ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

โทรหาคณะราษฎร พ.ศ. 2479

27
มีนาคม
2565
ภาพ : อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ผู้ให้กำเนิดโทรศัพท์คนแรกของโลก ที่มา : https://www.takieng.com/stories/14367
ภาพ : อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)
ผู้ให้กำเนิดโทรศัพท์คนแรกของโลก
ที่มา : https://www.takieng.com/stories/14367

 

ชาวสยามเริ่มทำความรู้จัก ‘โทรศัพท์’ ครั้งแรก ช่วงต้นทศวรรษ 2420 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งยุคนั้นเรียกขานกันว่า “เตลิโฟน” ภายหลังโทรศัพท์ถือกำเนิดขึ้นในโลกครั้งแรกโดยฝีมือของ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เพียงไม่กี่ปี  บุคคลผู้นำเข้ามาคือ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ชาวอังกฤษที่รับราชการใกล้ชิดเป็นราชเลขาธิการส่วนพระองค์ 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2424 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกลาโหม ได้นำโทรศัพท์มาทดลองใช้สื่อสารระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองปากน้ำสมุทรปราการ เพื่อความสะดวกต่อการแจ้งข่าวสารเรื่องเรือแล่นเข้า-ออกปากแม่น้ำ และอาศัยสายโทรเลขที่ทางกรมกลาโหมสร้างไว้แล้ว

 

ภาพ : กรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2503 ที่มา : FB รวมภาพในอดีตเล่าเหตุการณ์ต่างๆ
ภาพ : กรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2503
ที่มา : FB รวมภาพในอดีตเล่าเหตุการณ์ต่างๆ 

 

ปี พ.ศ. 2426 รัฐบาลสยามก่อตั้ง กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงรับโอนกิจการโทรเลขในการดูแลของกรมกลาโหมมาอยู่ในสังกัดกรมใหม่นี้แทน ล่วงผ่านมาอีกราว 3 ปี ก็รับโอนกิจการโทรศัพท์มาดำเนินงานอีกด้วย พร้อมเปิดโอกาสให้ราษฎรภายในเขตกรุงเทพพระมหานครและธนบุรีได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์เป็นครั้งแรก ซึ่งมีผู้เช่าใช้บริการจำนวนราว 60 ราย  โทรศัพท์ยุคนั้นจะยังเป็นระบบแม็กนิโต (Magneto System) มีหม้อไฟฟ้าติดกับตัวเครื่องเพื่อส่งกระแสไฟ ถ้าจะใช้ก็ต้องเอามือหมุนตัวหม้อไฟฟ้าที่เครื่องส่งสัญญาณกระดิ่งไปยังชุมสายโทรศัพท์กลาง ซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคอยสลับสายและต่อสาย โดยจะต่อสายสอบถามผู้โทรและช่วยต่อสายไปหาบุคคลที่ผู้โทรหาจะสนทนาด้วย

ต้นทศวรรษ 2450 ได้มีการเปลี่ยนระบบโทรศัพท์ใหม่มาเป็นระบบเซ็นทรัลแบตเตอรี (Central Battery System) ที่ทางชุมสายโทรศัพท์กลางจะจ่ายกระแสไฟออกไปเอง ไม่ต้องอาศัยหม้อไฟฟ้าที่ตัวเครื่องโทรศัพท์ของผู้เช่าคอยส่งสัญญาณกระดิ่ง แต่ก็ยังคงมีเจ้าพนักงานคอยช่วยต่อสาย ช่วงเวลาเดียวกัน กรมไปรษณีย์โทรเลข เริ่มตั้งชุมสายโทรศัพท์ตามระบบใหม่นี้ขึ้นที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข หน้าวัดเลียบ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เรียกขานกันว่า “ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ” (แม้ตอนหลังย้ายมาสร้างตึกใหม่มิได้อยู่ใกล้วัด คนก็ยังเรียกเช่นนี้)

 

ภาพ : อาคารที่ทำการโทรศัพท์ในอดีต ไม่ปรากฎปี ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ : อาคารที่ทำการโทรศัพท์ในอดีต ไม่ปรากฎปี
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

 

กระทั่งกลางทศวรรษ 2460 ผู้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์มีจำนวนมากถึงหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าเลขหมาย เจ้าพนักงานกลางผู้คอยต่อสายให้ ณ ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบต้องทำงานหนักหน่วง ทางการจึงตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งที่สองขึ้น ณ อาคารเก่าๆ แห่งหนึ่งย่านบางรัก (ปัจจุบันคือ บริเวณอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในทศวรรษ 2480) เรียกขานกันว่า “ชุมสายโทรศัพท์บางรัก” แบ่งเขตให้บริการดูแลผู้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนล่าง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว รัฐบาลคณะราษฎรเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการพัฒนากิจการโทรศัพท์ พอช่วงปลายทศวรรษ 2470 ทาง กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงพยายามเปลี่ยนมาใช้ชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบ Step-by-Step โดยสั่งซื้อเครื่องอุปกรณ์มาจากบริษัทในประเทศอังกฤษ ส่งผลให้สามารถเพิ่มจำนวนเลขหมายได้ทั้งสองชุมสายโทรศัพท์ คือ ชุมสายวัดเลียบ และ ชุมสายบางรัก

