้การต้อนรับสนับสนุนขบวนการกู้ชาติของลาว มีการช่วยเหลือด้านเงินทองจ่ายมากบ้างน้อยบ้างตามฐานะ
หลังจากยึดท่าแขกได้แล้วฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังเข้าตีเวียงจันทน์ แต่การเข้าตีเวียงจันทน์ต่างกับท่าแขก ฝรั่งเศสใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไปมิได้หักหาญโจมตีจึงใช้เวลาร่วมหนึ่งเดือนถึงยึดได้ ขณะที่กองกำลังติดอาวุธของลาวอิสระที่มีจำนวนน้อยกว่ามากได้ใช้ยุทธวิธีสู้พลางถอยพลาง แล้วจรยุทธ์เข้าโจมตีฝรั่งเศสตามโอกาสอำนวย ส่วนหนึ่งก็ข้ามโขงมายังฝั่งไทย และอีกส่วนหนึ่งก็ออกสู่ชนบทเพื่อสร้างพื้นฐานต่อไป
ฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงเข้ามาที่อำเภอท่าบ่อ และส่งกำลังจากค่ายจินายโม้ของตนข้ามฝั่งมาไล่ล่าชาวบ้าน แต่ถูกพลพรรคเสรีไทยและกองกำลังผสมลาว-เวียด ต่อสู้อย่างแข็งขันและขับไล่ข้าศึกออกไป รัฐบาลไทยยื่นประท้วงฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
รัฐบาลกู้ชาติลาวแห่งประเทศเอกราชชุดแรกอพยพข้ามฝั่งมาอยู่ไทยในฐานะ “รัฐบาลพลัดถิ่น” พญาคำเม้า วิไล ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีร่วมคณะที่ข้ามโขงมาประกอบด้วย เจ้าสุวันนะพูมา, ท่านกะต่าย ดอนสะโสลิด, ท่านอุ่น ชนะนิกอน รวมทั้งบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลอีกหลายคน ส่วนเจ้าเพ็ดชะลาดที่ปรึกษารัฐบาลขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง และลี้ภัยเข้ามาในเขตไทยบริเวณพรมแดนติดต่อระหว่างไซยะบุลี-อุตรดิตถ์
รัฐบาลไทยจัดที่พักในกรุงเทพฯ ให้คณะพญาคำเม้าที่บ้าน “ไชโย” บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง จัดให้เจ้าเพ็ดชะลาดพักที่บ้านถนนวิทยุ และเจ้าสุวันนะพูมาพักอยู่กับเครือญาติอีกสายหนึ่ง
เจ้าสุพานุวงบัญชาการให้กองกำลังลาวอิสระปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อไป ท่านกำหนดแนวทางให้กระจายกำลังกันออก หลีกเลี่ยงการรวมกันเป็นกองใหญ่ เพราะหากถูกโจมตีจะสร้างความสูญเสียมาก
เมื่อท่านหายจากบาดเจ็บแล้วก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนกองกำลังต่างๆ เหล่านี้ อาทิเช่น ‘กองกำลังจักรพรรดิ’ ซึ่งมีฐานที่มั่นในเขตอำเภอวารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ก็ยังมี ‘กองกำลังฟ้างุ่ม’ ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพื่อข้ามไปเคลื่อนไหวในเขตเวียงจันทน์ สำหรับกองกำลังที่ตั้งอยู่ในลาวคือ ‘กองกำลังไชยเชษฐาธิราช’ แขวงคำม่วน ‘กองกำลังแห่งเซโปน’ ปฏิบัติการชายแดนลาว-เวียดนาม ร่วมกับกองกำลังเวียดมินห์ในเขตนั้น เป็นต้น
กลางปี ค.ศ. 1946 การเคลื่อนไหวของรัฐบาลกู้ชาติลาวดำเนินไปด้วยการสนับสนุนเห็นอกเห็นใจจากรัฐบาลไทยขณะนั้น จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1947 โดยฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับกลุ่มทหาร ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ถูกขัดขวางและสะดุดหยุดลง
