ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี

12
กุมภาพันธ์
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : คุกโพนเค็ง

 

นอกจากสามัคคีตำรวจ ให้การศึกษาการเมืองและสอนแม่ไม้มวยลาวแก่สารวัตรทหาร และความเคารพนบนอบต่อพระสังฆราช เถระชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าแล้ว ฝ่ายแนวลาวรักชาติยังแต่งบทกวีแต่งกลอนลำให้เจ้าหน้าที่ผู้คุมคุกโพนเค็งได้อ่านได้ฝึกขับลำด้วย

สหายร่วมคุกท่านหนึ่งกับท่านสุพานุวงพูดถึงเบื้องหลังการประกอบส่วนร่วมแหกคุกว่า “...ก็มือดำๆ นี่แหละไขกุญแจ ตลอดเช้าๆ เย็นๆ เห็นผู้คุมไม่มีงานทำก็เรียกลูกหล่าๆ ทำอะไรกัน เห็นลำมวนๆ ขอฝากกลอนนี่ไปอ่านไปฝึกเบิ่ง…”

กลอนลำที่เหล่าสหายฝากให้ผู้คุมคงมีเนื้อหาการอภิวัฒน์ เมื่ออ่านขับด้วยความไพเราะแล้วก็เข้าใจและซาบซึ้งจึงค่อยๆ คุ้นเคย สนิทสนมและเข้าร่วมกับฝ่ายแนวลาวรักชาติ กระทั่งช่วยไขกุญแจคุกสู่อิสรกาพ

เที่ยงคืนของวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1960 (2503) เป็นคืนเดือน 6 ข้างแรม ผู้ร่วมแหกคุกด้วยกันได้เข้าเปลี่ยนเวรยามเรียบร้อยแล้ว ท้าวเซียงสม กุนละวง จากหน่วยกองหลอนที่ สหายสาลี วงคำซาว จัดส่งเข้ามาในคุก เพื่อนำทางก็พร้อมทำหน้าที่สารวัตรทหารตัดกุญแจ ตัดรั้วลวดหนามออกไปดูเหตุการณ์ก่อน จากนั้นผู้แหกคุกก็ทยอยกันออกไปท่ามกลางความมืดสนิท 

การที่ ผุย ชนะนิกอน มีคำสั่งเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ควบคุมจากตำรวจเป็นสารวัตรทหาร เกิดจากไม่ไว้ใจพวกตำรวจ เพราะมีข่าวแพร่ออกไปว่ามีใจช่วยเหลือพวกแนวลาวรักชาติ จึงใช้สารวัตรทหารผู้มีระเบียบวินัยเคร่งครัด คิดว่าสามารถควบคุมผู้ต้องขังได้ดีกว่า การณ์กลับปรากฏว่าสารวัตรทหารเมื่อได้รับการปลุกจิตสำนึกทางการเมืองเห็นผิดเห็นถูกจึงมีความเชื่อมั่นในแนวทางกอบกู้ประเทศชาติ ยอมเสี่ยงร่วมเป็นร่วมตายกับท่านสุพานุวงและคณะทำการแหกคุก

เมื่อไปถึงเขตปลดปล่อยก็ได้เข้าร่วมกับกองกำลังประเทศลาว โดยเฉพาะ ท้าวคำแวว ต่อมาก็คือ ท่านคำแวว หรือ สหายคำแวว เข้าทำการสู้รบอย่างโชกโชนจนได้รับเหรียญชัย, เหรียญกล้าหาญ เข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ เมื่อ ค.ศ. 1964 (2507) ภายหลังสถาปนาประเทศได้ย้ายมาเป็นนายตำรวจในกระทรวงภายใน (มหาดไทย) จากนั้นได้รับผิดชอบภาระหน้าที่สูงขึ้น

ท่านสุพานุวง นอกจากสวมชุดสารวัตรทหารที่ท่านคำแววเบิกจากคลังเอามาแจกจ่ายให้ผู้หลบหนีทุกคนแล้ว ท่านยังมีเสื้อฝนคลุมร่าง มีเอกสารส่วนตัวที่ค้นคว้าเขียนไว้ในขณะติดคุก ขณะเดินทางออกมานั้น เอกสารของท่านหล่นลงต้องควานหาในท่ามกลางความมืด ทำให้พลัดหลงกับหน่วยอื่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เอกสารดังกล่าวคือ งานค้นคว้าเกี่ยวกับบทนิพนธ์ของเลนิน ว่าด้วยการต่อสู้ของประชาชนในประเทศอาณานิคม ทหารหนุ่มๆ ขอแบ่งเบาสัมภาระของท่านแต่ได้รับคำปฏิเสธว่า ยังพอไหว

