ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“พระเจ้าช้างเผือก” ในความทรงจำ

4
เมษายน
2565
ไพริน นิลรังสี (ไอรีน นิตยวรรธนะ) ชื่อที่ใช้ในการแสดง ไพลริน นิลเสน รับบทเป็น เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร)
ไพริน นิลรังสี (ไอรีน นิตยวรรธนะ)
ชื่อที่ใช้ในการแสดง ไพริน นิลเสน
รับบทเป็น เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) 

 

ดิฉันชื่อ ไอรีน นิตยวรรธนะ เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด คุณแม่ของดิฉันเป็นชาวมอญ พระประแดง ส่วนคุณพ่อชื่อวิลเลียม เนลสัน เป็นคนเดนมาร์ก เข้ามาทำงานในเมืองไทยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 จนพูดไทยได้คล่องแคล่วและไหว้พระนับถือศาสนาพุทธเหมือนคนไทยทั่วไป

ดิฉันเรียนเตรียม ม.ธ.ก. จนจบ ม.6 พอจบมาแล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไรก็อยู่บ้านไปก่อน วันหนึ่งพี่ชายของดิฉันก็มาชวนไปเล่นหนังเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” พี่ชายของดิฉันชื่อ สุวัฒน์ นิลรังสี (เชื่อเดิม คือ เอ็ดเวิร์ด เนลสัน) เป็นครูภาษอังกฤษของโรงเรียนเตรียมฯ และเล่นเป็นตัวสมุหนายก ในภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก

 

นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประพันธ์ “พระเจ้าช้างเผือก”
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประพันธ์ “พระเจ้าช้างเผือก”

 

ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีมีโครงการจะทำหนังเป็นภาษาอังกฤษ ตัวแสดงชายนั้นใช้นักศึกษาอัสสัมชัญแทบทั้งหมดเพราะพูดภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนนักแสดงหญิงนั้นก็ยังหากันอยู่ พี่ชายของดิฉันก็เสนอว่าให้ดิฉันเล่นเพราะดิฉันเรียนที่เซนต์แมรี่ ภาษาอังกฤษดีพอสมควร เขาก็เรียกไปเทสต์หน้ากล้องโดยยังไม่ใด้เห็นหน้ากันแต่บางคนก็รู้จักดิฉันแล้วจากการไปเป็นนางงามบุปผชาติให้กรมตำรวจ

 

 

ตอนนั้นมีหม่อมหลวงคนหนึ่งมาทดสอบภาษาอังกฤษและตกลงใจว่าดิฉันได้เล่นเป็นนางเอกหนังเรื่องนี้ ในเรื่องนอกจากมีบทพูดภาษาอังกฤษแล้วก็ยังมีฉากที่ต้องรำกับนักศึกษาของกรมศิลปากร ซึ่งต้องไปหัดกับท่านผู้หญิงประภาพรรณ เวลาที่ใช้จริงก็เป็นแค่การซอยเท้ากับพันมือเท่านั้นเอง เพราะเราอาจจะร่ำไม่เก่งเท่านักรำมืออาชีพ ตัวประกอบอื่นๆ ก็ใช้นักศึกษาเตรียมรุ่น 1 แทบทั้งหมด

หนังทั้งเรื่องใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 3 เดือน แต่ส่วนที่ดิฉันต้องร่วมแสดงด้วยนั้นใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งเท่านั้นและถ่ายอยู่ในโรงถ่ายของศรีกรุงที่เดียวยกเว้นฉากสุดท้ายที่ต้องเข้าไปถ่ายในพระบรมมหาราชวัง

ตอนที่ถ่ายทำหนังกันอยู่นั้นดิฉันเห็นน้ำใจท่านอาจารย์ปรีดีอย่างมาก เวลาจะถ่ายท่านจะมารับที่บ้านแล้วไปโรงถ่ายของศรีกรุงด้วยกัน ถ่ายเสร็จท่านก็มาส่งเองถึงประตูบ้าน ใครจะขอมาส่งแทนท่านก็ไม่ให้เพราะไม่ไว้ใจ สมัยนั้นในกองถ่ายหนังไม่ได้เหมือนกองถ่ายหนังในสมัยนี้ มันไม่มีฝ่ายคอสตูม หรือเมคอัพแต่งหน้า มีแต่รับไปผัดหน้าผัดตาเล็กน้อยเท่านั้น เสื้อผ้าก็หากันมาแต่งให้เข้ากับเรื่องเฉย ไม่ได้มีพิธีรีตรองอะไร คนที่จัดการเรื่องการแต่งหน้าแต่งตัวก็มีอยู่คนเดียว

 

 

สำหรับดิฉัน ถ้าวันไหนไม่มีฉากที่ดิฉันต้องถ่ายด้วยท่านปรีดีก็จะไม่ให้ไป เมื่อดิฉันถ่ายฉากสุดท้ายที่พระบรมมหาราชวังเสร็จแล้ว กองถ่ายทั้งหมดยกเว้นดิฉันก็ยกกองไปจังหวัดแพร่เพื่อถ่ายทำฉากสงคราม ที่มีช้าง มีเผาบ้าน เผาเมือง ดิฉันอยากไปกับพวกเขามาก จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเรียบร้อยแล้วแต่ท่านอาจารย์ปรีดีก็ไม่ให้ไป เพราะในกองถ่ายมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น

 

 

สำหรับดิฉันหลังจากเล่นเรื่องพระเจ้าช้างเผือกแล้วก็ไม่ใด้เล่นเรื่องอื่นอีก "ดิฉันเคารพรักท่านอาจารย์ปรีดีมากจนเรียกท่านว่าพ่อ และเรียกท่านผู้หญิงว่าแม่ตลอดชีวิต" ระหว่างการถ่ายทำบางทีท่านก็มารับไปทานข้าวกับครอบครัวท่าน หรือพาไปนั่งดูกองถ่ายทำงานให้เรารู้ระบบการทำงาน ตอนดิฉันแต่งงาน ท่านก็เป็นเจ้าภาพและให้แต่งในตึกโดม ในพิธีก็มีแต่ญาติสนิทและคนรู้จักในกองถ่ายหนังพระเจ้าช้างเผือกทั้งนั้น

 

 

ที่มา : วารุณี โอสถารมย์ (บรรณาธิการ). ประวัติศาสตร์บอกเล่า แผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481 - 2490 เล่ม 1 (พ.ศ. 2481 - 2485) จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี สถาบันไทยคดีศึกษา พ.ศ. 2554, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กุมภาพันธ์ 2554), น. 169-170

บทความที่เกี่ยวข้อง :