ปี พ.ศ. 2479 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดพิมพ์ สมุดรายนามผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์ ขึ้นมาหลายฉบับระบุนามของผู้เช่า ที่อยู่  เขตชุมสายโทรศัพท์ และเลขหมายโทรศัพท์ของผู้เช่าแต่ละราย เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

 

 

แน่นอนทีเดียวว่า ผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์กลุ่มที่ย่อมต้องปรากฏรายนามในสมุดเล่มดังกล่าว นั่นคือ สมาชิกของคณะราษฎร ดังผมจะยกเอาข้อมูลจากหนังสือ สมุดรายนามผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์ในเขตต์กรุงเทพฯ ฉะบับที่ 23 พระพุทธศักราช 2479 มาแสดงให้เห็นพอสังเขปต่อไปนี้

 

นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา
ที่อยู่ : 64 บางซื่อ
เขตชุมสายโทรศัพท์ : วัดเลียบ
เลขหมายโทรศัพท์ : 120

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลวงพิบูลสงคราม
ที่อยู่ : บางซื่อ
เขตชุมสายโทรศัพท์ : วัดเลียบ
เลขหมายโทรศัพท์ : 831
และ
ที่อยู่ : วังปารุสกวัน 
เขตชุมสายโทรศัพท์ : วัดเลียบ
เลขหมายโทรศัพท์ : 848

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 
ที่อยู่ : 1021 ถนนสีลม
เขตชุมสายโทรศัพท์ : บางรัก
เลขหมายโทรศัพท์ : 5717

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  
ที่อยู่ : 234 ถนนราชวิถี 
เขตชุมสายโทรศัพท์ : วัดเลียบ 
เลขหมายโทรศัพท์ : 345

รัฐมนตรี หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์)  
ที่อยู่ : 3461 ถนนพระราม 1   
เขตชุมสายโทรศัพท์ : บางรัก 
เลขหมายโทรศัพท์ : 5900

ตั้ว ลพานุกรม
ที่อยู่ : 986 ตรงข้ามรอยแยลโฮเต็ล ถนนสาทร      
เขตชุมสายโทรศัพท์ : บางรัก 
เลขหมายโทรศัพท์ : 5176

ดิเรก ชัยนาม 
ที่อยู่ : ถนนรองเมืองซอย 1     
เขตชุมสายโทรศัพท์ : บางรัก 
เลขหมายโทรศัพท์ : 5616

 

นับแต่ปี พ.ศ. 2479 เรื่อยมา โทรศัพท์เริ่มเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของชาวไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมไปรษณีย์โทรเลข เองมีความประสงค์จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อทางโทรศัพท์ ล่วงเข้า พ.ศ. 2480 ก็ได้เปลี่ยนแปลงเครื่องโทรศัพท์กลางจากวิธีใช้พนักงานต่อมาสู่วิธีใช้เครื่องต่อเองอย่างทันสมัย โดยเปิดชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ และติดตั้งไว้ ณ ที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบและบางรัก พอจะเปิดใช้เครื่องโทรศัพท์ต่อเอง กรมไปรษณีย์โทรเลขเล็งเห็นความจำเป็นที่ประชาชนควรรู้จักวิธีใช้เครื่องลักษณะนี้ จึงจัดพิมพ์หนังสือ คำแนะนำวิธีใช้โทรศัพท์ต่อเอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกันออกเผยแพร่ด้วย

 

 

ในที่สุด ผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์สามารถหมุนตัวเลขบนหน้าปัดเครื่องโทรศัพท์ที่บ้านของตนเองซึ่งเป็นเลข 5 หลัก เพื่อติดต่อถึงกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านเจ้าพนักงานต่อสายประจำชุมสายเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2480 ต่อมาจึงเปิดชุมสายโทรศัพท์เพิ่มอีกสองแห่ง คือ ชุมสายเพลินจิต และชุมสายสามเสน

สมุดรายนามผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์  ซึ่งทาง กรมไปรษณีย์โทรเลข จัดพิมพ์ขึ้นโดยเจตนาที่จะเป็นคู่มือช่วยเหลือในการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้บริการโทรศัพท์นั้น  ครั้นกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปเกินกว่า 8 ทศวรรษ จึงได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอันน่าศึกษาค้นคว้า อย่างน้อยที่สุดก็เปิดเผยให้ทราบว่า ในยุค พ.ศ. 2479 นั้น ถ้าปรารถนาโทรศัพท์ติดต่อหาสมาชิกคณะราษฎรหลายๆ คน จะต้องดำเนินการเช่นไร

เอกสารอ้างอิง

  • กรมไปรษณีย์โทรเลข. คำแนะนำวิธีใช้โทรศัพท์ต่อเอง. พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่, 2480
  • กรมไปรษณีย์โทรเลข. สมุดรายนามผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์ในเขตต์กรุงเทพฯ ฉะบับที่ 23 พระพุทธศักราช 2479. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2479
  • “ย้อนรอยกิจการ “โทรศัพท์” จากระบบ “ต่อสาย” สู่โทรศัพท์สาธารณะ” SILPA-MAG.COM (6 มิถุนายน 2564)