รัฐบาลไทยหลังรัฐประหารทำการกวาดล้างฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ มีการจับกุมคุมขัง สังหารแกนนำเสรีไทยอีสาน นายทองอินทร์, นายถวิล, นายจำลอง และนายทองเปลว ถูกสังหารอย่างทารุณ โดยสมุนเผด็จการที่ทุ่งบางเขน รวมทั้งนายเตียง ก็ถูกสังหารและทำลายศพ บรรดาครูประชาบาลพลพรรครากหญ้าของขบวนการเสรีไทยอีสานถูกคุกคามและอุ้มฆ่าอย่างไร้ร่องรอย
รัฐบาลลาวผลัดถิ่นประสบปัญหามากมาย ทั้งความยากลำบากเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของกองกำลังลาวอิสระ การจัดซื้อหาอาวุธและกระสุน เพราะขาดแคลนกำลังทรัพย์และต้องหลบหลีกเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลเผด็จการ ถึงกับครั้งหนึ่งตำรวจเข้าตรวจยึดอาวุธสงครามจากบ้านนายทองอินทร์ ซึ่งเตรียมจัดส่งให้กองกำลังลาวอิสระ
ระหว่างนั้น เจ้าสุวันนะพูมาเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าหลวงสามเสนด้วยการแนะนำของเพื่อนสมัยเรียนด้วยกันที่ฝรั่งเศส ตามวุฒิและความสามารถด้านวิศวกรไฟฟ้า แต่เงินเดือนที่ได้รับน้อยมาก ท่านจึงร่วมกับพันตรีสีห์พนมไปซื้อผ้าไหมที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แล้วนำมาขายให้กับภรรยาผู้จัดการบริษัทน้ำมัน แสตนดาร์ดแวคคัมออย (Standard Vacuum Oil Co.Ltd) ชาวอเมริกันเพื่อขายต่อไปอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ปรากฏว่าได้รับผลดีพอใช้
หลังฤดูเก็บเกี่ยว พันตรีสีห์พนมกับพลพรรคยังออกเร่ฉายหนังกลางแปลงแลกข้าวเพื่อส่งให้อ้ายน้องลาวหุงต้มกินให้มีกำลังไปตีฝรั่งเศส นักรบกู้ชาติลาวตามที่มั่นชายแดนตั้งแต่เชียงแสนถึงอุบลราชธานี มีร่างกายผ่ายผอม เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็เปื่อยขาด
ชาวอเมริกันอีกผู้หนึ่งที่เข้ามามีส่วนในการกู้เอกราช คือ นายจิม ทอมป์สัน บุคคลผู้นี้เป็นเจ้าหน้าที่ โอเอสเอส (Office of Strategic Services) นายทอมป์สันเห็นอกเห็นใจสนับสนุนขบวนการกู้ชาติของชาวเวียดนามและชาวลาว
นายทอมป์สันติดต่อกับ นายแสตนตัน เอกอัครรัฐทูตอเมริกาประจำประเทศไทยคนแรกหลังสงคราม จัดการให้ทั้งเจ้าเพ็ดชะลาดและเจ้าสุพานุวง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลลาวกู้ชาติ เข้าพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฝ่ายลาวขอให้อเมริกาสนับสนุนขบวนการกู้ชาติ แต่ท่าทีแสตนตันไม่แจ่มชัดว่าจะให้การช่วยเหลืออะไรได้ เพราะอเมริกายังต้องเอาใจและหนุนรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส มิให้ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ได้อำนาจในยุโรป ส่วนอเมริกามีนโยบายต่อเอเชียอาคเนย์อย่างไร ในภายหลังก็เป็นที่ทราบกันดี