นี่เป็นการบุกป่าฝ่าดงเป็นครั้งที่สองของท่านสุพานุวง ครั้งแรก คือ การเดินทางจากเมืองไทยเข้าฐานที่มั่น

 

เจ้าสุพานุวงเมื่อเดินทางถึงเขตปลดปล่อย
เจ้าสุพานุวงเมื่อเดินทางถึงเขตปลดปล่อย

 

อนึ่ง แม้ขณะถูกคุมขังท่านก็มีกำลังใจที่ดีเยี่ยม มองเห็นอนาคตอันสดใส ดูได้จากคำบรรยายของ สหายสีชนะ สีสาน ในข้อเขียนเรื่อง “300 วันที่คุกโพนเค็ง” ว่า นอกจากงานเขียนแล้ว สหายสุพานุวงยังวาดรูปตามฝาผนังห้องขัง เป็นรูปแม่น้ำ มีนกน้อยจับขอนอยู่กลางน้ำ ที่ริมตลิ่งมีต้นไม้ใหญ่ มีโพรงและมีงูใหญ่โผล่หัวออกมา

สหายสีชนะ ถามถึงความหมายของรูปภาพเหล่านั้น สหายสุพานุวง อธิบายว่า “นกน้อยจับขอนล่องลอยไปตามแม่น้ำ หมายถึงอิสรภาพ ส่วนงูใหญ่ที่โผล่หัวออกจากโพรงนั้น หมายถึง การอภิวัฒน์ที่ต้องมีสติและต้องระวังตัว” 

จำนวนผู้ร่วมแหกคุกทั้งหมด 30 คน ประกอบด้วยสหายสุพานุวง และแกนนำแนวลาวรักชาติที่ถูกจับกุม 16 คน สารวัตรทหารที่หนีมาด้วย 9 คน และทิดสึกใหม่ เดินทางในเวลากลางคืนที่มืดมิค ห้ามใช้ไฟฉายหรือไม้ขีดไฟ พอสว่างก็เข้าหลบพักในป่า สารวัตรทหารที่ตื่นตัวมีทั้งหมด 10 คน แต่ในวันออกเดินทาง ท้าวบัวผัน ต้องเข้าเวรยามบ้าน พูมี หน่อสะหวัน ไม่สามารถติดต่อกันได้ ต่อมารัฐบาลหุ่นสืบรู้และเห็นรูปที่ถ่ายร่วมกัน ถูกจับถูกทรมาน โดยใช้ไฟฟ้าช็อตแต่ก็ยืนหยัดไม่ขายพวก ในวันที่กองแลทำรัฐประหารจึงเข้าร่วมขบวน และเดินทางไปสมทบสหายยังฐานที่มั่น

มวลชนจัดตั้งตามทางผ่านเป็นผู้จัดส่งเสบียง พื้นที่รอบแขวงเวียงจันทน์เกือบทั้งหมดเป็นเขตที่มั่นของฝ่ายแนวลาวรักชาติ มีหน่วยกองหลอนทำหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้าน ฝ่ายขวาไม่กล้าสุ่มเสี่ยงเข้ากวาดล้าง

การเดินทางในท่ามกลางความมืด ท้าวเซียงสม ผู้นำทางกำหนดให้เดินแถวเรียงหนึ่ง และให้คนที่อยู่ถัดไปเกาะเข็มขัดคนข้างหน้าติดต่อไปเพื่อมิให้พลัดหลง ยุงริ้นจำนวนมหาศาลเข้ารบกวนตลอดทาง สำหรับรหัสที่ใช้ในการเดินทางขึ้นต้นให้ผู้ถามพูดว่า “เดือน” พวกเดียวกันก็จะตอบว่า “ดาว” หรือพูดว่า “ดาว” อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตอบว่า “เดือน” แม้ว่าครั้งหนึ่งเกือบปะทะกันเพราะความไม่สันทัดในการใช้รหัส แต่ในที่สุดก็ได้ผลดี