สำหรับตัวนายทอมป์สันผู้ได้รับความสำเร็จโด่งดังในฐานะราชาไหมไทยนั้น เนื่องจากเขามีความสนิทสนมกับนายเตียง ศิริขันธ์ นายกุมุท จันทร์เรือง จึงได้ร่วมกันตระเวนไปทั่วภาคอีสานเพื่อศึกษาการเลี้ยงและทอผ้าไหมจนพัฒนาสู่ความสำเร็จ เมื่อโอเอสเอสยุบไปแล้วเกิดเป็นซีไอเอ นายทอมป์สันจะทำงานให้กับซีไอเออีกหรือไม่ ไม่มีการยืนยัน แต่ถ้าเขาเข้าร่วมก็น่าจะเป็นซีไอเอสาย “พิราบ” เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาแสดงถึงการสนับสนุนขบวนการกู้อิสรภาพเวียดนามและลาวอย่างเด่นชัด
ขณะที่สงครามประชาชนเวียดนามต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาและลูกสมุนในเวียดนามดำเนินไปอย่างดุเดือดในทศวรรษแห่งปี ค.ศ. 1960 นายจิม ทอมป์สัน หายสาบสูญไปที่ชายป่าประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งทุกวันนี้
มีการจัดตั้ง “สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์” (South East Asia League) เจ้าเพ็ดชะลาดเป็นผู้เสนอพร้อมกับนายเตียงและ ศาสตราจารย์จรั่นวัยเยอว แห่งเวียดนาม (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ที่นครโฮจิมินห์ อายุเกินหนึ่งร้อยปีแล้ว) เจ้าสุพานุวงเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง โดยเจ้าเวียงคำเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกระตือรือร้น
ต่อมาฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลลาวพลัดถิ่นในไทยให้กลับลาวโดยสัญญาจะมอบเอกราชให้และไม่เอาโทษ พร้อมทั้งจะได้รับเงินเดือนตกเบิกคืนหมด
วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1948 (2491) พญาคำเม้าประกาศล้มเลิกรัฐบาลพลัดถิ่นและกองกำลังลาวอิสระ นำพาผู้คนในคณะรัฐบาลกลับคืนสู่เวียงจันทน์ไปร่วมมือกับฝรั่งเศส เจ้าสุพานุวงและกองกำลังลาวอิสระอีกส่วนหนึ่ง อันมีท่านสิงกะโปเป็นหลัก ทำการคัดค้านอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเป็นเล่ห์กลของฝรั่งเศสที่ลวงให้ลาวตกอยู่ในสภาพเมืองขึ้นรูปแบบใหม่
เจ้าสุพานุวงแถลงข่าวแก่หนังสือพิมพ์ในบางกอก ประณามการทรยศของกลุ่มพญาคำเม้า และประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า “ขบวนการต่อต้านนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยประเทศชาติและประชาชาชนลาวยังคงดำเนินการสืบต่อไปจนกว่าจะประสบชัยชนะ ซึ่งชัยชนะจักต้องเป็นของประชาชนอย่างแน่นอน”
หลังจากนั้นเจ้าสุพานุวงได้กลับคืนสู่ลาว จากเขตอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ข้ามโขงด้วยเรือไม้ลำน้อยไปยังบริเวณบุงกวาง แขวงบอลิคำไซ ผ่านเมืองคำเลิด แขวงเชียงขวาง ข้ามชายแดนลาว-เวียดนาม ไปสู่ฐานที่มั่นของกองกำลังเวียดมินห์ทางตอนเหนือ หลังจากพักแรมอยู่ระยะหนึ่งได้ไปพบกับโฮจิมินห์ที่เขตเวียตบั๊ก-เวียดนามเหนือ
การเดินทางไกลที่ทุรกันดารต้องปืนเขาลงห้วยตลอดเวลาครั้งนี้แสดงถึงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและน้ำใจมุ่งมั่นในการต่อสู้ปลดปล่อยชาติของเจ้าสุพานุวง ตลอดระยะเวลาการเดินทางท่านได้รับการคุ้มกันดูแลความปลอดภัยจากสหายลาวอิสระและกองกำลังเวียดมินห์ที่ร่วมเดินทางไปด้วย