แรกทีเดียวใช้เส้นทางหมายเลข 13 ใต้ หลบหนีแล้วตีอ้อมขึ้นเหนือเลียบภูเขาควายไปยังบ้านหัวขัว ซึ่งเป็นจุดนัดพบแห่งแรก ณ ที่นั่น สหายสาลี มาต้อนรับด้วยตนเอง มีการจัดเตรียมหน่วยกองหลอนมาพิทักษ์ปกป้อง พร้อมทั้งนำสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นในการเดินป่ามาแจกจ่ายให้ทุกคน ชุดเครื่องแบบสารวัตรทหารหมดความจำเป็น ทุกคนสวมชุดชาวบ้านป่า เครื่องใช้ก็มีผ้าปูนอน ผ้ายางยาว 3 เมตรสำหรับกันฝน มวลชนพื้นฐานได้แจ้งข่าวต่อๆ กันไป และดูแลในเรื่องอาหารการกินประเภทข้าวเหนียว 

นอกเหนือจากสิงสาราสัตว์ เห็ด ยอดไม้ ที่พอหากินได้ในป่า ฝ่ายขวาเวียงจันทน์เมื่อทราบข่าวการหลบหนีจากคุกต่างตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงว่าฝ่ายแนวลาวรักชาติได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารผู้ที่ตนไว้วางใจก็กลับใจเข้าร่วม เจ้าหน้าที่ทหารระดับผู้รับผิดชอบถูกสอบสวนอย่างหนักและถูกลงโทษทางวินัยไปตามๆ กัน 

ในด้านการติดตามก็มืดแปดด้าน เพียงแต่คาดการณ์ว่าพวกหลบหนีคงมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อกลับคืนสู่เขตฐานที่มั่นในแขวงหัวพัน จึงสั่งให้เครื่องบินตรวจการณ์และเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนตรวจสอบเส้นทางขึ้นเหนือ แต่หาพบร่องรอยอะไรไม่

 

ชีวิตในเขตปลดปล่อย
ชีวิตในเขตปลดปล่อย

 

ท่านสุพานุวง และคณะเดินเลียบภูเขาควายขึ้นเหนือตัดผ่านน้ำงึม บ้านหินเหิบ วังเวียง ผ่านเขตเมืองกาสี ใช้เวลาถึง 3 เดือนเศษสำหรับระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ด้วยหนทางยากลำบาก ต้องป่ายปีนขึ้นเขาเป็นส่วนใหญ่และความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเมืองกาสีก็จะถึงสาลาพูคูนซึ่งเป็นทางแยก ทางตรงขึ้นเขาไปหลวงพระบางทางแยกขวาไปแขวงเชียงขวางแล้วถึงแขวงหัวพันในที่สุด

ระหว่างทางได้ข่าวจากวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กของ สหายสีขนะ ผู้รับผิดชอบด้านการข่าว ว่าได้เกิดรัฐประหารขึ้นในเวียงจันทน์ ข่าวคราวยังสับสน ทราบแต่เพียงหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ ร้อยเอกกองแล ผ.บ.กองพันราบอากาศที่ 2

นับตั้งแต่รัฐบาล ผุย ชนะนิกอน ได้จับกุมท่านสุพานุวงและคณะ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 (2502) รัฐบาลฝ่ายขวาซึ่งมีผุยเป็นนายกรัฐมนตรีก็เกิดความขัดแย้งกันเองขนาดหนัก ทั้งนี้เพราะจักรวรรดิอเมริกาและเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการควบคุมลาวอย่างเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง ด้วยการสนับสนุน พูมี หน่อสะหวัน นายทหารฝ่ายขวา ซึ่งเป็นหลานน้าของสฤษดิ์ เข้ามามีอำนาจและบีบผุยจนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ ท้าวกุ อะไพ ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทนในต้นปี ค.ศ. 1960 (2503) หลังจากนั้นอีกเพียง 4 เดือนก็เปลี่ยนให้ เจ้าสมสนิท ขึ้นเป็นนายกฯ ทั้งหมดนี้อยู่ใต้เงานายพลพูมี ผู้รับบัญชามาจากอเมริกาและสฤษดิ์อีกทอดหนึ่ง

เจ้าสุพานุวงให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในเวลาต่อมาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ภายในคุกโพนเค็ง ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า

“แรกๆ พวกผู้คุมเอาข่าวมาให้เรา ในฐานะที่พวกเขาเป็นสารวัตรทหารจึงรู้เรื่องราวดีมาก ในไม่ช้าเราก็สามารถประมวลเรื่องราวภายในลาวและข่าวทั่วโลกด้วย ต่อมาพวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวให้เรา เราจึงสามารถติดต่อกับองค์การจัดตั้งของเราได้อีก และก็เริ่มชี้นำขบวนการเคลื่อนไหวทั้งในเมืองและชนบทจากหน่วยพรรคภายในคุกนั้นเอง เราค่อยๆ สร้างขบวนการของเราขึ้นใหม่ จนกระทั่งมาถึงจุดที่ว่า เราสามารถจัดชุมนุมมหาชนจำนวนมากขึ้นในเวียงจันทน์ แล้วแสดงประชามติสนับสนุนเราได้

พวกผู้คุมมาเล่ารายละเอียดให้เราฟังถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างๆ มีปฏิกิริยาอย่างไร ในเรื่องนี้ เราได้ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ต้องการจะนำพวกเราขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี เพราะเกรงว่ามหาชนจะเดินขบวนคัดค้าน กำหนดการพิจารณามาจึงเลื่อนแล้วเลื่อนอีก”

ความขัดแย้งในหมู่ฝ่ายขวาเปิดโอกาสแก่แนวลาวรักชาติ โดยเฉพาะบรรดาสหายที่ถูกคุมขังในคุกโพนเค็งให้สามารถแหกคุกและหลบหนีออกมาได้ด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม กรณี “คุกโพนเค็ง” และ “เส้นทางหลบหนี” ก็จักต้องจารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ปลดปล่อยชาติของฝ่ายแนวลาวรักชาติชั่วกาลนาน

จากโพนเค็งถึงฐานที่มั่น

ปรีดา ข้าวบ่อ, อาทิตย์ บำรุงเอื้อ - รวบรวมเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ และจากข้อเขียนของ

พลจัตวาคำแวว สีโคดจุนละมาลี - สมาชิกสภาแห่งชาติ เขต 12 แขวง และเป็นคณะประจำหัวหน้ากรรมาธิการป้องกันชาติ - ป้องกันความสงบของสภาแห่งชาติ 

(สัมภาษณ์ที่สำนักงานอาคารสภา นครเวียงจันทน์ วันที่ 30 มกราคม 2553, ข้อเขียนชื่อ “จากนรกสู่แสงสว่าง” วารสาร “โฆษณา” ของคณะโฆษณาอบรมศูนย์กลางพรรค ปีที่ 23 ฉบับที่ 113 เดือน 5-6 ค.ศ.2009)

 

 

ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันที่ 12 เดือน 5 ปี ค.ศ. 1937 (2480) ที่บ้านโคกก่อง เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน

ปี 1958 (2501) ข้าพเจ้าออกจากบ้านมาเวียงจันทน์ ได้ไปสมัครเป็นสารวัตรทหาร ครั้งแรกเรียนวิชาพื้นฐานอยู่ 3 เดือน จากนั้นเข้าเรียนโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหารโพนเค็ง ทั้งเรียนทั้งทำหน้าที่เวรยาม

ในการจับตัวผู้นำแนวลาวรักชาติมากักขังนั้น มีกำลังตำรวจของราชอาณาจักรทำหน้าที่เวรยามก่อน ต่อมาเห็นว่ายังไม่ปลอดภัยดีจึงมีคำสั่งให้สารวัตรทหาร ซึ่งเข้มแข็งและเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกว่ามาเวรยาม

สมัยก่อนจะพบผู้นำได้ยากมาก เมื่อทำหน้าที่เบื้องต้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้พูดคุยกับท่าน ยกข้าวของเข้าไปให้ก็ออกมา เพราะเจ้านายสั่งว่าถ้าพวกท่านถามอะไรก็ไม่ให้ตอบ หรือห้ามพูดคุยด้วย ทั้งบอกว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์

แต่เมื่อหลายเดือนเข้า ประสาเป็นคนลาวด้วยกัน ความคุ้นเคยก็เกิดขึ้น เบื้องต้นท่านถามถึงบ้านเกิด พ่อแม่อ้ายน้องทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็เล่าบอกถึงความเป็นชาวไร่ชาวนา ซึ่งสร้างความปลื้มปีติแก่ข้าพเจ้าที่ท่านได้ถามถึงความทุกข์สุขของครอบครัว