เหวียนตือกูย ผู้เคยสู้รบภายใต้การบัญชาการของเจ้าสุพานุวงที่ท่าแขกและเป็นผู้บังคับหมวดทหารป้องกันการเดินทางที่มีชื่อรหัสว่า ‘โออา’ ครั้งนี้ ได้เขียนบันทึกความทรงจำในคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 (2492) ว่า
“....คืนนี้ได้พบกับเสด็จ ข้าหวนคิดไปถึงการอภิวัฒน์ในฤดูหนาวของปี 1945 พวกข้าที่อยู่ในกองทหารลาว-เวียด ที่สู้รบปกปักษ์อำนาจการปกครองอภิวัฒน์ที่ท่าแขก ภายใต้การบังคับบัญชาของเสด็จ บัดนี้ได้มาเป็นผู้ป้องกันเสด็จไปยังเขตอิสระของเวียดนาม เพื่อพบกับประธานโฮจิมินห์ ภาระหน้าที่อันนี้ เกียรติอันนี้หาที่ใดบ่ได้แล้ว…”
เหวียนตือกูยเรียกการเดินทางครั้งนี้ว่าเป็นการเดินทางประวัติศาสตร์ บทบันทึกความทรงจำของเขาได้พรรณนาการเดินทางของเจ้าสุพานุวงไว้หลายตอน ตอนหนึ่งกล่าวว่า
...เจ้าสุพานุวงได้ขึ้นภูโดยอาศัยไม้เท้าที่แข็งแก่น ยิ่งปืนสูงเท่าใด เสด็จก็ยิ่งใช้ไม้เท้าช่วยมากเท่านั้น เกือกของเสด็จเป็นเกือกบู๊ทแต่ว่าเก่าแก่ เดินทางไปเท่าใดเกือกก็กัดตีนเท่านั้น ถึงจะเจ็บปวด แต่เสด็จไม่เคยบ่นสักคำ ยังคงพยายามเดินไปเรื่อยๆ ในการเดินทางมีหลายครั้งเสด็จจะหกล้มแต่ก็ยั้งไว้ได้ ข้อยไปตามหลังเพิ่น เพิ่นหันมาพูดเล่นกับข้อยว่าถ้ามีราวขั้นได คงจะดี... เวลาพักผ่อน ถ้าไม่มีเรื่องอะไรจะคุย เพิ่นก็ฟังวิทยุแล้วก็ปลดเป้ออก เพื่อจัดเครื่องของที่บรรจุใหม่ เป้ของเสด็จนอกจากเสื้อผ้าธรรมดาๆ แล้ว ก็เต็มไปด้วยเอกสาร ข้อยร้องขอเสด็จให้แบ่งเครื่องของในเป้ออก เพื่อให้อ้ายน้องถือช่วยเพื่อให้มันเบา เสด็จได้เหลียวมองพวกข้อยด้วยสายตาอันรัก ห่วงใย และพูดว่า “ข้อยถือเท่านี้ ก็พอดีกับแรงแล้ว”
คุณประสิทธิ์ สิทธิสาริบุตร สมัครใจร่วมขบวนการกู้ชาติอยู่ในคณะเดินทาง แต่คุณประสิทธิ์สุขภาพไม่สมบูรณ์นัก ประกอบกับห่วงใยลูกๆ ที่อายุยังน้อย เมื่อร่วมทางไประยะหนึ่งก็ต้องถอนตัวกลับ
คุณประสิทธิ์แต่งงานกับ คุณตุลัย แห่งสกุลบุนนาค มีบุตรธิดา 3 คน ต่อมาบุตรสาวคุณประสิทธิ์คือคุณสาริกา สมรสกับ เจ้าปัญญา โอรสเจ้าสุวันนะพูมา
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. พลัดถิ่นในแผ่นดินไทย, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 88-95
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- เจ้าสุพานุวง
- บรรจง กรลักษณ์
- เจ้าสิทธิสาร
- ประสิทธิ์ สิทธิสาริบุตร
- ขบวนการเสรีไทย
- พญาคำเม้า วิไล
- เจ้าสุวันนะพูมา
- กะต่าย ดอนสะโสลิด
- อุ่น ชนะนิกอน
- กองกำลังไชยเชษฐาธิราช
- กองกำลังเวียดมินห์
- ปรีดี พนมยงค์
- เตียง ศิริขันธ์
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองเปลว ชลภูมิ
- พันตรีสีห์พนม
- จิม ทอมป์สัน
- James Thompson
- กุมุท จันทร์เรือง
- South East Asia League
- เจ้าเพ็ดชะลาด
- เหวียนตือกู