ท่านพูดว่า “พวกเวียงจันทน์บอกคอมมิวนิสต์กินคน พวกเวียงจันทน์ นั่นแหละกินคน แล้วฝรั่งกินบ้านกินเมือง การต่อสู้ของแนวลาวรักชาติเพื่อปลดปล่อยประชาชน ปลดปล่อยประเทศชาติ…”

ข้าพเจ้าก็เริ่มเข้าใจเรื่องราวความเป็นมา พวกท่านบรรดาผู้นำแนวลาวรักชาติช่วยกันคิดค้น แยกสายจัดตั้งปิดลับ ถ้าเจ้านายรู้ก็ตาย

พวกข้าพเจ้าที่สนิทสนมได้เวรยามคุกผู้นำแนวลาวรักชาติมี 10 คน คือ สหายอุดอน, ข้าพเจ้า, สหายจันทวี, สหายทองเสีย, สหายบุนแปง, สหายต่ำลี, สหายอ่อนสา, สหายบัวผัน, สหายวันนี และ สหายคำพอน ทั้งหมดนี้ไว้เนื้อเชื่อใจได้ 

แรกๆ ไม่มีความคิดพาท่านโตนคุก เพียงแต่เมื่อรู้สภาพ รู้ข่าวคราวนอกคุก หรือ เห็นทหารบาดเจ็บล้มตายจากการสู้รบ ก็นำไปเล่าให้ท่านฟัง หรือ หากพวกท่านต้องการหนังสือ หนังสือพิมพ์ พวกข้าพเจ้าก็ไปหาซื้อมาให้ มีอยู่วันหนึ่งลุงหมื่น ลุงมา อยากกินลาบเลือด พวกข้าพเจ้าก็ได้ไปซื้อเนื้อมาทำลาบให้ท่านกิน รวมทั้งซื้อเหล้าด้วย

ในหมู่พวกข้าพเจ้า สหายอุดอน บัวพัน ใกล้ชิดเสด็จสุพานุวง และท่านหนูฮัก ต่อมาท่านให้ไปหัวพันกับ ท่านเซียงสม กุนละวง พื้นฐานปิดลับเคลื่อนไหวในตัวเมืองเวียงจันทน์ ครั้งแรกไปพบกันที่ร้านกาแฟ มีโค้ดติดต่อกัน 

หลังจากนั้นสหายอุดอน ได้มาโอ้โลมหมู่พวกรวมทั้งข้าพเจ้าว่า “ถ้าพวกเฮาอยู่กับรัฐบาลนี้ อยู่กับเจ้านายแนวนี้ ปานใดพวกเฮาจึงจะก้าวหน้า ชะตากรรมในอนาคตเฮาจะเป็นแบบใด ถ้าพวกเฮาไปนำแนวลาวรักชาติ พวกเฮาจะได้ดีกว่านี้”

เมื่อทุกคนเห็นพ้องกัน ในเวลาต่อมาสหายอุดอนพูดว่า “พวกเฮาต้องเอาเพิ่นออกจากคุก พวกเฮาก็ออกไปนำพวกเพิ่น มื้อใดจะออกแม่นอิงใส่ ความเหมาะสม ให้เฮาทุกคนเตรียมเครื่องนุ่ง อาวุธ และอื่นๆ ที่จำเป็น เรื่องนี้เป็นความลับสุดยอด ต้องปิดลับเด็ดขาด....”

เช้าวันที่ 23 เดือนพฤษภา ค.ศ. 1960 (2503) สหายอุดอนได้มาเกริ่นแต่เช้าว่า “คืนนี้สิโตนออกจากคุก เพิ่นแนะให้เฮาหาวิธีแนวใด คนเฮาจึงจะมายามให้ครบกันได้ เฮ็ดแนวใดคำแวว…”

เราทั้งสองคิดไปคิดมาจึงตัดสินใจไปหาจ่าหมุนผู้จัดตารางเวรยาม โดยใช้เงินเป็นอามิสสินจ้างแก่จ่าหมุน

เบื้องต้นคิดจะตัดสังกะสีออกทางหลัง แต่เห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงตกลงออกทางประตูใหญ่ แล้วย้ายออกทางทุ่งนา ข้ามล่องน้ำลัดขึ้นไปหาต้นฉำฉาใหญ่ สหายได้ไปทำเครื่องหมายตัวแซด (Z) ไว้แล้ว และทุกคนมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ ซื้อเหล้า 2 ขวด ไพ่ 2 ชุด ทั้งยาสูบไปให้ทหารยามรถหุ้มเกราะ พอถึงเวลาเที่ยงคืน ทหารยามชุดนี้ก็เมาไม่รู้สึกตัว

เวลา 00.30 น. วันที่ 24 ขบวนโตนคุกจัดแบ่งกันออกเป็น 4 กลุ่ม ข้าพเจ้าอยู่กลุ่มที่ 3 แต่ละกลุ่มมีผู้นำ 4 คน นอกจากนี้ยังจัดตั้งสหายสองคนคือ สหายจันทวี กับ สหายบุนแปง ไปรับเอาครูบาสึกใหม่ 4 องค์จากวัดธาตุหลวง พอดีเป็นวันบุญเดือน 6 มีบุญบั้งไฟ

ในกลุ่มที่ 1 สหายอุดอนเป็นหัวหน้า เมื่อใครต่อใครต่างออกเดิน เกิดขาดการติดต่อกัน โดยเฉพาะลุงสุพานุวงหลงหมู่ไปคนเดียว เมื่อมารวมกันที่จุดนัดแล้วไม่เห็นลุง โชคดีที่รู้ตัวว่าหลงลุงก็หยุด ไม่เดินต่อ สหายที่ไปตามหาจึงพบได้ไม่ยาก

บัดนี้เหลือเพียงสหาย 2 คน ที่ไปรับครูบายังมาไม่ถึง และเมื่อรอกันนานชักช้าไปแล้ว จึงมีคำสั่งเตรียมเดินทาง ขณะที่ใครต่อใครลุกขึ้น ในความมืดนั้น แสงสว่างจากไฟฉายก็สาดส่องมา ทุกคนตกใจคิดว่าสายลับ บางส่วนวิ่งแตกฮือออกไป บางคนหมอบลงเตรียมสู้รบ มีการใช้โค้ดตอบโต้ไปมาจึงรู้ว่าพวกเดียวกัน ประมาณตี 2 ได้ออกเดินทางต่อ เสียงรำวงจากงานบุญวัดธาตุหลวงยังได้ยินแซวๆ อยู่

จากนั้นออกเดินทางเป็นแถว ท่านเซียงสมนำทาง คืนนั้นฟ้ามืดปานถูกปิดตา ยังดีที่ตอนฟ้าแลบพอมองเห็นทาง จึงทั้งเดินทั้งวิ่งต่อๆ กันไป ไปได้ระยะหนึ่งลุงสุพานุวงตะคริวกิน หิวน้ำมาก ลุงมาก็เป็นลม จึงต้องพักบีบนวด พัดวี พอฟื้นก็เดินทางต่อ

เดินทางมาอีกระยะหนึ่งถึงทุ่งนาบ้านพะยา ฝนตกห่าใหญ่ ปานกันกับไหลเทออกมาจากท่อน้ำ ต้องเอาเห็ดแสงมาติดหลังเพื่อให้มองเห็นกัน พอเดินไปถึงห้วยน้ำเค็มได้ยินเสียงไก่ขัน ทางทิศตะวันออกค่อยๆ สว่างขึ้น ท่านเซียงสมระดมให้ทุกคนวิ่งให้ถึงดงบองเพื่อความปลอดภัย

ตอนสายของวันที่ 24 คณะโตนคุกได้นอนหลบอยู่ดงบอง ใกล้ๆ เที่ยงได้ยินเสียงและเห็นเครื่องบินสอดแนมหลายลำบินผ่านไปมาระยะต่ำ ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ประมาณ 18-19 กิโลเมตร

พวกข้าพเจ้ามารู้ที่หลังว่าตอน 7-8 โมงเช้า พวกแม่ครัวเอาข้าวไปให้ในคุก พวกแม่ครัวพากันตกใจเพราะไม่พบใครเลย พวกทหารยานเกราะก็ยังไม่ตื่น เมื่อรัฐบาลหุ่นเวียงจันทน์รู้อะไรเป็นอะไร พวกเขาตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ทิศทางไปของพวกโตนคุกเลย

มีเรื่องหนึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการโตนคุก คือ จุดนัดพบนั้นมีแต่สหายที่ไปทำหมายไว้เท่านั้นที่รู้ แต่เมื่อแยกย้ายกันออกไปทุกคนก็ไปถึงจุดหมายที่นัดไว้ได้หมด พอคล้อยค่ำ คณะโตนคุกออกเดินทางลัดเข้าหัวบ้านคูนน้อย ข้ามทางเลขที่ 13 เวลาข้ามจัดเรียงเป็นหน้ากระดานแล้ววิ่งไปพร้อมกัน ไปได้ระยะหนึ่งจึงเดินแถวตามกันไป การเดินทางคืนนี้ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกว่าคืนแรก ทั้งวันไม่ได้กินข้าว เดินจนกระทั่งสว่างจึงถึงพลาญหิน กลางป่าดงดิบ ทางทิศตะวันออกของภูพะนัง พักผ่อนแล้วออกเดินต่อ

เวลา 9 โมงเช้าของวันที่ 25 มีคำสั่งให้หยุดพัก และที่นี่มีข้าวปลาอาหารวางรออยู่บนกิ่งไม้ใบตองแล้ว กับข้าวหลายอย่าง ข้าวก็มีทั้งข้าวดำข้าวขาว ซึ่งประชาชนพื้นฐานบ้านนายางนำมาให้

จากนั้นเดินทางต่อไปยังสำนักของ ท่านสาลี วงคำซาว พักอยู่สำนักแนวหลังนี้ 10 วัน เพื่อดูแลรักษาสุขภาพ และเตรียมเครื่องใช้จำเป็นในการเดินทางไปเขตที่มั่นอภิวัฒน์

เมื่อพร้อมแล้วก็ออกเดินทางลัดไปหาล่องสัน-ล่องตอน เมืองเฟือง แล้วไปล่องแมด ผาหลัก บวม พุก เป็นการเดินทางที่ทุรกันดารที่สุด ในเวลา 3 เดือน ไม่ได้พบหมู่บ้าน ไม่ได้เดินตามเส้นทาง ไปตามภูผาป่าดง ขึ้นภูลงห้วย ไปในที่ที่ผีไม่เดินคนไม่ไป เป็นการรักษาความลับ ค่ำไหนนอนนั่นรองเท้ากัด ตีนเปื่อย เล็บหลุด

อาหารมีเนื้อแห้ง ประชาชนพื้นฐานใส่กระบุงตะกร้าวางไว้ให้ตามระยะการเดินทาง ห้าวันก็ถือห้าวัน เจ็ดวันก็ถือไปเจ็ดวัน ถือใครถือมัน เป้เอาถือเอา มีสหายแวะซอกหาปลาตามหลืบหิน แขนติดอยู่ในหลืบต้องช่วยกันงัด ดึงออก แขนถลอกปอกเปิกช้ำหมด

ลุงสุพานุวงบ่เคยบ่นว่าเหนื่อยว่าหนัก “...ให้หนักบ่หนักดอก เจ็บอยู่ แต่ก็ตีนที่บีแข่งปั้นนี่แหละ”

วันที่ 10 เดือน 8 เดินทางถึงเขตบ้านถ้ำแก้ว ขณะที่คณะพักผ่อนนอนหลับ เวลาประมาณ 10 โมง เกือบ 11 โมง ท่านสีชนะเปิดฟังข่าววิทยุก็ได้ยินว่า “วันที่ 9 เดือน 8 กองแลทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลสมสนิท สร้างตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ เรียกร้องให้แนวลาวรักชาติเข้าร่วม…”

ศูนย์กลางแนวลาวรักชาติจึงมีคำสั่งให้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งกลับคืนเวียงจันทน์ ที่เหลือก็เดินทางไปหาเขตที่มั่นอภิวัฒน์ เมื่อเดินทางต่อไปถึงบ้านบวก เมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง คณะโตนคุกจึงได้เข้าหมู่บ้าน ได้นอนบ้านประชาชนเป็นครั้งแรก ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากนั้นก็เดินทางถึงบ้านวังปาน หมู่บ้านพื้นฐานอภิวัฒน์ พากันพักที่นั่นเพื่อร่วมทำบุญวันชาติ 12 ตุลา

นับจากออกเดินทางในเดือน 6 พี่น้องประชาชนเตรียมทำนากัน ไปถึงเขตที่นั่นไปถึงเดียนเบียนฟู ก็เดือน 12 กำลังเกี่ยวข้าวพอดี นั่นแม่นวีรกรรมประวัติศาสตร์อันมหัศจรรย์ที่ข้าพเจ้าอยู่ในเหตุการณ์ด้วย.

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. เส้นทางหลบหนี, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 128-138

บทความที่เกี่ยวข้อง :